กรุงเทพฯ / ปิดเวที ‘สรุปผลการดำเนินงานเศรษฐกิจและทุนชุมชน แผนธุรกิจเพื่อชุมชน คานงัดการพัฒนาที่ยั่งยืน’ โดยในปี 2562 พอช.สนับสนุนการจัดทำแผนธุรกิจเพื่อชุมชนทั่วประเทศแล้ว 119 กลุ่ม และเกิดผู้นำการเปลี่ยนแปลง 111 คน ส่วนปี 2563 มีเป้าหมายสนับสนุนให้กลุ่มและองค์กรต่างๆ ทั่วประเทศจัดทำแผนธุรกิจเพื่อชุมชน 500 กลุ่ม แผนธุรกิจฯ ระดับตำบล 100 ตำบล สนับสนุนศูนย์บ่มเพาะธุรกิจชุมชน 50 ศูนย์ ฯลฯ
ระหว่างวันที่ 11-12 กันยายนนี้ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ร่วมกับเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนจัดงาน ‘เวทีสรุปผลการดำเนินงานเศรษฐกิจและทุนชุมชน แผนธุรกิจเพื่อชุมชน คานงัดการพัฒนาที่ยั่งยืน’ ที่โรงแรมทาวน์อินทาวน์ เขตวังทองหลาง กรุงเทพฯ มีกิจกรรมต่างๆ เช่น เวทีเสวนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์-พื้นที่รูปธรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและทุนชุมชน ฯลฯ โดยมีนายสากล ม่วงศิริ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เป็นประธานในการเปิดงาน มีผู้แทนชุมชนที่ทำโครงการเศรษฐกิจและทุนชุมชนจาก 5 ภาคเข้าร่วมงานประมาณ 120 คน
ทั้งนี้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ สนับสนุนให้ชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศสร้างระบบเศรษฐกิจและทุนชุมชนที่มั่นคง สามารถพึ่งพาตนเองได้มาตั้งแต่ปี 2543 มีเป้าหมายหลักเพื่อให้ชาวชุมชน “กินอิ่ม นอนอุ่น ทุนมี หนี้ลด” และถือเป็นภารกิจหลักด้านหนึ่งของสถาบันฯ (นอกจากเหนือจากภารกิจอื่น เช่น การพัฒนาที่อยู่อาศัย-ที่ดินทำกินผู้มีรายได้น้อยในเมืองและชนบท การส่งเสริมสวัสดิการชุมชน สภาองค์กรชุมชน ฯลฯ)
โดยมีแผนการส่งเสริมเศรษฐกิจและทุนชุมชนในด้านต่างๆ เช่น การจัดอบรมเพื่อสนับสนุนให้มีการวางแผนธุรกิจชุมชน พัฒนาผู้นำเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงหรือนำไปขยายผลต่อ ประสานภาคีเครือข่ายเพื่อขยายผลความร่วมมือ เช่น ร่วมมือกับบริษัทประชารัฐรักสามัคคี จำกัด ส่งเสริมการผลิต การแปรรูป การตลาดและจัดจำหน่ายสินค้าจากชุมชน ฯลฯ
ในปี 2562 ที่ผ่านมา พอช.ได้สนับสนุนให้กลุ่มและองค์กรต่างๆ ทั่วประเทศจัดทำแผนธุรกิจเพื่อชุมชนแล้ว รวม 119 กลุ่ม แยกเป็น ภาคเหนือ 16 พื้นที่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 21 พื้นที่ ภาคกลางและตะวันตก 39 พื้นที่ กรุงเทพฯ ปริมณฑลและตะวันออก 21 พื้นที่ และภาคใต้ 22 พื้นที่ นอกจากนี้ยังเกิดผู้นำการเปลี่ยนแปลงทั่วประเทศรวม 111 คน
ส่วนในปี 2563 มีเป้าหมายสนับสนุนให้กลุ่มและองค์กรต่างๆ ทั่วประเทศจัดทำแผนธุรกิจเพื่อชุมชนจำนวน 500 กลุ่ม สนับสนุนการจัดทำแผนธุรกิจฯ ระดับตำบลจำนวน 100 ตำบล สนับสนุนศูนย์บ่มเพาะธุรกิจชุมชน 50 ศูนย์ นอกจากนี้ยังสนับสนุนให้มีการจัดทำชุดความรู้ การจัดเวทีการเรียนรู้เชื่อมโยงเครือข่ายธุรกิจชุมชนเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและทุนชุมชน ฯลฯ
เวทีเสวนา : ภาคีพัฒนากับการต่อยอดแผนธุรกิจเพื่อชุมชน
นายปฏิภาณ จุมผา (ผู้อำนวยสำนักงานภาคกลางและตะวันตก พอช.) ผู้ดำเนินรายการ ‘เสวนา : ภาคีพัฒนากับการต่อยอดแผนธุรกิจเพื่อชุมชน’ กล่าวว่า การขับเคลื่อนเศรษฐกิจและทุนชุมชนเป็นภารกิจของ พอช. ในระยะที่ผ่านมาขับเคลื่อนงานไปแล้วไม่น้อยกว่า 3,000 ตำบล โดย พอช.สนับสนุนการขับเคลื่อนทั้งขบวนการพัฒนาตั้งแต่ปี 2543 แต่สิ่งที่ดำเนินการยังไม่ถึงเป้าหมายตามที่คาดหวังไว้ เรื่องนี้เป็นเรื่องปากท้องวิถีชีวิตของภาคประชาชน ประชาชนเป็นเจ้าของฐานการผลิตทุกเรื่อง ทั้งดิน น้ำ ป่า ที่ผ่านมา พอช.สนับสนุน 100 คน แต่ดำเนินการไปได้เพียง 2 คน เปรียบเหมือนพาคนลงเรือ 100 คน บางคนไปไม่ได้จมน้ำหลายคน หลายพื้นที่เหลือเพียงคนเดียว การมีส่วนร่วม ปฏิบัติการร่วม อาจหายไปหมด คำถาม คือ ยังต้องดำเนินการเรื่องเศรษฐกิจและทุนชุมชนหรือไม่? แต่ตามภารกิจ พอช. ต้องดำเนินการต่อไป
“การสรุปบทเรียนหลายครั้ง สิ่งที่ภาคประชาชนยังขาด คือ เรื่องการจัดระบบการบริหารจัดการ ‘การจัดทำแผนธุรกิจชุมชนท้องถิ่น’ เป็นเรื่องสำคัญ ต้องหารือกับผู้มีประสบการณ์จริง ค้นหาพี่น้องที่มีประสบการณ์ตรง นี่คือ ‘คานงัดเพื่อการเปลี่ยนแปลง’ ทำให้คนเล็กคนน้อยลุกขึ้นมาจัดทำแผนธุรกิจชุมชน จึงเป็นที่มาของคำว่า ‘คาดงัดเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน’ นั่นเอง” นายปฏิภาณเปิดประเด็นการเสวนา
ชูชาติ ผิวสว่าง “เศรษฐกิจฐานรากจะเปลี่ยนประเทศไทยได้”
นายชูชาติ ผิวสว่าง ประธานที่ประชุมระดับชาติสภาองค์กรชุมชนตำบล ยกตัวอย่างการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศจีนว่า การเดินทางหมื่นลี้ของเหมา เจ๋อตุง เมื่อไปพบหมู่บ้านตีเหล็กก็จะให้ชาวบ้านตีเหล็กทั้งหมู่บ้าน ไปหมู่บ้านย้อมครามก็ให้ย้อมครามทั้งหมู่บ้าน ไปหมู่บ้านไหนก็ให้ทำแบบนั้น เป็นการเริ่มต้นจากเศรษฐกิจฐานราก เป็นการระเบิดจากภายในของชุมชน ซึ่งหากประเทศไทยทำได้ทั้งประเทศ จะเป็นเรื่องที่ดีมาก เราจะมีสินค้า 85,000 แบรนด์ จาก 85,000 หมู่บ้านทั่วประเทศ
ส่วนการทำงานของสภาองค์กรชุมชน ตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.สภาฯ ทำงานใน 2 มิติ คือ 1.มิติทางการพัฒนาเศรษฐกิจ ศิลปวัฒนธรรม ชีวิตความเป็นอยู่ 2.มิติทางการเมืองภาคพลเมือง เพราะฉะนั้นการเคลื่อนกระบวนการภาคประชาชนจะดำเนินการ 2 เรื่องนี้ พี่น้องต้องไม่ทิ้งเรื่องการเมืองภาคพลเมืองด้วย หัวใจอยู่ที่กระบวนการมีส่วนร่วม หากพี่น้องทำเรื่องเศรษฐกิจต้องควบคู่กับการเมืองภาคพลเมือง
“ที่ผ่านมาสภาฯ ได้เชื่อมงานกับ พอช. ทำให้ พอช.เห็นว่าระบบเศรษฐกิจฐานรากต้องหนุนเสริมการเมืองภาคพลเมือง สภาฯ พร้อมที่จะเข้าไปเติมเต็ม โดยขณะนี้สภาฯ จดแจ้งจัดตั้งแล้ว 98% ทั่วประเทศ เหลือเฉพาะเทศบาลซึ่งเป็นชุมชนใหญ่ ขณะเดียวกันจะต้องหารือกับ พอช. เพราะสภาฯของบประมาณเองไม่ได้ หากจดแจ้งสภาฯ เสร็จก็จะมาคิดเรื่องพื้นที่รูปธรรมเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มข้นควบคู่กับการเมืองภาคพลเมือง และต้องยกระดับนักกิจกรรมมาเป็นผู้ประกอบการทางธุรกิจให้ได้” นายชูชาติกล่าว
นอกจากนี้สภาองค์กรชุมชน ได้เสนอนโยบายด้านเศรษฐกิจต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ด้วยการยกระดับผู้ประกอบการ การจัดทำแผนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากหรือแผนธุรกิจชุมชน ยกระดับอุตสาหกรรมหลังบ้านผ่านกระบวนการทำแผนธุรกิจชุมชนภายใน 5 ปี คือ ปีที่ 1 ทำ 40 % ปีที่ 2 ทำ 30% ปีที่ 3 ทำ 20% ปีที่ 4 ทำ 10% ปีที่ 5 เก็บตกส่วนที่เหลือ โดยสภาองค์กรชุมชนจะทำหน้าที่เป็นแกนกลางเชื่อมประสานกับหน่วยงานต่างๆ เช่น ประชารัฐ หอการค้า อบต. และตนเชื่อว่า “เศรษฐกิจฐานรากจะเปลี่ยนประเทศไทยได้”
อัมพร แก้วหนู “เครือข่ายสภาองค์กรชุมชน 160,000 ชุมชน ทำไมไม่ซื้อขายเชื่อมโยงกัน ?”
นายอัมพร แก้วหนู รองผู้อำนวยการ พอช. กล่าวว่า 2 ปีที่ผ่านมา พอช.ไม่ได้รับงบประมาณดำเนินการเรื่องเศรษฐกิจเลย ดังนั้นผู้บริหารต้องคิดว่าจะดำเนินการอย่างไร เมื่อมีเงินน้อยจะต้องออกแบบว่าการทำเรื่องแผนธุรกิจอย่างไรจึงจะได้ผล คนที่มาเข้าร่วมต้องเป็นคนที่สนใจ ไม่มีการเกณฑ์คนเข้าร่วม วันนี้คาดหวังว่า คนมา 120 คน หากมีสัก 50 คนกลับไปทำต่อ เปรียบเหมือนหว่านพืชต้องหวังผล ปีที่ผ่านมามีคนเข้าร่วม 300-400 คน ทำได้จริง 100 คนถือว่าคุ้มค่าแล้ว
รอง ผอ.พอช.เสนอความเห็นว่า จะต้องมีการยกระดับการดำเนินงาน คือ 1.เชิงปริมาณ กลุ่มธุรกิจชุมชน 110,000 กลุ่ม ทำอย่างไรจะกลับไปขยายแผนธุรกิจชุมชนให้เยอะที่สุดเท่าที่ทำได้ โดยมีคนที่พวกเราสร้างขึ้นมาไปช่วยทำต่อในเชิงปริมาณ
2.เชิงคุณภาพ ร้านค้าชุมชนมีสินค้าประมาณ 700 ชิ้น มีสินค้าที่ชุมชนผลิตได้เท่าไหร่ ? คำตอบเกือบเป็น 0 คือสินค้าเกือบทั้งหมดมาจาก MAKRO และ LOTUS เพราะเราผลิตแล้วเราไม่ใช้ ทำอย่างไร เมื่อเราผลิตแล้วต้องกินและต้องใช้ด้วย ? ต้องปรากฏอยู่ในร้านค้าชุมชน และผู้บริโภคยุคใหม่ ชอบสินค้าคุณภาพ ทำอย่างไรให้เป็นสินค้าอินทรีย์ สินค้าไม่มีน้ำตาล ? คิดว่ากลุ่มลูกค้าลักษณะนี้จะเติบโต
3. ฝึกอบรมการค้าขาย Online โดยผู้ขายๆ ไปยังผู้ซื้อโดยตรง ไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง หากธุรกิจชุมชนขายของ online จะเป็นมหาสมุทรและไปได้ไม่จำกัด สิ่งที่เกิดกับสถานการณ์โลกประเทศที่พัฒนาแล้วศูนย์การค้าเจ๊ง เพราะคนไปซื้อสินค้า online คนอาจไปเดินตามศูนย์การค้า แต่จะซื้อผ่าน online เพราะมีให้เลือกซื้อมากกว่า การใช้ internet online จะช่วยพัฒนาช่องทางการค้าขายให้มากขึ้น
4. การเชื่อมโยงสินค้าต่างๆ กับสินค้าชุมชน เช่น อะโวคาโด้อินทรีย์มีกี่แห่ง แก่นตะวันมีกี่แห่ง โดยให้เครือข่ายรับรองสินค้าอินทรีย์กันเอง แต่สินค้าเกษตรมีจุดอ่อนเรื่องการจัดเก็บ ซึ่งอาจมีการเน่าเสียหาย สิ่งที่เกิดขึ้น คือ การผลิตตามคำสั่งซื้อของลูกค้า โดยเชื่อมเครือข่ายผู้บริโภคและผู้ผลิต และผลิตตามใบสั่งซื้อ
“เครือข่ายสภาองค์กรชุมชน 7,000 แห่ง องค์กรภายใต้สภาองค์กรชุมชน 160,000 ชุมชน เป็นทุนที่หน่วยงานต่างๆ อยากประสานงานทำ MOU ด้วย ซึ่งแต่ละแห่งก็มีความเข้มแข็ง อ่อนแอ ไม่เท่ากัน ถามว่าเครือข่ายภายใต้สภาองค์กรชุมชน 160,000 ชุมชน ทำไมไม่ซื้อขายเชื่อมโยงกัน บ้านมั่นคงประมาณ 1,000 โครงการ มี 100,000 ครอบครัว จะเชื่อมโยงกันอย่างไร นี่เป็นตัวอย่างของเครือข่ายที่มหาศาล หากมีการเชื่อมโยง สินค้าและบริการจะไหลเข้าหากัน นักท่องเที่ยวในโลกเขาอยากไปเที่ยวชุมชน ซึ่งไม่ผ่านการปรุงแต่ง เขาอยากรู้ว่ามีสถานที่ท่องเที่ยวชุมชนในประเทศไทยกี่แห่ง สามารถปฏิบัติการได้เลย” รอง ผอ.พอช. เสนอความเห็น
สินธพ อินทรัตน์ “อ่อนน้อมในลีลา แต่เข้มแข็งในอุดมการณ์”
นายสินธพ อินทรัตน์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลท่าข้าม จังหวัดสงขลา กล่าวว่า แผนธุรกิจชุมชนและเศรษฐกิจและทุนชุมชนเป็นเรื่องเดียวกัน ทำอย่างไรให้ทุกชุมชนที่มาในวันนี้ได้กลับไปทำ โดยต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจนในการพัฒนาตำบล เช่น หากสามารถทำแผนธุรกิจชุมชน 9 ข้อได้ ชุมชนจะก้าวไปไกล และไปอย่างก้าวกระโดด หากเราเชื่อมโยงกับส่วนราชการได้ ไม่ว่าจะเป็นเกษตรฯ พัฒนาชุมชน ที่ให้อิสระกับชุมชน จะเป็นโอกาสที่ดีกับชุมชน
“สิ่งสำคัญของธุรกิจชุมชน คือ 1.จะต้องเป็นการพัฒนาที่เกิดจากความต้องการของประชาชน 2.มีวินัยในการจัดการบัญชี การเงินตำบล 3.มีความเพียร มานะในการทำ เช่น สร้างแบรนด์ การหาตลาด 4.มีการวางแผนร่วมกัน เกิดเป็นแผนของหมู่บ้าน แผนพัฒนาตำบล แผนที่เชื่อมโยงกับหน่วยงานราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และ 5.มีผู้บริหารจัดการ และมีความรับผิดชอบ เริ่มจากตนเอง ทำด้วยตนเอง ให้ภาคประชาชนเป็นเจ้าของ และสิ่งที่สำคัญ คือ การอ่อนน้อมในลีลา แต่เข้มแข็งในอุดมการณ์” นายก อบต.ท่าข้ามกล่าวย้ำ
ลือพงษ์ อ่องเจริญ “เป็นสินค้า OTOP ได้ แต่ยังไม่ชนะสงครามความยากจนของประเทศ”
นายลือพงษ์ อ่องเจริญ กรรมการผู้จัดการบริษัทประชารัฐรักสามัคคี จังหวัดตรัง จำกัด เล่าที่มาของบริษัทประชารัฐรักสามัคคี ซึ่งเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมว่า เป็นการทำตามนโยบายสานพลังประชารัฐของรัฐบาล โดยทำ 3 เรื่อง ได้แก่ เกษตร แปรรูป และการท่องเที่ยวโดยชุมชน โดยมีคณะกรรมการบรูรณาการเชิงพื้นที่ มีรัฐสนับสนุนงบประมาณ มีหน่วยงานภาครัฐ โดยคณะกรรมการประสานและขับเคลื่อนนโยบายประชารัฐ (คสป.) มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน มีการคัดเลือกพื้นที่ที่จะสนับสนุนวิสาหกิจชุมชน
โดยจะคัดเลือกพื้นที่จากพื้นที่ที่มีคุณภาพ แบ่งเป็นโซนเขา/ป่า นา ทะเล 3 โซนนิ่ง พิจารณาจากแหล่งทรัพยากร เริ่มปักหมุดที่เกาะลิบง จังหวัดตรัง ซึ่งเป็นโซนทะเล เป็น ‘ลิบงโมเดล’ และพาสื่อช่องอัมรินทร์ทีวีไปทำสื่อ ทำให้การท่องเที่ยวชุมชนเป็นที่รู้จักแพร่หลายมากขึ้น นอกจากนี้เกาะลิบงมีหญ้าทะเลกว่า 2 แสนไร่ เป็นแหล่งอาหารและแหล่งอาศัยของพะยูนและปลิงทะเล โดยเฉพาะปลิงทะเลตลาดมีความต้องการมาก ราคากิโลกรัมละ 5,000 บาท จึงเสนอขอรับงบประมาณสนับสนุนจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA)
“บริษัทประชารัฐรักสามัคคีได้ศึกษาว่าปลิงทะเล หากออกไข่ตามธรรมชาติมีโอกาสรอดไม่ถึง 1% แต่หากเลี้ยงในระบบปิดจะมีโอกาสรอด 50% จึงเสนอสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติเพื่อให้ชุมชนเลี้ยงปลิงทะเล และจะช่วยฟื้นฟูทะเลให้สมบูรณ์ โดยขณะนี้ได้เพาะขยายพันธุ์ได้แล้ว และนำลูกปลิงมาให้วิสาหกิจชุมชนเกาะลิบงเลี้ยง” นายลือพงษ์ยกตัวอย่างการทำงานของบริษัทประชารัฐฯ จ.ตรัง
เขาบอกด้วยว่า บริษัทประชารัฐรักสามัคคี เป็นข้อต่อที่เชื่อมกับหน่วยงานภาครัฐหลายองค์กร เช่น พัฒนาชุมชน โดยมีภาคเอกชนนำ มีหน่วยงานภาครัฐตาม และบริษัทประชารัฐรักสามัคคี จังหวัดตรังร่วมกันทำงาน
“บางครั้งชนะศึก แต่ไม่ชนะสงคราม คือ ส่งสินค้าเป็นสินค้า OTOP ได้ แต่ยังไม่ชนะสงครามความยากจนของประเทศได้ แต่ก็มีแนวทางที่จะสร้างความเข้มแข็งภายใน 10 ปีนี้” ลือพงษ์สรุปการทำงานของ บ.ประชารัฐฯ จ.ตรังในช่วงที่ผ่านมา
ณัฐพงษ์ จารุวรรณพงษ์ “พ.ร.บ.ส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม คือเครื่องมือใหม่ที่ทำให้เราทำธุรกิจคล่องตัว”
นายณัฐพงษ์ จารุวรรณพงษ์ ศูนย์ออกแบบเพื่อสังคมฯ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เดิมมี พ.ร.บ.สหกรณ์ และมี พ.ร.บ.วิสาหกิจชุมชน แต่ พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับดังกล่าวไม่ได้ส่งเสริมให้ชาวบ้านทำธุรกิจได้สะดวก คือ ไม่ได้ออกแบบในแนวทางที่ พอช.ผลักดัน แต่เมื่อมี พ.ร.บ.ส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม พ.ศ.2562 (ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อ 22 พฤษภาคม 2562) พ.ร.บ.ฉบับนี้มีประโยชน์ ดังนี้
1.พ.ร.บ.นี้ เปิดโอกาสให้ชุมชน ภาคประชาสังคม เป็นนิติบุคคลได้ มีความคล่องตัวเหมือนบริษัท รับงานราชการ ได้ ระดมทุนได้ ขณะเดียวกันก็จะได้สิทธิประโยชน์ต่างๆ เหมือนกับมูลนิธิ แต่ทำธุรกิจได้คล่องตัว
2.กฎหมายอนุญาตให้ระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ สามารถซื้อของในราคากลางได้ ก่อประโยชน์แก่สังคม เช่น ผอ.รพ.อยากซื้อผักอินทรีย์ แต่มี ผอ.หลายโรงพยาบาลไม่กล้าดำเนินการเพราะกลัวผิดกฎหมาย แต่ พ.ร.บ.ฉบับนี้อนุญาตให้หน่วยงานรัฐซื้อได้
3.หากจดทะเบียนวิสาหกิจชุมชน กลุ่มวิสาหกิจชุมชนจะได้ทุนเบื้องต้น โดย พ.ร.บ.ฉบับนี้อนุญาตให้นำเงินจากกองทุนส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม เช่น เงินสนับสนุนระยะสั้น เงินกู้ และระดมทุนจากประชาชนได้ เช่น ตนอยากทำผักเหลียงที่สงขลา นายก อบต.สามารถระดมทุนเพื่อปลูกผักเหลียงได้เลย
“ขอเน้นย้ำว่า สินค้าเราต้องดีกว่าของอื่น ๆ เช่น อาหาร หรือบริการ กฎหมายฉบับนี้ คือเครื่องมือใหม่ที่ทำให้เราทำธุรกิจคล่องตัว แต่ช่วงแรกๆ ยังเป็นสูญญากาศ มีภาคเอกชนขนาดใหญ่จดทะเบียน ไม่ค่อยเห็นชุมชนกล้ามาจดทะเบียน หากชุมชนที่มีความพร้อมอยากเชิญชวนให้มาจดทะเบียน” นายณัฐพงษ์กล่าวในตอนท้าย
ทิศทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและทุนชุมชนปี 2563
วันที่ 12 กันยายน ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการจัด ‘เวทีสรุปผลการดำเนินงานเศรษฐกิจและทุนชุมชน แผนธุรกิจเพื่อชุมชน คานงัดการพัฒนาที่ยั่งยืน’ มีการเสวนาในหัวข้อ ‘ทิศทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและทุนชุมชนปี 2563’
นายปฏิภาณ จุมผา ผู้อำนวยสำนักงานภาคกลางและตะวันตก พอช. กล่าวว่า กระบวนการจัดทำแผนธุรกิจเพื่อชุมชน 9 ขั้นตอน เป็นกระบวนการเรียนรู้การลดความเหลื่อมล้ำ เรียนรู้ภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง การจัดแผนทำธุรกิจชุมชน ทำทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ไม่ใช่เพียงแผนกิจกรรมและโครงการ แต่เป็นชุดกิจกรรมโครงการ สิ่งที่แลกเปลี่ยนคุยตรงกัน 119 องค์กรที่จัดทำแผนธุรกิจเพื่อชุมชน แผนที่ทำไม่ใช่ ‘แผนขอ แต่เป็นแผนชีวิต’ เรื่องราวที่จะดำเนินการต่อต้องไปอยู่ในใจของทุกคน ชุมชนต้องเป็นเจ้าของ แผนธุรกิจเพื่อชุมชน จึงเป็นแผนแห่งคุณค่า ทำแล้วเกิดมูลค่าส่วนเกินที่ไม่ได้เบียดเบียนธรรมชาติ หรือเบียดเบียนทุนที่มีอยู่
“สิ่งที่สังคมไทยและโลกขาดไป คือ ทำแผนธุรกิจและไปทำลายวิถีชีวิตธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แผนของเราเป็นแผนของการให้ พอให้แล้วจะได้ สุดท้ายจะเป็นผู้ประกอบการของชุมชน ให้ทุกคนลุกขึ้นมาเป็นผู้ประกอบการร่วมกัน เป็นแผนธุรกิจเพื่อชุมชนที่ยึดเรื่องธรรมะและจริยธรรม เราจะทำอย่างไรต่อ? กลับไปจะทำทันที มีการเชื่อมโยงเป็นองค์กรเครือข่าย” นายปฏิภาณกล่าว
นายสมชาติ ภาระสุวรรณ ผอ.พอช. กล่าวว่า เรื่องสำคัญของการจัดทำแผน คือ 1.เราเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 แล้ว สิ่งสำคัญคือเรื่องเครื่องมือ เทคโนโลยีต่างๆ และดิจิทัล ประเทศไทยไม่ได้อยู่โดดๆ ต้องเชื่อมโยงกับประเทศอื่นด้วย สิ่งที่เราคิด ณ วันนี้หรือทำมาแล้ว จะใช้ดิจิทัลให้เป็นประโยชน์กับเรื่องที่เราทำได้อย่างไร ? เช่น ขายสินค้าผ่านช่องทาง online
2.การดำเนินงานของเราเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ชาติ เชื่อมโยงพลังทางสังคม ผ่านกิจกรรมธุรกิจและทุนชุมชน เป็นไปตามภารกิจวัตถุประสงค์ ซึ่ง พอช. มีบทบาทสนับสนุนชุมชนในเรื่องเศรษฐกิจและทุนชุมชน โดยผ่านเครื่องมือการจัดทำแผนเศรษฐกิจและทุนชุมชน
3.การดำเนินงานเศรษฐกิจและทุนชุมชน ทำให้ชุมชนดีขึ้น เข้มแข็งขึ้นหรือไม่ ? โดยใช้แผนธุรกิจเป็นเครื่องมือ เพื่อพัฒนาบุคลากรในพื้นที่ ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น และมีระบบบริหารจัดการที่ดี และ 4.ส่งผลเรื่องการจัดระบบความสัมพันธ์ ร่วมกับ อบต. ท้องถิ่น ท้องที่ ภาคเอกชน ยกระดับความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับกลุ่มคนที่หลากหลาย
“ส่วนทิศทางในปี 2563 พอช. ได้กรอบงบประมาณ จำนวน 500 ตำบล รวม 72 ล้านบาท จึงไม่สามารถสนับสนุนพี่น้องได้เต็มประเทศ และต้องผ่านกระบวนการพิจารณาอีก 2-3 เดือนข้างหน้า แต่บทบาทของ พอช.และงบประมาณอันน้อยนิดนี้ จะช่วยให้พี่น้องทำเรื่องประเด็นเศรษฐกิจและทุนชุมชน เปิดความคิดออกไปสู่โลกกว้างอย่างไร้ขีดจำกัด โดยมีเครื่องมือที่ใช้ในการจัดทำแผน สามารถไปเชื่อมโยงท้องที่ ท้องถิ่น ระดับนโยบาย หรือภาคเอกชน เป็นเศรษฐกิจของคนเล็กๆ ที่ช่วยพยุงให้ประเทศชาติเดินหน้าและสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของประเทศ” ผอ.พอช.กล่าว
นางฑิฆัมพร กองสอน คณะกรรมการสถาบันฯ กล่าวว่า ในปีหน้าจะมีการจัดงาน ‘วิถีพลังไทย’ ครบ 20 ปี พอช. ซึ่งในงานจะนำผลิตภัณฑ์ของชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศมาร่วมแสดง ส่วนการจัดทำแผนธุรกิจชุมชนนั้น กว่าจะเข้าใจและทำได้ต้องใช้เวลาเกือบปี และการทำงานภายในขบวนองค์กรชุมชนต่อไปอาจจะมีหลักสูตรการจัดทำแผนธุรกิจชุมชน เพราะเป็นการพัฒนาศักยภาพคนในขบวนด้วย นอกจากนี้แผนธุรกิจชุมชนถือเป็นแผนชีวิตในการทำมาหากินของพวกเรา จึงขอให้กำลังใจและชื่นชม 119 องค์กรที่ทำแผนเรื่องธุรกิจชุมชน รวมทั้งผู้นำการเปลี่ยนแปลง 111 คน ที่ร่วมกันเปลี่ยนแปลงพื้นที่ และสร้างสัมมาชีพเต็มประเทศไทย
นายชูชาติ ผิวสว่าง ประธานที่ประชุมระดับชาติสภาองค์กรชุมชนตำบล กล่าวว่า การเข้าร่วมงานใน 2 วันนี้ต้องถือว่าพวกเราทั้งหมดคือรุ่น 1 และต้องมีรุ่นน้องให้ได้ ต้องเตรียมตัวในฐานะรุ่นพี่ และต้องพร้อมที่จะเป็นผู้ประกอบการ ขอให้นึกถึงตลาดนัดตำบลที่ไม่มีใครจ้างให้ไปเปิดตลาด แต่เป็นผู้ประกอบการตัวจริง
“พวกเราต้องพร้อมเป็นผู้ประกอบการ ส่วนตัวผมชอบคำพูดของคุณมีชัย วีระไวทยะ ว่า ‘เราต้องไม่สอนให้ชาวบ้านเป็นขอทาน’ กรณีภาคอีสานผมจะช่วยประสานให้เกิดตลาดนัดเทศบาล ‘งานดอกฝ้าย’ เชิญทุกพื้นที่เข้าร่วมงาน จะสนุกและเป็นผู้ประกอบการ เราต้องสร้างความสามัคคีทางเศรษฐกิจ สร้างกระบวนการมีส่วนร่วม เชื่อมโยงสภาองค์กรชุมชน จึงจะมีพลังในการทำงาน และดำเนินการต่อไปได้” นายชูชาติกล่าว
นายธีรพล สุวรรณรุ่งเรือง รองผู้อำนวยการ พอช. กล่าวว่า ในปี 2563 งบประมาณเศรษฐกิจและทุนชุมชน 72 ล้านบาทอาจถูกตัดบ้าง แต่ต้องคุยกันว่าจะใช้งบประมาณนี้อย่างเต็มที่ในการทำงานเรื่องนี้ได้อย่างไร แม้ว่ารัฐบาลจะให้งบประมาณหรือไม่ให้ เราต้องทำเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง และจะส่งผลอย่างมาก หากเราทำสัก 5 ปีแล้วเห็นผล จึงอยากให้เชิญคนรุ่นใหม่มาร่วมเป็นอนุกรรมการร่วมด้วย
“เรามาถูกทางแล้ว เรามีแผนธุรกิจชุมชน มีเป้าหมาย เราจะไปถึงสิ่งที่คาดหวังไว้” รองผู้อำนวยการ พอช.กล่าวย้ำ