“ตำบลเจดีย์” เป็นตำบลดั้งเดิมตั้งอยู่ในเขตพื้นที่อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี จากคำบอกเล่า ชื่อตำบล มาจากเจดีย์ร้างอยู่กลางทุ่ง 3 องค์ เจดีย์วัดโคกสะแกร้าง เจดีย์วัดม่วง และเจดีย์โคกเหนือ หรือโคกเจดีย์ มีพื้นที่ 8,631 ไร่ ใช้ในการทำการเกษตร 8,380 ไร่ เป็นเป็นที่ราบลุ่ม มีน้ำท่วมขังในฤดูน้ำหลาก พื้นที่ส่วนใหญ่ใช้ทำนา ภายในตำบลมีแหล่งน้ำธรรมชาติที่สำคัญไหลผ่าน คือ คลองท่าไชย มีจำนวนหมู่บ้านทั้งหมด 8 หมู่ จำนวนประชากร 3,026 คน ส่วนใหญ่ในตำบลประกอบอาชีพทำนา และมีอาชีพรอง คือ ตัดเย็บผ้า ทำขนมไทย เลี้ยงสัตว์
ด้วยสภาพพื้นที่เป็นที่ราบลุ่มทำให้ต้องเชิญกับสถานการณ์น้ำท่วมเป็นประจำทุกปี ส่งผลกระทบต่อบ้านเรือนของประชาชนเสื่อมโทรม นอกจากนี้ในตำบลยังมีปัญหาด้านภาวะเศรษฐกิจฝืดเคือง ชาวบ้านมีรายได้ไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายในครัวเรือน จึงเป็นที่มาของการรวมกลุ่มพูดคุยและมีการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนเมื่อ ปี 2558 มีกลุ่มองค์กร จำนวน 8 กลุ่มเข้าร่วมเป็นสมาชิก ถือเป็นจุดก่อเกิดการขับเคลื่อนงานพัฒนาของชุมชนตำบลเจดีย์ และมีการเรียนรู้งานพัฒนาร่วมกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) พอช. ในการพัฒนาศักยภาพแกนนำด้านต่างๆ
ต่อมาในปี 2559 ได้มีการวิเคราะห์ปัญหาของชุมชน ซึ่งพบว่ามีปัญหาด้านที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย ทรุดโทรม จึงเข้าร่วมโครงการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน โดยดำเนินงานตามกระบวนการขั้นตอนต่างๆ เช่น การสร้างความเข้าใจชาวบ้านถึงเป้าหมายในการแก้ไขปัญหา มีการจัดตั้งคณะทำงาน 20 คน มีส่วนผสมของแกนนำและผู้เดือนร้อนด้านที่ดินและที่อยู่อาศัย เป็นทีมเฉพาะกิจในการขับเคลื่อนเรื่องนี้ จากการจัดทำข้อมูลครัวเรือน ทำแผนทำมือ นำข้อมูลเข้าสู่กระบวนการวิเคราะห์ของตำบล ทำให้พบปัญหาสำคัญของพื้นที่ คือ ด้วยสภาพพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วมทุกปีจึงเป็นที่มาของบ้านเรือนทรุดโทรม มีผู้ได้รับผลกระทบจำนวน 37 ราย จึงเป็นจุดเริ่มต้นของชุมชนในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัย นำไปสู่การจัดทำโครงการบ้านพอเพียงชนบทตำบลดอนเจดีย์ พร้อมทั้งมีการจัดตั้งคณะทำงานแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยระดับตำบลขึ้น และมีทีมงานเพื่อขับเคลื่อนงานในประเด็นต่างๆ โดยมีผู้เดือดร้อนเข้าร่วม
ภาพ : การประชุม
จากข้อมูลที่ค้นพบผู้เดือนร้อน 37 ราย ได้มีการจัดตั้งคณะทำงานแก้ไขปัญหาบ้านพอเพียง มีการเรียงลำดับผู้เดือดร้อนผ่านการประชาคม และจัดทำแผนการแก้ไขปัญหาระยะ 5 ปี (2561 – 2566) โดยในปี 2561 ได้รับงบประมาณโครงการบ้านพอเพียงจาก พอช. จำนวน 12 หลัง เป็นจำนวนเงิน 223,442 บาท (สองแสนแปดหมื่นเจ็ดร้อยสิบเจ็ดบาทถ้วน) หลังจากได้รับงบประมาณแล้ว มีการประชุมชี้แจงสร้างความเข้าใจแนวทางการดำเนินการร่วมกัน และดำเนินการซ่อมสร้าง โดยเจ้าของบ้านเป็นผู้ดำเนินการเอง หรือเป็นการช่วยเหลือกันในละแวกใกล้เคียง และมีกฎกติกาว่าผู้เข้าร่วมโครงการต้องคืนทุนเข้าสู่กองทุนร้อยละ 10 ของงบประมาณที่ได้รับ ซึ่งได้กำหนดระยะเวลาคืนทุนตั้งแต่ 3 – 5 ปี ตามความสามารถของผู้เดือดร้อน
ภาพ : สภาพบ้านเรือนที่ชำรุดทรุดโทรมที่เข้าร่วมโครงการบ้านพอเพียง
นายชัชวาล จันทร์ฉาย ประธานคณะทำงานบ้านพอเพียง ให้ข้อมูลในการขับเคลื่อนงานของโครงการบ้านพอพียงในพื้นที่ว่า “ผลจากการทำงานแก้ไขปัญหาเรื่องเรื่องที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย ซึ่งเราเรียกกันง่ายๆ ว่าโครงการที่ดิน เป็นจุดเริ่มของการนำมาสู่การแก้ไขปัญหาบ้านทรุดโทรม เราได้เรียนรู้กับการทำงานหลายอย่าง เช่น การทำงานเป็นกลุ่มเป็นทีม จากเดิมที่คนไม่ค่อยเสียสละให้กับงานส่วนรวม พอเราทำงานเป็นทีม ก็เริ่มมีการรวมกลุ่มกัน มีทีมทำงานของภาคที่เราเชื่อมโยงกับเขา เรียกว่าคณะทำงานที่ดินภาค เข้ามาช่วยแนะนำในพื้นที่ ทำให้ได้ข้อมูลและนำไปสู่แนวทางที่จะแก้ไขปัญหาเรื่องบ้าน สามารถแก้ไขปัญหาด้านที่อยู่อาศัย ทำให้บ้านเสื่อมโทรมผุพังในตำบลได้รับการซ่อมแซม สร้างการมีส่วนร่วมจากการทำงานร่วมกันของคนในตำบล ระยะแรกๆ ไม่ค่อยได้รับการยอมรับทั้งจากชาวบ้านด้วยกันเอง หรือแม้แต่หน่วยงานต่างๆ เขาไม่คิดว่าชาวบ้านจะทำได้ ชาวบ้านก็ไม่คิดว่าจะทำได้จริง แต่พอทำแล้วมันก็เป็นรูปเป็นร่าง มีคนทำงานเพิ่มขึ้น มีการยอมรับจากชาวบ้านเขาให้ความร่วมมือ หน่วยงานเองก็ยินดีช่วยงานเรามากขึ้น เช่น เทศบาลประสานอะไรไปเขาก็ให้ มีการทำงานร่วมกันระหว่างเทศบาลกับคณะผู้นำชุมชน ในการสำรวจบ้านทรุดโทรม
ตอนนี้เราได้รับการยอมรับ และเราสามารถทำให้เกิดกองทุนที่ดินแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยที่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน ตามแนวทางที่ทาง พอช. ให้ไว้ มีระเบียบที่กำหนดและเป็นที่ยอมรับร่วมกัน ในส่วนของระเบียบกองทุนเรามี วัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยตำบลเจดีย์ และเพื่อส่งเสริมสนับสนุนในด้านการประกอบอาชีพของคนในตำบลเจดีย์ คณะกรรมการกองทุนที่ดินจึงออกระเบียบไว้โดยผ่านมติที่ประชุม เกี่ยวกับการรับสมัครสมาชิก เช่น เป็นสมาชิกที่อยู่ในตำบลเจดีย์เท่านั้น ต้องไม่ติดยาเสพติดและเป็นผู้ต้องโทษในคดีลักทรัพย์ เป็นผู้เดือดร้อนในเรื่องที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย ต้องออมเงินกับกองทุนที่ดินทุกเดือนๆ ละ 100 บท ส่วนระเบียบเรื่องการบริหารจัดการ ได้กำหนดร่วมกันว่าสมาชิกจะต้องส่งเงินออมและเงินซ่อมบ้านพอเพียง เงินฉุกเฉินประกอบอาชีพในวันที่ 10 ของทุกเดือน และคณะกรรมการจัดทำบัญชีรายรับ – รายจ่าย ให้เป็นประจำทุกเดือน
สภาพบ้านนางสาวระเบียบ ใจเคลือบ ก่อน – หลังการปรับปรุง
นางสาวระเบียบ ใจเคลือบ อยู่บ้านเลขที่ 82 หมู่ที่ 6 ตำบลเจดีย์ อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นหนึ่งในผู้เดือดร้อนที่ได้รับการช่วยเหลือครั้งนี้ มีอาชีพรับจ้าง บ้านที่อยู่ข้างฝาทำจากไม้ซีก ทำให้ไม่มีความมั่นคง ส่วนพื้นเป็นดิน เวลาฝนตกหนักน้ำท่วมขังทำให้พื้นดินชื้น ไม่สะดวกและปลอดภัยกับความเป็นอยู่ นางสาวระเบียบ เล่าว่าเงินที่ได้มาจากการรับจ้างก็ต้องนำไปเป็นค่ากับข้าว เป็นค่าใช้จ่ายให้กับคนในครอบครัว ซึ่งมีด้วยกัน 4 คน ครอบครัวนี้มีรายได้น้อยไม่เพียงพอที่จะปรับปรุงซ่อมแซมสภาพบ้านให้ดีขึ้นได้ พอมีหน่วยงานของ พอช., สภาองค์กรชุมชน และผู้นำชุมชนเข้ามาช่วยเหลือได้งบประมาณ 17,950 บาท สภาองค์กรชุมชนตำบลเจดีย์จึงมีมติให้เจ้าของบ้านต้องสมทบเข้ากองทุน 10 % ของงบประมาณทีได้รับความช่วยเหลือซึ่งยินดีสมทบเพื่อให้กองทุนเติบโตและยั่งยืนต่อไป
การแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของตำบลเจดีย์ในครั้งนี้ ถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของสภาองค์กรชุมชนในการสร้างกระบวน พื้นที่กลางรวมคน รวมกลุ่มองค์กร เกิดวงพูดคุยจนสามารถค้นหาข้อมูลและปัญหา นำไปสู่การแก้ไขได้อย่างเป็นรูปธรรม อีกทั้งยังเป็นเครื่องมือในการสร้างความร่วมมือของคนในชุมชน และรูปธรรมการทำงานสำคัญที่เป็นที่ภาคภูมิใจของสภาองค์กรชุมชนตำบลเจดีย์ ที่เห็นผลงานชัดเจนจับต้องได้ คือ การซ่อมแซมบ้านทรุดโทรมผ่านโครงการบ้านพอเพียงนี้
ถือได้ว่า “บ้านพอเพียง” เป็นเครื่องมือในการสร้างคน สร้างบ้าน นำไปสู่การแก้ไขปัญหาด้านที่อยู่อาศัยในพื้นที่ตำบลเจดีย์ได้อย่างเห็นผล อย่างไรก็ตามยังมีแผนงานในการแก้ไขปัญหาคนในตำบลเจดีย์อย่างต่อเนื่องและในหลายๆ ด้าน คือ 1) ซ่อมบ้านทรุดโทรมที่เหลือ 46 หลัง ให้แล้วเสร็จภายในปี 2565 2) ส่งเสริมให้ประชากรในตำบลเจดีย์มีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น 3) ยก (ดีด) บ้านให้สูงขึ้นเพื่อบรรเทาปัญหาบ้านทรุดโทรมจากปัญหาน้ำท่วมขัง
เรียบเรียงโดย นายชัชวาลย์ จันทร์ฉาย โทร. 089-8159835