การขยายตัวของความเป็นเมือง (Urbanization) เป็นวิถีที่คนไทยกำลังเผชิญอยู่ คนเมืองเดินสวนทางกับคนชนบท เพราะคนชนบทต้องเดินทางเพื่อหารายได้ในเมือง และคนเมือง คนร่ำรวยก็พยายามกว้านซื้อที่ดินชนบท เพื่อขยายกิจการทำธุรกิจส่วนตัว
ไม่ต่างจากคนในเมืองหัวหิน ที่นอกจากคนดั้งเดิมแล้วก็ยังมีคนพลัดถิ่นที่เข้ามาหางานทำ ตั้งรกรากที่เมืองแห่งนี้ เป็นสถานที่ที่ใครๆ ต่างก็ให้ความสนใจเป็นแหล่งท่องเที่ยว แต่มากกว่านั้น ที่นี่หัวหินเป็นบ้านของพ่อในหลวงรัชกาลที่ 9 สำหรับคนหัวหิน
ปี 2560 นโยบายรถไฟทางคู่ ระยะสัญญาช่วงที่ 2 หนองปลาไหล – หัวหิน พาดผ่านเมืองหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นระยะทาง 13 กิโลเมตร จำนวน 19 ชุมชน โดยขอบเขตพื้นที่การเวนคืนที่ดินเพื่อก่อสร้างโครงการนั้น วัดจากกึ่งกลางรางรถไฟข้างละ 40 เมตร และกำหนดการให้ชุมชนจะต้องออกจากพื้นที่ภายในสิ้นปี 2561 ทำให้ประชาชนที่อยู่ในแนวเขตทั้ง 19 ชุมชน ตลอดระยะทาง 13 กิโลเมตร ได้รับผลกระทบด้านที่อยู่อาศัย จำนวน 1,004 ครัวเรือน
ช่วงแรกที่ชาวบ้านผู้ที่อาศัยอยู่ริมทางรถไฟได้รับข่าว ประกาศ แจ้งเรื่องการเวนคืนที่ดินจากการรถไฟ เป็นเรื่องยากที่ชาวบ้านจะยอมรื้อถอน เนื่องจากอดีตชาวบ้านเคยได้รับสารเกี่ยวกับโครงการดังกล่าวมาแล้ว แต่ไม่ได้ดำเนินการจริง ผนวกกับได้อยู่อาศัยมากกว่า 40 ปี ยิ่งเป็นเหตุผลให้เชื่อสนิทใจว่า “เป็นแค่ข่าวลือ” จนกระทั่งมีป้ายจากบริษัทผู้รับเหมาโครงการ ปักป้ายเกี่ยวกับโครงการขึ้นที่ข้างทางรถไฟ ความวุ่นวาย การเรียกร้องค่อยๆ ตามมา…
สถานการณ์การไล่รื้อ นับเป็นเรื่องใหม่ของคนที่นี่ จับต้นชนปลายไม่ถูก จนเป็นจุดเริ่มต้นของการรวมกลุ่มกันของผู้เดือดร้อน
ช่วงแรกเป็นการรวมกลุ่มเพื่อเป็นการสร้างพื้นที่กลางสำหรับการพูดคุย ปรึกษาหารือกันเกี่ยวกับแนวทางการแก้ไขปัญหา และระบบกลุ่มค่อยๆ เติบโตขึ้น เรียนรู้จากประสบการณ์ใหม่ของชีวิต จนกระทั่งมีการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อที่อยู่อาศัย
พวกเขาเริ่มออมจากต้นทุนที่ต่ำมากทั้งตัวเงินและตัวคน (ผู้เดือดร้อน) คล้ายกับว่า เป็นการ “นำร่อง”
การออมทรัพย์ของที่นี่เป็นประเด็นที่อ่อนไหวมาก เนื่องจากในอดีตเคยมีการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์และล้มไป ทุกคนที่ทราบข่าวพากันเข็ดหลาบไม่เชื่อมั่น แต่กลุ่มคนเล็กๆ ที่เล็งเห็นความสำคัญและลงพื้นที่ทำงานอย่างสม่ำเสมอ สร้างความเข้าใจกับสมาชิกในชุมชนอยู่เนืองๆ ทำให้ผู้เดือดร้อนอีกจำนวนหนึ่งหันกลับเข้ามาและร่วมออมทรัพย์ไปด้วยกันราว 250 คน ทำให้เกิดพลังในการต่อสู้เป็นอย่างยิ่ง
จากที่พวกเขามาจากต่างชุมชน ไม่รู้จักกันมาก่อน หรือแม้แต่คนในชุมชนเดียวกัน ที่ต่างคนต่างใช้ชีวิต ต่างคนต่างทำงาน ปัจจุบันทุกคนได้เรียนรู้ผ่านชุดประสบการณ์เดียวกัน สะท้อนให้เห็นว่าภายใต้วิกฤติ ก็ยังมีโอกาสแฝงอยู่บ้าง อย่างน้อยก็ช่วยสร้างพื้นที่ทางสังคมให้คนเดือดร้อนได้รู้จักกันมากขึ้น มีสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน ผ่านกระบวนการออมทรัพย์
เพราะกระบวนการออมทรัพย์ของชุมชนเพื่อที่อยู่อาศัย เป็นกระบวนการสำคัญที่ต้องรณรงค์ให้ทุกชุมชนในเมืองเริ่มต้นขึ้น ดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นการส่งเสริมให้เกิดการจัดระบบทุน ส่งเสริมให้เกิดกองทุนในการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน และส่งเสริมการบริหารกลุ่มที่ดี กลุ่มออมทรัพย์จะเป็นศูนย์รวมของทุกอย่างให้เป็นหนึ่งเดียว โดยมีวิธีการสำคัญของกลุ่มออมทรัพย์ ดังนี้
ประการแรก รวมคน “คนที่มีปัญหาเดียวกันมีจุดมุ่งหมายเหมือนกัน มุ่งหวังเพื่อประโยชน์ส่วนรวม” พร้อมที่จะร่วมแรง ร่วมมือ และ ร่วมคิด
ประการที่สอง รวมเงิน เงินจากสมาชิกทุกคนเพื่อเป็นทุนหมุนเวียน เรียกว่า “หุ้น”
ประการที่สาม เงินของสมาชิกทุกคนที่ต้องการออมเพื่อที่อยู่อาศัย เรียกว่า “เงินสมทบ”
ประการที่สี่ รวมสติปัญญา ความคิดของคนเพื่อนำไปใช้ในการบริหารงานร่วมกัน ความคิดที่ดีและถูกต้อง ต้องมาจากความคิดของคนส่วนใหญ่
ประการสุดท้าย รวมใจ เมื่อรวมคนที่มีความแตกต่างกันหลายๆ ด้าน (ความคิด จิตใจ ฐานการศึกษา วัย) เป็นอุปสรรคในการทำงานจึงจำเป็นต้องสร้างความเป็นหนึ่งภายในองค์กรเกิดพลังที่เข้มแข็ง เกิดความร่วมมือกัน สิ่งที่ควรให้มี คือ ความรับผิดชอบต่อเพื่อนสมาชิกทุกคน ตระหนักเสมอว่าปัญหาของเพื่อนสมาชิก คือ ปัญหาของเราต้องร่วมกันแก้ไข ช่วยเหลือ เห็นใจกัน
ดังนั้น การออมทรัพย์จึงเป็นมากกว่าเรื่องของเงิน แต่เป็นระบบการดูแลกันของสมาชิก เป็นระบบที่สร้างให้เกิดทุนชุมชนในด้านต่างๆ ทั้งที่เป็นตัวเงินและไม่เป็นตัวเงิน สิ่งสำคัญที่สุด คือ การสร้างระบบความสัมพันธ์ของชุมชน จากใครบางคน ได้มาเป็นเพื่อนร่วมทาง เพื่อนคู่คิด ผู้ที่มีชะตากรรมเหมือนกัน จับมือ และสร้างพลังให้เกิดจากการบริหารความเชื่อใจ เพื่อทำการใหญ่นั่นหมายถึง การมีบ้านและชุมชนที่ดี