เทศบาลตำบลบางน้ำเปรี้ยว ตั้งอยู่ที่อำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา มีพื้นที่ในหมู่ที่ 1,2 ตำบลบางน้ำเปรี้ยว และหมู่ที่ 4,5,6 ตำบลโพรงอากาศ พื้นที่เทศบาลตั้งอยู่ย่านชุมชนตลาดอำเภอบางน้ำเปรี้ยว สภาพพื้นที่เป็นที่ราบลุ่มต่อเนื่องกับตำบลโพรงอากาศและเป็นส่วนหนึ่งของที่ราบลุ่มแม่น้ำบางปะกง ลักษณะของการปลูกสร้างบ้านเป็นบ้านแออัด มีพื้นที่จำกัด และเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ มีน้ำขังเวลาฝนตก ซึ่งทำให้เกิดปัญหาเรื่องความไม่มั่นคงด้านที่อยู่อาศัย บ้านเรือนทรุดโทรม หลังคาบ้านผุพัง
นางสำเริง วาพินชัย หรือป้าตุ๊ก เป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน อายุ 57 ปี เล่าว่า ตนทำงานเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านตั้งแต่ปี 2547 ทำงานพัฒนา เป็นจิตอาสามาตลอด และได้เห็นสภาพปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยของคนในพื้นที่ รู้ว่าชาวบ้านเดือดร้อนกันเยอะ ขาดงบประมาณในการแก้ไข แต่ก็ยังไม่รู้ว่าจะช่วยแก้ไขปัญหาได้อย่างไร อยู่มาวันหนึ่งมีเวทีประชุมของ อสม.ประจำเทศบาลตำบล ซึ่งได้รับทราบว่ามีโครงการที่สามารถเข้ามาแก้ไขปัญหาผู้เดือดร้อนเรื่องที่อยู่อาศัย ผ่านโครงการบ้านพอเพียงชนบท จึงได้กลับมาชวนคณะทำงานสภาองค์กรชุมชนเทศบาลตำบลบางน้ำเปรี้ยวทำ โดยเริ่มจากการสำรวจข้อมูลความเดือดร้อนเรื่องที่อยู่อาศัย ผลจากการสำรวจข้อมูล พบว่าสภาพปัญหาความเดือดร้อนของชุมชนส่วนใหญ่เป็นชุมชนแออัด หลังคาบ้านผุพัง,เสาบ้านไม่แข็งแรง,บ้านทรุดโทรม, มีปัญหาเรื่องห้องน้ำ,บ้านบางหลังคนอยู่อาศัยเยอะ แออัด จากการสำรวจข้อมูลในปีแรก (2560) ทางคณะทำงานสำรวจข้อมูลได้ 50 หลังคาเรือน และเสนอขอรับงบประมาณ ในปีนั้น จำนวน 33 หลัง งบประมาณจำนวน 594,000 บาท กระบวนการได้มาของผู้เดือดร้อนในครั้งนี้นั้น ผู้เดือดร้อนต้องผ่านการรับรองสิทธิ์จากการประชุมของคณะกรรมการเพื่อประชุมคัดกรอง โดยดูจากความเดือดร้อนและจัดลำดับความสำคัญก่อนหลัง เช่น ถ้าบ้านหลังคารั่วจะได้รับการพิจารณาเป็นลำดับต้นๆ
ระบบบริหารจัดการงบประมาณโครงการ ผู้รับผลประโยชน์จะได้รับงบประมาณหลังคาเรือนละ 18,000 บาท ซึ่งจะได้รับเป็นวัสดุที่จะใช้ในการซ่อมสร้างบ้าน จากการที่เจ้าของบ้านเป็นผู้ประเมินวัสดุ ส่วนเรื่องค่าแรงและค่าวัสดุในการดำเนินงานเจ้าของบ้านต้องเป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมด ทางคณะทำงานสภาองค์กรชุมชนได้มีการวางกติกาในการบริหารงาน คือ ต้องมีการจ่ายคืนเงินทั้งหมด โดยไม่มีดอกเบี้ย ซึ่งในแต่ละครัวเรือนต้องออมเงินกับกองทุน อย่างน้อยเดือนละ 30 บาท เพื่อเป็นหลักประกันในการชำระเงินคืน ถ้าบ้านไหนส่งเงินครบตามจำนวนที่ใช้ไปสามารถถอนเงินออมคืนได้ด้วย และต้องจ่ายเงินคืนกองทุนขั้นต่ำเดือนละ 300 บาท ส่งเงินคืนทุกวันที่ 1-5 ของทุกเดือน
ป้าตุ๊กยังเล่าต่ออีกว่า หลังจากที่ได้รับงบประมาณโครงการในปี 2560 แล้ว พบว่ายังมีผู้เดือดร้อนที่ยังต้องการความช่วยเหลือในตำบลอีกจำนวนมาก จากนั้นทางคณะทำงานจึงได้มีการสำรวจข้อมูลเพิ่มเติม และมีผู้เดือดร้อนมาแจ้งความจำนงค์ ซึ่งได้ข้อมูลเพิ่มมาอีก 70 หลัง ในเรื่องการบริหารจัดการยังคงปฏิบัติเหมือนเดิม ส่วนเรื่องการบริหารจัดการกรณีที่จะใช้งบประมาณในกองทุนที่หมุนกลับมาใช้ ผู้เดือดร้อนต้องเป็นสมาชิกกองทุน อย่างน้อย 6 เดือน คือต้องมีเงินออม อย่างน้อน 180 บาท ถึงจะได้รับการพิจารณาในการซ่อมสร้าง
ปัจจุบัน ทางตำบลได้รับงบประมาณสนับสนุนต่อเนื่องมาแล้ว 3 ปี ปี2560 จำนวน 33 หลัง, ปี2561 จำนวน 10 หลัง, ปี2562 จำนวน 6 หลัง รวมทั้งสิ้น 49 หลังคาเรือน งบประมาณรวม 882,000 บาท ดำเนินการซ่อมสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้วทั้ง 49 หลัง ครัวเรือนที่ได้รับการซ่อมสร้างจากกองทุนหมุนเวียน จำนวน 7 หลัง มีครัวเรือนที่ได้รับการแก้ไขปัญหาในเรื่องที่อยู่อาศัยแล้วรวมทั้งสิ้น 54 หลัง และหนึ่งในนั้นเป็นครัวเรือนที่ได้รับการช่วยเหลือแบบสงเคราะห์ให้เปล่า โดยไม่ต้องชำระเงินคืน เนื่องจากเป็นผู้สูงอายุ อยู่คนเดียว ไม่มีอาชีพ สภาพบ้านเวลาฝนตกหลังคารั่ว มีน้ำท่วมขังบริเวณบ้านเนื่องจากพื้นบ้านต่ำกว่าถนน
คุณยายน้อม เอี่ยมสอาด อายุ 80 ปี เล่าว่า ยายอาศัยอยู่คนเดียวมานานหลายปี มีแค่เบี้ยเลี้ยงผู้สูงอายุที่ได้เดือนละ 700 บาท ในการเลี้ยงชีพ บางครั้งก็ขอข้าวที่วัดกิน บ้านที่อยู่อาศัยก็เช่าอยู่ในที่วัด จ่ายค่าเช่าปีละ 100 บาท เวลาฝนตกหลังคามันรั่ว น้ำก็เปียกที่นอน นอนไม่ได้ พื้นบ้านก็มีน้ำขัง ลำบากมาก แต่พอมีโครงการนี้เข้ามาเค้าบอกว่าจะมาช่วยเหลือในเรื่องซ่อมบ้าน เค้ามาเปลี่ยนหลังคาบ้านให้ใหม่ ฝนตกก็ไม่รั่ว นอนหลับได้สบาย ยายก็ดีใจ อยากให้มีโครงการดีแบบนี้อีก จะได้ช่วยเหลือคนจนได้เยอะๆ
จากการดำเนินงานที่ผ่านมา ป้าตุ๊กบอกว่า ตอนแรกไม่คิดว่าจะทำได้จริง เพราะเป็นคนไม่รู้หนังสือ เรียนจบแค่ชั้น ป.4 แต่พอเห็นคนในพื้นที่เดือดร้อนก็อยากช่วยเหลือ พอทำไปพักนึง เจอปัญหาก็อยากจะหยุด มันเหนื่อยมันท้อ แต่เราก็ผ่านมันมาได้ เห็นชาวบ้านยิ้มได้เราก็ดีใจ เห็นบ้านที่ทรุดโทรมมีความมั่นคงแข็งแรงขึ้น ก็หายเหนื่อย “มีคำชมให้เป็นแรงใจ มีแรงด่ามามาก จะได้มีคนถามถึงเราเยอะๆ” ป้าตุ๊กกล่าวทิ้งท้าย