ตำบลห้วยห้อม เป็นตำบลในเขตการปกครองของอำเภอแม่ลาน้อย ซึ่งประกอบด้วย 9 หมู่บ้านได้แก่ หมู่ที่ 1 บ้านห้วยห้อม, หมู่ที่ 2 บ้านโกลหะคี, หมู่ที่ 3 บ้านสาม, หมู่ที่ 4 บ้านตุน, หมู่ที่ 5 บ้านดง, หมู่ที่ 6 บ้านละอูบ, หมู่ที่ 7 บ้านละอางเหนือ, หมู่ที่ 8 บ้านดงใหม่, หมู่ที่ 9 บ้านดูลาเปอ
ปะวัติความเป็นมา ตำบลห้วยห้อม อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นหมู่บ้านห่างจากอำเภอแม่ลาน้อย 35 กิโลเมตร สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,100 เมตร ตั้งอยู่ในเขตต้นน้ำลำธารของลำน้ำแม่ลาน้อย แหล่งน้ำธรรมชาติหลายสาย เช่น ลำห้วยซะหย่าโกร๊ะ ห้วยบาโกร๊ะ ห้วยหนู่โกร๊ะ ห้วยซิติโกร๊ะ ทำให้คนในหมู่บ้านมีแหล่งน้ำเพื่อการบริโภคอุปโภคอย่างพอเพียง ทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยป่าไม้ ภูเขา วิถีชีวิตคนชาวปกาเกอญอ จะรักสิ่งแวดล้อม ป่าไม้ และธรรมชาติ จึงไม่มีการตัดไม้ทำลายป่า ได้ร่วมกันอนุรักษ์ป่าไม้และปลูกเพิ่มมากขึ้นทุกปี
ประชากรบ้านห้วยห้อมเป็นชาวไทยภูเขาเผ่ากระเหรี่ยงหรือปกาเกอญอ ก่อตั้งมานานมากกว่า 200 ปี ครอบครัวแรกที่เข้ามาอาศัยอยู่คือ ผู้เฒ่าโกร่บอและแม่เฒ่าแอ๊ะพอ เป็นเวลาประมาณ 7 ชั่วคนแล้ว มีนายเคแฮ เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก ต่อมาได้มีชาวบ้านอพยพมาจากบ้านแม่สะกั๊วะ บ้านแม่งะ บ้านแม่สะปึ๋งเหนือ บ้านแม่สะแมง และบ้านหนองม่วน ทำให้มีประชากรเพิ่มมากขึ้น ขณะนี้มี 58 ครัวเรือน ประชากร 350 คน นายสุบิน กระจ่างเนตร เป็นผู้ใหญ่บ้านคนที่ 10 ของบ้านห้วยห้อม ส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสเตียน
ชาวไทยภูเขาบ้านห้วยห้อม อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีอาชีพหลักคือการทำไร่กาแฟ กาแฟเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีชื่อเสียงและสร้างรายได้ให้กับราษฎร์บ้านห้วยห้อมปีละกว่า 1 ล้านบาท โดยได้รับการสนับสนุนเมล็ดพันธุ์อาราบิก้าจากบริษัทสตาร์บัคล์คอฟฟี่ประเทศไทยจำกัด และองค์กรพัฒนาชาวเขานำมาปลูกแบบผสมผสานกับพืชชนิดอื่น อาทิเช่น ข้าวโพด กะหล่ำปลี หมาก ลูกเนียง และปลูกใต้ร่มไม้ใหญ่ซึ่งเป็นวิธีเพราะปลูกที่ช่วยอนุรักษ์สภาพแวดล้อมไปด้วย ปัจจุปันราษฎรในหมู่บ้านห้วยห้อม ทำการปลูกกาแฟพันธุ์อาราบิก้า จำนวน 56 ครอบครัว หรือประมาณ 300 คน พื้นที่ประมาณ 400 ไร่ ผลผลิตปีละ 10 ตัน ซึ่งผลผลิตทั้งหมดส่งไปขายยังประเทศสหรัฐอเมริกา แต่ไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด ขณะนี้เตรียมที่จะขยายพื้นที่ปลูกกาแฟพันธุ์อาราบิก้าไปยังหมู่บ้านห้วยห้า บ้านดง บ้านละอุบ บ้านดูราเปอร์ บ้านดงใหม่และบ้านห้วยห้าใหม่ ตำบลห้วยห้อม อ.แม่ลาน้อย จ.แม่ฮ่องสอน ทั้งนี้เพื่อให้ตำบลห้วยห้อม เป็นหมู่บ้านปลูกกาแฟพันธุ์อาราบิก้าที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และส่งผลผลิตไปยังสหรัฐอเมริกาให้มากที่สุด
ตำบลห้วยห้อม ปัจจุบัน ประกอบด้วย 9 หมู่บ้าน 3 หย่อม มีเนื้อที่ 75,000 ไร่ มีประชากร 4,441 คน 1,096 ครัวเรือน เป็นตำบลที่มีการทำงานของโครงการหลวงหลายหมู่บ้าน อาทิเช่น บ้านห้วยห้อม บ้านห้วยฮาก บ้านละดุย บ้านดง พืชสร้างรายได้ ซึ่งชาวบ้านได้ดำเนินการต่อเนื่องเป็นเวลายาวนาน ด้วยผู้นำชุมชนในอดีตได้สร้างรากฐานให้ชุมชนต่างๆ จึงสร้างอาชีพด้านการทำเกษตรกรรมและมีรายได้จาการทำเกษตรบนพื้นที่สูงนำมาสู่การสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับชุมชน นำมาสู่การฟื้นเศรษฐกิจชุมชน และการส่งเสริมอาชีพเสริมในการทอผ้า
หลักคิด/แนวคิดในการดำเนินงานบ้านพอเพียงชนบท
เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชน ฟื้นฟูระบบความสัมพันธ์ความเอื้อเฟื้อในชุมชน ให้คน จนอยู่อย่างมีศักดิ์ศรีในสังคมลดความเหลื่อมล้ำในที่อยู่อาศัย โดยมีกระบวนการในการซ่อมแซม สร้างบ้านที่อยู่อาศัยของคนในชุมชนให้มีความมั่นคง แข็งแรงไม่ทรุดโทรม มีระบบในการดูแลช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
กระบวนการ/ขั้นตอนการดำเนินงาน
ในการดำเนินงานโครงการบ้านพอเพียงชนบทตำบลห้วยห้อมนั้น มีขั้นตอนที่กลุ่มผู้นำให้ความสำคัญอย่างมาก คือ การทำความเข้าใจร่วมกันต่อแนวคิดการทำงานระหว่างกลุ่มผู้นำด้วยกัน (ก่อนที่จะนำไปพูดคุยกับสมาชิกชุมชน) โดยมีเวทีการประชุมประจำเดือนเพื่อนำประเด็นต่างไปพูดคุยกันเป็นประจำ ถือว่าเป็นกิจกรรมหลักที่สำคัญ
ในช่วงแรกของการดำเนินงาน จะได้เริ่มทำความเข้าใจระหว่างกลุ่มผู้นำชุมชนเป็นกลุ่มแรก เพราะต้องนำข้อมูลการดำเนินงานโครงการไปชี้แจงกับสมาชิกชุมชนต่อไป กระบวนการสำคัญที่ใช้ คือ เริ่มจากการร่วมวิเคราะห์ศักยภาพชุมชน ร่างแผนงานระดับชุมชน/ตำบล จากนั้นจะจัดเวทีประชาคมร่วมกันในระดับชุมชนเพื่อทำความเข้าใจและเริ่มกระบวนสำรวจข้อมูลเพื่อคัดเลือกผู้เดือดร้อนในทุกชุมชน ถือว่าเป็นการคัดเลือกในรอบแรกเข้าสู่การคัดกรองกลุ่มเป้าหมายระดับตำบล โดยเรียงลำดับจากผู้ที่เดือดร้อนที่สุด โดยมีหลักการพิจารณากลุ่มเป้าหมาย คือ เป็นผู้ยากไร้ ด้อยโอกาสหรือพิการ เป็นผู้ที่ให้ความร่วมมือกับกิจกรรมชุมชนเป็นอย่างดีและเป็นผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องกับปัญหายาเสพติด เมื่อได้กลุ่มเป้าหมายตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของโครงการแล้ว จะมีการจัดประชุมเพื่อสรุปผลการคัดเลือกผู้รับประโยชน์จากโครงการของแต่ละชุมชน เป็นการทำความเข้าใจร่วมกันของชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อนที่สภาองค์การชุมชนและท้องถิ่นจะมีการจัดทำข้อเสนอโครงการและเอกสารที่เกี่ยวข้องส่งไปยังสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนเพื่ออนุมัติต่อไป
ผลการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
- กลุ่มเป้าหมายโครงการ ได้บ้านที่มีสภาพมั่นคงแข็งแรงมากขึ้น คุณภาพชีวิตโดยรวมดีขึ้น ตัวของผู้ได้รับผลประโยชน์รู้สึกว่าตัวเองยังเป็นที่ยอมรับของคนในชุมชน (ยังมีคนสนใจ) แต่ก่อนอาจรู้สึกว่าตัวเองมักโดนดูถูกจากเพื่อนบ้าน กิจกรรมหรือภารกิจภายใต้โครงการบ้านพอเพียงชนบท เป็นเสมือนแบบฝึกหัดของการบูรณาการความร่วมมือของหน่วยงานต่างๆ ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกันโดยตรงตามสายงานปกติ ทำให้ช่องว่างของการทำงานระหว่างคนในชุมชนและหน่วยงานระดับต่างๆ ลดน้อยลงกว่าในอดีต มีความสัมพันธ์ที่ดีมากขึ้น
- การใช้สภาองค์กรชุมชนเป็นกลไกประสานงานทำให้เกิดพื้นที่การประสานผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมดำเนินงานในหลายภาคส่วน ส่งผลให้เจ้าหน้าที่หน่วยงานรัฐเข้าถึงหรือใกล้ชิดกับคนในชุมชนมากขึ้นและรับทราบถึงปัญหาและความต้องการของคนในชุมชนมากขึ้น
- ทิศทางการพัฒนาท้องถิ่นจะเปลี่ยนจากลักษณะการรอคอยการช่วยเหลือมาเป็นคนในชุมชนท้องถิ่นเป็นคนดำเนินการเป็นหลักมากขึ้น ในอนาคตเชื่อว่าคนในชุมชนจะตระหยักถึงการเข้ามามีบทบาทมากขึ้นโดยตรงกับการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ในด้านการใช้เวทีประชาคมระดับชุมชนและตำบลจะช่วยลดความขัดแย้งระหว่างกลุ่มต่างๆ เนื่องจากเป็นการตัดสินใจร่วมกัน มีมติร่วมกัน