รู้จักตำบลบางงาม
จากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ว่า แต่เดิมมีชาวบ้านได้อพยพมาจากหลายพื้นที่มาตั้งถิ่นฐาน ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก เนื่องจากเป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์เพาะปลูกอะไรก็เจริญงอกงามจึงได้ชื่อว่า “บ้านบางงาม” จวบจนกระทั่งมีการรวมเขตการปกครองและมีการเลือกตั้งกำนัน ซึ่งท่านหมื่นทึก อินทรโพธิ์ ได้รับเลือกเป็นกำนันคนแรก และเป็นคนที่อาศัยอยู่ที่บ้านบางงามมาแต่ดั้งแต่เดิมจึงให้ชื่อว่าตำบลบางงาม
การก่อเกิดกลุ่ม/องค์กรขับเคลื่อนในพื้นที่
สภาองค์กรชุมชนตำบลบางงาม จัดตั้งเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2559 โดยผู้นำชุมชนและผู้นำกลุ่มองค์กรต่างๆ ในตำบลบางงาม การดำเนินงานมีการประชุมกลุ่มและองค์กรต่างๆ ในชุมชน เช่น วิสาหกิจชุมชนร้านค้าชุมชนบ้านท่าคอย, วิสาหกิจชุมชนผลิตและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าวบ้านท่าคอย, กลุ่มออมทรัพย์,กองทุนหมู่บ้าน, กรรมการหมู่บ้านร่วมหน่วยงานต่างๆ เช่น อบต.บางงาม, เกษตรอำเภอ, กศน., พัฒนาชุมชนเพื่อสรุปผลงานและแจ้งข้อมูลข่าวสารต่างๆ ทุกวันที่ 5 ของเดือน และได้ดำเนินการจัดทำแผนพัฒนาตำบลโดยประสานหน่วยงานราชการและเอกชนที่เกี่ยวข้อง หลังจากนั้นมีการประสานผู้นำชุมชนและสมาชิกในชุมชนเพื่อเข้าร่วมทำการวิเคราะห์ศักยภาพของตำบล พร้อมทั้งจัดทำเป็นแผนพัฒนาตำบลบางงาม เพื่อเป็นแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาและเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน โดยมีเป้าหมาย “คนตำบลบางงามมีคุณภาพชีวิตที่ดีปลอดภัยทั้งชีวิตและทรัพย์สิน” วิสัยทัศน์ของตำบล “คนตำบลบางงามมีสุขภาพดี รู้รักสามัคคี มีวัฒนธรรม อยู่ดีมีสุข” และมี ยุทธศาสตร์การพัฒนาตำบล ได้แก่ 1) พัฒนาและสร้างความยั่งยืนของเศรษฐกิจชุมชน 2) ส่งเสริมพัฒนาและสร้างความเข็มแข็งชุมชน และ 3) ส่งเสริมพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
แผนพัฒนาชุมชนท้องถิ่น ตำบลบางงาม
ภายหลังการวิเคาะห์ศักยภาพพื้นที่ ความต้องการในการแก้ไขปัญหา นำมาสู่การจัดทำแผนพัฒนา 4 ด้าน ได้แก่ ด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีรายละเอียดของกิจกรรมของแผนแต่ละด้าน ดังนี้
ด้านเศรษฐกิจ การลดต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตร การเพิ่มมูลค่าสินค้าการเกษตร ลดปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือน การหาตลาดรองรับผลิตภัณฑ์ชุมชน แผนการบริหารจัดการน้ำ
ด้านสังคม การจัดหาที่อยู่แก้ไขปัญหาผู้ยากไร้ การลดอุบัติเหตุจราจรทางถนน การลดปัญหายาเสพติด การดูแลผู้สูงอายุให้มีสุขภาพดี การพัฒนาสถานศึกษาให้มีคุณภาพ การแก้ปัญหาแหล่งมั่วสุมของเยาวชน
ด้านสิ่งแวดล้อม จัดหาแหล่งน้ำประปาเพื่อบริโภค จัดหาแหล่งน้ำประปาเพื่อบริโภค ลดปัญหาฝุ่นละอองจากโรงสีข้าวและลานตากข้าว ลดการเผาวัสดุทางการเกษตร ส่งเสริมการจัดการขยะและการทิ้งขยะให้เป็นที่เป็นทาง ลดปัญหากลิ่นเน่าเหม็นจากการเลี้ยงสัตว์ เช่น เป็ด ไก่ ปลูกต้นไม้ปรับภูมิทัศน์และลดปัญหาโลกร้อน
จากแผนพัฒนาภาคประชาชนสู่การบูรณาร่วมกับหน่วยงาน
จากการจัดทำแผนของภาคประชาชน นำไปสู่การเชื่อมโยงการแก้ไขปัญหา พัฒนาพื้นที่ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ อาทิ องค์การบริหารส่วนตำบลบางงามให้การสนับสนุนงบประมาณประสานงานกับหน่วยงานต่างๆและช่วยในการจัดทำแผนพัฒนาตำบล พัฒนาชุมชน ให้ความรู้การฝึกอาชีพและจัดตั้งกลุ่มอาชีพ เช่น กลุ่มสัมมาชีพพร้อมสนับสนุนงบประมาณ สำนักงานอำเภอศรีประจันต์ ประสานงานโครงการจากรัฐบาลสู่ชุมชน เช่นโครงการประชารัฐ สำนักงานเกษตร ให้ความรู้ในด้านการประกอบอาชีพด้านเกษตรประสานงานโครงการจากรัฐบาลสู่ชุมชนเช่นการขึ้นทะเบียนเกษตรกร,โครงการสร้างรายได้ กศน. ส่งเสริมให้ความรู้และฝึกปฏิบัติในด้านอาชีพ และ รพ.สต. ดูแลสุขภาพและพลานามัยคนในชุมชน เป็นต้น
แปลงแผนสู่ ชุมชน ถนน ปลอดภัย
จากการวิเคราะห์ศักยภาพพื้นที่พบว่าถนนในตำบลบางงามมีจุดเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุหลายจุด และจากการสำรวจสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุ พบว่าส่วนใหญ่เกิดจากผู้ใช้รถใช้ถนนไม่ชำนาญเส้นทาง และจุดเสี่ยงไม่มีสัญญาณไฟจราจรหรือเครื่องหมายเตือน รวมทั้งผู้ใช้รถใช้ถนนยังขาดวินัยและไม่ร่วมมือในการเคารพกฎจราจร จากปัญหาที่เกิดขึ้นที่ประชุมสภาองค์กรชุมชนตำบลบางงาม ได้มีแนวทางในการแก้ไขปัญหาโดยประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการร่วมกันแก้ปัญหาดังกล่าว เช่น อบต.บางงาม สถานีตำรวจภูธรศรีประจันต์ แขวงการทาง ชลประทาน และทางหลวงชนบท เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัย พร้อมทั้งเพิ่มจำนวนป้ายบอกทาง ทำเครื่องหมาย ตีเส้นจราจร เพื่อให้ชะลอรถในจุดเสี่ยง ติดตั้งสัญญาณไฟกระพริบเตือนจุดแยกจุดร่วม และติดตั้งสัญญาณไฟจราจร (ไฟเขียว/ไฟแดง)
การเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินดังกล่าว ได้รับการสนับสนุนการดำเนินงานจากหน่วยงานต่างๆ อาทิ โดยองค์การบริหารส่วนตำบลบางงาม ได้จัดให้มีการอบรมให้ความรู้ด้านวินัยจราจร การใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัย ทางหลวงชนบทสุพรรณบุรี ดำเนินการจัดทำช่องทางจราจร และตีเส้นจราจร เพื่อชะลอความเร็วรถในจุดเสี่ยง พร้อมทั้งติดตั้งป้ายสัญลักษณ์บอกทาง แขวงการทางสุพรรณบุรี ดำเนินการติดตั้งสัญญาณไฟกระพริบเตือน และติดตั้งสัญญาณไฟจราจร (ไฟเขียว/ไฟแดง)
ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นภายหลังจากการดำเนินโครงการแก้ไขปัญหาดังกล่าว เมื่อเปรียบเทียบสถิติในปี 2561 พบว่ามีการเกิดอุบัติเหตุจำนวน 11 ครั้ง มีผู้เสียชีวิตจำนวน 5 ราย และถัดมาในปี 2562 จากเดือนมกราคม ถึงเดือนพฤษภาคม 2562 พบว่าอุบัติเหตุเกิดขึ้นเพียง 2 ครั้ง และไม่มีผู้เสียชีวิต
เรียบเรียง : นายอนุสรณ์ สุพรรณโรจน์
โทร : 0890665085