ตำบลหนองม่วง อำเภอโคกสูง จังหวัดสระแก้ว มีทั้งหมด 14 หมู่บ้าน พื้นที่ของตำบลหนองม่วง มีสภาพเป็นที่ราบลาดเทไปทางทิศตะวันออกสู่ประเทศกัมพูชา ภูเขาที่สำคัญ คือ เขาอีด่าง และเขาพรมสุวรรณ ลำน้ำที่สำคัญ คือ ลำห้วยคลองยางประกอบ สภาพพื้นดินเป็นดินร่วนปนทราย ลักษณะดินเป็นดินไม่อุ้มน้ำ ฤดูฝนมีปริมาณน้ำฝนน้อย ทำให้เกิดปัญหาภัยแล้งซ้ำซาก ไม่มีน้ำในการทำเกษตร ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ ชาวบ้านเป็นหนี้สิน ไม่มีที่รองรับผลผลิตในชุมชน ขบวนองค์กรชุมชนตำบลหนองม่วง จึงได้ปรึกษาหารือร่วมกัน เห็นควรจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลหนองม่วง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการเข้าถึงสวัสดิการชุมชนของประชาชนในตำบล สร้างเสริมนิสัยในการออม ช่วยเหลือผู้ยากไร้ และสร้างกระบวนการการมีส่วนร่วมระหว่างประชาชนและองค์กรของรัฐ
นางอำนวย บุตรวิเศษ ประธานกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลหนองม่วง เล่าว่า กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลหนองม่วงก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2551 โดยมีสมาชิกช่วงแรกตั้ง 45 คน มีคณะกรรมการกองทุน 12 คน มีเงินกอนทุนแรกตั้ง 9,000 บาท ในการจัดสวัสดิการให้กับคนในตำบล แรกเริ่มจัดเพียงสวัสดิการขั้นพื้นฐาน เกิด แก่ เจ็บ ตาย
ลุงบุญมา ชะลำ เล่าให้ฟังว่าตนนั้นเริ่มเป็นสมาชิกกองทุนสวัสดิการชุมชนตั้งแต่ปี 2554 เมื่อก่อนคนในหมู่บ้านยังไม่ให้ความสนใจเรื่องของกองทุนสวัสดิการชุมชนเนื่องจากไม่เชื่อว่าจะจัดสวัสดิการได้จริง แต่ต่อมา ได้เห็นกองทุนดำเนินงานเห็นเพื่อนบ้านได้รับสวัสดิการจริง จ่ายจริง ช่วยเหลือจริง ทำให้คนอื่นๆ ให้ความสนใจและเข้ามาสมัครเป็นสมาชิกกองทุนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันลุงเป็นกรรมการหมู่ 10 จึงไดรับหน้าที่จากประธานกองทุนให้เป็นผู้บริหารจัดการเก็บเงินดูแลเล่มจากสมาชิกกองทุนที่บ้านหมู่ 10 และนำมาส่งเป็นประจำทุกเดือน โดยจะได้รับค่าบริหารจัดการเล่มของสมาชิก เล่มละ 2 บาท ทำให้ลุงมีรายได้เสริมจากการบริหารจัดการเล่มถึงเดือนละ 200 บาท อีกด้วย
ต่อมาเมื่อปลายปี 2554 คณะกรรมการกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลหนองม่วง ผู้นำชุมชน และสภาองค์กรชุมชนได้ร่วมกันหารือวิเคราะห์สถานการณ์ปัญหาของชุมชน ได้ข้อสรุปร่วมกันว่า ปัญหาของประชาชนและสมาชิกเกิดจากรายได้ไม่เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพ สมาชิกมีอาชีพเกษตรกรรมต้องพึ่งพาธรรมชาติและปัจจัยภายนอก เช่น เงินทุน ตลาด ฯลฯ ทำให้รายได้ไม่เพียงพอ มีหนี้สินต่อครัวเรือนเพิ่มมากขึ้นทุกปี จึงได้วางแนวทางการดำเนินการเพื่อพัฒนากลุ่มอาชีพให้กับสมาชิก และจัดการปัจจัยการผลิตให้เพียงพอ ตลอดจนพัฒนาช่องทางการสร้างรายได้ให้ครัวเรือนมากขึ้น กองทุนจึงได้มุ่งเน้นกลุ่มเป้าหมายที่เป็นครัวเรือนสมาชิกและครอบครัวเกษตรกรให้เกิดการพัฒนา เพิ่มรายได้ เศรษฐกิจในครัวเรือนนำมาสู่การแก้ไขปัญหาหนี้สิน โดยที่ผ่านมาได้มีการส่งเสริมเรื่องอาชีพ โดยจัดฝึกอบรมการเลี้ยงสัตว์ (ไก่ สุกร จิ้งหรีด ปลา) จำนวน 20 ครอบครัว ส่งเสริมและสนับสนุนกลุ่มอาชีพมากว่า 50 กลุ่ม ในตำบลให้เข้าถึงสวัสดิการและทุนในการประกอบอาชีพ กลุ่มละ 5,000 – 20,000 บาท โดยมีเงื่อนไขว่าต้องเป็นสมาชิกกองทุนสวัสดิชุมชนจึงจะขอรับสนับสนุนได้ ซึ่งที่ผ่านมามีผู้ได้รับสนับสนุนไปแล้วกว่า 128 ราย ผลที่เกิดขึ้น คือ สมาชิกมีรายได้เพิ่มขึ้น 200 – 300 บาท/วัน ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นไม่ต้องไปออกรับจ้างที่อื่นอีกต่อไป
นอกจากนี้ยังร่วมกับสภาองค์กรชุมชนจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก โดยการสร้างร้านค้าชุมชนขึ้นจำนวน 10 ร้านค้า ใช้งบลงทุนประมาณ 2 แสนบาท เพื่อให้สมาชิก/กลุ่มองค์กรได้เช่า เพื่อขยายผลผลิต/สินค้าในชุมชน เป็นช่องทางในการจัดจำหน่ายสินค้าชุมชน ผลิตภัณฑ์ชุมชน อาหารแปรรูปต่างๆ ซึ่งสามารถสร้างรายได้ให้กับครัวเรือนสมาชิกประมาณ 15 ครอบครัว มีรายได้วันละ 300 – 500 บาท
ร่วมกับสภาองค์กรชุมชนตำบลดำเนินการโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัย (บ้านพอเพียง) เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ยากไร้ที่เป็นสมาชิกกองทุน/ไม่เป็นสมาชิกอุดหนุนเงินเพิ่มเติมในการสร้างบ้านใหม่ซ่อมแซมบ้านเก่า ส่งเสริมพัฒนาผู้มีรายได้น้อยให้ประกอบอาชีพ ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง แก้ปัญหาหนี้สิน
สร้างสถาบันการเงินชุมชน เพื่อขยายผลการส่งเสริมพัฒนากลุ่มอาชีพ และการแก้ไขปัญหาหนี้สินและหนี้นอกระบบของคนในชุมชน โดยกองทุนเป็นหุ้นส่วนใหญ่และมีธนาคารออมสินเป็นผู้สนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนและระบบโปรแกรมการเงิน/บัญชี สร้างร้านค้าชุมชน โดยใช้เงินทุนของสถาบันการเงินและกองทุนสวัสดิการชุมชน แล้วให้สมาชิกผ่อนชำระตามศักยภาพสมาชิก/กลุ่ม
จัดการแก้ไขปัญหาหนี้สินของสมาชิกที่ที่ดินถูกขายทอดตลาด โดยการซื้อไว้และให้เจ้าของได้ประกอบอาชีพผ่อนส่งคืน เดือนละ 1,000 บาท โดยกองทุนได้ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพให้มีรายได้เพื่อสามารถมาไถ่ถอนที่ดินคืนได้ จำนวน 3 แปลง (10 ครอบครัว) เป็นเงิน 350,000 บาท
จากการที่กองทุนได้ดำเนินงานขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในตำบลมาอย่างมากมายหลากหลายนั้น ทำให้กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลหนองม่วงได้รับรางวัล กองทุนสวัสดิการชุมชนผู้สรรค์สร้างความมั่นคงของมนุษย์ ตามแนวคิดของ ศาสตราจารย์ ดร. ป๋วย อึ๊งภากรณ์ “คุณภาพแห่งชีวิต ปฏิทินแห่งความหวัง จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” ประเภทที่ 4 ด้านการพัฒนาการประกอบอาชีพ พัฒนาระบบเศรษฐกิจของครัวเรือนและชุมชน และการแก้ปัญหาหนี้สิน ในปี 2560 ซึ่งเป็นรางวัลที่กองทุนภาคภูมิใจ และสะท้อนให้เห็นการทำงานของกองทุนสวัสดิการชุมชนที่สามารถแก้ไข พัฒนา และสร้างโอกาส สร้างอาชีพ นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิตให้กับคนในชุมชนซึ่งเป็นรากฐานสำคัญในการที่จะทำให้ชุมชนเข้มแข็ง ผู้คนสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน