จังหวัดตาก เป็นจังหวัดที่มีพื้นที่มากเป็นอันดับ 4 ของประเทศ นับเป็นจังหวัดชายแดนที่สำคัญอีกจังหวัดหนึ่งของไทย มีประวัติศาสตร์เก่าแก่นับแต่สมัยกรุงสุโขทัย ทั้งยังมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติและวัฒนธรรมที่งดงามหลายแห่งด้วย นอกจากนี้จังหวัดตากยังเป็นจังหวัดที่มีอาณาเขตติดต่อจังหวัดอื่นๆ ถึง 9 จังหวัด ในอดีตเรียกว่า “เมืองตาก” เป็นเมืองที่มีชาวมอญอาศัยอยู่มาก่อน ดังมีหลักฐานศิลปะมอญปรากฏอยู่ ที่อำเภอบ้านตากมีประวัติความเป็นมาเก่าแก่และเป็นหนึ่งในหัวเมืองที่สันนิษฐานว่ามีอายุขัยเกินกว่าสองพันปี เมื่อมีการอพยพของชนชาติไทยจากลุ่มน้ำแยงซีเกียงตอนใต้ลงมา ตามแนวลำน้ำดง (ลำน้ำสาละวิน) มีมีกลุ่มหนึ่งได้ข้ามลำน้ำสาละวิน ผ่านลุ่มน้ำเมยหรือแม่น้ำต่องยินเข้ามาทางช่องเขาด้าน อำเภอแม่สอดและมาถึงบริเวณที่ปัจจุบันเรียกว่าเมืองตาก ผู้นำกลุ่มคนไทยที่อพยพมาตั้งถิ่นฐานที่เมืองตากในยุคนั้นได้ตั้งตนเป็นกษัตริย์ปกครองสืบทอดต่อเนื่องกันมาจนถึงปี พ.ศ.560 (รัชสมัยพระเจ้าสักดำ) ตามบันทึกในพงศาวดารเหนือกล่าวว่าในยุคดังกล่าวเมืองตากได้มีการค้าขายกับเมืองอินเดียด้วย จนถึงช่วงพุทธศตวรรษที่ 10 ได้โยกย้ายไปสร้างราชธานีขึ้นใหม่ที่เมืองละโว้บริเวณทางตอนใต้ของเมืองตาก
บางยุคที่เมืองตากกลายเป็นเมืองร้างดังในพงศาวดารเหนือได้กล่าวถึงการเสด็จทางชลมารคของพระนางจามเทวี พระราชธิดากษัตริย์ละโว้เพื่อไปปกครองแคว้นหริภุญชัย (ลำพูน) ราว พ.ศ.1176 โดยทางลำน้ำปิง เมื่อพระนางจามเทวีขึ้นไปสำรวจบนฝั่งแม่น้ำพบร่องรอยกำแพงเมืองเก่า ถูกทิ้งร้างและต่อมาเมื่อ พ.ศ.1805 เกิดสงครามที่สร้างชื่อให้กับพ่อขุนรามคำแหงมหาราชและเป็นที่มาของเจดีย์ยุทธหัตถีที่วัดพระบรมธาตุ อำเภอบ้านตาก ต่อมาในแผ่นดินมหาธรรมราชา ได้ย้ายเมืองตากลงมาทางตอนใต้ตามลำน้ำปิงไปตั้งอยู่ที่ป่ามะม่วงฝั่งตะวันตกของแม่น้ำปิง ซึ่งอยู่ในเขตตำบลป่ามะม่วง อำเภอเมืองตากในปัจจุบันและเป็นสถานที่ชุมนุมกองทัพในรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช สมเด็จพระนารายณ์มหาราชและสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
ด้านภูมิศาสตร์มีอาณาเขตติดต่อด้าน ทิศเหนือ ติดกับจังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำพูนและลำปางทิศตะวันออก ติดกับจังหวัดสุโขทัย กำแพงเพชร นครสวรรค์และอุทัยธานี ทิศใต้ ติดกับจังหวัดกาญจนบุรีและ ทิศตะวันตก ติดกับรัฐกะเหรี่ยง ประเทศพม่า โดยมีแม่น้ำสายเมยแบ่งเขตแดนระหว่างไทยกับพม่า ลักษณะพื้นที่ส่วนใหญ่ของจังหวัดเป็นป่าไม้และภูเขาสูง โดยเฉพาะพื้นที่ทางด้านตะวันตกของจังหวัด ด้านการปกครองแบ่งออกเป็น 9 อำเภอ (63 ตำบล) ได้แก่ อำเภอเมืองตาก, อำเภอบ้านตาก,อำเภอ สามเงา, อำเภอแม่ระมาด, อำเภอท่าสองยาง, อำเภอแม่สอด, อำเภอพบพระ, อำเภออุ้มผางและอำเภอวังเจ้า
อำเภอเมืองตาก เป็นอำเภอในจังหวัดตาก ศูนย์กลางทางด้านคมนาคม และจุดเชื่อมต่อไปยังอำเภอแม่สอด ศูนย์กลางค้าชายแดนไทย-พม่า อำเภอเมืองตากเดิมชื่อ “เมืองระแหง” อดีตมีชาวมอญอาศัยอยู่มาก่อน ดังมีหลักฐานศิลปะมอญปรากฏอยู่ ตัวเมืองเดิมตั้งอยู่ที่อำเภอบ้านตาก เมืองนี้สร้างขึ้นก่อนสมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี ต่อมาเมื่อได้สถาปนากรุงสุโขทัยเป็นราชธานีแล้ว เมืองตากมีฐานะเป็นเมืองหน้าด่านที่สำคัญด้านฝั่งตะวันตก ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายตัวเมืองตากจากฝั่งขวาของแม่น้ำปิงมายังฝั่งซ้ายบริเวณตำบลบ้านระแหงจนกระทั่งทุกวันนี้
อำเภอเมืองตากตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของจังหวัดตาก ตามแนวเทือกเขาถนนธงชัย สูงกว่าระดับน้ำทะเล 116.2 เมตร ณ ที่ตั้งที่ศูนย์ราชการจังหวัดตาก (ศาลากลางจังหวัดตาก) อำเภอแม่สอดมีพื้นที่ประมาณ 1,599.356 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 999,597.5 ไร่ ถือว่าใหญ่เป็นลำดับที่ 5 ของจังหวัดตาก
มีอาณาเขตติดต่อกับอำเภออื่นในประเทศไทย 8 อำเภอ คือ ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอบ้านตากในเขตจังหวัดตาก ทิศตะวันออก ติดต่อกับอำเภอบ้านด่านลานหอย (จังหวัดสุโขทัย) และอำเภอพรานกระต่าย (จังหวัดกำแพงเพชร) ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอโกสัมพีนคร (จังหวัดกำแพงเพชร) อำเภอวังเจ้าและอำเภอพบพระในเขตจังหวัดตาก ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอแม่สอดและอำเภอแม่ระมาดในเขตจังหวัดตาก
สภาพพื้นที่โดยทั่วไปของเมืองตากประกอบด้วยป่าไม้และเทือกเขาสูง มีพื้นที่ราบสำหรับการเกษตรน้อย พื้นที่ที่เป็นภูเขาสูง มีอยู่ประมาณร้อยละ 65 ของพื้นที่ ซึ่งปกคลุมไปด้วยป่าไม้โปร่งและป่าเบญจพรรณ และเป็นพื้นที่ราบลาดเอียงลงไปทางทิศตะวันออกสู่แม่น้ำปิงและแม่น้ำวัง ทำให้เกิดเป็นพื้นที่ราบแคบๆ ริม 2 ฝั่งแม่น้ำและแบ่งเขตการปกครองย่อยออกเป็น 14 ตำบล 102 หมู่บ้าน
ตำบลแม่ท้อ: ลักษณะพื้นที่และพลวัตสำคัญ
ประวัติความเป็นมา ตำบลแม่ท้อในอดีตดั้งเดิมมีชาวมอญอยู่มาก่อน มีประวัติความเป็นมาเก่าแก่ หลังจากนั้นได้มีกลุ่มชนอพยพมาตั้งถิ่นฐานบริเวณปากลำห้วยที่ไหลลงมาบรรจบกับแม่น้ำปิง ซึ่งในสมัยก่อนในเวลาหน้าฝนจะมีน้ำป่าไหลหลากอย่างแรงลงสู่แม่น้ำปิงจนแม่น้ำปิงท้อ จึงมีการเรียกชื่อต่อมาว่า “แม่ท้อ” จนถึงปัจจุบัน พื้นที่ตำบลตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของอำเภอเมืองตาก ห่างจากอำเภอเมืองตากราว 2 กิโลเมตร มีเนื้อที่ประมาณ 257.32 ตารางกิโลเมตร สภาพพื้นที่ประกอบด้วยป่าไม้และเทือกเขาสูง มีพื้นที่ราบสำหรับการประกอบอาชีพทางเกษตรกรรมน้อย แร่ที่สำคัญได้แก่ แกรนิตและหินปูน
อาณาเขตติดต่อ
ทิศเหนือ ติดกับ ตำบลป่ามะม่วง อำเภอเมือง จังหวัดตาก
ทิศใต้ ติดกับ ตำบลหนองบัวใต้ ตำบลเชียงทอง อำเภอเมือง จังหวัดตาก
ทิศตะวันออก ติดกับ แม่น้ำปิง
ทิศตะวันตก ติดกับ ตำบลด่านแม่ละเมา อำเภอแม่สอด อำเภอเมือง จังหวัดตาก
ประชากรส่วนใหญ่มีอาชีพหลัก คือ เกษตรกรรม (องค์การบริหารส่วนตำบลแม่ท้อ ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 11) การประกอบอาชีพในหมู่บ้านโซนพื้นราบที่สำคัญ คือ เกษตรกรรม รับจ้าง ค้าขาย ในส่วนหมู่บ้านบนโซนที่สูงคือการทำไร่ข้าว ทำเกษตรพืชท้องถิ่น พืชเมืองหนาว ปลูกกาแฟ
การเปลี่ยนแปลงของการทำงานทางสังคมที่สำคัญ อาทิ ในปี 2545 มีการประกาศป่าชุมชนใน 7 หมู่บ้าน จากการรวมตัวจนเป็นเครือข่ายการทำงานด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ เกิดการสร้างกฎระเบียบร่วมกัน และแนวทางการใช้ประโยชน์ การดูแลรักษาป่าร่วมกัน
ปี 2551 เกิดสภาองค์กรชุมชนตำบลแม่ท้อเป็นกลไกกลางในการขับเคลื่อนการพัฒนาในตำบลต่อมาปี 2553 มีแหล่งน้ำสำคัญเกิดขึ้น คืออ่างเก็บน้ำตำบลแม่ท้อและเกิดช่องทางการทำมาหากิน เกิดอาชีพใหม่ขึ้นในตำบล หลายฝ่ายมีการพูดคุยปรึกษาถึงการส่งเสริมการสร้างตลาดชุมชนเพื่อรองรับผลผลิตที่จะเกิดขึ้นในตำบล และในปี 2562 เกิดตลาดชุมชนการเกษตร เป็นตลาดกลางเพื่อรองรับผลผลิตทางการเกษตรและผลิตภัณฑ์ของกลุ่มอาชีพ
ตัวอย่างเหตุการณ์สำคัญของขบวนการทำงานพัฒนาชุมชน อาทิ ในปี 2549 เกิดสภาองค์กรชุมชนตำบลแม่ท้อ เป็นดั่งสภากลางหรือเวทีกลางสำหรับพูดคุยเรื่องประเด็นปัญหาต่างๆ ของคนในชุมชนท้องถิ่น ในปี 2550 เกิดการรวมกลุ่มงานด้านสวัสดิการชุมชนตำบลแม่ท้อ โดยกลุ่มผู้สูงอายุได้นำร่องการทำงานในการทำงานสวัสดิการของกลุ่มและปี 2558 เครือข่ายป่าชุมชนตำบลแม่ท้อ ได้รับการขึ้นทะเบียนจำนวน 7 หมู่บ้านและได้เข้าร่วมประกวดป่าชุมชนดีเด่น
ต้นทุนทางสังคมมีประเพณีที่ยึดโยงคนในตำบล ได้แก่ งานบุญ (เทศน์มหาชาติ) งานบุญสลากภัต (ก๋วยสลาก) ประเพณีรดน้ำดำหัวผู้อาวุโส งานประเพณีปีใหม่ของหมู่บ้านชาติพันธุ์บนที่สูงและงานทำบุญข้างใหม่ (กินข้าวใหม่)
กระบวนการทำงานท่ามกลางความหลากหลายทางชาติพันธุ์
ตำบลแม่ท้อมีลักษณะพื้นที่ทางกายภาพ 2 ลักษณะใหญ่ ใน 13 หมู่บ้าน คือ หมู่บ้านในโซน “พื้นที่ล่าง” หรือพื้นราบ มีจำนวน 8 หมู่บ้านและหมู่บ้านโซน “พื้นที่ราบสูง” คือหมู่บ้านชาติพันธุ์บนที่สูง จำนวน 5 หมู่บ้าน ประกอบด้วย 3 กลุ่มชาติพันธุ์ ได้แก่ หมู่บ้านคนมูเซอ หมู่บ้านคนม้งและหมู่บ้านคนลีซู จึงทำให้การทำงานพัฒนาในพื้นที่ตำบลต้องคำนึงถึงกลุ่มคนที่แตกต่างวิถีชีวิต วัฒนธรรมเป็นพิเศษ
กรณีของการดำเนินโครงการบ้านพอเพียง ตำบลแม่ท้อได้รับการสนับสนุนงบประมาณโครงการบ้านอพเพียงตั้งแต่ปีงบประมาณ 2560 จำนวน 10 ครัวเรือน ใน 10 หมู่บ้าน
ในปี 2561 ได้รับการสนับสนุนจำนวน 16 ครัวเรือน ใน 10 หมู่บ้าน และในปี 2562 ได้รับการสนับสนุนจำนวน 5 หลัง ใน 5 หมู่บ้าน
ลักษณะเฉพาะทางกายภาพที่สำคัญ คือ มีหมู่บ้านที่ตั้งอยู่บนพื้นที่สูง (ภูเขา) จำนวน 5 หมู่บ้าน ถือว่าเป็นพื้นที่ไกลจากตัวเมือง การคมนาคมยังถือว่ามีความยากลำบาก บางหมู่บ้านเช่น หมู่ที่ 5 ยังไม่เคยได้รับการสนับสนุนจากโครงการบ้านพอเพียง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะอุปสรรคในการติดต่อสื่อสารและการคมนาคม แต่ในกรณีหมู่บ้านที่อยู่โซนสูงนี้ ทางคณะกรรมการได้เก็บรวมรวมข้อมูลเบื้องต้นไว้แล้ว
กระบวนการทำงานประกอบด้วย 3 ขั้นตอนใหญ่ ได้แก่ ขั้นตอนแรกจะเป็นการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข้อมูลโครงการให้กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง พร้อมกับการสร้างทีมงานหรือคณะทำงานดำเนินโครงการ ในขั้นตอนนี้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ขั้นที่สองเป็นการทำงานด้านข้อมูล การเก็บรวบรวมข้อมูล การทำงานในพื้นที่เพื่อสำรวจข้อมูลกลุ่มเป้าหมาย จากนั้นจะทำการจัดการเอกสารเพื่อนำเสนอโครงการผ่านกลไกสภาองค์กรชุมชน ในขั้นสุดท้ายเป็นการประชุมคณะทำงานเพื่อร่วมพิจารณาข้อมูลกลุ่มเป้าหมายและคัดเลือกตามกรอบของโครงการอย่างเหมาะสมและเป็นธรรมที่สุด หลักเกณฑ์สำคัญคือพิจารณาความรุนแรงของสภาพปัญหาของแต่ละรายเป็นหลักและวางแผนการทำงานในพื้นที่หมู่บ้านเป้าหมายและจึงสรุปผลการดำเนินงาน ร่วมกันประเมินผลในระยะต่อไป
กลุ่มผู้นำให้ความสำคัญกับ “การกระจายข่าวโครงการ” การประชาสัมพันธ์ในเวทีการประชุมตำบล เช่น การประชุมท้องถิ่น/ท้องที่ เพื่อให้ผู้นำไปประชาสัมพันธ์ในที่ประชุมหมู่บ้านให้กลุ่มผู้เดือดร้อน/กลุ่มเป้าหมายรับทราบ
วิธีการจัดจัดเก็บข้อมูล ประชุมคณะทำงานบ้านพอเพียงตำบลแม่ท้อ เพื่อทำแผนการสำรวจจัดเก็บตามครัวเรือนที่เดือดร้อน โดยมีคณะทำงานบันทึกข้อมูลผู้เดือดร้อนเข้าสู่ระบบฐานข้อมูล (หรือมักเรียกกันว่าการคีย์ข้อมูล) วิธีการที่จะได้มาซึ่งข้อมูล ประชุมคณะทำงานสภาองค์กรชุมชน คณะทำงานบ้านพอเพียงระดับตำบลเพื่อวางแผนในการจัดเก็บ กจานั้นประสานผู้นำชุมชน ระบุกลุ่มเป้าหมาย คัดเลือกกลุ่มเป้าหมายและเรียงลำดับความสำคัญกลุ่มเป้าหมาย โดยผ่านเวทีประชาคมระดับหมู่บ้าน
“คณะทำงานบ้านพอเพียงจะประชุมคัดเลือกกลุ่มเป้าหมายและเรียงลำดับความสำคัญ ตรงนี้เป็นฐานข้อมูลบ้านพอเพียงตำบลเพื่อใช้ในกระบวนการพิจารณากลุ่มเป้าหมายหรือผู้เดือดร้อน คัดเลือกจากเวทีประชุม ประชาคมในระดับหมู่บ้านและเรียงลำดับความสำคัญและพิจารณาจากเวทีประชุมคณะทำงานบ้านพอเพียงตำบล”
…..คณะทำงานโครงการบ้านพอเพียงอธิบายลักษณะการทำงาน
สภาองค์กรชุมชนเป็นหัวเรือความร่วมมือ: การผสานงานเครือข่าย
การได้รับการสนับสนุนและการฝึกอบรมหลากหลากด้านจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ซึ่งถือว่าเป็นองค์กรพี่เลี้ยงหน่วยงานหลักและสนับสนุนงบประมาณเรื่องการก่อสร้างปรับปรุงบ้านกลุ่มเป้าหมาย รวมถึงสนับสนุนงานพัฒนาศักยภาพขบวนการทำงานชุมชน สภาองค์กรชุมชน งานวิชาการและเกี่ยวข้องกับหลายโครงการตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน ส่งผลให้เกิดตัวแทนชุมชนที่มีศักยภาพเพิ่มขึ้นหรืออาจเรียกว่าเริ่มมีชาวบ้านที่เข้ามาทำงานพัฒนาชุมชนท้องถิ่นมากขึ้น
กลุ่มผู้นำทางการที่มีบทบาทอย่างมาก คือ กำนัน กลุ่มผู้ใหญ่บ้านและหน่วยงานในท้องถิ่น มีบทบาทตั้งแต่กระบวนการประชาสัมพันธ์ ชั้นตอนการสำรวจกลุ่มเป้าหมาย การพิจารณากลุ่มเป้าหมายจนจบทุกขั้นตอนของโครงการในการติดตามประเมินผล ด้านหน่วยงานระดับอำเภอ ได้มีการประสานงานให้เกิดความเข้าใจและได้รับการสนับสนุนงบประมาณสมทบบางส่วนตาม
กลุ่มต่างๆ ในชุมชนมีบทบาทในวันที่มีลงมือก่อสร้างปรับปรุงบ้านกลุ่มเป้าหมาย เช่นกลุ่มอาชีพ กลุ่มแม่บ้านพ่อบ้าน อาสาสมัครสาธารณธสุขหมู่บ้าน (อสม.) กลุ่มสตรี ที่เป็นเรี่ยวแรงสำคัญในการจัดการด้านอาหาร น้ำดื่ม งานสวัสดิการ รวมถึงร่วมเป็น “แรงงานหน้าหมู่” ในลักษณะที่ใครช่วยอะไรได้ก็ช่วยกันเต็มที่ ในวันที่ต้องก่อสร้างปรับปรุงบ้านเป็นกิจกรรมส่วนร่วมของชุมชน
หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและมีบทบาทในการดำเนินโครงการให้บรรลุผล ได้แก่ สภาองค์กรชุมชนตำบลแม่ท้อ องค์การบริหารส่วนตำบล กำนันและผู้ใหญ่บ้าน หน่วยงานประจำอำเภอ กลุ่มต่างๆ ของชุมชน เช่น กลุ่มแม่บ้าน ช่างในชุมชน กลุ่มจิตอาสา
การทำงานภายใต้โครงการบ้านเพียงชนบทเป็นพื้นที่ทางความสัมพันธ์ในลักษณะเฉพาะ (พิเศษ) แตกต่างกับโครงการโดยทั่วไปของหน่วยงานภาครัฐ กลไกสภาองค์กรชุมชนที่มีองค์ประกอบของภาคประชาชนได้มีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ โดยแทบจะเป็น “ตัวหลัก” ในการประสานงาน อำนวยงานให้โครงการบรรลุผลร่วมกับการเชื่อมโยงความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและคนในตำบล
หลายฝ่ายได้เห็นความพยายามภายใต้ข้อจำกัดของแต่ละฝ่าย ได้เห็นความเสียสละ ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ การแก้ไขปัญหาร่วมกัน ซึ่งถือว่าเป็นกระบวนการทำงานสำคัญอันถือได้ว่าเป็นแนวโน้มที่ดีต่อการขับเคลื่อนงานส่วนรวมของตำบลต่อไปในอนาคต
“มันเหมือนกับว่าทุกคนได้ลองผิดลองถูกด้วยกันมาอย่างน้อยก็สองสามปีจากโครงการ สำเร็จมากบ้างน้อยบ้าง แต่ทุกคนได้เห็นร่วมกันว่าปัญหามันมีอะไรบ้าง หน่วยงานรัฐมีข้อจำกัดตรงไหน มีอะไรเอื้อได้ ชาวบ้านมีข้อดีตรงไหน อะไรควรปรับปรุง แต่สุดท้ายเป้าหมายคือเราได้เห็นคนด้อยโอกาสเขาชีวิตดีขึ้น อาจไม่มาก แต่อนาคตเรื่องคุณภาพชีวิตคนในพื้นที่จะถูกพูดกันมากขึ้น โครงการแบบนี้มีข้อจำกัดหรือจะถูกมองว่าเป็นการสงเคราะห์ แต่ขบวนการทำงานเราได้พัฒนาประสบการณ์มาก”
…..คณะทำงานท่านหนึ่งกล่าวเกี่ยวกับบทเรียนการทำงาน
กลุ่มผู้นำเห็นว่าโครงการเกี่ยวกับการปรับปรุงบ้านของผู้ด้อยโอกาสเป็นส่วนสำคัญในงานพัฒนาคุณภาพชีวิตและจะนำไปสู่วิธีคิดในเรื่องความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่เป็นประเด็นเชิงโครงสร้างมากขึ้น จากการสังเกตในการวางแผนโครงการหรือแผนระยะยาวของสภาองค์กรชุมชน เริ่มมีการตั้งโจทย์การทำงานถึงงานสวัสดิการระยะยาวของชุมชนมากขึ้นและเห็นความสำคัญในการเชื่อมโยงความร่วมมือกับขบวนการทำงานด้านสวัสดิการสังคม สิทธิชุมชนรูปแบบต่างๆ มากขึ้น
โครงการบ้านพอเพียงช่วยบรรเทาปัญหาการดำรงชีวิตระดับพื้นที่ฐานของกลุ่มผู้ด้อยโอกาสในตำบล การมีบ้านหรือที่อยู่อาศัยที่มีปลอดภัยและเหมาะสมมากขึ้นส่งผลให้สุขภาพกายและสุขภาพจิตดีขึ้นกว่าเดิม ลดความเครียดสะสม
อุปสรรคและข้อท้าทาย
- คณะทำงานโครงการส่วนใหญ่มีหลายบทบาทหน้าที่ในงานพัฒนาชุมชนท้องถิ่น แต่ละคนมีภาระงานมากกว่าหนึ่งกลไกทำงานในชุมชน เป็นลักษณะที่มักได้ยินการเปรียบเปรยว่า “สวมหมวกหลายใบ” จึงต้องบริหารจัดการเวลาอยู่ตลอด ในบางช่วงจึงทำให้เป็นอุปสรรคต่อการประสานงานหรือการเข้าร่วมในบางกิจกรรม
- ด้านการสนับสนุนงบประมาณไม่เพียงพอต่อจำนวนกลุ่มเป้าหมายทั้งหมดในพื้นที่ตำบลและโครงการมีการบริหารจัดการ การประสานงานอย่างเข้มข้นทุกขั้นตอนตามกรอบเวลาของโครงการที่จำกัดและไม่มีงบประมาณสนับสนุนในส่วนดังกล่าว
- การประสานงานในโซนหมู่บ้านบนพื้นที่สูงยังมีอุปสรรคในการทำงาน ทั้งการติดต่อและการเดินทางสัญจร