ตำบลบุญเรือง มีพื้นที่ประมาณ 77.04 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 48,150 ไร่ โดยมีพื้นที่ป่าชุมชนที่มีขนาดใหญ่ครอบคลุมอาณาเขต 5 หมู่บ้าน คือ 1) ป่าชุมชนบ้านต้นปล้องใต้ หมู่ที่ 8 2) ป่าชุมชนบ้านต้นปล้อง หมู่ที่ 5 3) ป่าชุมชน บ้านบุญเรืองเหนือ หมู่ที่ 1 4) ป่าชุมชนบ้านบุญเรือง หมู่ที่ 2 ใต้ และ 5) ป่าชุมชนบ้านภูแกง หมู่ที่ 10 มีพื้นที่รวมกว่า 5,000 ไร่
ชุมชนตำบลบุญเรือง เป็นชุมชนเก่าแก่มีอายุมากกว่า 300 ปี นับตั้งแต่กลุ่มราษฎรผู้ก่อตั้งหมู่บ้านและชุมชนตำบลบุญเรือง ได้อพยพมากจากอำเภอสา จังหวัดน่าน ได้เดินทางมาพบน้ำลำห้วยภูแกง (มีเถาวัลย์ป่าชื่อ ปูแกง จำนวนมาก) และสภาพป่า-ดิน อุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การทำการเกษตรจึงได้ประกอบวิธี จุดบั้งไฟขึ้นโดยนำบั้งไฟพาดบ่าองค์พระพุทธรูปเก่าแก่วัดร้างแห่งหนึ่งริมน้ำลำห้วยภูแกง ตั้งจิตอธิฐานว่าถ้าบริเวณป่าและแหล่งน้ำแห่งนี้สมควรจะสร้างบ้านสร้างเรือน น้ำการเกษตรจะสมบูรณ์รุ่งเรืองขึ้น ขอให้บั้งไฟกระบองนี้ขึ้น จึงได้จุดบั้งไฟๆก็ขึ้นจนสุดสายตา นายเรือง เรืองวิลัย กับพวกจึงได้เดินทางกลับไปปรึกษาและขออนุญาตเจ้าเมืองน่าน นำราษฎรจากอำเภอสา อำเภอนาน้อย จังหวัดน่าน มาตั้งบ้านสร้างเมืองขึ้นจนก้าวหน้าเป็นชุมชนตำบลบุญเรือง มีพ่อเฒ่าแสน คำครุฑ เป็นกำนันตั้งแต่ปี พ.ศ.2374 เป็นต้นมา
ป่าชุมชนในพื้นที่ตำบลบุญเรือง เป็นที่ดินสาธารณะประโยชน์เลี้ยงสัตว์ ซึ่งในอดีตมีการเลี้ยงสัตว์ เช่น วัว ควาย โดยมีการบริหารจัดการในรูปแบบภาพรวมตำบล ในมีเนื้อที่ประมาณ 5,000 กว่าไร่ หลังจากเวลาผ่านไปวิถีการเกษตรของคนในพื้นที่ก็เปลี่ยนไป จากการใช้สัตว์ในการไถนาก็เปลี่ยนมาใช้เครื่องจักรในการเพาะปลูกแทน การเลี้ยงสัตว์ เช่น วัว ควาย ก็เริ่มลดลงและเหลือน้อยเต็มที ป่าบางพื้นที่จึงมีสภาพเปลี่ยนเป็น“ป่าเสื่อมโทรม” รกร้าง มีหญ้าออกเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้เกิดไฟป่าในพื้นที่ ปัจจุบันจึงมีการจัดทำแนวเขตเพื่อให้ง่ายต่อการดูแล มีการจัดพิธีบวชป่าชุมชน ซึ่งมีการวางกติกาชุมชนแบ่งเขตการใช้ประโยชน์จากป่า โดยบริหารจัดการเป็นรายหมู่บ้าน จำนวน 5 หมู่บ้าน โดยคณะกรรมการป่าชุมชนในแต่ละหมู่บ้าน ประกอบด้วย
- หมู่ที่ 8 บ้านต้นปล้องใต้ (แยกมาจากบ้านหมู่ที่ 5) ประมาณจำนวน 1,000 กว่าไร่
- หมู่ที่ 5 บ้านต้นปล้อง ประมาณจำนวน 1,000 กว่าไร่
- หมู่ที่ 1 บ้านบุญเรืองเหนือ ประมาณจำนวน 1,000 ไร่
- หมู่ที่ 2 บ้านบุญเรืองใต้ ประมาณจำนวน 1,000 ไร่
- หมู่ที่ 10 บ้านภูแกง (แยกมาจากบ้านหมู่ 1) ประมาณจำนวน 1,000 ไร่
อีกทั้งในพื้นที่ป่าชุมชนจะมีหนองน้ำทุกหมู่บ้าน ซึ่งเป็นฐานทรัพยากรในตำบลบุญเรือง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย หนองน้ำต่าง ๆ เป็นฐานทรัพยากรในลุ่มน้ำอิงที่สร้างรายได้ให้แก่คนในชุมชน นอกจากนี้ยังเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำลุ่มน้ำอิง มีแหล่งน้ำหลากหลาย ทั้งหนอง ฮ่อง ห้วย ญ่าน และบวก เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของพืชและสัตว์น้ำหลากหลายชนิดพันธุ์
เมื่อปี 2560 สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงราย (ทสจ.) ร่วมกับสักงานป่าไม้ จังหวัดเชียงราย ได้มีโครงการในการสนับสนุนการฟื้นฟู”ป่าเสื่อมโทร” ให้เป็นพื้นที่ป่าเศรษฐกิจโดยการสนับสนุนการปลูกต้นไผ่ซางหม่นในพื้นที่ตำบลบุญเรือง อำเภอเชียงของ โดย นำร่องในพื้นที่บ้าน บ้านต้นปล้องใต้ หมู่ที่ 8 โดยสนับสนุนต้นกล้าจำนวน 4,000 ต้น ในพื้นที่ 1,000 กว่าไร่ในการดูแลของชุมชน บ้านต้นปล้องใต้ หมู่ที่ 8
ปี 2562 สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงราย (ทสจ.) ร่วมกับสักงานป่าไม้ จังหวัดเชียงราย ได้มีการขยายพื้นที่การดำเนินงานโครงการเพื่อสนับสนุนการฟื้นฟู “ป่าเสื่อมโทร” ในพื้นที่ตำบลเพิ่มอีก 4 หมู่บ้าน โดยการสนับสนุน ต้นกล้าไผ่ซางหม่น จำนวน 1,000 ต้น/1 หมู่บ้าน รวม 4 ,000 ต้น ประกอบด้วย 1) บ้านต้นปล้อง หมู่ที่ 5 2) บ้านบุญเรืองเหนือ หมู่ที่ 1 3) บ้านบุญเรือง หมู่ที่ 2 และ 4) บ้านภูแกง หมู่ที่ 10 และมีการงบประมาณในการปรับพื้นที่หมู่บ้านละ 8,000 บาท การพัฒนาองค์ความรู้เรื่องการขยายพันธุ์ (ตอนกิ่ง) การพัฒนาองค์ความรู้ในการเพาะ เห็ด เช่น เห็ดเผาะ เห็ดตับเต่า เห็ดโคน เป็นต้น ร่วมทั้งมีเวทีแลกเปลี่ยนแนวทางการทำงานร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ เช่น สำนักงานเกษตร สำนักงานพัฒนาชุมชน และหน่วยงานอื่น ๆ ซึ่งแต่ละพื้นที่หมู่บ้านมีเนื้อที่ป่าชุมชนประมาณ 1,000 ไร่
การดำเนินงานได้อาศัยการประชุมคณะกรรมการหมู่บ้าน ผู้นำ ชาวบ้าน ในการแลกเปลี่ยนสถานการณ์ ค้นหา แนวทางในการจัดการ (การรับรองโดยการประชาคม) จัดทำแผนในการดำเนินงาน/พัฒนา เชื่อมโยงการทำงานกับหน่วยงานในระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล โดยเริ่มจากการใช้งบประมาณของหมู่บ้านในการปรับพื้นที่ และ เตรียมงานขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง
กลไกการจัดการ
มีคณะกรรมการหมู่บ้านจำนวน 5 หมู่บ้าน
- ผู้ใช้ประโยชน์ 2,538 หลังคาเรือน
- คณะกรรมการกลุ่ม 5 หมู่บ้าน ๆละ 10-15 คน
บทบาท
- ร่วมกำหนดขอบเขตป่าชุมชน
- เสนอประโยชน์การใช้สอย/ใช้ประโยชน์
- กำหนดเกณฑ์การใช้สอบและการลงโทษ
- จัดการป่า ปลูกป่า ป้องกันไฟป่า ฟื้นฟูสภาพป่า ตรวจสอบดูแลสภาป่า
- จัดทำแผนในการดำเนินงาน/พัฒนา
- เชื่อมโยงการทำงานกับหน่วยงานในระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล
การเปลี่ยนแปลง
ชาวบ้านมีแหล่งอาหารเพิ่มขึ้น (ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้) ในตำบล เกิดการรวมกลุ่ม มีสมาชิกที่ชัดเจน มีความสามัคคีในชุมชน มีการส่งเสริมและพัฒนาต่อยอดเพื่อสร้างเศรษฐกิจในชุมชน และมีการทำงานร่วมกับหน่วยงานรัฐมากขึ้น สามารถสร้างรายได้ให้คนในชุมชน โดยการสร้างพืชเศรษฐกิจใหม่ในพื้นที่ สร้างการมีส่วนทำ สร้างอาชีพเสริม
อย่างไรก็ตามยังมีอุปสรรคและปัญหาที่พบ คือ การสนับสนุนกล้าพันธุ์ไผ่ซางหม่นในพื้นที่ใหม่ มีจำนวนที่ไม่สอดคล้องและเพียงพอกับพื้นที่ (เนื้อที่ป่าชุมชน) และยังขาดองค์ความรู้เรื่องการต่อยอดการขยายพันธุ์ การแปรรูป และการตลาด
การออกแบบวางแผนการพัฒนาในอนาคตจะทำการขยายพันธุ์ในพื้นที่นำร่อง (หมู่ที่ 8) โดยการสนับสนุนองค์ความรู้จากหน่วยงานที่ต่อเนื่อง ทำการขอรับการสนับสนุนกล้าพันธุ์เพิ่มเติม อย่างน้อยหมู่บ้านละ 5,000 ต้น (ในพื้นที่ใหม่ที่ไม่สามารถขยายพันธุ์เองได้) ความรู้เรื่องการแปรรูป ที่ได้มาตรฐาน (อาหาร เฟอร์นิเจอร์) การยกระดับเป็นวิสาหกิจชุมชน (บรรจุภัณฑ์ / มาตรฐาน) การพัฒนาเรื่องการตลาด และการเชื่อมโยงหน่วยงาน สื่อ สร้างการรับรู้ สร้างการยอมรับ (ประชาสัมพันธ์)