โดย คณะทำงานสภาองค์กรชุมชนตำบลโคกแย้
การพัฒนาเศรษฐกิจตามกระแสหลักของสังคมโลก ทำให้การพัฒนาด้านอุตสาหกรรมดำเนินไปอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตทำการเกษตรแบบดั้งเดิม มีการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การเผาป่าเพื่อเพาะปลูกพืชไร่ทางเศรษฐกิจ การใช้สารเคมีเพื่อเร่งการผลิตรองรับความต้องการของตลาด นำมาซึ่งปัญหามลพิษจากควันและน้ำเสียจากโรงงาน รวมทั้งปัญหาสภาพดินเสื่อมโทรมจากการใช้ปุ๋ยเคมี นับวันปัญหาต่างๆ เหล่านี้ได้ลุกลามแพร่หลายไปทั่วภูมิภาคของไทย รวมถึงตำบลโคกแย้ อำเภอหนองแค จังหวัดสระบุรี
ตำบลโคกแย้ มี 16 หมู่บ้าน จำนวนครัวเรือนทั้งหมด 4,938 ครัวเรือน ประชากรทั้งสิ้น 10,069 คน พื้นที่ประมาณ 29,960 ตารางกิโลเมตร หรือคิดเป็นพื้นที่ 18,725 ไร่ สภาพพื้นที่โดยทั่วไปเป็นลูกคลื่นลาดชันเล็กน้อยถึงที่ราบลุ่มน้ำ มีเนินเขาอยู่ทางด้านเหนือของตำบล แหล่งน้ำสำคัญ ได้แก่ คลองหนองจอกใหญ่ คลองหนองพันอ้อม คลองธรรมชาติ และคูส่งน้ำต่างๆ สภาพทั่วไปจึงเหมาะสมสำหรับทำการเกษตร
จากปัญหาดังกล่าวข้างต้น จึงได้ใช้เวทีสภาองค์กรชุมชน เป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนและสะท้อนปัญหา จนพบแนวทางการแก้ไขและตกลงร่วมกันว่าจะใช้แนวทางการทำเกษตรอินทรีย์ เพื่อสร้างความสดใสและชุมชนสุดสวยให้เกิดขึ้นที่ตำบลโคกแย้
นายสมชาย แข็งบุญ ประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลโคกแย้ ผู้ยืนหยัดทำการเกษตรอินทรีย์ ได้เล่าว่า “เกษตรหลายท่านในตำบลโคกแย้ ยังคงทำการเกษตรเพื่อป้อนตลาด การทำนาข้าว การทำพืชไร่ ทำให้ต้องใช้สารเคมีจำนวนมาก ในการป้องกันแมลงและเร่งการเจริญเติบโตเพื่อเพิ่มผลผลิต มันส่งผลกระทบต่อร่างกายทั้งเกษตรกร ทั้งผู้บริโภค ดิน น้ำ อากาศก็เริ่มเสีย เราจึงใช้สภาองค์กรชุมชนเป็นจุดเริ่มในการหาทางแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง ประชุมกันหลายครั้ง เชิญทั้งสมาชิกในสภาองค์กรชุมชน ทั้งจากหน่วยงานภาครัฐ คือ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลโคกแย้ และทั้งจากหน่วยงานภาคเอกชน คือ บริษัท อายิโน๊ะโมะโต๊ะ จำกัด (มีโรงงานอยู่ในพื้นที่) เข้าร่วมปรึกษาหารือ โดยมีแนวทางการแก้ไขปัญหาร่วมกันคือ การทำเกษตรอินทรีย์”
ภาพการประชุมสภาองค์กรชุมชนตำบลโคกแย้เพื่อหารือการทำเกษตรอินทรีย์
การประชุมสภาองค์กรชุมชนในครั้งนั้น มีแนวทางขับเคลื่อนงานการทำเกษตรอินทรีย์ที่สำคัญ คือ การจัดตั้งคณะทำงานขึ้นมา 10 คน ซึ่งมีนายสมชาย รามันจิตร เป็นประธานคณะทำงาน นายพิชัย บุญบันดาลชัย นายกองค์การบริหารส่วนตำบลโคกแย้ และนางสิริรัตน์ พลหนองหลวง เจ้าหน้าที่เกษตรตำบล เป็นที่ปรึกษา รวมทั้งนางอัจฉรี แข็งบุญ ประธานกลุ่มเกษตรทำนาตำบลโคกแย้ เป็นผู้ประสานงาน โดยมีแนวทางสำคัญคือ การทำปุ๋ยอินทรีย์ใช้ในแปลงนาทดลองเพื่อเปรียบเทียบระหว่างการปลูกข้าวที่ใช้ปุ๋ยอินทรีย์กับปุ๋ยเคมี
การทดลองเริ่มจากนางอัจฉรี แข็งบุญ ซึ่งรับหน้าที่เป็นผู้ประสานงาน ได้ติดต่อขอรับการสนับสนุนวัตถุดิบที่เหลือใช้จากกระบวนการผลิตของบริษัทอายิโน๊ะโมะโต๊ะ จำกัด มาทดลองทำปุ๋ยอินทรีย์ใช้ในนาข้าวและเป็นผู้ติดตาม และสรุปผลการทดลอง โดยให้นายสมชาย รามันจิตรในฐานะประธานโครงการ (และเจ้าของแปลงนาทดลอง) เป็นผู้บันทึกเก็บข้อมูลการเปรียบเทียบการปลูกข้าวระหว่างการใช้เคมีกับอินทรีย์ รวมทั้งมีคณะกรรมการร่วมตรวจแปลงนาและสังเกตการเปลี่ยนแปลงของผลผลิต
วิธีดำเนินการขับเคลื่อนงานการทำเกษตรอินทรีย์ในตำบลโคกแย้ เริ่มจากใช้แปลงนาสาธิตของนายสมชาย รามันจิตร จำนวนพื้นที่ 10 ไร่ ใช้ปุ๋ยที่หมักจากเปลือกกาแฟในนาไถกลบ 20 วัน จากนั้นทำการไถแปรเพื่อทำการหวานข้าว ตามกระบวนการตามปกติ ตลอดระยะเวลาปลูกถึงเก็บเกี่ยวไม่มีการใช้เคมีจากปุ๋ยหรือยากำจัดศตรูพืช ยกเว้นฮอร์โมนที่ผลิตขึ้นเองจากน้ำหมักชีวภาพ ใช้เวลาทดลองปลูกข้าวอินทรีย์ทั้งหมด 120 วัน
ภาพการทดลองการทำเกษตรอินทรีย์ของประชาชนตำบลโคกแย้
ผลการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนั้น ประชาชนตำบลโคกแย้มีความสดใสและคุณภาพชีวิตดีขึ้น อีกทั้งทรัพยากรธรรมชาติก็กลับมาอุดมสมบูรณ์ เช่น การลดปัญหาทรัพยากรดินเสื่อมโทรม การฟื้นฟูแหล่งน้ำจากการไม่ใช้สารเคมี ในด้านเศรษฐกิจประชาชนตำบลโคกแย้ก็มีรายได้มากยิ่งขึ้นจากการเพิ่มผลผลิตได้ 90 ถัง / ไร่ (จากเดิม 73 ถัง/ไร่) และลดต้นทุนการผลิต เช่น ค่าปุ๋ย เหลือครั้งละ 500 บาท จากเดิม 4,000 บาท หรือค่ายาเร่งฮอร์โมน เหลือครั้งละ 500 บาทจากเดิม 2,000 บาท นอกจากนั้นยังสามารถนำไปใช้เป็นเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ดีได้อีกด้วย รวมทั้งทางด้านสังคม ยังมีการปลูกฝังการทำเกษตรอินทรีย์ส่งต่อไปยังลูกหลาน ทำให้เยาวชนในพื้นที่ได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ รู้จักหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ของตนเอง
ภาพผลผลิตการเกษตรอินทรีย์ของประชาชนตำบลโคกแย้
ปัจจัยที่ทำให้การเกษตรอินทรีย์ของประชาชนตำบลโคกแย้ประสบความสำเร็จ คือ การใช้เวทีสภาองค์กรชุมชนตำบลโคกแย้เป็นศูนย์กลางในการร่วมกันเรียนรู้แลกเปลี่ยนปัญหา และหาแนวทางแก้ไขตามความต้องการและบริบทของตำบลโคกแย้ ซึ่งมีการกำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบการทำงานให้กับอย่างชัดเจนและเหมาะสม มีการจัดทำแผนงาน/โครงการ รายงานสถานภาพของแผนงาน/โครงการ มีการบันทึกแผนงาน/โครงการที่เกิดขึ้นเป็นเอกสาร และประเมินผลดำเนินการหลังจากที่ทำโครงการเสร็จสิ้น รวมถึงมีหน่วยงานภาคีเครือข่ายเข้ามาให้ความช่วยเหลือ เช่น นิคมอุตสาหกรรม ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีเกษตร กลุ่มผลิตปุ๋ยอินทรีย์ องค์การบริหารส่วนตำบลโคกแย้ นิคมอุตสาหกรรม บริษัท อายิโน๊ะโมะโต๊ะ จำกัด ผู้นำท้องที่ สภาองค์กรชุมชนตำบลโคกแย้ เกษตรตำบล เป็นต้น
แผนงานการทำเกษตรอินทรีย์ต่อไปในอนาคต สภาองค์กรชุมชนตำบลโคกแย้ เกิดความคิดในการเสนอให้ทุกชุมชนมีศูนย์การเรียนรู้การทำเกษตรอินทรีย์ โดยทุกคนสามารถมาร่วมเรียนรู้แลกเปลี่ยนการทำเกษตรกันได้ จัดหาตลาดภายนอกเพื่อรองรับสินค้าเกษตร และการประชาสัมพันธ์สินค้าให้หลากหลายช่องทางมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการทำตลาดสินค้าออนไลน์และการออกบูทแสดงสินค้าในงานต่างๆ นอกจากนี้ยังมีความพยายามผลักดันเรื่องนี้ต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและอำเภอเพื่อบรรจุเข้าแผนการพัฒนา และจะมีการสร้างเกษตรกรรุ่นใหม่ที่มีหัวใจสีเขียว เพื่อรองรับการทำเกษตรอินทรีย์ต่อไปในภายภาคหน้า
อาจกล่าวได้ว่าการทำเกษตรอินทรีย์ของตำบลโคกแย้ เป็นการสร้างให้ประชาชนตำบลโคกแย้สดใสและชุมชนสุดสวย ซึ่งทำให้เกิดการฟื้นฟูระบบนิเวศให้กลับคืนสู่สภาพสมดุล เพราะพฤติกรรมและรูปแบบทางการผลิตจะลดหรืองดการใช้สารเคมีทางการเกษตร มุ่งเน้นให้เกษตรกรสามารถพึ่งตนเองได้ เพิ่มรายได้ ด้านอาหาร และปัจจัยการผลิต สามารถจัดหาได้ในครอบครัวและชุมชน ไม่ต้องพึ่งพาปัจจัยการผลิตจากภายนอกชุมชน เป็นการมุ่งสร้างความเข้มแข็งของชุมชนอย่างยั่งยืน