นครราชสีมา หรือรู้จักในชื่อ โคราช เป็นจังหวัดที่มีพื้นที่มากที่สุดในประเทศไทยและมีประชากรมากเป็นอันดับ 2 ของประเทศ อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ชื่อเมืองนครราชสีมาปรากฏครั้งแรกเป็นเมืองพระยามหานครในการปฏิรูปการปกครองในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ(ตั้งอยู่ในพื้นที่อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา) ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงมีรับสั่งให้ย้ายเมืองนครราชสีมามาตั้งบริเวณพื้นที่ปัจจุบัน เมื่อ พ.ศ. 2217
จังหวัดนครราชสีมา ตั้งอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บนที่ราบสูงโคราช ละติจูด 15 องศาเหนือ ลองติจูต 102 องศาตะวันออก สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 187 เมตร ตัวจังหวัดอยู่ห่างจากกรุงเทพมหานคร โดยทางรถยนต์ 255 กิโลเมตร และโดยทางรถไฟ 264 กิโลเมตร จังหวัดนครราชสีมามีจำนวนประชากร จำนวนทั้งสิ้น 2,628,818 คน มีพื้นที่ 20,493.964 ตารางกิโลเมตร หรือ ประมาณ 12,808,728 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 12.12 ของพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีอาณาเขตติดต่อกับจังหวัดใกล้เคียง ดังนี้
ทิศเหนือ ติดต่อกับ จังหวัดชัยภูมิ และจังหวัดขอนแก่น
ทิศใต้ ติดต่อกับ จังหวัดปราจีนบุรี จังหวัดนครนายก และจังหวัดสระแก้ว
ทิศตะวันออก ติดต่อกับ จังหวัดบุรีรัมย์ และจังหวัดขอนแก่น
ทิศตะวันตก ติดต่อกับ จังหวัดสระบุรี จังหวัดลพบุรี
การปกครองและการบริหาร
จังหวัดนครราชสีมามีรูปแบบการปกครองและการบริหารราชการออกเป็น 3 ส่วนคือ
- การบริหารราชการส่วนกลางมีส่วนราชการสังกัดส่วนกลางตั้งหน่วยงานปฏิบัติหน้าที่ในจังหวัดอยู่ประมาณ 196 หน่วย (รวมทั้งหน่วยงานอิสระ 26 หน่วย รัฐวิสาหกิจ 27 หน่วย)
- การบริหารราชการส่วนภูมิภาค มีส่วนราชการสังกัดส่วนภูมิภาคประจำจังหวัด 30 หน่วย ปัจจุบันจังหวัดนครราชสีมาแบ่งการปกครองออกเป็น 32 อำเภอ 287 ตำบล 3,743 หมู่บ้าน
- การบริหารราชการส่วนท้องถิ่น มี 3 รูปแบบ
1) องค์การบริหารส่วนจังหวัด 1 แห่ง คือ องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา
2) เทศบาล 75 แห่ง ประกอบด้วย
– เทศบาลนคร 1 แห่ง คือ เทศบาลนครนครราชสีมา
– เทศบาลเมือง 3 แห่ง คือ เทศบาลเมืองปากช่อง เทศบาลเมืองบัวใหญ่ และเทศบาลเมืองสีคิ้ว
– เทศบาลตำบล 71 แห่ง
3) องค์การบริหารส่วนตำบล จำนวน 258 แห่ง
พัฒนาการการขับเคลื่อนงานของขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดนครราชสีมา
จากบทเรียนการดำเนินงาน ที่ผ่านมาของขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดนครราชสีมา พบว่าการจะสร้างความเข้มแข็งให้เกิดขึ้นในชุมชนอย่างยั่งยืนนั้น จะต้องนำเอาบทเรียนด้านต่างๆ มาเป็นเครื่องมือดำเนินการ เช่น ความพร้อมและศักยภาพของแกนนำ วัฒนธรรมภูมิปัญญาของชุมชน ความร่วมมือของภาคีเครือข่ายที่หลากหลายในพื้นที่ และเครื่องมือที่สำคัญคือ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับวิถีของชุมชน เมื่อสิ่งเหล่านี้มีพร้อมแล้วขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดนครราชสีมา ต้องรีบดำเนินการในลักษณะการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การร่วมมือกันอย่างจริงจัง “โดยการสร้างการมีส่วนร่วมและการเรียนรู้ร่วมกันในการจัดการตนเองทั้งระดับพื้นที่ตำบลและงานเชิงประเด็นฯ” เพื่อการส่งเสริมและสร้างจิตสำนึกร่วม แสดงพลังให้เห็นเป็นรูปธรรมโดยคำตอบและผลลัพธ์ที่แท้จริงต้องเกิดจากการเรียนรู้ของชุมชน ระดับพื้นที่ตำบล
ฉะนั้นในการดำเนินการของขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดนครราชสีมา ที่ได้รับงบสนับสนุนจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) เพื่อการส่งเสริมให้ขบวนองค์กรชุมชนได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อนำไปสู่ชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง ทางขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดนครราชสีมาได้มุ่งเน้นในการใช้พื้นที่ตำบลเป็นศูนย์กลางในการพัฒนา ทั้งในเรื่องของการพัฒนาศักยภาพของแกนนำทุกระดับและสร้างกระบวนการเรียนรู้ในงานเชิงประเด็น จึงพอสรุปผลการดำเนินงานที่ผ่านมาของขบวนฯ ได้พอสังเขป ดังนี้
ปี 2537 โดยจะมีกลุ่มองค์กร 2 ลักษณะ คือกลุ่มองค์กรโดยธรรมชาติ เป็นการรวมตัวเพื่อช่วยเหลือกันเองของคนในชุมชนรูปแบบต่าง ๆ ทั้งที่มีการจัดรูปองค์กรและไม่จัดรูปองค์กร เช่น กลุ่มเครือญาติ กลุ่มวัฒนธรรม กลุ่มอาชีพ เป็นต้น
ปี 2540 – 2543 (SIF) เกิดการรวมตัวของขบวนองค์กรชุมชน ภายใต้ประเด็นงานการขับเคลื่อนการสนับสนุนจากแหล่งทุนตามลักษณะ/ประเภท เช่น ด้านสวัสดิการชุมชน, เศรษฐกิจชุมชน, การพัฒนาเครือข่าย และการดูแลผู้ด้อยโอกาสเป็นต้นมีการจัดโครงสร้าง/กลไกการดำเนินงาน เช่น มีคณะทำงานระดับจังหวัดที่มีผู้แทนองค์กรชุมชน(ตัวแทน) มาจากหลากหลายกลุ่มเป้าหมาย หน่วยงานในพื้นที่มีหลายบทบาท เช่น คณะทำงานกลั่นกรองโครงการ,คณะทำงานพัฒนาศักยภาพ, คณะทำงานประเมินโครงการ,ระหว่างหน่วยงานภาครัฐและองค์กรชุมชนด้วยกันเอง ในแง่การสร้างการมีส่วนร่วม การออกแบบและวางแผนพัฒนาชุมชนท้องถิ่น
ปี 2543 – 2548 ช่วงปลายกองทุน(SIF) เกิดการจัดทำแผนชุมชนนำร่องทั้งหมด 17 ตำบลและได้มีการพัฒนาศักยภาพขบวนผู้นำด้านสื่อวิทยุชุมชน เกิดมีขบวนสภาผู้นำองค์กรชุมชน/การเสริมศักยภาพขององค์กรชุมชน โดยการสนับสนุนของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนโดยมีการขับเคลื่อน 7 ประเด็น คือ สวัสดิการชุมชน, ทรัพยากรธรรมชาติ, แผนชุมชน, เศรษฐกิจชุมชน, ที่ดินที่อยู่อาศัย,เกษตรและภัยพิบัติ และสื่อชุมชน เป็นต้น
ปี 2548 ได้รับการสนับสนุนงบประมาณ จากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ซึ่งเป็นงบประมาณของศูนย์ต่อสู้ความยากจนภาคประชาชน (ศตจ./ปชช )เพื่อจัดทำโครงการฟื้นฟูชุมชนท้องถิ่นและสนับสนุนงบประมาณตรงไปที่พื้นที่ตำบล
ปี 2549 ได้ปรับ ศตจ.ปชช.ปรับเป็น ศูนย์แก้ไขปัญหาความยากจนตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ภาคประชาชน(ศจพ.ปชช.)
ปี 2550 ยึดหลักให้ชุมชนได้เข้ามามีส่วนในการแก้ไขปัญหาความยากจนของตนเอง และเพื่อสร้างสถานะให้แก่องค์กรภาคประชาชนในการเชื่อมประสานงานกับหน่วยงานรัฐ-ภาคีพัฒนาอื่นๆ ซึ่งเน้นการขับเคลื่อนงานเป็นประเด็นงานพัฒนาต่างๆคือ 1) การแก้ไขปัญหาที่ดิน 2) แผนแม่บทชุมชน 3)ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 4) องค์กรการเงิน 5) บ้านมั่นคง เป็นต้น
ปี 2551 – 2560 กระบวนการขับเคลื่อนของขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดยึดพื้นที่เป็นตัวตั้งในการขับเคลื่อนงาน โดยใช้สภาองค์กรชุมชนและเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนเป็นเครื่องมือในการเสริมสร้างความเข้มแข็งของขบวนองค์กรชุมชนทุกระดับ และการดำเนินงานในระดับพื้นที่ตำบลจะใช้งานประเด็นร่วมในการขับเคลื่อนงานเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาเรื่องอื่นที่ชุมชนท้องถิ่นประสบปัญหา
ปี 2560 เกิดเป้าหมายร่วมของขบวนองค์กรชุมชนทั้งจังหวัดนครราชสีมา “โคราช หนึ่งเดียว” เกิดการยกระดับการพัฒนาที่ใช้สภาองค์กรชุมชนเป็น พื้นที่กลาง การพัฒนา เชื่อมโยง ทักทอ สานใย สัมพันธ์ ขบวนองค์กรชุมชน ท้องถิ่น ท้องที่ ประชาสังคม และหน่วยงานภาคีทั้งภายในและภายนอก ระดมความคิด หาแนวทางการแก้ไขปัญหาร่วมกัน เพื่อก้าวไปสู่ “โคราช หนึ่งเดียว”
ปี 2561 สู่การปฏิบัติการจริงในพื้นที่โดยใช้ระบบความสัมพันธ์ใหม่ทั้ง ชุมชน ท้องถิ่น ท้องที่ หน่วยงานภาคี ให้เข้ามามีส่วนร่วมพร้อมทั้งใช้พื้นที่รูปธรรมความสำเร็จยกชั้นไปสู่ศูนย์เรียนรู้ชุมชนอย่างแท้จริง
ปี 2562 – จนถึงปัจจุบัน สนับสนุนให้ชุมชนท้องถิ่นมีระบบที่จะพัฒนาไปสู่การจัดการตนเอง การพัฒนาศักยภาพขบวนองค์กรชุมชน การจัดระบบความสัมพันธ์ใหม่ของชุมชน ท้องถิ่น ท้องที่ และภาคีที่เกี่ยวข้องสู่ความเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและนโยบาย เปลี่ยนจากระบบคิดจากผู้คอยรับผลประโยชน์มาเป็นการสานพลังร่วมให้เป็นหนึ่งเดียว ปรับจูนความคิดไปสู่ยุทธศาสตร์การพัฒนา
“โคราช หนึ่งเดียว” จึงหมายรวมถึง การพัฒนาให้คนในจังหวัดได้ร่วมกันมองไปถึงการ จัดการทรัพยากรธรรมชาติร่วมกัน การจัดการระบบเศรษฐกิจและทุนชุมชนร่วมกัน การพัฒนาที่อยู่อาศัยร่วมกัน การจัดการที่ดินทำกินให้มีความมั่นคงในชีวิตร่วมกัน การจัดสวัสดิการร่วมกัน จนเกิดเป็น “พลังของความเป็นหนึ่งเดียว” ความเป็นหนึ่งเดียวคือ ความกลมกลืนภายในตนเองและความสอดคล้องของแต่ละบุคคลทั้งจังหวัด ให้ ความเป็นหนึ่งเดียวคงอยู่ได้ด้วยการรวมพลังงานการพัฒนาและพลังความคิด ด้วยการยอมรับและเห็นคุณค่าในความหลากหลายของสมาชิก ซึ่งมีผลงานอันเป็นเอกลักษณ์เป็นการคงอยู่ด้วยศรัทธาอย่างมีส่วนร่วม
ความเป็นหนึ่งเดียวกัน เกิดจากการมีวิสัยทัศน์ร่วมกัน ความหวังที่ยึดมั่นอยู่ในใจ และเป้าหมายที่ ความเป็นหนึ่งเดียวที่มาพร้อมกับความมุ่งมั่นและศรัทธาของชุมชนท้องถิ่น สู่การจัดการตนเองอย่างยั่งยืน
โครงสร้าง กลไก และระบบการบริหารจัดการอย่างมีส่วนร่วมตามหลักธรรมาภิบาล
ขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดนครราชสีมา “โคราชหนึ่งเดียว” เป็นองค์กรประชาชนที่เข้มแข็ง โดยการรวมตัวของบุคคล กลุ่ม/องค์กร และภาคีเครือข่าย เพื่อทำภารกิจที่มีจุดมุ่งหมายการพัฒนาร่วมกัน สร้างการมีส่วนร่วมและการกระจายการตัดสินใจลงสู่พื้นที่อำเภอ ตำบล โดยใช้ พรบ. สภาองค์กรชุมชนเป็นเครื่องมือ สภาองค์กรชุมชนตำบลเป็นพื้นที่กลาง ประสานพลังจากทุกภาคส่วน การจัดโครงสร้างและกลไกการทำงานของขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดนครราชสีมา จึงดำเนินการอย่างสอดคล้องกันซึ่งปรากฏไว้อย่างชัดเจน
ระบบการบริหารงานขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดนครราชสีมา
- คณะกรรมการบริหารขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดนครราชสีมา เป็นกลไก หรือองค์กรนำในการบริหารและกำกับการพัฒนางานขบวนของจังหวัด โดยมีสัดส่วนจากขบวนองค์กรชุมชน และมีหน่วยงานภาคีทั้งภาครัฐและท้องถิ่น เป็นที่ปรึกษาสำคัญ
- มีกลไกในระดับกลุ่มอำเภอเป็นกลไกในการประสานและเสริมหนุนการทำงานของพื้นที่ตำบล รวม 8 กลุ่มอำเภอ
- มีกลไกอำเภอ 32 อำเภอ อำเภอละ 2 คน เป็นกลไกเชื่อมประสาน เป็นการประสานบนสื่อสารล่างระดับตำบล เพื่อให้เกิดการสื่อสารที่รวดเร็วและเข้าถึงข้อมูลได้อย่างถูกต้องแม่นยำ รวดเร็ว
- มีกลไกตำบล โดยสภาองค์กรชุมนตำบล เป็นกลไกปฏิบัติการหลักเพื่อการแก้ไขปัญหา
สรุปภาพรวมผลการดำเนินงานขบวนจังหวัดนครราชสีมาปี 2562 – จนถึงปัจจุบัน
- มีโครงสร้างกลไกลคณะทำงานระดับจังหวัด 15 คน ผู้ประสานงานระดับอำเภอ 64 คน
- พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชนส่งเสริมการรวมกลุ่มจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนตำบล พ.ศ. 2551 เชื่อมโยงสมาชิกในตำบลพัฒนาและแก้ไขปัญหาในพื้นที่จัดทำแผนพัฒนาชุมชนท้องถิ่นระดับตำบล เป็นกลไก/เวทีกลางผลักดันให้มีการแก้ปัญหาสาธารณะ จัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายระดับท้องถิ่น จำนวน 304 สภา (ปัจจุบัน 24 กรกฎาคม 2562)
- เกิดระบบสวัสดิการของชุมชน ดูแลคนทุกช่วงวัย ตั้งแต่ เกิด แก่ เจ็บ ตาย สมาชิกในชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สู่การจัดสวัสดิการที่หลากหลาย เป็นการสร้างหลักประกันความมั่นคงในชีวิตของคนในชุมชนบนพื้นฐาน“ให้อย่างมีคุณค่ารับอย่างมีศักดิ์ศรี” จำนวน 132 กองทุน สมาชิก สมาชิกสวัสดิการชุมชน 99,918 คน เงินกองทุนสวัสดิการชุมชน 229,009,317 บาท
- เกิดชุมชนท้องถิ่นมีระบบเศรษฐกิจและทุนชุมชนที่มั่นคง สามารถพึ่งตนเองและจัดการตนเองได้อย่างยั่งยืนร่วมสร้างระบบเศรษฐกิจของชุมชนที่ยั่งยืน เป็นการยกระดับในการเปลี่ยนแปลงชุมชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีความเข้มแข็งในการบริหารจัดการตนเอง จำนวน 62 พื้นที่
- มีพื้นที่ตำบลจัดทำข้อเสนอแผนพัฒนาตำบลต่อหน่วยงานจำนวน 82 พื้นที่
- เกิดพื้นที่การแก้ไขปัญหาที่ดินแนวใหม่ 24 ตำบล 15,650 ครัวเรือน
- สร้างความเป็นเจ้าของร่วมกันของคนในชุมชน กำหนดแนวทางการพัฒนาที่อยู่อาศัย จัดทีมทำงาน
- ขบวนจังหวัด/ประเด็นงานพัฒนา/ชุมชน/หน่วยงานท้องถิ่น/ภาคประชำสังคม เพื่อสร้างความเข้าใจโครงการ พื้นที่การแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยบ้านมั่นคงเมือง 43 ชุมชน 4,302 ครัวเรือน
- พื้นที่การแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยบ้านมั่นคงชนบท 5 ชุมชน 579 ครัวเรือน
- บ้านพอเพียงชนบท ซ่อมแซม/ปรับปรุง/สร้างที่อยู่อาศัยให้กับครัวเรือนยากจน สามารถสร้างความร่วมมือระหว่างชุมชน ท้องถิ่น ภาครัฐ และภาคประชาสังคมสนับสนุนงบประมาณและทรัพยากรร่วมดำเนินการจำนวน 19 ตำบล ครอบคลุม 403 ครัวเรือน
- พื้นที่การจัดการแก้ไขปัญหาภัยพิบัติ จำนวน 76 ตำบล
- การสอบทาน/ทบทวน ทั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนและสภาองค์กรชุมชน ทำให้รับรู้ถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาของชุมชนท้องถิ่นให้เกิดความเข้มแข็ง อีกทั้งยังสามารถจัดชั้น A B C D เพื่อจะเป็นฐานการพัฒนาและไขปัญหาร่วมกัน
- การขับเคลื่อนงานการจัดระบบการเงิน บัญชีรายรับรายจ่าย มีการปรับจากผู้เปิดบัญชีจะไม่มีสิทธิ์ถือเงิน เมื่อมีการถอนเงินจะต้องนำมาให้ฝ่ายการเงินเป็นผู้รับผิดชอบและฝ่ายบัญชีต้องทำระบบบัญชีให้เป็นปัจจุบัน เมื่อมีงานมีการจัดงานต้องประมาณการค่าใช้จ่ายและเมื่อจบงานแล้วต้องรายงานการใช้จ่ายไม่เกิน 7 วันทำการ
ก้าวสู่จังหวัดยุทธศาสตร์การพัฒนา “โคราชหนึ่งเดียว”
วิสัยทัศน์ “โคราชหนึ่งเดียว”
นิยาม “ เป็นองค์กรประชาชนที่เข้มแข็ง โดยการรวมตัวของบุคคล กลุ่มองค์กร และภาคีเครือข่าย เพื่อทำภารกิจที่มีจุดมุ่งหมายการพัฒนาร่วมกัน”
ความเป็นองค์กรประชาชนที่เข้มแข็ง มีองค์ประกอบสำคัญดังนี้
- มีเป้าหมายและมีอุดมการณ์ร่วมกัน
- มีโครงสร้างที่สะท้อนถึงอำนาจในการคิด แลตัดสินใจ
- มีสมาชิกที่เชื่อเชื่อมั่น และศรัทธาต่อองค์กร
- มีระบบการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ โปร่งใสเป็นระบบธรรมาภิบาล
- มีผู้นำที่ได้รับการยอมรับ เชื่อมั่นศรัทธาจากสมาชิก
- มีกิจกรรมที่สอดคล้องต่อเป้าหมาย
- มีทุนและทรัพยากรในการดำเนินกิจกรรม
พันธกิจ “หลอมรวมกลไกทุกระดับและภาคีความร่วมมือ บูรณาการแผนงานสู่การปฏิบัติเพื่อการเปลี่ยนแปลง”
เป้าหมาย “ชุมชนท้องถิ่นเกิดการเปลี่ยนแปลงสู่ชุมชนอยู่ดีมีสุข”
ยุทธศาสตร์
ยุทธศาสตร์ที่ 1 การพัฒนายกระดับองค์กรชุมชนสู่พื้นที่รูปธรรมจัดการตนเอง
ประเด็นยุทธศาสตร์ 1.1 เรื่อง การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
ประเด็นยุทธศาสตร์ 1.2 เรื่องความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม
ประเด็นยุทธศาสตร์ 1.3 เรื่องความมั่นคงของอาหารและพลังงาน
ยุทธศาสตร์ที่ 2 การพัฒนาศักยภาพผู้นำและขยายผลฐานกำลังขององค์กรภาคประชาชน
ประเด็นยุทธศาสตร์ 2.1 เรื่องการพัฒนาคนสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างยั่งยืน
ยุทธศาสตร์ที่ 3 การพัฒนาระบบฐานข้อมูลสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อการพัฒนา
ยุทธศาสตร์ที่ 4 องค์กรประชาชนสู่ระบบธรรมาภิบาล
ภาพที่อยากเห็นในอนาคตในพื้นที่ 10 ปี
“โคราช เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อการพัฒนาของชุมชนท้องถิ่นในภาพกว้าง โดยมีกลุ่มคนและชุมชนเป็นแกนหลัก มีขบวนองค์กรชุมชนเป็นกลไกจัดความสัมพันธ์ในการทำงานร่วมกับหน่วยงาน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคีเครือข่าย มีสถาบันการศึกษาบูรณาการงานข้อมูลวิชาการร่วมกัน เพื่อการแก้ไขปัญหาชุมชนอย่างมีศักดิ์ศรี มีความสามารถในการบริหารจัดการทรัพยากร เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และการเมือง นำข้อมูลมาประยุกต์ใช้ให้เกิดการพัฒนา มีแผนพัฒนาตำบลเชื่อมดยงเป็นแผนพัฒนาอำเภอและเป็นแผนพัฒนาจังหวัด โดยใช้ประเด็นงานและแผนชุมชนตำบล การสอบทาน การทบทวน เป็นเครื่องมือสร้างกระบวนการเรียนรู้และกำหนดทิศทางบูรณาการแผนงานในการพัฒนาภายใต้กลไก 1 จังหวัด 1 ขบวน เพื่อนำไปสู่โคราชเป็นหนึ่งเดียว ให้สามารถพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน”
โดย ประพันธ์ สีดำ