ตำบลนิคม แยกออกมาจากตำบลสตึก เมื่อปี 2518 ปัจจุบันมีหมู่บ้านจำนวน 24 หมู่บ้าน อยู่ในเขตปกครองของเทศบาลตำบลสตึก จำนวน 9 หมู่บ้าน และอยู่ในเขตการปกครองขององค์การบริหารส่วนตำบลนิคมจำนวน 15 หมู่บ้าน ประชากรเป็นชาย 8,058 คน เป็นหญิง 8,379 คนรวม 16,457 คน จำนวน 3,765 หลังคาเรือน
สภาพพื้นที่ ด้านทิศเหนือเป็นที่ราบลุ่มติดฝั่งแม่น้ำมูล ด้านทิศตะวันตกเป็นลำตะโคงซึ่งไหลมาบรรจบแม่น้ำมูลที่ปากตะคาบ บริเวณบ้านดงยายเภา ม.3 ส่วนด้านทิศใต้ติดต่อกับตำบลร่อนทองเป็นไหล่เนินของป่าสงวนโคกโจด ลาดเอียงลงทางทิศเหนือและตะวันตกลักษณะเป็นดินร่วนปนทราย มีพื้นที่ทั้งหมด 88 ตารางกิโลเมตร หรือ ประมาณ 55,000 ไร่
อาชีพพื้นฐานของชาวชุมชนคือการทำการเกษตร เช่นทำนา ทำสวนปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ ถึงแม้นตัวเลขจากการสำรวจจะพบว่าจำนวนของผู้ออกไปรับจ้างขายแรงงานทั้งในท้องถิ่นและต่างถิ่นจะสูงกว่าก็ตาม แต่โดยสภาพความเป็นจริง ครอบครัวส่วนใหญ่ก็ไม่ ละทิ้งการปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ควบคู่กัน
สถานการณ์ในพื้นที่ ก่อนจดแจ้งสภาองค์กรชุมชนตำบลนิคม
ก่อนปี 2548 ท่ามกลางม่านหมอกแห่งทุนและวิทยาการเทคโนโลยีที่ก้าวรุดหน้า จนทำให้โลกใบนี้แคบลง ในขณะที่จิตวิญญาณของผู้คนถูกกดทับ..ซึมซ่านด้วยกระแสบริโภคนิยมแบบลืมหูลืมตาไม่ขึ้น มองเห็นตัวเองและอนาคตลูกหลานเพียงลางเลือน กระท่อนกระแท่น ไม่ชัดเจน ด้วยว่าทุกอย่างถูกตีค่าเป็นเงิน จากป่าดงดิบและป่าบุ่งป่าทามริมฝั่งแม่น้ำมูลได้กลายเป็นทุ่งนา-ป่าอ้อย เป็นป่ายูคาลิบตัส สวนยางพาราและป่ายางนา เป็นลำดับมา นับได้ว่าเป็นผลพวงของการเดินทางผ่านห้วงเวลาของคนจากรุ่นหนึ่ง..สู่อีกรุ่นหนึ่ง อย่างไม่ต้องสงสัย
คนเดินทางรุ่นก่อน เข้าจับจองครอบครองผืนดินที่มีความอุดมสมบูรณ์มากที่สุดเป็นแหล่งปักรกราก และด้วยความมั่งคั่งทางทรัพยากรที่ราบลุ่มแม่น้ำมูลแห่งนี้ ในนามดงสตึก หมายถึงป่าดงดิบที่รกทึบจนแสงตะวันรอดผ่านทระทบดินได้ยาก ยังเป็นดงช้างดงเสือเมื่อห้าสิบกว่าปีที่ผ่านมา ชื่อของหลายหมู่บ้าน ชื่อของท่าน้ำ หนองน้ำหลายแห่งในบริเวณนี้ ล้วนสะท้อนบอกความเป็นอยู่ของอดีตทั้งสิ้น บ้านหัวช้าง บ้านนกยูง ท่าช้าง หนองกระทิง บ้านโรงเลื่อย ฯลฯ เป็นต้น บรรพบุรุษรุ่นแรกของคนสตึกจึงควรเป็นชาวนาอพยพในความหมายที่ตรงที่สุด
บนทางเดินในบางนาที เมื่อเบิ่งตาดูด้วยใจที่ต้องการค้นหาความจริงบางอย่างให้กับตัวเอง จึงเห็นอาการเจ็บป่วยของแผ่นดินและสายน้ำ ป่าบุงป่าทามถูกเปลี่ยนสภาพ ถูกจับจองจนหมดสิ้น ต้นไม้ฝั่งกุด-ริมหนองและสายคลองสาธารณะที่พอจะใช้ร่วมกันอยู่ก็มักจะถูกทำลายลงด้วยความเห็นแก่ได้ น้ำเสียจากชุมชน,จากโรงเหล้า,การบำบัดน้ำเสียสารเคมีจากเกษตรกร การดูดทราย การพังทลายริมฝั่ง ? และการเรียนรู้ของชุมชนเพื่อยับยั้งและฟื้นฟู ?
ข้อเท็จจริงทั้งหลายเหล่านี้ และยืนขวางทางเดินที่ทุกคนสามารถสัมผัสได้ เหล่านี้คือแรงผลักดันให้เกิดกลุ่มกิจกรรมเกี่ยวกับสายน้ำขึ้นในพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำมูลตอนกลางแห่งนี้
ปี 2548-2550 เกิดกลุ่มเฝ้าระวังผลกระทบจากการดูดทราย
ในช่วง 50 กว่าปีที่ผ่านมา พวกเราได้ทำลายล้างป่าดงดิบอันอุดมเกือบจะหมดจด จากดงกระเทียมในอำเภอคูเมืองถึงดงแสนตอรอยต่อจังหวัดสุรินทร์ให้กลายเป็นทุ่งนา-ป่าอ้อย เป็นป่ายูคาฯและเป็นสวนยางพาราเพื่อส่งป้อนโรงงานข้างบ้าน ทำลายความสมดุลที่ธรรมชาติปั้นแต่งขึ้นอย่างไม่นำพา
ในปีถัดมาพวกเราบางคนขนเม็ดทรายขึ้นมาวางขายที่ข้างถนน จากที่เคยใช้พลั่วตักเม็ดทรายสีทองนวลระยับขึ้นรถหกล้อหัวยาวส่งถึงหัวกะไดบ้านลูกค้า มาเป็นเครื่องดูดพลังมหาศาล สามารถพ่นเม็ดทรายขึ้นมารวมกันเป็นกองโตบนริมฝั่งได้ในชั่วเสี้ยวของเวลา และนับวันแต่จะพัฒนาเพิ่มพลังการทำลายล้างเช่นนี้ขึ้นเรื่อยๆ แม่น้ำมูลในความหมายที่เป็นสายเลือดของแผ่นดิน เป็นมูนมรดกร่วมกันของผู้คนสองฟากฝั่ง และในมโนสำนึกว่าดุจดังแม่ที่หล่อเลี้ยง – ให้ความชุ่มฉ่ำต่อสรรพชีวิตของคนอีสานตอนล่างแห่งนี้.. ดูเหมือนว่าจะต้องมีเรื่องราวเล่าขานสู่กันฟังอีกยาวนาน
เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า คุณภาพเม็ดทรายจากลุ่มน้ำมูลอยู่ในระดับแนวหน้าของเม็ดทรายทั้งปวง ในช่วงเวลา 20 ปีที่ผ่านมาของงานพัฒนาบ้านเมือง เม็ดทรายได้กลายเป็นธุรกิจที่โยงใยถึงนักการเมืองระดับรัฐมนตรีไปแล้ว มีการกว้านซื้อที่ดินสองฟากฝั่ง มีการบุกรุกที่สาธารณะกุด หนอง เปลี่ยนจากป่าบุ่งป่าทามที่เป็นเสมือนมดลูกทางธรรมชาติ เป็นเสมือนตู้กับข้าวของชุมชน ให้กลายเป็นป่ายูคาลิบตัสและสวนยางนาของผู้มีอำนาจเงินในมือ เปลี่ยนจากทำเลเลี้ยงวัวควายที่เคยใช้ร่วมกันของชุมชน ไปเป็นทรัพย์สมบัติส่วนบุคคล ใครจะล่วงละเมิดไม่ได้
ความร่วมมือเป็นหนึ่งเดียวกันทางผลประโยชน์ของผู้ประกอบการกับข้าราชการในท้องถิ่น-ที่ผ่านมา เป็นไปอย่างโจ่งแจ้งจนผู้คนในพื้นที่สัมผัสได้โดยทั่วกัน ในขณะที่ชุมชนต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยวและหาทางออกให้กับตัวเองเพียงลำพัง
อาจกล่าวได้ว่า 20 ปีที่ผ่านมา คือ 20 ปีของการเอารัดเอาเปรียบ คือ 20 ปีของการสั่งสมและตกผลึกทางความคิดของผู้คนในเรื่องสิทธิการเข้าถึงทรัพยากรอย่างเท่าเทียมกัน เพราะมันหมายถึงวิถีความอยู่รอดของชีวิตตัวเอง ของครอบครัวและของชุมชนที่จะต้องพึ่งพาทรัพยากรอย่างกลมกลืนเหมาะสมนั่นเอง
ปี 2551 กำเนิดกองทุนสวัสดิการชุมชน ตำบลนิคม
ผ่านการการเคลื่อนไหวของกลุ่มเฝ้าระวังผลกระทบจากการดูดทราย ตั่งแต่เดือนกันยายน ปี 2548 มันสะท้อนบอกวิถีชีวิตและพัฒนาการทางความคิดของผู้คนด้วย ในการปกป้องวิถีของตัวเอง ท่ามกลางความมืนชาจนเคยชินและหลับใหลของผู้คนจำนวนหนึ่ง ละเลยและมองข้าม การทำลายล้างที่เกิดขึ้นต่อหน้าต่อตา ยังไม่ตระนักว่า มนุษย์กับสิ่งแวดล้อมต้องอยู่กันอย่างกลมกลืนและพึ่งพา ยังมองสิ่งที่อยู่รอบกายเป็นสินค้า ที่จะต้องบีบเค้นมันออกมาเป็นเม็ดเงิน ดังนั้น จึงมีผู้มองว่า พวกเขาเป็นตัวเสือก เรื่องมาก อยากดัง นักการเมืองหนุน ท่าทรายคู่อริต่อท่อน้ำเลี้ยง เมื่อทบทวนอ่านซ้ำ จึงได้เห็นตัวตนของตัวเอง เห็นรอยย่ำเดิน เห็นเส้นทาง รู้ทิศและมีเพื่อนร่วมเดินทางมากขึ้น เห็นรูปร่างหน้าของตัวเอง โดยผู้นำท้องถิ่นระดับตำบลเป็นแกนประสานส่วนบนร่วมกับสมาชิกสภาท้องถิ่น ผู้นำในชุมชน ตลอดจนถึงคนเลี้ยงวัวและขุดมันแซง
หน่วยงานที่ทำงานเกี่ยวกับชุมชนจึงให้ความสำคัญ และลงมาช่วยผลักดันให้ กอตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลนิคมขึ้น ในปลายปี 2551 ปี 2554 ได้รับทุนงานวิจัยจาก สกว. ปี 2555 จดแจ้งจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนตำบลนิคม
ตำบลนิคม สวัสดิการชุมชนถ้วนหน้า สู่..นครแห่งความสุข
ภาคประชาชนผลักดัน พระราชบัญญัติสภาองค์กรชุมชนให้ปรากฏเป็นจริงได้ในปี 2551 ตราขึ้นมาเพื่อรองรับอำนาจก้อนเส้าที่สาม เพื่อชุมชนจะได้ใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน อันจะนำไปสู่การเป็น”ฐานที่มั่น” อันมั่นคงให้กับงานพัฒนาบ้านเมืองร่วมกับรัฐและท้องถิ่นเป็นลำดับไป ท่ามกลางการเรียนรู้เพื่อจัดการกับชีวิตของตนเอง ของครอบครัวและชุมชน ให้เข้าถึงความสุขสมบูรณ์แห่งชีวิต โดยเน้นที่การเรียนรู้และดัดแปลงที่ตัวเองก่อนเป็นเบื้องต้น สร้างปัญญาความคิดให้กับตัวเองก่อน ส่งผลสะเทือนไปสู่ครอบครัวและชุมชนเป็นลำดับไป จึงเป็นการทำงานแบบทำไป ศึกษาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันไป
ตลอดระยะเวลากว่าสิบปีที่ผ่านมา ได้เรียนรู้จากปฏิบัติการจริงในชุมชนท้องถิ่นของตัวเองเกี่ยวกับเรื่องสวัสดิการชุมชน ประกอบกับความเพียรพยายามที่จะเติมเต็ม”องค์ความรู้” ผ่านเวทีแลกเปลี่ยนกับท่านวิทยากรผู้มากประสบการณ์ในสนามอย่างต่อเนื่อง แต่ค่อนข้างจะกระท่อนกระแท่นนั้น คือ 2 ส่วนสำคัญ ที่เป็นแรงจูงใจ ผลักดันให้ “งานสวัสดิการชุมชน”ถูกเลือกเป็นภารกิจหลักของสภาองค์กรชุมชนตำบลนิคม อย่างไม่ลังเล
และจากการเฝ้าดูผลผลิตเกิดขึ้น ทั้งในแง่ด้านบวกและด้านลบของ”งานสวัสดิการชุมชน”อย่างต่อเนื่องและซื่อสัตย์ต่อความจริง เพื่อประเมินอนาคตของมันได้อย่างเที่ยงตรง และตระหนักรู้แก่ใจว่า อุปสรรค์ขวากหนาม ตลอดจนจุดอ่อน ข้อบกพร่องที่เดินผ่านเข้ามา ไม่ใช่ปัญหาจนต้องเป็นกังวล แต่มันคือ”งาน”ที่ท้าทาย มันคือหินลับคมทางปัญญาจนรู้สึกได้ และในนาทีเดียวกัน ก็เริ่มที่จะกระจ่างในบางเรื่อง อันเป็นเรื่องที่จะก่อผลกระทบอันไม่พึงประสงค์ต่อความเป็น”สวัสดิการชุมชน”
ในความหมาย จากชื่อ “กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบล” ย่อมชัดเจนในตัวของมันเองอยู่แล้วว่าเป็นกองทุนที่จัดตั้งขึ้นมาเนินการสร้างสวัสดิการขึ้นในชุมชน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการแบ่งปัน ดูแลสมาชิก ทั้ง 3 ประเภท โดยเท่าเทียมกัน (สมาชิกสามัญ สมาชิกสมทบ และสมาชิกหุ้นลม) ตั้งแต่เกิดจนตาย และยังต้องเผื่อแผ่ให้กับสังคมรอบข้างด้วย เพื่อตอกย้ำความเป็น “สวัสดิการสำหรับชุมชน” ให้เด่นชัดขึ้น โดยใช้พื้นที่ตำบลเป็นจุดเริ่มต้น มีเป้าหมายหลักอยู่ที่การพลักดัน พ.ร.บ.สวัสดิการชุมชน พ.ศ. …………. ให้เป็นจริง
ส่วนแหล่งที่มาของเงินนั้น ด้านหลักมาจากการสมทบของสมาชิก (วันละ 1บาท, หกเดือน 180 บาท, หนึ่งปี 360 บาท) ไม่มีกรณีใดๆ เลยที่สมาชิกจะสามารถเรียกคืน “เงินสมทบ” ได้ในนามของ “เงินออมวันละ 1 บาท
เงินคือผลึกของแรงงาน แต่ไม่ใช่เป้าหมายของกองทุนฯ และแน่นอนว่า การให้อย่างมีคุณค่า การรับอย่างมีศักดิ์ศรีต่างหากที่เป็นความมุ่งมั่นของสวัสดิการชุมชน “การสร้าง ขยายและยกระดับความรับรู้ของทีมงาน และสานตัวกันเป็นเครือข่าย ด้วยท่วงทำนองที่เป็นประชาธิปไตย” เป็นทีมงานที่มีแนวคิดและอุดมการณ์ร่วมกัน มีเป้าหมายชัดเจน รักและเคารพความเท่าเทียมเสมอชีวิต เพื่อสร้างความเข้าใจ เพื่อสร้างความไว้วางใจต่อสายเครือญาติและเพื่อนพ้องในสังคมรอบข้าง ให้ได้มองโลกไกลออกไปเกินกว่าเดิม มองเห็นความจำเป็นของผู้อื่นมากขึ้น
ครึ่งปี บนความเคลื่อนไหว
จุดเริ่มต้นจากคนจำนวน 80 คน ในจำนวน 9,500 คน จาก 3 หมู่บ้านในตำบลนิคม รวมใจลงขันกันคนละ 200 บาท เป็นเงิน 16,000 บาท สมทบร่วมกับเงินสนับสนุนจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(พอช.) 55,000 บาท ก่อรูปร่างเป็น กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลนิคม มีคณะกรรมการ มีระเบียบปฏิบัติบังคับใช้ ประกาศจัดตั้งอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2551 เงินก้อนแรกคือ 71,000 บาท
ปี 2551-2552 : ช่วงของการลองผิดลองถูก ค้นหาวิธีปฏิบัติที่ต้องเลือก
ผ่านมา 11 ปีตัวเลขกลมๆ ณ.ปัจจุบันมีสมาชิก 683 คน จาก 12 หมู่บ้านในตำบลนิคม มียอดเงินในบัญชี 1,135,367.87 บาท เงินสดในมือ 3,182 บาท มีกรอบกำหนดการใช้จ่ายเป็นตัวชี้วัดว่า การกระจายเม็ดเงินชัดเจน ร้อยละ 60 เป็นส่วนของการจัดสวัสดิการ ร้อยละ 20 เป็นส่วนของงานในประเด็นการศึกษาและภัยพิบัติ และร้อยละ 20 เป็นส่วนของการบริหารจัดการ และเพื่อประเมินความเบี่ยงเบนของทิศทางก้าวเดิน
สำหรับความยั้งยืน สืบทอดและผองถ่ายประสบการณ์ให้คนรุ่นต่อมา เพื่อยืดอายุและสร้างสีสันในชุมชน จึงเป็นเรื่องจำเป็น
ที่ผ่านมาการประสานความร่วมมือองค์กรภาคี เป็นไปแบบเพื่อนช่วยเพื่อน เป็นเครือข่ายที่เกิดจากกลุ่มเพื่อนธรรมชาติ ที่มีแนวคิดและอุดมการณ์เดียวกันในการทำงาน ทุกคนมาทำงานร่วมกันในลักษณะของเครือข่ายโดยไม่มีผลประโยชน์ การติดต่อเชื่อมสัมพันธ์จึงเป็นแบบธรรมชาติ
บนความสำเร็จในความหมายที่เข้าใจ จากสัดส่วนจำนวนสมาชิกกับจำนวนประชากรตำบลเป็นตัวเลขที่ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน อัตราการขยายตัวของสมาชิกต่อปีก็เช่นกัน จึงเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณา แต่อีกด้านก็มองเห็นตัวตนของคนทำงานที่มุ่งมั่นเอาการเอางาน การเงินการบัญชีเป็นปัจจุบัน ตรวจสอบได้ มีการบันทึกรวบรวมพยานหลักฐานครบถ้วน มีการพบปะกันทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ
ส่วนสิ่งที่อยากจะเห็นและผลักดันให้เกิดขึ้นในเบื้องต้น คือ “การสร้างเครือข่ายในระดับอำเภอ” อย่างเป็นรูปธรรม มีการเชื่อมโยงฐานข้อมูลของแต่ละตำบลไว้ใน DATA ของจังหวัด เพื่อหนุนช่วยแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันและกัน ผลักดันให้เกิดความโปงใส เป็นปัจจุบันตรวจสอบได้ของการเงินการบัญชี อันนำไปสู่การเปิดพื้นที่ประชาสัมพันธ์ เครือข่ายกองทุนสวัสดิการระดับอำเภอ สามารถนำเสนอสถานะและความเคลื่อนไหวของเครือข่ายกองทุนฯ ในการประชุมประจำเดือนของกำนันผู้ใหญ่และท้องถิ่น ได้อย่างมีพลัง
การกำจัดวัชพืชออกจากกุดหนองสาธารณะ เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่กองทุนฯมีส่วนผลักดัน ให้การสนับสนุน
เส้นทางเลาะริมมูลที่คุณสามารถสัมผัสได้ถึงกลิ่นไอ..ร่องรอยของการต่อสู้….
เมื่อนำมาประกอบส่วน ระหว่างบทเรียนที่ผ่านมาที่ถูกถอดออกมาจากประสบการณ์การต่อสู้ในพื้นที่ ต้นทุนด้านภูมินิเวศน์ทามมูลที่เป็นเอกลักษณ์ วัฒนธรรมประเพณีที่สืบทอด และต้นทุนทางสังคมอื่นๆ ช่างสนองตอบต่อยุทธศาสตร์ของจังหวัดบุรีรัมย์ ได้อย่างลงตัวเสียนี่กระไร
สภาองค์กรชุมชนตำบลนิคมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะนำองค์กรไปสู่การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวิถีคนทามมูล เพื่อสร้างงานสร้างอาชีพให้กับคนในพื้นที่ ในนามสภาองค์กรชุมชนตำบลนิคม และบรรจุในวาระพิจารณาของการประชุมในเดือนกรกฎาคม 2562