ชุมชน/ท้องถิ่นเป็นฐานหลักของสังคม แนวคิดการพัฒนาระดับชุมชนและท้องถิ่นให้เข้มแข็ง น่าอยู่ ปลอดภัย มีพัฒนาการพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ทั้งด้านสังคม การศึกษา วัฒนธรรม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม จะส่งผลให้ประชาชนในชุมชนมีสุขภาวะที่ดี และหากทุกชุมชน/ท้องถิ่นมุ่งมั่นดำเนินการอย่างกว้างขวาง ประเทศไทยก็จะพัฒนาอย่างมีทิศทาง เป็นประเทศที่น่าอยู่ที่สุด
ชุมชนจะเข้มแข็ง น่าอยู่ และพึ่งตนเองได้ ต้องอาศัยความรับผิดชอบ การเรียนรู้ ร่วมคิดร่วมทำ ตลอดจนอาศัยความร่วมมือและข้อมูลทางวิชาการจากหน่วยงานในท้องถิ่นไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐหรือเอกชน เพื่อปรับเปลี่ยนวิธีคิด ปรับพฤติกรรมการผลิตและการบริโภคโดยยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง รักษาสิ่งแวดล้อม เน้นการพึ่งตนเอง เป็นสังคมเอื้ออาทร พึ่งพาอาศัยกันได้ และไม่ทอดทิ้งกัน
สภาองค์กรชุมชนตำบลชะมาย จัดทำขึ้นแผนงานจัดการขยะเพื่อแสดงให้เห็นถึงกระบวนการชุมชนที่ผสมผสานการทำงานและใช้แนวคิดหลักการข้างต้นเพื่อพัฒนาทุนปรับปรุงปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อชุมชน ในการมุ่งให้ประชาชนในชุมชนมีสุขภาวะครบ 4 มิติ ทั้งทางกาย ใจ สังคม และ ปัญญา
ทั้งนี้ ในพื้นที่อำเภอทุ่งสง เป็นชุมชนที่มีชื่อเสียงในฐานะที่เป็นชุมทางการคมนาคมทั้งทางรถยนต์และชุมทางรถไฟ ผลของการเป็นชุมทางส่งผลให้เมืองทุ่งสงเจริญมากขึ้นและเต็มไปด้วยผู้คนที่มาจากทั่วสารทิศ จากสภาพการเป็นเมืองขนาดใหญ่มีประชากรในเขตอำเภอทุ่งสง 153,441 คน จากการเพิ่มขึ้นของประชากรและการขยายตัวของภาคธุรกิจต่าง ๆ ทำให้แนวโน้มของปัญหาต่างๆ มากยิ่งขึ้นในอนาคต จากการค้นหาปัญหาในพื้นที่ พบว่าทุ่งสงเป็นชุมชนเมืองมีประชากรเพิ่มมากขึ้นและก่อให้เกิดปัญหาเรื่องปริมาณขยะที่มูลฝอยมีเพิ่มมากทั้งในเขตชุมชนและท้องถิ่นทุกระดับ ปัญหาเรื่องปริมาณขยะมูลฝอยที่มีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นทุก ๆ ปี ยังคงเป็นปัญหาที่สำคัญในพื้นที่ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมของชุมชนและให้เกิดผลกระทบด้านต่าง ๆ ตามมา การจัดการขยะมูลฝอยยังคงเป็นปัญหาที่สำคัญของอำเภอทุ่งสง เนื่องจากสาเหตุหลายประการ อาทิ การต่อต้านจากประชาชนจนไม่สามารถเข้าใช้พื้นที่เพื่อการจัดการขยะมูลฝอยได้ การขาดแคลนเครื่องมือและอุปกรณ์ในการเก็บรวบรวมขนส่ง ปัญหาการขนย้ายขยะไปยังจุดพักรวมขยะและค่าใช้จ่ายในการขนขยะจากจุดพักรวมขยะไปยังสถานที่กำจัด รวมทั้งขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนในท้องถิ่นในการจัดการขยะมูลฝอย ซึ่งส่งผลกระทบที่ก่อให้เกิดปัญหาทางสภาพแวดล้อมเป็นพิษและก่อให้เกิดผลกระทบด้านต่าง ๆ ตามมา เช่น ปัญหากลิ่นเหม็น ปัญหาน้ำเสีย ปัญหาด้านสุขภาพและความปลอดภัยของประชาชน เป็นสิ่งควรตระหนักและดำเนินการแก้ไขอย่างเร่งด่วน
สภาองค์กรชุมชนตำบลชะมาย จึงวิเคราะห์ว่า หากมีกระบวนการแก้ปัญหาจะเหตุและปัจจัย จะสามารถแก้ไขปัญหราได้อย่างยั่งยืน และดำเนินการจนได้สัมฤทธิผล ประกอบด้วย
ปัจจัยที่เป็นสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับ
- คน:คนตำบลชะมายร่วมมือกันลดการเกิดของปริมาณขยะให้ลดลง เช่น การปฏิเสธการรับถุงพลาสติกใส่สินค้าจากร้านค้าต่างๆ และหันมาใช้ตะกร้าและถุงผ้าแทน เมื่อมีขยะเกิดขึ้นควรคัดแยกและนำกลับมาใช้ใหม่ให้เกิดประโยชน์ซึ่งจากการวิจัยพบว่า จะทำให้ปริมาณขยะลดลงถึง ร้อยละ 30 ส่วนที่เหลือควรมีการจัดการอย่างถูกวิธี และหากองค์กรและชุมชนให้ความร่วมมือในการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้คุณค่าและตระหนักในกิจกรรมดังกล่าว นอกจากจะช่วยลดปริมาณขยะให้น้อยลง ยังเป็นการรักษาสิ่งแวดล้อมและเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้แก่ชุมชนและท้องถิ่น รวมทั้งเป็นการร่วมกันสร้างความยั่งยืนในการจัดการขยะในเขตเมืองทุ่งสงอีกด้วย
- สภาพแวดล้อม
จากการดำเนินงาน ในการการพัฒนาศักยภาพการดูแลตนเองด้านสุขภาพและสภาพการทำงานของผู้ประกอบอาชีพรักษ์สะอาดในเขตอำเภอทุ่งสง พบว่า ปัญหาขยะมูลฝอยในชุมชนเมืองทุ่งสงได้ทวีความรุนแรงมากขึ้นเป็นลำดับ โดยเฉพาะในเขตที่มีปริมาณประชากรหนาแน่น ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากปริมาณขยะมูลฝอยที่เพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว เทศบาลตำบลชะมายเป็นอีกตำบลหนึ่งที่ได้มีการเพิ่มขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว ทำให้ปริมาณของขยะมีมากถึง 422.4 ตัน/เดือน ที่ต้องฝังกลบโดยมีค่าใช้จ่ายในการฝังกลบเดือนละ 130,000 บาท ซึ่งค่าใช้จ่ายนี้ยังไม่รวมค่าแรงงาน ค่ารถในการขนย้าย และในแต่ละปียังมีแนวโน้มปริมาณขยะเพิ่มมากขึ้น
- กลไก: ฝ่ายอาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม โรงพยาบาลทุ่งสง และเทศบาลตำบลชะมาย ซึ่งรับผิดชอบงานด้านการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคจากสิ่งแวดล้อมได้เล็งเห็นปัญหาดังกล่าวโดยใช้มิติทางสังคมและสิ่งแวดล้อมที่สังคมโลกกำลังให้ความสนใจจากกระแสภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และจากปัญหาขยะที่ล้นเมืองทุ่งสง โดยการแสวงหาความร่วมมือจากองค์กรทั้งภาครัฐ และเอกชน เข้ามาผนึกกำลังหรือบูรณาการในการแก้ปัญหาร่วมกัน จึงได้จัดทำโครงการทุ่งสงรักษ์สะอาดลดโลกร้อน ด้วยความร่วมมือจากหน่วยงานภาคส่วนต่างๆ เช่น ห้างสรรพสินค้า โรงเรียน สถานีบริการน้ำมัน โรงแรม สถานประกอบการภาครัฐและเอกชน ชมรมผู้ประกอบการค้าอาหารอำเภอทุ่งสง ชมรมทุ่งสงรักษ์สะอาด ในการสร้างจิตสำนึกให้ประชาชน ครัวเรือน องค์กรและชุมชน ร่วมลดปริมาณการผลิตขยะให้ลดลง และมีการคัดแยกขยะและจัดการขยะอย่างถูกวิธี และสนับสนุนให้ประชาชน ครอบครัว องค์กรและชุมชนให้เกิดแรงจูงใจให้ดำเนินกิจกรรมเหล่านี้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืนต่อไป
จากการดำเนินงานได้รับความร่วมมือจากหลากหลายหน่วยงาน โดยเฉพาะทางเทศบาลตำบลชะมายได้รับการบรรจุในแผนพัฒนาท้องถิ่นระยะ 4 ปี (พ.ศ. 2561 – 2564) ในเรื่องที่สำคัญได้แก่ (1) โครงการบูรณาการเพื่อจัดการขยะอย่างยั่งยืน เพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในพื้นที่และสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการอนุรักษ์และจัดการทรัพยากรฯ จำนวน 141,500 บาท และ (2) โครงการส่งเสริมและสนับสนุนการจัดทำแผนชุมชนเพื่อขับเคลื่อนแผนชุมชนสู่การพัฒนาท้องถิ่นและจังหวัดแบบบูรณการ จำนวน 30,000 บาท เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดทำแผนชุมชนและนำแผนไปใช้บริหารจัดการในชุมชนตัวเอง
ทั้งนี้ ภายหลังจากการดำเนินการพบว่า มีเป้าหมายการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในชุมชน ประกอบด้วย
- ได้รับทราบข้อมูลปัญหาจากขยะที่เกิดขึ้นในพื้นที่เพื่อนำมาใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการจัดทำแผนงานและต่อยอดโครงการต่อไป
- ได้รูปแบบการบริหารจัดการขยะที่เป็นต้นแบบร่วมกันระหว่างห้างสรรพสินค้าและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
- เกิดประโยชน์แก่ผู้เข้าร่วมกิจกรรม เช่นได้คัดแยกขยะในครัวเรือน/หน่วยงาน ได้ลดค่าใช้จ่ายเพิ่มรายได้ และเกิดประโยชน์กับชุมชนที่ได้ริเริ่มในการจัดกาารขยะและสิ่งแวดล้อมเพื่อให้ชุมชนน่าอยู่
ผลลัพธ์
- เกิดการคัดแยกขยะที่เกิดขึ้นจริงและต่อเนื่องที่ห้างสรรพสินค้าสหไทย ทำให้เกิดความสะดวกรวดเร็วในการจัดเก็บ ลดเวลาการทำงาน ลดรายจ่ายเพิ่มรายได้จากการจัดการขยะ เช่น ห้างสหไทยลดค่าใช้จ่ายในการจ้างเทศบาลมาจัดเก็บขยะ เทศบาลนำขยะที่แยกแล้วไปทำปุ๋ยหมักซึ่งเป็นการเพิ่มมูลค่าของขยะและสามารถนำมาใช้ในครัวเรือน/หน่วยงาน/ห้างสรรพสินค้า
- มีการเชื่อมโยงเครือข่ายที่หลากหลายภารกิจมาทำงานร่วมกัน เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมในชุมชน มีการร่วมคิดร่วมทำระหว่าง สภาองค์กรชุมชนห้างสหไทย เทศบาล และโรงพยาบาล มีส่วนร่วมกระตุ้นให้เกิดกิจกรรมแบ่งบทบาทหน้าที่กัน
- มีกฎ กติกา โดยเทศบาลกำหนดเป็นเทศบัญญัติให้ครัวเรือน/องค์กรที่เข้าร่วมจะได้ลดค่าบริการจัดเก็บขยะและได้ใช้ปุ๋ยหมักจากขยะในราคาถูก
- มีบุคคลต้นแบบและปราญช์ชุมชนเกิดขึ้น มีหมอดินคิดสูตรปุ๋ยอินทรีย์ลดต้นทุนการผลิตและลดโลกร้อนจากการแปรสภาพเศษขยะต่างๆ มาเป็นปุ๋ย
- เกิดความรู้ใหม่มีการคิดค้นการใช้เชื้อจุลินทรีย์จากยาคูลแทนหัวเชื้อ
นางลัดดา ผาสุก เลขานุการสภาองค์กรชุมชนเทศบาลตำบลชะมาย
โทร.081-1883255