“ขยะทองคำ หรือ ขยะพิษอีเลคทรอนิกส์ สร้างรายได้ เศรษฐกิจดี สุขภาพ ต้องดีด้วย” เป็นคำพูดที่นายโกสุม มนัสสิลา กำนันตำบลแดงใหญ่ ได้พูดไว้เสมอเมื่อมีการประชุม
พื้นที่ของตำบลแดงใหญ่ตั้งอยู่ห่างจากตัวอำเภอบ้านใหม่ไชยพจน์ จังหวัดบุรีรัมย์ ไปทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือมีทั้งหมด 9 หมู่บ้าน ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทางด้านการเกษตรคือ การทำนาและด้านการปศุสัตว์บางส่วน ด้านการเกษตรชาวนาต้องอาศัยน้ำฝนจากธรรมชาติเพียงอย่างเดียวซึ่งก็มักจะประสบปัญหาภัยแล้งฝนทิ้งช่วงเป็นประจำทุกปีทำให้ผลผลิตจากข้าวของชาวบ้านเสียหายก่อให้เกิดปัญหาหนี้สินตามมา
สภาพปัญหาภัยแล้ง
ชาวบ้านส่วนหนึ่งจึงหาทางออกโดยการหารายได้เพิ่ม นั้นคือการหาอาชีพเสริมเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับครอบครัว จึงได้ทำอาชีพค้าของเก่า โดยการค้าของเก่าเกี่ยวกับเศษวัสดุเหลือใช้เช่นเศษกระดาษ ขวดพลาสติก ขวดแก้ว เศษเหล็ก ฯลฯ ซึ่งก็สร้างรายได้ให้แก่ชาวบ้านมากพอสมควรเมื่อกำไรจากการค้าของเก่าเพิ่มปริมาณมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ต่อมาข่าวหรือการพูดปากต่อปากจึงทำให้อีกหลายๆครอบครัวได้ออกเร่หาของเก่าเช่นกัน เมื่อการออกเร่หาของเก่าที่เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากการแข่งขันก็เริ่มขึ้นเช่นกันการหาของเก่าก็หายากขึ้น ชาวบ้านจึงเริ่มรับซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าเครื่องมือด้านอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาด้วย เริ่มแรกเป็นธุรกิจส่วนตัวของบางครอบครัว จนปัจจุบันกลายมาเป็นธุรกิจหลักของหมู่บ้าน กล่าวได้ว่าทำเกือบทุกครัวเรือน ประมาณ 30-40% ทั้งนี้ปัญหาที่เกิดขึ้นคือขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่สามารถจำกัดได้อย่างถูกวิธีกลายมาเป็นขยะที่ล้นบ้านของครัวเรือนชาวบ้านที่ทำธุรกิจนี้ได้นำขยะไปทิ้งที่บ่อขยะส่วนร่วมซึ่งเป็นบ่อทิ้งขยะทั่วไปของหมู่บ้าน และได้มีการลักลอบเผาขยะดังกล่าวซึ่งก่อให้เกิดปัญหาฝุ่นควันจากการเผา เช่น โฟมตู้เย็น สายทองแดง จอโทรทัศน์ ฯ ทั้งนี้ยังมีปัญหามลภาวะในดินเกิดขึ้นด้วย
การลักลอบเผาขยะโฟม/ขยะอีเลคทรอนิกส์
ปัญหาที่เกิดขึ้นต่อมาคือผลกระทบต่อสุขภาพของชาวบ้านครัวเรือนอื่นๆแม้จะไม่ได้ประกอบอาชีพนี้เลยก็ตาม เช่น ปัญหาโรคหอบหืด ปวดเมื่อยตามร่างกาย และไม่สามารถใช้น้ำในการบริโภคได้ ซึ่งจำเป็นต้องซื้อน้ำดื่มมาใช้เพื่อบริโภคและอุปโภค
ทั้งนี้เมื่อปัญหาเกิดขึ้นในชุมชนการแก้ไขปัญหาของชุมชนเองได้มีการดำเนินการคือ ฝ่ายปกครอง นำโดยฝ่ายกำนันและผู้ใหญ่บ้านจึงได้ประชุมคณะกรรมการหมู่บ้านเพื่อร่วมกันหาแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวการประชุมร่วมหารือหาทางแก้ไขปัญหา
โดยได้ประชุมกับผู้ค้าของเก่าและชาวบ้านเพื่อหาทางออกร่วมกันโดยไม่ให้มีผลกระทบกับการประกอบอาชีพของชาวบ้าน แต่ก็ไม่สำเร็จทางผู้นำชุมชนและคณะกรรมการหมู่บ้านจึงได้หารือกับสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลแดงใหญ่จึงจัดให้มีการประชุมให้ความรู้เกี่ยวกับการกำจัดและการป้องกันอันตรายที่เกิดจากขยะเหล่านี้ให้แก่ชาวบ้าน และทั้ง 5 หมู่บ้านได้วางแนวทางให้ครัวเรือนที่ทำธุรกิจเหล่านี้เริ่มดำเนินการจัดการแก้ไขปัญหา และทางหมู่บ้านได้รับงบประมาณจากโครงการไทยนิยมยั่งยืน จำนวนหนึ่งล้านบาท เพื่อจัดทำโรงเก็บขยะ และทางองค์การบริหารส่วนตำบลแดงใหญ่กำลังทำเรื่องขอใช้พื้นที่ให้ถูกต้องเพื่อจะได้ดำเนินการได้ในระยะยาวและยั่งยืนต่อไป
อาคารที่พักขยะโครงการไทยนิยมยั่งยืน
ในพื้นที่ของตำบลแดงใหญ่ มี 2 หมู่บ้านที่เป็นพื้นที่นำร่องเกี่ยวกับการจัดการปัญหาขยะที่เกิดขึ้น นั่นคือ หมู่ที่ 7 และ 8 ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่นำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์มากที่สุด และกำลังจะเริ่มดำเนินการในการแก้ไขปัญหา
ด้วยเพราะตำบลแดงใหญ่และตำบลใกล้เคียงได้รับผลกระทบจากการนำเข้าและการเผาขยะอิเล็กทรอนิกส์นี้ ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ท้องถิ่น ผู้ประกอบการและชาวบ้านจึงไม่นิ่งนอนใจ จึงได้ร่วมกันหารือเพื่อหาแนวทางแก้ไขเป็นประจำทุกปีเพราะเป็นห่วงปัญหาด้านสุขภาพ และการใช้ชีวิตประจำวันของประชาชนในพื้นที่และชุมชนใกล้เคียงชุมชนประสบปัญหาด้านการอุปโภค-บริโภค ปัญหาการเจ็บป่วยเรื้อรัง ด้านกลิ่นและมลพิษจากการเผาเป็นประจำทุกปีดังนั้นทางชุมชนร่วมกับภาครัฐและผู้ประกอบการและประชาชนในพื้นที่ได้รับผลกระทบจึงได้ร่วมกันคิดริเริ่มแก้ไขปัญหาในเบื้องต้น เพราะประชาชนในพื้นที่เกิดการเจ็บป่วยและได้รับการร้องเรียนอย่างต่อเนื่องทั้งในและนอกพื้นที่เหมือนดั่งคำโบราณที่ได้กล่าวไว้ว่า ไม่เห็นโลงศพย่อมไม่หลั่งน้ำตา เมื่อหลายๆ ครอบครัวเริ่มมีอาการเจ็บป่วย มีปัญหาด้านสุขภาพ ทางผู้นำท้องที่ท้องถิ่นได้ประชุมปรึกษาหารือเพื่อหาแนวทางแก้ไข เพื่อให้ประชากรในพื้นที่มีสุขภาพที่ดีขึ้น น้ำน้อยย่อมแพ้ไฟฉันใดก็ฉันนั้นแม้ทางผู้นำชุมชนผู้ประกอบการ และประชาชนทั่วไปหรือทั้งหน่วยงานจากทางองค์การบริหารส่วนตำบลแดงใหญ่จะหาวิธีแก้ไขก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้โดยลำพังเพราะมีปัญหาทั้งด้านงบประมาณ ด้านความรู้ในการบริหารจัดการที่ถูกต้องและถูกวิธี องค์การบริหารส่วนตำบลแดงใหญ่จึงได้ประสานงานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด
การประชุมแบบบูรณาการเพื่อหาทางแก้ไข
ทั้งนี้จากการบูรณาการระหว่างหน่วยงานฝ่ายปกครอง ท้องถิ่น สาธารณะสุขสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จังหวัดบุรีรัมย์ และสำนักงานควบคุมโรคที่9 นครราชสีมา ได้มาสนับสนุนอบรมให้ความรู้ในการป้องกันสารอันตรายได้มาอบรมให้ความรู้และเทคนิควิธีการป้องกันในด้านต่างๆดังนี้เช่น
- สำนักงานสาธารณะสุขอำเภอ มาอบรมให้ความรู้ด้านการป้องกันสุขภาพ
- สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มาอบรมให้ความรู้ด้านการคัดแยกขยะต้นทาง
- สำนักงานควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา มาอบรมให้ความรู้ด้านการป้องกันอันตรายจากสารขยะอิเล็กทรอนิกส์รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณะสุขตรวจเยี่ยมบ้านผู้หาของเก่า เมื่อวันที่ 12/7/2015
การร่วมมือระหว่างประชาชนกำนันผู้ใหญ่บ้าน องค์การบริหารส่วนตำบลแดงใหญ่ ภาคีเครือข่ายทุกองค์กรในพื้นที่และสมาชิก อสม. การแก้ไชปัญหาจึงเกิดขึ้น อีกทั้งยังมีหน่วยงานอื่นๆ ได้ยื่นมือเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาอีกทางเช่น
- หน่วยงานฝ่ายปกครองอำเภอบ้านใหม่ไชยพจน์ กำนัน ผู้ใหญ่บ้านตำบลแดงใหญ่
- องค์การบริหารส่วนตำบลแดงใหญ่
- หน่วยงานสาธารณะสุขอำเภอ
- สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จังหวัดบุรีรัมย์
- สำนักงานควบคุมโรคที่9 นครราชสีมา
- ศูนย์วิจัยมลพิษทางอากาศ
โดยทุกๆหน่วยงานก็มีการแบ่งหน้าที่รับผิดชอบออกอย่างชัดเจน เช่น หน่วยงานฝ่ายปกครองมีหน้าที่ ประชาสัมพันธ์และประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้ององค์การบริหารส่วนตำบลแดงใหญ่ มีหน้าที่สนับสนุนงบประมาณหน่วยงานสาธารณะสุขอำเภอ และโรงพยาบาลจุฬาฯ มีหน้าที่ อบรมให้ความรู้ในการป้องกัน และคัดกรองสารตกค้างในเลือด สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จังหวัดบุรีรัมย์ มีหน้าที่ กำหนดพื้นที่ทิ้งและกำจัดขยะให้ถูกวิธีสำนักงานควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา มีหน้าที่ ให้ความรู้และการป้องกันอันตรายจากสารพิษ
รายได้ดี เศรษฐกิจดี สุขภาพต้องดีด้วย หลายๆครั้งที่ นายโกสุม มนัสสิลา กำนันตำบลแดงใหญ่ มักจะพูดไว้เสมอเมื่อมีการประชุม อาชีพการหาของเก่าก่อนเคยเป็นแค่อาชีพเสริมของชุมชนของเรา แต่ทุกวันนี้กลายเป็นอาชีพหลักไปเลยก็ว่าได้ เพราะว่าจากรายได้หรือผลตอบแทนอันมหาศาลพี่น้องเลยไม่มองเห็นพิษภัยที่ตามมาด้วยทั้งภาครัฐภาคเอกชนได้ทุ่มทั้งงบทั้งกำลังกายกำลังใจไปให้ไปสนับสนุนในการแก้ไขปัญหาขยะพิษของชุมชน ซึ่งเกิดจาก ความเห็นแก่ตัวของคนบางกลุ่ม ผมเองก็ไม่ได้ห้ามการประกอบอาชีพนี้เพราะมันเป็นอาชีพที่ทำรายได้เข้าชุมชนวันละหลายล้านบาทต่อเดือน แต่เมื่อท่านมีรายได้ก็ควรคืนกำไรแบ่งกำไรคืนแก่ชุมชนบ้าง อีกทั้งทางองค์การบริหารส่วนตำบลแดงใหญ่ โดยนายอมร แตบไธสง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแดงใหญ่ ก็ได้ติดตามแก้ไขร่วมกันมาโดยตลอดโดยมอบหมายให้ นายกฤติณรงค์ สวัสดิผล นักพัฒนาชุมชน องค์การบริหารส่วนตำบลแดงใหญ่ ได้ติดตามลงพื้นที่และประสานงานทุกหน่วยงานเกี่ยวข้องมาอบรมให้ความรู้ด้านต่างๆแก่ประชาชนโดยตลอดอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ศูนย์วิจัยมลพิษทางอากาศ ได้ไปพูดคุยกับพ่อหนูกัน เตยไธสง ผู้ค้าของเก่ารายใหญ่ในบ้านโนนเห็ดไค ซึ่งได้กล่าวว่า ไม่เคยมองขยะเป็นขยะเหมือนคนทั่วไปเขามองกันแต่การมีอยู่มีกินมีบ้านมีรถมีที่นาและอีกหลายอย่างที่มีก็เพราะทำขยะพวกนี้แล้วจะเรียกขยะธรรมดาไม่ได้แต่ขอเรียกว่า “ขยะทองคำ”จากการลงพื้นที่ของศูนย์วิจัยมลพิษทางอากาศ พบว่าส่วนมากในความคิดของผู้ค้ามักไม่ค่อยจะสนใจในเรื่องความปลอดภัยจากพิษภัยของสารต่างๆในขยะเท่าใดนักทางผู้นำฝ่ายปกครองก็ได้นำตัวอย่างที่เกิดขึ้นในชุมชนไปเล่าไปพูดในที่ประชุมบ่อยๆว่า จากอดีตที่บ้านเราไม่เคยได้ซื้อน้ำดื่มแบบเป็นถังมาดื่ม ก็ต้องมาซื้อ จากที่อดีตบ้านเราเคยมีกุ้งหอยปูปลาไว้หากินแบบง่ายๆทุกวันนี้หาไม่มี จากอดีตที่เคยขุดน้ำบ่อเพื่อมาบริโภคได้ยามหน้าแล้ง ทุกวันนี้ทำไม่ได้ จากอดีตหลายๆคนแม้อายุ 70ถึง80 ปีไม่เคยต้องไปหาหมอไม่เคยเจ็บป่วยอะไรเลยทุกวันนี้อายุไม่ถึง 40 ปีต้องไปหาหมอรับยาทุกเดือน พี่น้องคิดว่ามันน่าจะเกิดมาจากอะไร จริงอยู่พี่น้องอาจคิดว่าไม่เป็นไรหรอกเจ็บป่วยฉันมีเงินไปหาหมอได้ แต่มีเงินมากเท่าไหร่ก็ไม่สามารถซื้อความตายได้ตายไปแล้วเงินทองเอาไปได้ไหมมีแต่ลูกหลานจะมาทะเลาะแย่งแบ่งสมบัติอันมหาศาลของพ่อแม่กันบางคนแบ่งไม่ลงตัวถึงกับฆ่ากันตายก็มีให้เห็นในข่าวเป็นประจำ อีกอย่างเมื่อบ้านเรามันเกิดมลพิษต่างๆร่างกายก็เจ็บป่วยต้องเข้าโรงบาลทุกวัน เงินช่วยอะไรได้บ้าง มันคุ้มแล้วหรือ หากคุณหมอเจ็บป่วยขึ้นมาบ้างจากผลกระทบจากเหตุนี้ใครจะรักษาพี่น้องได้ สู้พวกเราหันมาใส่ใจเรื่องสุขภาพที่ดีของร่างกายกันดีไหม
จากนั้นมาเมื่อทางด้านคุณหมอจากสาธารณะสุขไปพูดคุยบ้างหลายๆฝ่ายเข้าไปคุยบ้างก็เริ่มหันมาใส่ใจด้านสุขภาพกันมากขึ้นหันมาทำตามคำแนะนำด้านการป้องกันการจัดการสถานที่คัดแยกให้ดีขึ้น แต่ก็ยังแก้ได้ไม่ดีเท่าที่ควรเนื่องจากคนหมู่มากบางคนก็ไม่สนใจอะไรเลยก็ยังคงไปเผาอยู่ดี ทางชุมชนได้รับงบประมาณจากโครงประชารัฐไทยนิยมยั่งยืน หมู่บ้านละ สองแสน บาทซึ่งมี 5 หมู่บ้านที่มีแนวคิดตรงกันจึงรวมกันสร้างอาคารที่พักขยะขึ้น 1หลัง ด้วยงบ 1 ล้านบาทพอดี เพื่อจะได้คัดแยกและจะได้นำไปกำจัดที่เตากำจัดที่ถูกต้องที่จังหวัดสระบุรีต่อไป โดยได้ตั้งเป้าหมายจากผู้ค้าของเก่าในพื้นที่เป็นหลักเพราะเป็นผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรง ด้วยการมีข้อแม้ว่าหากใครที่ไม่ทำตามที่ได้มีมติกำหนดในที่ประชุมว่าต้องนำขยะไปทิ้งในที่กำหนดไว้อาจจะต้องใช้บทลงโทษข้องบังคับตามกฏหมายซึ่งก็หมายความว่าจะไม่ได้หาของเก่าอีกต่อไป จากที่ทุกๆภาคส่วนพยายามหาเหตุและผลไปพูดคุยไม่ว่าทางด้านกำนันผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกรองอำเภอ ทางสาธารณะสุข หน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้องได้ร่วมมือกันความร่วมมือจากพี่น้องในชุมชนร่วมกันพยายามแก้ไขปัญหากันอย่างต่อเนื่องและจริงจังจริงใจที่จะร่วมแก้ไขด้วยจิตอาสาจิตสำนึกที่ดี
แนวคิดนี้จึงเริ่มมองเป็นเป็นรูปร่างเป็นรูปธรรม เพราะผู้ที่ใส่ใจปฏิบัติตามคำแนะนำของหน่วยงานต่างๆที่มาอบรมให้ความรู้ก็เริ่มมีสุขภาพที่ดีขึ้นตามลำดับ ส่วนผู้ที่ยังลังเลก็เริ่มหันไปปรับปรุงสถานที่เริ่มมีการใส่หน้ากากอนามัยมากขึ้น การเผาก็ลดลง หากผู้ค้าตระหนักและทำตามตลอดไปความเคยชินก็จะเกิดขึ้น ทุกหน่วยงานคอยติดตามผลตลอดเวลาต่อเนื่องแบบนี้ตลอดไปความยั่งยืนต้องมีให้เห็นย่างแน่นอน สุดท้ายความอยู่ดีกินดีไร้โรคภัยก็จะกลับมาสู่ชุมชนตลอดไป
เขียนโดย นายวัชรพงศ์ มารศรี
ผู้ให้ข้อมูล นายโกสุม มนัสสิลา กำนันตำบลแดงใหญ่