นายอิตริส อุเส็น ประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลตันหยงโป อำเภอเมือง จังหวัดสตูล เล่าว่า ตันหยง โป เป็นชุมชนชาวประมงพื้นบ้าน เนื่องจากมีป่าชายเลนที่อุดมสมบรูณ์ ทำให้มีสัตว์น้ำอุดมสมบรูณ์ แต่เมื่อประมาณ 20 ปีก่อนมีเรือประมงขนาดใหญ่เข้ามาจับสัตว์น้ำโดยใช้เครื่องมือแบบล้างผลาญ ส่งผลให้สัตว์น้ำลดน้อยลง ชาวประมงมีชีวิตยากลำบาก บางรายถึงกับทิ้งบ้านเกิดไปขายแรงงานในเมืองหรือเปลี่ยนอาชีพไปทำอย่างอื่น
“เมื่อสิบกว่าปีที่ผ่านมามีหน่วยงานพัฒนาต่างๆ เข้ามาส่งเสริมการพัฒนาในชุมชนหลายองค์กร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช) ได้เข้ามาส่งเสริมการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชน และแนะนำให้มีการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชน ตำบลในปี 2553 ซึ่งปัจจุบันสภาองค์กรชุมชนตำบลตันหยงโป มีกลุ่มองค์กรทั้ง 35 กลุ่มเข้ามาจดแจ้งจัดตั้ง” ประธานสภาฯ ตำบลตันหยงโปเล่าความเป็นมาของการพัฒนาในตำบล
นางบุหงา อุเส็น เลขานุการสภาองค์กรชุมชนตำบล ตันหยงโป กล่าวเสริมว่า การมีสภาองค์กรชุมชนตำบลทำให้ชาวบ้านมีเวทีในการพูดคุยที่ถูกต้องและกฎหมายยังเปิดโอกาสให้เราทำอะไรได้หลายๆ อย่าง เช่น การนำปัญหามาพูดคุยเก็บมาวิเคราะห์มาวางแผน ตั้งขึ้นในปี 2560 เราจึงได้สภาองค์กรชุมชนตำบล เป็นเวทีกลางชวน อบต.เข้ามาร่วมด้วยเพื่อสำรวจข้อมูลที่จะนำไปสู่การวางแผนพัฒนา
จากข้อมูลพบว่าเรามีศักยภาพหลายประการ เช่น มีทรัพยากรทางทะเลที่อุดมสมบรูณ์ และสวยงาม มีป่าชายเลนเนื้อที่ประมาณ 3,000 ไร่ มีกลุ่มองค์กรชุมชนที่พร้อมจะร่วมมือกัน มีภาคีพัฒนา เช่น อบต. ที่เข้ามาสนับสนุน ตลอดจนมีภูมิปัญญาจารีตที่เป็นอัตลักษณ์ของตนเอง แม้ว่าจะมีปัญหาและอุปสรรคอยู่บ้าง เช่น ภัยธรรมชาติ และที่ดินที่อยู่อาศัย ซึ่งยังไม่มีเอกสารสิทธิก็ตาม
ประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลตันหยงโป กล่าวอีกว่า เรานำข้อมูลทั้งหมดมาจัดทำแผนพัฒนา 3 ปี ครอบคลุมทุกมิติ เสนอกับ อบต. และในส่วนของสภาองค์กรชุมชนก็ได้มีการจัดตั้งคณะทำงานรับผิดชอบเป็นด้านๆ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สวัสดิการ ด้านที่ดินและที่อยู่อาศัย
งานหนึ่งที่ชาวตำบลตันหยงโปภูมิใจมากก็คือ งานด้านเศรษฐกิจ โดยการใช้ทุนที่มีอยู่ในพื้นที่ไปสู่การจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน มีการจัดโปรแกรมท่องเที่ยวหลายแบบให้เหมาะกับความต้องการของนักท่องเที่ยว มีที่พัก อาหาร และของที่ระลึก ซึ่งเป็นของในพื้นที่ ทำโดยคนในชุมชนไว้บริการนักท่องเที่ยว โปรแกรมที่น่าสนใจ เช่น การชมสันหลังมังกร การออกเรือหาปลากับชาวประมง ชมป่าชายเลน เป็นต้น
ชาวตันหยงโปอยู่ได้เพราะมีป่าชายเลนและทรัพยากรธรรมชาติ พื้นที่ส่วนใหญ่จะเป็นป่าชายเลนสภาพยังคงมีความอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ การได้นั่งเรือศึกษาธรรมชาติชายฝั่งและป่าชายเลน มีวิถีวัฒนธรรมภูมิปัญญาที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตน และมีการจัดตั้งกลุ่มเพื่อฟื้นฟูอนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่ง โดยคนส่วนใหญ่ที่เข้าร่วมจะเป็นเด็ก เยาวชนและกลุ่มชาวบ้านในชุมชนช่วยกันอนุรักษ์ดูแลให้มีความอุดมสมบรูณ์สววยงาม
“การทำงานจริงจังตลอด 3 ปีที่ผ่านมา จึงทำให้การท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติที่ตันหยงโปเป็นที่รู้จักมากขึ้น เราค้นพบว่าการใช้สภาองค์กรชุมชนตำบลเป็นเวทีให้ทุกคนมาเห็นปัญหาร่วมกัน เพื่อกำหนดเป้าหมายและแผนพัฒนาร่วมกันมันเป็นพลังร่วมที่สำคัญ โดยในอนาคตเรามีแผนที่จะขยายผลการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ไปสู่อาเซียน เนื่องจากอยู่ใกล้กับมาเลเซีย จะมีการจ้างมัคคุเทศก์ไว้รับรองนักท่องเที่ยว รวมทั้งจะพัฒนาโปรแกรมการท่องเที่ยวและบริการอื่นๆ เสริมเข้ามา เช่น การนวดแผนไทย สปา ฯลฯ ไว้บริการนักท่องเที่ยว โดยเราตั้งเป้าว่า การพัฒนาเช่นนี้จะทำให้ พวกเรามีความเป็นอยู่อย่างมั่นคงในชุมชนของเราอยู่อย่างมีความสุขและเป็นมิตรกับธรรมชาติ” ประธานสภากล่าวถึงแผนงานที่จะทำต่อไป
แผนพัฒนาที่เกิดขึ้นมาจากกระบวนการวิเคราะห์บริบทตำบล ร่วมกันว่าอาชีพหลักของคนในตำบล คือ การทำประมง ซึ่งเป็นการทำประมงโดยเรือขนาดเล็กและอาชีพรอง คือค้าขายและรับจ้างทั่วไป รายได้ของประชากรจึงมาจากการทำประมงจากความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรฯในทะเลทั้งกุ้ง หอย ปู ที่ผ่านมาการพัฒนาและส่งเสริมรายได้ของครัวเรือน ดำเนินการควบคู่กับการอนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่งและในทะเล ทำให้เกิดการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำและสร้างรายได้เพิ่มให้กับสมาชิกที่เป็นวิถีตามธรรมชาติ มีการส่งเสริมการท่องเที่ยวของชุมชน ที่เริ่มจากโฮมสเตย์ของชุมชน ของหมู่ที่ 3 บ้านบากันเคย ในปี 2549 – ปัจจุบัน มีรองรับนักท่องเที่ยวทั้งภายในจังหวัดและต่างจังหวัด ส่วนนักท่องเที่ยวจากกลุ่มประเทศอาเซียนส่วนใหญ่จะเป็นชาวมาเลเซีย
และตันหยงโปมีการจัดแผนพัฒนาตำบล ระยะ 3 ปี (พ.ศ.2561-2563)
โดยปี (2561) 1.จัดเวทีทำความเข้าใจ 2.จัดเวทีอบรมพัฒนาศักภาพกลุ่มองค์กรสถาบันเพื่อทำความเข้าใจในการจัดตั้งสถาบันการเงินระดับชุมชน 3.วิเคราะห์และสรุปแนวทางการจัดตั้งสถาบันการเงินชุมชน 4.ศึกษาดูงานในชุมชนที่ทำสำเร็จในเรื่องสถาบันการเงิน เพื่อข้อตกลงร่วม หรือระเบียนกองทุน
ซึ่งมีเป้าหมายคือ1. การขับเคลื่อนของ 35 กลุ่ม ภายในตำบลร่วมกันจัดตั้งผ่านสภาองค์กรชุมชนตำบลตันหยงโป 2.เกิดแนวทางการจัดการ ระเบียนของกองทุนกลางตำบล
ปีที่2 (2562) 1.ประชุมตั้งคณะกรรมการระดับตำบล (แบ่งหน้าที่รับผิดชอบในแต่ละเรื่อง) ประจำทุกเดือน
2.เกิดศูนย์เรียนรู้ระบบนิเวศสู่การท่องเที่ยวชุมชน/โฮมสเตย์ภายในตำบลที่รองรับคนในจังหวัด ต่างจังหวัด และประเทศใกล้เคียง
3.พัฒนาผู้นำชุมชน ให้มีศักยภาพในการบริหารกิจการ รวมถึงกลุ่มองค์กรต่างๆธุรกิจออนไลน์มากขึ้น
4.พัฒนาต่อยอดกองทุนกลางตำบลตันหยงโป ที่มีรูปแบบการบริหารจัดการที่ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับ
5.การส่งเสริมอาชีพระดับตำบล
6.การรณรงค์และประชาสัมพันธ์การกำจัดขยะ
7.การอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและทรัพยากรชายฝั่ง และสิ่งแวดล้อม
โดยมีเป้าหมายคือ 1.คณะกรรมการบริหารที่มีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการงาน
2.เกิดศูนย์เรียนรู้ระบบนิเวศน์ สู่การท่องเที่ยวชุมชนในตำบล
3.ผู้นำมีคุณภาพ กลุ่มองค์กรในตำบลมีการพัฒนากิจการที่ได้มาตรฐาน สู่ตลาดออนไลน์มากขึ้น
4.มีกองทุนกลางตำบลที่ดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ
5.ทำให้คนในตำบลมีอาชีพ มีรายได้เพิ่มากขึ้น
6.ทำให้ปริมาณขยะลดในตำบลลดลง
7.ทรัพยากรทางทะเล-ชายฝั่ง รวมถึงสภาพสิ่งแวดล้อมในตำบลมีความสมบูรณ์ มีพื้นที่สีเขียวเพิ่มากขึ้น
ปีที่ 3 (2563) 1.การขยายผลการท่องเที่ยวชุมชนเชิงอนุรักษ์ไปสู่อาเซียนอย่างครบวงจร
- สร้างเยาวชนในพื้นที่ตำบล เป็นมัคคุเทศก์ วัยใสเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ
3.ขยายกิจการที่หลากหลายมากขึ้นกว่าเดิม อาทิ การนวดแผนไทย การทำสปา จัดให้บริการกับนักท่องเที่ยวที่ต้องการความผ่อนคลาย
เป้าหมายคือ 1.เกิดการท่องเที่ยวชุมชนของจังหวัด และต่างประเทศ
2.เกิดมัคคุเทศก์ วัยใสของตำบล
3.มีกิจการที่มีความหลากหลายเพิ่มขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค
ทั้งนี้ที่ตันหยงโปยังได้มีการพัฒนาโฮมสเตย์และการท่องเที่ยวอย่างสม่ำเสมอ เพื่อคนที่มาพัก และมาเที่ยวได้รับความสะดวกสบายและอยากกลับมาเที่ยวที่นี่อีก