นักจัดการสื่อชุดความรู้สมุทรสงคราม
ตำบลบางขันแตก เป็นตำบลที่ตั้งอยู่ในเขตอำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม มีทั้งหมด 12 หมู่บ้าน มีจำนวนครัวเรือน 2,800 ครัวเรือน มีประชากร 8,786 คน เดิมคลองบางขันแตก มีคันกั้นน้ำต่อมาคันได้แตกลง จึงตั้งชื่อว่าตำบลคันแตก ต่อมาเรียกเพี้ยนไปเป็น ตำบลบางขันแตก การประกอบอาชีพในตำบลส่วนใหญ่ จะเป็นเกษตรกร ชาวสวน ทำสวนส้มโอ ทำสวนมะพร้าว รับจ้าง และค้าขาย บางครอบครัวจะมีที่ดินของตนเอง ก็ปลูกบ้านเป็นที่อยู่อาศัยและทำเกษตร บางครอบครัวเช่าที่วัด เช่าที่ญาติ เพื่ออาศัยปลูกบ้านเป็นที่อยู่อาศัย ความเป็นอยู่และสภาพบ้านที่อยู่อาศัยก็จะแตกต่างกันไป บางครอบครัวมีความเป็นอยู่ที่ลำบาก มีทั้งผู้สูงอายุ ผู้พิการ และเด็ก อาศัยอยู่ในครอบครัวเดียวกัน การเช่าที่ไม่ได้ทำสัญญาไว้อาศัยเพียงความไว้เนื้อเชื่อใจ
รายได้จากการประกอบอาชีพ ทำสวน รับจ้าง ค้าขาย เพื่อดำรงชีพเพียงพอกับค่าใช่จ่ายประจำวัน ไม่เพียงพอที่จะซ่อมบำรุงบ้านที่ทรุดโทรม สภาพบ้านเสื่อมโทรมเนื่องจากก่อสร้างมาเป็นเวลานาน เมื่อได้รับการช่วยเหลือในโครงการบ้านพอเพียงชนบทตำบลบางขันแตก ได้นำงบประมาณมาซ่อมแซมที่อยู่อาศัย โดยคณะกรรมการขับเคลื่อนของสภาองค์กรชุมชน และกองทุนที่ดินตำบล ได้สำรวจการจัดเก็บข้อมูลผู้เดือดร้อนในทุกพื้นที่ของตำบล จากผู้นำในแต่ละหมู่บ้านของตำบลบางขันแตก เข้าสู่การพิจารณาของสภาองค์กรชุมชนตำบลบางขันแตก โดยคณะทำงานฯพิจารณาคัดเลือก จากเกณฑ์ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้มีรายได้น้อย และการเป็นสมาชิกของกองทุนที่ดินและที่อยู่อาศัยของตำบลบางขันแตก นำเข้าสู่การพิจารณาจากสภาองค์กรชุมชน จังหวัดสมุทรสงคราม
เมื่อได้รับงบสนับสนุนจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ( องค์การมหาชน) พอช. นำมาซ่อมแซมที่อยู่อาศัยใน ปีงบประมาณ 2561 ซ่อมบ้านจำนวน 21 ครัวเรือน และปีงบประมาณ 2562 ได้รับงบซ่อมแซมบ้าน 9 ครัวเรือน คณะทำงานและผู้นำหมู่บ้านในตำบลบางขันแตก ได้ช่วยกันดำเนินการซ่อมแซมที่อยู่อาศัยได้สำเร็จ และสามารถสร้างความสามัคคีร่วมแรงรวมใจ ซ่อมแซมบ้านตามโครงการ มีการแบ่งปันน้ำใจพร้อมช่วยเหลือในทุกด้าน จากผู้นำและภาคีเครือข่ายภายในของตำบลบางขันแตกอีกด้วย
คณะทำงานสภาองค์กรชุมชนตำบลบางขันแตก ต่างดีใจที่โครงการนี้ทำให้ผู้อยู่อาศัยในครอบครัวที่เดือดร้อนได้มีบ้านที่อยู่อาศัยที่มั่นคง และเพิ่มความสะดวก ปลอดภัย ในการดำรงชีวิตประจำวันที่ดีขึ้น ได้เห็นรอยยิ้มที่มีความสุข
พอช. ได้สนับสนุนงบประมาณมาช่วยเหลือ ในการซื้ออุปกรณ์ก่อสร้าง และซ่อมแซม ในแต่ละครอบครัวแต่บางครอบครัวที่เป็นสมาชิกกองทุนที่ดินที่ได้งบประมาณมาไม่เพียงพอ คณะทำงานสภาองค์กรชุมชนแนะนำให้กู้เงินกับกองทุนที่ดินตำบลบางขันแตก หากเป็นสมาชิกกองทุนที่ดินตำบลบางขันแตก ครบ 6 เดือน สามารถกู้เงินมาซ่อมแซมเพิ่มเติม ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.5 ต่อปี เพื่อขยายซ่อมแซมบ้านที่อยู่อาศัยในโครงการบ้านพอเพียงชนบท ให้เพียงพอกับความต้องการและสามารถนำอุปกรณ์มาซ่อมแซมในส่วนที่ชำรุดให้สภาพดีขึ้นกว่าเดิม
ผู้นำในแต่ละหมู่บ้านที่รับผิดชอบ เรื่องการซ่อมแซมบ้านผู้เดือดร้อนในโครงการบ้านพอเพียง ได้ทำงานแก้ไขปัญหาต่างๆ ในขณะที่ลงมือซ่อมแซมบ้านผู้เดือดร้อน ผู้นำสามารถพูดคุยและทำความเข้าในการแก้ไขปัญหาได้ในระดับหนึ่ง ผู้นำบางคนขาดความเข้าใจถึงวัตถุประสงค์ทำให้การสื่อสารไปยังชาวบ้านไม่ชัดเจน จึงเป็นอุปสรรคในการทำงานบางพื้นที่
จากปัญหาที่พบในการดำเนินโครงการบ้านพอเพียงชนบท 2 ปีที่ผ่านมา คณะกรรมการของสภาองค์กรชุมชน ได้มีการพูดคุยถึงแนวทางการแก้ปัญหาต่างๆ ที่ทางสภาองค์กรชุมชนแก้ไขปัญหาเองได้ และมีการเชื่อมโยงกับเครือข่าย องค์การบริหารส่วนตำบลบางขันแตก จัดทำเป็นแผนพัฒนาตำบลบางขันแตกขอสนับสนุนในการจัดงบประมาณสมทบโครงการบ้านพอเพียงชนบท การจัดหาบุคคลากรเข้าช่วยเหลือในการซ่อมแซมบ้านผู้เดือดร้อน และสนับสนุนในการจัดงบประมาณสมทบโครงการบ้านมั่นคงชนบท (กองทุนที่ดินและที่อยู่อาศัย) เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับพี่น้องประชาชนตำบลบางขันแตกต่อไป