ระหว่างวันที่ 5-7 กรกฏาคมนี้ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) หน่วยงานในสังกัด และภาคีที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันจัดงาน ‘ไทยแลนด์โซเชียลเอ็กซ์โป 2019’ งานแสดงนวัตกรรมทางสังคมครั้งใหญ่ของประเทศไทย ที่ศูนย์ประชุมเมืองทองธานี มีการแสดงนิทรรศการ ผลงาน การออกร้านจำหน่ายสินค้า ฯลฯ ในส่วนของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ ได้จัดประชุมทางวิชาการ เพื่อนำเสนอประสบการณ์การพัฒนาชุมชนในพื้นที่ต่างๆ การแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยทั้งในเมืองและชนบท การจัดการสิ่งแวดล้อม ฯลฯ โดยมีผู้แทนขบวนองค์กรชุมชนจากทั่วประเทศเข้าร่วมงาน
โดยในวันที่ 6 กรกฎาคม มีการประชุมวิชาการเรื่อง ‘บ้าน รากฐานการพัฒนาชุมชนและความมั่นคงของมนุษย์ทุกมิติ’ ผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย ผู้แทนจากกลุ่มคนไร้บ้าน บ้านมั่นคงจังหวัดสุรินทร์ จังหวัดสระแก้ว พระสงฆ์จากอุตรดิตถ์ ผู้แทนสำนักงานเขตยานนาวา กรมธนารักษ์ ม.ราชภัฏพระนคร และภาคประชาสังคม ดำเนินรายการโดยนายสยาม นนท์คำจันทร์ มีผู้เข้าร่วมงานประมาณ 150 คน
บ้านใหม่ของคนเคยไร้บ้าน
นายสุชิน เอี่ยมอินทร์ นายกสมาคมคนไร้บ้าน กล่าวว่า การจัดหาที่อยู่อาศัยให้กับคนไร้บ้านเกิดขึ้นในช่วงปี 2544 จากการประกาศปิดสนามหลวงของกรุงเทพมหานคร นำไปสู่การเรียกร้องของคนไร้บ้าน เพื่อให้มีการก่อสร้างศูนย์พักคนไร้บ้าน โดย กทม.เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการ แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ ต่อมาได้มีการประสานมายัง พอช. ให้มาผลักดันต่อ จนเกิดศูนย์พักคนไร้บ้านสุวิทย์ วัดหนู แต่พบว่ายังมีคนไร้บ้านที่ยังไม่มีที่อยู่อาศัยอีกเป็นจำนวน จึงมีการผลักดันการก่อสร้างศูนย์พักคนไร้บ้านหมอชิด แต่ปัจจุบันยกเลิกโครงการเนื่องจากถูกเวณคืนที่ดิน
หลังจากนั้นมีการผลักดันให้ก่อสร้างที่พักให้กับคนไร้บ้านในพื้นที่หัวเมืองใหญ่ๆ เช่น จังหวัดเชียงใหม่ และขอนแก่น โดยเบื้องต้นหวังใช้ที่ดินรัฐ แต่หาไม่ได้ จึงได้เสนอขอรับงบสนับสนุนจาก พอช. (องค์การมหาชน) เพื่อจัดซื้อที่ดินและก่อสร้างที่พัก จนเกิดศูนย์พักคนไร้บ้านที่จังหวัดเชียงใหม่ ปัจจุบันก่อสร้างเสร็จแล้ว ส่วนที่ขอนแก่นอยู่ระหว่างการก่อสร้าง และล่าสุดคือการก่อสร้างศูนย์พักคนไร้บ้านจังหวัดปทุมธานี
“อีกความฝันหนึ่งของคนไร้บ้าน คือ การมีบ้านเป็นของตัวเอง จึงขยับมาสู่การทำเรื่องบ้านมั่นคงของคนไร้บ้าน โดยได้มีโครงการนำร่องไปแล้วที่ชุมชนใหม่คนไร้บ้าน ตั้งอยู่ที่ถนนพุทธมณฑลสาย 2 กรุงเทพฯ มีการออมเงินของสมาชิกมาสมทบสร้างบ้านเหมือนกับโครงการบ้านมั่นคงทั่วไป และนอกจากเรื่องที่อยู่อาศัยแล้ว เครือข่ายคนไร้บ้านยังได้ผลักดันการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไร้บ้านด้านอื่นๆ เช่น การจัดสวัสดิการผู้สูงอายุ ผลักดันเรื่องเบี้ยยังชีพ จาก 600 บาทเป็น 3,000 บาทต่อเดือน รวมถึงการขับเคลื่อนให้คนไร้บ้านได้เข้าถึงสิทธิการบริการขั้นพื้นฐานต่างๆ จากภาครัฐ” นายสุชินกล่าว
บ้านเมืองจะเจริญได้ด้วยความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน
นางสาวสุดใจ มิ่งพฤกษ์ เครือข่ายบ้านมั่นคงเมืองสุรินทร์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาคนจนถูกกดทับ ทำให้ไม่มีโอกาสเติบโต ถูกปิดกั้นจากรัฐ ได้รับการดูแลเชิงสงเคราะห์ เหมือนกับ “สังกะสีที่ปิดทับต้นหญ้า ทำให้ต้นหญ้าไม่ได้สังเคราะห์แสง จึงไม่มีโอกาสได้เติบโต” แต่เมื่อมี พอช.เข้ามาทำโครงการบ้านมั่นคง ทำให้ชาวบ้านสามารถออกแบบการพัฒนา ออกแบบบ้านของตัวเองได้ ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ถูกต้อง ตรงกับความต้องการของคนจน นอกจากนี้บ้านมั่นคงยังทำมากกว่าบ้าน เช่น สวัสดิการที่คนจนเข้าถึง โดยเฉพาะการจัดสวัสดิการเด็ก
“บ้านมั่นคงเปรียบเสมือนต้นไม้ใหญ่ เดิมมีแขกบ้านแขกเมืองมา สลัมถูกปิดไม่ให้คนอื่นเห็น แต่เดี๋ยวนี้บ้านของคนจนที่เคยถูกเรียกว่าสลัม กลายเป็นแลนด์มาร์คสู่สายตาชาวโลก รูปแบบการช่วยเหลือของรัฐเปลี่ยนจากการช่วยเหลือเชิงสงเคราะห์เป็นการพัฒนาเพื่อสร้างความมั่นคงของมนุษย์ บ้านเมืองจะเจริญได้ด้วยความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน ทำให้เห็นได้ว่า บ้านมั่นคงเปิดพื้นที่ให้กับเล็กคนน้อย สร้างศักดิ์ศรีให้กับคนจน เพียงให้โอกาส คนจนก็สามารถสร้างบ้านของตัวเอง” ผู้แทนจากจังหวัดสุรินทร์กล่าว
การแก้ไขปัญหาที่ดิน “คนจนต้องลุกขึ้นมาทำเอง ไม่ต้องรอใคร”
นายละอองดาว สีลาน้ำเที่ยง เครือข่ายบ้านมั่นคงชนบท ตำบลคลองหินปูน จังหวัดสระแก้ว กล่าวว่า ปัญหาเรื่องบ้านของคนจนไม่จำเป็นเท่ากับปัญหาเรื่องคุณภาพชีวิต ปัญหาเรื่องสิทธิที่ดิน สวัสดิการ สำหรับเรื่องสิทธิที่ดินได้มีการต่อสู้กันมาอย่างยาวนาน แต่สิ่งที่สำคัญคือ ยุทธศาสตร์ที่อยู่อาศัย ที่ทำให้คนบ้านนอกได้ร่วมกันผลักดันการแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดิน จนเกิดการสร้างบ้านในพื้นที่ชายเลน ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่าหากสู้ทางตรงไม่ได้ เราต้องสู้ทางอ้อม โดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง ซึ่งเป็นหัวใจหลักของ พอช. โดยสภาองค์กรชุมชนเปิดเวทีขับเคลื่อนร่วมกับหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่น
“วันนี้มีการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนทั้งประเทศแล้ว ต้องทำให้เห็นว่าคนจน คนที่ได้รับผลกระทบมีเท่าไร แล้วสร้างหุ้นส่วนการพัฒนาร่วม สร้างกลไกท้องถิ่น ถ้าวันนี้เราตรึงคนทั้งตำบลได้ เราจะได้คนจากทุกส่วน ตรึงตาข่ายให้เห็นทั้งตำบล ยึดระบบ ยึดที่ดิน นอกจากนี้การสร้างเครือข่ายต้องสร้างจากตำบล เป็นอำเภอ และจังหวัด จะทำให้เกิดพลังการเจรจาต่อรอง โดยมีกลไก คทช. (คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ/จังหวัด) เป็นช่องทาง และในการแก้ไขปัญหา ต้องใช้ปัญหาข้อเท็จจริงเป็นตัวตั้งแล้วให้คนจนลุกขึ้นมาแก้ปัญหาของตัวเอง”
นายละอองดาวกล่าวด้วยว่า การขับเคลื่อนงานนั้น สิ่งที่จะต้องทำ คือ เอาปัญหามาเป็นปัญหาร่วมของคนทั้งตำบล ดูว่าปัญหาไหนที่เราแก้ได้ เราต้องทำก่อน โดยคนจนต้องลุกขึ้นมาทำเอง ไม่ต้องรอใคร ทำอย่างไรจึงจะให้ได้ที่ดินรัฐมาเป็นของคนไทย ทั้งที่ดินธนารักษ์ ป่าชายเลน และหากประชาชน คนชนบทมีความมั่นคงในที่ดินและที่อยู่อาศัยแล้ว ปัญหาของคนเมืองจะลดลงตามไปด้วย
“คนจนต้องมีที่อยู่อาศัยบนผืนแผ่นดินไทย”
นางสาวอมรรัตน์ กล่ำพลบ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ กรมธนารักษ์ กล่าวว่า พอช.ก้าวกระโดดในการพัฒนา สิ่งที่สัมฤทธิ์ผล คือ ภาคประชาชนเข้มแข็งมาก การก่อเกิดโครงการบ้านมั่นคง ในช่วงแรกๆ เมื่อประมาณปี 2546 โดยคุณสมสุข บุญญะบัญชา และคุณทิพยรัตน์ นพลดารมย์ (อดีต ผอ.พอช.) มาชวนว่า มีพี่น้องที่เดือดร้อนเรื่องที่ดินและที่อยู่อาศัยเป็นจำนวนมาก มีการสร้างความร่วมมือในการทำงานร่วมกับกรมธนารักษ์ โดยใช้ที่ดินราชพัสดุสนับสนุน เริ่มในพื้นที่ริมคลองในกรุงเทพฯ ก่อน ซึ่งในการพัฒนามีทั้งคนที่อยากปรับเปลี่ยนตัวเองและคนที่ไม่ต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจนเกิดการต่อต้าน อย่างไรก็ตาม วันนี้กรมธนารักษ์มีความเข้าใจเรื่องการแก้ไขปัญหาคนจนตามแนวทางบ้านมั่นคงเป็นอย่างดี
ปัจจุบันกรมธนารักษ์ได้มอบพื้นที่อยู่อาศัยให้ประชาชนไปแล้วประมาณ 10,000 ครัวเรือน และที่ผ่านมาได้มีการทำบันทึกความร่วมมือในการสนับสนุนที่ดินเพื่อการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยโครงการบ้านมั่นคงแล้ว
“ในส่วนที่ดิน กรมธนารักษ์เต็มที่กับพี่น้อง แต่ต้องอยู่ภายใต้กติกา เราเดินหน้าทำงานมาด้วยกันตั้งแต่ปี 2547 มาวันนี้ พอช. ตั้งหลักถูกมาก โดยการบอกต่อกับพี่น้อง พอมีที่อยู่แล้วหากเรายังจนคงไม่ดี เราสร้างให้เด็กมีความรู้ มีโอกาสเท่าเทียมกับสังคม ธนารักษ์ไม่ได้จัดแต่พื้นที่สร้างบ้าน แต่จัดพื้นที่ทำกิจกรรมให้กับชุมชน เช่น พื้นที่ค้าขาย พื้นที่ส่วนกลาง และคนจนต้องมีที่อยู่อาศัยบนผืนแผ่นดินประเทศไทย” ผู้แทนกรมธนารักษ์กล่าว
บทบาทของท้องถิ่นกับการจัดการที่อยู่อาศัยทั้งเมือง และปัญหาการไล่รื้อในเมือง
นายณภาคย์ บุญเงิน หัวหน้าฝ่ายพัฒนาชุมชนและสวัสดิการสังคม สำนักงานเขตยานนาวา กรุงเทพฯ กล่าวว่า ตนเองได้มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยได้มีโอกาสร่วมทำงานกับ พชม. (สำนักพัฒนาชุมชนเมืองก่อนเป็น พอช.) ตั้งแต่ปี 2535 – 3536 ที่ชุมชนวัดจันทร์ ต่อมาได้มีโอกาสทำโครงการบ้านมั่นคงที่เขตคลองสาน มีพี่น้องประชาชนถูกไล่รื้อ 1 ชุมชน ซึ่งเป็นชุมชนที่เคยอยู่ด้านหน้าไอคอนสยาม ประมาณ 500 หลังคาเรือน ชาวชุมชนไม่สามารถก่อสร้างบ้านในที่ดินเดิมได้ เนื่องจากเป็นที่ดินเอกชนซึ่งมีราคาไร่ละประมาณ 80 ล้านบาท ชาวชุมชนจึงต้องไปหาซื้อที่ดินที่อื่น โดยได้ที่ดินในซอยเพชรเกษม 48
การดำเนินโครงการบ้านมั่นคงมีปัญหาทุกที่ มีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ซึ่งผู้อำนวยการเขตยานนาวา ได้แต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาที่อยู่อาศัยระดับเมือง ประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่ เช่น ผู้อำนวยการสำนักงานเขต กรมธนารักษ์ การไฟฟ้า การประปา องค์การโทรศัพท์ ฯลฯ เพื่อมาร่วมกันแก้ปัญหาต่างๆ รวมถึงด้านสาธารณูปโภค โดยที่ผ่านมามีการประชุม 2 ครั้ง เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาในพื้นที่ชุมชนร่วมพัฒนาเชื้อเพลิง 2 มีการทำหนังสือประสานงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จนสามารถเริ่มก่อสร้างบ้านเฟสแรกได้แล้ว 40 หลัง
“การดำเนินโครงการบ้านมั่นคงจะสำเร็จได้อยู่ที่ผู้เดือดร้อนลุกขึ้นมาจัดการแก้ไขปัญหาของตัวเอง โดยการจัดตั้งเป็นกลุ่มออมทรัพย์หรือสหกรณ์นั้นต้องมีความมั่นใจ เชื่อใจในตัวผู้นำ ซึ่งกว่าจะรวบรวมเงินได้นั้นต้องใช้เวลา มีทั้งคนที่ออมแล้วหยุด คณะทำงานต้องลงไปช่วยเหลือสร้างความมั่นใจ สิ่งที่จะสำเร็จคือ เชื่อใจซึ่งกันและกัน และร่วมกันฝ่าฟัน เดินไปข้างหน้า คุยกัน บางครั้งต้องถอยคนละก้าว เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย” ผู้แทนสำนักงานเขตยานนาวากล่าว และบอกว่า ตอนนี้มีโครงการบ้านมั่นคงในเขตยานยาวาเป็นรูปเป็นร่างแล้ว 1 โครงการ ส่วนอีก 1 โครงการกำลังขับเคลื่อนเรื่องการออมทรัพย์ และมีแผนดำเนินการต่อในชุมชนที่ 3
พระสงฆ์อุตรดิตถ์ใช้หลัก “7 ร” หนุนชาวบ้านแก้ปัญหาที่อยู่อาศัย
พระครูสุภัทรสันติคุณ เจ้าอาวาสวัดดอยท่าเสา เครือข่ายองค์กรชุมชนเมืองอุตรดิตถ์ กล่าวถึงบทบาทของพระสงฆ์กับการพัฒนาชุมชนว่า ได้รับรู้ปัญหาของชาวบ้านผู้เดือดร้อนเรื่องที่อยู่อาศัยในจังหวัดอุตรดิตถ์ 24 ชุมชน เป็นชุมชนที่อยู่ในที่ดินรัฐ เอกชน ที่ดินริมคลอง มีปัญหาการไล่ที่ ชาวบ้านจึงหันมาพึ่งพระ ต่อมามีเครือข่ายของ พอช. เข้ามาปรึกษา โดยเคยทำงานร่วมกันมาตั้งแต่สมัยที่ยังเป็น พชม. ในการเคลื่อนงานเรื่องต่างๆ เช่น เรื่องสิ่งแวดล้อม การจัดการขยะ จนถึงเรื่องที่อยู่อาศัย โดยใช้วัดเป็นพื้นที่ทำงานและที่ประชุม มีการพูดคุยกันในเรื่องการออมเงินเพื่อการสร้างบ้านวันละ 15 บาทที่ชุมชนวัดพระแท่น โดยใช้หลัก “7 ร” คือ “ร่วมคิด ร่วมคุย ร่วมใจ ร่วมทุน ร่วมเรียนรู้ ร่วมทำ ร่วมเสียสละ”
“ร่วมคิด” โดยการสำรวจผู้เดือดร้อนในชุมชนต่างๆ มาคุยกัน แล้วคิดร่วมกัน แลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน เพื่อมีบ้าน มีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง หลังจากนั้นนิมนต์พระไปพูดคุยกับผู้บริหารท้องถิ่นและผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งได้รับความไว้วางใจและเชื่อใจ จนเกิดโครงการบ้านมั่นคง มีการออมเงินกันวันละ 15 บาท และทำโครงการบ้านมั่นคงชุมชนบุ่งคุกในปี 2546
“จากการคิดร่วม คุยร่วม แล้วนำมาสู่การร่วมทุนผ่านการออมทรัพย์ และร่วมทำ โดยการออกแบบบ้านร่วมกัน มีพระเข้ามาร่วม รวมถึงการ ‘สวดถอน’ เพื่อสร้างความสบายใจ ซึ่งบางครั้งวัดมีสิ่งที่ชาวชุมชนขาดเหลือ เช่น สังกะสี ก็นำไปสมทบการทำบ้านได้ ในช่วงแรกพบปัญหาไม่อยากย้ายออกจากชุมชน อยากอยู่ชุมชนเดิม ต้องมีการนิมนต์พระไปโปรด ไปเทศน์สอน และเยี่ยมไข้ยามเจ็บป่วย จึงอาจกล่าวได้ว่า วัด พระสงฆ์ เป็นทั้งศูนย์รวมจิตใจ และเป็นกำลังหลักในการเคลื่อนงานพัฒนาในพื้นที่” เจ้าอาวาสวัดดอยท่าเสากล่าว และขยายความว่า ในจังหวัดอุตรดิตถ์มีพระสงฆ์ร่วมขับเคลื่อนงานต่างๆ ในพื้นที่รวมประมาณ 140 ชุมชน
“สถาบันการศึกษาจะมีคุณค่ากับสังคมจริงๆ ต้องทำงานร่วมกับสังคมได้”
นายมณฑล จันทร์แจ่มใส คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม (สถาปัตยกรรม) มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร กล่าวว่า ตนทำงานเป็นอาจารย์มา 10 กว่าปี โดยสอนด้านการออกแบบให้กับนักศึกษาชั้นปีที่ 4 ซึ่งมีนักศึกษาที่จบการศึกษาแล้วส่วนใหญ่ไปรับใช้นายทุน จึงได้เปลี่ยนวิธีคิดให้นักศึกษาได้เรียนรู้ความเป็นจริงในสังคม
ปี 2552 ได้เข้ามาทำงานกับ พอช. เพื่อหาพื้นที่ทำงานให้กับนักศึกษา โดยลงพื้นที่ชุมชนริมคลองลาดพร้าว และใช้เป็น “ห้องเรียนชุมชน” แก่นักศึกษา ส่วนวิธีการสอนใช้การตั้งคำถามเป็นหลัก คือ อยากทำอะไรให้ลงไปคุยถามจากชาวบ้าน เมื่อนักศึกษาไปเห็นความยากลำบากของคนในชุมชนจึงได้ย้อนกลับไปใหม่ ทั้งช่วยเหลือและการพูดคุย
“ความรู้ในยุคนี้สอนกันไม่ได้ และไม่สำคัญเท่ากับวิธีคิด ทักษะการแก้ปัญหา และความเข้าใจในการแก้ไขปัญหา พยายามสร้างกระบวนการเพื่อสร้างคน โดยชวนคนอื่นลงไปในพื้นที่ ถ้าสถาบันการศึกษาจะมีคุณค่ากับสังคมจริงๆ ต้องทำงานร่วมกับสังคมได้ โดยเริ่มจากงานใกล้ๆ บ้าน และปัจจุบันได้ชักชวนอาจารย์จากคณะต่างๆ ในมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครมาร่วมได้ไม่ต่ำกว่า 50 คน” อ.มณฑลกล่าว และย้ำว่า เวลาลงไปทำงานชุมชน ต้องทำให้ครบทุกมิติ ไม่ใช่ทำแค่เรื่องบ้าน แต่ต้องทำเรื่องอื่นๆ ด้วย เช่น เรื่องสุขภาพ เกษตร โดยทำงานร่วมกัน ซึ่งถือว่าเป็นคุณค่าที่แท้จริงที่สถาบันการศึกษาจะทำให้สังคมได้
“เราจะใช้พลังในการทำให้หยุดไล่รื้อได้อย่างไร”
นายจำนง จิตนิรัตน์ ที่ปรึกษาเครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง (P-Move) กล่าวว่า ล่าสุดเมื่อ 10 กว่าวันที่ผ่านมา กรมธนารักษ์ได้มีการอนุมัติยินยอมให้ชุมชนที่ยากจนที่สุดในจังหวัดอุบลราชธานีใช้พื้นที่ในการพัฒนาที่อยู่อาศัย
ส่วนบทบาทของภาคประชาสังคม จุดสำคัญ คือ “มีคนน้อย มีเงินน้อย มีช่องทางน้อย” แต่สิ่งที่พวกเราทำเป็นการทำเพื่อเป็นตัวอย่าง เป็นที่ปรึกษา และเป็นผู้ประสานกับรัฐบาลว่ามีปัญหาอะไร และสื่อสารกับสังคมว่าปัญหาเป็นอย่างไร เพื่อให้เห็นว่าปัญหาที่เกิดขึ้นมีทางออก เช่น คนกลุ่มเล็กๆ ที่อยู่มาแล้ว 80 ปี เขาต้องมีที่อยู่ต่อไป หากมีที่อยู่ที่มั่นคงก็จะเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพ
นายจำนงค์กล่าวถึงการขับเคลื่อนงานการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยในช่วงที่ผ่านมาว่า ตอนนี้เกิดพลัง 2 ยุค ยุคแรกมีการไล่รื้อรุนแรง ถือว่าเป็นวิกฤติของสังคม ในยุคนั้นมีสลัมมากกว่า 1,000 แห่ง มีกระบวนของพี่น้องประชาชนไปเรียกร้อง เจรจากับรัฐบาล พลังยุคนั้นเป็นยุคที่ชุมชนเจรจากับนายอานันท์ ปันยารชุน นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น ขณะเดียวกันชุมชนเองก็ทำกิจกรรมหลายอย่าง ทั้งการรณรงค์ ทำกิจกรรม จัดเวทีชาวบ้าน รวมถึงการบริจาคเลือดปกป้องชุมชนไม่ให้ถูกรื้อ โดยภาคประชาสังคมเข้าไปให้คำแนะนำไม่ให้เกิดการใช้ความรุนแร ง เสนอให้ออก พ.ร.บ.คุ้มครองคนในเมือง แต่รัฐไม่เอาด้วย จึงนำมาสู่การชุมชนประท้วง
“การให้เงินไม่สำคัญเท่ากับการที่รัฐบาลเห็นพลังของประชาชน เช่น ที่ชุมชนคลองไผ่สิงห์โต (เขตคลองเตย) ได้มีการเสนอต่อรัฐบาลในการสนับสนุนงบประมาณในการพัฒนาที่อยู่อาศัย การเคลื่อนไหวของประชาชนในยุคนั้นมีเครือข่ายสลัม 4 ภาคให้การสนับสนุน” นายจำนงค์กล่าว
ในยุคหลังใช้เงินเป็นเครื่องมือในการพัฒนาคุณภาพชีวิตด้านต่างๆ ทั้งนี้ มีหลายพื้นที่ไม่ได้รับการตอบสนองเรื่องที่ดิน มาวันนี้เหตุการณ์เช่นยุคก่อนกลับมาอีกครั้ง มีการรื้อย้ายชุมชนเป็นจำนวนมากเพื่อสร้างทางรถไฟ และการทวงคืนผืนป่าในพื้นที่ชนบท
“เราจะใช้พลังในการทำให้หยุดไล่รื้อได้อย่างไร เราแก้ปัญหาเรื่องที่ดิน เช่น คลองลาดพร้าวพบว่าความสำเร็จขึ้นอยู่กับการออกแบบ ความร่วมมือ และการได้รับโอกาส ข้อเสนอเชิงนโยบาย ควรเป็นเรื่องการไม่ให้มีการไล่รื้อ ให้สิทธิที่ดินร่วม สิ่งที่เราทำกันมามีทั้งเรื่องบ้าน สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ ซึ่งเป็นนวัตกรรมรุ่นใหม่ของพี่น้องประชาชน” นายจำนงค์กล่าวปิดท้าย