การทำงานโครงการบ้านพอเพียงชนบทของตำบลหนองตะครองมี “พระเอก” ในการขับเคลื่อนงานโดยผ่านกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลหนองตะครองที่มีบทบาท เข้ามาช่วยในการจัดระบบฐานข้อมูล เพื่อสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้เลย ถือได้ว่าเป็นจุดแข็งของการทำงานโครงการบ้านพอเพียงชนบทในพื้นที่แห่งนี้ ทีมวิชาการได้ลงไปสัมผัสบรรยากาศพื้นที่อีสานใต้ ที่เต็มไปด้วยความเป็นพหุวัฒนธรรม ที่พักอิงอยู่ด้วยกันอย่างลงตัวร่วมทุกข์ร่วมสุขด้วยกัน เหมือนดั่งกับคำสุภาษิตไทยที่ว่า คู่เรียงเคียงหมอน เป็นการอยู่ในพื้นที่เดียวกันอย่างลงตัวพอดี พื้นที่แห่งนี้ทำให้ทีมวิชาการตื่นเต้นที่จะสัมผัสและอยากที่จะเรียนรู้ไปด้วยกัน
ตัวละครเด่น หรือที่เราชอบเรียกกันว่า “พระเอก” ได้เปิดตัวต้อนรับทีมงานวิชาการอย่างเป็นกันเอง พร้อมกับนักแสดงสมทบหลัก (แกนนำคณะทำงานตำบล ผู้รับประโยชน์จากการช่วยเหลือด้านที่อยู่อาศัย) ยืนยิ้มแย้มโชว์ฟันสวยพร้อมกันอยู่บริเวณหน้าสำนักงานกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลหนองตะครอง เมื่อเราไปถึงพื้นที่นัดหมายแล้ว ทั้งหมดเริ่มทักทายอย่างเป็นกันเองทำให้บรรยากาศในวันนั้น เริ่มต้นได้อย่างดีตามที่เราได้คาดหมายไว้ไม่มีผิด ทั้งหมดเริ่มการสนทนาโดยการให้ดารา (ผู้ที่เกี่ยวข้องกับโครงการบ้านพอเพียงชนบท) ได้แนะนำตัวเองเพื่อสร้างความคุ้นเคย หลังจากนั้นให้แกนนำตำบลเปิดทำการแสดงโดยการเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นในพื้นที่พหุสัมพันธ์แห่งนี้
จุดเริ่มต้นของการทำงานโครงการบ้านพอเพียงชนบทตำบลหนองตะครอง อำเภอละหานทราย จังหวัดบุรีรัมย์ ได้รับงบประมาณสนับสนุนเริ่มต้นจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) พอช. และทำงานกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลหนองตะครอง ร่วมกันสำรวจข้อมูลเบื้องต้นตำบลหนองตะครอง มีทั้งหมด 12 หมู่บ้าน ได้รับการจัดสรรบ้านพอเพียงชนบทโดยงบประมาณของ พอช. และงบประมาณจากภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งหมด 26 หลังคาเรือน ปี พ.ศ. 2561 การสำรวจข้อมูลเบื้องต้นมีการคัดเลือกกระจายทุกหมู่บ้าน โดยแบ่งหมู่บ้านละ 2 หลังคาเรือนที่รับประโยชน์เป็นสัดส่วนที่เท่ากันหมด แต่ว่ามีหมู่ที่ 1 และหมู่ที่ 7 ที่ได้เพิ่มขึ้นเป็นหมู่บ้านละ 3 หลังคา ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่เป็นผู้ด้อยโอกาสและเป็นครัวเรือนขยายอยู่ด้วยกันหลายคน และเป็นชุมชนของชาวเขมร ทั้งที่เป็นการซ่อมแซมและสร้างใหม่ทั้งหลัง สถานการณ์ที่เกิดขึ้นด้านที่อยู่อาศัยในพื้นที่ตำบลหนองตะครอง ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ที่เป็นที่ดินของตนเอง ลักษณะบ้านเรือนส่วนใหญ่ไม่มีความมั่นคงถาวรมีความชำรุดทรุดโทรม บางครัวเรือนมีน้ำท่วมขังบริเวณใต้ถุนบ้าน สภาพสิ่งแวดล้อมต่างบริเวณบ้านเป็นแหล่งเพาะพันธ์เชื้อโรคไม่ดีต่อสุขภาพของผู้ัที่อยู่อาศัย และบ้านที่เป็นครอบครัวขยายมีสมาชิกในครัวเรือนเป็นจำนวนมาก และได้ให้คนเฒ่าคนแก่เลี้ยงหลานอยู่ที่บ้าน มีคนแก่และเด็กอยู่ด้วยกันส่วนวัยหนุ่มสาวทิ้งลูกหลานให้คนแก่เลี้ยงเด็ก วัยแรงงานไปทำงานที่ต่างจังหวัดหรือกรุงเทพ เป็นบ้านที่ไม่สามารถอยู่ได้แล้วถึงขั้นที่จะอยู่ไม่ได้แล้ว พื้นที่ตำบลหนองตะครองไม่มีปัญหาเรื่องพื้นที่สาธารณะ ครอบครัวส่วนใหญ่พอมีที่ดินเป็นของตนเอง จากการสำรวจของคณะทำงานตำบลพบว่ามีผู้เดือดร้อนทางด้านที่อยู่อาศัย 146 ครัวเรือน จากข้อมูลการสำรวจผู้เดือดร้อนเป็นรายหมู่บ้าน พบว่า หมู่ที่มีความเดือดร้อนเรื่องที่อยู่อาศัยน้อยที่สุดคือ หมู่ 4 จำนวน 4 หลังคาเรือน และหมู่ที่มากที่สุดคือหมู่ที่ 6 จำนวน 24 หลังคาเรือน โดยใช้หลักเกณฑ์การพิจารณาผู้เดือดร้อนรับการซ่อมสร้างบ้าน เริ่มจากการพิจาณา ประกอบด้วย การเข้ามาเป็นสมาชิกกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลหนองตะครอง (ถ้าไม่ได้เข้ามาเป็นสมาชิกก็ทำการพิจารณาเป็นรายกรณีตามความจำเป็นและความเดือนร้อนที่เกิดขึ้นในของครัวเรือนนั้น) เป็นครัวเรือนผู้ด้อยโอกาส เป็นครัวเรือนผู้ป่วย ผู้พิการไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ เป็นครัวเรือนขยายอยู่ด้วยกันหลายคน และเป็นครัวเรือนที่บ้านทรุดโทรม
กองทุนสวัสกิการชุมชนตำบลหนองตะครอง มีการสร้างความร่วมมือบูรณาการทำงานเพื่อให้โครงการบ้านพอเพียงชนบทเป็นได้อย่างประสบความสำเร็จ ทั้งภาคีเครือข่ายในชุมชนและนอกชุมชนเองโดยเริ่มจากผู้รับประโยชน์ นอกจากจะได้รับประโยชน์จากการสร้างบ้านแล้วยังเข้ามาช่วยในการสมทบทุนในการซ่อมสร้างบ้านของตนเองด้วย ได้แก่ ค่าแรงงานช่างเฉพาะ (ค่าเชื่อม ค่าก่ออิฐ ค่าฉาบ) นอกจากนั้นแล้วยังสมทบการจ้างรถถมดินมาถมก่อนที่จะสร้างบ้านอีกด้วย ญาติพี่น้อง เข้ามามีบทบาทในการช่วยเหลือในด้านเป็นแรงงานในการก่อสร้างบ้าน รวมถึงการสมทบทุนช่วยเหลือค่าน้ำดื่ม ค่าอาหาร และค่าวัสดุอุปกรณ์ผู้นำชุมชน มีบทบาทในการมาเป็นแรงงานช่วยในการสร้างบ้านด้วยเช่นเดียวกัน นอกจากนั้นยังมีการประชาสัมพันธ์ให้ลูกบ้านทราบถึงข้อมูลการสร้างบ้านของผู้รับประโยชน์ให้คนในชุมชนออกมาช่วยเอาแรงงานกัน สิ่งที่ทางทีมงานประทับใจคือการเข้ามาช่วยเหลือของพระสงฆ์และวัด เข้ามาช่วยเหลือครัวเรือนผู้รับประโยชน์ที่อยู่ติดกับบริเวณวัด ช่วยในการสมทบทุนเป็นปัจจัยในการสร้างบ้านใหม่จำนวนหนึ่งหมื่นหนึ่งพันบาท และช่วยเรื่องอาหาร เนื่องจากผู้รับประโยชน์อยู่บริเวณติดวัดได้ช่วยเหลืองานวัดอยู่เป็นประจำ นอกจากนั้นแล้ว พี่สุนทรยังเล่าให้ฟังว่า เจ้าอาวาสได้สั่งให้พระลูกวัดมาช่วยเป็นแรงงานในช่วงที่รื้อบ้านหลังเดิม ยกบ้านหลังเดิมและสร้างเป็นบ้านหลังใหม่ให้กับผู้เดือดร้อนท่านนี้ด้วย ซึ่งบ้านหลังนี้คือบ้านของสนอง ชามารัตน์ เป็นชาวบ้านหมู่ 2 บ้านหลังนี้อาศัยอยู่ด้วยกันทั้งหมด 2 คน ลักษณะบ้านเป็นบ้านไม้ชั้นเดียว บ้านผุพัง ตัวบ้านเซกำลังจะล้มแล้ว บ้านก็จะพัง หลังคาบ้านรั่ว น้ำขังบริเวณพื้นบ้านเวลาที่ฝนตก โครงการเข้ามาช่วยเหลือพร้อมกับมีวัดเข้ามาช่วยเหลืออีกทางหนึ่ง คือการยกบ้านหลังใหม่ขึ้นทั้งหลัง แต่ตอนนี้ยังสร้างไม่เสร็จทั้งหมดอยู่ระหว่างการสร้างบ้าน ถ้าได้ไปขึ้นบ้านใหม่จะยิ่งดีขึ้นกว่านี้
เครือข่ายนอกชุมชนที่เข้ามาช่วยเหลือและร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งของโครงการบ้านพอเพียงชนบทตำบลหนองตะครอง โดยพี่สุนทรและทีมคณะทำงานย้ำให้เราฟังเสมอว่า พวกเราได้ชวนทุกภาคส่วนเข้ามาทำงานร่วมกันทั้งเรื่องแรงงาน เรื่องงบประมาณ และเรื่องวัสดุอุปกรณ์ พร้อมทั้งยกตัวอย่างหน่วยงานที่เข้ามาเกี่ยวข้องให้เราฟังอีกด้วย ก็จะมีองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น (อบต.) สนับสนุนเจ้าหน้าที่เข้ามาช่วยเหลือในการตรวจรับงาน ร่วมวางแผนการสร้างบ้านของผู้รับประโยชน์ ภาคเอกชน/ร้านค้า ได้แก่ ธนาคารออมสินช่วยเหลือเรื่องน้ำดื่มในการทำงาน ห้างร้านต่าง ๆ ช่วยเหลือด้านเครื่องดื่ม และร้านค้าในตำบลมีบทบาทในการสมทบทุนทำกรอบรูปให้ในวันรับมอบบ้านของผู้รับประโยชน์ หลังจากยกตัวอย่างคนที่มาร่วมงานให้ฟังแล้ว ก็มีเสียงหนึ่งในวงสนทนาดังขึ้นอย่างประหลาดใจ “…พวกเราไม่คิดไม่ฝันว่าจะมีคนมาสร้างบ้านให้จริง ๆ ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในความฝันของคนในตำบลหนองตะครองที่เป็นจริงเลยทีเดียว ประโยคนี้หลุดออกมาจากปากของพี่สุนทรกล่าวไว้ในช่วงที่เราเดินพูดคุยกันระหว่างลงเยี่ยมยามถามข่าวพี่น้องผู้ที่ได้รับการช่วยเหลือซ่อมแซมและสร้างบ้าน…” ทำให้ทีมมองว่าการที่จะสร้างฝันนั้นแม้นคนเดียวก็สร้างได้ แต่ถ้าทุกคนมาร่วมสร้างฝันไปด้วยกันก็จะยิ่งทำฝันให้เป็นจริงมากขึ้น
จากการดำเนินงานโครงการบ้านพอเพียงชนบททำให้ได้เกิดการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนเพิ่มมากขึ้นโดยเริ่มต้นจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) พอช. ทำงานควบคู่กับกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลหนองตะครอง และมีหน่วยงานอื่น ๆ เข้ามาเกี่ยวข้องมากมาย จนสามารถส่งถึงฝันของผู้เดือดร้อนด้านที่อยู่อาศัยได้ ในวันที่เราลงพื้นที่ผู้ที่ได้รับประโยชน์ต่างช่วยกันสะท้อนภาพความดีใจ และความใฝ่ฝันในการซ่อมแซมและสร้างบ้านของตนเอง ให้ทีมวิชาการถอดบทเรียนฟังอย่างหน้าตื่นเต้น คนแรกที่ขอพูดก่อนเพื่อนคือ สม สิงห์ชาดา … “เป็นชาวบ้านหมู่ที่ 5 อาศัยอยู่กับหลานที่บ้าน เวลาฝนตกแต่ละครั้งหลังคาบ้านรั่ว ไม่มีที่อยู่ไม่มีที่หลับนอน หลานก็นอนไม่ได้ ซึ่งบ้านหลังนี้เริ่มผุพังมาแล้วประมาณ 4 ปี ช่วงฝนตกยายกับหลานไม่ได้นอนเลยเพราะเปียกฝน ตอนนี้โครงการเข้ามาช่วยเหลือในการเปลี่ยนโครงหลังคาใหม่ให้ มีการเปลี่ยนสังกะสีให้ใหม่ นอกจากนั้นแล้วยังมีการเปลี่ยนประตู หน้าต่างบานใหม่ให้ด้วย ตอนนี้บ้านของตนเองนั้นดีขึ้นมากแล้ว ตัวบ้านมีความมั่นคงถาวร เวลาฝนตกก็ไม่กลัวเปียกฝนเหมือนแต่ก่อน” คนที่สองคือ เปลี่ยน กะนะรัมย์ เป็นชาวบ้านหมู่ที่ 1 เล่าว่า… “บ้านของตนเองทรุดโทรมมาก ตัวบ้านมีทั้งปลวกและตัวมอดกัดกินไปหมด เวลาฝนตกหลังคาบ้านก็รั่ว และน้ำขังบริเวณพื้นบ้านด้วย โครงการบ้านพอเพียงชนบทเข้ามาช่วยเหลือในการยกเสาบ้านใหม่ให้ สร้างโครงหลังคาใหม่ให้ และมุงหลังคาให้ด้วย รวมถึงอิฐ หิน ดิน ทราย ส่วนประตูบ้านและหน้าต่างชุมชนช่วยกันบริจาคให้” คนที่สามคือ รุ่งอารุณ ถาวรสันต์ เป็นชาวบ้านหมู่ที่ 7….“ตอนที่ยังไม่ได้สร้างบ้านนั้น บ้านผุพัง เสาบ้านผุ หลังคาที่เป็นสังกะสีรั่ว เวลาฝนตกก็สาดเข้าบ้าน บริเวณพื้นบ้านเปียกและมีน้ำท่วมขัง โครงการเข้าสร้างบ้านหลังใหม่ให้ ตอนนี้เข้าไปอยู่แล้ว มีบ้านอยู่ชีวิตดีขึ้นมาก”
ต่อมาคือ สงัด สงฆ์เจริญธรรม เป็นชาวบ้านหมู่ที่ 6 …“ตอนนี้อาศัยอยู่บ้านคนเดียว บ้านผุพังมาก ผนังบ้านไม่มี ปลวกกัดกินตัวบ้านทั้งหลัง หลังคาบ้านก็รั่วเวลาที่ฝนตก โครงการเปลี่ยนเสาบ้านใหม่ให้ 3 ต้น เปลี่ยนหลังคาสังกะสีใหม่ให้ ได้อิฐ หิน ดิน ทราย มาก่อผนังบ้านใหม่ ตอนนี้อยู่สบายดี เวลาฝนตกก็ไม่เปียกฝนแล้ว กินอิ่มนอนหลับ ดีกว่าแต่ก่อนเยอะ” และสุดท้ายคือ อรุณ เป็นชาวบ้านหมู่ที่ 10 …“บ้านหลังเดิมกระเบื้องแตก ไม้ผุพัง เวลาที่ฝนตกบริเวณพื้นบ้านน้ำท่วม ทางโครงการบ้านพอเพียงชนบทได้สร้างโครงหลังคาใหม่ให้ เป็นหลังคาสันไท และได้มาเชิงชายมาทำเป็นโครงหลังใหม่”
จากสิ่งที่เราได้ฟังในวันนั้น ทำให้เห็นภาพความผลสำเร็จของโครงการบ้านพอเพียงชนบท รวมถึงจากการประเมินความพึงพอใจต่อโครงการบ้านพอเพียงชนบทของแกนนำตำบลหนองตะครองและผู้รับประโยชน์มีการประเมินเบื้องต้น ส่วนใหญ่ให้การดำเนินงานอยู่ที่ร้อยละ 95 เนื่องจากโครงการนี้มีการช่วยเหลือและสร้างความร่วมมือจากคนที่อยู่ในชุมชนเดียวกันเองและได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ส่วนค่าคะแนนที่เหลือร้อยละ 5 นั้น เป็นเรื่องของงบประมาณที่จัดสรรลงมาต่อหลังยังน้อยอยู่ แต่ก็ยังไม่ใช่ปัญหาที่จะต้องนำมาคิดในการทำงาน เนื่องจากตำบลหนองตะครองมีการขับเคลื่อนงานร่วมกันทุกภาคส่วนไปพร้อมกัน
เรื่องราวของ หนองตะครอง: กองทุน คืนฝัน พหุความสัมพันธ์ ดำเนินเรื่องมาถึงช่วงสุดท้ายของปีงบประมาณ เกิดความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมเกิดขึ้นในพื้นที่ เห็นภาพรอยยิ้มของผู้ที่ได้รับประโยชน์จากการซ่อมแซมและสร้างบ้าน แต่เรื่องราวการทำงานยังต้องดำเนินไปต่อเพื่อขยายผล ทำให้เกิดข้อเสนอแนะในการทำงานต่อไปให้เกิดประโยชน์มากกว่าปีที่ผ่านมาคือ มีการสร้างระบบพี่เลี้ยงในการทำโครงการ การนำเสนอข้อมูลผู้เดือดร้อนระดับพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม หรือมีระบบพี่เลี้ยงแบบใหม่เพื่อให้สามารถช่วยพื้นที่ในการทำงานและอำนวยความสะดวกในการทำงานมากขึ้น ร่วมถึงเจ้าหน้าที่ภาคอีสานลงพื้นที่เพื่อชี้แจงโครงการของ พอช.เอง โดยให้ระดับเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบลงมาพื้นที่ทำงานกับพื้นที่ และพื้นที่ตำบลหนองตะครองมีการจัดเก็บข้อมูลที่เป็นระบบอยู่แล้ว ดังนั้นควรได้รับการสนับสนุนการทำงานบนฐานข้อมูลอย่างต่อเนื่องสนับสนุนงบประมาณ ค่าวัสดุก่อสร้างต่าง ๆ ต่อครัวเรือนยังน้อยอยู่ควรปรับให้อยู่ประมาณ 25,000-40,000 บาทต่อหลังคาเรือน มีการพิจารณาการแบ่งสัดส่วนจำนวนผู้ได้รับประโยชน์ต่อตำบลให้เพิ่มมากขึ้น ควรปรับเป็น 40 ครัวเรือนต่อตำบล เพื่อให้เกิดความครอบคลุมและสามารถแก้ไขปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยของคนในชุมชนได้มากที่สุด และสุดท้ายมีการพิจารณาเรื่อง “เศรษฐกิจและทุน” ของครัวเรือนหลังจากที่สร้างบ้านเสร็จแล้ว ซึ่งจะช่วยให้ครัวเรือนผู้รับประโยชน์สามารถมีอาชีพและรายได้เพิ่ม
อย่างไรก็ตามการดำเนินงานโครงการบ้านพอเพียงชนบทตำบลหนองตะครอง มีกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลเป็นผู้ที่มีบทบาทขับเคลื่อนงาน ประสานงาน พร้อมกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) พอช. จนทำให้พื้นที่พหุความสัมพันธ์เกิดความฝันที่เป็นจริงในที่สุด ดังคำว่าที่ “หนองตะครอง: กองทุน คืนฝัน พหุความสัมพันธ์”