ตำบลโยธะกา ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของจังหวัดฉะเชิงเทรา มีเนื้อที่ประมาณ 58.20 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 36,375 ไร่ อยู่ห่างจากกรุงเทพมหานคร ทางทิศตะวันออกประมาณ 75 กิโลเมตร ตามทางหลวงรถยนต์หมายเลข 304 (สุวินทวงศ์) แบ่งเขตการปกครอง ออกเป็น 13 หมู่บ้าน
สภาพปัญหาที่อยู่อาศัย/ผู้เดือดร้อนภาพรวม
ตำบลโยธะกาเป็นตำบลที่ลุ่มต่ำทรงกระทะ ติดแม่น้ำบางประกง และแม่น้ำปราจีนบุรี ในฤดูฝน หรือช่วงน้ำขึ้นมาก บางพื้นที่ในตำบลจะประสบปัญหาน้ำท่วมขัง ก่อนที่สภาองค์กรชุมชนตำบลโยธะกาจะดำเนิน งานเรื่องบ้านพอเพียง จากการสำรวจครัวเรือนประชากร มีบ้านเรือนผุพัง ทรุดโทรม ไม่ปลอดภัย มากกว่า 100 หลังคาเรือน ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ และมีฐานะยากจน ไม่มีที่ดินเป็นของตนเอง อาศัยในที่ดินสปก. ที่ดินของชล ประทาน ที่ดินศูนย์เกษตรกรรมทหารเรือ ในเริ่มแรกที่มีการประชาสัมพันธ์ ผู้นำชุมชนก็ยังไม่เห็นด้วยกับโครงการ และกลัวปัญหาต่างๆที่จะตามมาในภายหลัง ชาวบ้านเองยังไม่มั่นใจว่าจะได้รับความช่วยเหลือจริง แต่ด้วยการสื่อสาร และการทำความเข้าใจ ผู้นำจึงเห็นถึงความจำเป็น และการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน จึงเข้าร่วมกับโครงการบ้านพอเพียงนี้ และในส่วนของประชาชนเองเมื่อการช่วยเหลือรอบแรกผ่านไป ก็เกิดความสนใจต้องการได้รับความช่วยเหลือ เกิดความไว้วางใจผู้นำชุมชนมากยิ่งขึ้น และพวกเขายังมีความหวังที่จะได้รับการช่วยเหลือมากขึ้น แต่ในขณะนี้การช่วยเหลือก็ยังไม่ทั่วถึงพี่น้องประชาชนผู้เดือนร้อนทั้งตำบล สำหรับโครงการในรอบที่ 1 และ 2 นี้ มีผู้เดือดร้อนได้รับการช่วยเหลือทั้งหมด 42 หลังคาเรือน
กลไกการขับเคลื่อนขบวนองค์กรชุมชนตำบลโยธะกา
ตำบลโยธะกาใช้สภาองค์กรชุมชนเป็นเวทีกลางรับฟังสภาพปัญหาข้อดี ข้อเสียของแต่ละชุมชนและนำมาร่วมรวมพัฒนาให้เป็นแผนพัฒนาตำบล ดังนี้
- โครงสร้างการดำเนินงานบ้านพอเพียง
โครงการบ้านพอเพียงตำบลโยธะกา มีคณะทำงานทั้งหมด 16 คน ประกอบด้วย ผู้นำชุมชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน 6 คน เจ้าหน้าที่และสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล 5 คน คณะทำงานกองทุนสวัสดิการ 1 คน และมีผู้เดือดร้อนร่วมเป็นคณะกรรมการ 4 คน ดังตารางที่ 2.1 โดยโครงสร้างการดำเนินงานและบริหารจัดการโครงการบ้านพอเพียงแบ่ง 4 ฝ่าย คือ
- บริหาร ( คณะผู้นำหมู่ )
- การเงิน ( เบิกจ่าย เก็บเงินส่งคืน )
- ช่างชุมชน ( ประเมินราคา,จัดซื้อจัดจ้าง,ตรวจรับวัสดุ )
- ตรวจรับ
ผังตำบล (ผู้เดือดร้อน)
- ต้องเป็นคนที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านและอยู่อาศัยจริง ในตำบลโยธะกา อย่างน้อย 3 ปี
- ต้องใช้เพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อน ในระดับครัวเรือนเท่านั้น ไม่ให้ใช้กู้ยืมเชิงพาณิชย์
- คณะกรรมการพิจารณาความเร่งด่วน ตามลำดับของความเดือดร้อนรายครัวเรือน ได้แก่
- ซ่อมแซมโครงสร้าง กรณีที่ส่งผลต่อการปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน
- ต่อเติม เพื่อทำให้เกิดเพื่อความปลอดภัยและถูกสุขอนามัย
- ตกแต่งเพื่อความสวยงาม น่าอยู่
- ผู้ยากไร้ ที่จะได้รับการสงเคราะห์ในการซ่อมแซม/สร้างขึ้นใหม่ ต้องผ่านประชาคมหมู่บ้านโดยคณะกรรมการโครงการบ้านพอเพียง
- ผู้เดือดร้อน ต้องไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด การพนัน และอบายมุขอื่นๆ
- กรณีผู้เดือดร้อนที่ไม่เป็นสมาชิกกองทุนสวัสดิการชุมชนฯ คณะกรรมการมีแนวทางที่จะทำให้ผู้เดือดร้อนรายนั้นๆ เข้ามาเป็นสมาชิกกองทุนฯ เพื่อจะได้รับการแก้ไขปัญหา
- สมาชิกโครงการบ้านพอเพียงต้องออมเงินเพื่อที่อยู่อาศัย เดือนละ 30 บาท
เกณฑ์การพิจารณา บ้านพอเพียง (ผู้ยากไร้-ยากจน-ด้อยโอกาส กรณีสงเคราะห์)
- ต้องเป็นคนที่ชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน/อยู่อาศัยจริง ของตำบลโยธะกา อย่างน้อย 5 ปี
- ต้องอยู่ในระบบกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลโยธะกา
- ไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด การพนัน
- ต้องผ่านการประชาคมหมู่บ้าน และคณะกรรมการกองทุนฯ
หมายเหตุ** ในรายที่ผ่านเกณฑ์การพิจารณา บ้านพอเพียงรับการช่วยเหลือ (ผู้ยากไร้) ต้องช่วยเหลือกิจกรรมของชุมชนส่วนรวม และ/หรือร่วมกิจกรรมของสภาองค์กรชุมชน / กลุ่มบ้านพอเพียงเป็นประจำ
แนวทางการบริหารจัดการกองทุน/ช่วยเหลือ
การบริหารจัดการกองทุนโครงการบ้านพอเพียงชนบทตำบลโยธะกา หลังจากรับงบประมาณโครงการ มีการแบ่งรอบการดำเนินการออกเป็น 2 รอบ โดยพิจารณาดำเนินการซ่อม – สร้าง ตามลำดับความเดือดร้อน ดังข้อมูลที่ได้จากการสำรวจ โดยมีการดำเนินการอบแรก 30 หลังคาเรือน รอบ 2 อีก 12 หลังคาเรือน รวม 42 หลัวคาเรือน เป็นบ้านผู้เดือดร้อนที่ได้รับการสงเคราะห์ 2 หลังคาเรือน ในรอบการซ่อม – สร้างที่ 2 งบประมาณจากโครงการสูงสุด หลังละ 18,000 บาท ( กรณีเกินงบประมาณ ผู้เดือดร้อนต้องจ่ายค่าแรง วัสดุอุปกร เอง ) ซึ่งวัสดุ อุปกรณ์ที่ใช้ในโครงการ มาจากร้านขายวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้าง ในตำบล 4 ร้าน ตามความเหมาะสม มีการประเมินราคาและการดำเนินการซ่อม – สร้างทั้งหมด โดยช่างท้องถิ่น ใช้เวลาในการดำเนินงานโดยเฉลี่ยหลังละ 3-5 วัน หลังจากดำเนินการซ่อม – สร้าง แล้วเสร็จ มีการตรวจรับโดยคณะกรรมการโครงการ
สมาชิกบ้านพอเพียงชนบทต้องชำระเงินคืนทุกวันที่ 5 ของทุกเดือน โดนกำหนดขั้นต่ำเดือนละ 300 บาท เก็บเป็นเงินออม 30 บาท (กรณีส่งเงินคืนครบแล้ว สามารถออมต่อได้ เพื่อรักษาสิทธ์เป็นสมาชิกกองทุนบ้านพอเพียงชนบท) รวมเป็นเงิน 330 บาท ต่อเดือน สมาชิกที่ลาออกได้รับเงินออมทั้งหมดคืน ในแต่ละเดือนทางกองทุนจะได้รับเงินคืนจากการชำระของสมาชิกขั้นต่ำ 12,000 บาท รับเงินออมสมาชิก 1,200 บาท เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนในกองทุนบ้านพอเพียง ใช้ในการดำเนินการซ่อมบ้านผู้เดือนร้อนรายอื่นๆ รวมถึงในกรณีประสบภัยพิบัติฉุกเฉิน และมีแนวทางที่จะทำให้กองทุนเกิดความยั่งยืน โดยมีการเก็บดอกเบี้ยเงินยืม เก็บค่าสมัครแรกเข้า / เงินสมทบรายปี รวมทั้งประสานเชื่อมโยงหน่วยงาน ภาคี เพื่อขอรับงบสนับสนุนต่อไป
ความร่วมมือเชื่อมโยงหน่วยงานภาคี
- องค์การบริหารส่วนตำบลโยธะกา สนับสนุนบุคลากร เจ้าหน้าที่ช่วยเรื่องการจัดทำเอกสาร และรวบรวมเอกสารโครงการ
- สภาองค์ชุมชนตำบล สนับสนุนงบประมาณที่ใช้ในการดำเนินงานเบื้องต้น เป็นที่ปรึกษา และประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ
ตัวอย่างบุคคลที่ได้รับการช่วยเหลือจากโครงการบ้านพอเพียง
- นายบุญยืน บัตรมาก อายุ 41 ปี
บ้านเลขที่ 6 หมู่ 1 บ้านบางเชือกเขา ตำบลโยธะกา อำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา
ครอบครัวของนายบุญยืน อาศัยอยู่ด้วยกัน 3 คน ตนเอง ลูก และพี่ชาย จากที่เคยเป็นกำลังหลักครอบครัว ได้กลายมาเป็นผู้ป่วยติดเตียง ที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ พี่ชายต้องคอยดูแล ไม่สามารถออกทำงานได้ตามปกติ นายบุญยืนจึงเป็นผู้เดือดร้อนที่ได้รับการสงเคราะห์ จากโครงการบ้านพอเพียงลักษณะตัวบ้าน เป็นบ้านไม้ใต้ถุนสูง อยู่ใกล้คลอง ถึงฤดูนำหลากก็จะประสบปัญหาน้ำท่วม แต่ด้วยว่า เดิมเตียงผู้ป่วยของนายบุญยืนอยู่บนบ้าน กลางวันจะร้อนมาก อากาศถ่ายเทไม่สะดวก เนื่องจากหลังคาเป็นสังกะสี และด้วยอากาศที่ร้อนนี้อาจทำให้เกิดการติดเชื้อ และแผลกดทับ แพทย์จึงให้คำแนะนำว่าควรย้ายเตียงผู้ป่วยลงด้านล่าง จึงเป็นโอกาสดีที่ได้เข้าร่วมโครงการบ้านพอเพียงชนบท นายบุญยืนได้ย้ายลงมาอยู่ด้านล่างตามคำแนะนำของแพทย์ และด้วยการร่วมแรงร่วมใจของผู้นำ และคนในหมู่บ้าน ออกแรงช่วยกันก่ออิฐ เทพื้น ทำลูกกรงกั้นห้อง ให้ดูเป็นสัดเป็นส่วน และปลอดภัย
- นางพนอ ชื่นอารมย์ อายุ 36 ปี
บ้านเลขที่ 4/4 หมู่ที่ 1 บ้านบางเชือกเขา ตำบลโยธะกา อำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา
บ้านของคุณพนอ อาศัยกันอยู่เป็นครอบครัวใหญ่ มีจำนวนสมาชิกในครอบครัวทั้งหมด 12 คน ลักษณะของตัวบ้านเป็นปูนชั้นเดียว ยกพื้น ในส่วนที่เป็นปัญหา คือส่วนของเพิงหน้าบ้าน เป็นผลมาจากน้ำท่วมทุกปี ทำให้เสาบ้านทรุดตัว ไม้ผุพัง โครงสร้างหลังคาไม่แข็งแรง และไม่ปลอดภัย เจ้าของบ้านเองเล่าว่า ตอนเย็นแดดจะส่องเข้าบ้านทำให้ร้อนมากๆ ฝนตกก็สาดเข้าบ้าน อยู่ภายในบ้านไม่ได้ อยู่ด้วยความหวาดระแวง กลัวว่าหลังคาจะพังลงมา โดยผ่านโครงการบ้านพอเพียง ได้เปลี่ยนเสา และโครงหลังคาใหม่ กระเบื้องในส่วนของเก่าที่ยังพอใช้ได้ก็นำมาใช้อีกครั้ง และซื้อเพิ่มเติมบางส่วน ทำให้ได้บ้านที่รู้สึกแข็งแรง ปลอดภัยขึ้น
- นางสาวณัฐกานต์ สีสด อายุ 27 ปี
บ้านเลขที่ 4/7 หมู่ที่ 1 บ้านบางเชือกเขา ตำบลโยธะกา อำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา
บ้านของณัฐกานต์ มีสมาชิกในครอบครัว 4 คน อาศัยอยู่ในที่ดินของแม่ ที่เป็นที่ดินเปล่า ปลูกบ้านแยก อยู่เป็นครอบครัวของตนเอง ลักษณะบ้านเป็นบ้านปูนชั้นเดียว และเป็นบ้านอีกหนึ่งหลังที่ประสบกับปัญหาน้ำท่วมทุกปี การเข้าร่วมโครงการบ้านพอเพียงในครั้งนี้ เป็นโอกาสที่ดีที่จะทำให้บ้านหลังนี้มีห้องน้ำใช้ เดิมครอบครัวของณัฐกานต์ ต้องอาศัยเข้าห้องน้ำ ห้องส้วม บ้านญาติที่อยู่ใกล้เคียง เนื่องจากทุนทรัพย์ในการปลูกสร้างไม่เพียงพอ ต้องรอถึงฤดูเกี่ยวข้าว จึงจะนำเงินมาสร้างห้องน้ำได้
บ้านเลขที่ 80/1 หมู่ที่ 5 บ้านสะแกโดด ตำบลโยธะกา อำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา
คุณยายเนาะเป็นอีกหนึ่งคน ที่ได้รับการช่วยเหลือจากโครงการบ้านพอเพียงแบบสงเคราะห์ เนื่อจากเป็นผู้สูงอายุ อาศัยอยู่คนเดียว ไม่มีอาชีพ ไม่มีรายได้ ถึงแม้ว่าลูกๆ หลานๆ จะอาศัยอยู่ในบริเวณใกล้กันก็ตาม แต่สถานะทางการเงินของทุกคนก็ไม่สู้ดีนัก จึงช่วยเหลือกันได้ไม่มาก คุณยายเนาะอาศัยอยู่ในกะต๊อบเล็กๆ หลังคารั่ว ฝนตกก็ต้องนอนแอบๆ หลบฝน ข้างฝาทำจากสังกะสีบ้าง ไม้เก่าบ้าง ไม่มีห้องน้ำ ห้องส้วม อาบน้ำต้องไปอาบที่บ้านลูกชาย และต้องเข้าห้องน้ำที่มัสยิดใกล้ๆบ้าน โดยผ่านโครงการบ้านพอเพียง คุณยายได้บ้านใหม่ที่มีสภาพดีขึ้น ปลอดภัยมากขึ้น สามารถหลบแดดหลบฝนได้ และเป็นที่พักพิงให้คุณยายไปอีกนาน ด้วยการช่วยเหลือจากผู้นำชุมชน และชาวบ้านที่มีจิตอาสา จึงทำให้คุณภาพชีวิตของคุณยายเนาะดีขึ้น