ตำบลไร่หลักทอง อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี ประชากรส่วนใหญ่มีเชื้อสายมาจากชาว ‘ลาวเวียง’ ซึ่งบรรพบุรุษเป็นชาวเวียงจันทน์ ประเทศลาว อพยพเข้ามาอยู่เมืองไทยในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ แต่ปัจจุบันนี้แทบจะแยกไม่ออกว่าใครมีเชื้อสายมาจากชาวลาวเวียงหรือไทย เพราะมีการแต่งงานผสมกลมกลืนกันไป แต่ชาวบ้านส่วนใหญ่ก็ยังพูดภาษาลาว
ส่วนสภาพเศรษฐกิจของตำบลไร่หลักทองถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ค่อนข้างดี ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนาเป็นหลัก มีอาชีพรอง คือ จักสาน และมีอาชีพเสริมอื่น ๆ อีก เช่น เล่นลิเก ลำตัด กลองยาว เป็นต้น
นายฤทธี ธาราดล รองประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลไร่หลักทอง เล่าว่า สภาองค์กรชุมชนตำบลไร่หลักทองจัดตั้งขึ้นในปี 2551 โดยเริ่มจากการรวมตัวของสมาชิกกองทุนสวัสดิการชุมชน หลังจากนั้นจึงมีสมาชิกจากกลุ่มงานต่างๆ ภายในตำบล เช่น กลุ่มจักสาน กลุ่มผลิตภัณฑ์ และกลุ่มอื่นๆ ในตำบล รวมกัน จนมีสมาชิกสภาองค์กรชุมชนทั้งหมด 25 คน และมีกลุ่มที่จดแจ้งทั้งหมด 23 กลุ่ม ในช่วงแรกสภาองค์กรชุมชนได้ขับเคลื่อนเรื่องการฟื้นฟูวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม
ปี 2559 เริ่มจัดทำแผนโครงการบ้านพอเพียงชนบทเป็นโครงการนำร่องของจังหวัดชลบุรี จากนั้นในปี 2560 จึงเริ่มดำเนินงานโครงการบ้านพอเพียงชนบท โดยเน้นไปที่ครอบครัวที่มีสภาพบ้านทรุดโทรม แต่ยังไม่ได้สำรวจครอบครัวที่มีความเดือดร้อนทั้งหมด โดยได้งบประมาณสนับสนุนการซ่อมแซมบ้านจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. จำนวน 3 หลัง งบประมาณหลังละ 18,000 บาท โดยในปีแรกเป็นการซ่อมสร้างบ้านแบบให้เปล่า
ในช่วงปลายปี 2560 สภาองค์กรชุมชนตำบลจึงเริ่มสำรวจเป็นรายหลังทั้งตำบลเพื่อเสนองบประมาณจาก พอช. ในปี 2561 ส่วนการดำเนินงานของสภาองค์กรชุมชนจะมีเชื่อมโยงการทำงานร่วมกับเครือข่ายภาคีต่างๆ เช่น สถาบันสิ่งทอ กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และมหาวิทยาลัยศิลปากรที่ช่วยให้ความรู้เกี่ยวกับการท่องเที่ยว นอกจากนี้กิจกรรมต่างๆ จะมีวัดในตำบลช่วยสนับสนุน
บ้านก่อนซ่อมสร้าง น.ส.ถวิล อเนก
บ้านนางถวิล อเนก หลังซ่อมเสร็จ
นางสาวถวิล อเนก อายุ 63 ปี เล่าว่า ตนอาศัยอยู่ในบ้านคนเดียวและมีรายได้ไม่เพียงพอ เมื่อตนประสบปัญหาบ้านทรุดก็ไม่มีเงินทุนในการซ่อมแซม ในปี 2560 สภาองค์กรชุมชนเข้ามาสำรวจดูบ้านและจัดสรรงบประมาณมาให้จำนวน 18,000 บาท จึงนำมาซ่อมแซมห้องครัวที่ผุพัง แต่งบที่ได้มาไม่เพียงพอ ทางวัดเกาะแก้วคลองหลวง สนับสนุนงบเพิ่มเติมอีก 20,000 บาท ซึ่งการซ่อมแซมห้องครัวได้มีญาติพี่น้องและแกนนำชุมชนเข้ามาช่วยกันลงแรงจนแล้วเสร็จ รู้สึกดีใจและขอบคุณสภาองค์กรชุมชนตำบลที่ได้เข้ามาช่วยเหลือทำให้บ้านมีสภาพดีขึ้น
นางทองใบ ฉลอง อายุ 62 ปี เล่าว่า สภาพบ้านก่อนได้รับการช่วยเหลือนั้นค่อนข้างทรุดโทรม หลังคาบ้านรั่วและฝาผนังบ้านผุ ต่อมาในปี 2560 สภาองค์กรชุมชนเข้ามาสำรวจสภาพบ้าน และได้รับการสนับสนุนเงิน 18,000 บาท จึงนำเงินไปซื้ออุปกรณ์นำมาซ่อมแซมหลังคาบ้านจนแล้วเสร็จ รู้สึกดีใจและขอขอบคุณทางสภาองค์กรชุมชนที่ให้การช่วยเหลือในครั้งนี้
การที่สภาองค์กรชุมชนได้ดำเนินงานขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาคุณภาพชีวิตของชาวชุมชน โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยภายใต้โครงการบ้านพอเพียงชนบทของคนในชุมชนนั้น ทำให้คนในชุมชนที่ได้รับการช่วยเหลือต่างดีใจและขอบคุณสภาองค์กรชุมชนที่ได้ให้การช่วยเหลือในครั้งนี้ และทำให้บทบาทของสภาองค์กรชุมชนตำบลหลักแหลมได้รับการยอมรับจากชาวชุมชน
นายทศพร หลักแหลม