วันที่ 18 พ.ย. 2562 สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร และเครือข่ายชุมชนริมคลองน่ามองน่าอยู่ จัดเวทีประมวลผลการดำเนินโครงการชุมชนริมคลองน่ามองน่าอยู่ ที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ ถ.นวมินทร์ เขตบางกะปิ กรุงเทพฯ โดยมีนายไมตรี อินทุสุต ประธานคณะกรรมการสถาบันฯ เป็นประธานการจัดงาน มีนายสมพร ใช้บางยาง อดีตประธานคณะกรรมการสถาบันฯ ผู้แทน สสส. ม.ราชภัฏพระนคร และสมาชิกเครือข่ายชุมชนริมคลองเข้าร่วมงานประมาณ 300 คน
ภายในงานมีการแสดงนิทรรศการงานพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวชุมชนริมคลองลาดพร้าวในด้านต่างๆ เช่น การสร้างพื้นที่สีเขียวในชุมชน การปลูกผักสวนครัว การคัดแยกขยะ การบำบัดน้ำเสีย การส่งเสริมอาชีพชุมชน ความปลอดภัยในชุมชน ฯลฯ ทั้งนี้โครงการ ‘ชุมชนริมคลอง น่ามองน่าอยู่’ เป็นโครงการที่ สสส.ร่วมกับ พอช.และ ม.ราชภัฏพระนครสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวชุมชนในด้านต่างๆ ในปี 2561-2562 รวม 22 ชุมชนริมคลองลาดพร้าวและประทุมธานีโมเดล
นายไมตรี อินทุสุต ประธานคณะกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) กล่าวว่า จากนโยบายสำคัญของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาคลองลาดพร้าวที่มีผู้อยู่อาศัยรุกล้ำแนวลำคลองและทางระบายน้ำ รัฐบาลมอบหมายให้กรุงเทพมหานคร โดยสำนักการระบายน้ำก่อสร้างเขื่อน ค.ส.ล.คลองลาดพร้าว เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำและป้องกันน้ำท่วม และให้ พอช. ดำเนินการในด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลอง ให้ประชาชนที่อาศัยอยู่เดิมตามแนวคลองเปลี่ยนจากผู้บุกรุกมาเป็นผู้อยู่อาศัยถูกต้องตามกฎหมาย มีสภาพแวดล้อมและคุณภาพชีวิตที่ดี
ปัจจุบันการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองลาดพร้าว สามารถดำเนินการสร้างบ้านแล้ว 35 ชุมชน จากทั้งหมด 50 ชุมชน จำนวน 3,303 ครัวเรือน หรือร้อยละ 47 จากกลุ่มเป้าหมาย 7,069 ครัวเรือน ซึ่งเป็นบ้านที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ 2,461 ครัวเรือน บ้านที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 459 ครัวเรือน และบ้านที่พร้อมจะก่อสร้าง 383 ครัวเรือน โดย พอช. คาดว่าในปี 2563 จะสามารถเปิดพื้นที่ดำเนินการก่อสร้างบ้านได้อีกประมาณ 900 ครัวเรือน
นายไมตรี กล่าวต่อไปว่า ข้อสรุปขั้นตอนในการดำเนินงานการขับเคลื่อนการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองลาดพร้าวในระยะต่อไป มีอยู่ด้วยกัน 5 ขั้นตอนได้แก่ 1.สร้างการรับรู้สร้างความเข้าใจให้กับประชาชน 2.การสร้างกระบวนการทำงานให้ต่อเนื่อง 3.หาแนวทางการทำงานร่วมกันแก้ไขปัญหาที่เป็นอุปสรรคในการดำเนินงาน 4.ออกแบบการทำงานให้มีผู้บริหารหน่วยงานรับผิดชอบครอบคลุมทุกพื้นที่ในคลองลาดพร้าว 5.สร้างกลไกในการจัดการ มีข้อมูลและแผนงานที่ชัดเจน สร้างความมั่นคงของมนุษย์ คุณภาพชีวิตที่ดี ใช้คนเป็นศูนย์กลาง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องบ้าน สิ่งแวดล้อม อาชีพ และสุขภาพของคนในชุมชน
“สำหรับบ้านที่ก่อสร้างแล้วเสร็จและเข้าอยู่อาศัยแล้ว พอช.มีเจตนารมณ์ที่จะให้ชุมชนไม่เพียงแต่มีบ้านที่มั่นคงแข็งแรงเท่านั้น ยังมุ่งหวังที่จะยกระดับให้ชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับการอยู่อาศัย ซึ่งเป็นการสร้างชุมชนแข้มแข็งจากภายในชุมชน ตามเป้าหมายการพัฒนา ‘บ้านที่มากกว่าคำว่าบ้าน’ โดยการร่วมมือกันของทั้งภาครัฐและประชาสังคม จึงได้มีการจัดทำโครงการชุมชนริมคลองน่ามองน่าอยู่ โดยมี 3 หน่วยงานร่วมกันขับเคลื่อนการทำงาน คือ พอช. สสส. และมรภ.พระนคร ร่วมกับชุมชนซึ่งรวมตัวกันเป็นเครือข่ายชุมชนริมคลองน่ามองน่าอยู่” นายไมตรีกล่าว
ประธานคณะกรรมการสถาบันฯ กล่าวด้วยว่า จากการดำเนินงานในระยะเกือบสองปีที่ผ่านมา โครงการได้ลงพื้นที่จัดทำแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตตามข้อเสนอโครงการกับชุมชนที่มีความพร้อม เช่น การจัดการขยะ การจัดการความปลอดภัยในชุมชน การจัดการสิ่งแวดล้อม มีการอบรมพัฒนาศักยภาพแกนนำชุมชน ทั้งนี้ พอช. หวังว่าโครงการชุมชนริมคลองน่ามองน่าอยู่ ซึ่งเป็นโครงการที่ดีสำหรับชุมชนและส่วนรวม จะขยายระยะเวลางานออกไปเพื่อให้สามารถพัฒนาได้ครบทั้ง 50 ชุมชนในคลองลาดพร้าว และจะนำไปพัฒนาชุมชนริมคลองเปรมประชากรทั้ง 38 ชุมชนต่อไป
นายสมชาติ ภาระสุวรรณ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ กล่าวว่า โครงการชุมชนริมคลองน่ามองน่าอยู่ เป็นโครงการที่สนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนริมคลองลาดพร้าว มุ่งเน้นให้พี่น้องชาวชุมชนริมคลองลาดพร้าว สามารถยกระดับชุมชนและพัฒนาคุณภาพชีวิตในรูปแบบของการจัดการตนเอง โดยมีกลุ่มเป้าหมายการดำเนินงาน
คือ ชุมชนริมคลองลาดพร้าว ซึ่งก่อสร้างบ้านแล้วเสร็จพร้อมเข้าอยู่ จำนวน 21 ชุมชน จาก 7 เขต ในพื้นที่กรุงเทพฯ คือ เขตสายไหม ดอนเมือง หลักสี่ บางเขน จตุจักร ห้วยขวาง และวังทองหลาง และ 1 ชุมชนจากจังหวัดปทุมธานี
“การดำเนินโครงการนี้จะมุ่งเน้นเรื่องการพัฒนาศักยภาพชุมชนในทุกมิติ เช่น แกนนำชุมชน การจัดการด้านสุขภาวะชุมชน การจัดเวทีนิทรรศการแสดงผลงานของชุมชนที่เข้าร่วมโครงการ เป็นการแสดงถึงกิจกรรมที่ชุมชนได้ร่วมกันทำ ซึ่งได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณและด้านวิชาการจากหน่วยงานภาคี คือ สสส. และมหาวิทยาลัยราชภัฎพระนคร ซึ่งกิจกรรมทั้งหมดล้วนแล้วแต่ส่งผลดีและเกิดประโยชน์ต่อชุมชนและสังคมโดยรวม เช่น การส่งเสริมอาชีพ การจัดการขยะ ศิลปวัฒนธรรม การจัดการพื้นที่สีเขียว การเตรียมความปลอดภัยในชุมชน งานในวันนี้ จึงอาจเรียกได้ว่าเป็นการประกาศจุดเริ่มต้นความก้าวหน้าและความสำเร็จของพี่น้องชาวชุมชนริมคลองลาดพร้าวที่จะสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตจากภายในชุมชน สามารถทำได้จริง เป็นต้นแบบการพัฒนาและขยายผลสู่ชุมชนข้างเคียงอื่น ๆ ต่อไป” ผอ.พอช.กล่าว
ผศ.ดร.ณรงค์ศักดิ์ จักรกรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา กล่าวว่า มหาวิทยาลัยราชภัฎพระนครนอกจะมีภารกิจในการบริการด้านการศึกษาและข้อมูลทางวิชาการแล้ว ปัจจุบันยังได้รับมอบหมายภารกิจเรื่องการพัฒนาชุมชน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อวิจัยและสร้างนวัตกรรมที่มุ่งสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนอย่างยั่งยืน โดยการดำเนินงานที่ผ่านมา มรภ.พระนครได้สนับสนุนบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถในหลายสาขา ตามความต้องการของชุมชนในด้านพัฒนาทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นด้านการพัฒนาระบบสหกรณ์ การจัดการสิ่งแวดล้อม การจัดการขยะ การพัฒนาศักยภาพเด็กและเยาวชน รวมถึงการพัฒนาอาชีพ
“ในปี 2563 มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร มีแผนดำเนินงานบริการวิชาการให้กับชุมชนริมคลองลาดพร้าวอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ในอนาคตยังคาดหวังให้การพัฒนาของชุมชนริมคลองลาดพร้าวสามารถขยายผลไปสู่การพัฒนาชุมชนริมคลองเปรมประชากรได้ด้วย” ผศ.ดร.ณรงค์ศักดิ์กล่าว
นางปราณี ชาวสวนแพ ผู้แทนชุมชน กสบ.พัฒนา เขตสายไหม บอกว่า เมื่อปี 2561 ชุมชน กสบ.พัฒนาได้เข้าร่วมโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองลาดพร้าว โดยเมื่อก่อสร้างบ้านแล้วเสร็จประมาณปลายปี 2562 จึงได้มีโอกาสเข้าร่วมโครงการชุมชนริมคลองน่ามองน่าอยู่ ด้านการพัฒนาอาชีพ โดยใช้พื้นฐานที่ชุมชนมีอยู่ คือการทำกระหรี่พัฟ และเข้าร่วมการประกวดผลงาน จนได้รับรางวัลที่ 1 จากการพัฒนากระหรี่พัฟสูตรใหม่ ภายในงาน OTOP คลองลาดพร้าวที่จัดโดยมหาวิทยาลัยราชภัฎพระนคร
“นอกจากการทำกระหรี่พัฟแล้ว โครงการยังมีการสอนและส่งเสริมอาชีพต่าง ๆ เช่น การทำเต้าฮวยนมสด ซึ่งเมื่อได้เข้าร่วมเรียนรู้กระบวนการ ตั้งแต่การผลิต การออกแบบสินค้า การออกแบบผลิตภัณฑ์ การมองหาช่องทางการขาย ทำให้ชุมชนของเราสามารถทำเต้าฮวยนมสดขาย และมีผู้สนใจสั่งซื้อเป็นจำนวนมาก สามารถสร้างรายได้ให้กับครัวเรือนเพิ่มขึ้น” ผู้แทนชุมชน กสบ.พัฒนากล่าว
นอกจากการพัฒนาที่อยู่อาศัยและพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวชุมชนริมคลองลาดพร้าวแล้ว พอช. ยังได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้พัฒนาชุมชนริมคลองเปรมประชากรด้วย โดยมีกลุ่มเป้าหมายในกรุงเทพฯ 3 เขต คือ ดอนเมือง หลักสี่ และจตุจักร จำนวน 32 ชุมชน และพื้นที่เทศบาลตำบลหลักหก อำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี 6 หมู่บ้าน จำนวน 6,386 ครัวเรือน ขณะนี้ได้เริ่มต้นรื้อย้ายชุมชนแรกในเขตจตุจักร จำนวน 17 หลัง และจะเริ่มก่อสร้างบ้านเฟสแรกจำนวน 20 หลังภายในเดือนมกราคมนี้