กระบี่ / เครือข่ายสวัสดิการผู้สูงอายุจังหวัดกระบี่ ได้ริเริ่มก่อตั้งขึ้นเมื่อต้นปี พ.ศ. 2545 โดยมี สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน) เป็นผู้สนับสนุนเวทีปรึกษาหารือ ณ โรงเรียนบ้านพรุดินนา ต.พรุดินนา อ.คลองท่อม จ.กระบี่ ซึ่งมีแกนนำเริ่มแรก “ฅนถางทาง” ประกอบด้วย
- นายตาด มุคุระ ต.เขาคราม อ.เมือง (เสียชีวิต)
- นายบำเรอ แต่งเกลี้ยง ต.ดินแดง อ.ลำทับ (เสียชีวิต)
- นายเชษฐา มุคุระ ต.เขาคราม อ.เมือง (เสียชีวิต)
- นายฉาย เหลนเพชร ต.ห้วยน้ำขาว อ.คลองท่อม
- นางลำจวน ทิพย์รักษา ต.เขาคราม อ.เมือง
- นายสมนึก เกาะกลาง ต.คลองประสงค์ อ.เมือง
- นายห้าหรอน มุคุระ ต.เขาคราม อ.เมือง (เสียชีวิต)
- นายสมยศ ถิ่นปกาสัย ต.โคกยาง อ.เหนือคลอง
- นางสาวโสภา เกาะกลาง ต.คลองประสงค์ อ.เมือง
- นางเฉลิมศรี ไหมศรีทอง ต.พรุดินนา อ.คลองท่อม
- นายสัน เชี่ยวชาญ ต.เกาะลันตาน้อย อ.เกาะลันตา
- นายพัน หนูทอง ต.ทับปริก อ.เมือง (เสียชีวิต)
- นายสมวงค์ ทองรัตน์แก้ว ต.ดินแดง อ.ลำทับ
- นายวีรยุทธ์ จินาวงค์ ต.ทับปริก อ.เมือง
- นางจันทร์ฉาย กามุณี ต.ปกาสัย อ.เหนือคลอง
- นายศุภกิจ ลิ้มวัฒนากุล ต.เพหลา อ.คลองท่อม
มีนายวรเสฎฐ์ ชูแก้ว จาก พอช. เป็นที่ปรึกษาและจากนั้นมีการระดมสมาชิกผู้ก่อตั้งเครือข่ายฯ เบื้องต้นได้ประมาณ 250 คน
ต่อมาเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2545 แกนนำเครือข่ายสวัสดิการผู้สูงอายุจังหวัดกระบี่ มีการประชุมปรึกษาหารือกันที่วิทยาลัยเกษตรกรรมและเทคโนโลยีกระบี่ เพื่อหาข้อตกลงร่วมกันเกี่ยวกับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลจำนวน 1 ล้านบาท ว่าจะทำโครงการอะไรกันบ้าง? ที่สำคัญจะต้องหาทางไม่ให้เงินนั้นสูญหายไปโดยเปล่าประโยชน์ สามารถสืบทอดถึงลูกหลาน ให้กลายเป็นสมบัติของผู้สูงอายุจังหวัดกระบี่ตลอดไป ซึ่งเบื้องต้นมีการเสนอความคิดที่แตกต่างกันไปบ้าง เช่น เป็นกองทุนกู้ยืมสำหรับผู้สูงอายุและครอบครัว กองทุนหมุนเวียนผู้สูงอายุ จัดสรรเงินเป็นรายอำเภอ จัดซื้อสวนยางพารา จัดซื้อสวนปาล์มเพื่อความยั่งยืน ฯลฯ โดยใช้กระบวนการปรึกษาหารือด้วยเหตุด้วยผลถึง โอกาสและผลกระทบต่างๆ เพื่อหาข้อสรุปบนฐานความคิดที่แตกต่าง แต่ไม่แตกแยก
ท้ายที่สุดที่ประชุม ได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อปฏิบัติการโครงการสวัสดิการผู้สูงอายุจังหวัดกระบี่ขึ้นโดยคณะผู้สูงอายุและแกนนำขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดกระบี่ ได้มีฉันทามติร่วมกันโดยเสนอแนวทางการบริหารเงินจำนวน 1 ล้านบาท ดังนี้
1.จัดตั้งโครงสร้างคณะกรรมการเครือข่ายสวัสดิการผู้สูงอายุจังหวัดกระบี่ จำนวน 15 คน (ดังรายชื่อข้างต้น) โดยที่ประชุมมีฉันทามติให้ นายตาด มุคุระ ผู้สูงอายุ ต.เขาคราม อ.เมือง เป็นประธานเครือข่ายสวัสดิการผู้สูงอายุจังหวัดกระบี่(คนแรก)
2.การบริหารจัดการงบประมาณ 1,000,000 บาท โดยการจัดซื้อสวนปาล์มน้ำมันเนื้อที่ไม่น้อยกว่า 20 ไร่ ราคาไร่ละประมาณ 40,000 บาท ต้นปาล์มต้องมีอายุอย่างน้อย 4 ปีและไม่เกิน 7 ปีและจะต้องปลูกในที่ดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ อยู่ใกล้เส้นทางคมนาคมสะดวก โดยซื้อในวงเงิน 850,000 บาท มีการบริหารจัดการโครงการฯ ด้วยเงินจำนวน 50,000 บาท ส่วนที่เหลือหากผู้สูงอายุในจังหวัดกระบี่ มีความขาดแคลนเดือดร้อนในเรื่องความเป็นอยู่ ขาดผู้ดูแลรับผิดชอบ ช่วยตัวเองไม่ได้ดีเท่าที่ควร ไม่เคยได้รับการสงเคราะห์เงินสวัสดิการจากหน่วยงานใดมาก่อน จะต้องดูแลและสงเคราะห์ผู้สูงอายุในวงเงินสงเคราะห์ 100,000 บาท
โดยสรุปกติการ่วมกันว่าสวนปาล์มที่จะซื้อต้องมีหลักเกณฑ์อย่างน้อย ดังนี้
-เส้นทางการคมนาคมต้องสะดวกในการขนส่งผลผลิต
-ปาล์มที่ปลูกต้องมีอายุอย่างน้อย 4-7 ปี และต้องเป็นปาล์มพันธุ์ดีเชื่อถือได้
-เนื้อที่เหมาะสมกับราคา และไม่มีค่านายหน้าในการจัดซื้อ
-พื้นที่ต้องไม่ห่างไกลจากชุมชนมากนัก ประชาชนรอบข้างมีความพร้อมในเรื่องของคุณธรรม
ในระยะเวลาถัดมา ได้มีแกนนำผู้สูงอายุเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการบริหารเพื่อพัฒนาให้กองทุนสวัสดิการผู้สูงอายุมีศักยภาพมากขึ้น เช่น
- นายวินิจ ไชยบุญ ต.โคกยาง อ.เหนือคลอง ประธานเครือข่ายสวัสดิการผู้สูงอายุจังหวัดกระบี่ คนที่สอง
(เสียชีวิต)
- นายชอบ สุวรรณวรชาติ (เสียชีวิต)
- นายเลอพงษ์ เอ่งฉ้วน ต.โคกยาง อ.เหนือคลอง
- นายจิตร ปรางทอง ต.อ่าวลึกเหนือ อ.อ่าวลึก
- นายเชย ใจแก้ว ต.พรุเตียว อ.เขาพนม
- นายหมาด ดำกุล ต.คลองประสงค์ อ.เมือง
- นางเล็ก พรหมหมอเฒ่า ต.เขาคราม อ.เมือง
- นายอ้าหมูด ประจำน้อย ต.ห้วยน้ำขาว อ.คลองท่อม
- นายรวี บ่อหนา ต.เกาะศรีบอยา อ.เหนือคลอง
- นายโกศล ชื่นบุตร ต.แหลมสัก อ.อ่าวลึก
ต่อมาเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2545 ได้ดำเนินการจัดซื้อสวนปาล์มน้ำมันพร้อมโอนกรรมสิทธิ์ จำนวน 1 แปลง ของนายชาติ เอ่งฉ้วน จำนวนเนื้อที่ 20 ไร่ 63 ตารางวา ราคา 850,000 บาท ที่ดิน ตั้งอยู่ที่หมู่ 1 ต.ห้วยน้ำขาว อ.คลองท่อม จ.กระบี่ เพราะเห็นว่ามีความเหมาะสมหลายประการ คือ สถานที่ตั้งของสวนอยู่ใกล้ถนนเพชรเกษมสายกระบี่-ตรัง เข้าไปในซอยเพียง 700 เมตร สภาพพื้นดินที่ปลูกปาล์มเหมาะสมดี เนื้อที่และราคามีความเหมาะสมตามที่ตั้งไว้ อายุของต้นปาล์มประมาณ 3 ปี ส่วนพันธุ์ปาล์มก็ดี เชื่อถือได้ เพราะเจ้าของสวนเป็นเกษตรกรที่มีความชำนาญในการทำสวน และเอาใจใส่ดูแลเป็นอย่างดี
นอกจากนี้บริเวณสวนปาล์ม ที่คณะทำงานตัดสินใจซื้อนั้น มีสภาพแวดล้อมดี และเป็นทำเลที่เหมาะสมดี ประชาชนรอบข้างมีความพร้อมในเรื่องคุณธรรม ซึ่งไม่ปรากฏการลักขโมย ไม่มีคนดุร้าย ที่สำคัญเจ้าของที่ดินข้างเคียง รับปากยินดีให้ใช้ประโยชน์ในที่ดิน เมื่อมีความจำเป็น หากมีเงินซื้อที่ดิน เพื่อขยายโครงการต่อไปในอนาคต
โดยในการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน มีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ นส.3ก เลขที่ 1370 เล่ม 14ข หน้า 20 เลขที่ดิน 8 จำนวนเนื้อที่ 20 ไร่ โดยมีผู้รับสัญญา จำนวน 9 ท่าน ดังนี้
- นายวินิจ ไชยบุญ เครือข่ายผู้สูงอายุ ต.โคกยาง อ.เหนือคลอง (เสียชีวิต)
- นายชอบ สุวรรณวรชาติ เครือข่ายผู้สูงอายุ (เสียชีวิต)
- นายพัน หนูทอง เครือข่ายผู้สูงอายุ ต.ทับปริก อ.เมือง (เสียชีวิต)
- นายตาด มุคุระ เครือข่ายผู้สูงอายุ ต.เขาคราม อ.เมือง (เสียชีวิต25พ.ย.62)
- นายสัน เชี่ยวชาญ เครือข่ายผู้สูงอายุ ต.เกาะลันตาน้อย อ.เกาะลันตา
- นายเลอพงษ์ เอ่งฉ้วน เครือข่ายผู้สูงอายุ ต.โคกยาง อ.เหนือคลอง
- นายสมยศ ถิ่นปกาสัย เครือข่ายองค์กรชุมชน ต.โคกยาง อ.เหนือคลอง
- นายเชษฐา มุคุระ เครือข่ายองค์กรชุมชน ต.เขาคราม อ.เมือง (เสียชีวิต)
- นายศุภกิจ ลิ้มวัฒนากุล เครือข่ายองค์กรชุมชน ต.เพหลา อ.คลองท่อม
ในวันที่ 30 มกราคม 2546 ได้มีการทำพิธีเปิดโครงการสวนปาล์มผู้สูงอายุอย่างเป็นทางการ โดยมี ฯพณฯ อนุรักษ์ จุรีมาศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานเปิด มีผู้เข้าร่วมงานทุกภาคส่วนกว่า 1,000 คน
โดยคณะกรรมการบริหารสวนปาล์มได้มีข้อตกลงร่วมกันในการจัดสรรปันส่วนรายได้จากการขายผลผลิตของสวนปาล์ม ดังนี้
กองทุนสวัสดิการแก่ผู้สูงอายุที่มีฐานะยากจน 30% ค่าบำรุงสวนปาล์ม 20%
สมทบเข้ากองทุนกลาง 30% บริหารจัดการเครือข่ายฯ 20%
ในช่วงระยะเวลาต่อมาได้มีการจัดสรรเงินสวัสดิการให้กับเครือข่ายผู้สูงอายุในตำบลต่างๆ อย่างต่อเนื่องปีละ 250 คนโดยไม่ซ้ำกับคนเดิม
จากวันก่อตั้งเครือข่ายฯ มาจนถึง ณ ธันวาคม 2549 มีสมาชิกผู้สูงอายุเข้าร่วมจำนวนมากกว่า 6,000 ราย สำหรับการจัดสรรผลประโยชน์จากการขายปาล์มนั้น เมื่อได้เงินค่าปาล์มมา 100% จะจัดเป็นเงินสวัสดิการแก่ผู้สูงอายุ 30% ค่าบำรุงสวน 20%(30%) สมทบเข้ากองทุนเพื่อขยายโครงการ 30%(20%) และนำไปบริหารจัดการเครือข่ายฯ 20% ซึ่งตอนนี้ในส่วนของเงินสวัสดิการ เรามีเหลืออยู่จำนวน 62,909.56 บาท เงินบำรุงสวนเหลืออยู่อีกจำนวน 6,557.56 บาท เงินกองทุนขยายโครงการฯ มีอยู่จำนวน 125,673.71 บาท และสำหรับเงินบริหารจัดการ ตอนนี้ติดลบอยู่ แต่ยอดเงินฝากตอนนี้มีจำนวนทั้งสิ้น 171,170.24 บาท อย่างไรก็ตามตนได้รวบรวมตัวเลขยอดรายได้ของเครือข่ายระหว่างปี 2546-2549 มีทั้งสิ้น 608,368.55 บาท นี่คือศักดิ์ศรีของผู้สูงอายุของจังหวัดกระบี่ ที่มีการจัดการตนเองได้อย่างยั่งยืน
นายวินิจ ไชยบุญ ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดสวัสดิการแก่ผู้สูงอายุในปัจจุบันนี้ว่า “เห็นด้วยที่จะจัดการกันเองมากกว่าที่รัฐจัดการให้ เพราะรู้สึกมีความภาคภูมิใจมากกว่า และสามารถแสดงภูมิปัญญาที่มีอยู่ในตัวเองออกมาให้คนอื่นยอมรับ หรือถ้ารัฐจะจัดมาให้ ก็ควรจะจัดเงินมาเป็นก้อนเหมือนกับที่ทาง พอช. ให้เครือข่ายฯ ดำเนินการจัดการกันเอง จนขณะนี้สามารถยืนอยู่บนขาตนเองด้วยความมีศักดิ์ศรีได้แล้ว
สำหรับปัญหาของเครือข่ายฯ ที่ผ่านมาเรายังขาดเงินทุนในการขับเคลื่อนขบวนผู้สูงอายุของจังหวัดกระบี่ แต่ก็ขอยืนยันว่า ผู้สูงอายุของจังหวัดกระบี่ยังมีไฟ พร้อมที่จะทำงานอยู่เสมอ แม้ว่าบางครั้งจะทำงานแบบควักเงินตัวเองไปก่อนก็ตาม แต่ก็ยอมรับว่าการทำงานแบบชาวบ้าน บางครั้งก็เป็นการยากเหมือนกัน ที่จะทำให้ชาวบ้านทุกคนเข้าใจเหมือนกันกับเรา
ส่วนแผนงานในอนาคตที่ทางเครือข่ายฯ ได้วางไว้ก็คือ มีแผนที่จะขยายและพัฒนาระบบสวัสดิการระดับตำบลให้ครบ 61 พื้นที่ตำบล/เทศบาล และจะผลักดันโครงการ 1 อำเภอ 1 สวนปาล์ม รวมทั้งการจัดทำสวนสมุนไพรในทุกๆตำบลด้วย”
ถึงแม้ปัจจุบัน แกนนำหลายท่านได้จากพวกเราไปแล้วแต่คุณงามความดีที่ท่านได้สละกำลังกายและกำลังทรัพย์จนวันสุดท้ายที่ท่านถึงแก่กรรม จะเป็นแนวทางให้ผู้สูงอายุและลูกหลานฅนกระบี่ได้ตระหนักร่วมกันถึงความสำคัญของการจัดสวัสดิการผู้สูงอายุอย่างยั่งยืนสืบไป
ในระยะต่อมาปี 2549 – ปัจจุบัน นายเลอพงษ์ เอ่งฉ้วน ประธานเครือข่ายสวัสดิการผู้สูงอายุจังหวัดกระบี่(คนที่สาม) ได้มีการบริหารจัดการสวนปาล์มอย่างเป็นระบบมากขึ้นโดยมี นายสมยศ ถิ่นปกาสัย เป็นผู้จัดการสวนปาล์มผู้สูงอายุ(5 มกราคม 2550)และมีแนวร่วมแกนนำรุ่นใหม่ที่มีจิตอาสาเข้ามาช่วยสืบสานงานสวัสดิการผู้สูงอายุจังหวัดกระบี่ให้ยั่งยืนต่อไปถึงลูกถึงหลาน โดยมีแผนงานในการจัดตั้งเป็นองค์กรนิติบุคคล “มูลนิธิสวนปาล์มผู้สูงอายุกระบี่” อย่างเป็นรูปธรรมในโอกาสต่อไป
ณ เดือนกันยายน 2559 สวนปาล์มผู้สูงอายุจังหวัดกระบี่ บริหารโดยเครือข่ายสวัสดิการผู้สูงอายุจังหวัดกระบี่ร่วมกับเครือข่ายองค์กรชุมชนจังหวัดกระบี่ มียอดเงินสะสมคงเหลือรวมเป็นเงินทั้งสิ้นกว่า 1,412,400.39 บาท ในระยะเวลา 14 ปี (พ.ศ.2545-2559) กับความสำเร็จในเรื่องการสร้างระบบการจัดสวัสดิการรูปแบบใหม่โดยภาคประชาชนจัดการตนเอง สร้างคุณค่าด้วยศักดิ์ศรีผู้เฒ่าทั้ง 8 อำเภอของจังหวัดกระบี่ กลายเป็นความภาคภูมิใจของลูกหลานชาวกระบี่กับนวัตกรรมสวัสดิการชุมชน การแปรทุนด้วยปัญญา สร้างเครือข่ายผู้สูงอายุ โดยใช้กองทุนสวัสดิการฯ เป็นเครื่องมือ เป้าหมายให้ผู้สูงอายุ เป็นผู้คิด ผู้จัดการและผู้รับผลประโยชน์เอง มิใช่เป็นผู้รอรับเหมือนที่ผ่านมา อันจะนำไปสู่การฟื้นคุณค่า และภูมิปัญญาของผู้สูงอายุให้เกิดสังคมสวัสดิการในยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงสู่การ “ให้อย่างมีคุณค่า รับอย่างมีศักดิ์ศรี” อย่างแท้จริง
ณ เดือนธันวาคม 2562
- มียอดเงินสะสมคงเหลือในบัญชีธนาคารทั้งสิ้นกว่า 4 ล้านบาท ในระยะเวลา 13 ปี
- มีสินทรัพย์ที่ดิน 20 ไร่ 63 ตารางวา ซื้อราคา 850,000 บาท ราคาปัจจุบันมูลค่าไม่ต่ำกว่า 6,000,000 บาท
ระบบการจัดสวัสดิการรูปแบบใหม่ “การแปรทุนด้วยปัญญา” โดยภาคประชาชนจัดการตนเอง สร้างคุณค่าด้วยศักดิ์ศรีผู้เฒ่าทั้ง 8 อำเภอของจังหวัดกระบี่
เป้าหมายจัดตั้งเป็น “มูลนิธิสวนปาล์มผู้สูงอายุกระบี่”
การจัดสรรเงินจากสวนปาล์มที่ผ่านมา
- กองทุนสวัสดิการแก่ผู้สูงอายุที่มีฐานะยากจน 30%
- ค่าบำรุงสวนปาล์ม 20%
- สมทบเข้ากองทุนกลาง 30%
- บริหารจัดการเครือข่ายฯ 20%
องค์กรความร่วมมือเชิงพื้นที่
- สถาบันพัมนาองค์กรชุมชน
- เกษตร ปศุสัตว์ พัฒนาสังคมฯ ประมง
- กองทุนสวัสดิการชุมชน
- เครือข่ายภาคประชาชน
การก้าวสู่สังคมสวัสดิการ “มูลนิธิสวัสดิการสวนปาล์มผู้สูงอายุกระบี่”
– การประชุมคณะทำงานหารือแนวทางการจดทะเบียนสวนปาล์มผู้สูงอายุเป็นองค์กรนิติบุคคล
ครั้งที่ ๑/๒๕๕๗ วันอังคารที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๕๗ เวลา ๑๓.๓๐ น. ณ ห้องประชุมสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดกระบี่ มีมติที่ประชุมสนับสนุนจดทะเบียนเป็น มูลนิธิ ใช้ชื่อว่า “มูลนิธิสวัสดิการสวนปาล์มผู้สูงอายุกระบี่” โดยมี คุณสมยศ ถิ่นปกาสัย เป็นผู้จัดการสวนปาล์ม เป้าหมาย
๑.ความภาคภูมิใจไม่หยุดแค่ การได้มีสวนปาล์ม แต่มีเป้าหมายยกระดับการพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านสวัสดิการ
๒.การพัฒนาพื้นที่ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
๓.การสร้างระบบการช่วยเหลือด้านสวัสดิการเชื่อมโยงกับเครือข่ายกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบล ภาคีภาครัฐและเอกชน
๔.การนำเสนอเชิงนโยบาย เรื่องพัฒนาที่ดินสาธารณะให้เกิดประโยชน์ด้านสวัสดิการ ต่อผู้สูงอายุ ผู้ด้อยโอกาส เป็นต้น
๕.การบริหารสวนปาล์มให้กลุ่มผู้ด้อยโอกาส คนยากจน ได้มีรายได้จากการทำงานในสวนปาล์ม
๖.การจัดระบบการบริหารจัดการที่ดี เช่น กลไกการทำงาน การบัญชีการเงิน
วัตถุประสงค์ของ “มูลนิธิสวัสดิการสวนปาล์มผู้สูงอายุกระบี่”
๑ เพื่อให้การสงเคราะห์ช่วยเหลือด้านสวัสดิการสังคมแก่ผู้สูงอายุและบุคคลทั่วไปในจังหวัดกระบี่
๒ เพื่อสร้างความเข้มแข็งและความสมานฉันท์ของเครือข่ายสวัสดิการสังคม
๓ เพื่อเสนอข้อมูลข่าวสารด้านการพัฒนาสวัสดิการสังคมที่เป็นจริงต่อสังคม
๔ เพื่อศึกษาและพัฒนาระบบสวัสดิการสังคมตามวิถีและสิทธิชุมชน
#เรื่องดีดีที่ชุมชน #20ปีพอชพลังองค์กรชุมชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน #สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน