เดิมบ้านทรายแดงเป็นชุมชนขนาดเล็กและสาเหตุที่เรียกว่า“บ้านทรายแดง”เพราะว่าสมัยก่อนที่ปากคลองซอยท่าครอบมีหาดทรายแดงเม็ดทรายสีแดงอมทองชาวบ้านก็เรียกว่าทรายแดง แต่ปัจจุบันนี้บริเวณดังกล่าวถูกดินทับถม และได้ประกาศจัดตั้งเป็นตำบลทรายแดง
ตำบลทรายแดง แยกได้เป็น 2 ลักษณะ คือ สภาพภูเขาทอดแนวยาวจากเหนือจรดใต้อยู่ทางฝั่งตะวันออกของตำบล ลาดลงฝั่งตะวันตก ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัย และพื้นที่ทำการเกษตรจนถึงป่าชายเลน ซึ่งเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำต่าง ๆ
ตำบลทรายแดง เป็นลักษณะป่าภูเขา มีต้นไม้ปกคลุมหนาแน่น จึงเป็นต้นกำเนิดแหล่งน้ำในการบริโภคอุปโภคและการเกษตรมีพื้นที่รวมกันประมาณ 19,187.5 ไร่
ตำบลทรายแดง ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของอำเภอห่างจากที่ว่าการอำเภอเมืองระนอง ประมาณ 25 กิโลเมตร มีพื้นที่ทั้งหมด 29,600 ไร่ มีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้ทิศเหนือติดต่อตำบลบางแก้ว อำเภอละอุ่น ทิศตะวันออก ติดต่อ ตำบลบางพระใต้ อำเภอละอุ่น ทิศตะวันตก ติดต่อ แนวเขตชายแดนไทย – พม่า ทิศใต้ ติดต่อ ตำบลบางนอน,ตำบลปากน้ำ อำเภอเมืองระนอง
ตำบลทรายแดง มีจำนวนครัวเรือนทั้งหมด 1,271 ครัวเรือน มีประชากรทั้งสิ้น 4,047 คน แบ่งเป็น ชาย 2,071 คน หญิง 1,976 คน นอกจากนี้ยังมีประชากรแฝง กระจายอยู่ในเขตพื้นที่ตำบลทรายแดง เกือบทั้งหมดเป็นแรงงานพม่าซึ่งเข้ามารับจ้างในกิจการที่มีคนไทยเป็นเจ้าของ
ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ส่วนใหญ่ ประกอบอาชีพทางด้าน การเกษตรกรรม และการประมง พืชเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ ยางพารา มะพร้าว สะตอ ปาล์ม มังคุด ฯลฯ และมีการทำประมงชายฝั่งตลอดแนวเขตริมแม่น้ำกระบุรี ข้อมูลการเกษตร มีพื้นที่ทั้งหมด 29,600 ไร่ พื้นที่ทำการเกษตร 8,259 ไร่ พื้นที่ป่าไม้ 19,188 ไร่ อื่น 2,153 ไร่
สภาองค์กรชุมชนตำบลทรายแดงจัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2551 ภายใต้ พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551 โดยมีนาย ทรงศักดิ์ แสงทัง เป็นประธาน มีกลุ่มร่วมจดแจ้งจำนวน 11 กลุ่ม ครอบคลุม 4 หมู่บ้าน มีสมาชิกสภาฯ 16 คน ซึ่งหลังจากได้จัดตั้งแล้วสภาองค์กรชุมชนได้จัดประชุมเพื่อวิเคราะห์ศักยภาพของพื้นที่และจัดทำเป็นแผนพัฒนาตำบล โดยจากการวิเคราะห์ สภาพแวดล้อมภายใน โดยประเมินศักยภาพของทรัพยากร สมรรถนะในการใช้ทรัพยากร สภาพแวดล้อมทั่วไป และการพัฒนาองค์การ
ทางคณะทำงานสภาองค์กรชุมชนทรายแดงร่วมกับตัวแทนส่วนท้องถิ่น ท้องที่ช่วยกันวิเคราะห์กำหนดเป้าหมายและแผนการพัฒนาตำบลในระยะ 3 ปีร่วมกันดังนี้
ภาพตำบลที่อยากเห็นในอนาคต ตำบลน่าอยู่ ควบคู่การพัฒนา ประชามีสุข
แนวทางการพัฒนาตำบล คือประสานความร่วมมือกับท้องถิ่น พัฒนาผู้นำ คนทำงาน พัฒนาปรับปรุงแผนตำบล และมีการประชุมสภาฯต่อเนื่อง โดยมีการวางแผนดำเนินงาน 3 ปี คือ พัฒนาท่องเที่ยว พัฒนาที่อยู่อาศัยผู้ด้อยโอกาส พัฒนาศักยภาพผู้นำ การแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน
การแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัย
จากสภาพปัญหาสำคัญในพื้นที่ตำบลทรายแดงคือปัญหาบ้านที่อยู่อาศัยโดยเฉพาะของคนยากจนที่ไม่มีความมั่นคง ปลอดภัยเพียงพอสำหรับการดำรงชีวิต ซึ่งปัญหานี้กระจายอยู่ในทุกหมู่บ้าน ทางคณะทำงานสภาองค์กรชุมชนจึงได้ร่วมประชุมหารือกันและจัดทำแผนงานโครงการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยของตำบลทรายแ ดงขึ้นมา โดยมีแนวทางแผนการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยดังนี้
- เพื่อแก้ปัญหาต่อยอดจากโครงการที่ดินทำกินด้านที่อยู่อาศัยแก่ผู้ด้อยโอกาส/ผู้ยากไร้
- เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงกองทุนที่ดิน กองทุนสวัสดิการ และกองทุนอื่นๆในตำบล
- เพื่อให้เกิดแผนพัฒนาเรื่องที่อยู่อาศัยแก่ผู้ด้อยโอกาส/ผู้ยากไร้ในตำบลและผลักดันเข้าสู่แผนท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ภายใต้แผนการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยนี้กำหนดเป้าหมายการซ่อมแซมและสร้างบ้านไว้คือ ในปี 2561 จำนวน 20 หลัง ปี 2562 จำนวน 10 หลัง และปี 2563 จำนวน 10 หลัง โดยที่มีขั้นการดำเนินงานดังนี้
- ประชุมเพื่อทำความเข้าใจระดับตำบล
- ลงพื้นที่สำรวจข้อมูลผู้เดือดร้อนตามแบบฟอร์มสำรวจที่อยู่อาศัย
- รวบรวมข้อมูลผู้เดือดร้อน ประชุมคณะกรรมการตำบล เพื่อคัดเลือกและจัดลำดับความสำคัญ
- แต่งตั้งคณะกรรมการ 4 ฝ่าย ได้แก่ คณะกรรมการตรวจสอบและประเมินวัสดุ, คณะกรรมการจัดซื้อจัดจ้าง, คณะกรรมการตรวจรับงาน,คณะกรรมการติดตามและประเมินผล
- คณะกรรมการตำบลลงพื้นที่สำรวจข้อเท็จจริง พร้อมถ่ายรูปบ้าน จับพิกัด GPS จุดที่จะซ่อม ประเมินวัสดุที่ใช้
- รวบรวมข้อมูลวัสดุ-อุปกรณ์ในการก่อสร้าง
- จัดหาวัสดุ-อุปกรณ์ในการก่อสร้าง
- ติดตามผลการดำเนินงานโดยสภาองค์กรชุมชน
นายสมคิด เพ็งบางแกะ บ้านเลขที่ 4/1 ม.4 ต.ทรายแดง อ.เมือง จ.ระนอง
นายสุโข พรหมมุนี บ้านเลขที่ 3/5 ม.3 ต.ทรายแดง อ.เมือง จ.ระนอง
จากการดำเนินซ่อมแซมบ้านผู้ยากไร้ในพื้นที่ สามารถดำเนินการซ่อมแซมบ้านให้มีความมั่นคง ปลอดภัยในการดำรงชีวิตของผู้ยากไร้ในตำบลได้ในระยะแรกจำนวน 20 หลัง โดยในการดำเนินงานได้มีการลงแรงช่วยเหลือกันในส่วนของแรงงาน ช่างต่างๆเนื่องจากมีงบประมาณสนับสนุนเฉพาะค่าวัสดุอุปกรณ์เท่านั้น โดยในระยะแรกมีผู้ยากไร้ได้รับการช่วยเหลือดังนี้ หมู่ที่ 1 จำนวน 11 หลัง หมู่ที่ 2 จำนวน 6 หลัง หมู่ที่ 3 จำนวน 7 หลัง และหมู่ที่ 4 จำนวน 2 หลัง โดยมีข้อตกลงการคืนทุน คือเป็นเงินทุนหมุนเวียนและไม่มีดอกเบี้ย หลังจากเสร็จสิ้นโครงการ 3 เดือน ต้องคืนทุนภายใน 5 ปี และยกเว้นการคืนทุน 3 หลัง เนื่องจากเป็นผู้สูงอายุ ผู้พิการ
ผู้รับผลประโยชน์ที่เสนอโครงการบ้านพอเพียง ประกอบด้วย 4 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านทรายแดง 11 ครัวเรือน
บ้านหินดาด 6 ครัวเรือน บ้านน้ำตก 7 ครัวเรือน และบ้านบางสีกิ้ม
ทั้งนี้ทางสภาองค์กรชุมชนตำบลทรายแดงได้จัดให้มีพิธีมอบบ้านพอเพียงชนบทให้แก่ผู้ยากไร้ที่ซ่อมแซมบ้านเสร็จแล้วขึ้น โดยมีผู้ช่วยผู้อำนวยการภาคใต้ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน สมาชิกอบต. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชนและระชาชนเข้าร่วมกว่า 40 คน ซึ่งประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลได้เน้นย้ำว่าการดำเนินงานบ้านพอเพียงนี้เน้นการสร้างความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัยให้คนยากจนในตำบลเป็นหลัก โดยการสนับสนุนงบประมาณจาก สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนในระยะแรกและจะมีการคืนทุนกลับมาเป็นกองทุนที่อยู่อาศัยตำบลที่จะช่วยเหลือผู้เดือดร้อนรายต่อไปอีก
การประสานความร่วมมือ
การดำเนินงานของสภาองค์กรชุมชนในการพัฒนาด้านที่อยู่อาศัยเพื่อให้คนผู้ยากไร้ในตำบลได้มีที่อยู่ที่มั่นคง แข็งแรงปลอดภัย นั้น ได้รับความร่วมมือที่ดีจากองค์การบริหารส่วนตำบล กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และผู้นำชุมชนทุกหมู่บ้านเป็นอย่างดีในการร่วมมือกันลงแรงซ่อมแซมบ้านกลุ่มเป้าหมาย รวมทั้ง พอช. ที่สนับสนุนงบประมาณในการดำเนินงาน ในขณะเดียวกันคณะทำงานสภาองค์กรชุมชนได้จัดทำข้อเสนอการพัฒนาตำบลเสนอต่อองค์การบริหารส่วนตำบลทรายแดง เพื่อให้บรรจุในแผน 4 ปี (ปี 2561 – 2564) ซึ่งส่งผลให้ทางองค์การบริหารส่วนตำบลทรายแดง นำเข้าบรรจุในแผน 4 ปี ที่สำคัญได้แก่ (1) สนับสนุนการจัดการเอกสารสิทธิ์ที่ดินจำนวน 250,000 บาท เพื่อสนับสนุนการสำรวจข้อมูลที่ดินและเสนอการแก้ไขปัญหาที่ดิน (2) สนับสนุนการซ่อมแซมบ้านที่อยู่อาศัยผู้มีอรายได้น้อย จำนวน 400,000 บาทเพื่อสนับสนุนวัสดุการซ่อมแซมปรับปรุงต่อเติมบ้านผู้มีรายได้น้อยในตำบล
สิ่งที่ค้นพบจากการดำเนินงาน 1) เกิดความร่วมมือกันในดีในชุมชนทั้งภาคส่วนชุมชนโดยสภาองค์กรชุมชน ท้องถิ่น ท้องที่และสมาชิก โดยเฉพาะการลงแรงช่วยเหลือซ่อมแซมบ้านผู้เดือดร้อน 2) การจัดทำแผนพัฒนาตำบลทำให้สมาชิกเห็นเป้าหมายและแนวทางเดินร่วมกัน 3)สภาองค์กรชุมชนเป็นที่รู้จักของคนในตำบลและหน่วยงานมากขึ้น
อุปสรรคในการดำเนินงาน 1) งบประมาณมีจำกัดทำให้ไม่เพียงพอกับความต้องการของประชาชนผู้เดือดร้อน 3)การประสานงานทำได้ยาก
แผนงานในระยะต่อไป 1) ขยายการช่วยเหลือซ่อมแซมบ้านผู้เดือดร้อนผ่านกองทุนที่อยู่อาศัยตำบล 2)จัดทำข้อเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เข้ามาช่วยเหลือต่อเนื่อง
ติดต่อประสานงาน
นายทรงศักด์ แสงทั่ง 35/8 ม.1 ต.ทรายแดง อ.เมือง จ.ระนอง
โทรศัพท์ 093-9320130