วันที่ทีมงานเดินทางเข้าเขตพื้นที่จังหวัดยโสธร โดยมีเป้าหมายปลายทาง คือ ตำบลหนองคู อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร พายุลมและฝนที่กำลังกระหน่ำอย่างไม่หยุดยั้งในช่วงนั้น ทำให้พวกเราหวั่นวิตกต่อการเดินทางมาร่วมพูดคุยกับพวกเราซึ่งมีนัดหมายในเช้าวันรุ่งขึ้นยิ่งนัก ในเช้าวันถัดมาอากาศยังมืดครึ้มและฝนยังลงเม็ดอยู่ปรอย ๆ แต่เมื่อเวลานัดหมายมาถึงทำให้พวกเราใจชื้นขึ้นมาได้ก็ด้วยเพราะมีผู้นำชุมชนและชาวบ้านบางส่วนเริ่มทยอยมา และในระหว่างที่เรารอ การพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการมากนักร่วมกับกำนันและผู้ใหญ่บ้านบางส่วนทำให้ทราบว่าพื้นที่ตำบลหนองคูมีจำนวน 7 หมู่บ้าน ประชากรบางส่วนไม่มีที่อยู่อาศัยที่ชัดเจนแต่เป็นเพียงส่วนน้อย เช่น บางครัวเรือนในหมู่ที่ 2 และหมู่ที่ 5 ส่วนใหญ่มีสภาพบ้านเรือนที่ไม่มั่นคง/ถาวรอยู่เป็นจำนวนมากที่สุด จำนวนเฉลี่ย 15 – 20 ครัวเรือนต่อหมู่บ้าน แต่โดยภาพรวมครัวเรือนส่วนใหญ่มีเอกสารถือครองกรรมสิทธิ์ในที่ดินแบบโฉนดที่ถูกต้อง
ตำบลหนองคู ได้รับการจัดสรรครัวเรือนผู้รับประโยชน์จากโครงการบ้านพอเพียงชนบทเพียงในปี พ.ศ. 2561 จำนวน 10 ครัวเรือนเท่านั้น การกระจายจำนวนครัวเรือนอาจแตกต่างมากน้อยขึ้นอยู่กับขนาดของหมู่บ้านที่เล็กใหญ่ต่างกัน ซึ่งบางหมู่บ้านอาจได้รับการจัดสรรช่วยเหลือหมู่บ้านละ 2 หลังคาเรือน กระบวนการทำงานโครงการฯ ในพื้นที่ตำบลหนองคูไม่แตกต่างจากพื้นที่อื่น ๆ แต่อาจพออธิบายให้เห็นรายละเอียดพอสังเขปตั้งแต่ที่ได้รับมอบหมายนโยบายจาก พอช. และขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดยโสธร สภาองค์กรชุมชนตำบลหนองคูร่วมกับผู้นำทุกหมู่บ้านได้พูดคุยเพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกันเกี่ยวกับเป้าหมาย วิธีการดำเนินงานและแผนการดำเนินงานร่วมกันและร่วมกันกำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกครัวเรือนผู้รับประโยชน์ ได้แก่ ครัวเรือนต้องอยู่ในสภาพที่ไม่มั่นคง ถาวร ทรุดโทรมและเดือดร้อนมากที่สุด, สมาชิกในครัวเรือนต้องมีส่วนร่วมในกิจกรรมการพัฒนาชุมชน, ครัวเรือนต้องมีที่ดินปลูกบ้านเป็นของตนเอง เป็นต้น เพื่อเป็นแนวทางการสำรวจและคัดเลือกครัวเรือนเป้าหมายและนำเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคัดเลือกในเวทีประชาคมหมู่บ้านเพื่อรับรองมติจากคณะกรรมการหมู่บ้านและชาวบ้าน ความน่าสนใจของขั้นตอนการทำงานในตำบลนี้ คือ หลังจากที่ได้รายชื่อครัวเรือนเป้าหมายที่จะรับประโยชน์จากโครงการฯ ทางผู้นำชุมชนแต่ละชุมชนได้จัดประชุมกลุ่มย่อยเฉพาะครัวเรือนเป้าหมายที่ได้รับการสำรวจเพื่อพิจารณาจัดลำดับการให้ความช่วยเหลือตามความจำเป็นเร่งด่วนร่วมกันว่าสมควรจะช่วยเหลือครัวเรือนไหนก่อน/หลัง ก่อนจะเป็นมติร่วมและสำรวจความจำเป็นเดือดร้อนและวัสดุสำหรับการซ่อมสร้างก่อนสรุปผลข้อมูลครัวเรือนผู้เดือดร้อนและส่งขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดยโสธร
ระยะนี้การสำรวจร้านค้าวัสดุเพื่อเตรียมการจัดซื้อวัสดุก่อสร้างยังเป็นบทบาทของคณะทำงานร่วมกับผู้นำหมู่บ้านเป้าหมาย เมื่องบประมาณมาถึงผู้นำชุมชนและคณะกรรมการสภาองค์กรชุมชนตำบลหนองคูจะดำเนินการจัดซื้อวัสดุในร้านค้าที่ให้ราคาถูกและมีวัสดุสมทบช่วยเหลือครัวเรือนผู้รับประโยชน์ และทางร้านนำส่งวัสดุแก่ครัวเรือนผู้รับประโยชน์ รวมทั้งการตรวจรับเมื่อวัสดุมาถึง ไม่เพียงเท่านั้นผู้นำหมู่บ้านยังทำหน้าที่ในการประชาสัมพันธ์ผ่านหอกระจายข่าวเพื่อระดมแรงงานก่อสร้าง ญาติพี่น้อง, ช่างชุมชน รวมทั้งผู้นำหมู่บ้านเองในการซ่อมสร้างบ้านเรือนผู้รับประโยชน์ ซึ่งใช้เวลาซ่อมสร้างน้อยที่สุด คือ จำนวน 4 วัน และนานที่สุดถึง 18 วัน หลังสิ้นสุดการซ่อมสร้างยังมีการมอบบ้านอย่างเป็นทางการแก่เจ้าของครัวเรือนโดยนายอำเภอเมืองยโสธร พร้อมกับการมอบเครื่องอุปโภคบริโภคในครัวเรือนร่วมด้วย
จุดเด่นของการทำงานอย่างหนึ่ง ณ ตำบลหนองคู เห็นจะเป็นเรื่องความสามารถในการระดมภาคี/เครือข่ายการทำงานร่วมกับโครงการฯ ทั้งภายในและภายนอกชุมชนอย่างเห็นได้ชัด ไม่เพียงเจ้าของครัวเรือนผู้รับประโยชน์ที่มีบทบาทหลักทั้งการสมทบค่าใช้จ่ายสำหรับการต่อเติมซ่อมแซมตัวบ้านและค่าจ้างช่างเฉพาะในบางรายการ เช่น ค่าช่างเชื่อม เป็นต้น รวมทั้งสนับสนุนด้านแรงงาน สวัสดิการอาหารและเครื่องดื่มแล้ว เครือญาติ/ญาติพี่น้องและชาวบ้าน ยังเป็นพลังร่วมในด้านแรงงานตั้งแต่วันรื้อบ้านและวันซ่อมสร้างบ้านช่วยกัน นอกจากนี้วัดในชุมชนยังมีส่วนให้การช่วยเหลือเกี่ยวกับอุปกรณ์เครื่องนอนและอุปกรณ์เครื่องครัว และข้าวสารอาหารแห้งแก่บางครัวเรือนที่มีฐานะยากจนและไร้ที่พึ่งพิงร่วมด้วย และโดยเฉพาะภาคีการพัฒนาร่วมจากภายนอกชุมชนที่ไม่เพียงสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) ที่ให้การสนับสนุนงบประมาณเป็นค่าวัสดุก่อสร้างตามนโยบายของโครงการบ้านพอเพียงชนบทเท่านั้น สภาองค์กรชุมชนตำบลหนองคูซึ่งเป็นภาคีหลักของ พอช. ยังให้การสนับสนุนสมทบวัสดุในรูปของโครงสร้างไม้และเครื่องมือ/อุปกรณ์สำหรับการก่อสร้างประเภทต่าง ๆ ร่วมด้วย
หากพิจารณาความสามารถในการประสานความร่วมมือของคณะทำงานตำบลหนองคูจะเป็นว่ายังมีองค์กรภาคีในทุกระดับตั้งแต่ระดับท้องถิ่น อย่างองค์การบริหารส่วนตำบลหนองคูที่ให้การสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติมในส่วนของค่าจ้างช่างบางครัวเรือน ระดับอำเภอผ่านผ้าป่าส่วนราชการอำเภอเมืองที่ระดมปัจจัยจากญาติโยมผู้มีจิตศรัทธาสมทบการจัดซื้อวัสดุก่อสร้างเพิ่มเติม ซึ่งเป็นนโยบายของนายอำเภอเมืองยโสธร จนถึงระดับจังหวัดอย่างสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดยโสธร (พมจ.) ที่ให้การบูรณาการงบประมาณจัดซื้อวัสดุก่อสร้างเพิ่มเติม นอกจากนี้ยังมีภาคีองค์กรพัฒนาอย่างมูลนิธิพัฒนาเด็กและเยาวชน (CCF) พื้นที่จังหวัดยโสธรยังเข้าร่วมสนับสนุนข้าวสารอาหารแห้ง เครื่องอุปโภคบริโภคอื่น ๆ และงบประมาณค่าวัสดุเพิ่มเติมสำหรับการก่อสร้างห้องน้ำในบางครัวเรือนร่วมด้วย จะเห็นได้ว่าการทำงานโครงการบ้านพอเพียงชนบท อาจไม่เพียงการ “รอรับ” งบประมาณจากรัฐบาลหรือ พอช. ได้เพียงฝ่ายเดียวเท่านั้น หากแต่คนทำงานที่เกี่ยวข้องและผู้นำชุมชนต้องแสวงหาภาคีเครือข่ายการสนับสนุนอื่น ๆ ที่อาจจะเกี่ยวข้องและประสานความร่วมมือในการบูรณาการทั้งในรูปของบุคลากร งบประมาณ วัสดุสิ่งของหรือแม้กระทั่งเวลาในการทำงานร่วมกัน เพื่อการบรรลุเป้าหมายร่วมกันอย่างประสิทธิภาพ
ความสามารถในการเชื่อมประสานความร่วมมือของภาคีการพัฒนาทั้งภายในและภายนอกชุมชนข้างต้น จนวันนี้ได้นำมาสู่ความสำเร็จที่เกิดขึ้นจากการทำงานอย่างเต็มที่ ทุ่มเทของคณะทำงานทุกระดับ ความสำเร็จได้ปรากฏออกมาจากคำพูดที่ดูมีความสุขของตัวแทนครัวเรือนผู้รับประโยชน์บางส่วน อาทิ
หนูลัด ชอบศิลป์ กล่าวว่า … “สมาชิกในครอบครัวมีจำนวน 3 คน คือ ตา ยายและหลาน บ้านที่พวกเราอยู่เป็นบ้านไม้ยกสูง หลังคาบ้านเก่า ทำให้เวลาฝนตกหลังคาจะรั่ว ฝนสาดเข้าบ้าน น้ำขัง ปลวกเริ่มเจาะเนื้อไม้ตัวบ้าน แต่ปัจจุบันได้รับการช่วยเหลือโดยการสร้างบ้านหลังใหม่ให้ทั้งหลัง รวมทั้งได้สิ่งของเครื่องใช้ อาหารแห้งและเครื่องครัวจากวัด ตอนนี้สภาพความเป็นอยู่ดีขึ้นมาก”
สายทอง ประเสริฐ … “สมาชิกในครอบครัวมีจำนวน 3 คน ปัญหาที่เกิดขึ้นกับบ้าน คือ เป็นบ้าน 2 ชั้น ชั้นล่างเป็นพื้นดิน แต่อาศัยอยู่ชั้น 2 และนอนเตียงแคร่ไม้ไผ่ ตัวบ้านชั้นบนไม่มีผนังปิดกั้นมั่นคง เพราะเป็นไม้ไผ่สานแบบฝาแตะ หลังคามุงด้วยสังกะสีเก่า ทำให้หลังคารั่ว ปัจจุบันที่ได้รับการซ่อมสร้างโดยเปลี่ยนโครงสร้างส่วนบนบ้านเป็นโครงสร้างเหล็ก ต่อเติมหลังคาบ้านจากหลังใหญ่ขยายออกให้กว้างขึ้น เทพื้นปูนใหม่ สามารถนอนชั้นล่างได้ ไม่ต้องขึ้น/ลง อันตราย ความเป็นอยู่ตอนนี้ดีขึ้นกว่าเดิมมาก”
กุหลาบทิพย์ ขันเงิน … “ปัญหาของบ้านก่อนการซ่อมสร้าง คือ บ้านเป็นบ้านไม้หลังเก่า อายุของบ้านนานหลายปี ตัวบ้านจึงไม่มั่นคง เซและเอียง เวลาฝนตกก็สาดเข้าบ้าน สังกะสีก็เก่า เป็นสนิมและหลังคารั่ว ปัจจุบันได้รับการช่วยเหลือโดยการสร้างบ้านหลังใหม่ทั้งหลัง ต้นเสา 6 ต้น ก่อผนังและเปลี่ยนสังกะสีใหม่ ตอนนี้ดีใจที่ได้รับการช่วยเหลือ ฝนตกก็ไม่กังวลเรื่องหลังคารั่ว”
นงลักษณ์ คำทอง … “ตนเองเป็นผู้พิการและอาศัยอยู่กับสามีและลูกสาว สภาพปัญหาของบ้านก่อนการซ่อมสร้าง คือ บ้านไม่มั่นคงถาวร เนื่องจากเป็นบ้านไม้ จึงเจอปัญหาเรื่องปลวกเจาะและเริ่มผุพัง ปัจจุบันได้รับการเปลี่ยนโครงสร้างส่วนบน คือ เป็นโครงเหล็กและมุงหลังคาสังกะสี (สันไทย) อิฐ หิน ปูน ทราย สำหรับการก่อผนังและเทพื้นปูนใหม่ โดยส่วนหนึ่งเกิดจากการสมทบเงินเก็บส่วนตัวเพิ่มเติม ปัจจุบันจึงดีขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก ลูกสาวมีพื้นที่ทำการบ้าน และใช้เป็นห้องเก็บของ นอนพักผ่อนได้”
จากการประเมินความพึงพอใจในการทำงานโดยภาพรวมคณะทำงานและผู้นำชุมชนประเมินคะแนนอย่างง่ายว่ามีความพึงพอใจอยู่ที่ระดับดี (80 คะแนน) ซึ่งให้เหตุผลประกอบว่าอาจยังมีข้อจำกัดในบางประการไม่เพียงเรื่องข้อจำกัดด้านงบประมาณเท่านั้น แต่รวมไปถึงเรื่องการแสวงหาภาคีเข้าร่วมในกระบวนการอาจยังพิจารณาไม่รอบด้าน ความไม่เข้าใจที่ชัดเจนเกี่ยวกับการทำงานของโครงการฯ ของคนในชุมชน หรือระเบียบของส่วนราชการที่อาจจะยังไม่เอื้อต่อการดำเนินงานของโครงการฯ เช่น ระเบียบเรื่องการเงินการคลัง ที่ไม่สามารถจัดสรรเพื่อสมทบกิจกรรมซ่อมสร้างครัวเรือนได้ หรือระเบียบเกี่ยวกับการช่วยเหลือปัญหาภัยพิบัติที่เกิดขึ้นกับครัวเรือนยังติดกรอบระเบียบหลายอย่าง เป็นต้น แต่เมื่อได้ฟังคำบอกเล่าประกอบกับเห็นรอยยิ้มและความสุขของคนทำงานที่ทุ่มเทมาตลอดกว่า 1 ปี อาจเป็นเครื่องพิสูจน์อย่างหนึ่งว่าการทำงานโครงการฯ นี้ ไม่มีทางที่จะสูญเปล่า แต่หากเป็นจุดประกายให้กับครัวเรือนในการเริ่มต้นที่จะพัฒนาหรือปรับปรุงเปลี่ยนแปลงบ้านของตนเอง
“โครงการบ้านพอเพียงชนบทเป็นโครงการที่ดี เพราะสามารถแก้ไขปัญหาได้ตรงจุด คือ เรื่องที่อยู่อาศัยของราษฎร ซึ่งเป็น 1 ในปัจจัย 4 ของมนุษย์ที่ต้องมีเพื่อความอยู่รอด”
“นอกจากงบประมาณที่ได้รับการสนับสนุนช่วยเหลือผ่าน พอช. โครงการนี้ยังมีส่วนช่วยสนับสนุนให้เกิดการสมทบในรูปของแรงกาย แรงใจ ความร่วมมือและความสามัคคีในชุมชนอีกด้วย”
“รู้สึกภาคภูมิใจที่ได้ช่วยเหลือเพื่อนบ้านด้วยกันให้มีความเป็นอยู่ที่ดี มีบ้านที่ดีขึ้น ถือว่าได้บุญจากการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเอง”
“โครงการนี้มีส่วนในการช่วยให้เกิดชุมชนเข้มแข็ง เนื่องจากทำให้คนในชุมชนได้หันมาคุยกัน ได้ช่วยเหลือกัน สามารถแก้ปัญหาในชุมชนร่วมกันได้ แบบก้าวไปด้วยกัน”
อย่างไรก็ตามตลอดการทำงานในช่วงกว่า 1 ปีที่ผ่านมาคณะทำงานโครงการฯ ได้บทเรียนจากการทำงานและได้กลายเป็นข้อเสนอแนะเพื่อให้การทำงานในระยะต่อไปประสบความสำเร็จและราบรื่นมากยิ่งขึ้นอย่างน้อย 3 ประการ คือ ประการแรก งบประมาณค่าวัสดุสำหรับการซ่อมสร้างบ้านต่อหลังคาเรือนอาจยังไม่เพียงพอต่อการซ่อมแซมปรับปรุง เนื่องจากราคาวัสดุในท้องตลาดเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งอาจต้องแสวงหาเพิ่มเติมจากภาคีการพัฒนาอื่น ๆ ทุกระดับเพื่อสมทบกับงบประมาณของรัฐบาลและ พอช. เพื่อที่จะได้ปรับปรุงซ่อมแซมบ้านให้เสร็จสมบูรณ์และอยู่ได้ระดับดีเบื้องต้น ประการที่สอง สัดส่วนของจำนวนครัวเรือนที่ได้รับการจัดสรรตามกรอบของ พอช. อาจยังไม่ครอบคลุมครัวเรือนที่อยู่ในขอบข่ายที่ต้องได้รับการช่วยเหลือ ดังนั้น ผู้เกี่ยวข้องควรพิจารณาสัดส่วนตามขนาดของประชากรและจำนวนหมู่บ้านในตำบลนั้น ๆ โดยจำแนกออกเป็นตำบลขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ และหมู่บ้านขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ และพิจารณาการกระจายจำนวนครัวเรือนเป้าหมายต่อพื้นที่ให้มีความเหมาะสม และประการสุดท้าย การดำเนินงานในระยะต่อไป ควรมีการประสานภาคีที่อาจเกี่ยวข้องกับการดำเนินงานโครงการฯ ในลักษณะภารกิจที่อาจจะเกี่ยวเนื่องหรือเกี่ยวข้องกันเข้าร่วมในกระบวนการดำเนินงานโครงการฯ ซึ่งอยู่ในแผนการดำเนินงานโครงการ อาทิ เทศบาลเมืองยโสธร, หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา, หรือสถานีตำรวจภูธรจังหวัด เป็นต้น