โดย คณะทำงานสภาองค์กรชุมชนตำบลหนองสรวง
“เกษตรกรยึดติดกับการปลูกพืชเชิงเดี่ยว มีการใช้สารเคมีปริมาณมาก กลไกตลาดและราคาผลผลิตค่อนข้างต่ำ แต่ต้นทุนการผลิตค่อนข้างสูง รวมทั้งชาวบ้านมีรายได้น้อย ค่าครองชีพสูง จนทำให้เป็นหนี้ซ้ำซากและมีผู้ว่างงานจำนวนมาก”
เสียงสะท้อนถึงปัญหาและอุปสรรคของตำบลหนองสรวงจากเวทีวิเคราะห์ข้อมูลตำบล เพื่อการจัดทำแผนพัฒนาตำบลของสภาองค์กรชุมชนตำบลหนองสรวง
ภาพการประชุมแลกเปลี่ยนถึงปัญหาและแนวทางการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและทุนชุมชนของตำบลหนองสรวง
ตำบลหนองสรวง อยู่ห่างจากตัวอำเภอวิหารแดง 300 เมตร ห่างจากจังหวัดสระบุรี 27 กิโลเมตร มีพื้นที่โดยประมาณ 13,781.25 ไร่ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่มเหมาะสมกับการทำการเกษตร แต่เนื่องจากสภาพดินเป็นดินเปรี้ยวเสียส่วนใหญ่ การปลูกพืชที่สามารถทำได้ คือ การทำนาข้าว สภาพพื้นที่ทั่วไปมีลำคลองและบึงน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่หล่อเลี้ยงการเกษตรและใช้ในครัวเรือน มีประชากรทั้งสิ้น จำนวน 5,167 คน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำนาข้าว เลี้ยงสัตว์ มีพืชผัก ผลไม้เป็นส่วนน้อย
ตำบลหนองสรวงก็เหมือนตำบลอื่นๆ ที่มีกลุ่มองค์กรเกิดขึ้นในพื้นที่มากมายหลายกลุ่ม ส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากนโยบายของรัฐและส่วนราชการ ที่มุ่งหวังให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็ง ประชาชนอยู่ดีมีรายได้ ซึ่งเป็นนโยบายจากบนลงล่าง ดังนั้นนโยบาย โครงการ แผนงานต่างๆ จึงไม่สอดคล้องกับวิถีหรืออัตลักษณ์ของผู้คนในท้องถิ่นในชุมชน หรือไม่ก็มิได้เกิดจากความต้องการที่แท้จริงของคนในชุมชน แผนงาน โครงการต่างๆ จึงไม่ยั่งยืน
สภาองค์กรชุมชนตำบลหนองสรวงจัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2560 มีนายทินกร ชาตกุล เป็นประธานสภาองค์กรชุมชน ได้กล่าวถึงเศรษฐกิจและทุนชุมชนของตำบลหนองสรวงว่า “พวกเรามาประชุมกันเพื่อแก้ไขปัญหาของเราโดยตัวเราและเพื่อเราเอง เราให้ความสำคัญกับเรื่องปัญหาปากท้อง เรื่องเศรษฐกิจในชุมชน โดยทุนในชุมชนที่มีอยู่ คือ การทำการเกษตร ที่ต้องเปลี่ยนวิถีการผลิต ไปเน้นในเรื่องการปลูกผักปลอดสารเคมี โชคดีที่ได้รับงบประมาณจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน หรือ พอช. มานำร่องโครงการเกษตรปลอดภัย”
ที่ผ่านมาสภาองค์กรชุมชนตำบลหนองสรวงร่วมกับสำนักงานเกษตรอำเภอวิหารแดงที่เข้ามาให้คำแนะนำการปลูกพืชทางเลือก การทำเกษตรผสมผสานและการทำนาแปลงใหญ่ รวมทั้งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจำนวน 30,000 บาท จาก พอช. ในการสร้างแปลงสาธิตการผลิตผักปลอดภัย เพื่อเป็นการให้เกษตรกรในชุมชนได้เรียนรู้และช่วยเหลือกันและกัน อีกทั้งยังเป็นการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในชุมชนให้มีรายได้อีกด้วย ปัจจุบันกลุ่มฯ มีสมาชิกจำนวน 25 ครอบครัว
คนยืนยกมือ
นางรมดีย์ ชาตกุล ประธานกลุ่มเกษตรปลอดภัยตำบลหนองสรวง ซึ่งเป็นกรรมการสภาองค์กรชุมชนได้กล่าวถึงการทำเกษตรปลอดภัยว่า “เราเริ่มจากการให้ความรู้กับกลุ่มปลูกผักเกี่ยวกับการใช้สารไล่แมลงศัตรูพืช โดยวิธีธรรมชาติ ปลอดสารเคมี โดยการทำปุ๋ยหมักใช้ในการปรับสภาพดินและบำรุงดิน และการปฏิบัติการแปลงสาธิต โดยคัดเลือกแปลงสาธิตทดลองปลูกผักปลอดภัยจำนวน 1 แปลง ใช้งบประมาณ 10,000 บาท เป็นการปลูกพืชผักสวนครัวเพื่อกินเองและจัดจำหน่าย ซึ่งผลผลิตที่ออกมาเรานำไปขายในตลาดชุมชน และเงินก็กลับมาหมุนเวียนในกลุ่ม นับว่าสร้างรายได้ต่อเดือนหลายพันบาท”
ผลที่ได้รับจากการผลิตผักปลอดภัย คือ เกษตรกรมีทางเลือกใหม่จากการปลูกพืชเชิงเดี่ยว เกิดการลงทุนน้อย ผลผลิตขายได้ราคาสูงกว่าผักท้องตลาดทั่วไป ทำให้ลดภาวะสิ่งแวดล้อมเป็นพิษจากสารเคมีและยาฆ่าแมลง รวมทั้งไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค มีการสร้างความเข้าใจในปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงโดยการปฏิบัติจริง
ภาพผลผลิตเกษตรปลอดภัยจากแปลงสาธิตของตำบลหนองสรวง
ในอนาคตคณะทำงานสภาองค์กรชุมชนหนองสรวง ได้มีการติดตามแผนพัฒนาตำบลกับองค์การบริหารส่วนตำบลหนองสรวง ในการประชาคมแผนพัฒนาท้องถิ่นเพื่อให้ได้เข้าบรรจุเป็นแผนพัฒนาท้องถิ่น โดยเฉพาะโครงการทางด้านเศรษฐกิจและทุนชุมชน ที่ส่งเสริมให้คนในตำบลทำการเกษตรปลอดภัย เพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น นอกจากนี้ ยังมีแผนที่จะพัฒนาตำบลสู่ความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน คือ การพัฒนาส่งเสริมกลุ่มเกษตรปลอดภัยให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ของตำบล จนนำไปสู่การบรรลุวิสัยทัศน์ของตำบล คือ “การเกษตรยั่งยืน รายได้มั่นคง ชุมชนเข้มแข็ง สุขภาพดีถ้วนหน้า”