ตำบลแม่กลอง มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ในฐานะที่ยกเป็นอำเภอแรกก่อนที่จะเป็นอำอุ้มผาง การอพยพเข้ามาอยู่แตกต่างกันไป บ้างมาเพื่อการค้าขาย บ้างก็มาเพราะหนีการเกณฑ์ทหารหรือแม้กระทั่งอพยพมาเพราะไม่มีเงินจ่ายให้รัฐเพื่อเป็นค่าชูประการบ้าง ในอดีตอำเภอแม่กลองเป็นเมืองหน้าด่านขึ้นอยู่กับจังหวัดอุทัยธานี มีที่ทำการอำเภออยู่ในเขตตำบลแม่กลองในปัจจุบัน ใน พ.ศ. 2469 ทางการยุบอำเภอแม่กลอง ให้มีฐานะเป็นเพียงกิ่งอำเภอแม่กลองและขึ้นอยู่กับจังหวัดกำแพงเพชร และใน ปี 2499 ได้ย้ายที่ทำการไปอยู่ที่บ้านอุ้มผางพร้อมกับเปลี่ยนชื่อเป็นกิ่งอำเภออุ้มผางในวันที่ 22 เมษายน 2502 และให้ขึ้นอยู่ภายใต้การปกครองของจังหวัดตากแทนส่วนตำบลแม่กลอง จึงเป็นเพียงสถานะของหมู่บ้านที่อยู่ในเขตการปกครองของตำบลอุ้มผางและตำบลแม่กลองแยกเขตการปกครองออกจากตำบลอุ้มผาง เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2536 มีนายวสันต์ สิงหราช เป็นกำนันคนแรก และมีจำนวนหมู่บ้านในเขตการปกครอง 4 หมู่บ้านได้แก่ บ้านแม่กลองใหม่ บ้านแม่กลองเก่า บ้านใหม่ป่าคาและบ้านแม่กลอง
สภาพทั่วไป
ตำบลแม่กลอง พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขามีลักษณะลาดเอียงไม่มีที่ราบมีเนื้อที่ทั้งหมด 238 ตารางกิโลเมตร ( 148,750 ไร่ ) อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติแม่กลอง-อุ้มผางซึ่งมีเนื้อที่ครอบคลุม 286,500 ไร่ พื้นที่ตำบลอยู่ห่างจากอำเภออุ้มผางไปทางทิศเหนือ 5 กิโลเมตร มีประชากรทั้งหมด 2,359 คน จำนวน 1,147 หลังคาเรือน อาชีพส่วนใหญ่ทำการเกษตรและเลี้ยงสัตว์ พืชเศรษฐกิจที่สำคัญได้แก่ ข้าวโพด พริกและถั่วลิสง โดยมีลำน้ำแม่กลองและแม่น้ำยะแมะเป็นแม่น้ำสายหลักและมีลำห้วยสาขา10สายหล่อเลี้ยงชุมชนในการดำรงชีวิตทั้งตำบล
มีอาณาเขตติดต่อดังนี้
ทิศเหนือ ติดกับ ตำบลโมโกร อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก
ทิศใต้ ติดกับ ตำบลอุ้มผาง อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก
ทิศตะวันออก ติดกับ ตำบลอุ้มผาง อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก
ทิศตะวันตก ติดกับ ตำบลหนองหลวง อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก
ด้านเศรษฐกิจ
จากข้อมูลที่ได้จากการระดมความคิดเพื่อจัดทำแผนตำบลพบว่าชุมชนมีภาวะหนี้สินที่เกิดจากการลงทุนทางด้านเกษตรโดยเฉพาะการปลูกข้าวโพด แหล่งเงินทุนสำคัญที่ชุมชนใช้บริการในการกู้ยืมได้แก่กองทุนต่างๆที่อยู่ในชุมชน ตำบลและการกู้เงินจากแหล่งทุนนอกระบบ
พัฒนาการความเป็นมาขององค์ความรู้
ปี2543-2544 ชุมชนมีความขัดแย้งกับหน่วยงานของรัฐในกรณีที่ดินทำกินทับซ้อนกับที่ดินในเขตป่า รวมถึงการบุกรุกที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติแม่กลอง-อุ้มผาง มีการจับกุมผู้กระทำผิดสร้างความเดือดร้อนไปทั่ว มูลนิธิสืบนาคเสถียรเข้ามาทำงานในพื้นที่อุ้มผาง หาแนวทางการแก้ไขปัญหาร่วมกันเพื่อลดความขัดแย้งที่เกิดขึ้น โดยใช้ประเด็นป่าชุมชนเป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหา มีการออกกฎระเบียบป่าชุมชนบังคับใช้ในหมู่บ้าน-ตำบล
ปี2545-2550 เจ้าหน้าที่ป่าไม้ยึดคืนที่ดินทำกินและเกิดเครือข่ายป่าชุมชนระดับตำบลขึ้นในตำบลแม่กลองและตำบลแม่จัน แก้ไขปัญหาเรื่องที่ดินในเขตป่าและใช้พื้นที่ป่าชุมชนเป็นพื้นที่ในการทำงานร่วมกันระหว่างชุมชนกับเจ้าหน้าที่รัฐโดยมีเจ้าหน้าที่มูลนิธิสืบฯเป็นผู้เชื่อมโยงการทำงาน มีรูปธรรมการทำงานที่ดีขึ้น
ปี 2551-2555 ขยายเครือข่ายป่าชุมชนจนเต็มทั้งตำบลแม่กลองและเกิดเครือข่ายภูมินิเวศอุ้มผาง รับงบประมาณสนับสนุนจาก พอช.มาขับเคลื่อนเรื่องการจัดการทรัพยากรธรรมชาติดิน น้ำป่าในอำเภออุ้มผาง
-ขยายแนวคิด/แนวทางการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินทับซ้อนในเขตป่าโดยใช้ป่าชุมชนเป็นเครื่องมือ พร้อมกันกับการหาแนวทางสร้างรายได้จากป่าชุมชนเพิ่มขึ้นจากการเป็นแหล่งผลิตปัจจัย 4 โดยปลูกพืชเศรษฐกิจแซมสลับกับพืชท้องถิ่นในเขตป่า สมาชิกในตำบลแม่กลองเก็บใบตองตึงแห้งมาเย็บเป็นตับเพื่อมุงหลังคาขาย
-จัดตั้งกองทุนรักษาป่าขึ้น รายได้ที่เกิดจากป่าชุมชนส่วนหนึ่งเป็นของครอบครัวและอีกส่วนหนึ่งนำเข้ากองทุน
-ขับเคลื่อนงานแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย โดยสำรวจผู้เดือดร้อนและเจรจาขอที่ดินสาธารณะของตำบลจากท้องถิ่นจำนวน 10 ไร่ มาจัดสรรให้ผู้เดือดร้อนจำนวน 8 ครอบครัว ให้สร้างบ้านและเป็นที่ทำกิน
-สำรวจที่ดินรายแปลงและทำแนวเขตโดยใช้เครื่องมือ GPS ร่วมกับหน่วยงานป่าไม้และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง แล้วแยกประเภทที่ดินแต่ละประเภทไว้เพื่อนำไปหาแนวทางแก้ไขปัญหา
-จั้งตั้งสภาองค์กรชุมชนตำบลแม่กลองเพื่อเป็นกลไกการขับเคลื่อนงานเชิงนโยบายและสำรวจผู้เดือดร้อนด้านที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย โดยเสนอของบประมาณสนับสนุนจากพอช.หลังจากนั้นทำงานร่วมกับพอช.และหน่วยงานภาคีอื่นในการแก้ไขปัญหาที่ดินทั้งระบบ
-ดำเนินการแก้ไขปัญหาทำการเกษตร โดยร่วมกันทำฝายชะลอน้ำ ทำคลองไส้ไก่นำน้ำเข้าไปพื้นที่เกษตร
ปี2556-2562 สำรวจข้อมูลแปลงเพื่อทำแนวและจำนวนผู้เดือดร้อนด้านที่อยู่อาศัยทั้งตำบลเพิ่มเติม โดยเพิ่มกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้ยากไร้มีบ้านเป็นของตนเองแต่ทรุดโทรมขาดกำลังทรัพย์ในการปรับปรุงซ่อมแซม พัฒนาเป็นโครงการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยในนามโครงการบ้านมั่นคงชนบท
การจัดการองค์ความรู้โดยชุมชน
ตำบลแม่กลองมีพื้นที่เพียง 148,750 ไร่ จำนวนประชากรถึง 2,359 คน ที่ดินบางส่วนอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติแม่กลอง-อุ้มผาง จึงหลีกไม่พ้นที่ชุมชนจะประสบปัญหาด้านที่ดินทั้งเรื่องกรรมสิทธิ์ที่ดินและไม่มีที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย ในอนาคตมีการขยายครัวเรือนออกไปอีก ชุมชนต้องบุกรุกที่ดินในป่าเพื่อเป็นที่ทำกินเพิ่ม ปัญหาการถูกจับกุมและปัญหาอื่นๆจะตามมาไม่หยุดหย่อน ดังนั้นสภาองค์กรชุมชนตำบลแม่กลองจึงต้องหาวิธีการจัดการที่ดินอย่างมีส่วนร่วมทั้งระบบ เพื่อสร้างความมั่นคงในชีวิต โดยมีแนวคิดว่าคนอยู่ร่วมกับป่าได้ มีป่า มีที่ทำกินและมีที่อยู่อาศัย
กระบวนการ/ขั้นตอนการดำเนินงาน
1.สภาองค์กรชุมชนจัดเวทีประชุมเพื่อพูดคุยปัญหา ผลกระทบที่เกิดขึ้นและหารือแนวทางการแก้ไขปัญ
2.สำรวจข้อมูลครัวเรือนผู้เดือดร้อนทั้ง 4 หมู่บ้านโดยใช้เครื่องมือ GPS และแยกประเภทกลุ่มผู้เดือดร้อน
3.วิเคราะห์ข้อมูลและพื้นที่ (ที่อยู่อาศัย,ที่ดินทำกิน,ที่ป่าชุมชน) เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาที่ดินแต่ละประเภทโดยใช้เวทีสภาองค์กรชุมชนพบปัญหาที่ดิน 3 กลุ่ม
-ไม่มีที่ดินทำกิน
-ไม่มีที่ดินทำกินและไม่มีที่อยู่อาศัย
-มีที่ดินแต่ไม่มีเอกสารสิทธิอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติฯ และเสนอแนวทางแก้ไขปัญหา
-กลุ่มไม่มีที่ดินทำกิน ส่วนหนึ่งถูกแก้ไขปัญหาไปแล้วโดยสปก.จังหวัดตากเข้ามาดำเนินการจัดสรรที่ดินจำนวน 482 ไร่ให้ผู้เดือดร้อน ซึ่งที่ดินที่สปก.จัดสรรให้ไม่สามารถรองรับได้ทั้งหมด ส่วนที่เหลือจำนวน 13 ราย เสนอให้ใช้ที่ดินในป่าชุมชน 53 ไร่ปลูกพืชเศรษฐกิจร่วมกับไม้ในท้องถิ่นเป็นป่า 4 ชั้น (พืชหัว พืชคลุมดิน พืชชั้นกลาง เช่นกาแฟ หมาก ฯลฯและไม้ยืนต้นสูง)
-กลุ่มไม่มีที่ดินทำกินและไม่มีที่อยู่อาศัย จัดสรรที่ดินสาธารณะของตำบลจำนวน 10 ไร่แบ่งให้เป็นทั้งที่ทำกินและที่อยู่อาศัย
-กลุ่มมีที่ดินแต่ไม่มีเอกสารสิทธิอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติฯ เสนอให้มีการจัดการร่วมแบบโฉนดชุมชนและมีกฎระเบียบเพื่อป้องกันการบุรุกเพิ่ม
4.ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหาตามแนวทางที่เสนอในที่ประชุมรวมถึงการเชื่อมโยงกองทุนภายในชุมชนและหน่วยงานท้องถิ่น แก้ไขปัญหาสู่ความยั่งยืน
5.จัดทำแผนพัฒนาที่ดินระดับตำบลในระยะยาวทั้งตั้งกองทุนที่ดิน การบริหารพื้นที่คนอยู่ร่วมกันกับป่าได้ขยายพื้น
6.ที่เรียนรู้และการแก้ไขปัญหาร่วมกันทั้งอำเภอในนามเครือข่ายภูมินิเวศอุ้มผาง
7.มีระบบการสื่อสารภายในและภายนอก และผลักดันสู่นโยบายของตำบล-อำเภอ
เทคนิค/ทักษะ
1.มีการประชุมสื่อสารกันทั้งภายในและภายนอกเป็นประจำทำให้รับรู้ข้อมูลปัญหา ผลกระทบต่างๆ ได้เท่ากัน และลงมือแก้ไขปัญหาในทันทีเช่นกัน
2.เปลี่ยนความขัดแย้งกับหน่วยงานรัฐมาเป็นการทำงานร่วมกับหน่วยงาน เพื่อให้รู้เขาและรู้เรา ทำให้เกิดพลังในการแก้ไขปัญหา ซึ่งข้อติดขัดบางประการสามารถอะลุ่มอล่วยกันได้ ใช้หลักการ”ต่างพึ่งพาซึ่งกันและกัน รัฐได้ป่า ประชามีที่ทำกิน”
3.มีทิศทางการทำงานที่ชัดเจนสามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรม ทำให้ชุมชนและภาคีเกิดความเชื่อมั่นในแนวทางการแก้ไขปัญหา
กลไกการจัดการ(กลุ่ม/องค์กร/เครือข่าย/บทบาท)
1.เครือข่ายป่าชุมชนตำบลแม่กลอง ซึ่งเป็นผู้แทนจากคณะกรรมการป่าชุมชนทั้ง 4 หมู่บ้านมีบทบาทในการกำหนดกฎระเบียบการใช้ประโยชน์จากป่าชุมชน การประชุมสมาชิกป่าชุมชนในหมู่บ้านและการประสานการทำงานกับเครือข่ายภูมินิเวศอุ้มผาง
2.เครือข่ายภูมินิเวศอุ้มผาง เป็นเครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและวิถีวัฒนธรรมระดับอำเภอมีจำนวน 25 คนซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจากตำบลทั้ง 6 ตำบล ผู้แทนหน่วยงานในอำเภอ ท้องถิ่นและประชาสังคมในอุ้มผาง มีบทบาทในการประสานเชื่อมโยงกลุ่มระดับตำบลขึ้นมาขับเคลื่อนงานเชิงนโยบาย การประสานผู้รู้ด้านกฎหมายป่าไม้มาให้ความรู้แก่สมาชิกลูกข่าย
3.สภาองค์กรชุมชนตำบล มีบทบาทในการเป็นเวทีกลางในตำบลขับเคลื่อนงานประเด็นสาธารณะและผลักดันการแก้ไขปัญหาในเชิงนโยบาย
3.คณะทำงานแก้ไขปัญหาที่ดินและที่อยู่อาศัย มีบทบาทในการสำรวจข้อมูลผู้เดือร้อนในตำบล การประชุม/ประสานงานเพื่อแก้ไขปัญหา การจัดทำผังตำบลและวางแผนการแก้ไขปัญหาชุมชนทั้งระบบร่วมกับผู้นำในกลุ่มอื่นๆในตำบล
ผลลัพธ์การเปลี่ยนแปลง
- คนมีแนวคิดและความสามารถเพิ่มขึ้น (ความรู้/ทัศนคติ/ทักษะ)
-ผู้นำสามารถประสานและต่อยอดการแก้ไขปัญหาจากเรื่องที่ดินไปสู่เรื่องอื่นๆ เช่นปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาเรื่องการจัดการน้ำได้อย่างต่อเนื่อง
-ผู้นำและสมาชิกชุมชนมีความรู้เกี่ยวกับกฎหมายป่าไม้แต่ละประเภทและสามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ เช่น กฎหมายที่เกี่ยวกับป่าชุมชน ป่าสงวนแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ฯ จึงดำเนินการกันเขตป่าชุมชนเป็นแนวกันชนระหว่างชุมชนและป่าคุ้มครองอื่นๆได้
- องค์กรชุมชนเข้มแข็ง/มีความสามารถในการบริหารจัดการ
-คณะกรรมการกลุ่ม เครือข่ายแต่ละระดับมีโครงสร้างแบบหลวม ยืดหยุ่นได้ แต่สามารถบริหารการทำงานของกลุ่มให้เกิดผลสัมฤทธิ์ได้
-กลุ่มต่างๆในชุมชนเริ่มมีการเชื่อมโยงกิจกรรมการทำงานกันมากขึ้น ทั้งกลุ่มป่าชุมชน กลุ่มท่องเที่ยวชุมชนและกลุ่มวิสาหกิจชุมชน
- คุณภาพชีวิตคนในชุมชนดีขึ้น
-กลุ่มผู้เดือดร้อนทั้ง 3 กลุ่มได้รับการแก้ไขปัญหา ชุมชนมีที่ทำกิน ที่อยู่อาศัย มีรายได้ มีแหล่งอาหารที่มั่นคงสามารถดำรงชีวิตได้ดีขึ้น
-การจับกุมผู้บุกรุกที่ดินในเขตป่าลดลง ลดความขัดแย้งระหว่างชุมชนและหน่วยงานของรัฐในการใช้ประโยชน์ที่ดิน
- ปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์โครงสร้าง/นโยบาย
-เกิดการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการทำงานร่วมกัน โดยจะมีสัดส่วนของชุมชน ท้องถิ่น ท้องที่และภาครัฐ การออกกฎระเบียบการใช้ประโยชน์ที่ดิน ประโยชน์จากป่าร่วมกัน ถ้ามีการกระทำผิดเกิดขึ้นให้ชุมชนตักเตือนกันก่อน หากไม่เชื่อฟังจึงให้เจ้าหน้าที่ของรัฐดำเนินตามกฎหมาย
ปัจจัยที่ส่งผลให้ประสบผลสำเร็จ (เครื่องมือที่ 4 ปัจจัย/เงื่อนไขความสำเร็จและกำหนดอนาคต)
ปัจจัยภายใน
-ตำบลแม่กลองเป็นตำบลที่มีขนาดเล็กชุมชนกระจุกตัวอยู่ใกล้กัน ต่างจากตำบลอื่ๆในอำเภออุ้มผาง ทำให้ผู้นำมีความใกล้ชิดและสามารถพบปะกันได้บ่อยขึ้น
-คนในชุมชนส่วนใหญ่เป็นเครือญาติกัน การช่วยเหลือ และพึ่งพากันมีสูง
-ผู้นำลงมือทำให้เห็นรูปธรรมที่เกิดขึ้นจริง
ปัจจัยภายนอก
-นโยบายรัฐที่เอื้อให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรดิน น้ำ ป่า
-เจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องมีทัศนคติที่ดีต่อการทำงานร่วมกับชุมชน
แนวทาง/แผนที่จะทำต่อในระยะข้างหน้า
1.การสำรวจที่ดินรายแปลงเพิ่มเติม รวม 148,750 ไร่ และสำรวจข้อมูลผู้เดือดร้อนด้านอื่นๆเพื่อจัดระบบข้อมูลชุมชนที่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาชุมชนทั้งระบบเศรษฐกิจ ทรัพยากรธรรมชาติ สังคม โดยพัฒนาเป็นโครงการบ้านมั่นคงชนบทและนำเสนอต่อหน่วยงานภาคีต่อไป
2.จัดตั้งกองทุนที่ดินและที่อยู่อาศัย(ธนาคารที่ดินในตำบล
3.สร้างระเบียบ กฎเกณฑ์ ข้อบังคับใช้ในตำบลและนำไปสู่การจัดทำเทศบัญญัติการจัดการที่ดินชุมชน
4.จัดท่องเที่ยวชุมชนเชิงนิเวศในป่าชุมชนและในพื้นที่ตำบลเพื่อสร้างรายได้ให้ชุมชนอีกทางหนึ่ง
5.เพิ่มพื้นที่ป่าชุมชนเพื่อเป็นแนวกันชนกับป่าของรัฐเป็นทั้งแนวเขตป้องกันการบุกรุกที่ป่าที่อาจจะมีในอนาคตและยังสามารถเป็นพื้นที่ผลิตปัจจัย 4 ให้ชุมชนอีกด้วย