ป่าน้ำม่าว ตำบลปง. อำเภอปง จังหวัดพะเยา จากเดิมเคยเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์ เป็นป่าต้นน้ำม่าวที่หล่อเลี้ยงพื้นที่การเกษตรของชาวตำบลปงกว่า 8 หมู่บ้าน ต่อมามีการสัมปทานป่า เมื่อ 40 ปีก่อน มีนายทุนทำไม้โดยใช้ช้างลากไม้ มีการบุกรุกป่าเพื่อขยายพื้นที่ทำกิน มีการเผาป่าเพื่อล่าสัตว์ ตัดไม้เพื่อสร้างที่อยู่อาศัย
ผลกระทบที่เกิดขึ้นในตอนนั้น หลังปี พ.ศ. 2534 เกิดความแห้งแล้ง ฝนไม่ตกตามฤดูกาล ฝนทิ้งช่วง มีผู้บุกรุกป่าเพื่อทำที่ทำกิน ตัดไม้ทำลายป่ามากขึ้นเรื่อยๆพื้นที่บางจุดกลายเป็นเขาหัวโล้น แหล่งกักเก็บน้ำตื้นเขิน น้ำไม่เพียงพอต่อการทำการเกษตร ในฤดูฝนมีน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ทางการเกษตร พอหน้าแล้วขาดแคลนน้ำเพื่อประกอบอาชีพหลักคืออาชีพเกษตรกรรม น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคขาดแคลน
เนื่องจากป่าน้ำมาวถูกบุกรุกพื้นที่ ทำให้เกิดปัญหาต่างๆมากมาย โดยเฉพาะปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้น ฝนฟ้าไม่ต้องต้องตามฤดูกาลเกิดปัญหาแห้งแล้งน้ำในการทำการเกษตรไม่เพียงพอมีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ ทำให้คนในพื้นที่ตำบลได้ตระหนักถึงปัญหาและเกิดความต้องการที่จะอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและฟื้นฟูความสมบูรณ์ของธรรมชาติ สร้างสำนึกร่วมของคนในชุมชนในการดูแลพื้นที่ป่าต้นน้ำไว้ให้ลูกหลานพร้อมทั้งมีระบบนิเวศน์ที่ดี สามารถแก้ไขปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นได้
หลังจากรับรู้ปัญหาที่เกิดขึ้นคนในชุมชนก็รวมตัวกันอย่างไม่เป็นทางการเพื่อหารือกับผู้นำและคณะกรรมการหมู่บ้าน และได้มีการจัด ประชุมในระดับหมู่บ้านที่อยู่ในพื้นที่ได้รับผลกระทบซึ่งเป็นของของหมู่บ้านหนุน หมู่ที่ 6 ตำบลปง โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมหลากหลายกลุ่มในหมู่บ้าน เช่น พระสงฆ์ ปราชญ์ชาวบ้าน ผู้เฒ่าผู้แก่ ปราชญ์ชาวบ้านที่หมู่บ้านให้ความเคารพนับถือ กลุ่มเด็กและเยาวชน เพื่อร่วมกันวิเคราะห์ปัญหา สถานการณ์ หาทางออกการแก้ไขปัญหา ร่วมกับหน่วยงานหน่วยงานที่สนับสนุน เพื่อฟื้นฟูป่า ให้กลับมามีสภาพที่สมบูรณ์เหมือนเดิม โดยมีการจัดตั้งคณะกรรมการ 1 ชุด เพื่อรับผิดชอบและดำเนินการโดยตรง ซึ่งมีการแบ่งบทบาทกันอย่างชัดเจน มีการจัดตั้งกฎ ระเบียบข้อบังคับ มาตรการโดยชุมชนร่วมกันพิจารณา หาฉันทามติร่วม จนเป็นที่ยอมรับของคนทั้งตำบล จากนั้นจึงร่วมกันจัดทำแผนพัฒนาเพื่อดูแลป่าต้นน้ำ มีการจัดทำโครงการเพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณมาช่วยในการบริหารจัดการดูแลพื้นที่ป่าดังกล่าว เสนอแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยเหลือและให้การสนับสนุน และมีการติดตามผลเป็นระยะเพื่อหาปัญหาและแนวทางป้องกันได้ทันท่วงที
ซึ่งการพัฒนาก็เริ่มที่ป่าน้ำม่าวหรือป่าบ้านหนุนโดยเริ่มจากคนในพื้นที่ชุมชน เพราะเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชน และในชุมชนมีผู้รู้ ผู้ที่เข้าใจตามวิถีวัฒนธรรม การพึ่งพาอาศัยกัน ร่วมกันวิเคราะห์ แลกเปลี่ยน ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เพียงแค่เปิดเวที เปิดโอกาส และมีพื้นที่ให้ทุกคนได้ร่วมเสนอแนะและแสดงความคิดเห็น
การพัฒนาองค์กร โดยใช้หลักการประเมิน 9 มิติ ดังนี้
1.โครงสร้าง มีคณะกรรมการที่แบ่งบทบาทหน้าที่กันอย่างชัดเจน
2.ผู้นำ ต้องมีภาวะผู้นำ เป็นบุคคลที่น่าเชื่อถือ เสียสละ จิตอาสา
3.การมีส่วนร่วมของชุมชน มีการประชุมอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง เพื่อร่วมกันคิด ร่วมกันทำ ร่วมกันแกไขปัญหา ร่วมกันรับรู้ รับผลประโยชน์
4.ความสามารถในการประเมินปัญหา ในเวทีประชุมประจำเดือน ต้องมีการรายงานผลการดำเนินงานในรอบเดือนที่ผ่านมา พบปัญหาก็ร่วมกันวิเคราะห์หาแนวทางแก้ไขและร่วมกันวางแผนการดำเนินงานในครั้งต่อไป
5.การระดมทรัพยากร เริ่มจากการระดมคนที่มีความรู้ความสามารถมาร่วมเป็นคณะทำงาน พัฒนาองค์ความรู้ แหล่งเงินทุน วัสดุอุปกรณ์ และที่สำคัญคือการมีส่วนร่วมของชุมชน
6.การเชื่อมโยงภาคีเครือข่าย เช่นเครือข่ายป่าชุมชนในจังหวัดพะเยา กับหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เช่น เทศบาลตำบลปง เทศบาลตำบลแม่ยม พัฒนาชุมชนอำเภอปง รพ.สต.บ้านม่วง โรงเรียนบ้านหนุน หน่วยศึกษาการพัฒนาต้นน้ำม่าว หน่วยจัดการป่าชุมชน จังหวัดพะเยา สถานีพัฒนาที่ดินจังหวัดพะเยา
7.ความสามารถในการถามว่า “ทำไม” คนในชุมเองต้องรู้ปัญหาของชุมชนตนเอง ต้องมีการใช้กระบวนการพูดคุยและแสดงความคิดเห็น ซึ่งนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงร่วมกัน
8.การบริหารจัดการ ชุมชนบริหารจัดการและรับผิดชอบโครงการอย่างเป็นอิสระ โดยมีเครือข่าย และหน่วยงานที่เกี่ยงข้องให้คำปรึกษา สนับสนุน
9.ความสัมพันธ์กับตัวแทนองค์กรภายนอก มีการประสารเชื่อมโยงกับเครือข่ายและหน่วยงานที่สนับสนุน ทั้งในและนอกพื้นที่ เพื่อช่วยเพิ่มทรัพยากร เครือข่าย องค์ความรู้ และการตัดสินใจต่างๆ ที่มีผลทำให้ชุมชนดีขึ้น
ภายใต้กลไลของการดำเนินงานในพื้นที่มีกลุ่มเข้าร่วมบริหารจัดการที่หลากหลาย เช่น
1.คณะกรรมการป่าชุมชน เป็นคณะบริหารจัดการคณะทำงาน จัดกิจกรรมต่างๆ เช่น การปลูกป่าในวันสำคัญต่างๆ การบวชป่า เลี้ยงผีต้นน้ำ ทำฝายชะลอน้ำ ฝายดักตะกอน
2.คณะกรรมการหมู่บ้าน(กม.) เป็นผู้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขอความช่วยเหลือ ขอรับการสนับสนุน เป็นแรงเสริม ในการบริหารจัดการ จัดตั้งศูนย์เฝ้าระวังไฟป่าและหมอกควัน การทำแนวกันไฟ และสามารถบูรณการกับเครือข่ายในชุมชนและชุมชนอื่นๆ
3.สภาผู้นำชุมชน ประกอบด้วย พระสงฆ์ เด็กและเยาวชน ผู้นำกลุ่มต่างๆในชุมชน ข้าราชการในชุมชน และเครือข่าย ที่มีโครงสร้างที่เข้มแข็งและแบ่งบทบาทหน้าที่กันอย่างชัดเจน
มีเป้าหมาย เป็นชุมชนน่าอยู่ มีการบริหารจัดการขยะ การปลูกการบริโภคผักปลอดภัย มีกิจกรรมทางกายอย่างต่อเนื่อง เป็นประจำ
การเปลี่ยนแปลงชุมชนมีความตื่นตัวเกิดความตระหนักในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทั้งระบบ ชุมชนมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ป่า สร้างความภาคภูมิใจให้กับชุมชน ชุมชนมีแหล่งอาหารในป่า ที่สามารถเข้าไปหาในการบริโภคและจำหน่ายได้ ทำให้มีระบบเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ชุมชนในพื้นที่เกิดจิตสำนึกและตระหนักร่วมกันถึงความจำเป็นในการพิทักษ์ป่าไม้ เกิดความรักและสามัคคีในชุมชน ส่งผลให้ชุมชนเข้มแข็งพร้อมต่อการพัฒนาในทุกด้าน ลดปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่า เกิดการหวงแหน ร่วมกันเป็นเจ้าของ ลดปัญหาความขัดแย้งในชุมชน โดยใช้ป่านเป็นประเด็นร่วมในการขับเคลื่อนงานในตำบล ชุมชนใกล้เคียงให้ความสำคัญในการอนุรักษ์ป่า สร้างการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน ประเพณีวัฒนธรรมดั้งเดิมได้อนุรักษ์ไว้ให้คนรุ่นหลังได้สืบเนื่อง เช่นการบวชป่า มีการให้ความสำคัญในการฟื้นฟูอนุรักษ์ป่าชุมชน มีการกำหนดกติกาชุมชนในการจัดการป่าร่วมกันทำให้ลดปัญหาความขัดแย้ง ชุมชนเห็นความสำคัญของการรวบรวมและถ่ายทอดองค์ความรู้ภูมิปัญญาในการจัดการป่าอย่างเป็นระบบเพื่อให้คนในชุมชนและคนภายนอกได้รับรู้
ในด้านสังคมได้เกิดการสร้างการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนประเพณีวัฒนธรรมดั้งเดิมถูกอนุรักษ์ไว้ การเล็งเห็นความสำคัญเรื่องทรัพยากรป่าในพื้นที่ชุมชน มีการอนุรักษ์ ปกป้องและใช้ประโยชน์ร่วม มีการกำหนดกติกาชุมชนในการจัดการป่าร่วมกันทำให้ลดปัญหาความขัดแย้ง เกิดการเชื่อมโยงการทำงานไปสู่ด้านอื่นๆ ชุมชนเกิดความตระหนักในการอนุรักษ์ เป็นหูเป็นตาแทนกรรมการ กรณีมีการบุกรุกป่า ซึ่งมีภาคี หน่วยงานร่วมให้การสนับสนุนอย่าง เทศบาลตำบลปงสนับสนุนในเรื่ององค์ความรู้ ท้องถิ่นสนับสนุน บุคลากร วัสดุอุปกรณ์ ป่าไม้และสำนักทรัพยากรให้ความสำคัญและประสานให้ความช่วยเหลือ สำนักงานปฏิรูปที่ดิน ให้ความร่วมมือในการจัดทำแนวเขตติต่อ
การจัดตั้งคณะกรรมการการกำหนดกฎระเบียบที่เป็นลายลักษณ์อักษร การจำแนกประเภทของป่าตามการใช้ประโยชน์ การพัฒนาศักยภาพของผู้นำ มีการทำกิจกรรมในการจัดการป่าชุมชน เป็นต้น มีคนภายนอกได้เข้ามาศึกษาดูงาน สนใจมาเรียนรู้การจัดการป่าของชุมชนหลายกลุ่ม หลังจากนั้นชาวบ้านได้สรุปบทเรียนการจัดการป่าชุมชนที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่า เทศบาลปงมีองค์ความรู้ภูมิปัญญาในการจัดการป่าที่มีความสัมพันธ์กับวิถีชีวิตของคนที่พึ่งพาป่าในการดำรงชีวิต
มีทุนทางสังคมที่เข้มแข็ง มีการดำเนินชีวิตบนพื้นฐานของความพอเพียง มีความเอื้ออาทร มีจารีตประเพณีของการจัดการทรัพยากรแบบมีส่วนร่วมได้อย่างเข้มแข็ง มีความไว้วางใจ เชื่อใจซึ่งกันและกัน วัฒนธรรมชุมชนแบบชุมชนภาคเหนือ ชนบทที่เรียนรู้และปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงมีการทบทวนตัวเอง เรียนรู้การค้นหาศักยภาพของชุมชน จึงทำให้ชุมชนมีประบวนการเรียนรู้ เพื่อปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาศักยภาพของตนเองอย่างเป็นระบบและมีความต่อเนื่องที่จะคัดกรองโครงการและการช่วยเหลือจากภายนอก เนื่องจากชุมชนมีบทเรียนและประสบการณ์จากในอดีตทำให้ชุมชนเกิดกระบวนการเรียนรู้การมีปฏิสัมพันธ์กับหน่วยงานและบุคคล องค์กรภายนอกต่างๆ มีนโยบายดี จาก ท้องถิ่นและจากภาครัฐมีงบประมาณหนุนเสริมซึ่งช่วยเอื้ออำนวยต่อการขับเคลื่อนงานการประสานงานระหว่างชุมชนชนกับหน่วยงานภายนอกอยู่บนพื้นฐานของวัฒนธรรม ความเอื้ออาทร กฎหมาย สถาบันทางสังคม กฎกติกาในการดูแลรักษาป่า การให้การยอมรับ การยกย่องให้เกียรติกับชุมชน ความต่อเนื่องของกิจกรรมการให้กำลังใจ ยกย่อง เป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นสำหรับชุมชนเพื่อให้คนในสังคมตระหนักและเห็นถึงความสำคัญของการที่ชุมชนได้ทำหน้าที่ดูแลรักษาป่า เพราะผลของการดูแลรักษาป่ามีประโยชน์กับทุกคนในสังคมส่วนร่วมไม่ใช่เฉพาะในชุมชน ผู้นำชุมชนเข้มแข็ง ให้ความใส่ใจ, เน้นประชาสัมพันธ์, ชักนำชาวบ้านเข้าใจและร่วมทำ ทนแรงเสียดทาน สร้างแกนนำจิตอาสา สร้างแรงจูงใจ การมีกฎกติการ่วมชัดเจน มีการปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ทำให้ทุกครัวเรือนรู้บทบาทหน้าที่ในการเข้ามาส่วนร่วมในกระบวนการ การสร้างกระแสปลุกจิตสำนึก ส่งผลให้ชุมชนรักสิ่งแวดล้อม รักความสะอาด รักถิ่นเกิด มีใจอดทน และเป็นการช่วยสร้างเด็ก/เยาวชนในการสืบสานต่อ ท้องที่ /ท้องถิ่น ให้ความร่วมมือและสนับสนุน เรื่อง บุคคลากร เจ้าหน้าที่ เครื่องจักกล สถานที่ดำเนินการ สอบคล้องกับนโยบายแห่งรัฐ
แผนที่จะทำต่อในระยะข้างหน้า ต้องการสร้างเครือข่ายการทำงานไปยังพื้นที่อื่น สืบทอดประเพณีวัฒธรรมดั้งเดิมให้คนรุ่นหลังได้สืบต่อไป ถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับคนรุ่นหลัง พัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ หาแหล่งงบประมาณเพิ่มเติมเพื่อการขับเคลื่อนงาน สร้างจิตสำนึกให้แก่เยาวชนทั้งในท้องถิ่น และสถาบันการศึกษาภายในจังหวัดพะเยา ให้เกิดความรักและหวงแหนทรัพยากรป่าไม้ในท้องถิ่นของตน เชื่อมโยงหน่วยงานภาคีในการจัดการป่าร่วมกัน และพัฒนาศักยภาพคณะกรรมการรักษาป่า