ตามหนังสือ ชุดท่าศาลาคดีศึกษา ด้วยรักและภูมิใจในแผ่นดิน ท่าศาลา 100 ปี พ.ศ. 2541 โดยอาจารย์บุญเสริม แก้วพรหม ได้เขียนไว้ในหน้า 13 ทำไมจึง “ ท่าศาลา ” ไว้ว่า บ้านท่าศาลา คือ ชื่อหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ริมคลองท่าศาลา ซึ่งเป็นคลองเล็ก ๆ แยกจากคลองท่าสูง เป็นท่าจอดเรือสินค้าจากต่างเมือง และมีศาลาพักร้อนปลูกอยู่ที่ท่าจอดเรือ “ ท่าศาลา ” จึงชื่อหมู่บ้านตามนัยนี้ และเมื่อย้ายที่ตั้งจากวัดเตาหม้อมาตั้งที่หมู่บ้านนี้จึงเปลี่ยนเป็นชื่ออำเภอเป็น “ อำเภอท่าศาลา ” ไปตามหมู่บ้าน
ปัจจุบันมีศาลาซึ่งเป็นพื้นคอนกรีต มุงกระเบื้อง เป็นศาลาถาวรตั้งอยู่ริมคลองท่าศาลา บริเวณท่าจอดเรือสมัยก่อนอยู่หลังหนึ่ง เรียกว่า “ ศาลาน้ำ ” (ศาลาดังกล่าวได้รับการปรับปรุงโดยสุขาภิบาลท่าศาลา) คำว่า “ ท่าศาลา ” นั้นเป็นคำที่ออกเสียงตามภาษากลางซึ่งเป็นภาษาราชการ แต่ภาษาใต้ซึ่งเป็นภาษาพูดของคนนครฯ โดยทั่วไปนั้น คงเรียกว่า “ ท่าหลา ” นั้นเอง
เนื้อที่
ตำบลท่าศาลา อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช มีเนื้อที่โดยประมาณ 16 , 775 ไร่ (26.84 ตารางกิโลเมตร) สภาพพื้นที่เป็นที่ราบชายฝั่งทะเลเป็นหาดทรายสลับกับป่าชายเลน มีความยาวไปตามแนวชายฝั่งทะเลจากเหนือจรดใต้ ตั้งแต่หมู่ที่ 10 หมู่ที่ 4 หมู่ที่ 5 หมู่ที่ 6 หมู่ที่ 9 และมีลักษณะเป็นดินเลนทับถม ในหมู่ที่ 7 , 14 และหมู่ที่ 8 ส่วนทางทิศตะวันตกมีลักษณะเป็นที่ราบลุ่มเหมาะแก่การทำนาในพื้นที่หมู่ที่ 1 และหมู่ที่ 3 มี 15 หมู่บ้าน ประชากรทั้งสิ้น 28,700 คน ซึ่งเป็นผู้สูงอายุกว่าร้อยละ 37
สภาองค์กรชุมชนตำบลท่าศาลา จึงมีแนวทางในการพร้อมรับสังคมผู้สูงอายุ จัดตั้งชมรมผู้สูงอายุและโรงเรียนผู้สูงอายุ เพื่อสร้างสวัสดิการและส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งปัจจุบันจำนวนผู้สูงอายุมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ
อ้างอิงจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้ประมาณการณ์ในปีนี้ 2567 ประเทศไทยจะ มีผู้สูงอายุมากกว่าร้อยละ 20 ของประชากรทั้งประเทศ นั่นหมายความว่าเราจะกลายเป็นสังคมอายุโดยสมบูรณ์ จึงจำเป็น อย่างยิ่งที่หลายฝ่ายต้องหันมาให้ความสำคัญของคนกลุ่มนี้ ไม่ว่าเป็นการจัดสวัสดิการ การดูแลสุขภาพอนามัย รวมไปถึงการแก้ไขปัญหาผู้สูงอายุถูกทอดทิ้ง ซึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจ สังคม วิถีชีวิต และครอบครัว เดิมที่เคยอยู่กันอย่างอบอุ่น กลับกลายมาเป็นวิถีชีวิตแบบสังคมเมืองที่ต่างคนต่างอยู่ ทำให้ความสำคัญของผู้สูงอายุน้อยลง ซึ่งส่งผลกระทบต่อจิตใจผู้สูงอายุ ถือเป็นปัญหาที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกันแก้ไข และเตรียมตัวเพื่อให้พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่เริ่มเกิดขึ้นแล้ว
สภาองค์กรชุมชนตำบลท่าศาลา ได้บูรณาการแผนงานร่วมกับสำนักงานเทศบาลตำบลท่าศาลา ซึ่งเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีภารกิจหลักในการส่งเสริมการพัฒนาในทุกช่วงวัย อีกทั้งยังมีความใกล้ชิดประชาชนมากที่สุด รับทราบและเข้าใจปัญหาของคนในพื้นที่เป็นอย่างดี จึงได้มีการจัดตั้งชมรมผู้สูงอายุเทศบาลตำบลท่าศาลาขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการรวมกลุ่มของผู้สูงอายุในการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ด้วยการทำงานอดิเรก ทำกิจกรรมสันทนาการที่เหมาะสมตามความสนใจ ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุขและเป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น ซึ่งจะส่งผลต่อสุขภาพจิตที่ดีของผู้สูงอายุ ตลอดจนสร้างเสริมความรู้ความเข้าใจและให้คำแนะนำปรึกษาเกี่ยวกับสุขภาพอนามัยเพื่อป้องกันการเจ็บป่วย บรรเทาโรคภัยไข้เจ็บ และรู้เท่าทันการเสื่อมสภาพของร่างกาย ทั้งนี้ผู้สูงอายุที่เป็นสมาชิกของชมรมยังมีสิทธิได้รับสวัสดิการด้วยอาทิ ของเยี่ยมกรณีนอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล และเงินสงเคราะห์ศพในกรณีเสียชีวิต รวมทั้งการเชื่อมโยงกับกองทุนสวัสดิการชุมชน ในการจัดสวัสดิการต่าง ๆ ให้ครอบคลุมเหมาะสมกับสภาพสังคมในปัจจุบันมากขึ้น
นอกจากนี้แล้วยังมีการจัดตั้งโรงเรียนผู้สูงอายุตำบลท่าศาลาขึ้นด้วย เพื่อทำงานคู่ขนานไปกับชมรมผู้สูงอายุกล่าวคือเป็นการดูแลทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจไปพร้อม ๆ กัน ซึ่งกิจกรรมที่จัดนั้นจะดูความสนใจของผู้สูงอายุเป็นหลัก อีกทั้งคำนึงถึงผลประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน เพื่อให้ผู้สูงอายุได้มีโอกาสก้าวออกจากบ้านมาทำกิจกรรมร่วมกัน เกิดกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่มีลักษณะการถ่ายทอดองค์ความรู้และประสบการณ์ที่สั่งสมแก่บุคคลอื่น ตลอดจนสืบสานภูมิปัญญาให้คงคุณค่าแก่ชุมชนและลูกหลานต่อไป
การเปิดดำเนินการ ได้เชื่อมโยงกับ ศูนย์บริการวิชาการ ม.วลัยลักษณ์ ร่วมกับ องค์การบริหารส่วนตำบลท่าศาลาและภาคีเครือข่าย เปิดโรงเรียนพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุตำบลท่าศาลา เพื่อส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุตำบลท่าศาลา ทั้งด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมและการถ่ายทอดภูมิปัญญาและวัฒนธรรมท้องถิ่น เพื่อรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งมีผู้สูงอายุสมัครเป็นนักเรียน จำนวน 56 คน (เมื่อปี 2561) มี นายชัยศักดิ์ สุจริตธนารักษ์ ปลัดอาวุโสอำเภอท่าศาลา เป็นประธานในพิธี นายอภินันท์ เชาวลิต นายกองค์การบริหารส่วนตำบลท่าศาลา กล่าวรายงาน พร้อมด้วย นายแพทย์กิตติ รัตนสมบัติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลท่าศาลา และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อมรศักดิ์ สวัสดี ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการ ม.วลัยลักษณ์ พร้อมด้วยประชาชนและแขกผู้มีเกียรติ ร่วมพิธีเปิด เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2561 ที่ผ่านมา ณ ศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ
ในส่วนองค์การบริหารส่วนตำบลท่าศาลา ได้รับการบรรจุในแผนพัฒนาท้องถิ่น 3 ปี (ปี 2560 – 2562) ได้แก่ (1) โครงการเงินอุดหนุนกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลท่าศาลา จำนวน 300,000 บาท เพื่อให้ประชาชนมีหลักประกันความมั่นคง ทำให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็ง (2) โครงการก่อตั้งโรงเรียนพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ จำนวน 100,000 บาท เพื่อส่งเสริมการศึกษาและการเรียนรู้สำหรับผู้สูงอายุ และ (3) อุดหนุนงบประมาณตามโครงการส่งเสริมอาชีพกลุ่มอาชีพต่างๆ จำนวน 200,000 บาท เพื่อให้กลุ่มอาชีพและกลุ่มเกษตรกรมีการพัฒนาอาชีพและสร้างรายได้ให้กับกลุ่ม
ตำบลท่าศาลา ได้มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2548 อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากอัตราการเกิดลดลง และความก้าวหน้าทางการแพทย์และสาธารณสุข ทำให้ประชาชนอายุยืนยาวขึ้น ดังนั้นจึงต้องมีการเตรียมความพร้อมของประชาชนเพื่อก้าวเข้าสู่วัยสูงอายุอย่างมีคุณภาพตั้งแต่วัยทำงาน โดยต้องมีการเตรียมความพร้อมในทุกด้าน ตั้งแต่การสร้างหลักประกันด้านรายได้และการออมในช่วงวัยทำงานให้เพียงพอสำหรับการดำรงชีพในวัยเกษียณหรือวัยสูงอายุ การสร้างพฤติกรรมสุขภาพที่เหมาะสมกับวัย การปรับสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยให้เหมาะสม ปลอดภัยสำหรับผู้สูงอายุ และการเตรียมความพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงและวางแผนชีวิตอย่างมีคุณค่า บนพื้นฐานของการพึ่งพาตนเอง
ศูนย์บริการวิชาการ ร่วมกับสำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ ศูนย์เทคโนโลยีดิจิทัล มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ องค์การบริหารส่วนตำบลท่าศาลา และภาคีเครือข่าย จัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ ในรูปแบบการจัดตั้งโรงเรียนผู้สูงอายุขึ้น ในตำบลท่าศาลา อันเป็นกิจกรรมส่วนหนึ่งของโครงการบูรณาการเสริมสร้างคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุในชุมชนท้องถิ่น พื้นที่อำเภอท่าศาลา ซึ่งดำเนินงานร่วมกันมาตั้งแต่ปีงบประมาณ 2558 จนถึงปัจจุบัน จนเกิดเป็นการก่อตั้งโรงเรียนผู้สูงอายุ ตำบลท่าศาลาในวันนี้ ม.วลัยลักษณ์ ได้ให้การสนับสนุนงานทุกอย่างที่เกี่ยวกับชุมชน ถือเป็นโอกาสอันดีที่ผู้สูงอายุจะได้ออกมาทำกิจกรรมนอกบ้าน พบปะเพื่อนพ้อง เพื่อเสริมสร้างสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง และทำกิจกรรมอันเกิดประโยชน์ต่อ สังคม ชุมชน ผู้สูงอายุรู้สึกดีใจเป็นอย่างมากที่ได้เห็นรอยยิ้มของนักเรียนผู้สูงอายุ ในฐานะหน่วยงานการศึกษาเห็นว่า กิจกรรมนี้เป็นประโยชน์ต่อชุมชน และมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ยินดีให้ความช่วยเหลือ สนับสนุนกิจกรรมต่างๆของทางโรงเรียน นอกจากนี้ได้มีการเชื่อมโยงกับเด็กและเยาวชนจากบ้านสระบัว การแสดงนาฏศิลป์จากชมรมศิลปวัฒนธรรมเทศบาลตำบลท่าศาลา และการแสดงจากนักเรียนโรงเรียนผู้สูงอายุอีกด้วย
ผู้ประสานงาน นายทักษิณ หมินหมัน 098-6903682