ตำบลนาพญาตั้งอยู่ติดบริเวณชายฝั่งทะเลอ่าวไทย โดยห่างจากที่ว่าการอำเภอหลังสวนประมาณ 13 กิโลเมตร ห่างจากอำเภอเมืองจังหวัดชุมพร 80 กิโลเมตร
เมื่อสมัยก่อนพื้นที่ตำบลนาพญาแห่งนี้ เป็นพื้นที่ของเจ้านายและข้าหลวงเป็นที่นาและราบลุ่มได้มีการจัดตั้งเป็นทำเนียบเป็นที่พักของข้าหลวงที่บ้านคลองด่าน โดยมีเจ้าพระยาเสด็จมาเยี่ยมและเป็นที่พักเป็นประจำทุกปี และในช่วงเดือนห้าก็ได้จัดให้มีงานประเพณีชนคลาย และมีการเล่นสนุกสนานเนื่องจากเป็นพื้นที่ราบลุ่มและเป็นที่นาอันกว้างใหญ่ จึงทำให้เจ้าพระยาที่ได้มาพักผ่อน และได้ซื้อพื้นที่นาไว้เป็นจำนวนมาก ชาวบ้านแถบนั้นจึงเรียกว่านาพระยา และต่อมาได้เรียกว่า นาพญา
ตำบลนาพญาแบ่งเขตการปกครอง เป็น 19 หมู่บ้าน มีประชากรรวม 6,184 คน 1,781 ครัวเรือน
ด้วยตำบลนาพญาเป็นพื้นที่ฝั่งตะวันออก ติดกับชายฝั่งทะเลอ่าวไทย เป็นพื้นที่ราบเชิงเขา สลับกับพื้นที่ราบลุ่ม มีภูเขาอยู่ใจกลางตำบล และในพื้นที่ราบลุ่ม มีน้ำท่วมขังเป็นประจำทุกปี หลายพื้นที่ได้ออกเป็นเอกสารสิทธิ์ให้แก่ชาวบ้านไปบางส่วนและยังมีอีกหลายแปลงที่ไม่ได้เอกสารสิทธิเช่น พื้นที่ติดเขตทุ่งเลี้ยงสัตว์ และเขตปฏิรูปที่ดิน สปก.
ที่ผ่านมาชาวบ้านได้ไปขอทำเอกสารสิทธิกับที่ดินจังหวัด แต่ผลปรากฏว่าไม่ได้รับการแก้ปัญหาบางส่วนจนถึงปัจจุบัน ตำบลนาพญาได้ประชุมเพื่อระดมปัญหาของชาวบ้านทั้ง 4 หมู่บ้าน ผู้นำท้องที่และท้องถิ่นปรากฏว่าการแก้ปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยเป็น ปัญหาเร่งด่วน จึงจัดทำแผนการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย เสนอต่อองค์กรภายในชุมชนและขบวนคณะทำงานที่ดินจังหวัดชุมพร และมีข้อตกลงให้จัดตั้งสภาองค์กรชุมชน และใช้สภาองค์กรชุมชนในการขับเคลื่อนกระบวนการ เนื่องจากมี พ.ร.บ. สภาองค์กรชุมชนเป็นกฎหมายรองรับเพื่อให้การแก้ปัญหาที่ดินทำกินของชาวบ้านอย่างมีส่วนร่วมเป็นรูปธรรมขึ้นมา
สภาพปัญหาที่ดินในตำบลนาพญา ได้แก่ 1) ปัญหาดินเสื่อมคุณภาพ 2) ปัญหาการขาดเอกสารสิทธิในที่ดิน 3) ปัญหาพื้นที่ที่อยู่ริมลำคลองถูกน้ำกัดเซาะ และ 4) ปัญหาที่ดินถูกบุกรุกจากนายทุน
จากการประชุมสภาองค์กรชุมชนเพื่อวิเคราะห์ข้อมูลสถานการณ์ในพื้นที่ตำบล พบว่า
จุดแข็ง
- กลุ่ม/องค์กร มีความเข้มแข็ง
- แกนนำมีศักยภาพ
- มีสภาองค์กรชุมชนและ คณะทำงานที่พร้อมจะให้ความร่วมมือในการทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาที่ดิน
- มีความสามัคคี และพื้นฐานการศึกษาดี
- สตรีมีบทบาทในสังคม
- ระบบการเมืองการปกครองมีเสถียรภาพ
- การรวมกลุ่มเพื่อสร้างอาชีพให้เกิดรายได้ในชุมชนมีมากขึ้น
- ทรัพยากรน้ำและดินที่อุดมสมบูรณ์ เหมาะแก่การเพาะปลูกพืชสวน เช่น ทุเรียน มังคุด ลองกอง ยางพารา และ ปาล์มน้ำมัน
จุดอ่อน
- ชาวบ้านบางส่วนยังไม่มีเอกสารสิทธิในที่ดินทำกิน
- ผู้นำท้องที่ท้องถิ่นยังไม่ให้ความร่วมมือที่เต็มที่
- คนในหมู่บ้านยังมีการร่วมมือกันน้อยมาก
- คณะทำงานยังไม่สามารถใช้งานโปรแกรมQuantum GIS ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
- ชาวบ้านยังขาดความเข้าใจการทำงานของคณะทำงานและยังมีความแตกแยกในชุมชน
โอกาส
- ประชาชนมีการตื่นตัวเรื่องการปฏิรูปประเทศไทย
- นโยบายของรัฐสนับสนุนให้จังหวัดชุมพรเป็นจังหวัดยุทธศาสตร์ในการแก้ปัญหาที่ดินทำกิน
- มีพ.ร.บ. องค์กรชุมชนที่เอื้อต่อการทำงานสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากรของภาคประชาชน
- มีโปรแกรมQuantum GIS ที่สามารถช่วยให้การวิเคราะห์ข้อมูลแผนที่ตำบลและขอบเขตต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
สภาองค์กรชุมชนตำบลได้ประสานความร่วมมือกับประชาชนและหน่วยงานในการดำเนินการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน โดยมีการดำเนินงานที่สำคัญได้แก่
- การเวทีสร้างความเข้าใจร่วมกันอย่างมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน และที่อยู่อาศัยแนวใหม่
- ได้เรียนรู้ร่วมกันในแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ดิน โดยมีผู้เข้าร่วมเรียนรู้จาก 19 หมู่บ้าน จำนวน 95 คน
- ได้ทีมงานในระดับตำบลอย่างมีส่วนร่วม 19 คน
- ได้ประวัติชุมชน
2.ดำเนินการสำรวจข้อมูลผู้เดือดร้อนด้านที่ดินทำกิน
ได้ดำเนินการสำรวจข้อมูลผู้เดือดร้อนเบื้องต้นจำนวน 107 แปลงจาก 100 ครัวเรือน คิดเป็นพื้นที่ประมาณ 2,000 ไร่ และจัดทำข้อมูล Qauntum GIS
3.การพัฒนาต่อยอดสู่การสร้างความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัย
จากการดำเนินงานสำรวจข้อมูลผู้เดือดร้อนด้านที่ดินทำกินในพื้นที่ตำบลแล้ว ทางคณะทำงานสภาองค์กรชุมชนก็ได้นำเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหา ในขณะเดียวกันก็ต่อยอดสู่การสร้างความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัยให้แก่ผู้ด้อยโอกาสในตำบล
ทั้งนี้ในการสนับสนุนด้านที่อยู่อาศัย ได้มีการระดมความคิดเห็นร่วมกันในการกำหนดกติการ่วมของการสนับสนุนภายใต้สภาองค์กรชุมชน โดยการวิเคราะห์ข้อมูลของผู้เดือดร้อนด้านที่อยู่อาศัยและการประกอบอาชีพ ประกอบด้วย
1.บ้านที่จะซ่อมสร้างอยู่ในแผนที่หรือมีการเพิ่มเติมภายหลังก็ได้ขึ้นอยู่กับความจำเป็นของแต่ละครัวเรือน
2.ให้ตัวแทนของแต่ละหมู่บ้านที่เป็นสมาชิกสภาองค์กรชุมชนตำบลนาพญาคัดเลือกได้ในแต่ละหมู่บ้าน
3.การซ่อมแซมบ้านแต่ละหลังขึ้นอยู่ตามความจำเป็นของแต่ละหลังแต่ไม่เกิน 19,000บาท
4.การประกอบอาชีพเพื่อสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารและสร้างรายได้เสริมในครัวเรือนให้
รัวเรือนที่ต้องการเขียนแผนงานโครงการมาเพื่อขอรับการสนับสนุนได้ครัวเรือนละ 19,000 บาท
5.คณะกรรมการตรวจรับ มาจาก หน่วยงานภาคี ในตำบล ได้แก่ ตัวแทนจากท้องถิ่น 1 คน และท้องที่ของแต่ละหมู่บ้าน
6.การติดตามประเมินผล ตัวแทนสภาองค์กรชุมชนจากแต่ละหมู่บ้านรายงานความก้าวหน้าและคณะทำงานลงพื้นที่
โดยมีเกณฑ์การคัดเลือกผู้ที่จะได้รับการสนับสนุนภายใต้โครงการบ้านพอเพียง
- ความพร้อมของฐานข้อมูลผู้เดือดร้อน ความพร้อมของพื้นที่ตำบลเป็นหลัก
- การเชื่อมโยงฐานทุน กองทุนที่ดิน กองทุนสวัสดิการชุมชนและกองทุนอื่นๆ
- มีการประสานงานความร่วมมือ ความพร้อมของคณะทำงาน
- การขับเคลื่อนงานในการแก้ไขปัญหาชุมชนโดยใช้สภาองค์กรชุมชนเป็นกลไกสำคัญ
- แผนสภาองค์กรชุมชนที่มีการนำเสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหาร่วมกับหน่วยงาน ท้องถิ่น
ซึ่งคณะทำงานสภาองค์กรชุมชนได้กำหนดแผนการสนับสนุนด้านที่อยู่อาศัยในระยะ 4 ปี ดังนี้ ปี 2561 จำนวน 22 หลัง ปี2562 จำนวน 15 หลัง ปี 2563 จำนวน 10 หลัง ฟรี 1 หลัง ปี 2564 จำนวน 10 หลัง ฟรี 1 หลัง และปี 2565 จำนวน 10 หลัง ฟรี 1 หลัง และได้กำหนดกรอบกติกาการคืนทุน คือ 1.ระยะเวลา ให้ส่งคืนภายใน 2 ปี โดยไม่มีดอกเบี้ย ในวันที่ทำสัญญา จ่ายเข้ากองทุนประกันความเสี่ยงร้อยละ 1 บาทต่อปี 2.ให้ตัวแทนที่เป็นสมาชิกสภาองค์กรชุมชนตำบลนาพญาลงนามการเป็นพยานและรับผิดชอบเก็บเงินเพื่อนำส่งในแต่ละเดือน 3.การจ่ายคืนเงินกู้ในทุกวันที่ 15 ของทุกเดือนของการประชุมสภาองค์กรชุมชนตำบลนาพญา และ 4.การจ่ายคืนให้จ่ายเป็นรายเดือนแล้วแต่ความสะดวกของผู้กู้แต่ไม่ต่ำกว่า 200 บาทต่อเดือน
ภาพแสดงครัวเรือนเป้าหมาย
จากการดำเนินงานสนับสนุนการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินด้วยการสำรวจข้อมูลผู้เดือดร้อนที่ดินในพื้นที่ตำบล นำไปสู่การจับพิกัดในแผนที่ และเสนอปัญหาและข้อมูลต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จากนั้นได้ดำเนินการต่อเนื่องด้วยการประสานความร่วมมือในการสร้างความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัย ซ่อมแซมบ้านให้แก้ผู้ด้อยโอกาสในตำบล ซึ่งในปี 2561 ได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการโครงการบ้านพอเพียงจาก สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)จำนวน 22 หลัง ซึ่งได้มีการดำเนินการตามขั้นตอนของโครงการที่สามารถซ่อมแซมบ้านให้แก่ผู้ด้อยโอกาสมีสภาพที่มั่นคง แข็งแรง ปลอดภัย และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
การประสานความร่วมมือ
การดำเนินงานของสภาองค์กรชุมชนในการพัฒนาด้านที่อยู่อาศัยเพื่อให้คนผู้ยากไร้ในตำบลได้มีที่อยู่ที่มั่นคง แข็งแรงปลอดภัย นั้น ได้รับความร่วมมือที่ดีจากองค์การบริหารส่วนตำบล กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และผู้นำชุมชนทุกหมู่บ้านเป็นอย่างดีในการร่วมมือกันลงแรงซ่อมแซมบ้านกลุ่มเป้าหมาย รวมทั้ง พอช. ที่สนับสนุนงบประมาณในการดำเนินงาน ในขณะเดียวกันคณะทำงานสภาองค์กรชุมชนได้จัดทำข้อเสนอการพัฒนาตำบลเสนอต่อองค์การบริหารส่วนตำบลนาพญา เพื่อให้บรรจุในแผน 3 ปี (ปี 2560 – 2562) ซึ่งส่งผลให้ทางองค์การบริหารส่วนตำบล นำเข้าบรรจุในแผน 3 ปี ที่สำคัญได้แก่ (1) การส่งเสริมกลุ่มอาชีพจำนวน 30,000 บาท เพื่อสนับสนุนพัฒนาคุณภาพชีวิตครอบครัวให้มีอาชีพรายได้เพิ่มขึ้น (2) สนับสนุนการอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น จำนวน 30,000 บาทเพื่อสนับสนุนการรวบรวมข้อมูลและอนุรัก์ภูมิปัญญาชุมชนให้คงสืบทอดต่อไป
สิ่งที่ค้นพบจากการดำเนินงาน 1)เกิดความเชื่อมั่นในสภาองค์กรชุมชนจากประชาชนในตำบล หน่วยงาน ภาครัฐมากขึ้น 2) มีความร่วมมือกันในดีในชุมชนทั้งภาคส่วนชุมชนโดยสภาองค์กรชุมชน ท้องถิ่น ท้องที่และสมาชิก โดยเฉพาะการลงแรงช่วยเหลือซ่อมแซมบ้านผู้เดือดร้อน 3) การจัดทำแผนพัฒนาตำบลทำให้สมาชิกเห็นเป้าหมายและแนวทางเดินร่วมกัน
อุปสรรคในการดำเนินงาน 1) สมาชิกส่วนหนึ่งยังเข้าใจสภาองค์กรชุมชน 2)งบประมาณมีจำกัดทำให้ไม่เพียงพอกับความต้องการของประชาชนผู้เดือดร้อน 3)พื้นที่ตำบลกว้างทำให้ประสานงานได้ยาก
แผนงานในระยะต่อไป 1) ขยายการช่วยเหลือซ่อมแซมบ้านผู้เดือดร้อนผ่านกองทุนที่อยู่อาศัยตำบล 2)จัดทำข้อเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เข้ามาช่วยเหลือต่อเนื่อง 3)ทำความเข้าใจกับประชาชนในตำบลให้เข้าใจการดำเนินงานของสภาองค์กรชุมชน
ติดต่อประสานงาน
นายประวัติ คงเจริญ 111 หมู่ที่ 4 ต.นาพญา อ.หลังสวน จ.ชุมพร
โทรศัพท์ 0896510762