กว่าจะเป็นนาเข
บ้านนาเข หรือ นาเขในปัจจุบัน ได้ก่อตั้ง ขึ้นมาแล้ว เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2224 ในแหล่งลุ่มแม้น้ำโขง โดยชาวบ้านเริ่มอพยพมาจาก ประเทศลาว ต้นกำเนิดคือ ชนเผ่าลาวพวน และภูไท จากบ้านท่าสีดาเดิม เดินทางข้ามฝั่งแม่น้ำโขงมายังประเทศไทย และสร้างหลักปักฐาน หาแหล่งทำมาหากิน ที่ท่าน้ำต้นไม้แหงน ริมฝั่งแม่น้ำโขง พื้นที่บริเวณที่นาหลวงพ่อสุ ตำแหน่งปัจจุบัน คือสถานที่ตั้งโรงสูบน้ำด้วยไฟฟ้า ชาวบ้านมีความรักใคร่สามัคคีกันสร้างบ้านปลูกเรือน สร้างวัดสร้างโบสถ์ เจ้าอาวาสวัดท่านแรกคือ ท่านญาครูโคตรหมื่นดาน เชียงเกษ เป็นผู้นำหมู่บ้านท่าสีดำ การดำรงชีวิตของชาวบ้านในสมัยนั้นมีความเรียบง่าย ประกอบอาชีพเกษตรกร ทํานา ทําไร่ ต่อมาเกิดโรคระบาด ผู้คนบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก ชาวบ้านจึงละถิ่นฐานมาตั้งหมู่บ้านใหม่ ชื่อหมู่บ้านโพนแดง โดยมีอาชีพทำการเกษตรเช่นเดิม ในการคมนาคมขนส่งไปมาหาสู่กันในช่วงนั้น ต้องเดินทางด้วยเท้าและอาศัยการสัญจรทางน้ำ ในการไปมาหาสู่กันโดยใช้แม่น้ำโขงเป็นหลัก ชาวบ้านโพนแดงเสร็จ จากฤดูทำนาจะพากันตัดไม้หนามเข ให้เป็นท่อนๆ เพื่อนำไปขายให้พ่อค้า นายฮ้อย ที่นำเรือบรรทุกสินค้าเดินทางมาค้าขาย ให้พี่น้องชาวบ้านโพนแดง สินค้าส่วนมากจะเป็นข้าว และเสื้อผ้า ขากลับ พ่อค้าจะชื้อไม้หนามเข เพื่อนำกลับไปเคี่ยว ต้ม นำยางไปไปย้อมสีผ้า สีที่ได้จาหนามเข จะเป็นสีเหลืองอร่ามสดใสสวยงามมาก สีไม่ตก พอเสร็จฤดูเก็บเกี่ยวชาวบ้านโพนแดงหันมายึดอาชีพตัดไม้หนามเข เป็นอาชีพเสริม ซึ่งบริเวณพื้นที่บ้านโพนแดงเต็มไปด้วยหนามเข จึงทำให้ชาวบ้านอยู่ดีมีสุกเรื่อยมา พี่น้องชาวบ้านจึงเห็นความสำคัญของพื้นที่เศรษฐกิจไม้หนามเข และเพื่อเป็นสิริมงคลของหมู่บ้านจึงได้ตกลงกันเปลี่ยนชื่อหมู่บ้านจากเดิม บ้านโพนแดง เป็นบ้านหนามเข หรือบ้านนาเข จนถึงปัจจุบัน
หลายร้อยปีที่ผ่านมาชาวบ้านตำบลนาเข มีอาชีพหลักคือการทำนา และหาปลาในแม่น้ำโขง จนกระทั่งปี 2557 ได้มีการส่งเสริมพื้นที่ให้มีการปลูกกล้วย เพื่อบริโภคในครัวเรือน เนื่องจากกล้วยมีประโยชน์เยอะ กินได้ทุกเพศทุกวัย จนกระทั่งกล้วยในตำบลนาเขมีปริมาณมาก กล้วยส่วนใหญ่ที่ปลูกในพื้นที่จะเป็นกล้วยน้ำหว้า ซึ่งในพื้นที่ตำบลมีปลูกจำนวนหลายแปลง รวมแล้วประมาณ 10 – 15 ไร่ จำนวนกล้วยที่ปลูกยังไม่ได้นับรวมกล้วยที่ปลูกตามหัวไร่ปลายนา หรือตามรั้วบ้าน หลังละ 5 – 10 กอ ส่งผลให้จำนวนกล้วยที่อยู่ในพื้นที่มีปริมาณมาก
ผลิตภัณฑ์จากกล้วย
กล้วยในตำบลนาเข แต่ละต้นสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ทั้งหมด เริ่มตั้งแต่ใบกล้วย ที่เมื่อแก่เต็มที่ สามารถตัดไปขายให้กับร้านค้าในอำเภอบ้านแพง คือร้านทำหมูยอ และร้านทำแหนมหมู ร้านขายดอกไม้ และกลุ่มอาชีพทำขันหมากเบ็ง ซึ่งมีการตัดไปขายให้กับร้านค้าเป็นประจำ ในส่วนของลำต้น จะมีสมาชิกกลุ่มเลี้ยงโค นำไปเป็นอาหารให้กับสัตว์เลี้ยงของตนเอง หัวปลี สามารถจำหน่ายได้ 15 – 20 บาท/หัว ส่วนผลกล้วย ก็สามารถนำไปขายในราคาต่อหวี อยู่ที่ 20 – 30 บาท อีกทั้งยังสามารถนำมาแปลรูปหลากหลายชนิดเพื่อง่ายต่อการรับประทานและการเก็บรักษาไว้ได้นาน กล้วยที่สมาชิกได้ทำขึ้น มีดังนี้
- กล้วยกรอบเค็ม จะใช้กล้วยดิบที่แก่จัด
- กล้วยสมุนไพร จะใช้กล้วยดิบแก่จัดหันบางเป็นเส้นสี่เหลี่ยม
- กล้วยเบรกแตก จะใช้กล้วยสุกประมาณ 70 % แต่ยังไม่งอม
- กล้วยอบเนย น้ำตาลปิ๊บ จะใช้กล้วยน้ำหว้าดิบ
- กล้วยอบเนย น้ำตาลทราย จะใช้กล้วยเขียวส้ม
ส่วนราคาที่จำหน่ายให้กับคนในชุมชนได้ชิมนั้นอยู่ที่ 15 – 30 บาท ขึ้นอยู่กับสูตรและปริมาณ ในช่วงแรกการจำหน่ายยังอยู่ในพื้นที่ชุมชน อนาคตจะต้องมีการขยายตลาดขายตามร้านค้าขนาดใหญ่ หรือ ร้านของฝาก ที่ตั้งอยู่ตามจุดต่างๆ เช่น ปั้มนั้นมัน ร้านรวมใจประชารัฐ เป็นต้น
สมาชิกกลุ่ม
กลุ่มแม่บ้านแปรรูปกล้วยตำบลนาเข ได้รวมตัวกันของคนในชุมชนหมู่บ้านละ 10 คน โดยเริ่มจากแม่บ้านหมู่ 1 เป็นแกนนำหลักในการทำผลิตภัณฑ์แปลรูปจากกล้วย โดยแบ่งหน้าที่การทำงานของแต่ละคนออกอย่างชัดเจน แต่ละคนก็จะมีหน้าที่การทำงานไม่เหมือนกัน เช่น หั่น/ฝานกล้วย ทอดกล้วย บรรจุภัณฑ์ จัดทำหน่าย เป็นต้นผลิตภัณฑ์จากกล้วย ส่วนหมู่บ้านอื่นจะทำในลักษณะส่วนบุคคลแล้วจึงนำมาจำหน่ายรวมกับสมาชิกคนอื่น ในส่วนของคณะกรรมการมีดังนี้
- นางบังอร ไชยนรา ประธาน
- นางอาพร ติยะบุตร รองประธาน
- นางธนพร เพียรชอบ เลขาฯ
- นางละเอียด สุริฝ้าย เหรัญญิก
- นางสาวการจณา สีหา กรรมการ
- นางดอกพิลา รัตนนิรันดร กรรมการ
- นางสุกัญญา สีหา กรรมการ
- นางเวส บุญมาพึ่ง กรรมการ
- นางอ้อมขวัญ แก้วาทนินทร์ กรรมการ
- นางระทม กุวิไล กรรมการ
สิ่งที่ค้นพบจากเรื่องกล้วยๆ
กล้วยแต่ละชนิดมีคุณสมบัติ และการนำไปใช้ประโยชน์ไม่เหมือนกัน เช่นกล้วยตานี ไม่นิยมกินสุก เพราะมีเม็ดเยอะ แต่จะสามารถกินผลดิบได้ ด้วยการนำไปตำ ผสมกับผลไม้รสเปรียว เช่นมะขาม มะเฟือง มะนาวหั่นเล็กทั้งเปลือก หรือมะยม ตัดกับมะเขือขื่นเล็กน้อย ใส่ปลาร้าสุกนิดหน่อย โรยหน้าด้วยปลากรอบ กินเป็นของว่าง หรือของกินเล่น จัดว่าแซบนัก ส่วนใบกล้วยตานีจะมีความเหนียว นิยมนำไปทำพานบายศรี หรือหมากเบ็ง กล้วยที่นิยมนำมาทอดมากที่สุดและหาง่ายที่สุดในตำบลนาเขคือกล้วยน้ำหว้า ซึ่งมีมากในพื้นที่ตำบล แต่กล้วยดิบที่สามารถนำมาทอดแปรรูปแล้วมีรสชาติรูปร่างน่าตาชวนรับประทานคือกล้วยเขียวเกษตร ซึ่งส่วนใหญ่จะปลูกที่พื้นที่จังหวัดเลย
ในเรื่องของการทอดกล้วย ความร้อน และน้ำมันสำคัญมาก กล้วยทอดที่ออกมามีคุณภาพดีรสชาติอร่อย นอกจากจะมีส่วนผสมที่ลงตัวแล้วการใช้ความร้อนและการเลือกน้ำมันที่ใช้ทอดก็มีความสำคัญเช่นกัน น้ำมันที่ใช้จะมี 2 ชนิดคือ น้ำมันปาล์ม และน้ำมันมะพร้าว
ความเปลี่ยนแปลงในชุมชน
การแปรรูปกล้วย ไม่ใช่อาชีพหลักของคนในชุมชนแต่ก็เป็นอาชีพที่สร้างรายได้ให้กับสมาชิกกลุ่มอย่างต่อเนื่อง สามารถเพิ่มรายได้จากการปลูกกล้วย กล้วยที่นำมาแปลรูปส่วนใหญ่ ปลูกโดยคนในชุมชนเอง กลุ่มก็จะรับชื้อกล้วยในลักษณะต่างๆ เพื่อนำมาเป็นวัตถุดิบในการแปรรูป สามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกกล้วย เฉลี่ย 1,000 บาท/เดือน และสร้างรายได้ให้กับสมาชิกกลุ่ม 2,000 – 3,000 บาท/เดือน ซึ่งกิจกรรมของกลุ่มที่เกิดขึ้นในชุมชนล้วนแล้วแต่เป็นการสร้างระบบเศรษฐกิจและทุนภายในชุมชนเพื่อก่อให้เกิดมูลค่าและรายได้ อันเป็นส่วนหนึ่งของการอยู่แบบพอเพียง ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
หน่วยงานให้การสนับสนุน
สภาองค์กรชุมชนตำบลนาเข โดยการนำของกำนัน สายัญ ดาเกษ แกนนำหลักสำคัญที่ขับเคลื่อนงานด้านกองทุนสวัสดิการชุมชน และ สภาองค์กรชุมชนตำบลนาเข การสนับสนุนกลุ่มแม่บ้านแปรรูปกล้วยตำบลนาเข มีองค์การบริหารส่วนตำบลนาเข คอยเป็นพี่เลี้ยง สนับสนุนบุคลากรเสริมหนุนในการดำเนินงานของสภาองค์กรชุมชนตำบลและกองทุนสวัสดิการชุชน อีกทั้งยังมีสถานที่ดำเนินงานให้กับชุมชน นอกจากนี้ยังมีพัฒนาการอำเภอบ้านแพง คอยให้คำปรึกษาแนะนำ การพัฒนาต่อยอดอาชีพในด้านการตลาด ส่วนเรื่องความรู้ในการปลูกและการบำรุงกล้วยนั้นมี ศูนย์การศึกษาตามอัธยาศัย คอยให้ความรู้เสมอมา นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานภายนอกคือ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน) ที่สนับสนุนงบประมาณการดำเนินงาน และเจ้าหน้าที่ โดยร่วมกับขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดนครพนมในการ จัดกระบวนการกระบวนการวิเคราะห์และการจัดทำแผนพัฒนาในระดับกลุ่มตามความต้องการของชุมชน
การพัฒนาต่อยอดกล้วย
ถึงแม้ว่าในพื้นที่ตำบลนาเข จะมีกล้วยปลูกในชุมชนอยู่เยอะ แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อการนำไปใช้งาน ทางกลุ่มจึงมีแผนที่จะส่งเสริมให้คนในชุมชนปลูกกล้วยเพื่อการแปลรูป คือ กล้วยเขียวเกษตร ซึ่งปลูกมากที่จังหวัดเลย จากการศึกษาพื้นที่ ตำบลนาเข กับพื้นที่จังหวัดเลยมีความใกล้เคียงกันในด้านภูมิประเทศและสภาอากาศ จึงเหมาะกับการปลูกกล้วยเขียวเกษตร นอกจากการส่งเสริมปลูกกล้วยในพื้นที่แล้ว การพัฒนารูปแบบบรรจุภัณฑ์ ก็มีความสำคัญที่กลุ่มจะต้องพัฒนาให้เป็นเอกลักษณ์ดึงดูดตาน่ารับประทาน ซึ่งอาจจะต้องมีการปรึกษากับพัฒนาชุมชนเพื่อให้เกิดการพัฒนาดังกล่าว ในด้านการขึ้นทะเบียนเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ก็มีความจำเป็นของสมาชิกกลุ่ม เพื่อการขอมาตรฐานและการรับรองผลิตภัณฑ์ เพื่อนำไปเป็นจำหน่ายเป็นของฝากระดับตำบลหรือระดับจังหวัด สามารถหาชื้อได้ที่ร้านขายของฝากประจำจังหวัด ร้านรวมใจประชารัฐ ปั้มน้ำมัน หรือห้างสรรพสินค้าชั้นนำในจังหวัดต่อไป
ปัญหาอุปสรรค์
การดำเนินงานของกลุ่ม ยังขาดอุปกรณ์ในการแปลรูปกล้วย เช่น กระทะขนาดใหญ่ เตาแก๊ส เนื่องจากที่มีและใช้อยู่ปัจจุบันเป็นของใช้ประจำครัวเรือน ซึ่งไม่เหมาะในการทอดในปริมาณมาก ทำให้ล่าช้าและเปลืองพลังงาน ในเรื่องของการทำส่วนผสมและการคลุกเคล้า ยังไม่ลงตัว ทำให้รสชาติของกล้วยไม่สม่ำเสมอ ซึ่งจะต้องมีการปรับปรุงและรักษามาตรฐานของผลิตภัณฑ์ต่อไป