ศูนย์ประชุมเมืองทองธานี/ พอช.จัดประชุมวิชาการงานไทยแลนด์โซเชียลเอ็กซ์โป 2019 ‘ตำบลบูรณาการเพื่อชุมชนเข้มแข็ง’ คึกคัก เครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนทั่วประเทศเข้าร่วมจนล้นห้องประชุม ‘สมสุข บุญญะบัญชา’ เผยโครงการบ้านมั่นคงทำให้คนจนเข้าถึงสิทธิพลเมือง มีชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และสร้างทรัพย์สินให้ชุมชนได้อย่างน้อย 65,000 ล้านบาท
งานไทยแลนด์โซเชียลเอ็กซ์โปวันแรก 5 กรกฎาคม หลังจากพิธีเปิดในช่วงเช้า โดยมีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานเปิดงานแล้ว ในช่วงบ่ายสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ร่วมกับขบวนองค์กรชุมชนทั่วประเทศจัดการประชุมวิชาการในหัวข้อ ‘ตำบลบูรณาการ เพื่อชุมชนเข้มแข็ง” และ “เรื่องเล่าเร้าพลัง” จากผู้นำชุมชน 5 ภาค 5 ตำบล โดยมีผู้แทนเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนทั่วประเทศเข้าร่วมงานเกือบ 200 คนจนล้นห้องประชุม
นายสมชาติ ภาระสุวรรณ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) กล่าวเปิดประชุมวันแรกว่า การจัดงานครั้งนี้มีแนวคิดร่วมมือร่วมใจ สังคมไทยยั่งยืน ปัญหาสังคมไทยซับซ้อนมาก หน่วยงานใดเพียงหน่วยเดียวไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้เพียงลำพัง ต้องมีการบูรณาการความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาของสังคมไทย ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้านการลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมในสังคม และการเชื่อมโยงแนวคิดบ้านและชุมชน คือ บ้านมั่นคงของมนุษย์ สู่ชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง โดยจะมีการแลกเปลี่ยนจากพื้นที่รูปธรรม คือ 1. ตำบลบูรณาการชุมชนเข้มแข็ง 5 ตำบล 2. การแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยระหว่างประเทศ 3. บ้าน รากฐานความมั่นคงของมนุษย์ และ 4. การสร้างพื้นที่สีเขียวให้กับเมือง
“การนำความรู้จากชุมชนมาสรุปเป็นบทเรียนและแลกเปลี่ยน เป็นความสร้างสรรค์ให้ชุมชน จากการนำพื้นที่รูปธรรมมาแลกเปลี่ยนกัน เพื่อเป็นต้นแบบนำไปสู่การขยายผลไปสู่พื้นที่อื่นๆ ที่มารับฟังจากทั่วประเทศ และต้องนำไปสู่การสร้างความร่วมมือ ร่วมใจ สังคมไทยจึงจะยั่งยืน” ผอ.พอช.กล่าว
“บ้านมั่นคงสร้างทรัพย์สินให้ชุมชนได้อย่างน้อย 65,000 ล้านบาท”
นางสาวสมสุข บุญญะบัญชา ที่ปรึกษาคณะกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน กล่าวปาถกฐาพิเศษ เรื่อง
‘จากบ้านมั่นคง สู่ชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง’ มีใจความตอนหนึ่งว่า บ้านมั่นคงสร้างผลผลิตที่ส่งออกและเป็นความรู้ไปสู่ประเทศอื่นๆ มีบ้านมั่นคงเมืองและบ้านมั่นคงชนบท ซึ่งเป็นเรื่องเดียวกัน แต่ต่างบริบท ต่างวิธีการในการแก้ไขปัญหา
เป็นการพัฒนาทุกมิติ เอาคนเป็นตัวตั้ง เชื่อมโยงกัน สานเครือข่ายความร่วมมือ เชื่อมโยงเป็นเครือข่ายการเรียนรู้ เครือข่ายความร่วมมือ และเครือข่ายการพัฒนา
“โครงการบ้านมั่นคงไม่ใช่การทำบ้านจัดสรร แต่เป็นโครงการสร้างชุมชนเข็มแข็ง ใช้คนเป็นตัวตั้ง ต้องรวมกลุ่มกัน คิดด้วยกัน ทำด้วยกัน พัฒนาความรู้ ทักษะ สร้างความมั่นคงในที่ดินและที่อยู่อาศัย โดยที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์ร่วม สร้างระบบกองทุน ระบบทุนของชุมชน ทุนของเมือง สร้างระบบสวัสดิการชุมชน ทุกชุมชนต้องแก้ปัญหาคนจน เชื่อมโยงการทำงานเป็นเครือข่าย เชื่อมโยงกับคนในท้องถิ่น นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างชุมชน” นางสาวสมสุขพูดถึงหลักการของบ้านมั่นคง
ที่ปรึกษาคณะกรรมการสถาบันฯ กล่าวด้วยว่า ปัญหาสลัม ไม่ใช่การแก้แค่บ้านที่ทรุดโทรม แต่แก้ถึงต้นเหตุ แก้ปัญหาทุกเรื่อง การพัฒนาเมืองที่มีอยู่ยังขาดพื้นที่การมีส่วนร่วม ต้องมีการแก้ไขปัญหาแบบองค์รวม ชวนชุมชนทั้งหลายเข้ามาร่วมแก้ไขปัญหาทุกชุมชนในเมือง ให้ทุกคนเข้ามา สร้างแผนที่ สร้างกลุ่มออมทรัพย์ สร้างกรรมการเมือง ดึงหน่วยงานมาร่วมเป็นกรรมการเมือง วางแผนการแก้ไขปัญหา และกลุ่มเป้าหมายต้องเป็นคนจน
ส่วนการแก้ไขปัญหามีรูปแบบที่หลากหลาย เช่น สร้างความมั่นคงในที่ดิน ก่อสร้างใหม่ หรือย้ายใกล้ที่ดินเดิม รวมทั้งการแบ่งปันที่ดิน นอกจากนี้กระบวนการแก้ไขปัญหาต้องมีการสำรวจปัญหาทั้งเมือง เช่น เมืองนครสวรรค์ สำรวจทั้งเมืองพบ 56 ชุมชน มีการวางผังชุมชน และออกแบบบ้านอย่างมีส่วนร่วมจากคนที่จะอยู่ในชุมชน ซึ่งนอกจากเรื่องบ้านแล้วเมืองนครสวรรค์ยังมีการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมด้วย
การแก้ไขปัญหาที่เมืองชุมแพ จังหวัดขอนแก่น รวม 13 ชุมชน มีการสำรวจผู้เดือดร้อนทั้งเมือง สำรวจที่ดินทั้งเมือง จัดหาที่ดินเพื่อที่อยู่อาศัย ที่ดินรัฐขอเจรจาเพื่อเช่า หรือขออนุญาตอยู่อาศัย และซื้อที่ดินว่าง มีการซื้อที่ดินเพื่อจัดทำนารวมสร้างรายได้ให้คนในชุมชน สร้างพลังความสามารถในระดับชุมชน ไปสู่ระดับเมืองนำไปสู่การแก้ไขปัญหาภัยพิบัติ สร้างโครงสร้างใหม่ของเมืองกลไกในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยในเมืองชุมแพ
นอกจากนี้นางสาวสมสุขยังกล่าวถึงภาพรวมการพัฒนาบ้านมั่นคงเมืองว่า รวมการอนุมัติโครงการประมาณ 130,000 หน่วย ใน 400 เมือง สร้างบ้านเสร็จแล้วประมาณ 50,000 หลัง ทำให้คนจนเกิดสิทธิพลเมือง เข้าถึงสาธารณูปโภค มีชีวิตและสิ่งแวดล้อมที่ดีประมาณ 200,000 – 600,000 คน อนุมัติสินเชื่อเพื่อซื้อที่ดินและสร้างบ้านรวมประมาณ 8,800 ล้านบาท ครอบคลุม 475 องค์กร 2,500 ชุมชน รวม 44,700 ครอบครัว และสามารถสร้างทรัพย์สินให้กับชุมชนได้อย่างน้อย 65,000 ล้านบาท จากงบอุดหนุนของรัฐประมาณ 7,000 – 8,000 ล้านบาท ฯลฯ
เรื่องเล่าเร้าพลัง….ตำบลลำประดา “ซื้อให้น้อยที่สุด กินที่ปลูกให้ได้มากที่สุด”
นายปัณณพัฒน์ ยกแก้ว ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรชุมชนตำบลลำประดา อ.บางมูลนาก จ.พิจิตร
นำเสนอเรื่อง “ลำประดา วาระประชาชนสู่ตำบลจัดการตนเอง” มีใจความสรุปว่า ลำประดาเป็นตำบลเล็กๆ แต่มีปัญหาความยากจน สิ่งแวดล้อม สังคมไม่เอื้ออาทร คนเสียชีวิตมาก ผู้สูงอายุมาก ต่อมาเกิดการหารือระหว่างชุมชนและท้องถิ่น ใช้ระยะเวลาประมาณ 2 ปี จึงตั้งคณะทำงานศึกษาตำบลต้นแบบ ตำบลน่าอยู่ ตำบลสุขภาวะ และกลับมารวมรวมองค์กรภาคี และสร้างยุทธศาสตร์ของตำบลลำประดา 4 ด้าน วิเคราะห์ปัญหา 1.เศรษฐกิจและทุน 2. สิ่งแวดล้อม 3. สังคม และ 4.เรื่องสุขภาพ
ปี 2556 เกิดเวทีกลาง ‘เวทีวาระประชาชนคนลำประดา’ แก้ไขปัญหาฉับพลันโดยเร่งด่วน ประชุมเช้าและบ่ายแก้ไขปัญหา สามารถแก้ไขปัญหาได้หลายเรื่อง โดยมีหลักการสำคัญที่จะนำไปสู่ชุมชนเข้มแข็ง คือ 1.ความเป็นผู้นำ 2.การถอดหัวโขน ไม่ยึดติดตำแหน่ง ให้ใช้ความดี 3.ไม่โกงกินบ้านเมือง มีในหัวใจนักพัฒนา และ 4.ความสามัคคี โดยมีรูปธรรมความสำเร็จ คือ หนี้สินของชุมชนลดลงจากเดิม 150 ล้านบาท ปัจจุบันเหลือ 70 กว่าล้านบาท โดยมาจากการส่งเสริมอาชีพหลักและอาชีพเสริม ยึดหลัก “ซื้อให้น้อยที่สุด กินที่ปลูกให้ได้มากที่สุด”
ตำบลกุดหว้า “ใช้วัฒนธรรมผู้ไทเป็นฐานพัฒนาสู่ตำบลเข้มแข็ง”
นางสาวชนากานต์ วังคะฮาด ประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลกุดหว้า อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ นำเสนอว่า
ตำบลกุดหว้าชาวบ้านเป็นชาวผู้ไท มีประเพณี มีวัฒนธรรมโดดเด่น คือ เรื่องภาษาพูดและการแต่งกาย จากรากฐานวัฒนธรรมผู้ไท นำไปสู่ชุมชนเข้มแข็งจัดการตนเอง โดยนำวัฒนธรรมที่ดำรงอยู่พัฒนาให้เป็นสิ่งมีค่าในชุมชน และสร้างโอกาสอาชีพให้แก่ชุมชน ยึดถือประเพณี ฮีต 12 คอง 14 และนำไม้ไผ่ในพื้นที่นำไปร้อยเรียงกับปัจจัยที่จะถวายวัด ภายหลังพัฒนามาลัยไม้ไผ่เป็นสินค้าโอทอป เข็มกลัดมาลัยไม้ไผ่ ปิ่นปักผม และบั้งไฟตะไลล้าน
ภายหลังชุมชนจึงนำวัฒนธรรมผู้ไทเป็นมาเป็นจุดเด่นเรื่องการท่องเที่ยวชุมชน เช่น “บุญตั้งไฟตะไลล้าน สืบสานวัฒนธรรม” และเป็นบุญบั้งไฟปลอดเหล้า ปลอดการพนัน ฯลฯ ทำให้ชุมชนจัดการตนเองได้ โดยสภาองค์กรชุมชนมีบทบาทช่วยประสานหน่วยงานภายนอกเข้ามาหนุนเสริมเรื่องการจัดการตนเองมากขึ้น ดำเนินการตามแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป นอกจากนี้ที่ผ่านมา พอช. ได้ลงไปชุมชน ทำให้ได้เรียนรู้เรื่องตัวชี้วัดชุมชนเข้มแข็ง และจะนำไปพัฒนาชุมชนในอนาคต
ตำบลหนองโรงฟื้นป่าชุมชน เห็ดโคนสร้างรายได้ปีละ 2 ล้านบาท
นางสมพร ปานโต ประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลหนองโรง อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี นำเสนอว่า เดิมป่าชุมชนตำบลหนองโรงถูกบุกรุก การสัมปทานป่าไม้เพื่อทำหมอนรถไฟ และนายทุนเข้ามาส่งเสริมการปลูกพืชเศรษฐกิจ ทำให้ป่าไม้ถูกทำลาย เกิดผลกระทบด้านแหล่งน้ำ ปี 2548 จึงได้ขับเคลื่อนเรื่องป่าชุมชน ของบสนับสนุนงบประมาณในการจัดการป่า และส่งผลให้เกิดความร่วมมือกับกรมป่าไม้ กอรมน. โดยมีเยาวชนร่วมรักษาป่าและสิ่งแวดล้อมชุมชน จนสามารถดูแลป่าได้จำนวน 1,008 ไร่ มีการสำรวจการใช้ประโยชน์จากป่า เช่น เห็ดโคน สร้างมูลค่าให้ชุมชนปีละ 1-2 ล้านบาท นอกจากนี้ยังขยายเป็นเครือข่ายป่าชุมชน 184 ชุมชนภายในจังหวัดกาญจนบุรี
ปี 2551 จัดตั้งสภาองค์กรชุมชนตำบลหนองโรง มีเป้าหมายเพื่อขับเคลื่อน 1.สิ่งแวดล้อม 2.แผนงานเศรษฐกิจและทุนชุมชน ชวน 4 หมู่บ้านทำร้านค้าประชารัฐ หมู่บ้านละ 500,000 บาท 3.แผนงานด้านสังคม และ 4.แผนงานด้านวัฒนธรรม รำเหย่ย เข้าพรรษา ทำขวัญข้าว ฯลฯ ส่วนความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น จากเดิมชุมชนมีหนี้สิน แต่ปัจจุบันสามารถแก้ไขปัญหาหนี้สินของชุมชน มีกลุ่มออมทรัพย์เกิดขึ้นมากมาย มีเงินนับ 10 ล้านบาท
ตำบลดงขี้เหล็ก “เงินเป็นแค่เครื่องมือ แต่ทรัพยากรมนุษย์เป็นสิ่งที่สำคัญ”
นายบรรจง พรมวิเศษ ประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลดงขี้เหล็ก อ.เมือง จ.ปราจีนบุรี นำเสนอว่า ปี 2524 เริ่มทำกลุ่มออมทรัพย์ เริ่มจากกลุ่มเล็กๆ 48 คน เงินสมัครสมาชิก 1,150 บาท คณะกรรมการ 9 คน โดยเลือกจากคนที่มีคุณธรรมศีลธรรม ปัจจุบันตำบลดงขี้เหล็ก 14 หมู่บ้าน มีเงินทุนในตำบล 109 ล้านบาท กองทุน 65 ล้านบาท “การออมทรัพย์เริ่มจากเงิน แต่เงินเป็นแค่เครื่องมือเท่านั้น แต่ทรัพยากรมนุษย์เป็นสิ่งที่สำคัญ” และเริ่มมีโครงการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินชนบท ร่วมกับ พอช. สำรวจข้อมูลทั้งตำบล ทุกมิติ และนำไปสู่การแก้ไขปัญหาขาดแคลนที่ดิน ที่ดินหลุดมือ ไม่มีที่ดินทำกิน และแก้ปัญหาการจัดการน้ำ และเกิดกองทุนที่ดินแก้ไขปัญหาโฉนดหลุดมือ
ตำบลเขาแก้ว “ปลูกไม้เศรษฐกิจค้ำเงินกู้ได้ 100,000 บาท”
นายสาโรจน์ สินธู ประธานกองทุนสวัสดิการตำบลเขาแก้ว อ.ลานสกา จ.นครศรีธรรมราช นำเสนอว่า สภาองค์กรชุมชนตำบลเขาแก้วจัดตั้งเมื่อปี 2553 เป็นกลไกหลักในการวิเคราะห์ปัญหาเรื่องหนี้สิน และจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลขึ้นมาในปีนั้น มีสมาชิก 258 คน ทำให้เกิดการเรียนรู้ว่ากองทุนสวัสดิการสามารถนำไปพัฒนาคุณภาพชีวิตคนในตำบลได้ ในปี 2558 จัดตั้งสถาบันการเงินชุมชนตำบลเขาแก้ว ปัจจุบันมีเงินหมุนเวียนกว่า 4 ล้านบาท และมีการสร้างตลาดนัดชุมชน ‘ตลาดสวนสร้างบุญ’ ให้ชาวบ้านนำพืชผักและอาหารต่างๆ ไปขาย
“ช่วง 5 ปีแรก ประสบปัญหาอุปสรรคต่างๆ เช่น ปัญหาราคายางพาราตกต่ำ แต่ได้รับแรงบันดาลใจในอดีต และต้องการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนในชุมชน จึงจัดทำโครงการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ตำบลเขาแก้ว 4,900 คน ร่วมกับภาคีเครือข่าย เพื่อประกาศเป็น “ตำบลสวัสดิการสู่ตำบลจัดการตนเอง” จึงได้ร่างปฏิญญาขึ้น ร่วมกับทุกภาคีเครือข่าย โดยใช้โมเดลตำบลเขาแก้ว และกลไกสภาองค์กรชุมชน เป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนงานต่างๆ” นายสาโรจน์กล่าว
ปัจจุบันตำบลเกิดผลสำเร็จ คือ การพัฒนาคุณภาพชีวิต พัฒนาองค์กรชุมชนสีขาว มีการปลูกพืชสมรมเพื่อสร้างรายได้ การออมต้นไม้ โดยปลูกไม้เศรษฐกิจเพื่อค้ำประกันเงินกู้จากสถาบันการเงินชุมชน มีสมาชิกกลุ่มออมต้นไม้ 53 คน วงเงินกู้สูงสุด 100,000 บาท นอกจากนี้ยังเปิดอบรมเยาวชนต้นกล้าเพื่อสร้างความเข้าใจ เรื่องสวัสดิการ และสิ่งแวดล้อม
ข้อมูลและบันทึกโดยทีมวิชาการ พอช.