จ.เลย/วันที่ 12 มีนาคม 2563 คณะทำงานพัฒนาและกลั่นกรองโครงการบ้านมั่นคงชนบท ลงพื้นที่ศึกษาดูงานพื้นที่จัดการป่าไม้ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและพันธุ์พืชภูหลวง โดยมีนางสาวเฉลิมศรี ระดากูล ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน) ประธานคณะทำงานพัฒนาและกลั่นกรองโครงการบ้านมั่นคงชนบท นำคณะทำงานฯ ขบวนองค์กรชุมชน และเจ้าหน้าที่จากสำนักบ้านมั่นคงและที่ดิน เจ้าหน้าที่ พอช. 3 ภูมิภาค จำนวน 35 คน รับฟัง แลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวทางการทำงาน ณ ตำบลท่าศาลา อ.ภูเรือ จ.เลย
นายเชิด สิงห์คำป้อง ประธานอนุกรรมการขบวนองค์กรชุมชน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้กล่าวว่า จังหวัดเลย ถือเป็นหนึ่งในจังหวัดที่อยู่ในกลุ่มอีสานตอนบนที่ 1 ประกอบด้วย จังหวัดอุดรธานี เลย หนองคาย หนองบัวลำภู และบึงกาฬ โดยใช้ชื่อเรียกว่ากลุ่มสบายดี หรือกลุ่มลุ่มน้ำวัฒนธรรมสายลำน้ำโขง ซึ่งมียุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อน 5 ด้าน ได่แก่ ด้านการพัฒนาคน ด้านการส่งเสริมการทำเกษตรอินทรีย์ ด้านการท่องเที่ยวโดยชุมชน ด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ครอบคลุมการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินของภาคประชาชน และด้านการปรองดองสมานฉันท์ในพื้นที่
นายธีระ ศรีบุรินทร์ กำนันตำบลท่าศาลา กล่าวว่า ในพื้นที่ตำบลแห่งนี้อยู่อาศัยด้วยความเป็นพี่เป็นน้อง ชาวบ้านส่วนใหญ่ไร้ที่ดินทำกิน ไม่มีเอกสารสิทธิ์ในที่ดิน สมัยอดีตการทำงานของชาวบ้านและหน่วยงานรัฐเกิดความขัดแย้งในการยืนยันความชัดเจนในที่ดิน จนช่วงปี 2551-2552 หน่วยงานรัฐเริ่มเข้ามารังวัดการใช้ที่ดินทั้งหมด ปี พ.ศ. 2552-2553 พอช.จึงส่งเสริมให้สภาองค์กรชุมชนเข้าไปมีส่วนร่วมกับหน่วยงานรัฐ และกำหนดแนวการทำงานที่ให้ทุกคนร่วมกันปกป้องไม่ให้ที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยในเขตป่าฯนั้น หลุดมือไปให้นายทุนรุกล้ำเข้ามา จึงเป็นการก่อรูปของขบวนการทำงานต่อสู้เพื่อปกป้องที่ดิน และในปี 2560 ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ โดยนายสุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในขณะนั้น ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมชุมชน ชาวบ้านจึงรวมตัวกันยกเป็นพื้นที่ “ท่าศาลาโมเดล” เพื่อเป็นพื้นที่ในการพัฒนานำร่องและดำเนินการสำรวจข้อมูลในอีก 7 ชุมชน ขยายผลการพัฒนา ในพื้นที่ตำบลท่าศาลา 7 หมู่บ้าน เนื้อที่กว่า 80,000 ไร่ จำนวน 600 กว่าครัวเรือน ปัญหาสำคัญที่ต้องแก้ไขไปพร้อมกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชน คือ (1) การประกาศ พรบ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 โดยทุกพื้นที่ต้องเร่งรัดส่งผลการสำรวจข้อมูลเพื่อเสนอคณะทำงานฯภายใน 240 วัน (วันที่ 23 กรกฎาคม 2563 หลังจากนั้นจะไม่ให้มีการสำรวจ) (2) ปัญหาการบุกรุกทำลายพื้นที่ทำกินของชุมชนจากสัตว์ป่า ช้างป่า ส่งผลต่อพืชผลทาการเกษตร
นายวันชัย สิมมาเศียร หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและพันธุ์พืชภูหลวง กล่าวว่า มติครม. เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 มีมติเห็นชอบในหลักการพื้นที่เป้าหมายและกรอบมาตราการฯ ให้ ทส. มท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดสร้างการรับรู้แก่ประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐให้ชัดเจน ถูกต้อง ตรงกัน และกำหนดมาตราการป้องกันการรุกล้ำที่ดินเพิ่มเติม ซึ่งจะช่วยลดความขัดแย้งของชุมชนที่อาศัยในพื้นที่ป่า ให้มีข้อกำหนด และสิทธิในพื้นที่อย่างถูกต้องเป็นธรรม นอกจากเป็นการแก้ปัญหาความขัดแย้งของรัฐกับชุมชนในป่าแล้ว ยังให้ผู้ที่อาศัยได้มีสิทธิส่งมอบการครอบครองถึงลูกหลานได้โดยชอบธรรม โดยจะต้องไม่มีการบุกรุกเพิ่มในอนาคต และต้องร่วมกันเพิ่มจำนวนป่าไม้ โดยปลูกไม้ยืนต้น ไม้มีคุณค่า ทดแทนการปลูกพืชล้มลุก หรือพืชเชิงเดี่ยว นอกจากนี้ยังสนับสนุนการพัฒนาอาชีพ จัดตั้งกลุ่มสหกรณ์ให้กับชุมชน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตอย่างเหมาะสม
นายวันชัย กล่าวถึง กลไกการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน (คทช.) ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ (ช่วงปี 2557) ตามคำสั่ง คทช. จำนวน 6 ขบวน ได้แก่ ขบวนที่ 1 แก้ไขชุมชนในเขตป่าสงวนฯ ลุ่มน้ำ 3,4,5 (ก่อน) ขบวนที่ 2 แก้ไขชุมชนในเขตป่าสงวนฯ ลุ่มน้ำ 3,4,5 (หลัง) ขบวนที่ 3 แก้ไขชุมชนในเขตป่าสงวน ลุ่มน้ำ 1,2 (ก่อน) ขบวนที่ 4 แก้ไขชุมชนในเขตป่าอนุรักษ์ (ก่อนและหลัง) ขบวนที่ 5 แก้ไขปัญหาชุมชนในพื้นที่ป่าชายเลน และขบวนที่ 6 แก้ไขชุมชนในพื้นที่อื่นๆ เกิดการทำข้อมูลคัดแยกที่ดินตามกลุ่มผู้ครอบครอง โดยได้ข้อมูลมาจากกลไกผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน กำนัน นายก อบต. และผู้ใหญ่บ้าน ร่วมดำเนินงาน ซึ่งกลไกดังกล่าวได้แบ่งบทบาทในการลงไปทำความเข้าใจรายชุมชน ให้ผู้ที่อยู่อาศัยแจ้งยืนยันสิทธิ์ในการลงพื้นที่ภายในระยะเวลาที่กำหนด (5 วันทำการ) เมื่อได้ข้อมูลจากการมาแจ้งจึงได้เตรียมแผนลงพื้นที่รังวัดจริง รวมทั้งวางพัฒนาที่อยู่อาศัยอยู่ระหว่างการทำข้อมูลสำรวจความเดือดร้อน ซึ่งกระบวนการที่สำคัญคือ การกลั่นกรองและรับรองข้อมูล ส่วนการจัดตั้งกลไกการกลั่นกรองและรับรองข้อมูลชั้นที่หนึ่งตามบริบทพื้นที่ชุมชน ซึ่งตำบลท่าศาลาใช้กลุ่มแกนนำผู้ใหญ่บ้านในแต่ละหมู่ ลงพื้นที่สำรวจข้อมูลและรับรองข้อมูล และนำข้อมูลมาซ้อนทับกับภาพถ่ายทางอากาศ ก่อนเสนอเข้าที่ประชุมคณะทำงานชุดเล็กพิจารณาความเดือดร้อนอีกครั้ง และส่งต่อคณะทำงานพิจารณาผลข้อมูล รวบรวมส่งต่อเข้ากรมอุทยานแห่งชาติเพื่อพิจารณาประกาศพื้นที่ทำกินของชุมชนในระยะต่อไปภายใน 240 วัน กระบวนการทำงานในแต่ละขั้นตอนชาวบ้านต้องเข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งจะทำให้ “คน ชุมชนอยู่ได้ ป่าอยู่ได้”
ในช่วงท้ายของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ได้มีข้อเสนอในการทำงานในพื้นที่ตำบลท่าศาลา ต้องจัดทำรายละเอียดข้อมูล แผนที่ คัดแยกผังแปลงสีที่ดินให้ชัดเจน เพื่อจะได้กำหนดแผนงานกิจกรรม จัดทำ “ผังชีวิต แผนตำบล การพัฒนาทุกมิติ” โดยไม่ต้องรอมติคำสั่งประกาศฯ เสนอเป็นพื้นที่ตัวอย่าง การรักษาป่า ดิน น้ำ และช้างป่า สร้างความเชื่อมั่นในขั้นตอนกระบวนการที่ทุกฝ่ายจะได้รับความเป็นธรรม และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อชุมชน “ป่าก็ต้องมี(รัฐ) ที่ก็ต้องได้(ชุมชน)” พร้อมทั้งการพัฒนาที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินในมิติชนบทตามแนวทางโครงการบ้านมั่นคงชนบท