“ตำบลกู่” เป็นถิ่นที่อยู่ของ “ชาวกูย” หรือ “กวย” ตั้งเมื่อ พุทธศักราช ๒๔๗๕ เดิมอยู่ในการปกครองของอำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ ต่อมาหลังจาก พุทธศักราช 2501 ใช้สัญลักษณ์ของตำบลกู่ คือ ปราสาทปรางค์กู่ เป็นชื่ออำเภอแยกตัวออกมา ตั้งแต่นั้นเป็นต้น ปราสาทปรางค์กู่ ถูกสร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 16 เป็นศิลปะแบบ นครวัด ซึ่งก่อด้วยอิฐไม่สอปูน ลวดลายของศิลาทับหลังมีสลักลวดลายเกียรติมุขหรือหน้ากาละและรูปพระปติมายืน (นางอัปสร) เช่นเดียวกับที่ได้พบในบริเวณปราสาทศีรขรภูมิ ซึ่งเชื่อว่าปราสาททั้งสองแห่งนี้ คงจะสร้างขึ้นในระยะเวลาไล่เลี่ยกันจริง เพราะศิลาทับหลังของปรางค์องค์กลางสลักเป็นรูปพระอินทร์ทรงช้างยืนอยู่บนแทนเหนือเศียรเกียรติมุข มีการพบลวดลายสลักต่าง ๆ อันเกี่ยวเนื่องกับลัทธิศาสนาพราหมณ์ และพุทธศาสนา คือพบรูปพระนารายณ์ทรงครุฑพระลักษมณ์ถูกศรนาคบาศพระอินทร์ทรงช้างและเทพอัปสร ปราสาทปรางค์กู่มีลักษณะเป็นปรางค์ 3 องค์ ปรางค์แต่ละองค์เดิมมีทับหลังบนประตูปราสาททุกหลัง ปัจจุบันทับหลังทั้งสามเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย (คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ ,2544 : หน้า111-113) กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานตามประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 52 ตอนที่ 75 วันที่ 8 เดือนมีนาคม พ.ศ. 2478 และกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานเป็นพื้นที่ประมาณ 12 ไร่ 2 งาน 39 ตารางวา ตามประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 99 ตอนที่ 155 วันที่ 21 เดือนตุลาคม พ.ศ. 2525 ปราสาทปรางค์กู่ ถือเป็นศาสนสถานสมัยขอมที่เก่าแก่มาก มีอายุกว่าพันปีมาแล้ว หน้าบริเวณปรางค์กู่มีสระน้ำ ซึ่งเป็นทำเลพักหากินของนก และสัตว์น้ำพันธุ์ต่าง ๆ ปราสาทปรางค์กู่ จึงเป็นโบราณสถานทางประวัติศาสตร์ของชุมชนตำบลกู่ ที่นับว่าเป็นพื้นที่แห่งอารยธรรมดั้งเดิมของคนในท้องถิ่น ที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์บำรุงรักษา ฟื้นฟู สืบสานและพัฒนาศิลปวัฒนธรรม ให้เกิดคุณค่าและมูลค่ามรดกภูมิปัญญาของท้องถิ่น อำเภอ จังหวัดและของชาติ และเป็นแหล่งเรียนรู้ของเด็ก เยาวชน ประชาชน ทั้งภายในและนอกพื้นที่
ตำบลกู่แบ่งการปกครองออกเป็น ๑๗ หมู่บ้าน ประชากรกว่า12,๐๐๐ คน หรือกว่า ๒,๕๐๐ ครัวเรือน มีภาษาที่ใช้พูดในท้องถิ่นคือ ภาษากูยหรือ ส่วย ที่สามารถใช้พูดหรือสื่อสารกันในท้องถิ่นได้เข้าใจกันเป็นอย่างดี แต่ไม่มีภาษาเขียน เป็นนภาษาเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น มี ๒ สำเนียง ชาวกูยหรือชาวส่วยเป็นชนเผ่าที่อยู่กันอย่างสงบและสามัคคี มีอาชีพหลักคือการทำนา สภาพพื้นที่ของตำบลกู่เป็นที่ราบและที่ดอน มีป่าไม้กระจายไปทั่วทั้งตำบล ในอดีตเป็นพื้นที่ที่มีความแห้งแล้งมาก เมื่อถึงหน้าแล้งจะแล้งมาก ถึงหน้าฝนน้ำจะท่วมที่นาเสียหายแทบทุกหมู่บ้าน สระน้ำบ้านกู่ เดิมนั้นมีนกเป็ดน้ำอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ต่อมามีการขุดลอกใหม่นกเป็ดน้ำจึงอพยพไปอยู่ที่อื่นหมด ปัจจุบันมีความอุดมสมบูรณ์ด้วยพืชพันธุ์ธัญญาหารและเป็นแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมภูมิปัญญาท้องถิ่น ในทุกๆเดือนตามหลักจันทรคติ จะมีกิจกรรมทางภูมิปัญญา ศาสนา ความเชื่อ ศิลปวัฒนธรรมจารีตประเพณีวิถีชีวิตของคนในชุมชนตำบลกู่ ณ ปราสาทปรางค์กู่ เนื่องจากชาวกูยมีอาชีพเกษตรกรเป็นหลัก การประกอบอาชีพจึงผูกพันอยู่กับฤดูกาล สภาพดินฟ้าอากาศ พิธีกรรมจึงเกี่ยวข้องกับกิจกรรมการกสิกรรม โดยประกอบพิธีกรรมตามวันและเดือนทางจันทรคติที่สืบทอดกันมา
ชาติพันธุ์ชาวกูยตำบลกู่ นี้มีลักษณะโดดเด่น ที่เป็นเอกลักษณ์อัตลักษณ์ ของศิลปวัฒนธรรมจารีตประเพณีวิถีชีวิตภูมิปัญญาท้องถิ่นอันดีงามที่เข้มแข็ง เป็นที่รู้จักและยอมรับกันในอำเภอและจังหวัดโดยเฉพาะภาษาพูดใช้ภาษากูย หรือส่วย เป็นภาษาถิ่นภาษาเดียวในการสื่อสาร และเครื่องแต่งกายประจำถิ่นที่มีความชัดเจนในชาติพันธุ์ ด้วยผ้าไหมลายลูกแก้วย้อมมะเกลือ เครื่องประดับเงินโบราณ ที่เป็นวัฒนธรรมสืบทอดกันมา ชาวกูยนิยมสวมใส่เสื้อกะโหลนละวี หรือเสื้อแก๊บ(สีดำ) ที่ทำมาจากผ้าไหมแท้ที่ชาวกูยเลี้ยงและทอขึ้นมาเอง
การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม เพื่อนำมาทอเป็นผ้าไหมพื้นบ้านเพื่อสวนใส่ของชาวกูยตั้งแต่บรรพบุรุษนั้น เพื่อสวมใส่ไปไร่ไปนา เพราะมีความหนาทนต่อความสมบุกสมบัน และสวมใส่ไปร่วมงานพิธีกรรมประเพณีต่างๆเพราะความเงางามของผ้าในกระบวนการผลิตที่ชาวกูยให้ความสำคัญในรายละเอียดทุกขั้นตอนอย่างเอาใจใส่ด้วยภูมิปัญญาดั้งเดิม จากเส้นใยธรรมชาติที่ถูกถักทอให้ผ้ามีคุณสมบัติที่นอกจากคงทนถาวรแล้ว ยังมีความสามารถในการปรับสภาพตามลักษณะสภาพอากาศท้องถิ่น เช่น เมื่ออากาศร้อนสวนใส่แล้วจะรู้สึกเย็นสบายทำงานได้ตลอดทั้งวัน แต่เมื่ออากาศหนาวก็มีความอบอุ่นแก่ร่างกาย เส้นไหมที่ได้จากรังไหมจะมีหลายชั้น เส้นไหมคุณภาพดีเป็นเส้นไหมที่อยู่ในชั้นใน หรือ ไหมน้อย ที่เรียกกัน ใช้ทอผ้าซิ่น ทอโสร่ง ส่วนเส้นไหมชั้นนอกมีขนาดใหญ่ ชาวกูยนำมาใช้ทอผ้าแก๊บ หรือผ้าเหยียบ หรือผ้าเก็บ
เนื่องจากสภาพทั่วไปเป็นที่ราบลุ่ม ในฤดูฝนน้ำจะหลากมาท่วมไร่นา ทำให้เกิดความเสียหายทุกปี เพราะเกษตรกรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนา แหล่งเก็บกักน้ำเพื่อการเกษตรไม่เพียงพอ ขาดคลองส่งน้ำทางการเกษตร และราษฎรยากจน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทางการเกษตรเพียงอย่างเดียวทำให้ขาดรายได้ ถ้าปีไหนฝนไม่ตกเกษตรกรว่างงานจะอพยพแรงงานไปประกอบอาชีพนอกเขตพื้นที่ ทำให้ขาดบุคลากรผู้มีความรู้ความสามารถไม่เพียงพอ มาพัฒนาหมู่บ้าน ประกอบกับภายใต้สภาวะภาวะเศรษฐกิจซบเซา ความผันผวนของระบบเศรษฐกิจ ผลผลิตทางการเกษตรจึงมีความเสี่ยงสูงทั้งด้านราคาตกต่ำ ต้นทุนสูง และจำนวนผลผลิตเสียหาย ไม่มีตลาดสำหรับระบายหรือจำหน่ายผลผลิต ทำให้ประชาชนมีทางเลือกและการต่อรองทางการตลาดน้อย ความสามารถในด้านการผลิต และการแปรรูปการเกษตรยังมีจำกัด เกษตรกรขาดความรู้ด้านเทคโนโลยีอุปกรณ์การผลิต การแปรรูป การบริหารเงินทุนและการตลาด การประยุกต์ใช้ภูมิปัญญาที่มีอยู่ในท้องถิ่น ไม่ต่อเนื่อง ประชาชนขาดความรู้เรื่องการประกอบอาชีพเสริม ความต้องการกินดีอยู่ดีลดภารหนี้สิน ทำให้ผู้นำชุมชน ปราชญ์ชาวบ้าน กลุ่ม/องค์กรต่างๆในชุมชน วัด ส่วนราชการในท้องถิ่น ร่วมกับชาวบ้านในชุมชนต้องการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน ให้มีความสุข เกิดการรวมกลุ่มของชาวบ้านเพื่อการช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ความรักสามัคคีของคนในชุมชน ปลุกกระแสและระดมความคิด การ่วมคิดร่วมทำ ของชุมชน โดยชุมชน เพื่อชุมชน
สินค้า OTOP ผ้าไหมลายลูกแก้วและผ้าไหมมัดหมี่ลายปราสาทปรางค์กู่
ผลิตโดยกลุ่มอาชีพสตรีทอผ้าไหมบ้านกู่หมู่๑ ตั้งเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๗ กลุ่มองค์กรที่สนับสนุนพัฒนาชุมชนอำเภอปรางค์กู่ จำนวนสมาชิก ๒๐ คน เงินทุนปัจจุบัน ๓๕,๐๐๐ บาทเป็นการส่งเสริมอาชีพเสริมเพิ่มรายได้แก่ชาวบ้านหลังจากทำนาแล้วเสร็จ ผลิตภัณฑ์ของชาวบ้านที่ทำด้วยมือของชาวบ้าน เป็นสินค้า OTOP ที่จำหน่ายในงานต่างๆของตำบลกู่และอำเภอปรางค์กู่
ในแรกเริ่ม วิเคราะห์ศักยภาพการพัฒนาของตนเอง จากปัจจัยภายใน จุดแข็ง ได้แก่ ตำบลกู่มีความเข้มแข็งของชาติพันธิ์ชาวกูย เป็นเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ มีบุคลากรผู้เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่พร้อมจะถ่ายทอดให้กันและกัน มีหม่อนไหม มะเกลือ วัตถุดิบทรัพยากรที่มีในชุมชน เครื่องมือวัสดุอุปกรณ์การทอผ้า มีกองทุนต่างๆในหมู่บ้าน และมีข้อตกลงชุมชน จุดอ่อน ได้แก่ขาดงบประมาณทุนที่จะจัดซื้อจัดหา ความสามารถทางการตลาด การนำเสนอสินค้าไปยัง และการประชาสัมพันธ์ การต่อรอง ขาดองค์ความรู้ด้านเศรษฐศาสตร์, ประชาชนส่วนใหญ่เป็นวัยสูงอายุวัยแรงงานหรือกำลังคนรุ่นใหม่มีน้อย, ปราสาทปรางค์กู่แหล่งท่องเที่ยวที่ขาดการนำเสนอ และจากการร่วมกันวิเคราะห์พบปัจจัยภายนอกที่เป็น โอกาส คือการวิเคราะห์อุปสงค์ความต้องการซื้อสินค้าและบริการ (Demand) และความต้องการขายสินค้าและบริการ อุปทาน (Supply), ความสามารถในการพัฒนาแสวงหาแหล่งเงินทุน, มีเส้นทางสัญจรเป็นไปด้วยความสะดวก เนื่องจากมีถนนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๒๑๖7 สายปรางค์กู่ – สำโรงทาบ มีเส้นทางเชื่อมประตูอาเซียน สามารถรองรับการขยายตัวของการลงทุนทางเศรษฐกิจในระดับประเทศ, ความทันสมัยของสื่อโซเชียลและเทคโนโลยีทำให้การประชาสัมพันธ์งายและรวดเร็ว, การหนุนเสริมและสนับสนุนงบประมาณและบุคลากร โครงการกิจกรรมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่นภาคประชาสังคม องค์กรชุมชน มหาวิทยาลัยราชภัฎศรีสะเกษ องค์การบริหารส่วนตำบลกู่ สถานศึกษา วัด สภาวัฒนธรรมตำบลกู่ พัฒนาชุมชนอำเภอปรางค์กู่ เป็นต้น เป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนและอนุรักษ์วัฒนธรรมชาวกูยได้ดำรงอยู่ อุปสรรค สภาวการณ์ทางเศรษฐกิจในระดับประเทศ ในระดับภูมิภาคส่งผลต่อการพัฒนาท้องถิ่น, ความสามารถในด้านการผลิต และการแปรรูปการเกษตรยังมีจำกัด, ข้อจำกัดของข้อระเบียบกฎหมาย, การเมืองท้องถิ่นมีผลกระทบกับแรงจูงใจที่ปฏิบัติ และต้องอาศัยความเสียสละความเข้าใจของชุมชนเท่านั้น ซึ่งบางครั้งก็ทำได้ยากมาก, เด็กและเยาวชนขาดการเอาใจใส่ให้ความสำคัญกับการสืบทออนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมภูมิปัญญาท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง
การวิเคราะห์ศักยภาพเช่นนี้เป็นส่วนที่จะส่งผลต่อการพัฒนาได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยร่วมกันวางแผน สร้างข้อตกลงร่วมกัน กำหนดลำดับขั้นตอนการดำเนินงาน การศึกษาการตลาด การผลิต การแปรรูป การออกแบบผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ การประชาสัมพันธ์ เครือข่าย และการวางแผนการตลาด ตลอดจนการจัดสรรผลกำไรรายได้แก่สมาชิกอย่างเป็นธรรม การควบคุมผลิตผล และปริมาณสินค้าผลิตภัณฑ์ เป็นมติที่ประชุม จากการระดมทุนและทรัพยากรพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ สภาองค์กรชุมชนตำบลกู่ สภาวัฒนธรรมตำบลกู่ และคณะกรรมการหมู่บ้าน (กม.) คณะกรรมการตำบล (กต.) โดยการนำของนายทนงศักดิ์ นรดี ประธานคณะกรรมการและผู้นำชุมชน พร้อมกับกลุ่มและคณะกรรมการฯ โดยแกนนำนางสมจิน นรดี, นางสัญสุนีย์ นรดี และนางวิไล แหวนเงิน มีการจัดการแนวความคิดในการควบคุมดูแลเชิงระบบ มีปัจจัยนำเข้า (Input) ได้แก่ บุคลากรภูมิปัญญาท้องถิ่น ชาวบ้านในชุมชน เด็กเยาวชนและประชาชน (Man) งบประมาณทรัพยากร หม่อนไหม มะเกลือ (Money) วัสดุ อุปกรณ์ (Materials) เช่น อุปกรณ์เลี้ยงไหมสาวไหมและทอผ้า กระเดื่องโบราณ การบริหารจัดการ (Management)แบบมีส่วนร่วม แรงจูงใจ (Motivations)ด้านเศรษฐกิจ มีกระบวนการ (Process) ได้แก่ การสำรวจ เก็บข้อมูล การรวมกลุ่มสมาชิก ศูนย์กลางการรวมกลุ่มที่ศูนย์การเรียนรู้บ้าน “ดุงกูย” การร่วมวางแผน จัดทำเป็นแผนระยะสั้น ระยะยาว นำปัญหาและความต้องการเสนอในการประชาคมจัดทำแผนชุมชน การร่วมดำเนินการจัดวัตถุดิบในท้องถิ่น การแบ่งความรับผิดชอบจัดสรรพื้นที่ปลูกหม่อนไหม การผลิตซึ่งมีกรรมวิธีทำดังนี้
ขั้นตอนการผลิตผ้าแก๊บ
๑. นำตัวหม่อนมาวางใส่กระด้งให้พอดีกับกระด้ง ไม่เบียดกันเกินไป เลี้ยงโดยให้ใบหม่อน ๑ กำมือ ต่อ ๑ กระด้ง จนตัวหม่อนลากคราบครั้งที่ ๑ ให้เพิ่มใบหม่อน ประมาณ ๒ กำมือ ตัวหม่อนลากคราบครั้งที่ ๒ ให้เพิ่มใบหม่อน ประมาณ ๓ กำมือ ตัวหม่อนลอกคราบครั้งที่ ๓ ให้เพิ่มใบหม่อน ประมาณ ๔ กำมือ ในช่วงที่ตัวหม่อนลอกคราบจะต้องหยุดให้อาหาร ๒๔ ชั่วโมงหลักจากนั้นก็ให้อาหารตามปกติ เมื่อตัวหม่อนลอกคราบครั้งที่ ๔ ก็ให้ใบหม่อนต่อไปเรื่อยๆจนตัวหม่อนสุก หลังจากนั้นให้คัดตัวหม่อนที่สุกแล้วไปใส่ไว้ในจ่อ ในช่วงนี้ให้หยุดการให้ใบหม่อนเพื่อจะได้ให้ตัวหม่อนรีบทำฝักและทำรัง เมื่อตัวหม่อนเข้าไปอยู่ในฝักราว 3 วันตัวหม่อนก็จะยุบตัวเล็กลงเรียกว่า ตัวดักแด้ ลองจับฝักเขย่าดูปรากฏว่ามีเสียงดังขลุก ๆ อยู่ภายในแล้วแสดงว่าใช้ได้
๒. นำรังไหมที่ได้มาสาวเป็นเส้นไหม โดยการต้มน้ำให้เดือนก่อน แล้วนำรังไหมใส่ลงในหม้อต้มประมาณ ๓๐ นาที โดยให้คนประมาณ ๒-๓ ครั้ง เพื่อให้รังไหมสุกทั่วกัน แล้วเอาไม้ขืนชะรังไหมเบาๆ เส้นไหมก็จะติดกับไม้ขืนขั้นมา จึงนำมาสอดที่รูตรงกลางของเครื่องพวงสาว แล้วนำไปถักเกรียวที่รอกพวงสาวให้เส้นไหมตรง และสาวให้พ้นรอก ๑ รอบ เวลาสาวไหม จะใช้มือทั้งสองข้าง โดยมือหนึ่งจะสาวไหมจากรอกลงใส่กระบุงหรือตะกร้ารองรับเส้นไหม ส่วนอีกมือหนึ่งถือไม้ขืน เพื่อกดและเขย่ารังไหมที่อยู่ในหม้อเพื่อจะได้เส้นไหมที่สม่ำเสมอและสวยงาม การสาวไหมนั้นต้องหมั่นเติมน้ำเย็นลงไปเป็นระยะระวังอย่าให้น้ำถึงกับเดือด เพราะจะทำให้เส้นไหมไม่สวย รังไหมจะเละ หลังจากที่สาวไหมหมดแล้ว นำเส้นไหมมาเข้าเครื่องเล่งเพื่อทำเป็นใจ แล้วตากให้แห้ง
๓. หลังจากได้เส้นไหมที่แห้งแล้ว ให้นำมาฟอก โดยนำเส้นไหมลงแช่ในดั่งจนไหมนิ่ม แล้วนำลงต้มในน้ำเดือน ประมาณ ๓๐ นาที จึงนำไปผึ่งแดดให้แห้ง แล้วนำมาล้างน้ำให้สะอาด และนำไปตากแดดให้แห้งเส้นไหมที่ฟอกแล้วจะนิ่ม และเงางาม
นำเส้นไหมที่ฟอกแล้วมาย้อมมะเกลือ โดยนำลูกมะเกลือที่ไม่สุก มาตำให้ละเอียด แล้วใส่ใบมันเทศลงไปตำด้วยกันจนละเอียด นำมะเกลือที่ตำแล้วไปผสมกับน้ำ ในอัตรา มะเกลือ ๑ ส่วน ต่อน้ำ ๒ ส่วน น้ำที่จะผสมกับมะเกลือให้ละลายปูนขาวที่ใช้เคี้ยวหมาก ก้อนประมาณนิ้วหัวแม่มือ เมื่อส่วนผสมเข้ากันแล้ว ให้นำไหมลงย้อมในน้ำมะเกลือ แล้วนำขึ้นไปตากให้แห้ง และนำมาย้อมใหม่ตามวิธีเดิม จนกว่าจะได้สีดำตามที่ต้องการ เมื่อย้อมจนได้สีตามที่ต้องการแล้ว ให้นำไปหมักในน้ำโคลน เพื่อให้สีติดทนนาน แล้วนำไปตากแดดจนแห้ง หลังจากนั้นให้นำมาล้างน้ำสะอาดจนหมดโคลน แล้วนำไปต้มในน้ำเดือด ประมาณ ๑๕ นาที แล้วนำผ้าไปตากแดดจนแห้ง เสร็จแล้วก็จะได้เส้นไหมย้อมมะเกลือ สีดำ สวยงาม
๔. นำไหมที่ย้อมแล้วมาเดินเส้นยืน โดยนำมาใส่กง ปั่นเข้าอัก เสร็จแล้วนำมาเดินเส้นยืนใส่หลักเผือ ตามขนาดของฟันฟืม เสร็จแล้วนำไปขึงกับไม้ฟันเส้นยืน เพื่อให้เส้นยืนตึง สม่ำเสมอ แล้วนำมาต่อเข้าฟืม ในการต่อเข้าฟืมต้องใช้คนทำ ๒ คน เนื่องจากต้องมีคนสอดเส้นไหม และคนแหวกฟันฟืม หลังจากที่ต่อเข้าฟืมแล้วให้ นำมาเก็บเข้าตะกรอสำหรับทอตามขนาดดอกที่ต้องการ ๔ หรือ ๕ ตะกรอ
๕ นำไหมที่ย้อมแล้วมาเตรียมเส้นพุ่ง โดยนำอักไหมมาใส่ในหลา เพื่อปั่นใส่หลอดพอประมาณ ก็จะได้เส้นไหมในหลอดเตรียมใส่กระสวยสำหรับใช้ในการทอ
๖. เมื่อได้ไหมที่เดินเส้นยืนและเส้นพุ่งแล้ว ก็เข้าสู่การทอ วิธีการทำเริ่มแรกให้เหยียบไม้เท้า ครั้งที่ ๑ ให้เหยียบไม้ที่ ๑และ๒ พร้อมกัน นับจากด้านซ้าย แล้วสอดกระสวย ในการสอดกระสวยครั้งแรก ให้จับเส้นด้ายฝั่งที่สอดกระสวยไว้ เพื่อยึดเส้นด้าย หลังจากที่สอดกระสวยพ้นแล้วให้ดังเส้นไหมให้ดึงแล้วปล่อยเท้าที่เหยียบไม้เท้าออก แล้วกระทบฟืม ๑ ถึง ๒ ครั้ง ครั้งที่สองเหยียบไม้ที่ ๓ ๔ ๕ พร้อมกัน แล้วสอดกระสวย กระทบฟืมเหมือนเดิม ครั้งที่สามเหยียบไม้ที่ ๑ ๓ พร้อมกัน แล้วสอดกระสวย กระทบฟืม ครั้งที่ ๔ เหยียบไม้ที่ ๒ ๔ ๕ พร้อมกัน แล้วสอดกระสวย กระทบฟืม ครั้งที่ห้า เหยียบไม้ที่ ๑ ๒ ๔พร้อมกัน ครั้งที่หก เหยียบไม้ที่ ๓ ๕ พร้อมกัน ครั้งที่เจ็ด เหยียบไม้ ๑ ๒ ๔ พร้อมกัน ครั้งที่แปด เหยียบไม้ที่ ๓ ๕ พร้อมกัน เมื่อครบเจ็ดครั้ง จะได้ลวดลายออกมาเป็นลายลูกแก้ว และให้ทอโดยการเหยียบไม้ซ้ำเหมือนเดิมตั้งแต่ครั้งที่หนึ่งถึงเจ็ด จนไหมหมด ก็จะได้ผ้าไหมย้อมมะเกลือลายลูกแก้วที่มีสีดำ เงางาม สีไม่ตก
การผลิตผ้าไหมมัดหมี่ ลายปราสาทปรางค์กู่
1. ขั้นตอนในการเตรียมเส้นไหมใช้สำหรับทอ
การเลี้ยงไหม ไหมที่จะนำมาทอเป็นผืนผ้าไหมนั้น ส่วนใหญ่จะได้มาจากการเลี้ยงไหมของชาวบ้าน โดยเรียกกันทั่ว ๆ ไปว่า “การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม” ตัวไหมที่ชาวบ้านนำมาเลี้ยงนั้น มีลักษณะคล้าย ๆ กับตัวหนอนกินใบหม่อนเป็นอาหาร ใบหม่อนนั้นจะได้มาจากการปลูกหม่อนของชาวบ้านตามไร่นาหรือตามสวน เมื่อตัวไหมหรือตัวหนอนแก่เต็มที่ จะสร้างฟักไหมขึ้นมาห่อหุ้มตัวเอง มีสีเหลือง (ไหมเหลือง) หรือสีขาว (ไหมขาว) ชาวบ้านจะเรียกกันว่า ฝักหลอก (ฝักไหม) เป็นไยไหมที่ตัวไหมหนึ่งตัวจะสร้างฝักไหมได้หนึ่งฝัก
การสาวหลอก คือกรรมวิถีสาว (ดึง) เอาไยไหมออกมาจากฝักหลอก (ฝักไหม) มาเป็นเส้นไหม โดยนำเอาฝักหลอก (ฝักไหม) ต้มใส่หม้อดินขนาดใหญ่ มีเครื่องมือคีบดึงเส้นไหมออกมาเป็นเส้นยาวติดต่อกันเป็นเส้นเดียวกันตลอดจนหมดทุกฝัก เมื่อดึงเอาเส้นไหมออกมาจนหมดทุกฝักแล้วจะเหลือแต่ตัวไหม (ตัวหนอน) ที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “ดักแด้” เป็นอาหารที่ให้โปรตีนและอร่อยมาก เป็นของโปรดของชาวอีสาน ไหมที่ได้จากการสาวหลอกนี้เป็นไหมเส้นแข็ง เรียกกันว่า ไหมดิบ
การเหล่งไหม ไหมที่สาว (ดึง) ออกมาจากฝักหลอกนั้น จะยาวติดต่อเป็นเส้นเดียวกันตลอด ชาวบ้านจะนำเส้นไหมดิบมาเหล่งไหม (คล้ายกรอไหม) เพื่อทำเส้นไหมให้เป็นปอยไหม ไหมแต่ละปอยที่เหล่งได้นั้นจะใช้ไหมหนักประมาณ 2 – 3 ขีด
การด่องไหม คือกรรมวิธีนำปอยไหมที่ได้มาจากการเหล่งไหม มาต้มในน้ำเดือดโดยเติมผงด่าง เพื่อทำให้เส้นไหมอ่อนตัวลง หลังจากต้มในน้ำเดือดประมาณ 5 – 10 นาที จะนำไหมขึ้นมาบิดเอาน้ำออกจนหมด ผึ่งแดดและสลัดให้แห้ง ไหมที่ผ่านกรรมวิธีการด่องไหมแล้ว เส้นไหมจะอ่อนตัว และนิ่มลงกว่าเดิม
การกวักไหม คือกรรมวิธีที่นำเอาปอยไหมที่ผ่านการด่องไหมแล้วมา “กวัก” เพื่อทำให้เส้นไหมติดต่อเป็นเส้นเดียวกันตลอด เพราะกรรมวิธีการด่องไหม จะทำให้เส้นไหมขาดไม่ติดต่อกัน จึงนำปอยไหมมา “กวักไหม” ให้เส้นไหมติดต่อกัน โดยใช้เครื่องมือสองอย่างคือ “กง” (สำหรับใส่ปอยไหม ทำด้วยไม้ไผ่และเชือก) และ “กวัก”
การค่นไหม คือกรรมวิธีนำเอาไหมที่กวักเรียบร้อยแล้ว “มาค่น”ทำปอยหมี่เพื่อนำไป “มัดหมี่” ต่อไป เครื่องมือที่ ใช้ค่นหมี่เรียกว่า “ฮงค่นหมี่” ปอยหมี่ที่ค่นเสร็จเรียบร้อยแล้ว แต่ละปอยจะมมีความยาวเท่ากับความกว้างขงผืนผ้าไหมที่ทอเสร็จเรียบร้อยแล้ว
การมัดหมี่ เป็นกรรมวิธีที่สำคัญที่สุดที่จะทำผ้าไหมให้เป็นลายและสีสรรต่าง ๆ ในการมัดหมี่ให้เป็นลายและสีต่าง ๆ นั้น ขึ้นอยู่กับกรรมวิธีและความนิยมของผู้ใช้เป็นสำคัญ เพราะลายและสีของผ้าไหมมีมากมายเหลือเกิน เช่น ถ้าต้องการผ้าไหมมีลายเล็ก ๆ เต็มผืนและหลาย ๆ สี ต้องใช้ผู้ที่มีฝีมือปราณีตในการมัดหมี่ ขณะเดียวกันค่าแรงงานในการจ้างมัดหมี่ก็แพงขึ้นด้วย เครื่องมือที่ใช้ในการมัดหมี่ คือ มีดบางเล็ก ๆ หรือใบมีดโกนชนิดมีด้าม เชือก ฟาง (สมัยก่อนใช้กาบกล้วยแห้ง) “ฮงหมี่” และ “แบบลายหมี่” การมัดลายเต็มตัว (เต็มผืน) ผู้มัดจะต้องมัดลายตามแบบลายหมี่ให้เต็มปอยหมี่ (ผู้ที่ชำนาญในการมัดหมี่จะไม่ดูแบบลายหมี่) ส่วนการมัดลายครึ่งท่อน (ครึ่งผืน) ผู้มัดหมี่จะมัดเพียงครึ่งเดียวของปอยหมี่เท่านั้น ขั้นตอนการหมัดหมี่จะเริ่มจาก เอาปอยหมี่ที่ค่นเสร็จแล้วใส่ “ฮงหมี่” ใช้เชือกฟางที่ซอยเล็ก ๆ มัดลำหมี่แต่ละลำไปตามแบบลายหมี่ ส่วนของไหมที่ถูกเชือกฟางมัดนี้เวลานำไปย้อมสี สีอื่นจะไม่สามารถเข้าไปในส่วนนั้น ๆ ได้ จะคงสีไว้ตามเดิม และส่วนที่ไม่ถูกมัดจะมีสีตามที่ย้อม ถ้ามัดหมี่และย้อมสีสลับกันหลายครั้งจะทำให้ผ้าไหมมีหลาย ๆ สี
การย้อมหมี่ คือ กรรมวิธีทำให้ผ้าไหมมีสีต่าง ๆ โดยนำปอยหมี่ที่มัดหมี่เรียบร้อยแล้วไปย้อมสีในน้ำเดือด โดยสีย้อมไหมที่มีคุณภาพดี ถ้าหากต้องการให้ผ้าไหมมีหลาย ๆ สีเพิ่มขึ้น เมื่อย้อมหมี่ด้วยสีย้อมไหมเรียบร้อยแล้ว จะต้องนำไป “โอบหมี่” คือการใช้เชือกฟางเล็ก ๆ พันลำหมี่ตรงส่วนที่ยังไม่ถูกมัดหมี่ ตามแบบลายมัดหมี่ การโอบ (พัน) ต้องโอบ (พัน) ให้เชือกฟางแน่นที่สุดและหลาย ๆ รอบ นำหมี่ที่โอบหมี่เรียบร้อย แล้วไปล้างสีออกในน้ำเดือด (จะล้างออกเฉพาะบริเวณที่ไม่ถูกมัดหรือโอบเท่านั้น) โดยเติม “ด่างเหม็น” (ผงด่างที่มีกลิ่นเหม็น” หมี่ส่วนที่โอบหรือมัดไว้ จะคงสีตามเดิมส่วนที่ไม่ถูกโอบหรือมัดจะถูกล้างออกเป็นสีขาว นำไปย้อมเป็นสีอื่นอีกครั้งหนึ่งที่ต้องการ บางสีเมื่อย้อมและนำไปโอบ (พัน) เรียบร้อยแล้ว ไม่ต้องนำไปล้างออก ใช้สีอื่นย้อมทับลงไปเลยก็ได้ เช่น ย้อมสีฟ้าหรือสีน้ำเงินแล้ว ถ้าให้ผ้าไหมเป็นสีเขียว ต้องใช้สีเหลืองย้อมทับ
การแก้หมี่ คือกรรมวิธีแก้เชือกฟางที่ใช้มัดลำหมี่แต่ละลำออกให้หมดโดยใช้มีดบางเล็ก ๆ หรือใบมีดโกนชนิดมีด้าม การแก้หมี่จะต้องทำอย่างระมัดระวังอย่าให้มีดถูกเส้นไหมขาด หมที่แก้เชือกฟางออกหมดแล้ว จะเห็นลายหมี่ได้สวยงามและชัดเจนมาก
การกวักหมี่ คือกรรมวิธีคล้าย ๆ กับการ “กวักไหม” โดยใช้อุปกรณ์ในการกวักเหมือนกัน นำหมี่ที่แก้เรียบร้อยแล้วใส่ “กง” และกวักออกจนหมดบ่อยเหมือนการกวักไหมทุกประการแต่จะต้องระมัดระวังอย่าให้เส้นไหมขาดตอน เพราะเมื่อนำไปทอแล้วจะไม่เป็นลายตามต้องการ
การปั่นหลอด คือกรรมวิธีนำเอาหมี่ที่กวักเรียบร้อยแล้วไป “ปั่น” (กรอ) ใส่หลอด (ทำด้วยต้นปอแห้งที่ลอกเปลือกแล้วยาว 2 – 3 นิ้ว) โดยใช้เครื่องมือเรียกว่า “ไน” หมี่หนึ่งปอยจะปั่นใส่หลอดได้ประมาณ 35 – 45 หลอด โดยปั่น “กรอ” เรียงลำดับของหลอดไว้ตั้งแต่หลอดแรกจนถึงหลอดสุดท้ายสลับที่กันไม่ได้ นำหลอดแรกบรรจุใน “กระสวย” (ทำทำด้วยไม้หรือพลาสติก) นำไปทอในไหมเครือ (เส้นยืน) ที่เตรียมไว้จนหมดจำนวนหลอดที่ปั่นได้
- ขั้นตอนการเตรียมไหมเครือ (ไหมเส้นยืน) การค่นหูก คือกรรมวิธีนำไหมที่เตรียมไว้สำหรับเป็นไหมเครือ (ไหมเส้นยืน) ไปค่น (กรอ) ให้ได้ความยาวตามจำนวนผืนของผ้าไหมตามต้องการ ไหมหนึ่งเครือจะทำเป็นผ้าไหมได้ประมาณ 20 – 30 ผืน (ผ้าไหม 1 ผืน ยาว
ประมาณ 180 – 200 เซนติเมตร โดยใช้เครื่องมือในการ “ค่นหูก” เรียกว่า “หลักเผือ”
การย้อมไหมเครือ (ไหมเส้นยืน) คือกรรมวิธีนำไหมเครือที่ค่นเสร็จเรียบร้อยแล้วไปย้อมสีในน้ำเดือด โดยเติมผงด่างคล้ายกรรมวิธี “การด่องไหม” สีที่นำมาย้อมนั้นจะต้องใช้สีให้กลมกลืนกับสีของหมี่ที่ใช้สำหรับทอ หรือย้อมให้เป็นสีเดียวกันก็ได้ แต่ส่วนมากชาวบ้านจะนิยมย้อมเป็นเป็นสีดำ เพราะจะเข้ากับสีของหมี่ที่ใช้ทอได้ทุกสี
การสืบหูก คือกรรมวิธีนำเอาไหมเครือ (ไหมเส้นยืน) ที่ย้อมสีแล้วไปต่อกับ “กกหูก” คือส่วนที่ติดอยู่กับ “ฟืม” ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ใช้สำหรับการทอผ้าไหม “ฟืม” มีอยู่ 2 ชนิด คือ “ฟืมฟันไม้” (ฟันทำด้วยไม้) และ “ฟืมฟันเหล็ก” สมัยก่อนจะใช้ฟืมฟันไม้ทอผ้าไหมเท่านั้น เพราะยังไม่มีฟืมฟันเหล็ก ปัจจุบันมีผู้คิดค้นประดิษฐ์ฟืมฟันเหล็กขึ้นมาใช้ ส่วนประกอบที่สำคัญของฟืมอีกอย่างหนึ่ง คือ “เขา” หรือ “ตะกอ” มี 2ชนิด คือ 2 เขา (สองตะกอ) และ 3 เขา (สามตะกอ) เขาหรือตะกอจะทำด้วยด้ายถักเรียงกับไม้ไผ่ที่เหลาเป็นเรียวให้ขนานกับฟืม ยาวเท่ากับความยาวของฟืมพอดี ถ้าฟืมมี 2 เขา (ตะกอ) จะเรียกกันว่า ฟืมสองเขาหรือสองตะกอ ถ้าฟืมมี 3 เขา (ตะกอ) จะเรียกกันว่า ฟืมสามเขาหรือสามตะกอ ส่วนของฟืมที่อยู่ด้านตรงข้ามกับเขาหรือตะกอ จะมีด้ายหรือไหมทำเป็น “กกหูก” หมายถึงส่วนที่จะนำไปต่อกับไหมเครือ (ไหมเส้นยืน) วิธีการต่อเส้นไหมทั้งสงชนิดให้เป็นเส้นเดียวกันนี้เรียกว่า “การสืบหูก”
การพันหูก คือกรรมวิธีนำเอาฟืมที่ผ่านการสืบหูกเรียบร้อยแล้วมาพันไหมเครือ (ไหมเส้นยืน) ใหม่ให้เป็นระเบียบเพื่อนำไปทอเป็นผ้าไหมต่อไปอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับฟันหูก คือไม้กระดานยาวเท่ากับขนาดของฟืมหรือยาวกว่าเล็กน้อย และจะต้องใส่ไม้ให้เรียบที่สุดเพื่อสะดวกในการพัน ในการพันหูกนี้จะต้องใช้ความละเอียดถี่ถ้วนและใจเย็นพอสมควร ถ้าเส้นไหมเครือขาดจะต้องทำการต่อเส้นไหมให้เรียบร้อยทุก ๆ เส้น
การถ่ายทอดภูมิปัญญา การขยายกลุ่ม การประชาสัมพันธ์โดยทีมนักสื่อความหมายและฝ่ายประชาสัมพันธ์นายธนากร พรมลิ หรือ ครูโต และคณะมัคคุเทศก์น้อย ช่วยกันทำควบคู่กับการวางแผนการตลาด ผ่านสื่อต่างๆ ได้แก่ Face book, Line, Fan page, เว็บไซต์, สื่อวิทยุ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จังหวัดศรีสะเกษ “ช่วงข่าวแดนลำดวน”, สื่อโทรทัศน์ ช่อง Thai PBS, ช่อง NBT, สื่อสิ่งพิมพ์ หนังสือพิมพ์เดเลนิวส์ เป็นต้น โดยเฉพาะการที่โลกโซเชียลช่วยกันแชร์โพสต์กิจกรรมดีๆของกลุ่มฯ การจัดสรรปันผลอย่างเป็นธรรม การตรวจสอบ ติดตาม ประเมินผล โดยการตั้งชุดคณะกรรมการ การสรุปรายงานผลต่อคณะกรรมการหมู่บ้าน สภาองค์กรชุมชนตำบลกู่ คณะกรรมการตำบลกู่ (กม.) ผลผลิต (Out put) เป็นไหมแท้ ผ้าไหมพื้นบ้านลายลูกแก้ว ผ้าไหมมัดหมี่ลายปราสาทปรางค์กู่ ผลิตภัณฑ์สินค้า OTOP ที่มีบรรจุภัณฑ์และฉลากของกลุ่มโดยเฉพาะ ถูกนำไปเสนอในหลายๆเวที มีการเข้ามาเยี่ยมชมศึกษาดุงานจำนวนมาก ถ่ายทอดภูมิปัญญาอย่างต่อเนื่อง การจัดสรรปันผลอย่างเป็นธรรม
และที่สุดแล้ว เกิดเป็นผลลัพธ์ (Outcome) เศรษฐกิจชุมชนพึ่งพาตนเอง การสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับความสามารถในการแข่งขันทุกมิติ ชุมชนฐานล่างที่มีพลังสามารถจัดการตนเองได้อย่างเข้มแข็ง การลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ มีเงินกองกลางหมู่บ้าน ได้สืบทอดอนุรักษ์ภูมิปัญญาอาชีพให้คงดำรงอยู่ ได้ส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชน การส่งเสริมมรดกภูมิปัญญา ทางวัฒนธรรมของชุมชน ได้จัดเก็บรวบรวมมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชุมชนอย่างเป็นระบบ รวมทั้งมีการจัดกิจกรรม เพื่อเผยแพร่และถ่ายทอดเสนอมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ในรูปแบบต่างๆ ไปสู่ลูกหลาน และคนในชุมชน รวมถึงการส่งเสริมการใช้ประโยชน์และการพัฒนาต่อยอดมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมให้เกิดคุณค่าและมูลค่าแก่ชุมชน นอกจากนี้ยังขยายขอบเขตการมีส่วนร่วมทางวัฒนธรรม ในการสร้างเครือข่ายวัฒนธรรม ให้ครอบคลุมทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคสังคมโดยการระดมสรรพกำลังคน ทุน อุปกรณ์ มาใช้ในการดำเนินงานทางวัฒนธรรมของชุมชน รวมถึงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และความร่วมมือระหว่างกัน คุณภาพชีวิตชุมชนดีขึ้น
ปัจจุบันตำบลกู่เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและโบราณสถานทางประวัติศาสตร์ของชุมชน อำเภอ และจังหวัดศรีสะเกษ ที่มีผู้สนใจเข้ามาเยี่ยมชม ทัศนศึกษา ศึกษาดูงาน ตลอดจนจัดกิจกรรมการเรียนรู้ต่างๆ เป็นจำนวนมากอย่างต่อเนื่องและหลากหลายในแต่ละปี ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะส่งเสริมการท่องเที่ยวปราสาทปรางค์กู่ ให้ชุมชนสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับความสามารถในการแข่งขันทุกมิติ ยกระดับเศรษฐกิจชุมชน สร้างอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ ด้วยผ้าที่มีคุณภาพหนาทนทานเงางามสวมใส่สบาย แม้จะมีราคาสูง ราคาเริ่มต้นเมตรละ ๑๒,๐๐.- บาท ก็ยังมีความต้องการจากลูกค้าอย่างสม่ำเสมอไม่ขาดสาย สร้างรายได้ให้ชุมชนและกลุ่มจำนวนไม่น้อย แล้วยังมีโอกาสพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่อไป ชุมชนฐานล่างที่มีพลังสามารถจัดการตนเองได้อย่างเข้มแข็งและยั่งยืน ตามวิถีชุมชน ยึดหลักศาสตร์พระราชา แนวคิดปรัชญา
เศรษฐกิจพอเพียง