กรุงเทพฯ / วันที่ 14 กันยายน 2562 สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) และเครือข่ายกองทุนสวัสดิการชุมชน จัดสัมมนาสรุปผลการดำเนินการประจำปี 2562 ที่โรงแรม เคยู โฮม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยนายแก้ว สังข์ชู ประธานคณะกรรมการติดตามผลการดำเนินงานกองทุนสวัสดิการชุมชน กล่าวชี้แจงวัตถุประสงค์การจัดงานว่า กองทุนสวัสดิการชุมชนเริ่มดำเนินงานอย่างเป็นทางการตั้งแต่ปี 2553 ช่วงแรกได้ร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ทำความเข้าใจกับทุกภาค ปัจจุบันมีจำนวนสมาชิกและเงินกองทุนจำนวนมากชึ้น ปีนี้ทางสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ร่วมประเมินประสิทธิภาพของกองทุนสวัสดิการชุมชน การบริหารกองทุนสวัสดิการมีความสำคัญ คือ 1.ต้องบริหารคน กรรมการ และสมาชิก ทำอย่างไรให้สมาชิกเพิ่มขึ้น 2.บริหารงบประมาณ ส่วนการจัดสัมมนาวันนี้ เพื่อทำความเข้าใจร่วมกันระดับตำบล ภาค ระดับชาติ จึงต้องออกแบบการทำงานในปี 2563 ร่วมกัน ให้กองทุนสวัสดิการชุมชนมีความมั่นคง มีการบริหารจัดการที่โปร่งใส ตรวจสอบได้
นายสมชาติ ภาระสุวรรณ ผู้อำนวยการสถาบันฯ กล่าวเปิดงานและทิศทางการดำเนินงานสวัสดิการชุมชนและงานสำคัญประจำปี 2563 ว่า 1. ประเด็นสวัสดิการชุมชน เป็นประเด็นหนึ่งที่ทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง รัฐบาลได้ประกาศนโยบายการสร้างความเข้มแข็งของชุมชน หากสวัสดิการชุมชนทำให้ชุมชนเข้มแข็งได้ จะเป็นเรื่องดีในระยะยาวของงานสวัสดิการชุมชน และสวัสดิการชุมชนเป็นการลดความเลื่อมล้ำ สวัสดิการชุมชนมีความสอดคล้องกับทิศทางการดำเนินนโยบายของรัฐบาล
- กรอบงบประมาณปี 2563 เบื้องต้น 1,200 กองทุน จำนวนสมาชิกที่ได้รับประโยชน์ 900,000 ราย งบประมาณ 368ล้านบาท กรอบนี้จะเข้าสู่สภาฯประมาณเดือนตุลาคม การใช้จ่ายงบประมาณแต่ละกรมสามารถเบิกจ่ายใช้เงินได้ 50% เพื่อดำเนินกิจกรรม เรื่องสวัสดิการสามารถใช้งบประมาณ 50% นี้นำไปใช้ดำเนินการได้ 3. ต้องจัดทำแผน 3 ปี และสิ่งสำคัญ คือเราจะจัดกลไกขับเคลื่อน ปี 2563 – 2565 อย่างไร
- การบริหารงานของพอช. 5 ภาค จะปรับเป็น 18 กลุ่มจังหวัด 1 พื้นที่ (กทม.) การจัดขบวนอยากให้วิเคราะห์ของเดิมที่ทำอยู่เพื่อให้รัฐบาลเห็นการผลักดันยุทธศาสตร์แผนงานลงพื้นที่มากขึ้น นำไปสู่การออกแบบการบริหารงานระดับ ตำบล อำเภอ จังหวัด กลุ่มจังหวัด ภาค
“แผนสวัสดิการชุมชนมีแผน 3 ปี กลไกการขับเคลื่อนจะจัดอย่างไรให้ไม่แยกส่วนกับงานประเด็นอื่น รวมทั้งหน่วยงานภาคีต่าง ๆ สวัสดิการชุมชนไม่ใช่การนำเงินมารวมกัน สวัสดิการ คือ การสร้างความเท่าเทียม ความเป็นธรรม เป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้ชุมชนเข้มแข็ง ตัวชี้วัดชุมชนเข้มแข็งต้องพิจารณาว่าคนเก่งขึ้นหรือไม่ เข้มแข็งขึ้นหรือไม่ การบริหารตามหลักธรรมาภิบาล ความสัมพันธ์ของชุมชน ชาวบ้าน จะสามารถเปลี่ยนบทบาทความสัมพันธ์โดยใช้สวัสดิการชุมชนเป็นเครื่องมือ” ผอ.พอช.กล่าว
นางสุภานิตร จุมผา เลขานุการคณะติดตามฯ กล่าวถึงผลการดำเนินงานกองทุนสวัสดิการชุมชน ภายใต้โครงการสนับสนุนการจัดสวัสดิการชุมชน ประจำปี 2562 ว่า ที่ผ่านมาได้ดำเนินการดังนี้ 1.การพัฒนาคุณภาพกองทุน การรับรู้และตระหนักการจัดทำแผนพัฒนากองทุนสวัสดิการชุมชนให้มีคุณภาพที่ดีตามยุทธศาสตร์ 2.การพัฒนาคุณภาพเครือข่ายกองทุนสวัสดิการชุมชนระดับจังหวัด / ภาค คณะกรรมการ 76 จังหวัด เครือข่ายกองทุนสวัสดิการชุมชนระดับจังหวัด/ภาค 3.ระบบข้อมูล การจัดการความรู้ งานวิจัย 4.ประสานนโยบาย การเสนอร่าง พ.ร.บ. สวัสดิการชุมชน แต่ถูกปรับแก้เป็น พ.ร.บ. ส่งเสริมระบบสวัสดิการชุมชน 5.การทำงานร่วมกับภาคีเครือข่าย ร่วมกับภาคีต่างๆ เช่น สถาบันป๋วย อึ๊งภากรณ์ รางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนฯ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ศูนย์คุณธรรม ประเมินกองทุนคุณธรรม และสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน การประเมินประสิทธิภาพกองทุนสวัสดิการชุมชน 5 ภาค แบ่งกลุ่มกองทุนสวัสดิการ เป็นกลุ่มที่ดำเนินการได้ดี ดำเนินการได้ปกติ และดำเนินการมีความเสี่ยง สิ่งที่น่าชื่นชม คือ ไม่พบกว่ามีเรื่องทุจริต
นายนิติพงษ์ ศรีระพันธ์ เจ้าหน้าที่พัฒนาองค์ความรู้ นำเสนอผลการสอบทานกองทุนสวัสดิการชุมชน ปี 2562 ว่า มีจำนวนกองทุนที่ได้สอบทาน 2,747 กองทุน จาก 5,997 กองทุน คิดเป็น 45.81% เกรด A 39.53% ตามเกณฑ์การคิดคะแนน A B C D พบว่า 1. วิธีการที่เก็บข้อมูลแบบสอบทาน การอ่าน วิเคราะห์ข้อมูล สอบถามกรรมการ สอบถามสมาชิก ดูจากเอกสารที่เกี่ยวข้อง พบว่าจำนวน 900 กองทุนใช้วิธีการนี้ ถือว่าเป็นวิธีการสอบทานที่เป็นคุณภาพ
2.กองทุนที่ดำเนินการและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง A = 846 กองทุน B = 320 กองทุน C = 275 และ กองทุน D = 81กองทุน แต่ปรากฎว่ามีตัวเลขกองทุนที่มีปัญหาและยังคงดำเนินการ ซึ่งต้องตรวจสอบว่ามีข้อมูลขัดแย้งกัน 3.สมาชิกเพิ่มขึ้นและครอบคลุมทุกหมู่บ้าน จำนวน 1,645 กองทุน 4.กองทุนที่มีการประชุมสามัญประจำปี 1,320 กองทุน หากมีการประชุมและเป็นเกรด A จำนวน 793 กองทุน 5.การบันทึกบัญชีและสรุปรายเดือนมีการบันทึกครบถ้วน 1,998 กองทุน ฯลฯ
“การสอบทานกองทุนสวัสดิการชุมชนมีประโยชน์ เพราะตัวเลขสามารถบอกนัยยะสำคัญในแต่ละข้อคำถาม ข้อมูลนี้เป็นข้อมูลเบื้องต้น ณ วันที่ 9 กันยายน 2562 ซึ่งต้อง cleansing ตรวจสอบข้อมูลอีกครั้ง มีการเปรียบเทียบหัวข้อการสอบทานของกองทุนสวัสดิการมีความใกล้เคียงกับการตรวจสอบของสตง. มีเพียง 2 หัวข้อที่ทางกองทุนมี แต่ สตง.ไม่มี ได้แก่ 1.เรื่องสถานะการดำเนินงานของกองทุนสวัสดิการ และ 2.การพัฒนากองทุนของตามแผนยุทธศาสตร์” นายนิติพงษ์กล่าว และตั้งข้อสังเกตว่า ความน่าเชื่อถือของข้อมูลอยู่ในระดับ 80% แต่ 20% ต้องมีการ cleansing ข้อมูล
นายสิน สื่อสวน ที่ปรึกษาสถาบันฯ กล่าวถึงโครงสร้างการทำงานของสถาบันฯ และการขับเคลื่อนงานตามแผนยุทธศาสตร์สวัสดิการชุมชนปี 2563 ว่า การขับเคลื่อนนโยบายให้มีพลัง ผู้แทนชุมชนและ พอช.ต้องขับเคลื่อนไปด้วยกัน หลายปีที่ผ่านมา เราอาจให้ความสำคัญในการขอรับงบประมาณจากรัฐบาล แต่ในช่วง 8-9 เดือนที่ผ่านมาได้มารื้อฟื้นแนวคิดสวัสดิการชุมชน ขอเน้นว่า “สวัสดิการชุมชนไม่ใช่เรื่องสมทบเงิน แต่เป็นเรื่องสมทบเงินให้เกิดความเสมอภาค” และจะทำอย่างไรให้การพัฒนากองทุนสวัสดิการชุมชนระดับตำบลให้เป็นสวัสดิการสังคมในพื้นที่ให้ได้
นายสินกล่าวว่า ปี 2563 จะมีการจัดทัพปรับขบวนการใหม่ ในยุทธศาสตร์นี้ มี 4 เรื่องที่ต้องดำเนินการ คือ 1.ทำตำบลให้ดี 2.ทำเครือข่ายให้มีพลัง 3.ทำความรู้การสื่อสารให้มีพลัง และ 4.ผลักดันเชิงนโยบายให้ได้ โดยมีรายละเอียดดังนี้
ยุทธศาสตร์ที่ 1 การเสริมสร้างบทบาทและความสามารถกองทุนสวัสดิการชุมชนเป็นกลไกการจัดสวัสดิการในพื้นที่ ประกอบด้วย 1.พัฒนาศักยภาพคณะกรรมการกองทุนสวัสดิการ 2.พัฒนามาตรฐาน ตัวชี้วัด และการรับรองกองทุนสวัสดิการชุมชน 3.รางวัลสวัสดิการชุมชนต้นแบบ
ยุทธศาสตร์ที่ 2 การพัฒนาศักยภาพเครือข่ายสวัสดิการชุมชนในการขับเคลื่อน คือ 1.การพัฒนาศักยภาพกรรมการสวัสดิการชุมชนจังหวัด 2.สมัชชาสวัสดิการชุมชนภาค/จังหวัด 3.จังหวัดนำร่องยุทธศาสตร์สวัสดิการชุมชนระดับจังหวัด 4.จัดทำโลโก้กองทุนสวัสดิการชุมชน
ยุทธศาสตร์ที่ 3 การพัฒนาระบบข้อมูล องค์ความรู้ และเครือข่ายการเรียนรู้สวัสดิการชุมชน คือ 1.พัฒนาระบบสารสนเทศสนับสนุนการบริหารจัดการกองทุนสวัสดิการชุมชน 2.อบรมเชิงปฏิบัติการนักจัดการความรู้สวัสดิการชุมชน 3.วิจัยเพื่อการพัฒนานวัตกรรมสวัสดิการสังคมไทย
ยุทธศาสตร์ที่ 4 การพัฒนานโยบายสวัสดิการชุมชนให้เป็นระบบสวัสดิการสังคมของประเทศ คือ 1.พัฒนานโยบายและกฎหมายสวัสดิการชุมชน/สวัสดิการสังคม จะผลักดันเรื่องกฎหมายซึ่งเป็นกฎหมายส่งเสริม ไม่ใช่กฎหมายเพื่อบังคับ 2.สื่อสารเพื่อการพัฒนานโยบาย
“ทั้ง 4 ยุทธศาสตร์นี้ครอบคลุมพลังทางความรู้ พลังทางสังคม และพลังทางนโยบาย และขอฝากไว้ว่า ปัจจุบันงานสวัสดิการชุมชนตำบลมีความก้าวหน้าเป็นที่รับรู้แก่สาธารณะ ขอให้เร่งดำเนินการตรวจสอบกองทุน หากเริ่มมีปัญหาขอให้ช่วยกันหาแนวทางแก้ไข กองทุนสวัสดิการอนาคต ควรเน้นหลักคิดเรื่องการพึ่งตนเอง การให้อย่างมีศักดิ์ศรี รวมถึงการค้นคิดเรื่องสวัสดิการที่ไม่ใช่ตัวเงิน เช่น การวิเคราะห์ข้อมูลและสะท้อนกลับเข้าใจได้ง่าย การปรับตัวในการจัดสวัสดิการของกองทุน หากเราได้รับจากเงินสมทบสมาชิกเพียงอย่างเดียวและไม่เชื่อมโยงทุนอื่น อาจจะเกิดความเสี่ยงได้” ที่ปรึกษา พอช.กล่าวในตอนท้าย
ทีั้งนี้ในส่วนของผู้เข้าร่วมสัมมนาได้ร่วมเสนอความคิดเห็นที่หลากหลาย เช่น ให้ อบจ.ผลักดันแผนงานสวัสดิการชุมชนให้บรรจุเป็นนโยบายของจังหวัด เพื่อสนับสนุนการทำงานของกองทุนสวัสดิการชุมชน ขอให้ส่วนกลางเร่งดำเนินการให้กระทรวงมหาดไทยออกระเบียบการสนับสนุนไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
- เสนอให้สร้างความเชื่อมโยงหน่วยงานภาคีต่าง ๆ ในทุกยุทธศาสตร์ เน้นเรื่องความมั่นคงของกองทุน กองทุนสวัสดิการฯ ควรเรียนรู้กองทุนที่มีวิธีการ
- เพิ่มสมาชิกกองทุนได้ดี เช่น กรณีกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ ควรทำสื่อเผยแพร่ดี ๆ ให้โดนใจ สื่อสารหลักคิด “ให้อย่างมีคุณค่า รับอย่างมีศักดิ์ศรี” เสนอให้เพิ่มคนรุ่น
- ใหม่ในกองทุนสวัสดิการชุมชน ฯลฯ