สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ/ พอช.เดินหน้าพัฒนาคนทำงานในขบวนองค์กรชุมชนและผู้นำท้องถิ่นตามแผนยุทธศาสตร์ระยะ 5 ปี (พ.ศ.2560-2564) ตั้งเป้า 15,000 คนทั่วประเทศ หนุนเสริมด้านความรู้ วิชาการ ธรรมาภิบาล เพื่อให้คนทำงานและผู้นำขับเคลื่อนการพัฒนาไปสู่ชุมชนเข้มแข็งจัดการตนเอง สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีและนโยบายรัฐบาล ด้านนักวิชาการแนะชุมชนต้องสร้างผู้นำรุ่นใหม่ และต้องมีวิสัยทัศน์ เพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงในอนาคต
ตามที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. กำหนดแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาศักยภาพคนในขบวนองค์กรชุมชนและองค์กรชุมชน ระยะ 5 ปี (พศ.2560-2564) มีเป้าหมายพัฒนาและยกระดับขีดความสามารถคนทำงานในขบวนองค์กรชุมชนและผู้นำท้องถิ่น รวม 15,000 คน โดยในปี 2562 มีเป้าหมายรวม 2,000 คน มีการจัดกิจกรรมต่างๆ หนุนเสริมความรู้ ความสามารถ และธรรมาภิบาล รวมทั้งการจัดการความรู้เพื่อสื่อสารพื้นที่รูปธรรมการพัฒนา เพื่อให้คนทำงานและผู้นำขับเคลื่อนการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นไปสู่การจัดการตนเอง เป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้
ล่าสุดระหว่างวันที่ 4-5 กันยายน 2562 สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ ร่วมกับเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนจัดเวทีนำเสนอผลการดำเนินงานนวัตกรรมการพัฒนาคนเชิงพื้นที่ ‘พลังการสื่อสารจัดการความรู้ สู่การพัฒนาคนที่ยั่งยืน’ ที่โรงแรม S Bangkok ถนนนวมินทร์ เขตบึงกุ่ม กรุงเทพฯ มีผู้แทนขบวนองค์กรชุมชนจาก 5 ภาค นักวิชาการ ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่สถาบันฯ เข้าร่วมสัมมนาประมาณ 150 คน มีกิจกรรมต่างๆ เช่น เวที ‘เรื่องเล่า เร้าพลัง’ ( Ted Talk) โดยผู้แทนชุมชนทั้ง 5 ภาค, เวทีนำเสนอผลงานนวัตกรรมชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง สู่พื้นที่การพัฒนาที่ยั่งยืน ฯลฯ โดยมีนักวิชาการร่วมสังเคราะห์ข้อมูลและแสดงความคิดเห็น
นายจินดา บุญจันทร์ ประธานคณะทำงานพัฒนาคนในขบวนองค์กรชุมชน กล่าวว่า พอช.ให้ความสำคัญกับการพัฒนาคน คณะทำงานฯ จึงพยายามรวบรวมความเห็นจากพี่น้องทั้ง 5 ภาค มาจัดทำร่างแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาคนในขบวนองค์กรชุมชนฯ ระยะ 5 ปี ส่วนการจัดงานในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้นำขบวนองค์กรชุมชนที่ขับเคลื่อนงานพัฒนาคนในระดับภาคและส่วนกลางได้นำเสนอผลการดำเนินงานการพัฒนาคนเชิงพื้นที่ และการพัฒนานวัตกรรมชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเองร่วมกัน นอกจากนี้ยังเป็นการเปิดกระบวนทัศน์ทางความคิดให้ผู้นำฯ มีความรู้ ความเข้าใจ และเชื่อมั่นต่อแนวทาง “การพัฒนาที่คนเป็นรากฐานของการพัฒนาที่ยั่งยืนทุกมิติ”
นายสมชาติ ภาระสุวรรณ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ กล่าวว่า การนำเสนอผลงานจากพื้นที่ในครั้งนี้ เป็นข้อมูลจากการปฏิบัติการจริง ซึ่งอาจจะใช้ได้กับตำบลหนึ่ง แต่อาจใช้ไม่ได้กับอีกตำบลหนึ่ง ดังนั้นข้อมูลดังกล่าวอาจไม่สามารถตอบโจทย์ได้ทุกเรื่อง จึงต้องมีข้อมูลใหม่ มีการสื่อสารใหม่ตลอดเวลา และข้อมูลที่ดีที่สุดคือ ข้อมูลที่เกิดจากการปฏิบัติการจริง ลงมือทำ สรุปเป็นบทเรียน แล้วถ่ายทอดช่องทางการสื่อสารต่างๆ ขณะเดียวกัน พอช.กำลังจะปรับพื้นที่การทำงานให้สอดรับกับทิศทางการพัฒนาประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี กรอบการปฏิรูปประเทศ และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12
“ขอเน้นว่า การสื่อสาร ข้อมูล การจัดการความรู้ และการพัฒนาผู้นำ หากสามารถเชื่อมโยงกันได้ จะทำให้มีพลังในการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาของชุมชน ทั้ง 3 สิ่งนี้ในศตวรรษที่ 21 เป็นเรื่องสำคัญที่ทุกคนต้องเรียนรู้เรื่องใหม่ ทั้งในและนอกพื้นที่ การสัมมนา 2 วันนี้ นอกจากบทเรียนที่นำเสนอ สิ่งสำคัญคือการวางแผนอีก 3 ปีข้างหน้าว่า ทิศทางการพัฒนาผู้นำทั้งประเทศจะไปในทิศทางใด รวมถึงเรื่องเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น 5 G ซึ่งจะเป็นโจทย์ว่า หากจะทำให้ชุมชนเข้มแข็งจะต้องสร้างองค์ความรู้ การสื่อสาร และการพัฒนาผู้นำ ดังนั้นการที่จะก้าวไปข้างหน้าอย่างมีพลัง จะต้องเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เลือกรับข่าวสารและสื่อสารข่าวที่สร้างสรรค์” นายสมชาติกล่าวย้ำ
หลังจากนั้นเป็นช่วงกิจกรรม ‘เรื่องเล่า เร้าพลัง’ ( Ted Talk) โดยผู้แทนชุมชนทั้ง 5 ภาคบอกเล่าประสบการณ์การพัฒนาชุมชนในพื้นที่ของตนเองในหัวข้อ ‘พัฒนาคน พัฒนาชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็ง’
นายวิรัตน์ สุขกุล คณะทำงานพัฒนาแกนนำขบวนองค์กรชุมชนภาคอีสาน กล่าวว่า ผู้นำภาคอีสานทุกรุ่นให้ความสำคัญผู้นำตั้งแต่รุ่นบุกเบิกจนถึงปัจจุบัน พี่น้องขบวนองค์กรชุมชนภาคอีสานมีการสรุปบทเรียน 4 ครั้ง กำหนดเป้าหมายการพัฒนาภาคอีสานภายใน 16 ปี มีเป้าหมาย ‘อีสานต้องจัดการตนเองได้’ และเรื่องที่สำคัญเรื่องหนึ่งคือ การพัฒนาผู้นำ
โดยต้อง 1 .พัฒนาความคิด สร้างคน องค์กรชุมชนให้มีความเข้มแข็ง สามารถจัดการตเองได้ โดยใช้แนวคิด “อีสาน 1 เดียว” เป็นนวัตกรรมสำคัญที่ใช้ในการขับเคลื่อน เป็นกระบวนการที่มีพลัง เป็นนวัตกรรมที่ค้นพบจากการพัฒนาผู้นำ 2.การสร้างผู้นำจากพื้นที่รูปธรรม จากปี 2559 ถึงปัจจุบันพบว่า สามารถสร้างพื้นที่จัดการตนเองในหลายมิติได้ 400 กว่าตำบล 10 จังหวัด 4 ภูมินิเวศน์ เป็นผลจากการพัฒนาผู้นำ
3.กระบวนการทำงานที่กระจายอำนาจการทำงานในลักษณะกลุ่มจังหวัด ซึ่งภาคอีสานทำมาแล้ว 2 ปี มีการพัฒนาแนวคิด ขยายคนทำงาน เพิ่มจำนวนคนให้มีจำนวนมากขึ้น การจัดการกลุ่มเป้าหมาย ให้แกนนำระดับจังหวัดทำงานร่วมกัน โดยใช้กระบวนการทำงานสร้างการเรียนรู้โดยการพัฒนาคน
และ 4.หากจะพัฒนาพื้นที่ให้มีความเข้มแข็งต้องพัฒนาอะไรบ้าง เช่น (1) พื้นที่นั้นต้องมีคนที่เป็นทีม ขบวน หากไม่มีทีมไม่สามารถทำงานได้ (2) ต้องมีเป้าหมายการทำงานที่ตรงกัน (3) รูปธรรมการจัดการตนเอง การจัดการเศรษฐกิจและทุนชุมชน (4) มีการเคลื่อนขบวนระดับตำบล หรือจังหวัด
นายอุดม อินทร์จันทร์ ผู้แทนขบวนองค์กรชุมชนภาคเหนือ กล่าวว่า ภาคเหนือเน้นพัฒนาศักยภาพสภาองค์กรชุมชนตำบลที่จัดตั้งขึ้นใหม่ แบ่งเป็น 4 กลุ่มจังหวัด จัด 5 เวที เน้นการพัฒนายกระดับสภาองค์กรชุมชน ตาม พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551 เพื่อให้เข้าใจบทบาทหน้าที่ของตนในการทำงานพัฒนาเชื่อมโยงพื้นที่ตำบลและพื้นที่ใกล้เคียง และขยายเป็นเครือข่ายในระดับอำเภอ จังหวัด
“การพัฒนาคนในระดับจังหวัดและภาค ภาคเหนือมีการจัดเวทีหลายครั้ง มีการพัฒนากระบวนการทำงานจังหวัด ซึ่งมีทั้งงานประเด็นงานกองทุนสวัสดิการชุมชน งานสภาองค์กรชุมชนฯ โดยมีภาคีนักวิชาการเข้าร่วม เชื่อมโยงกับภาคีระดับตำบลและจังหวัด ส่วนบทเรียนที่เกิดขึ้นทำให้ได้เรียนรู้เทคนิคใหม่ ๆ การออกแบบการทำงานประเด็นต่าง ๆ ให้ทำงานร่วมกัน” ผู้แทนภาคเหนือกล่าว
นอกจากนี้เขายังกล่าวด้วยว่า ประเด็นที่ท้าทายคือ การออกแบบการพัฒนาที่เหมาะสมในอนาคต ซึ่งอาจมีการยกระดับผู้นำที่มีคุณธรรมและจริยธรรมมากขึ้น และมีข้อสังเกต คือ มีนโยบายระดับประเทศที่ส่งผลกระทบกับความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ มีประเด็นเกี่ยวกับภัยพิบัติ ที่อยู่อาศัยในพื้นที่ตนเอง ทำอย่างไรจะให้เกิดความเป็นธรรมในระดับพื้นที่มากขึ้น ? เช่น กฎหมายเกี่ยวกับป่าไม้ที่เกี่ยวข้อง และประเด็นสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
รศ.ดร.สมบัติ กุสุมาวลี คณบดีคณะทรัพยากรมนุษย์ สถาบันพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ให้ความเห็นต่อการนำเสนอพื้นที่รูปธรรมการพัฒนาทั้ง 5 ภาคว่า จากประสบการณ์การไปศึกษาดูงานที่ญี่ปุ่น เมือง Oita มีชุมชน Oyama ที่มีความน่าสนใจ ไม่ใช่ชุมชนจัดการตนเอง แต่เป็นชุมชนพึ่งตนเอง ปฏิเสธการจัดการของรัฐทุกอย่าง เป็นชุมชนที่เข้มแข็งมาก ยืนด้วยขาตนเอง มีเศรษฐกิจชุมชนของตนเอง มีธนาคารของตนเอง จะทำชุมชนให้เป็นดินแดนออร์แกนิกที่ไม่ใช้สารเคมี แต่ปัญหาที่เจอคือ ขาดผู้นำรุ่นใหม่ที่จะมาทดแทนผู้นำรุ่นเก่า เพราะเด็กรุ่นใหม่ไปอยู่ในเมืองใหญ่หมด
“เราต้องสร้างผู้นำใหม่ รักษาผู้นำรุ่นเก่า ต้องดึงดูดคนรุ่นใหม่ให้อยากอยู่ในพื้นที่ อยากให้ขบวนองค์กรชุมชนคิดถึง วิสัยทัศน์ในอนาคต เพราะหลังจากฟัง 5 ภูมิภาคแล้ว ไม่เห็นวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน หากไม่มีวิสัยทัศน์ที่ดึงดูด เด็กรุ่นใหม่จะไม่อยู่ ที่ผ่านมาเราคุยอดีตและปัจจุบัน อนาคตคือ จินตนาการ ตอนนี้ต้องมองอนาคตและเห็นร่วมกัน” อาจารย์จากนิด้าให้ความเห็น
นอกจากนี้เขายังยกตัวอย่างจากชุมชน Oyama เมือง Oita ว่า ในอดีตเป็นชุมชนที่ยากจนที่สุด การเกษตรไม่ได้ผล จนชุมชนมารวมตัวกันวางแผนระยะยาว ปี ค.ศ.1960 – 2000 (พ.ศ.2503-2543) วางแผน 40 ปี วางเป็นขั้นตอน คือ ขั้นตอนที่ 1 เปลี่ยนจากปลูกข้าวหาพืชเศรษฐกิจใหม่ ทำให้ชีวิตคนมีรายได้มั่งคั่งขึ้น ขั้นตอนที่ 2 สร้างคนรูปแบบใหม่ ชุมชนส่งเสริมให้เด็กรุ่นใหม่ไปเรียนต่างประเทศ แต่ยังภูมิปัญญาท้องถิ่น และขั้นตอนที่ 3 สร้างสวรรค์บนดิน
“ส่วนประเทศไทย แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี จะทำให้ชุมชนเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างแน่นอน ในอนาคตชุมชนจะเจอกับโลกดิจิทัลเยอะขึ้น เกษตรกรรมยุคใหม่ เกษตรกรใน Oyama คือ ผู้ประกอบการ ดังนั้นพวกเราต้องเปลี่ยนทัศนคติ สร้างผู้ประกอบการแบบใหม่ สร้างเศรษฐกิจชุมชนใหม่ และสุดท้าย 3 คือ คน ผู้นำ และองค์กรของท่าน มีวัฒนธรรม ความรู้ความสามารถ เหมาะกับการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่โลกยุคใหม่หรือไม่ เรื่องนี้ต้องนำกลับไปพิจารณา” รศ.ดร.สมบัติกล่าวในตอนท้าย
การจัดเวทีนำเสนอผลการดำเนินงานนวัตกรรมการพัฒนาคนเชิงพื้นที่ ‘พลังการสื่อสารจัดการความรู้ สู่การพัฒนาคนที่ยั่งยืน’ ครั้งนี้ เป็นการจัดกิจกรรมต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2561 โดยจัดขึ้นในภูมิภาคต่างๆ เช่น ‘หลักสูตรการขับเคลื่อนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ’ ที่ จ.นครศรีธรรมราช หลักสูตร ‘การสื่อสารสาธารณะ’ ร่วมกับสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ที่ จ.เชียงใหม่ ฯลฯ รวมทั้งจัดพัฒนาศักยภาพผู้นำในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ สามารถพัฒนาผู้นำในขบวนองค์กรชุมชนได้ 3,864 คนจากเป้าหมาย 3,000 คน
นอกจากนี้แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาศักยภาพคนในขบวนองค์กรชุมชนและองค์กรชุมชนยังปรับปรุงให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580) ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ และด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม รวมทั้งนโยบายของรัฐบาลที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แถลงต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2562 ข้อ 7.2.1 เรื่อง ‘สร้างผู้นำชุมชน ยกย่องปราชญ์ชาวบ้าน’ เพื่อเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง ฯลฯ และเป็นพลังสำคัญในการจัดการปัญหาความเหลื่อมล้ำ การพัฒนาตนเอง และการจัดการของชุมชนท้องถิ่น