บริบทพื้นที่และการเปลี่ยนแปลง
อุตรดิตถ์[1] เป็นจังหวัดหนึ่งในภาคเหนือตอนล่าง อดีตเป็นประตูเชื่อมดินแดนล้านนาตะวันออก ตัวเมืองเดิมชื่อ บางโพท่าอิฐ ต่อมาได้รับการยกฐานะเป็นจังหวัดเมื่อ พ.ศ.2476 คำว่าอุตรดิตถ์ หมายถึงเมืองท่าแห่งทิศเหนือ เป็นเมืองตํานานลับแลและเมืองถิ่นกําเนิดของวีรบุรุษ “พระยาพิชัยดาบหัก” ทหารเอกสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช มีอาณาเขตติดต่อกับจังหวัดใกล้เคียง คือ ทิศเหนือ ติดกับจังหวัดแพร่และจังหวัดน่าน ทิศใต้ติดกับจังหวัดพิษณุโลก ทิศตะวันออก ติดกับจังหวัดพิษณุโลกและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (มีเขตชายแดนระยะยาวประมาณ 145 กิโลเมตร) และทิศตะวันตก ติดกับ จังหวัดสุโขทัย
ประชากรท้องถิ่นดั้งเดิมของจังหวัด คือชนพื้นถิ่นไทยสยามและไทยวน ผู้เป็นเจ้าของซากโครงกระดูกและเครื่องมือหินและสําริดสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่ค้นพบในจังหวัด ต่อมาพื้นที่ตั้งเมืองอุตรดิตถ์ เป็นทางผ่านสําคัญมาตั้งแต่สมัยอารยธรรมดองซอน ทําให้มีการเคลื่อนย้ายผู้คนมาจากที่ต่างๆ มากขึ้น เรื่อยมาในสมัยทวารวดีและอาณาจักรขอมดังปรากฏหลักฐานเมืองโบราณที่เวียงเจ้าเงาะ จนมาในสมัยสมัยสุโขทัยได้มีเมืองเกิดขึ้นมากมาย เช่น เมืองฝาง เมืองทุ่งยั้ง เมืองตาชูชกและเมืองพิชัย ด้วยการเป็นเส้นทางการค้าทางน้ำ ทําให้ชาวเมืองอุตรดิตถ์ในสมัยโบราณมีที่มาจากหลายเผ่าพันธุ์ เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีวัฒนธรรมสืบเนื่องมาจนปัจจุบันคือไทยสยามจากอาณาจักรสุโขทัยที่อาศัยอยู่ในแถบอําเภอพิชัยและไทยวนจากอาณาจักรล้านนาที่อพยพจากเชียงแสนมาอาศัยอยู่ในแถบอําเภอลับแล ชนสองกลุ่มนี้ ตั้งถิ่นฐานขึ้นเป็น เมืองอย่างมั่นคงมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยจนสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ได้มีการกวาดต้อนผู้คนและการอพยพย้ายถิ่นฐานของกลุ่มชาติพันธุ์ล้านช้าง (ลาว) จากเมืองเวียงจันทน์และเมืองหลวงพระบาง ลงมาตั้งถิ่นฐานในเขตอําเภอต่างๆ ของจังหวัดมากขึ้น ได้แก่บริเวณอําเภอน้ำปาก อําเภอฟากท่าและอําเภอบ้านโคกในปัจจุบันและได้มีชาวจีนโพ้นทะเลอพยพย้ายถิ่นฐานมาตั้งหลักแหล่งทํามาค้าขายในแถบเมืองท่ามากเป็นลําดับ จึงทําให้เมืองอุตรดิตถ์ในปัจจุบันกลายเป็นเมืองที่มีกลุ่มชนมากถึง 3 วัฒนธรรมใหญ่อยู่ร่วมกัน
จัวหวัดอุตรดิตถ์มีพื้นที่ทั้งหมด 7,838 ตารางกิโลเมตร หรือ 4,899,120 ไร่ มีลักษณะภูมิประเทศ แบ่งได้เป็น 3 ลักษณะ คือ 1) ที่ราบลุ่มแม่นํ้าน่าน[2] บริเวณสองฝั่งของแม่น้ำน่านและลําน้ำสาขาที่ไหลมาบรรจบกับแม่น้ำน่าน สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ราบลุ่ม อยู่ในเขตอําเภอตรอน พิชัยและบางส่วนของ อําเภอเมืองอุตรดิตถ์ ลับแลและอําเภอทองแสนขัน (ประมาณ 20% ของพื้นที่ทั้งหมด) 2) ที่ราบระหว่างหุบเขาและเชิงเขาบริเวณที่อยู่ต่อเนื่องจากบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำทางด่านเหนือและด่านตะวันออกของจังหวัด ประกอบด้วยที่ราบแคบระหว่างหุบเขาตามแนวคลองตรอน แม่น้ำปาด คลองแม่พร่อง ห้วยน้ำไคร่และลําธารสายต่างๆ สลับกับภูมิประเทศเป็นเขาอยู่ในเขตอําเภอเมืองอุตรดิตถ์ ลับแล น้ำปาด ฟากท่า ท่าปลาและอําเภอบ้านโคก (ประมาณ 20% ของพื้นที่ทั้งหมด) และ 3) เขตภูเขาและที่สูง อยู่ในบริเวณทางด้านเหนือและทางตะวันออกของจังหวัด โดยเฉพาะเขตอําเภอเมืองอุตรดิตถ์ อําเภอลับแล น้ำปาด ฟากท่า ท่าปลาและอําเภอบ้านโคก (ประมาณ 60% ของพื้นที่ทั้งหมด) มีลักษณะภูมิอากาศแบบร้อนชื้นสลับร้อนแห้งแล้งหรือฝนเมืองร้อนเฉพาะฤดูเพราะได้รับอิทธิพลจากกระแสลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือและตะวันตกเฉียงใต้ มีความชื้นและความร้อนสูงในฤดูร้อนอากาศจะร้อนจัด อุณหภูมิเฉล่ยี 35 องศาเซลเซียส อากาศเย็นสบายในฤดูหนาวและมีฝนตกชุกในฤดูฝน
การใช้ประโยชน์ที่ดิน มีพื้นที่การเกษตร 1,248,198 ไร่ (25.48 % ของพื้นที่ทั้งหมด) จำแนกเป็นพื้นที่ทํานา 680,842 ไร่ (54.55% ของพื้นที่การเกษตร) พื้นที่ทําพืชไร่ 314,762 ไร่ คิดเป็น (25.22% ของพื้นที่การเกษตร) พื้นที่ทําสวนไม้ผลและไม้ยืนต้น 153,599 ไร่ (12.31% ของพื้นที่การเกษตร) พื้นที่สวนผักและไม้ดอกไม้ประดับ 12,663 ไร่ (1% ของพื้นที่การเกษตร) พื้นที่การเกษตรอื่นๆ 86,332 ไร่(6.92% ของพื้นที่การเกษตร) มีเนื้อที่ใช้ประโยชน์นอกการเกษตร 887,6731 ไร่ (18.12% ของพื้นที่ทั้งหมด) และเป็นพื้นที่ป่าไม้ จำนวน 2,763,248 ไร่ (56.40% ของพื้นที่ทั้งหมด)
ด้านการปกครอง แบ่งพื้นที่เพื่อการบริหารราชการส่วนภูมิภาคเป็น 9 อําเภอ 67 ตําบล 613
หมู่บ้าน โดยมีอําเภอดังนี้ อําเภอเมืองอุตรดิตถ์ พิชัย ตรอน ลับแล ท่าปลา น้ำปาด ฟากท่า บ้านโคกและอําเภอทองแสนขัน แบ่งเขตการบริหารราชการ 3 ระดับ คือ
- ส่วนราชการบริหารส่วนกลาง ที่มีสํานักงานตั้งอยู่ในส่วนภูมิภาค จํานวน 60 หน่วยงาน
- ส่วนราชการบริหารส่วนภูมิภาค จํานวน 33 หน่วยงาน
- ส่วนราชการบริหารส่วนท้องถิ่น 80 แห่ง
จํานวนประชากรจังหวัดอุตรดิตถ์ (ปี 2560) ข้อมูลตามทะเบียนราษฎร์ มีจํานวนทั้งสิ้น
458,197 คน เป็นชาย 224,945 คน (49.09%) เป็นหญิง 233,252 คน (50.91%)[3]
ลักษณะทางเศรษฐกิจของจังหวัด ประกอบด้วยภาคเกษตรเป็นหลัก สัดส่วน 33%[4] รองลงมาคือ ภาคอุตสาหกรรม 15% ภาคการค้า 10% ภาคการศึกษา 9% ภาคการบริหารราชการ 8% ภาคการเงิน 6% และภาคบริการอื่นๆ 19%
การเปลี่ยนแปลงสำคัญสืบเนื่องจากการสร้างเขื่อนสิริกิติ์ช่วง พ.ศ.2514 ที่ส่งผลให้มีการอพยพชุมชน มาอยู่ในบริเวณพื้นที่จัดสรรของนิคมสร้างตนเองลําน้ำน่าน[5] และได้จัดสรรแบ่งแปลงให้กับผู้อพยพ เข้ามาทํากินในพื้นที่ตําบลร่วมจิต ตําบลน้ำหมัน ตําบลจริมและตําบลท่าปลา อําเภอท่าปลา ซึ่งนิคมสร้างตนเอง ลําน้ำน่านจัดสรรแบ่งแปลงให้กแก่ผู้อพยพเพื่อเข้าอยู่อาศัย ทํากินจํานวน 160,540 ไร่ แต่มีพื้นที่บางส่วนของนิคมฯที่จัดสรรทับซ้อนอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติลําน้ำน่านฝั่งขวาจํานวน 1,013 ราย เนื้อที่ 7,215 ไร่ ต่อมา ใน พ.ศ.2546 คณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินของรัฐ (กบร.) ได้มีมติว่าพื้นที่ดังกล่าวราษฎรมิได้เข้าทําประโยชน์โดยพลการ แต่เกิดจากหน่วยงานของรัฐเป็นผู้จัดสรรให้ก่อนมีการประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติลําน้ำน่านฝั่ง ขวาและได้มีการจัดประชุมคณะกรรมการฯกันอย่างต่อเนื่อง โดยให้กรมป่าไม้และกรมประชาสงเคราะห์ (เดิม) ร่วมกันสํารวจรังวัดแล้วเสนอต่อกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมดําเนินการเพิกถอนต่อไป
จังหวัดอุตรดิตถ์ได้ดําเนินการจัดตั้งศูนย์ประสานงานและติดตามการแก้ไขปัญหาที่ดินทํากินและปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐจังหวัดอุตรดิตถ์ เพื่อเร่งรัดติดตามและประสานการช่วยเหลือกรณีดังกล่าว รวมถึงการติดตามร่างกฎกระทรวงเพิกถอนป่าสงวนแห่งชาติป่าลําน้ำน่านฝั่งขวาบางส่วน ในท้องที่ตําบลจริม ตําบลท่าปลา ตําบลร่วมจิต อําเภอท่าปลาและตําบลขุนฝาง อําเภอเมืองอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ โดยมี หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพยายามทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่และมอบแนวทางการอยู่ร่วมกันระหว่างประชาชน พื้นที่ป่าและเจ้าหน้าที่ เพื่อป้องกันการเกิดข้อพิพาทในพื้นที่และอยู่ร่วมกันตามแนวทางที่ได้ตกลงร่วมกัน อำเภอลับแล จากการสันนิษฐานในด้านประวัติศาสตร์ของกรมศิลปากร เคยเป็นที่อยู่อาศัยของชาติละว้าเพราะขุดพบกลองมโหระทึกและพร้าสัมฤทธิ์ได้ในบริเวณนี้ ต่อมาได้มีพวกไทยอพยพมาทางใต้ ก่อนสมัยกรุงสุโขทัยเข้ามาอยู่แทน และในสมัยสุโขทัยเมืองทุ่งยั้งเป็นเมืองหน้าด่านชั้นนอกของเมืองสุโขทัย โดยขึ้นอยู่กับเมืองเชลียง อีกเมืองหนึ่งคือเมืองลับแล ตั้งขึ้นในสมัยอยุธยาเดิมเป็นตำบลที่ชาวเมืองเหนือหนีความเดือดร้อนอพยพมาอยู่กัน ภายหลังได้ตั้งขึ้นเป็นเมืองเรียกว่าเมืองลับแล เหตุที่เรียกกันว่า เมืองลับแล เนื่องจากสภาพภูมิประเทศประกอบด้วยดงทึบ มีภูเขาและเนินดินสูง ๆ ต่ำ ๆ สลับซับซ้อนอยู่โดยรอบ อยู่ในหุบเขายากแก่การเข้าออก ท้องที่มีลำห้วยลำธารไหลผ่านช่วยให้เกิดความชุ่มชื้นในการประกอบอาชีพทางเรือกสวน ไร่ นา จึงปรากฏว่าอุดมสมบูรณ์ด้วยพืชพันธุ์ธัญญาหารและผลไม้นานาชนิด โดยมากผู้ที่เข้าไปอยู่ไม่ค่อยอยากจากไปด้วยความพึงพอใจของธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ด้วยเหตุนี้จึงเรียกว่า ลับแล[6]
สำหรับประวัติที่สามารถค้นคว้างจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ พอจะนุมานได้ว่าที่เมืองทุ่งยั้งแต่เดิมเคยเป็นเมืองใหญ่ที่เป็นชุมชนของพวกละว้าและขอม เพราะได้มีการขุดพบกลอง มโหระทึกและพร้าสัมฤทธิ์ได้ในลบริเวณดังกล่าว ต่อมาเมืองอาณาจักรขอมล่มสลายลงคนไทยก็ได้เข้ามาครอบครองและตั้งเมืองขึ้นชื่อว่า เมืองกัมโภช ทางด้านเหนือของเมืองกัมโภชภูมิประเทศเป็นป่าเขาสลับซับซ้อนมีบรรยากาศหนาวเย็น ยามพลบค่ำแม้ตะวันจะยังไม่ตกดินดีก็จะมืดแล้ว เพราะมีดอยม่อนฤาษีสูงใหญ่เป็นฉากกั้นแสงอาทิตย์ ป่านี้จึงได้ชื่อว่า ป่าลับแลง ต่อมาเพี้ยนเป็นคำว่าลับแล ในยุคเดียวกับการรวมตัวของเมืองกัมโภช ได้มีผู้คนจากอาณาจักรโยนกเชียงแสน อพยพหลบภัยสงคราวเข้ามาตั้งรกรากอยู่บริเวณที่ราบแห่งหนึ่งและตั้งชื่อบ้านว่า บ้านเชียงแสน ต่อมาคนกลุ่มนั้นก็แยกย้ายกันไปหักร้างถางดงสร้างบ้านเมืองขึ้น กระจัดกระจายตามที่ราบและไหล่เขาต่าง เมื่อได้ทำมาหากินกันระยะหนึ่ง คนกลุ่มนั้นได้ไปอัญเชิญเจ้าชายฟ้าฮ่ามกุมารจากอาณาจักรโยนกเชียงแสนมาตั้งเมืองที่ป่าลับแลให้ชื่อว่าเมืองลับแลและสร้างวังขึ้นที่บ้านท้องลับแลหรือที่บริเวณวัดเจดีย์คีรีวิหาร เมื่ออาณาจักรโยนกเชียงแสนล่มลง อาณาจักรล้านนาเฟื่องฟูแทน เมืองลับแลก็ยอมขึ้นกับอาณาจักรล้านนาในปี พ.ศ.1690 อาณาจักรสุโขทัยรุ่งเรืองขึ้นเพราะเป็นเมืองขึ้นของอาณาจักรสุโขทัย ในปี พ.ศ.1981 เมืองทุ่งยั้งได้เจริญรุ่งเรืองขึ้นเพราะเป็นเมืองหน้าด่านของอาณาจักรอยุธยา เมืองลับแลได้ถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของเมืองทุ่งยั้งมีที่ทำการเมืองอยู่ที่ทุ่งยั้ง ครั้นต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์หรือในราวปี พ.ศ.2444 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสลับแลได้โปรดให้ย้ายศาลากลางจากเมืองพิชัยมาตั้งที่บางโพ โปรดให้ยุบเมืองทุ่งยั้งและสถาปนาลับแลเป็นอำเภอ ส่วนอาคารที่ทำการยังตั้งอยู่ที่ทุ่งยั้ง ปี พ.ศ.2444 พระพิศาลคีรีได้ย้ายอาคารเมืองไปอยู่ที่ม่อนจำศีล พระศรีพนมมาศเป็นนายอำเภอคนแรกของอำเภอลับแลก็ได้ย้ายอาคารเมืองลับแลไปตั้งที่ม่อนชิงช้า ม่อนสยามมินทร์ (ที่ตั้งปัจจุบัน) เพราะเห็นว่าชัยภูมิของม่อนจำศีลไม่เหมาะกับการตั้งเมืองแต่เหมาะสำหรับสงวนไว้เป็นที่เก็บรวบรวมสิ่งสำคัญทางศาสนา ซึ่งเชื่อกันว่าได้เก็บเอาทองที่เหลือจากการหล่อพระพุทธชินราชที่จังหวัดพิษณุโลกโบก ไว้ที่วัดพระเหลือหรือวัดม่อนปรางค์ในปัจจุบันนี้ อาคารที่ว่าการอำเภอลับแลได้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2454 ต่อมาได้มีโรงเรียนและหน่วยงานของทางราชการเข้ามาขอตั้งอาคารสถานที่ราชการข้างที่ว่าการอำเภอมากขึ้นจนทำให้บริเวณคับแคบขยายไม่ได้ และไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย ขาดความสง่างามไปมากเป็นที่น่าเสียดายยิ่ง
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้เสด็จประพาสมณฑลฝ่ายเหนือเมื่อ พ.ศ.2444 (ร.ศ.120) เสด็จถึงเมืองอุตรดิตถ์เมื่อวันที่ 23-26 ตุลาคม พ.ศ.2444 และเสด็จถึงอำเภอลับแลด้วย ในการเสด็จประพาสครั้งนี้มีนายทองอิน (บิดาเป็นคนจีนชื่อตั๋วตี๋ แซ่ตัน) ประกอบอาชีพทางค้าขายได้ถวายการต้อนรับเป็นที่พอพระราชหฤทัยและอยู่เฝ้าถวายโดยใกล้ชิด ทรงทราบว่านายทองอินเป็นคนดี ราษฎรรักใคร่นับถือเป็นผู้ก่อสร้างสิ่งสาธารณประโยชน์ เช่น ถนน เหมือง ฝ่ายฯลฯ โดยไม่ต้องใช้งบประมาณของทางราชการช่วยเหลือ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายทองอินเป็นขุนพิศาลจินะกิจ ต่อมาได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น หลวงศรีพนมมาศและพระศรีพนมมาศตามลำดับและพระราชทานชื่อถนนสายที่นายทองอินเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงรับเสด็จว่า ถนนอินใจมี คือ ถนนสายอุตรดิตถ์–ลับแล ที่มีอยู่ในปัจจุบันเป็นถนนลาดยางใช้ได้ทุกฤดูกาล และกรมทางหลวงแผ่นดินดูแลรักษาอยู่ในขณะนี้และในรัชกาลที่ 5 นี้พระองค์ทรงปฏิรูปการปกครองเป็นมณฑล พลเมืองลับแลได้ลดฐานะเป็นอำเภอมีเขตปกครองขึ้นอยู่กับมณฑลพิษณุโลก ในครั้งกระนั้นพระศรีพนมมาศได้เป็นนายอำเภอคนแรกของอำเภอลับแล
ปัจจุบันที่ว่าการอำเภอลับแลปัจจุบันตั้งอยู่ในเขตเทศบาลตำบลศรีพนมมาศอยู่ทางทิศตะวันตกของจังหวัดอุตรดิตถ์ ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 8 กิโลเมตร พื้นที่อำเภอลับแลเป็นอำเภอชั้น 2 มีพื้นที่ทั้งหมดราว 506 ตารางกิโลเมตร
อาณาเขตติดต่อของอำเภอ ได้แก่
ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร
ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอตรอน จังหวัดอุตรดิตถ์ และอำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย
ทิศตะวันออก ติดต่อกับอำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์
ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดพิษณุโลก
แผนที่ตั้งอาณาเขตอำเภอลับแล
(http://uto.moph.go.th/lablae/map.php)
ลักษณะภูมิประเทศ อำเภอลับแลมีเนื้อที่ทั้งหมด 506.02 ตารางกิโลเมตร แยกเป็นที่ราบ 117 ตารางกิโลเมตร เป็นที่ป่าและภูเขา 306 ตารางกิโลเมตร มีลักษณะพื้นที่ราบลุ่มทางตอนใต้ ค่อนข้างสูงขึ้นทางตอนกลาง และเป็นภูเขาทางตอนเหนือและทางตะวันตก ซึ่งพอจะแบ่งลักษณะพื้นที่ให้ชัดเจนดังนี้
บริเวณตอนเหนือ ในเขตพื้นที่ตำบลฝายหลวง ตำบลแม่พูล และตำบลนานกกก พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาที่ไม่สูงมากนัก ยกเว้นทางตอนเหนือสุดของตำบลแม่พูลที่ติดต่อกับอำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่ ภูเขามีความสูงมากเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารหล่อเลี้ยงพืชผลในอำเภอลับแลตลอดปี บริเวณนี้จะมีที่ราบระหว่างภูเขาเพียงเล็กน้อย บริเวณตอนกลาง ในเขตพื้นที่ตำบลชัยจุมพล เทศบาลตำบลศรีพนมมาศและบางส่วนของตำบลฝายหลวงมีลักษณะพื้นที่เป็นลอนคลื่นสูงต่ำ บริเวณที่เนินจะเป็นที่ตั้งบ้านเรือนที่อยู่อาศัย ส่วนที่ราบเป็นที่ทำการเพาะปลูก บริเวณตอนใต้ ในพื้นที่ตำบลไผ่ล้อม ตำบลทุ่งยั้งและตำบลด่านแม่คำมันมันเป็นที่ราบและที่ราบลุ่มอันกว้างใหญ่เหมาะสำหรับการทำนาและทางตะวันตกเฉียงใต้ของอำเภอในท้องที่ตำบลไผ่ล้อม ตำบลทุ่งยั้ง และตำบลด่านแม่คำมันมีบึงใหญ่เนื้อที่ประมาณ 6,800 ไร่ เรียกว่า บึงมาย เป็นแหล่งน้ำสำคัญของบริเวณดังกล่าว เนื่องจากอำเภอลับแลมีสวนผลไม้ตามบริเวณภูเขา จึงมีต้นไม้ปกคลุมหนาแน่สภาพป่าจึงไม่ถูกทำลายเป็นการอนุรักษ์ธรรมชาติไปด้วย บริเวณที่เป็นที่อยู่อาศัยก็ได้มีการปลูกพืชสวยอย่างหนาแน่นเช่นกัน ทำให้อำเภอลับแลมีสภาพภูมิอากาศเป็นไปตามฤดูกาลดังกล่าว คือ ในฤดูฝนเริ่มตั้งแต่เดือนกรกฎาคมถึงเดือนตุลาคม ในฤดูหนาวเริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงเดือนกุมภาพันธ์ อากาศค่อนข้างหนาวทาง ตอนเหนือ ฤดูร้อนเริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงเดือนมิถุนายน เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่ปกคลุมไปด้วยต้นไม้ทำให้มีความชื้น ลำน้ำที่สำคัญ อำเภอลับแลไม่มีลำน้ำสายใหญ่ไหลผ่าน มีแต่ลำน้ำที่เกิดจากเอกเขาน้อยใหญ่ทางตอนเหนือที่สำคัญ
บริเวณประตูเมืองลับแล สัญลักษณ์โดดเด่นของเมือง (https://welovetogo.com)
การบริหารราชการส่วนภูมิภาคของอำเภอลับแลมี 7 ตำบล (55 หมู่บ้าน) ได้แก่ ตำบลแม่พูล (10 หมู่บ้าน) ตำบลนานกกก (5 หมู่บ้าน) ตำบลฝายหลวง (9 หมู่บ้าน) ตำบลชัยจุมพล (8 หมู่บ้าน) ตำบล ไผ่ล้อม 6 หมู่บ้าน ตำบลทุ่งยั้ง (10 หมู่บ้าน) และตำบลด่านแม่คำมัน (7 หมู่บ้าน)
ประกอบด้วยเทศบาล 1 แห่ง คือ เทศบาลตำบลศรีพนมมาศ สุขาภิบาล 2 แห่ง คือ สุขภิบาล หัวดงและสุขาภิบาลทุ่งยั้ง องค์การบริหารส่วนตำบล 7 แห่ง คือ องค์การบริหารส่วนตำบลไผ่ล้อม องค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งยั้ง องค์การบริหารส่วนตำบลชัยจุมพล องค์การบริหารส่วนตำบลฝายหลวง องค์การบริหารส่วนตำบลแม่พูล องค์การบริหารส่วนตำบลด่านแม่คำมันและองค์การบริหารส่วนตำบลนานนกกก
ส่วนราชการอื่นๆ ได้แก่ สำนักงานสหกรณ์การเกษตรลับแล จำกัด สำนักเกษตรอำเภอลับแล สำนักงานการประถมศึกษาอำเภอลับแล ที่ตั้งหน่วยทหาร คือ กองพันทหารปืนใหญ่ 20 ที่ทำการขนส่งจังหวัด ศูนย์วิจัยวัตถุมีพิษ สำนักงานไปรษณีย์โทรเลขอำเภอลับแลสำนักงานไปรษณีย์โทรเลขตำบลทุ่งยั้ง สถานีตำรวจภูธรตำบลด่านแม่คำมัน สำนักงานการไฟฟ้าย่อยสาขาลับแล สำนักงานสาธารณสุขอำเภอลับแลและโรงพยาบาลอุตรดิตถ์สาขาลับแล
จำนวนประชากรรวม 61,436 คน เป็น ชาย 29,078 คน หญิง 32,358 คน (นอกเขตเทศบาลรวม 57,897 คน ในเขตเทศบาลรวม 3,539 คน) คนส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ ภาษาพูดในท้องถิ่นทางตอนเหนือในท้องถิ่นที่ตำบลนานกกก ตำบลแม่พูล ตำบลฝายหลวง ตำบลศรีพนมมาศ และตำบลชัยจุมพล ภาษาพูดคล้ายภาษาเหนือ (ภาษาคำเมือง)
ด้านทรัพยากรธรรมชาติ ป่าไม้ ในเขตอำเภอลับแลมีเทือกเขาสลับซับซ้อนเป็นจำนวนมากทั้งทางตอนเหนือ และด้านตะวันตกของอำเภอ ทิศเหนือติดต่อกับจังหวัดแพร่ มีเอกเขาสลับซับซ้อนมาก เทือกเขาที่สำคัญ คือ เทือกเขาฤๅษี เป็นภูเขาที่กั้นเขตจังหวัดอุตรดิตถ์กับจังหวัดสุโขทัย มียอดเขาสูจากระดับน้ำทะเลประมาณ 680 เมตร ดังนั้นทรัพยากรของอำเภอลับแลก็คือ ป่าไม้และของป่า เช่น ตองกง สำหรับทำไม้กวาดและไม้ไผ่สำหรับทำเครื่องจักรสาน ส่วนป่าไม้คงเหลืออยู่เฉพาะที่เป็นป่าสงวน คือ ป่าห้วยช้างถึงห้วยปูเจ้า และบ้านนานกกก ซึ่งขณะนี้ถูกทำลายไปไม่น้อยโดยราษฎรไปปลูกสวนไม้ยืนต้นแทน เช่น ทุเรียน ลางสาด ลักษณะดินในท้องที่อำเภอลับแลได้ดังนี้ กลุ่มดินนา 40% กลุ่มดินไร่ 5% กลุ่มดินภูเขา 20% และพื้นที่ภูเขา 35% ทางตอนบนทางอำเภอ พบแร่หินเขียวนาคกระสวย ในเขตพื้นที่ตำบลชัยจุมพลตำบลฝายหลวง
แหล่งน้ำสำคัญ ได้แก่ คลองแม่พร่อง ซึ่งมีต้นน้ำมาจากน้ำตกแม่พูลและน้ำตกผามูบไหลจากทางเหนือสู่ทางใต้ เป็นแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรที่สำคัญของอำเภอลับแลและมีน้ำไหลตลอดปี มีฝายน้ำล้นกั้นเก็บน้ำอยู่หลายแห่ง เช่น ฝายหลวง ฝายห้วยพลู และฝายตาด, หนองพระแล เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาน้ำจืดและเพื่อการเกษตรในฤดูแล้ง, หนองนาเกลือ, บึงมาย เป็นบึงขนาดใหญ่ถือเป็นแหล่งประมงน้ำจืดขนาดใหญ่และคลองพระเสด็จ ที่ไหลผ่านหลายหมู่บ้าน
สภาพเศรษฐกิจทองท้องถิ่นและการประกอบอาชีพ บริเวณตอนเหนือเป็นภูเขาปลูกพืชสวนผลไม้ ได้แก่ ทุเรียน ลางสาด มังคุด เงาะ อันเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของอำเภอที่มีชื่อเสียงมากที่สุด ส่วนบริเวณที่ราบระหว่างภูเขได้ทำนา นอกจากนี้ยังมีผลผลิตจากป่าตองกงใช้ทำไม้กวาด เป็นอุตสาหกรรมในครอบครัว อาจกล่าวได้ว่าบริเวณนี้เป็นเขตเศรษฐกิจของอำเภอลับแล ผลผลิตจากสวนผลไม้ทำรายได้ให้กับอำเภอรวมมูลค่าประมาณนับร้อยล้านบาท บริเวณตอนกลาง เป็นที่ราบสลับกับที่สูง มีการตั้งถิ่นฐานและการประกอบอาชีพ ดังนี้ บริเวณที่สูง เป็นบริเวณที่อยู่อาศัยจะปลูกพืชสวนเป็นสินค้าได้ คือ มะพร้าว หมาก ซึ่งมีอยู่ทุกหลังคาเรือน สามารถทำรายได้รองลงมาจากผลไม้หลักจำนวนไม่น้อย บริเวณที่ราบ จะมีอยู่บริเวณไม่มากนัก แต่มีการใช้พื้นที่ที่มีอยู่อย่างคุ้มค่า คือ ฤดูฝนใช้ทำนา ส่วนฤดูหนาวใช้ปลูกผัก โดยเฉพาะปลูกหอมแดงเป็นหลักและสามารถทำเป็นสินค้าออกได้ นอกจากนี้บริเวณตอนกลางผลิตสินค้าที่เป็นอุตสาหกรรมในครอบครัวที่มีชื่อเสียงอีกด้วย สินค้าดังกล่าว คือ ผ้าซิ่นตีนจกและการทำผ้าห่มนวม บริเวณตอนใต้ พื้นที่ทั้งหมดเป็นที่ราบลุ่ม ผลผลิตจากบริเวณนี้ คือ ข้าว การผลิตได้ผลเกือบสมบูรณ์ที่สุดเพราะมีระบบการชลประทานเข้าช่วยให้สามารถทำนาได้ปีละ 2 ครั้ง
การเกษตร ในท้องที่ตำบลฝายหลวง แม่พูล นานกกก มีสภาพภูมิอากาศเหมาะแก่การทำสวนผลไม้ คือ ทุเรียน และลางสาด ซึ่งมีชื่อเสียงมาก อำเภอได้ส่งเสริมชาวสวน โดยส่งเสริมให้ปลูกทุเรียพันธุ์ดีแทนทุเรียนพันธุ์พื้นเมือง ตั้งกลุ่มสนใจการเกษตรจนทำให้ผลผลิตดีมาก ส่งขายต่างจังหวัดได้ผลดี พื้นที่ปลูกผลผลิตผลไม้ในอำเภอลับแล ทุเรียนพันธุ์ดี ทุเรียนพื้นเมือง ลางสาด กาแฟและลองกอง นอกจากนี้ยังมีการทำสวยผัก หลังจาการทำนาแล้ว ราษฎรได้ปลูกผักหมุนเวียนโดยทั่วไป โดยเฉพาะหอมแดงและหอมแบ่ง ผักกาด ทำผักกาดดองกันมากที่สุด ที่ตำบลชยจุมพล ตำบลฝายหลวงปลูกมากจนส่งขายต่างอำเภอและต่างจังหวัด ส่วนการปลูกพืชไร่นั้น มีการปลูกข้าวโพด ถั่วลิสง ถั่วเหลือง โดยทั่วไปและยังมีการปลูกผลไม้อื่นๆ เช่น มะขาม มะม่วง มะพร้าว หมาก สำหรับการเลี้ยงสัตว์ คนท้องถิ่นนิยมเลี้ยงกันทุกหมู่บ้าน ได้แก่ เป็ด ไก่ ซึ่งมีปริมาณเพียงพอสำหรับการบริโภค
การประมง อำเภอลับแลมีบึงใหญ่ คือ บึงมายอยู่ในเขตตำบลไผ่ล้อม ตำบลทุ่งยั้ง และตำบลด่านแม่คำมัน เป็นแหล่งน้ำจืดที่ใหญ่ มีเนื้อที่ประมาณ 6,800 ไร่ การพาณิชยกรรมและการอุตสาหกรรมในครัวเรือนโดยทั่วไป เช่น การทำผ้าห่มนวม ทอผ้าซิ่นตีนจก ทำไม้กวาดจากตองกง ซึ่งมีชื่อเสียงมาก สามารถทำรายได้เข้าอำเภอลับแลปีนึ่งๆ หลายล้านบาท นอกจากประกอบอุตสาหกรรมในครัวเรือนแล้ว ยังมีโรงงานพื้นไม้ปาเก้ 1 โรง ด้านการค้าขายของอำเภอลับแลนับว่าเจริญพอสมควรในชุมชนมีร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปต่างๆ เกือบทุกชนิด มีตลาดในหลายเขตเทศบาล
สถานที่สำคัญในอำเภอ อาทิ พระแท่นศิลาอาสน์ วัดพระยืนพุทธบาทยุคล พระบรมธาตุทุ่งยั้ง พระเจดีย์คีรีวิหาร วัดดอนสัก อนุสาวรีย์พระศรีพนมมาศ อนุสาวรีย์เจ้าฟ้าฮ่ามกุมาร น้ำตกแม่พูล น้ำตกผามูบ น้ำตกผามูบ เวียงเจ้าเงาะ หนองพระแล
ตำบลฝายหลวง แต่เดิมครอบคลุมนั้นที่รวมไปถึงตำบลนานกกกในปัจจุบันราษฎรตำบลมีเชื้อสายมาจากอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ได้อพยพมาตั้งหลักแหล่งอยู่บ้านคอกควายในปัจจุบัน โดยการนำของเจ้าฟ้าฮ่ามราชกุมาร โดยอาศัยเกวียนเป็นพาหนะเมื่อมาถึงที่อยู่ปัจจุบันมองเห็นสภาพอันอุดมสมบูรณ์ จึงตั้งหลักแหล่งอันอยู่ที่นี้และเอาสัตว์พาหนะมาเลี้ยงร่วมกัน จึงเรียกว่า คอกควาย ต่อมาเป็นบ้านคอกควาย ต่อมาทางราชการได้มาสร้างฝายน้ำล้นขนาดใหญ่เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ในการเกษตร ชาวบ้านจึงเรียกฝายนี้ว่า “ฝายหลวง” และเป็นที่มาของตำบลฝายหลวง[7]
สภาพภูมิประเทศของตําบลฝายหลวง มีลักษณะเป็นพื้นที่ราบสูงและภูเขาสูงโดยมีภูเขาที่สําคัญคือ ดอยจุกหลวง ดอยฤาษีม่อนหัวงัว ส่วนบริเวณตอนกลางของตําบลมีลักษณะเป็นพื้นที่ราบลุ่ม โดยมีลําน้ำที่สําคัญ คือ ห้วยปู่เจ้า ซึ่งมีต้นกําเนิดจากพื้นที่ภูเขาด้านทิศตะวันตก มีทิศทางการไหลจากทิศตะวันตกไปทิศตะวันออก นอกจากนี้ยังมีห้วยผึ้งและห้วยตูบงิ้ว ที่มีต้นกําเนิดจากดอยจุกหลวง ไหลลงสู่พื้นที่ราบบริเวณตอนกลางของตําบลและพื้นที่ราบบริเวณด้านทิศตะวันออกของตําบล การใช้ประโยชน์ที่ดินในตําบลฝายหลวง พื้นที่ประมาณร้อยละ 50 เป็นพื้นที่ป่าไม้ ได้แก่ พื้นที่ด้านทิศเหนือ ทิศตะวันออกและทิศตะวันตกของตําบล ส่วนพื้นที่บริเวณตอนกลางและตอนใต้ของตําบล ซึ่งมีลักษณะเป็นพื้นที่ราบลุ่ม ใช้ประโยชน์เป็นที่อยู่อาศัยและพื้นที่เกษตรกรรมในลักษณะของนาข้าว[8]
ตำบลฝายหลวง ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของอำเภอลับแล ห่างจากอำเภอเมืองลับแล 3 กิโลเมตร มีเนื้อที่ 83 ตารางกิโลเมตร 51,875 ไร่ อยู่ในพื้นที่การปกครองขององค์การบริหารส่วนตำบลฝายหลวง ประกอบด้วยจำนวน 13 หมู่บ้าน ประกอบด้วย หมู่ที่ 1 บ้านเชียงแสน, หมู่ที่ 2 บ้านน้ำท่วม, หมู่ที่ 3 บ้านนารี, หมู่ที่ 4 บ้านม่อนป่างิ้ว, หมู่ที่ 5 บ้านทุ่งเอี้ยง, หมู่ที่ 6 บ้านต้นม่วง, หมู่ที่ 7 บ้านท้องลับแล, หมู่ที่ 8 บ้านท่วมแล้ง, หมู่ที่ 9 บ้านวัดป่า, หมู่ที่ 10 บ้านท้องลับแลพัฒนา, หมู่ที่ 11 บ้านทุ่งพัฒนา, หมู่ที่ 12 บ้านต้นม่วงใต้, หมู่ที่ 13 บ้านปากทางเหนือ
“ที่มาของชื่อมาจากการเป็นพื้นที่ของฝายแห่งแรกตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ที่ใช้กั้นน้ำจาก คลองแม่พริก บรรพบุรุษอพยพมาจากแถบอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงรายในช่วงที่ต้อง หนีสงครามและภัยธรรมชาติ เมื่อมาถึงแถบหุบเขาลับแลจึงเริ่มตั้งถิ่นฐาน เนื่องจากเป็นพื้นที่ ที่จะเพาะปลูกได้”
…..ผู้อาวุโสในตำบลกล่าวเกี่ยวกับการก่อตั้งชุมชน
พื้นที่ตำบลฝายหลวงอุดมสมบูรณ์ไปด้วยป่าไม้โดยเฉพาะป่าไม้เศรษฐกิจเช่นต้นทุเรียนลางสาดลองกองมังคุดกาแฟสภาพพื้นที่ของตำบลเป็นภูเขาสลับกับที่ราบลุ่มมีน้ำและป่าไม้อุดมสมบูรณ์ ลักษณะดินตำบลฝายหลวงเกิดจากการทับถมของตะกอนลำน้ำทุกๆ ปี เป็นดินลึก เนื้อดินส่วนใหญ่เป็นดินร่วนปนทราย ดินร่วนถึงดินเหนียวและมีการทับถมของตะกอนลำน้ำในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน ดินมีการระบายน้ำดีถึงเลว มีความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติปานกลาง ใช้ประโยชน์ที่ดินในการทำนา ปลูกพืชไร่และพืชผัก
แหล่งน้ำสำคัญมีทั้งลำน้ำ ลำห้วย จำนวน 6 แห่ง ได้แก่ ห้วยพลู ห้วยปู่เจ้า ห้วยหวาย ห้วยตาด ห้วยตาดน้อยและห้วยไม้ซาง บึง คลองและอื่นๆ จำนวน 13 แห่ง ได้แก่ ตลองแม่พร่อง คลองหม้อ คลองงิ้ว คลองเอี่ยน คลองปู่พุฒ คลองแม่แซะ คลองบ่อต้นเส้า คลองทุ่งต้นตาล คลองฝายหัวดอย ลำเหมืองออกทุ่งป่ายาง คลองหนองผักบุ้ง คลองน้อยและลำเหมืองหนองแม่อินทร์ สระกักเก็บน้ำ จำนวน 4 แห่ง ได้แก่ สระน้ำสาธารณะร้องผักบุ้งหมู่ที่ 9 สระน้ำสาธารณะหมู่ที่ 8 สระน้ำวัดม่อนน้อย และสระน้ำชำต้นม่วง ฝาย จำนวน 10 แห่ง ได้แก่ ฝายหลวง ฝายป่าขี้ ฝายต้นไฮ ฝายหัวดอย ฝายน้อย ฝายขัวสูง ฝายนาโป่ง ฝายหัวทุ่ง ฝายนาใหม่และฝายห้วยปู่เจ้า บ่อน้ำตื้น จำนวน 373 แห่ง บ่อโยก จำนวน 11 แห่ง
การประกอบอาชีพของคนในท้องถิ่น ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมร้อยละ 80 รองลงมาคืออาชีพค้าขายร้อยละ 10 อาชีพเลี้ยงสัตว์ร้อยละ 5 อาชีพอื่นๆ ร้อยละ 5
องค์การบริหารส่วนตำบลฝายหลวง ได้รับการยกฐานะจากสภาตำบลเป็นองค์การบริหารส่วนตำบลตามประกาศของกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 19 มกราคม พ.ศ.2539 มีฐานะเป็นนิติบุคคล ปัจจุบัน มีที่ทำการตั้งอยู่ ณ บ้านท้องลับแลพัฒนา (หมู่ที่ 10) ตำบลฝายหลวง อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์
บริเวณฝายหลวง ที่มาของชื่อตำบล (โครงการระบบสื่อสาระออนไลน์เพื่อการเรียนรู้ทางไกลเฉลิมพระเกียรติฯ)
กระบวนการดำเนินงาน
กลุ่มผู้นำอธิบายลักษณะการทำงานภายใต้โครงการบ้านพอเพียงชนบทในตำบลว่าเป็นในลักษณะของงาน “ขบวนตำบล” ร่วมกับ “ขบวนจังหวัด” และผสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในฐานะเครือข่ายการทำงาน โดยมีสภาองค์กรชุมชนเป็นกลไกสำคัญในการประสานและอำนวยการให้กิจกรรมสำเร็จตามเป้าหมาย กระบวนการสำคัญที่จะส่งผลต่อความสำเร็จของโครงการเริ่มตั้งแต่ช่วงแรก โดยเฉพาะการทำความเข้าใจร่วมกันต่อลักษณะและรายละเอียดของโครงการ ที่ให้ความสำคัญต่อการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ ในตำบลเพื่อแก้ไขปัญหาของกลุ่มเป้าหมาย เช่น การช่วยกันระดมทุนและแม้แต่กลุ่มเป้าหมายโครงการที่เป็นผู้ด้อยโอกาสในชุมชนก็จะไม่เป็นเพียงผู้รอรับผลประโยชน์เท่านั้น แต่ต้องตระหนักในการเป็นสมาชิกชุมชนที่มีศักดิ์ศรี สามารถมีส่วนร่วมต่อกิจกรรมส่วนรวมได้ตามความสะดวก สามารถช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสคนอื่นได้เช่นกัน การใช้แนวคิดดังกล่าวจะช่วยลดมุมมองการทำงานเชิงการสงเคราะห์ ทุกฝ่ายต่างพยายามให้เกิดกระบวนการร่วมกันให้มากที่สุด
หากทุกฝ่ายมีความเข้าใจถึงแนวคิดการดำเนินโครงการอย่างแจ่มชัด จะช่วยลดอุปสรรคภายในกระบวนการทำงานได้อย่างมาก ส่งผลให้มีความคล่องตัวของการประสานงานจากเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนกับหน่วยงานภาครัฐและอีกกระบวนการที่ต้องให้ความสำคัญต่อมาคือ การคัดเลือกกลุ่มเป้าหมายให้เป็นธรรมตามกระบวนการประชาธิปไตย การเปิดโอกาสและการเปิดเผยข้อมูลในทุกขั้นตอนจะสร้างการยอมรับจากคนในชุมชนและสร้างความโปร่งใสในการทำงานของกลุ่มผู้นำ (ลดปัญหาการนินทาว่าร้ายภายหลัง)
หากพิจารณาในระดับตำบล พบว่าโครงการบ้านพอเพียงชนบทเป็นส่วนหนึ่งที่สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของพื้นที่ที่มุ่งหวังให้เป็น “เมืองแห่งคุณภาพชีวิต ผลผลิตปลอดภัย ท่องเที่ยวเกษตรธรรมชาติ” ซึ่งถือเป็นเป้าหมายใหญ่ในระยะยาว กลุ่มผู้นำและคณะกรรมการโครงการสรุปขั้นตอนหลักในการดำเนินโครงการ ได้แก่
1) ประชุม ทำความเข้าใจความเป็นมา แนวคิดและรายละเอียดโครงการ 2) สำรวจหาข้อมูลกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบ
3) การประชาคมหมู่บ้านเพื่อคัดเลือกครัวเรือนเป้าหมาย
4) คัดเลือกคณะกรรมการดำเนินโครงการในตำบล
5) จัดทำแผนปฏิบัติงาน ทำความเข้าใจขั้นตอนต่าง
6) ดำเนินการตามแผนงาน/เริ่มก่อสร้างปรับปรุงบ้านกลุ่มเป้าหมาย
7) ติดตามประเมินผลและสรุปผลการดำเนินงาน
กลไกความร่วมมือและการบูรณาการเครือข่ายการทำงาน
แนวคิดการมีส่วนร่วมเป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญของการดำเนินโครงการ การชักชวนหรือประสานให้แต่ละหน่วยงานที่ทั้งเกี่ยวข้องโดยตรงและเกี่ยวข้องบางส่วน จะถูกให้ความสำคัญอย่างเท่าเทียม เนื่องจากต้องการระดมทุนและทรัพยากรต่างๆ ร่วมกัน การประชาสัมพันธ์โครงการในระยะแรกทำให้แต่ละหน่วยงานได้รู้จักโครงการและกลไกการทำงานจึงเป็นสิ่งที่ต้องเน้นอย่างมาก เช่น สภาพัฒนาองค์กรชุมชน ที่ต้องพยายามสร้างความสัมพันธ์อันดีกับหน่วยงานในระดับพื้นที่ตำบลจนถึงระดับจังหวัด จะเห็นได้ว่าการที่กลุ่มคนทำงานพัฒนาและกลุ่มผู้นำชุมชนที่ร่วมขับเคลื่อนงานภายใต้กลไก สภาองค์กรชุมชนจะได้รับความร่วมมือที่ดี เนื่องจากว่ามีตำแหน่งแห่งที่ภายใต้การสนับสนุนของหน่วยงานรัฐอย่างชัดเจน ส่วนใหญ่เมื่อรู้จักแล้วจะให้การยอมรับและกลุ่มผู้นำทั้งเป็นทางการ (ผู้ใหญ่บ้าน,กำนัน) และผู้นำทั่วไปตามธรรมชาติทำงานร่วมกันในนามของ “ขบวนตำบล” และ“ตำบลจังหวัด” มีส่วนในการช่วยให้การประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ มีความราบลื่น
ภายใต้การดำเนินโครงการดังกล่าว กลไกการทำงานของชุมชนและตำบลเป็นผู้มีบทบาทหลักในการขับเคลื่อนงาน เมื่อมีการจัดการข้อมูลกลุ่มเป้าหมายและสามารถสรุปจำนวนได้เสร็จสิ้นแล้ว การนำเสนอข้อมูลต่อแต่ละหน่วยงานจึงมีความชัดเจนเพียงพอให้มีการพิจารณาการสนับสนุนเพิ่มเติม
กลุ่มผู้นำให้ความเห็นว่า การใช้ข้อมูลประเด็นปัญหาของกลุ่มผู้ด้อยโอกาสที่สะท้อนสภาพปัญหาแท้จริง ทำให้เกิดความชอบธรรมสูงในการประสานความร่วมมือไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (ถูกปฏิเสธได้ยาก) อย่างน้อยแม้จะไม่ได้รับการสนับสนุนเพิ่มเติมจากทุกหน่วยงานอย่างร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ในระยะยาวได้สร้างการรับรู้ต่อการดำเนินโครงการในลักษณะของเครือข่ายการทำงานมากขึ้นในพื้นที่ตำบล รวมถึงในระดับอำเภอและจังหวัด (จากพื้นที่โครงการอื่น) ในภายรวมถือว่าได้รับการสนับสนุนจากหลายหน่วยงานที่ไม่แบ่งแยกสายงานตามระบบราชการปกติหรือที่เรียกว่า “ทำงานข้ามหน่วย ข้ามกรมกอง” ซึ่งถือเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยากตามโครงการอื่น
ภาคีและหน่วยงานสำคัญที่ร่วมสนับสนุนโครงการ ได้แก่ กลุ่มผู้นำชุมชน คณะกรรมการชุมชน สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล กลุ่มจิตอาสา/สมาชิกชุมชน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ศูนย์พัฒนาครอบครัว เจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ทหาร พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดอุตรดิตถ์ สำนักงานแรงงานจังหวัด สำนักงานเกษตรจังหวัด กลุ่มฮักทุเรียนลับแล
การเปลี่ยนแปลงหลังการดำเนินโครงการ
กลุ่มผู้นำอธิบายถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสองส่วนหลัก คือ การเปลี่ยนแปลงต่อกลุ่มเป้าหมายโครงการและการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับขบวนการการทำงาน
กลุ่มเป้าหมายโครงการได้รับการปรับปรุงซ่อมแซมตัวบ้านให้สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้สะดวก ปลอดภัยมากขึ้น ครอบครัวมีกำลังใจในการทำมาหากินมากขึ้น หลายครอบครัวได้รับการปรับปรุงเกือบทั้งหลังหรือเรียกได้ว่าแทบจะได้บ้านหลังใหม่ ผู้สูงอายุและเด็กในบ้านใช้ชีวิตได้อย่างปกติมากขึ้นจากความเสี่ยงอันตรายที่ลดลงจากการชำรุดผุพังของบ้าน
การถูกคัดเลือกให้เป็นหนึ่งในกลุ่มเป้าหมายของโครงการบ้านพอเพียงชนบทช่วยให้ครอบครัวกลุ่มเป้าหมายเล็งเห็นความสำคัญของการเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน หลายครอบครัวไม่ได้เข้าร่วมกิจกรรมของชุมชนมานานหลายปี เนื่องจากภาระการดิ้นรนทำมาหากิน แต่การถูกคัดเลือกเข้าร่วมโครงการการทำให้รู้สึกว่าตน “ไม่ถูกลืม” “ยังมีตัวตนอยู่ในชุมชน” และมีแนวโน้มที่จะให้ความร่วมมือต่อกิจกรรมส่วนรวมของชุมชนต่อไปในอนาคต
บรรยากาศของการซ่อมแซมบ้าน ที่แต่ละภาคส่วนเข้ามาร่วมสนับสนุนตามกำลัง ตามศักยภาพนั้น ทำให้สมาชิกชุมชนที่เคยห่างเหินด้านความรู้สึกร่วมในฐานะ “คนบ้านเดียว” ได้ปรากฎให้เห็นผ่านกิจกรรมที่เกิดขึ้น แม้จะเกิดขึ้นเพียงไม่กี่วันในแต่ละหลัง แต่เชื่อว่าจะส่งผลถึงการร่วมไม้ร่วมมือกัน (ได้บ้าง)
ในด้านที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของกลไกต่างๆ และในมิติของงานขบวน พบว่าจากข้อจำกัดของงบประมาณที่มีอย่างจำกัดอย่างมาก (รู้สึกว่าน้อยมาก) กลายเป็นข้อท้าทายต่อการทำงานและเป็นสิ่งพิสูจน์ว่ากลไกการทำงานที่มีอยู่จะสามารถพยายามแสวงหาความร่วมมือและประสานหาทรัพยากร งบประมาณเพิ่มเติมได้จนบรรลุเป้าหมายตามที่วางไว้ได้หรือไม่ ซึ่งผลการดำเนินโครงการทำให้ทุกฝ่ายพึงพอใจที่สามารถทะลุข้อจำกัดทางงบประมาณได้ จะเห็นได้ว่าการระดมทรัพยากรจากหน่วยงานต่างๆ เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง
“คนมีบ้านอยู่อาศัยมั่นคง ปลอดภัยมากขึ้น การทำงานก็เกิดบรรยากาศของความร่วมไม้ร่วมมือหรือความสามัคคีในชุมชน เกิดพื้นที่การแสดงความคิดเห็นร่วมกัน ตอนช่วงก่อสร้างได้เห็นการแบ่งปัน การเสียสละ การช่วยเหลือคนในชุมชนที่เกิดขึ้นได้ในสมัยนี้ ทางผู้นำก็ได้เรียนรู้กระบวนการทำงาน ถือเป็นประสบการณ์ที่สำคัญของชุมชนท้องถิ่นที่จะสามารถนำไปปรับใช้หรือต่อยอดต่อไป เช่น แนวทางการระดมทุน เทคนิคการทำงานเครือข่าย”
…..คณะกรรมการสภาองค์กรชุมชนท่านหนึ่งอธิบายถึงการการทำงานในปีที่ผ่านมา
การปรับปรุงบ้านหรือโครงการซ่อมแซมบ้านโดยทั่วไปจะถูกมองในเชิงการสงเคราะห์เท่านั้น คนในชุมชนจะเคยชินกับการที่หน่วยงานเจ้าของโครงการจะเป็นผู้ดำเนินการด้วยตัวเองเป็นหลักหรือจะนำวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างมามอบให้ บางครั้งก็ไม่สามารถนำไปดำเนินการต่อจนแล้วเสร็จได้ แต่ภายใต้การดำเนินโครงการบ้านพอเพียงชนบท จะมีหลายหน่วยงานเข้ามาเกี่ยวข้อง เข้ามาร่วมปฏิบัติตั้งแต่ในกระบวนแรกเริ่ม ได้มีการแลกเปลี่ยนความเห็น วางแผนการทำงานร่วมกัน โดยไม่มีฝ่ายไหนมีอำนาจสั่งการเฉพาะ จึงเกิดการมีส่วนร่วมในแต่ละขั้นตอนที่หลากหลายกันไปแต่ความสะดวกของแต่ละหน่วยงาน ถือว่าเป็นลักษณะใหม่ของความร่วมมือ
การพยายามให้เกิดกระบวนการพัฒนาความร่วมมือที่หลากหลายหน่วยงาน ถือว่าเป็นการสร้างพื้นฐานการทำงานในระยะยาว แม้จะมองว่าเป็นงานสงเคราะห์อยู่บ้างแต่ในภาพใหญ่ของขบวนการทำงานต่างตระหนักถึงการสร้างการพัฒนาทั้งในเชิงของการแก้ไขปัญหาของชุมชนและในเชิงของการพัฒนาศักยภาพของขบวนการทำงาน เรียกได้ว่ามีหลายมิติการทำงานที่ซ้อนกันอยู่
ปัจจัยแห่งความสำเร็จ
ศักยภาพของกลุ่มผู้นำชุมชน กลุ่มคณะกรรมการชุมชน สภาองค์องค์กรชุมชนเป็นกลไกหรือฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนงานจนสำเร็จ เนื่องจากกลุ่มคนเหล่านี้ได้รับการสั่งสงประสบการณ์และอยู่ในขบวนการทำงานชุมชนมาต่อเนื่องยาวนาน ผ่านการทำงานกับหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ทั้งโครงการระยะสั้นและงานขบวนการเคลื่อนไหวของภาคประชาชน จึงทำให้สามารถตัดสินใจและประเมินสถานการณ์ได้ดี
ลักษณะการทำงานกับสภาองค์กรชุมชนช่วยให้เกิดการทำงานที่ยืดหยุ่นกว่าระบบโครงการภาครัฐโดยทั่วไป พอที่จะมีช่องทางให้ชุมชนท้องถิ่นได้ปรับการทำงานให้เหมาะสมกับแต่ละแห่งและในด้านขององค์ประกอบคณะกรรมการที่เข้ามามีส่วนร่วม จะถูกคัดกรองจากบุคคลที่สามารถขับเคลื่อนงานได้จริง (หลีกเลี่ยงการเสนอชื่อแต่ไม่สามารถร่วมงาน) เช่น คณะกรรมการโครงการจะมาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ทำให้รับรู้การทำงานตั้งแต่ต้น การเป็นองค์กรที่เปิดโอกาสให้คนในชุมชนที่มีศักยภาพเข้ามาร่วมงานทำให้แนวคิดการมีส่วนร่วมเกิดรูปธรรมจริง หากพิจารณาจากสัดส่วนของผู้เข้าร่วมขับเคลื่อนโครงการและบทบาทที่เรียกว่า “คนรันงาน” ที่หลากหลาย ลักษณะเด่นด้านหนึ่งของกลุ่มผู้นำคือ มีความสัมพันธือันดีที่สามารถประสานขอการสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิผล
กลุ่มผู้นำเห็นว่า แนวคิดของโครงการบ้านพอเพียงชนบทมีการออกแบบเพื่อรองรับการยืดหยุ่นของขบวนการทำงานเป็นพื้นฐานแต่แรก จึงเอื้อต่อการปฏิบัติจริง ในส่วนที่ต้องนำไปขยายเพิ่มเติมคือบทบาทสำคัญของคนในชุมชนท้องถิ่นเอง
องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานระดับอำเภอ ระดับจังหวัดมีความเข้าใจในกระบวนการทำงานพอสมควรและร่วมสนับสนุนในส่วนที่จะสามารถทำได้ แต่ความร่วมมือของคนในชุมชนถือว่าเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะชี้ขาดความสำเร็จของโครงการ ซึ่งคนในตำบลฝายหลวงยังให้ความร่วมมือดี
ปัญหาและอุปสรรคการดำเนินการ
- การทำงานในช่วงแรกต้องสร้างความเข้าใจร่วมกันถึงกระบวนการมีส่วนร่วมที่จะต้องเกิดขึ้นในระดับที่เข้มข้นกว่าการทำงานโดยทั่วไป เนื่องจากผู้นำบางคนอาจเคยชินกับการทำงานในลักษณะสั่งการ (Top-Down) และมองประเด็นการมีส่วนร่วมเพียงบางระดับเท่านั้น เช่น ระดับการรับรู้และระดับการรับผลประโยชน์ แต่ในการทำงานภายใต้โครงการบ้านพอเพียงชนบท จำเป็นต้องเน้นกระบวนการมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอน โดยเฉพาะในการร่วมตัดสินใจและการรับผิดชอบร่วมกัน
- หน่วยงานในระดับท้องถิ่นยังเน้นให้ความสำคัญกับผลลัพธ์ของโครงการ แต่ในโครงการบ้านพอเพียงชนบทได้เน้นกระบวนการทำงานและการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ ที่เป็นการพัฒนาศักยภาพของชุมชนท้องถิ่น แม้อาจไม่สามารถมองเห็นหรือจับต้องได้ชัดเจนในขณะนี้แต่เชื่อว่าจะส่งผลต่อขบวนการทำงานในระยะยาวต่อไป
- งบประมาณโครงการมีจำนวนน้อยจนเกินไป (ไม่พอ) เมื่อเทียบกับสภาพปัญหาจริง
- ในขั้นตอนการวางแผนงบประมาณก่อสร้างหรือราคาวัสดุยังไม่สามารถทำได้อย่างชัดเจนหรือครอบคลุมทั้ง 100% ส่งผลให้เกิดงบประมาณบานปลาย
แผนพัฒนาและข้อเสนอต่อทิศทางในอนาคต
- ผลักดันให้การทำงานของสภาองค์กรชุมชนเชื่อมต่อแผนการทำงานกับหน่วยงานต่างๆ มากขึ้น อย่างน้อยในฐานะของกลไกการทำงานที่มีศักยภาพของคนในชุมชน
- หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับงานแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยในประเทศควรมีแผนการสนับสนุนที่ชัดเจน ลดความซ้ำซ้อนของการทำงานและควรจัดสรรงบประมาณเพิ่มขึ้นให้สอดคล้องกับความรุนแรงของปัญหา
- มีการจัดเก็บและพัฒนาระบบฐานข้อมูลด้านปัญหาที่อยู่อาศัยให้ครบถ้วน เพื่อประสิทธิภาพในการวางแผนแก้ไขปัญหาต่อไป
[1] ข้อมูลจากเอกสารแผนพัฒนาจังหวัดอุตรดิตถ์ พ.ศ.2561-2564
[2] ลุ่มน้ำในจังหวัดอุตรดิตถ์มี 2 ลุ่มน้ำคือ ลุ่มน้ำน่านและลุ่มน้ำยม ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่ของจังหวัดจะอยู่ในเขตลุ่มน้ำน่าน มีเพียงบางส่วนของพื้นที่อําเภอลับแลและอําเภอพิชัยอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำยม
[3] ประชากรสํารวจน้อยกว่าประชากรทะเบียนราษฎร์เนื่องจากประชากรสํารวจเป็นประชากรที่มีชื่ออยู่ตามทะเบียนบ้านในเขตรับผิดชอบและอยู่จริงและเป็นประชากรที่มาอาศัยอยู่ในเขตรับผิดชอบแต่ทะเบียนบ้านอยู่นอกเขตรับผิดชอบ ส่วนประชากรทะเบียนราษฎร์เป็นประชากร
(ต่อ) ที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตรับผิดชอบทั้งตัวอยู่จริงและตัวไม่อยู่จึงทําให้ข้อมูลมีจํานวนแตกต่างกัน
[4] ด้านการเพาะปลูกเป็นโครงสร้างหลัก 79% ได้แก่ ข้าวเป็นผลผลิตหลัก 39% รองลงมา คือ ทุเรียน 10% ลองกอง 5% ข้าวโพด 4% อ้อย 4% มะขามหวาน 4% มะม่วง 3% มะม่วงหิมพานต์ 3% สับปะรด 3% หอมแดง 1% มันสําปะหลัง 1% และอื่นๆ 2% ด้านปศุสัตว์ 14% ได้แก่ สุกร 5% ไข่ไก่ 3% ไก่ 2% ไข่เป็ด 1% กระบือ 1% โค 1% อื่นๆ1% ในด้านอื่นๆ 7% ได้แก่ ด้านบริการทางการเกษตร 5% และป่าไม้ 2%
[5] ตามมติรัฐมนตรีวันที่ 12 พฤษภาคม 2507 ให้จัดตั้งนิตมสร้างตนเองลำน้ำน่าน โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อจัดสรรที่ดินให้ราษฏรที่อพยพจากเขตน้ำท่วมตามโครงการเขื่อนสิริกิติ์ ครอบคลุมพื้นที่เขตอำเภอเมืองและอำเภอท่าปลาในเคหะสถานและประกอบอาชีพเป็นหลักแหล่งในที่ดินนั้น โดยเป็นการจัดระบบผู้ครอบครองที่ดินและเอกสารสิทธิ์ให้ถูกต้องชัดเจนและดำเนินการพัฒนาคุณภาพชีวิตสมาชิกสมาคมทางรัฐบาลจึงมีนโยบายการจัดการปัญหาที่ดินทำกินเพื่อประชาชนและเกษตรกรผู้ยากไร้ได้รับการจัดสรรที่ดินที่อยู่อาศัยให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 ให้มีการค้ดเลือกผู้ที่มีคุณสมบัติตามมาตรา 22 เข้าเป็นสมาชิกนิคมและอนุญาตให้สมาชิกนิคมเข้าทำประโยชน์ในที่ดินและเอกสารสิทธิ์ให้ถูกต้องและชัดเจน ชึ่งในท้องที่อำเภอเมืองและอำเภอท่าปลาจังหวัดอุตรดิตถ์อยู่ในเขตรับผิดชอบของนิคมสร้างตนเองลำน้ำน่านจังหวัดอุตรดิตถ์มีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 166,530 ไร่
[6] เมืองลับแล มีตำนานเล่าเรื่องความเป็นมาของลับแลอยู่ 2 เรื่อง เรื่องแรกเป็นเรื่องนิยายรักของหนุ่มเมืองทุ่งยั้งกับสาวลับแล อีกเรื่องหนึ่งเป็นเรื่องทางศาสนาที่เล่ากันว่าเมื่อครั้งสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เสด็จมาโปรดเวไนยสัตว์ ได้ประทับนั่งบำเพ็ญภาวนาที่พระแท่นศิลาอาสน์ ทรงเสด็จประทับยืนและเดินจงกลมที่วัดพระยืนพุทธบาทยุคล ได้ทอดพระเนตรไปยังทิศเหนือ ขณะประทับยืนทรงเห็นหนองน้ำกว้างใหญ่ ต่อมาเรียกกันว่า หนองพระแล เหนือหนองพระแลออกไปไกลลับสายตา เป็นป่าใหญ่แต่มีลักษณะเป็นที่ตั้งของเมืองในป่านั้น ไม่สามารถแลเห็นด้วยสายตา ต่อมาเมืองนั้นจึงได้ชื่อว่า เมืองลับแล
[7] http://www.thaitambon.com/tambon/530804
[8]เข้าถึงจาก http://www.dmr.go.th