ในการทำเกษตรอินทรีย์ คือ “ทางรอดมิใช่ทางเลือก” สภาองค์กรชุมชนตำบลโคกสะอาด ได้ยึดแนวทาง “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 มาประยุกต์ใช้เพื่อเป็นแบบอย่างในการดำรงชีวิต สามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม ส่งเสริมให้เกษตรกรมีงานที่ลดรายจ่ายมีรายได้เสริมแก่ครอบครัว รวมทั้งได้รับประทานอาหารอย่างปลอดภัย ปราศจากสารพิษทุกคนมีสุขภาพกายและจิตใจดี ปลอดภัยจากโรคภัยไข้เจ็บอย่างถ้วนหน้า
คณะกรรมการสภาองค์กรชุมชนตำบลโคกสะอาด จึงเห็นสมควรจัดอบรมสมาชิกได้ฝึกฝนเรียนรู้ทำเกษตรอินทรีย์และตั้งกลุ่มเกษตรอินทรีย์ให้ครบทั้งตำบล 50 คน/หมู่บ้าน ซึ่งทีมวิทยากรพื้นที่ในแต่ละหมู่บ้านที่สนใจ เรื่อง เกษตรอินทรีย์และนำผู้ที่สนใจหรือรักการทำเกษตรอินทรีย์จริงเข้าอบรมที่สวนเกษตรอินทรีย์ นางอำนวย ศรีคล้าย, ศูนย์เรียนรู้นายอิ่ม แก้วอัมพวา, และศูนย์เรียนรู้กลุ่มอีโต้น้อย หลังจากอบรมทฤษฎีที่ศูนย์เรียนรู้ ได้นำผู้เข้าอบรมไปดูแปลงต้นแบบเพื่อเป็นแบบอย่าง อยากดู อยากลอง อยากทำ “ท.ท.ท” (ทำทันที)
สำหรับแปลงเกษตรอินทรีย์ นางอำนวย ศรีคล้าย มีองค์ความรู้ในการทำเกษตรอินทรีย์ ตั้งแต่เริ่มลงปลูกจนถึงเก็บเกี่ยวได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถ้าเกษตรกรไม่มีที่ปลูกทำกิน แนะนำให้ปลูกในถุงดำ ถุงปุ๋ย ชนิดละ 3-5 ถุง เป็นต้น เพื่อความอยู่รอด ไม่ต้องไปซื้อพืชผักรถ ‘พุ่มพวง’ ตั้งมั่นปลูกทุกอย่างที่กิน กินทุกอย่างที่ปลูก นี่คือปณิธานของคนตำบลโคกสะอาด
ตำบลโคกสะอาด อยู่ห่างจากอำเภอลำปลายมาศ ไปทางทิศเหนือ ประมาณ 20 กิโลเมตร มีพื้นที่ประมาณ 3,031,250 ไร่ มีทั้งหมด 16 หมู่บ้าน จำนวนครัวเรือน 2,290 ครัวเรือน ประชากรทั้งหมด 10,010 คน ภูมิประเทศ เป็นที่ราบเรียบ มีพื้นที่ราบสูง ส่วนใหญ่โดยพื้นที่ด้านตะวันตกสูงกว่าด้านตะวันออกเล็กน้อย เนื่องจากเกษตรกรตำบลโคกสะอาดใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช และใช้ปุ๋ยเคมีเป็นส่วนมาก เพราะหาซื้อง่าย ใช้ก็ไม่ยาก เห็นผลเร็วทันใจ เป็นที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย ผลลัพธ์ทำให้การผลิตมีต้นทุนสูงมาก สุขภาพก็แย่ลงๆ อาหารที่ผลิตออกมาไม่ค่อยจะปลอดภัย ระบบนิเวศน์ก็ศูนย์หายไป หนี้สินก็เพิ่มขึ้น คณะกรรมการสภาองค์กรชุมชนจึงเห็นว่าควรจะหาวิธีการแก้ไขในการทำเกษตรทำอย่างไรจึงจะลดต้นทุนในการผลิตได้ และได้ตั้งกลุ่มเกษตรอินทรีย์ทุกหมู่บ้านในตำบล บ้านละ 50 คน และตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ตำบลโคกสะอาดขึ้นอย่างเป็นทางการ
เกษตรกรอบรมศูนย์เรียนรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง บ้านนายอิ่ม แก้วอัมพวา ประธานสภาฯ สวนเกษตรอินทรีย์ นางอำนวย ศรีคล้าย และศูนย์ปราชญ์กลุ่มอีโต้น้อย (พ่อผาย สร้อยสระกลาง) ซึ่งผู้ที่ผ่านการอบรมได้องค์ความรู้ไปทำที่แปลงของตัวเองมีการพัฒนาอาชีพให้ดีขึ้น สามารถลดต้นทุนในการทำเกษตรได้
จุดเริ่มต้นการทำเกษตรอินทรีย์
เมื่อมีการรวมกลุ่มทางภาครัฐ เช่น กรมพัฒนาที่ดินได้นำถังหมัก, กากน้ำตาล, ปูนขาว มาอบรมให้แก่สมาชิกแต่ละกลุ่มได้เรียนรู้ทดลองปฏิบัติเพิ่มขึ้น เกษตรอำเภอ; เกษตรจังหวัด วิทยาลัยชุมชนบุรีรัมย์ได้จัดซื้อวัสดุอุปกรณ์มาอบรมเพื่อพัฒนาสร้างเสริมประสบการณ์มากขึ้น ทำให้เกษตรกรมีกำลังใจ อยากทำเกษตรอินทรีย์และนำสินค้าที่ผลิตได้ไปขายในตลาดคลองถมในชุมชน และตลาดเซราะกราว
องค์การบริหารส่วนตำบลโคกสะอาด ให้สถานที่ในการอบรมและเป็นพี่เลี้ยงให้คำปรึกษาได้ตลอดเวลา มีเกษตรอำเภอมาหนุนเสริม เรื่อง องค์ความรู้เพิ่มเติม ส่วนเกษตรจังหวัดมาช่วยแนะนำองค์ความรู้การออกใบรับรองเกษตรอินทรีย์
เกษตรกรต้องปฏิบัติในแปลงของตัวเองด้วยความซื่อสัตย์ ที่แปลงต้องมีกันชน ต้องเลิกใช้ปุ๋ยเคมี, ยาฆ่าหญ้าให้ได้จึงจะได้ใบรับรองจากกรมวิชาการเกษตร ซึ่งจะมีใบรับรอง 2 อย่าง เช่น Jap คือ ปลอดภัยและใบรับรองเกษตรอินทรีย์ให้แต่ละกลุ่มช่วยตรวจและมีคณะกรรมการดูแลแนะนำในกลุ่มของตัวเองและส่งเสริมให้สมาชิกในกลุ่มฝึกอบรม, ศึกษาดูงาน
ใช้จุลินทรีย์ทดแทนสารเคมี ดีต่อสุขภาพ
ให้เกษตรกรที่สนใจการทำเกษตรอินทรีย์มาเรียนรู้ฝึกปฏิบัติสร้างความเข้าใจการทำเกษตรอินทรีย์ ต้องทำด้วยใจรัก มีความซื่อสัตย์และอดทน ดำรงชีวิต แบบพอมี พอกิน พอใช้
เริ่มแรกทำจุลินทรีย์หน่อกล้วย ใช้ต้นกล้วยสูง 1 เมตร สับละเอียด อัตราส่วน 3 กก. กากน้ำตาล 1 กก. หมัก 1 อาทิตย์ อัตราการใช้ 2 ช้อนต่อน้ำ 20 ลิตร ประโยชน์ บำรุงดิน กำจัดกลิ่นเหม็น
- ทำไตรโครเดอร์มา สูตรขยายแบบลูกทุ่ง เตรียมถังใส่น้ำ 20 ลิตร เทน้ำตาลทรายแดงลงไป 2 กก.ใส่หัวเชื้อ 2 ช้อน หมัก 48 ชั่วโมง อัตราการใช้ 3 ช้อน ต่อน้ำ 20 ลิตร ประโยชน์กำจัดเชื้อรา คนให้เข้ากัน
3.บิววาเรียแบบลูกทุ่ง เตรียมวัสดุ ใช้แป้งข้าวโพด 4 ขีด น้ำ 10 ลิตร น้ำตาลทรายแดง 1 กก. ต้มสุกยกลงเมื่อเย็นใส่หัวเชื้อบิววาเรีย 2 ช้อนแกง คนให้เข้ากันหมักไว้ 48 ชั่วโมง อัตราการใช้น้ำ 20 ลิตร ใช้บิววาเรียสูตรขยาย 2 ช้อนชา
4.บีทีแบบลูกทุ่ง ใช้นมถั่วเหลืองหรือน้ำเต้าหู้ต้ม 5 ลิตร ใส่น้ำตาลทรายแดง 1 กก. ใส่หัวเชื้อบีที 2 ช้อนแกง อัตราการใช้น้ำ 20 ลิตร: 2 ช้อนแกง กำจัดหนอน ห้ามฉีดใกล้ต้นหม่อนเก็บไปเลี้ยงต้นหม่อนจะตาย
5.ฮอร์โมนไข่สำหรับพืช ใช้ไข่ไก่ 5 กก. กากน้ำตาล 5 กก. ยาคูลท์ 1 ขวด แป้งข้าวหมาก 1 เม็ด ปั่นหมัก 14 วัน เร่งผลผลิต ผลิตตาดอก
6.สูตรอาหารจานด่วน ใช้จุลินทรีย์หน่อกล้วย 1 ลิตร นมจืด 3 ลิตร ฮอร์โมนไข่ 1 ลิตร กากน้ำตาล 1 กาก หมัก 14 วัน เร่งการเจริญเติบโตเร็วๆ ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น
การทำสูตรยูเรียน้ำ ใช้นมถั่วเหลือง 1 กก. สับปะรดหั่น 2 กก. น้ำซาวข้าว 10 ลิตร น้ำตาลทรายแดง 1 กก.จุลินทรีย์หน่อกล้วย สูตรหัวเชื้อ 1 แก้ว หมัก 14 วัน ใช้รดผัก 3-5 ช้อนแกงต่อน้ำ 20 ลิตร ประโยชน์ เร่งใบ ลำต้นให้เจริญเติบโตเร็ว
การทำยาฆ่าหญ้า อุปกรณ์ที่ใช้ ต้นกล้วยสับละเอียด 30 กก. น้ำ 50 ลิตร น้ำตาลทรายดง 2 กก. ยาคูลท์ 1 ขวด แป้งข้าวหมาก 1 เม็ด ดินประสิว 1 กก. ด่างทับทิม 1 ช้อนชา นำทุกอย่างผสมใส่ถัง คนทุกวันหมัก 7 วัน ใช้ได้ อัตราการใช้ 1 ลิตร : ใช้น้ำ 50 ลิตร (ฉีดฆ่าหญ้า)
การทำสูตรเร่งใหญ่ ใช้หัวปลีทำแบบจุลินทรีย์หน่อกล้วย ส่วนการทำสูตรเร่งยาว ให้ไส้ตันกล้วยทำเหมือนจุลินทรีย์หน่อกล้วย และสูตรอื่นๆ ยังมีอีกมากมาย ขอยกตัวอย่างแค่นี้ก่อนค่ะ
อีกอย่างที่ขาดไม่ได้ คือ การทำปุ๋ยหมักเงินล้าน
ใช้วัสดุในท้องถิ่น มีขี้วัว ใบไม้ ใบหญ้า การหมักกองผสมน้ำจุลินทรีย์หน่อกล้วย ไตรโคเดอร์มาอาหารจานด่วน อย่างละ 1 แก้ว คลุกเคล้ากัน กำดู ปั่นได้พอดีใช้ได้ ใช้พลาสติกคลุมไว้ 15-30 วัน ใช้ไม้แทงเป็นช่องอากาศได้ยิ่งดี เย็นเร็วใช้ได้เลย อัตราการใช้ 3 กก.: 1 ตารางเมตร พืชผักเจริญเติบโตเร็ว
ก่อนจะเพาะปลูกลืมไม่ได้ คือ ต้องเพาะต้นกล้า เสียบก่อน จึงนำไปปลูกได้ผลผลิตดีเยี่ยม สำหรับในการทำเกษตรอินทรีย์ สำหรับการทำดินเพาะ ต้องเตรียมวัสดุ เช่น ดินนา 1 ปีบ แกลบดำ 1 ปีบ ขุยมะพร้าว 2 ปีบ ขี้วัว 1 ปีบ รำอ่อน 1 กิโลกรัม น้ำ 10 ลิตร ไตรโคเดอร์มา จุลินทรีย์หน่อกล้วย อาหารจานด่วน อย่างละ 1 แก้ว ผสมคลุกเคล้าให้เข้ากัน หมักได้ 2 วัน หรือ 48 ชั่วโมง ก็นำมาเพาะต้นกล้าได้แล้ว
ฝึกอบรมให้สมาชิกที่สนใจรวมกลุ่มมาฝึกในการทำน้ำยาอเนกประสงค์ ให้เตรียมวัสดุ N70 1 กก. มะกรูด 2 กก. ต้มเดือดยกลง, มะละกอดิบ 2 กก. หั่นต้มเดือดยกลง พักไว้ให้เย็น ใช้เกลือ ½ กก. ผสมน้ำรวมใช้น้ำทั้งหมด 8 กก.
ขั้นตอนการทำน้ำมะกรูด 2 กก. มะละกอต้ม 2 กก. เกลือ ½ กก. ผสมน้ำ 2 กก.น้ำหมักมะกรูด 2 กก. (เท N70 ใส่ภาชนะ ค่อยๆเติมน้ำเกลือคนๆ ค่อยๆ เอาน้ำมะกรูด มะละกอเติมตามจนหมด ใส่โซดา 1 ขวด กวนๆ เข้ากันเสร็จ) ประโยชน์ เป็นสารจับใบ ใช้กับพืชผัก, สามารถใช้ล้างจาน, ซักผ้าได้, ขัดห้องน้ำ, เช็ดกระจก เป็นต้น
เทคนิค/ กลยุทธ์
การที่จะสร้างกลุ่มเกษตรอินทรีย์ให้สำเร็จได้สภาองค์กรชุมชน, ท้องที่, ท้องถิ่น เกษตรอำเภอ เกษตรจังหวัด พัฒนาที่ดิน วิทยาลัยชุมชนบุรีรัมย์ ร่วมกันหนุนเสริมเรื่องงบประมาณ และทดลองในแปลงให้เป็นรูปธรรม คัดเลือกแปลงที่เป็นเกษตรอินทรีย์แต่ละหมู่บ้าน เป็นที่ศึกษาดูงาน และเป็นต้นแบบในการเรียนรู้ได้ตลอดเวลา
บุคคลที่จะทำแปลงเกษตรอินทรีย์ได้ต้องมีวินัย อุสาหะมากมาย ทั้งขยัน อดทน อดกลั้น ทดลองทำให้ได้ ลองผิด ลองถูก สู้สู้ คนเราถ้าอดทนฝึกทำบ่อยๆ ก็จะได้ผลผลิตเกิดคาด เมื่อผลผลิตที่เราทำได้ จิตใจสบาย ปลื้มใจและภูมิใจ อยากให้มีคนมาดู มาชิม ในสวนของตนเอง
ผลผลิต/ บทเรียน สิ่งที่เกิดขึ้น
เมื่อได้ผลผลิตจากการทำเกษตรอินทรีย์ มีพืชผักในสวนเพิ่มมากขึ้นและปลอดภัย สมาชิกรวมกลุ่มไปขายที่ตลาดชุมชน (คลองถม) ตลาดโรงพยาบาลลำปลายมาศ ตลาดเซราะกราวบุรีรัมย์
ปี 2561 มีปัญหาเรื่อง การผลิตพืชจากสวนทำไม่ทัน เพราะเกษตรกรมีปัญหาเรื่องน้ำ ปีนี้ฝนแล้ง ข้าวไม่ได้ มันก็ไม่มี หันมาพึ่งอินทรีย์ก็ไม่มีน้ำรด ผู้ใหญ่บ้านประกาศห้ามผลิตผักขาย เกษตรกรใจหดหู่ จะทำอย่างไร แก้ปัญหาเจาะน้ำบาดาล ก็ช้าเหลือเกิน พึ่งพาฝนจากธรรมชาติก็ไม่ได้ตามฤดูกาล น้ำน้อยในบ่อที่ขุดไว้ก็ไม่มี
แนวทางการแก้ไขปัญหาให้ปลูกพืชผักใส่ถุงดำ, ถุงปุ๋ย เอาน้ำจากถังล้างชาม, น้ำซักผ้ามารดพอได้เป็นพืชผักสวนครัวรั้วกินได้ที่หน้าบ้าน มีนิดหน่อยก็ยังดีกว่าซื้อจากรถพุ่มพวง มีคณะกรรมการสภาฯ เยี่ยมบ้านเป็นกำลังใจ ให้สู้ไปก่อน หมู่บ้านชุมชนอื่นก็เจอภัยแล้งเหมือนกับเรา และปีนี้ร่วมกันวางแผนสร้างกลุ่มนาแปลงใหญ่ และกลุ่มเพาะเห็ด เพื่อรองรับอาชีพเสริมต่อไป
นางสมหมาย สำเริงรัมย์ มีประสบการณ์ในการอบรมและนำเอาความรู้จุลินทรีย์หน่อกล้วย และไตโคเดอร์มาไปทดลองทำในแปลงของตนเอง ทำให้ดินร่วนซุย และพืชผักที่ปลูกไม่เสียหาย เป็นเชื้อรา
นางติ้ม รัชนี ผู้เข้าอบรมที่เป็นเกษตรต้นแบบกลุ่มอีโต้น้อย “ค่อยๆ ปรับใช้ แรกๆ ก็ทำแบบปลอดภัยต่อมาก็ทำอินทรีย์จ้า ที่เรียนรู้ไปลดค่าใช้จ่าย เพิ่มรายได้มีมากจ้า”
นายสุรินทร์ ศรีคล้าย ป่วยเป็นโรคหอบหืดมาหลายปีทุกวันต้องกินยาจากหมออย่างต่ำวันละ 1 เม็ด โรคนี้หายใจลำบาก ทุกคืนต้องตื่นขึ้นมาพ่นยาใช้ยาหมอจนเป็นกิจวัตรประจำวันเสียแล้ว “นี่เราต้องกินยาและพ่นยาตลอดชีวิตหรือนี่ เราจะมีทางหานจากโรคนี้มั้ยน้อ” นางอำนวย ศรีคล้าย แม่บ้านรู้สึกสงสารพ่อบ้านจับใจ คิดในใจเสมอว่า “เราต้องรักษาพ่อบ้านให้หายให้ได้” ได้ทดลองทำน้ำหมักชีวภาพ ปุ๋ยชีวภาพ และจุลินทรีย์สูตรต่างๆ และทำฮอร์โมนไข่สำหรับสุขภาพ อาบน้ำแบบวารีบำบัดกับพืชผักปลูกเอง น้ำยาล้างจานทำเอง ซักผ้าทำเอง เป็นต้น
นางนิยม อิ่มกระจาง ชวนมาคุยบ่อยๆๆ ว่ามีปัญหา เรื่องคันที่เท้า เป็นโรคน้ำกัดเท้าหายามาทาก็ไม่หาย ก็แนะนำให้เอาสูตรปราบโรคไปลองทาดู ปรากฏว่า หายคันและไม่เป็นอีกเลย ดีใจที่หายมาขอบคุณ “ นี่คือยาสมุนไพรที่วิเศษจริงๆ เป็นยาสมุนไพรที่รักษาได้หลายโรคเชียวน่า เช่น กำจัดกลิ่นเหม็น,ไล่ยุง,เห็ดไรต่างๆ,เหา,รักษาการปวดฟัน,รักษาแผลสด เป็นต้น
นายสุพิน หนูโกรกกลาง เป็นช่างในชุมชนมีปัญหาด้านภูมิแพ้ คันตามเนื้อตัวรักษาตัวจากยาหมอโรงพยาบาลมาหลายปีไม่หาย นางอำนวย ศรีคล้าย จึงแนะนำว่า “ลุงพิน ลงมาเอายาสมุนไพรสูตรปราบโรคไปทาดูนะ” พอตื่นเช้ามา เล่าให้ฟังว่า “ผมหายแล้วครับ ยาสมุนไพรสูตรนี้ดีจริงๆ ผมบ่ขอเอามาลองทาอีกดอกเด้อ แต่ผมจะขอซื้อเลยครับ”
หลังจากพูดคุยกับผู้ที่มีปัญหาด้านสุขภาพของตนที่มีโรคประจำตัวแล้วส่วนมากมาจากการกินอาหารไม่ปลอดภัย ขาดการออกกำลังกาย กินสมุนไพรไม่รู้สรรพคุณทางยา การปฏิบัติตัวกินอาหารไม่ตรงเวลา การทำเกษตรที่เคยทำเคมีก็ให้ลดละเลิก ค่อยๆลด ค่อยๆทำสิ่งที่ตามมา สุขภาพเราจะไม่มีโรคมีภัยมาเบียดเบียน ทำน้ำหมักไว้ใช้เอง ลดตนทนการผลิต ใช้วัสดุธรรมชาติในท้องถิ่นให้มีประโยชน์สูงสุด เพื่อความอยู่รอด ทำเกษตรอินทรีย์เป็นทางรอด มิใช่ทางเลือก แค่นี้ ชีวิตเราจะมีความสุข ฐานะมั่นคง มั่นคั่งยั่งยืน ชั่วรุ่นสู่รุนตลอดกาลนาน