กระทรวง พม. / พอช.เดินหน้าแผนงาน 3 ปี (2563-2565) ลดความเหลื่อมล้ำด้านเศรษฐกิจและสังคมตามนโยบายของรัฐบาล โดยสร้างความมั่นคงที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยในเมืองและชนบททั่วประเทศ ในโครงการบ้านมั่นคง บ้านพอเพียงชนบท การพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองเปรมประชากร และชุมชนที่โดนไฟไหม้และไล่รื้อ รวม 211,482 ครัวเรือน
วันนี้ (19 กันยายน) นายสยาม นนท์คำจันทร์ โฆษกสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ แถลงข่าวเรื่องแผนงานการพัฒนาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยในเมืองและชนบททั่วประเทศ ตามแผนงาน 3 ปีของ พอช. โดยมีเป้าหมายรวม รวม 211,482 ครัวเรือน
โดยแยกเป็นปี 2563 การแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยตามโครงการบ้านมั่นคง 20,000 ครัวเรือน บ้านพอเพียงชนบท 43,000 ครัวเรือน การพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองเปรมประชากร 3,115 ครัวเรือน และการพัฒนาที่อยู่อาศัยชั่วคราวกรณีชุมชนโดนไฟไหม้หรือไล่รื้อ 1,000 ครัวเรือน (รวม 67,115 ครัวเรือน) งบประมาณรวม 5,995 ล้านบาทเศษ (อยู่ในระหว่างการเสนองบประมาณเพื่อพิจารณา)
ปี 2564 การแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยตามโครงการบ้านมั่นคง 30,000 ครัวเรือน บ้านพอเพียงชนบท 40,000 ครัวเรือน การพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองเปรมประชากร 2,367 ครัวเรือน และการพัฒนาที่อยู่อาศัยชั่วคราวกรณีชุมชนโดนไฟไหม้หรือไล่รื้อ 1,000 ครัวเรือน (รวม 73,367 ครัวเรือน)
ปี 2565 การแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยตามโครงการบ้านมั่นคง 30,000 ครัวเรือน บ้านพอเพียงชนบท 40,000 ครัวเรือน และการพัฒนาที่อยู่อาศัยชั่วคราวกรณีชุมชนโดนไฟไหม้หรือไล่รื้อ 1,000 ครัวเรือน (รวม 71,000 ครัวเรือน) รวมการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยประชาชนที่มีรายได้น้อยทั่วประเทศ 3 ปี จำนวน 211,482 ครัวเรือน
โครงการบ้านมั่นคงชุมชนบึงบางซื่อ เขตจตุจักร กรุงเทพฯ
นายสยามกล่าวด้วยว่า ‘โครงการบ้านมั่นคง’ เป็นการสนับสนุนให้ประชาชนที่มีที่อยู่อาศัยไม่มั่นคง เช่น อยู่อาศัยในที่ดินเช่า หรือบุกรุกที่ดินของรัฐหรือเอกชน ให้มีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง โดยการเช่าที่ดินอย่างถูกต้อง หรือหาซื้อที่ดินแปลงใหม่ โดยประชาชนที่เดือดร้อนจะต้องรวมกลุ่มกัน มีการจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาทำงาน มีการออมทรัพย์เพื่อเป็นทุน และจดทะเบียนเป็นสหกรณ์เคหสถานเพื่อให้มีสถานะเป็นนิติบุคคลเพื่อใช้ในการทำนิติกรรมและบริหารโครงการ
ส่วน พอช.จะให้การสนับสนุนด้านสินเชื่อระยะยาว 15-20 ปี ไม่เกิน 360,000 บาทต่อครัวเรือน ดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 4 บาทต่อปี และสนับสนุนงบประมาณด้านสาธารณูปโภคและก่อสร้างบ้านครัวเรือนละ 75,000 บาท ฯลฯ นอกจากนี้ พอช.ยังสนับสนุนเรื่องการส่งเสริมอาชีพ สิ่งแวดล้อม การพัฒนาผู้นำ ฯลฯ เพื่อให้ชาวชุมชนมีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
‘โครงการบ้านพอเพียงชนบท’ เป็นการสนับสนุนให้ครอบครัวที่เดือดร้อนในชนบทที่มีที่อยู่อาศัยสภาพทรุดโทรม ไม่แข็งแรง ได้ซ่อมแซมบ้านเพื่อให้เหมาะแก่การอยู่อาศัย โดยชุมชนจะมีการคัดเลือกครัวเรือนที่เดือดร้อนโดยการสำรวจข้อมูลและรับรองสิทธิ์จากคณะกรรมการในชุมชน เพื่อให้ได้ครอบครัวที่เดือดร้อนจริง และ พอช.จะสนับสนุนงบประมาณซ่อมแซมครัวเรือนหนึ่งประมาณ 18,000 -20,000บาท หากขาดเหลือชุมชนจะร่วมกันสมทบเงิน โดยมีภาคเอกชน หรือองค์กรปกครองท้องถิ่นร่วมสนับสนุน ใช้การลงแรงช่วยกันซ่อมแซมบ้าน ทำให้ประหยัดงบประมาณและแรงงาน
‘การพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองเปรมประชากร’ เป็นโครงการที่รัฐบาลมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยและกรุงเทพมหานครรับผิดชอบในการสร้างเขื่อนคอนกรีตในคลองเปรมประชากรเพื่อป้องกันน้ำท่วม และแก้ไขปัญหาบ้านเรือนรุกล้ำลำคลองซึ่งเป็นพื้นที่สาธารณะ ความยาวเขื่อนฯ ประมาณ 26 กิโลเมตร เริ่มดำเนินการภายในปลายปีนี้
ส่วน พอช.มีบทบาทในการสนับสนุนการพัฒนาที่อยู่อาศัยเหมือนกับโครงการก่อสร้างเขื่อนระบายน้ำในคลองลาดพร้าว โดยประชาชนที่รุกล้ำลำคลองและแนวก่อสร้างเขื่อนฯ จะต้องรื้อย้ายบ้านเรือนออกมา แล้วปรับผังชุมชนใหม่เพื่อให้ชาวบ้านสามารถอยู่อาศัยในชุมชนเดิมได้ มีเป้าหมายทั้งหมด 5,482 ครัวเรือน ดำเนินการในเขตเขตจตุจักร หลักสี่ ดอนเมือง และพื้นที่ในเขตจังหวัดปทุมธานี
“การพัฒนาที่อยู่อาศัยให้ผู้มีรายได้น้อยได้มีที่อยู่อาศัยที่มั่นคงนั่น พอช.ไม่ได้ไปสร้างบ้านให้ชาวบ้าน แต่ให้ชาวบ้านรวมกลุ่มกันแก้ไขปัญหา และบริหารจัดการเอง โดย พอช.จะเป็นหน่วยงานสนับสนุนด้านงบประมาณและสินเชื่อ รวมทั้งการให้คำแนะนำและเป็นที่ปรึกษา ถือเป็นการพัฒนาแนวใหม่ เปลี่ยนจากเดิมที่รัฐทำให้ เป็นการสนับสนุนให้ชาวบ้านหรือผู้ที่เดือดร้อนรวมกลุ่มกันแก้ไขปัญหา” นายสยามกล่าว
ส่วนความคืบหน้าในการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองลาดพร้าวนั้น มีเป้าหมายทั้งหมด 7,069 ครัวเรือน ในพื้นที่ 50 ชุมชน ขณะนี้ดำเนินการแล้ว 35 ชุมชน รวม 3,271 ครัวเรือน (ก่อสร้างเสร็จแล้ว 2,184 ครัวเรือน, อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 689 ครัวเรือน และพื้นที่พร้อมก่อสร้าง 398 ครัวเรือน)
การสร้างเขื่อนฯ และบ้านมั่นคงในคลองลาดพร้าว บริเวณชุมชนสะพานไม้ 2 เขตหลักสี่
ทั้งนี้โครงการสนับสนุนการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยในเมืองและชนบทนั้น เป็นส่วนหนึ่งของ ‘แผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579)’ ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ดำเนินงานโดย พอช.ประมาณ 1 ล้านครัวเรือน และการเคหะแห่งชาติดำเนินการในลักษณะการเช่า-ซื้อให้แก่ประชาชนทั่วไป ประมาณ 2 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศ
ในการนี้ในเดือนตุลาคม ที่จะถึงนี้ พอช.และขบวนองค์กรชุมชนทั่วประเทศร่วมกับภาคีเครือข่ายในประเทศไทยและ 10 ประเทศอาเซียน ร่วมกันจัดงานเนื่องในวันที่อยู่อาศัยโลก (World Habitat Day) โดยในปี 2562 นี้ จะจัดขึ้นในวันที่ 10 ตุลาคม 2562 และตลอดทั้งเดือน ภายใต้แนวคิด “Collective Housing” ซึ่งเป็นการตอกย้ำการสร้างความร่วมมือจากทุกฝ่ายต่อการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย ผู้ด้อยโอกาศในสังคม ภายใต้แผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัย 20 ปี