พอช./ วันนี้ (26 กันยายน) มีการประชุมคณะกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ครั้งที่ 9/2562 โดยมีนายไมตรี อินทุสุต ประธานคณะกรรมการสถาบันฯ เป็นประธานในการประชุม ณ ห้องประชุมไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ การประชุมครั้งนี้มีวาระที่น่าสนใจ เช่น วาระที่ 4.1 รายงานผลการสำรวจความพึงพอใจ ปีงบประมาณ พ.ศ.2562 โดยศูนย์บริการวิชาการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ได้ดำเนินการสำรวจความพึงพอใจเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยกลุ่มเป้าหมายในการสำรวจ ประกอบด้วย (1) กลุ่มผู้รับบริการหรือกลุ่มที่ได้รับการสนับสุนนจาก พอช. ภายใต้ 4 โครงการหลัก ประกอบด้วย โครงการส่งเสริมสร้างขีดความสามารถของชุมชน โครงการสนับสนุนสวัสดิการชุมชน โครงการบ้านพอเพียงชนบท และโครงการบ้านมั่นคง จำนวน 913 คน และ (2) กลุ่มคณะอนุกรรมการ จำนวน 135 คน รวมทั้งสิ้น 1,048 คน นอกจากนี้ ได้มีการสำรวจกลุ่มเป้าหมายเชิงคุณภาพ 30 คน ได้แก่ กลุ่มอนุกรรมการและหน่วยงานภาคีภายนอกที่ร่วมมือกับสถาบันฯ โดยสรุปผลการสำรวจความพึงพอใจและข้อเสนอแนะ เพื่อการปรับปรุงและพัฒนาการให้บริการของสถาบันฯ ดังนี้
- ผลการสำรวจความพึงพอใจ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2562
1.1 ความพึงพอใจของผู้รับบริการ จำนวน 913 คน พบว่าผู้รับบริการมีความพึงพอใจต่อการให้บริการของสถาบันฯ ในระดับมาก โดยที่ค่าคะแนนร้อยละอยู่ที่ 85.60 หรือค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.12 โดยจำแนกผลความพึงพอใจแยกรายโครงการและแยกตามพื้นที่ดำเนินงานโครงการ ดังนี้
1.1.1 ระดับความพึงพอใจแยกรายโครงการ พบว่า มีค่าคะแนนร้อยละความพึงพอใจใกล้เคียงกัน คือ โครงการบ้านพอเพียงชนบท มีความพอใจสูงสุด ร้อยละ 85.85 รองลงมา คือ โครงการบ้านมั่นคง ร้อยละ 85.80 โครงการเสริมสร้างขีดความสามารถของชุมชน ร้อยละ 85.40 และโครงการสวัสดิการชุมชน ร้อยละ 85.35 ตามลำดับ
1.1.2 ระดับความพึงพอใจแยกตามพื้นที่ดำเนินงานโครงการ (ภาค) พบว่าภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีค่าคะแนนความพึงพอใจสูงสุด คือ ร้อยละ 85.80 รองลงมา คือ ภาคกรุงเทพฯปริมณฑลและตะวันออก ร้อยละ 85.55 ภาคกลางและตะวันตก ร้อยละ 85.45 และภาคใต้ ร้อยละ 85.25 ตามลำดับ
1.2 ความพึงพอใจของคณะอนุกรรมการ จำนวน 135 คน ผลการสำรวจในภาพรวม มีความพึงพอใจในระดับมาก ค่าคะแนนร้อยละ 83.95 หรือค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.79 อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณารายละเอียดผลการสำรวจความพึงพอใจรายข้อ ซึ่งอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน คือ สูงกว่าร้อยละ 80 แต่มีประเด็นเมื่อเทียบกับข้ออื่น ๆ ยังมีข้ออ่อนที่ควรเพิ่มประสิทธิภาพ ดังนี้
– ด้านผลที่ได้รับการสนับสนุนจาก พอช. คือ บทบาทสภาองค์กรชุมชนและหน่วยงานต่างๆ ในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นได้ (ค่าคะแนนร้อยละ 82.50)
– ด้านกระบวนการ ขั้นตอนการให้บริการของ พอช. คือ การพัฒนา/ปรับปรุงระบบฐานข้อมูลสารสนเทศงานพัฒนาให้มีความทันและพร้อมใช้งาน (ค่าคะแนนร้อยละ 82.60)
– ด้านเจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการ/ผู้ส่งเสริมงานพัฒนาของ พอช. คือการสร้างความร่วมมือในการทำงานร่วมกับหน่วยงาน/ภาคีพัฒนาในพื้นที่การพัฒนาชุมชนท้องถิ่นร่วมกัน เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อบต. อบจ. พมจ. สถาบันการศึกษา (ค่าคะแนนร้อยละ 83.15)
นอกจากนี้ หลังเสร็จการประชุมฯ นายไมตรี อินทุสุต ประธรรมคณะกรรมการบริหารสถาบันฯ ได้มีการมอบของที่ระลึกให้แก่นางชุตินาฏ วงศ์สุบรรณ กรรมการสถาบันฯ (รองเลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ) เนื่องในโอกาสวันเกษียณอายุราชการ