“…ใครจะไปคิดว่าชาวบ้านธรรมดาอย่างเราจะมีคนมาสร้างบ้านให้…” ในวันที่ฝนโปรยปรายเสียงของผู้หญิงตัวเล็กที่ชื่อว่า เพชร สาธิมาตย์ หมู่ที่ 3 ดังก้องขึ้นกลางวงสนทนากลุ่มย่อยอย่างมีความหมาย แววตาเป็นประกายมันต่างจากสภาพอากาศในวันนี้ที่มืดครึ้มด้วยสายฝน ในสมัยก่อนนั้นเขาคิดว่าการสร้างบ้านหนึ่งหลังเป็นเรื่องใหญ่มากสำหรับบุคคลหรือครัวเรือนของเขา แต่วันนี้ฝันของเขาเป็นจริงแล้ว โดยการเป็น 1 ใน 20 ครัวเรือนของผู้รับประโยชน์จากโครงการบ้านพอเพียงชนบท
จุดเริ่มต้นเป็นอย่างไร สถานการณ์เริ่มแล้วจบลงตรงไหน ? ตำบลห้วยเตย อำเภอกุดรัง จังหวัดมหาสารคาม เริ่มดำเนินโครงการบ้านพอเพียงชนบทในปี พ.ศ. 2558 โดยสถาบันพัฒนาองค์ชุมชน (พอช.) ได้ทำงานผ่านสภาองค์กรชุมชนเข้ามาร่วมทำการสำรวจข้อมูลสถานการณ์ที่อยู่อาศัย ทำให้พบเห็นปัญหาในพื้นที่ว่ามีสมาชิกในครัวเรือนอาศัยอยู่ด้วยกันหลายคน (ต้องอยู่ต่อเล้า) ปัญหาบ้านทรุดโทรม บ้านที่อาศัยอยู่กำลังจะพังแล้ว
การทำงานของเรา เริ่มจากโครงการบ้านพอเพียงชนบทมีการทำงานที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง ระยะก่อนดำเนินงานโครงการฯ เราเริ่มต้นด้วยการประชุมเครือข่ายระดับตำบล เพื่อรับนโยบาย จากนั้นสภาองค์กรชุมชนจัดตั้งคณะกรรมการโครงการบ้านพอเพียง เมื่อเรามีคณะทำงานแล้วก็ได้พากันเดินทางลงพื้นที่สำรวจผู้ที่เดือดร้อนในพื้นที่ จัดทำแผนที่พัฒนาตำบลขึ้น ซึ่งทางเราเห็นว่าแผนที่อันนี้จะช่วยให้เห็นสภาพของผู้เดือดร้อนในตำบลเราเอง แล้วร่วมกันประเมินราคาวัสดุสร้างบ้านโดยคณะทำงานตำบลกับช่างองค์การบริหารส่วนตำบลช่วยกันประเมินราคาค่าใช้จ่าย จากนั้นเรากลับมาจัดประชุมแต่งตั้งคณะกรรมการจัดซื้อ จัดจ้างวัสดุอุปกรณ์ และติดต่อร้านค้าโดยมีนโยบายจะของเราเองคือ “…ต้องเป็นร้านที่มีราคาถูก คุณภาพดี และมีของแถมให้ด้วย…” แล้วเราก็ได้กลับมายังหมู่บ้านทำการสำรวจความพร้อมกับสอบถามผู้รับประโยชน์ ว่า ครัวเรือนไหนมีความพร้อมและว่างจะซ่อมสร้างบ้าน เพื่อจะได้เรียงลำดับครัวเรือนในการซ่อมสร้างได้ถูกเวลา เมื่อครัวเรือนพร้อมแล้ว เราก็จะแจ้งให้ร้านวัสดุจัดส่งวัสดุ อุปกรณ์ไปยังบ้านของผู้รับประโยชน์ ระยะระหว่างดำเนินงานโครงการฯ เป็นช่วงที่สนุกสนานทั้งผู้รับประโยชน์ คณะทำงาน และชาวบ้านในชุมชน เริ่มขั้นตอนการลงมือซ่อมสร้างบ้านของครัวเรือน จะมีญาติพี่น้องของแต่ละคนมาช่วยกันสร้างบ้าน ในตำบลห้วยเตยใช้ระยะเวลาในการซ่อมสร้างบ้านน้อยที่สุดคือ 1 วัน และใช้ระยะเวลาซ่อมสร้างมากที่สุดคือ 10 วัน ผู้รับประโยชน์ใช้งบประมาณส่วนตัวในการสมทบมากที่สุดคือ 10,000 บาท งบประมาณน้อยที่สุดคือ 5,000 บาท ในส่วนนี้เป็นทั้งค่าแรงงานเฉพาะและค่าอาหารของผู้ที่มาช่วยเหลือ และบางครัวเรือนมีนายอำเภอมาตั้งเสาบ้านให้ด้วย ซึ่งถือได้ว่าเป็นเกียรติอย่างมากในครั้งนี้ ระยะหลังการดำเนินงานโครงการฯ หลังจากสร้างบ้านของตนเองเสร็จ ครัวเรือนไหนที่มีวัสดุเหลือก็จะนำไปให้ครัวเรือนอื่นที่รับประโยชน์เพื่อใช้ในการซ่อมสร้างบ้านต่อไป และมีผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภอมาทำพิธีมอบบ้านที่ อบต.กุดรัง
การคัดเลือกคน (ครัวเรือน) ที่ใช่ เราร่วมกันพิจารณาและกลั่นกรองผู้ที่จะเข้าในเกณฑ์ได้รับการช่วยเหลือ ประกอบด้วย เป็นผู้ที่อยู่และเป็นสมาชิกกองทุนที่ดิน (ถ้าคนไหนไม่ได้อยู่หรือเป็นสมาชิกกองทุน แต่เข้าข่ายที่จะช่วยเหลือก็จะเปิดโอกาสในการให้เข้ามาสมัครเป็นสมาชิก) เป็นสมาชิกกองทุนสวัสดิการชุมชน ที่อยู่อาศัยไม่มั่นคงถาวรมีความเดือดร้อนจริง ผู้มีปัญหาด้านสุขภาพ และมีปัญหาเรื่องที่ดินทำกิน
ร่วมด้วยช่วยกัน หลากภาคี หลายพลังใจ การทำงานบ้านพอเพียงเราทำงานคนเดียวไม่ได้หรอก เราต้องช่วยกันหลายส่วน ซึ่งห้วยเตยก็เป็นเช่นนั้นแล ตอนนั้นที่เราจำได้ ได้มี ภาคีเครือข่ายภายในชุมชนของเราเอง เริ่มต้นจากญาติพี่น้องในชุมชน ได้เข้ามาช่วยเหลือการบริจาคสิ่งของ อุปกรณ์เพื่อสร้างบ้าน และแรงงาน ส่วนภาคีเครือข่ายภายนอกชุมชนของเรานั้น มีหลายส่วนมาที่มาร่วมกับเรา ทั้งร้านค้าเอกชน (ขายวัสดุก่อสร้าง) เวลาที่คณะกรรมการไปสั่งซื้อวัสดุ จะช่วยในการแถมวัสดุก่อสร้างให้กับเรา ทั้งส่วนราชการอำเภอ ประสานงาน ขอความร่วมมือในการทำโครงการบ้านพอเพียงชนบท เปิดทางให้การทำงานเป็นไปอย่างราบรื่น ทั้งกองทุนที่ดิน มีบทบาทอย่างมากในการขับเคลื่อนโครงการบ้านพอเพียงชนบท เพราะจะเป็นการสนับสนุนทั้งด้านบุคลากร และมีการเตรียมแผนให้ผู้รับประโยชน์กู้เพื่อช่วยเหลือชาวบ้านในอนาคต ทั้งกองทุนสวัสดิการชุมชน มาช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส และมีการพิจารณาคัดเลือกผู้รับประโยชน์ในปีแรกให้มาสมัครเข้าเป็นสมาชิกแล้วรับประโยชน์ในการซ่อมสร้างบ้านพอเพียง นอกเหนือจากนั้นได้ช่วยเหลือและดูแลให้เข้าระบบสวัสดิการด้วย ทั้งอบต. ห้วยเตย สนับสนุนบุคลากรในการทำงานโครงการบ้านพอเพียง โดยที่ทาง อบต. ให้ช่างเข้ามาร่วมกันประเมินราคา ค่าใช้จ่ายในการสร้างบ้านกับทีมแกนนำตำบล และสนับสนุนงบประมาณช่วยเหลือ ทั้งสภาองค์กรชุมชน เข้ามาช่วยในการจัดทำฐานข้อมูลผู้เดือดร้อนด้านที่อยู่อาศัย เสนอแผนเข้าสู่จังหวัดในการซ่อมสร้างบ้าน และร่วมบูรณาการการทำงานระดับพื้นที่ และที่ขาดไม่ได้เลยคือ กอ.รม น. ที่ส่งพี่ ๆ ทหารมาช่วยซ่อมสร้างบ้าน ทั้งหมด 7 หลัง
ผลสำเร็จที่เกิดขึ้น ตำบลห้วยเตยได้รับการจัดสรรงบประมาณเพื่อช่วยเหลือผู้รับประโยชน์ในปี พ.ศ. 2560 จำนวน 25 ครัวเรือน แต่ทางพื้นที่ช่วยกันขยายผลเพิ่มเป็น 27 ครัวเรือน สำหรับปี พ.ศ. 2561 ได้รับการจัดสรรงบประมาณจำนวน 10 ครัวเรือน แต่ทางพื้นที่สามารถขยายผลเพิ่มขึ้นเป็น 20 ครัวเรือน นอกจากแม่เพชร ที่ได้รับประโยชน์คนอื่นก็มีรอยยิ้ม หลังจากการทำงานของเราเดินทางมาถึงช่วงสุดท้ายของปีงบประมาณแล้ว ได้ผ่านทั้งปัญหาและคราบน้ำตา สิ่งทีเกิดขึ้นจากโครงการบ้านพอเพียงชนบทก็คือรอยยิ้มของผู้รับประโยชน์ ในวันนี้เรานำตัวอย่างความรู้สึกของเขาเหล่านั้นมาสื่อสารเพื่อส่งผ่านความรู้กับสิ่งที่เขาได้รับ โดยเริ่มต้นจาก
เพชร สาธิมาตย์ ก่อนก็แล้วกันนะ “…บ้านของเราอยู่ด้วยกันทั้งหมด 6 คน แต่ก่อนบ้านคล้ายกลับเถียงนา มี 4 เสา ฝาผนังบ้านเป็นไม้ไผ่สาน เวลาที่ฝนตกก็สาดและรั่วเข้ามาในบ้าน พื้นดินเป็นโคลน ต้องนอนอยู่แคร่เท่านั้น เมื่อโครงการเข้ามาช่วยสร้างบ้านหลังใหม่ให้ ตั้งเสาบ้านทั้งหมด 9 เสา ได้อิฐ หิน ดิน ทราย ปูน ตอนที่สร้างก็มีญาติพี่น้องมาช่วยบริจาคไม้ คนธรรมดาอย่างเราก็ได้รับการช่วยเหลือ ส่วนแรงงานสามีเป็นคนทำเพราะมีความรู้ด้านช่าง ตอนนี้มีบ้านที่มั่นคงถาวรแล้ว หลังจากนี้ก็จะสร้างอาชีพและรายได้ต่อไป…”
เบ็ญ สีพันชาติ พูดอย่างเสียงดังน้ำตาคลอเบ้า “…อาศัยอยู่คนเดียว แม่เบ็นไม่มีบ้านอยู่ต้องไปอยู่ที่โรงเลี้ยงหม่อนของตัวเอง ใช้สังกะสีทำเป็นผนังและหลังคา ทำให้ไม่มีหน้าต่าง สมัยก่อนอยู่กับน้องสาวแต่พอแม่เสียชีวิตทำให้น้องสาวไล่ออกจากบ้านจึงได้มาอยู่ที่นี่ โครงการเข้าไปช่วยเปลี่ยนหลังคาสังกะสีใหม่ให้ และทำหน้าต่างให้ ตอนนี้ดีขึ้นมาขอบคุณที่โครงการเห็นความสำคัญของเราอยู่บ้าง ก็ย้ายเข้าไปอยู่แล้วและก็จะต่อเติมอีกรอแรงงานมาช่วยอยู่ ตามคิว…”
พ่อใส สวยพาพิทิกุล ผู้ชายตัวเล็กแต่พูดได้กินใจ “…พ่อใสอาศัยอยู่คนเดียว ลักษณะบ้านเป็นบ้านไม้ ตอนนี้ปลวกกัดกินบ้าน และพ่อใสไม่สามารถขึ้นไปบนบ้านได้เพราะอายุเยอะ โครงการช่วยเหลือสร้างบ้านหลังใหม่ให้ (อิฐ หิน ดิน ทราย ปูน) ได้สมทบช่วยในการสร้างบ้าน 15,000 บาท มีชาวบ้าน ญาติพี่น้องเข้ามาช่วยเหลือด้านแรงงาน รวมถึงพี่ ๆ ทหารด้วย ตอนนี้ชีวิตเปลี่ยนไปเยอะ ปลวกไม่กัดกินแล้ว บ้านสวยงาม…”
มณี เพ็งพล ถึงแม่จะพูดไม่เก่งแต่จริงใจนะ “…บ้านแต่ก่อนสังกะสีรั่ว เวลานอนมองเห็นดาวเต็มบ้านเลย เวลาฝนตกต้องวิ่งหาถังน้ำมารองด้วย โครงการก็เข้ามาช่วยเปลี่ยนสังกะสีใหม่ให้ ตอนนี้กินอิ่มนอนหลับ ชีวิตดีขึ้นมากไม่ต้องมีความกังวลในช่วงเวลาที่ฝนตกอีกแล้ว…”
คุณทวี วิชาศรี พูดพร้อมกับรอยยิ้ม “…อาศัยอยู่ด้วยกันทั้งหมด 4 คน ซึ่งเป็นคนพิการ 2 คน และมีผู้ป่วยติดเตียงอาศัยอยู่ในบ้าน ใช้ชีวิตไม่ค่อยสะดวก เวลาที่ฝนตกหลังคาก็รั่ว ไม่สามารถเข้าห้องน้ำได้ โครงการบ้านพอเพียงได้สร้างโครงหลังคาเหล็ก โครงสังกะสี และสร้างผนังบ้านหลังใหม่ใส่ตาข่าย ตอนนี้สะดวกขึ้นเยอะมาก เวลาเข้าห้องน้ำก็ไม่ต้องเปียกฝนแล้ว บ้านหลังนี้มีพี่ ๆ ทหารเข้ามาช่วยเหลือในการซ่อมสร้างบ้านด้วยนะครับ…”
(บ้านพอเพียง) ของเราไม่ได้ราบรื่นนะ !!! ในพื้นที่ยังมีบ้าง ที่มีเสียงสะท้อนในการทำงานที่เกิดขึ้นในชุมชน เรื่องการช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มเครือญาติของตนเอง “…ทำไมได้ประโยชน์น้อยทำไมได้ประโยชน์น้อย…” ด้านความเข้าใจเกี่ยวกับการทำงานของสภาองค์กรชุมชน กับการซ่อม/สร้างบ้านพอเพียง ระหว่างผู้นำท้องถิ่นและผู้นำชุมชน (แต่ก็ได้ทำความเข้าใจแล้ว เคลียร์แล้วเข้าใจแล้ว) สิ่งสำคัญที่สุดในการทำงานแล้วเราจะเดินหน้าต่อไปทำอะไรกันดี เราทำงานทั้งรอยยิ้มและความไม่เข้าใจ แต่สิ่งที่เราจะทำและเดินหน้าต่อไปเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่กว่า คือ 1) การจัดการเนื้อหาของงานโครงการบ้านพอเพียงซึ่งเป็นบทบาทหลักของท้องที่ ท้องถิ่น และสภาองค์กรชุมชน ควรแยกให้ชัดเจนกับส่วนงานราชการในจังหวัด หรือควรทำความเข้าใจในเชิงนโยบายก่อนที่จะลงมือทำโครงการ 2) พอช. ควรมีการพิจารณาวาระต่อเนื่องจากการซ่อมสร้างบ้าน เช่น พิจารณาเรื่องความเป็นอยู่อาหารการกิน ด้านอาชีพ ด้านรายได้ มีการส่งเสริมระบบเศรษฐกิจ ทุน คุณภาพชีวิต และสนับสนุนทุนชุมชนที่มีอยู่ เนื่องจากบางครัวเรือนยังมีปัญหาเรื่องสภาวะพึ่งพิงอยู่ ทั้งผู้สูงอายุ ผู้พิการ 3)พอช. พิจารณาเรื่องการสร้างศูนย์เรียนรู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชน
สุดท้าย การดำเนินงานโครงการบ้านพอเพียงชนบท จำเป็นต้องมีภาคีเครือข่ายการทำงานโดยการตั้งต้นของสถาบันพัฒนาองค์ชุมชน (พอช.) เป็นผู้จุดประกายการทำงาน แล้วเครือข่ายร่วมกันต่อยอดเพื่อช่วยเหลือชาวบ้านผู้เดือดร้อนด้านที่อยู่อาศัยต่อไป ไม่ต้องนำปัญหาที่เกิดขึ้นมาคิด แต่ต้องคิดที่จะก้าวเดินไปข้างหน้าได้อย่างไร