ตำบลดอนเปา เป็นตำบล 1 ใน 5 ตำบลของอำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่
ปัจจุบันตำบลดอนเปา แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 2 เขต คือ
1.เขตรับผิดชอบขององค์การบริหารส่วนตำบลดอนเปา คือ หมู่ที่ 1,2,6,7,8,9,10 และ หมู่ที่ 3,4,5 บางส่วน
2.เขตรับผิดชอบของเทศบาลตำบลแม่วาง คือ หมู่ที่ 3,4,5, บางส่วน
ตำบลดอนเปา มีทั้งหมด 10 หมู่บ้าน คือ หมู่ที่ 1 บ้านทุ่งศาลา, หมู่ที่ 2 บ้านเหล่าป่าฝาง, หมู่ที่ 3 บ้านสันโป่ง, หมู่ที่ 4 บ้านดอนเปา, หมู่ที่ 5 บ้านป่าติ้ว, หมู่ที่ 6 บ้านห้วยเนียม, หมู่ที่ 7 บ้านใหม่สวรรค์
หมู่ที่ 8 บ้านริมขาน, หมู่ที่ 9 บ้านสันปูเลย และหมู่ที่ 10 บ้านห้วยแก้ว
อาณาเขต
ทิศเหนือ ติดต่อ ตำบลสะเมิงใต้ อำเภอสะเมิงและตำบลน้ำแพร่ อำเภอหางดง
ทิศใต้ ติดต่อ ตำบลบ้านกาด อำเภอแม่วาง
ทิศตะวันออก ติดต่อ ตำบลทุ่งสะโตก,ตำบลบ้านแม อำเภอสันป่าตอง
ทิศตะวันตก ติดต่อ ตำบลแม่วิน อำเภอแม่วาง
สภาพภูมิประเทศ
ตำบลดอนเปาตั้งอยู่บนความสูงเหนือระดับน้ำทะเล ประมาณ 312 เมตร ลักษณะสภาพพื้นที่โดยทั่วไปเป็นพื้นที่ราบ และบางส่วนเป็นภูเขา ทิศตะวันออกอยู่ติดริมแม่น้ำขานจึงมีโอกาสถูกน้ำท่วมหลายหมู่บ้านในฤดูฝน
สภาพภูมิอากาศ
ตำบลดอนเปา มีสภาพภูมิอากาศ แบ่งเป็น 3 ฤดู คือ ฤดูร้อนเริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงเดือนมิถุนายน ฤดูฝนเริ่มตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ถึงเดือนตุลาคม และฤดูหนาวเริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงเดือนกุมภาพันธ์ ฝนตกมากที่สุดในเดือนสิงหาคมและเดือนกันยายน โดยมีปริมาณน้ำฝนตลอดปี 1,145 มิลลิเมตร อุณหภูมิอยู่ในระหว่าง 14.3-36.1 องศาเซลเซียส
ภัยธรรมชาติ
ตำบลดอนเปา มีปัญหาด้านภัยธรรมชาติที่สำคัญและเกิดขึ้นอยู่เสมอ ดังนี้ คือ
ภัยแล้ง
ระยะเวลาที่เกิด คือ เดือนมีนาคม – เดือนพฤษภาคม ทำให้เกิดปัญหาด้านน้ำกินน้ำใช้ประมาณ 250 ครัวเรือนปัญหาด้านการเกษตรประมาณ 100 ไร่ พืชที่เสียหาย ได้แก่ พืชผัก, ข้าวโพดหวาน
อุทกภัย
ระยะเวลาที่เกิด คือ เดือนมิถุนายน – เดือนตุลาคม ทำให้เกิดปัญหาด้านการเกษตร ประมาณ 500 ไร่ พืชที่เสียหาย ได้แก่ ข้าวนาปี, พืชผัก, ข้าวโพดหวาน, ไม้ผล
วาตภัย
ระยะเวลาที่เกิด คือ เดือนพฤศจิกายน – เดือนกุมภาพันธ์ ทำให้เกิดปัญหาด้านการเกษตร ประมาณ 350 ไร่ พืชที่เสียหาย ได้แก่ ลำไย, ข้าวโพดหวาน
กรณีที่มีการเกิดภัยธรรมชาติ ภัยพิบัติใดๆ ผู้ที่จะทำหน้าที่สำคัญในการสำรวจข้อมูลความเสียหายและรายงานขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ
- กำนัน – ผู้ใหญ่บ้าน, ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน
- ผู้นำชุมชน, คณะกรรมการหมู่บ้าน
- สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล, สมาชิกสภาเทศบาลตำบล
- คณะกรรมการบริหารศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบล
- อาสาสมัครเกษตรกร
สถานภาพทรัพยากร
ทรัพยากรที่ดิน และสภาพการใช้ที่ดิน
จากการสำรวจทรัพยากรดิน โดยส่วนสำรวจจำแนกดินที่ 3 สำนักสำรวจดินและวางแผนการใช้ที่ดิน(2549) พบว่า ทรัพยากรที่ดินในตำบลดอนเปา เมื่อพิจารณาตามสภาพพื้นที่สามารถแยกได้เป็นดินในที่ดอนและดินในที่ลุ่ม มีทั้งสิ้น 6 กลุ่มชุดดิน 13 หน่วยแผนที่ ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
1.กลุ่มชุดดินที่ 5 ได้แก่ หน่วยแผนที่ 44 130
2.กลุ่มชุดดินที่ 22 ได้แก่ หน่วยแผนที่ 155
3.กลุ่มชุดดินที่ 35 ได้แก่ หน่วยแผนที่ 167
4.กลุ่มชุดดินที่ 40 ได้แก่ หน่วยแผนที่ 162 163 164 171
5.กลุ่มชุดดินที่ 48 ได้แก่ หน่วยแผนที่ 81 82 83 187 188 189
6.กลุ่มชุดดินที่ 56 ได้แก่ หน่วยแผนที่ 123 124 165
7.กลุ่มชุดดินที่ 15 ได้แก่ หน่วยแผนที่ 48
นอกจากนี้ยังมีพื้นที่เบ็ดเตล็ดซึ่งเป็นพื้นที่ที่ไม่เหมาะต่อการทำเกษตรกรรม เช่น พื้นที่หินโผล่ พื้นที่ลาดชันเชิงซ้อน (ภูเขา) แหล่งน้ำ เป็นต้น โดยมีสมบัติทางกายภาพและเคมีดัง และแสดงการกระจายของดิน นอกจากนี้ยังพบว่าลักษณะดินที่เป็นปัญหาหลักต่อการทำการเกษตรของตำบลดอนเปา คือ ดินตื้นและปนกรวดกลมพบในที่ดอน
ตำบลดอนเปา ประกอบด้วยชุดดิน 35,48
– กลุ่มชุดดินที่ 35 คุณภาพของดินเป็นดินร่วนเหนียวปนทราย พื้นที่ดินเป็นลูกคลื่นจนถึงลาดเชิงเขา ความลาดชัน 3-20 % ความอุดมสมบูรณ์ของดินตามธรรมชาติต่ำ ดินเป็นกรด
ข้อมูลสาธารณูปโภค
ไฟฟ้า ประชาชนในตำบลดอนเปา มีไฟฟ้าใช้ทุกครัวเรือน
ที่อ่านหนังสือ มีทุกหมู่บ้าน
สถานีอนามัยประจำตำบล จำนวน 2 แห่ง
โรงเรียนประถมศึกษา จำนวน 3 แห่ง
โรงเรียนมัธยมศึกษา จำนวน 1 แห่ง
ศูนย์การเรียนชุมชน จำนวน 1 แห่ง
ศูนย์บริการถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบล จำนวน 1 แห่ง
ข้อมูลด้านสังคม การเมือง การปกครอง
องค์ประกอบประชากรประชากรของตำบลดอนเปาเป็น ชนพื้นเมือง มีจำนวนประชากร 7,144 คน จำแนกตามอายุได้ ดังนี้
อายุ 1-15 ปี จำนวนร้อยละ 20 ของประชากร
อายุ 16-25 ปี จำนวนร้อยละ 20 ของประชากร
อายุ 26-59 ปี จำนวนร้อยละ 45 ของประชากร
อายุ 60 ปีขึ้นไป จำนวนร้อยละ 15 ของประชากร
การศึกษา
ตำบลดอนเปา มีโรงเรียนระดับประถมศึกษา และศูนย์พัฒนาเด็กเล็กให้บริการแก่ประชาชนในวัยเรียนและก่อนวัยเรียน ดังนี้
- โรงเรียนบ้านทุ่งศาลา ตั้งอยู่หมู่ที่ 1
- โรงเรียนบ้านเหล่าป่าฝาง ตั้งอยู่หมู่ที่ 2
- โรงเรียนบ้านดอนเปา ตั้งอยู่หมู่ที่ 4
- โรงเรียนบ้านใหม่สวรรค์ ตั้งอยู่หมู่ที่ 7
- โรงเรียนบ้านห้วยแก้ว ตั้งอยู่หมู่ที่ 10
ประชากรมีระดับการศึกษา ดังนี้
ระดับประถมศึกษา (ป.1 – ป.6) ร้อยละ 53 ของประชากร
ระดับมัธยมศึกษา (ม.1 – ม.6) ร้อยละ 35 ของประชากร
ระดับอุดมศึกษา (ปวช.ขึ้นไป) ร้อยละ 12 ของประชากร
- พัฒนาการความเป็นมาขององค์ความรู้
ปี 2551 กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลดอนเปา ก่อตั้งขึ้นโดยมีเป้าหมาย เพื่อส่งเสริมให้สมาชิกรู้จัก การออม เพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ,เพื่อจัดสวัสดิการให้แก่สมาชิก ได้แก่การเกิด การเจ็บป่วย การตาย ,เพื่อให้เกิดความสามัคคีในชุมชน และเพื่อให้ชุมชนเข้มแข็ง มีองค์กรช่วยเหลือเมื่อเกิดความเดือดร้อน โดยมีสมาชิกแรกตั้ง จำนวน 99 คน
ต่อมาในปี 2552-2560 กองทุนฯ ประสบกับปัญหา ในเรื่องคณะกรรมการกองทุน ดำรงตำแหน่งหลายอย่างในหมู่บ้าน ทำให้การดำเนินงานไม่มีประสิทธิภาพ เท่าที่ควร ดังนั้น จึงมีข้อเสนอแนะ ให้มีการกำหนดวัน เวลาการทำงานที่ชัดเจน คณะกรรมการเข้าใจและรับรู้ตรงกัน ทำให้ไม่ต้องเสียเวลา กับการดำเนินงานมากนัก และปัญหาในเรื่อง ที่เนื่องจากก่อตั้งกองทุนครั้งแรก มีสมาชิกครอบคลุมหมู่บ้านทั้งตำบล ทำให้การดำเนินงานเป็นลักษณะเครือข่าย ทำให้คณะกรรมการบางหมู่บ้านขาดความมั่นใจ และไม่สามารถสร้างความเข้าใจได้ ดังนั้น จึงมีข้อเสนอแนะ ให้มีการประสานความร่วมมือระหว่างหมู่บ้าน คณะกรรมการหมุนเวียนไปประชาสัมพันธ์ให้กับหมู่บ้านที่ยังไม่เข้าใจ หรือขาดความเชื่อมั่นในตัวคณะกรรมการประจำหมู่บ้าน
ปี 2561-2562 มีการเชื่อมโยงกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบล กับประเด็นงานพัฒนา ได้แก่ ด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ,ด้านแผนชุมชน และด้านสภาองค์กรชุมชนมีการเชื่อมโยงกับภาคีที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ 1) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในเรื่อง การสมทบงบประมาณ กองทุนสวัสดิการชุมชน , สนับสนุนงบประมาณช่วยเหลือการจัดกิจกรรมต่างๆ , ให้คำปรึกษา/ประสานงาน , ให้การสนับสนุนด้านบุคลากร, ให้การสนับสนุนสถานที่ดำเนินงาน 2) การสนับสนุนจากหน่วยงานอื่นๆ ได้แก่ ผู้ว่าราชการจังหวัด, พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.)
การจัดการองค์ความรู้โดยชุมชน
หลักคิด/แนวคิด
หลักคิดสำคัญ และเจตนารมณ์ของการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการตำบลดอนเปา
– เพื่อให้สมาชิกสร้างวินัยในการออม
– เพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เกิดความรัก ความผูกพัน และเอื้ออาทร ซึ่งกันและกัน
– เพื่อสร้างสัจจะแก่ตนเอง และออมเงินเพื่อจัดสวัสดิการ ช่วยเหลือกันระดับตำบล
– เพื่อเสริมสร้างความสามัคคี และสร้างความเข้มแข็งของชุมชน
กระบวนการ/ขั้นตอนการดำเนินงาน
– การประชุมปรึกษาหารือ ตั้งคณะกรรมการ
– กำหนดระเบียบข้อบังคับกองทุนฯ
– เปิดรับสมาชิก
– จัดทำบัญชีรับจ่าย และเปิดบัญชี
– จัดประชุมคณะกรรมการและแก้ไขข้อบังคับตามความเหมาะสม
– ดำเนินการตามแผนงาน และระเบียบข้อบังคับกองทุน
– ใช้ระบบโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในการจัดเก็บข้อมูล
เทคนิค/ทักษะ
เทคนิคการประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจให้กับคนในชุมชน ผู้นำชุมชนในแต่ละหมู่บ้านทำการประกาศเสียงตามสายเพื่อทำการเปิดรับสมัครสมาชิกกองทุน และชี้แจงรายละเอียดต่างๆของกองทุนให้ชาวบ้านรับทราบและเข้าใจแนวทางการดำเนินงานของกองทุน
เทคนิคการสร้างแรงจูงใจโดยการจัดสวัสดิการให้กับสมาชิก เช่น กรณีเสียชีวิตกองทุนจัดสวัสดิการครบวงจรชีวิตให้ตามเงื่อนไขการเข้าเป็นสมาชิกของกองทุน ทางกองทุนจะนำเงินค่าทำศพไปมอบให้แก่ญาติผู้เสียชีวิตหรือทายาทในวันที่ทำการฌาปนกิจศพ ตลอดจนเงินจ่ายสวัสดิการอื่นๆสมาชิกสามารถนำใบรับรองแพทย์มาทำการเบิกเงินสวัสดิการได้ในวันทำการของกองทุน
กลไกจัดการ (กลุ่ม/องค์กร/เครือข่าย/บทบาท)
มีกลไกการบริหารจัดการโดย คณะกรรมการบริหารกองทุน “กองทุนสวัสดิการชุมชนองค์การบริหารส่วนตำบลดอนเปา” โดยมีระเบียบข้อบังคับและการแบ่งบทบาทหน้าที่
ผลลัพธ์การเปลี่ยนแปลง
คนมีแนวคิดและความสามารถเพิ่มขึ้น (ความรู้/ทัศนคติ/ทักษะ)
– ในการมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน
– มีการทำงานอย่างเป็นระบบ และเชื่อมโยงหน่วยงานองค์กรได้
– มีทักษะ และทัศนคติที่ดี ต่อการจัดสวัสดิการชุมชน
องค์กรชุมชนเข้มแข็ง/มีความสามารถในการบริหารจัดการ
– มีสมาชิกมากขึ้นทุกปี สามารถของบประมาณ หรือได้รับการสนับสนุนงบประมาณสมทบทุกปี อย่างต่อเนื่อง
– จัดสวัสดิการให้แก่สมาชิกตามระเบียบข้อบังคับ
– มีแผนงานในการบริหารจัดการประจำปี
– มีคณะกรรมการที่เข้มแข็ง เป็นที่เชื่อถือ ศรัทธาของชุมชน
คุณภาพชีวิตคนในชุมชนดีขึ้น
– ครอบคลุมทุกกลุ่มอายุ และครอบคลุมทุกหมู่บ้านชุมชน
– ผู้ด้อยโอกาสและผู้พิการ สามารถเข้าถึงบริการได้
ปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์/โครงสร้าง/นโยบาย
– มีการแก้ไขปรับเปลี่ยนระเบียบข้อบังคับให้เหมาะสมกับโครงสร้าง นโยบาย
ปัจจัยที่ส่งผลให้ประสบความสำเร็จ
– คณะกรรมการ ต้องซื่อสัตย์ มั่นคง และมีอุดมการณ์
– หลักคิดและแนวทางในการจัดสวัสดิการ
– ยึดระเบียบข้อบังคับในการดำเนินการ
– มีระบบการจัดเก็บข้อมูลที่ดี
– การสมทบของท้องถิ่น และ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนอย่างต่อเนื่องตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้
ปัจจัยภายนอก
– กระแสข่าวสารของกองทุนอื่นในพื้นที่
– ปัจจัยทางการเมืองและผลประโยชน์ในพื้นที่
– ระเบียบและเงื่อนไขการสมทบ ของหน่วยงานองค์กร ไม่มีความชัดเจน ไม่มีระเบียบรองรับ
– การตรวจสอบกองทุนฯ ของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน
แนวทาง/แผนที่จะทำต่อในระยะข้างหน้า
– กองทุนต้องบริหารจัดการตนเองให้ได้ อยู่ให้รอด ถึงแม้ไม่ได้รับการสมทบจากหน่วยงานใดๆ
– แผนงานกิจกรรมการจัดสวัสดิการ โดย การพิจารณาเพิ่มประเภทสวัสดิการที่สมาชิกกองทุนฯ จะได้รับให้มากขึ้น เช่น การรักษาพยาบาล และการศึกษา เป็นต้น
– แผนงานกิจกรรมขยายจำนวนสมาชิก โดย ประชาสัมพันธ์เชิญชวน ประชาชนในพื้นที่ตำบล/เทศบาลดอนเปา เข้าร่วมเป็นสมาชิกกองทุนให้มากขึ้น
– แผนงานกิจกรรมพัฒนาสมาชิกกองทุนฯ โดย จัดเวทีให้สมาชิกกองทุนฯ ได้พบปะ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น อย่างน้อย ปีละ ๒ ครั้ง
– แผนงานกิจกรรมพัฒนาคณะกรรมการกองทุนฯ โดย สนับสนุนและส่งเสริมให้คณะกรรมการได้เข้าร่วมประชุม สัมมนา และเปลี่ยนเรียนรู้กับหน่วยงานภายนอก และจัดการศึกษาดูงานกองทุนฯ ที่ประสบความสำเร็จ
– เพิ่มกลุ่มอาชีพ เพื่อให้มีอาชีพหรือมีทุนการศึกษาให้แก่สมาชิก
– ส่งเสริมกิจกรรมที่เป็นสาธารณะ วงจรชีวิต