ตำบลคำพอุง อ.โพธิ์ชัย จ.ร้อยเอ็ด อยู่ในเขตพื้นที่โนนสูง มีภูเขาขนาดเล็กรายรอบ บางหมู่บ้านอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติดงแม่เผด หรือ ”ดงแม่เปรต” ซึ่งเป็นคำเรียกขานในอดีต เป็นพื้นที่ป่าขนาดใหญ่ที่สุดในภาคอีสานตอนกลาง กินพื้นที่ อำเภอโพนทอง อำเภอโพธิ์ชัย อำเภอหนองพอก และอำเภอเมยวดี จังหวัดร้อยเอ็ด มาจนถึงอำเภอร่องคำ อำเภอกมลาไสย อำเภอดอนจาน อำเภอนามน อำเภอสมเด็จ อำเภอห้วยผึ้ง และอำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์
ในหลักฐานบันทึกการเดินทางของกลุ่มคนจากเมืองหนองบัวลำภู เพื่อมาตั้งเมืองเลิงนกทา และยโสธร ระบุเอาไว้ว่า เป็นป่าดงที่อุดมสมบูรณ์ใหญ่โต และมีอาถรรพ์สารพัด แต่ถึงแม้จะอาถรรพ์จนได้ชื่อว่าแม่เผด แต่ก็ถูกทำเป็นพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังตามนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจ “น้ำไหลไฟสว่าง หนทางดี มีงานทำ” และนโยบาย66/2523 คือพื้นที่ปลูกอ้อยและโรงงานน้ำตาลขนาดใหญ่ แม้กระนั้นชาวบ้านคำพอุงและชาวบ้านโดยรอบผืนป่าถือเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ ใช้เป็นแหล่งทำมาหากินนับตั้งแต่อดีต
ตำบลคำพอุง ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ.2431 โดยนายสุข-นางญา สุกะเสน ได้ชักชวนชาวบ้านจากบ้านกุดลิง (ปัจจุบันคือที่ตั้ง อ.ร่องคำ จ.กาฬสินธุ์) อพยพตั้งถิ่นฐานจำนวน 23 ครอบครัว ชื่อแรกตั้งคือ บ้านคำพอุง เป็นชื่อของต้นคำพอุงบักผอุง หรือ บักผดุง ลักษณะลำต้นสูงใหญ้ มีผลสุกมันสีดำ จึงได้เรียกว่า “บ้านคำพอุง” ตำบลคำพอุงแยกจากตำบลขามเปี้ย ปี พ.ศ. 2510-11 เดิมมี 11 หมู่บ้าน กำนันคนแรกชื่อ นายบุญมี คำสุเรศ ปัจจุบันมี 13 หมู่บ้าน 2,598 ครัวเรือน กำนันคือนายเคนอ้วน แสนเพชร (ม.8)
ตำบลคำพอุงอยู่ในพื้นที่ไหล่เขา ลักษณะภูมิประเทศทั่วไปเป็นที่ราบสูง และที่ราบลุ่มบางส่วน มีภูเขายอดตัดอยู่ทางด้านทิศเหนือของตำบลติดเขตจังหวัดกาฬสินธุ์ มีพื้นที่ป่าเป็นป่าดิบแล้งอยู่บริเวณหุบเขา และป่าเต็งรังอยู่บริเวณที่สาธารณะประโยชน์ของตำบล มีลำห้วยที่เป็นต้นน้ำมาจากหุบเขา เช่น ลำห้วยทราย ลำห้วยอัคคะ ฯลฯ และมีอ่างเก็บน้ำที่ก่อสร้างขึ้นเพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ในการเกษตรและปศุสัตว์หลายแห่ง เช่น อ่างเก็บน้ำห้วยสมสนุก อ่างเก็บน้ำห้วยคำตุ ฯลฯ
ปัจจุบันชาวบ้านตำบลคำพอุงส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเพาะปลูกข้าว (ผลผลิตโดยเฉลี่ย 350 กิโลกรัม/ไร่) จากการสำรวจข้อมูล พบว่า ครัวเรือนที่ประกอบอาชีพมากกว่า 1 อาชีพ มีจำนวน 1,560 ครัวเรือน ประกอบอาชีพเพียงอย่างเดียว มีจำนวน 160 ครัวเรือน รับจ้าง มีจำนวน 457 ครัวเรือน และประกอบอาชีพทำไร่ 1,286 ครัวเรือน มีการปลูกยางพารา ปลูกอ้อย มันสำปะหลัง เนื่องดินเป็นสภาพดินร่วนปนทราย
การรวมตัวจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนตำบล
“คำพอุงรุ่งเรือง เมืองดอกไม้งาม สดใสดงแม่เผด เขตมันสำปะหลังใหญ่ ถ้ำสินชัยสวยงาม เรืองนามพิณประยุกต์ เที่ยวสนุกถ้ำมวย สาวสวยคำพอุง”
การขับเคลื่อนงานตำบลคำพอุง เกิดจากการรวมตัวของชุมชนที่มีการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชน ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการรวมกลุ่มรวมตัวกันเพื่อแก้ไขปัญหาของชุมชนตนเอง จึงได้มีการเชื่อมโยงกลุ่ม/องค์กรชุมชนต่างๆในพื้นที่จำนวน 13 องค์กร จัดตั้งสภาองค์กรชุมชน เมื่อวันที่ 5 ธ.ค.54
สภาองค์กรชุมชนตำบลคำพอุง จึงได้เข้ามามีบทบาทสำคัญและเป็นเครื่องมือที่เป็นทางการในการแก้ปัญหา บนฐานความร่วมมือระหว่างชุมชนท้องถิ่นมาอย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมามีความพยายามในการเชื่อมโยงศักยภาพกลุ่มองค์กรชุมชนต่างๆ มาร่วมกันกำหนดเป้าหมายพัฒนาตำบล จนกระทั่งปี พ.ศ. 2559 สภาองค์กรชุมชนตำบลคำพอุง กลุ่มองค์กรต่างๆ กองทุนสวัสดิการชุมชน สำรวจข้อมูลปัญหานำมาวิเคราะห์และค้นหาแนวทาง ในการส่งเสริมระบบเศรษฐกิจชุมชน
นายน้อย สุดสาคร ประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลคำพอุง เล่าว่า “ชาวบ้านส่วนใหญ่มีฐานะยากจน พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่สูงมีภูเขา ทางตอนเหนือของตำบล สามารถทำไร่อ้อย ไร่มัน ได้ตลอดปี มีการคมนาคมขนส่งผลผลิตทางการเกษตรได้ สะดวก มีโรงงานน้ำตาลและโรงงานแป้งมันสำปะหลังใกล้พื้นที่ สามารถนำออกขายได้ ในชุมชนมีตลาดจับจ่ายซื้อ-ขาย อาหาร เช้า-เย็น ทุกวัน แม้ว่าจุดเด่นของพื้นที่ที่เอื้อต่อการพัฒนาตำบลแต่การที่ชาวบ้าน กลุ่มต่างๆ ขาดการมีส่วนร่วมอยู่มาก ทำให้งานพัฒนาชุมชนท้องถิ่นเป็นไปอย่างลำบาก”
ชาวบ้านในตำบลคำพอุงมีรายได้น้อย ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร มีปัญหาต้นทุนสูงรายได้ไม่พอเพียง ขาดแคลนแหล่งน้ำ เกษตรกรว่างานหลังฤดูเก็บเกี่ยว ประชากรมีรายได้ต่ำต่อดำรงชีพ ปัญหาหนีสิ้นของประชากรเพิ่มมากขึ้น ปัญหาที่ดิน ประชากรในชุมชนมีสุขภาพไม่แข็งแรง เด็ก/เยาวชนขาดการปลูกฝังทางด้านค่านิยมที่ถูกต้อง การดูแลเอาใจใส่ผู้สูงอายุ/ผู้พิการ/ผู้ป่วยโรคเอดส์ มีการพึ่งพาระบบเศรษฐกิจภายนอกเป็นหลัก ดังนั้น สภาองค์กรชุมชนตำบลคำพอุง จึงมีแนวความคิดว่าทำอย่างไรจะสามารถสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน โดยนำทุนชุมชนไม่ว่าจะเป็นทุนทรัพยากรธรรมชาติ ทุนวัฒนธรรม ประเพณี และการรวมกลุ่ม วิถีชีวิตต่างๆ มาก่อเกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตคน
สภาองค์กรชุมชนตำบลคำพอุง จึงมีความคิดที่จะเชื่อมโยงกลุ่มต่างๆ สร้างกระบวนการเรียนรู้ ความเข้าใจในสภาพพื้นที่ของตำบล อะไรคือจุดแข็ง จุดอ่อนของชุมชน ซึ่งสภาองค์กรชุมชนตำบลมีบทบาทในการดึงศักยภาพกลุ่มเศรษฐกิจของชุมชน มาร่วมคิดพัฒนาขีดความสามารถและสร้างรายได้ของคนในชุมชน
เกิดภาพการรวมกลุ่มเพื่อสร้างรายได้เสริมของคนในตำบลมีความจำเป็น หลังเว้นว่างฤดูกาลเกษตร ไม่รวมถึงการออกไปรับจ้างเป็นแรงงานภายในชุมชน พบว่า ในชุมชนมีการรวมกลุ่มต่างๆ เช่น กลุ่มผลิตภัณฑ์จากไม้
ผลผลิตที่ได้จากการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ สามารถทำรายได้ถึง 20,000-30,000 บาท/ปี กลุ่มแปรรูปอาหารหน่อไม้ดอง/หน่อไม้อัดปี๊บ ที่มีสมาชิก เพียง 10 กว่าครัวเรือนละประมาณ 1,500 – 2,000 บาท/เดือน
นอกจากนี้มีกลุ่มต่างๆ เช่น กลุ่มเกษตรอินทรีย์ กลุ่มอนุรักษ์พันธุ์ข้าว กลุ่มเกษตรกรปลูกข้าวอินทรีย์ชีวภาพ กลุ่มทอผ้าย้อมคราม กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต กลุ่มดอกไม้ประดิษฐ์ กลุ่มภูมิปัญญาไปจนถึงกองทุนสวัสดิการชุมชนที่ดูแลสมาชิกผู้ด้อยโอกาสในตำบล ยึดโยงเครือข่ายกลุ่มองค์กรชุมชนระดับตำบลที่มีศักยภาพ โดยอาศัยพื้นที่ทางทรัพยากรธรรมชาติเพื่อยกระดับพัฒนาคุณภาพชีวิตไปสู่ฐานเศรษฐกิจที่มั่นคง
วิถีชุมชนสร้างโอกาสด้วยการท่องเที่ยวโดยชุมชน
จากการเชื่อมโยงกลุ่มองค์กรชุมชน ด้วยสภาองค์กรชุมชนตำบลคำพอุง ผ่านเวทีเรียนรู้สรุปบทเรียนลองผิดลองถูกร่วมกันระหว่างชุมชนท้องถิ่น หน่วยงานในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง การวิเคราะห์ของชุมชนชี้ให้เห็นว่า สภาพพื้นที่โดยส่วนใหญ่ของตำบลคำพอุงเป็นที่ภูเขา สามารถปลูกเศรษฐกิจปลูกได้ไม่กี่ชนิด เช่น ข้าวโพด ยางพารา ฯลฯ ชีวิตความเป็นอยู่ในแต่ละวันจึงขึ้นอยู่กับราคาผลิตทางการเกษตรเป็นหลัก หากปีไหนราคาดี ก็ไม่มีปัญหาไม่ต้องไปทำงานต่างถิ่น แต่หากปีไหนราคาตกต่ำก็ต้องไปหาเลี้ยงชีพในต่างถิ่น
การนำข้อมูลปัญหาความต้องการมาวิเคราะห์ เพื่อกำหนดแนวทางการพัฒนาของคนในตำบล ได้จุดประกายความคิดที่จะสร้างรายได้ บนวิถีชีวิตความพอเพียงจากการดำรงชีพของคนในชุมชน คือ การนำเอาความโดดเด่นของสภาพพื้นที่และการอนุรักษ์ธรรมชาติ ตลอดจนการรวมกลุ่มของชุมชน เข้าไปปรึกษาหารือการทำงานร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบลคำพอุง สภาวัฒนธรรมตำบล องค์กรอาสาพิทักษ์ป่า (ดงแม่เผด) จนกระทั่งริเริ่มแนวคิดการจัดการแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติโดยชุมชนขึ้น
สภาองค์กรชุมชนตำบลคำพอุงมองเห็นโอกาส และคิดว่าทำอย่างไรจึงจะนำทรัพยากรที่มีอยู่ในพื้นที่มาใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ ใช้การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือในการพัฒนาชุมชนโดยชุมชน บนหลักการสำคัญ คือ
1) ชุมชนจะเป็นเจ้าของและชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางและตัดสินใจได้อย่างไร
2) ช่วยในการยกระดับคุณภาพชีวิตความยั่งยืนทางด้านสิ่งแวดล้อม
3) คงเอกลักษณ์และวัฒนธรรมท้องถิ่นก่อให้เกิดการเรียนรู้ระหว่างผู้คน และ 4) เกิดผลตอบแทนที่เป็นธรรมแก่คนในท้องถิ่นและกระจายรายได้สู่สาธารณะประโยชน์ของชุมชน
ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นที่มาของการนำฐานทรัพยากรธรรมชาติ โดยใช้เรื่องการท่องเที่ยวโดยชุมชนเข้ามาเป็นช่องทางหนึ่งในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจของพื้นที่ เชื่อมโยงกับกลุ่มองค์กรที่มี นำไปสู่แนวทางการยกระดับเศรษฐกิจชุมชน “การท่องเที่ยวอนุรักษ์ธรรมชาติสิ่งแวดล้อม วัฒนธรรมท้องถิ่น และพัฒนาชุมชน สู่เศรษฐกิจชุมชนตำบลคำพอุง”
การขับเคลื่อนส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ได้มีการส่งเสริมบทบาทของสมาชิกในการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนโดยคนในตำบลคำพอุง ส่งเสริมให้คนในตำบลมีความสามัคคี มีจิตสาธารณะ และมีส่วนร่วมในกิจกรรมของตำบลเพื่อชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็ง รวมทั้งลูกหลานเยาวชนก็ไม่ต้องไม่ทำงานต่างถิ่น เป็นการปลูกฝังให้คนในชุมชนเกิดความสำนึกรักท้องถิ่นของตนเองมากขึ้น ทั้งนี้ การท่องเที่ยวชุมชนของตำบลคำพอุง ได้ร่วมมือกับภาครัฐและท้องถิ่นในการจัดระบบการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์โดยการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน
นายธานี เรืองโรจน์ เลขานุการสภาองค์กรชุมชนตำบลคำพอุง เล่าว่า “ประโยชน์ที่ชุมชนจะได้รับมีหลายทาง คือประโยชน์ในด้านการพัฒนาของชุมชนเองโดยที่การท่องเที่ยวทำขึ้นเพื่อตอบสนองปัญหาหรือความต้องการของชุมชนบางอย่าง แต่ไม่ได้เพื่อความต้องการทางด้านเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว หากแต่ประโยชน์ก็จะตอบกับต่อชุมชน เช่น ช่วยแก้ปัญหาเรื่องของทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ชุมชนเราก็จะได้การจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมโดยทางอ้อม ดังนั้นประโยชน์ก็คือชุมชนได้มีส่วนร่วมในการจัดการพัฒนาชุมชนของตนเอง”
การท่องเที่ยวโดยชุมชนของตำบลคำพอุง ไม่ได้ไปเพื่อความบันเทิงจิตใจเท่านั้นแต่จะแฝงไปด้วยประวัติศาสตร์วิถีชีวิตการดำรงชีพและการปรับตัวของชุมชนคนท้องถิ่น เพื่อให้มาซึ่งสิทธิอันชอบธรรมในการดำรงอยู่ของความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียมกันในสังคม รวมทั้งตำบลคำพอุงยังส่งเสริมเรื่องเกษตรอินทรีย์ อนุรักษ์พันธุ์ข้าวพื้นเมือง เพื่อให้คนทั่วไปได้เห็นการใช้ชีวิตอย่างพอเพียงของคนในชุมชน เหลือก็ขาย บางส่วนก็เก็บไว้กินในครอบครัว
เช่นนั้นการท่องเที่ยวโดยชุมชนของตำบลคำพอุง ถือเป็นฐานทรัพยากรทางธรรมชาติและวัฒนธรรมที่มีความสำคัญ สำหรับนำมาส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนในหลายแห่ง เช่น ถ้ำภูมวย น้ำจ้าก ถ้ำหินสอ ถ้ำมืด ถ้ำสินชัย ธารน้ำสินชัย ต้นไม้พันปี ภูผางาม แหล่งโบราณคดีของภูไม้เปาะ ผาหำหด
สิ่งที่ที่โดนเด่นอีกอย่างหนึ่งของตำบลคำพอุง คือวัฒนธรรมงานประเพณีที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตทั้งด้านการอยู่การกินแบบคนอีสานพื้นเมือง ซึ่งการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ของตำบลคำพอุง ได้รับความร่วมมือจากองค์การบริหารส่วนตำบลคำพอุง สภาวัฒนธรรมตำบล องค์กรอาสาพิทักษ์ป่า (ดงแม่เผด) พัฒนาชุมชน ในการช่วยเหลือเป็นที่ปรึกษาในการทำงานสภาองค์กรชุมชนตำบลคำพอุง
ตำบลคำพอุงคดร่วมกันเป็นแผนพัฒนาอย่างต่อเนื่องทำให้ชุมชนเกิดการวางแผนชีวิตเพื่อพึ่งพาตนเองได้ในทางเศรษฐกิจ สังคม และสุขภาพ
เชื่อมโยงความร่วมมือกับทุกภาพส่วนเพื่อให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง
แผนการพัฒนาของตำบลคำพอุง
- พัฒนากลุ่มอาชีพเดิม ส่งเสริมอาชีพใหม่โดยพัฒนาศักยภาพตามความต้องการและความถนัดกลุ่ม
- ส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและจัดตั้งศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริประจำตำบลคำพอุง
- จัดให้มีศูนย์จำหน่ายสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์(OTOP) และปรับปรุงตลาดชุมชนที่มีความเหมาะสม
- การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวโดยชุมชน มีสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ เช่น ถ้ำสินชัย อยู่ที่ บ้านโนนใหญ่ หมู่ที่ 1 และบ้านเกษตรสมบูรณ์ หมู่ที่ 10 ,ถ้ำภูมวย น้ำจ้าก อยู่ที่บ้าน นางาม หมู่ที่ 11, ภูกุ้มข้าว อยู่ที่บ้านภูเขาทอง หมู่ที่ 5 และ หมู่ที่ 9
- การพัฒนาด้านประเพณีท้องถิ่น จัดให้มีศูนย์ถ่ายทอดภูมิปัญญาชาวบ้านประจำตำบลคำพอุง เช่น การแสดงการฟ้อนรำคองก้า ฟื้นฟูอนุรักษ์ประเพณีลงข่วงเข็นฝ้าย ผญาสุภาษิตอีสาน ถ่ายทอดภูมิปัญญาการจักสานและอื่นๆ เป็นต้น
- ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐทั้งในและนอกพื้นที่ ในการวางแผนป้องกันและแก้ไข
ปัญหาในชุมชน - สนับสนุนกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลคำพอุง
- การพัฒนาด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เช่น ทรัพยากรดิน ส่วนใหญ่เป็นดินร่วนปนทราย โครงสร้างของดินไม่อุ้มน้ำ มีห้วยอัคคะไหลผ่านตำบลคำพอุง หมู่ที่ 1,10 ลำห้วยทรายไหลผ่าน ตำบลคำพอุง หมู่ที่ 2,3,4,5,6,7,8 ป่าไม้ พื้นที่ที่เป็นภูเขา ป่าไม้เป็นป่าดิบแล้ง, พื้นที่ราบ ป่าไม้เป็นป่าเต็งรัง
วันนี้คนตำบลคำพอุง ปฏิบัติให้เห็นแล้วว่าทรัพยากรธรรมชาติที่มีคุณค่ามากมายมหาศาล และอาจไม่สามารถตีมูลค่าเป็นตัวเงินได้ ถูกนำมาใช้ในการสร้างพลังความร่วมมือของคนในชุมชนเพื่อพัฒนาพื้นที่ ให้กลับฟื้นคืนความอุดมสมบูรณ์แก่ธรรมชาติ
เอื้อต่อการดำรงชีวิต สร้างระบบเศรษฐกิจของคนในพื้นที่ ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ทรัพยากรทางธรรมชาติ เพื่อให้คนภายนอกรวมถึงลูกหลานได้เรียนรู้และใช้ประโยชน์อย่างรู้คุณค่าต่อไป