บริบทพื้นที่และการเปลี่ยนแปลง
อุตรดิตถ์[1] เป็นจังหวัดหนึ่งในภาคเหนือตอนล่าง อดีตเป็นประตูเชื่อมดินแดนล้านนาตะวันออก ตัวเมืองเดิมชื่อ บางโพท่าอิฐ ต่อมาได้รับการยกฐานะเป็นจังหวัดเมื่อ พ.ศ.2476 คำว่าอุตรดิตถ์ หมายถึงเมืองท่าแห่งทิศเหนือ เป็นเมืองตํานานลับแลและเมืองถิ่นกําเนิดของวีรบุรุษ “พระยาพิชัยดาบหัก” ทหารเอกสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช มีอาณาเขตติดต่อกับจังหวัดใกล้เคียง คือ ทิศเหนือ ติดกับจังหวัดแพร่และจังหวัดน่าน ทิศใต้ติดกับจังหวัดพิษณุโลก ทิศตะวันออก ติดกับจังหวัดพิษณุโลกและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (มีเขตชายแดนระยะยาวประมาณ 145 กิโลเมตร) และทิศตะวันตก ติดกับ จังหวัดสุโขทัย
ประชากรท้องถิ่นดั้งเดิมของจังหวัด คือชนพื้นถิ่นไทยสยามและไทยวน ผู้เป็นเจ้าของซากโครงกระดูกและเครื่องมือหินและสําริดสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่ค้นพบในจังหวัด ต่อมาพื้นที่ตั้งเมืองอุตรดิตถ์ เป็นทางผ่านสําคัญมาตั้งแต่สมัยอารยะธรรมดองซอน ทําให้มีการเคลื่อนย้ายผู้คนมาจากที่ต่างๆ มากขึ้น เรื่อยมาในสมัยทวารวดีและอาณาจักรขอมดังปรากฏหลักฐานเมืองโบราณที่เวียงเจ้าเงาะ จนมาในสมัยสมัยสุโขทัยได้มีเมืองเกิดขึ้นมากมาย เช่น เมืองฝาง เมืองทุ่งยั้ง เมืองตาชูชกและเมืองพิชัย ด้วยการเป็นเส้นทางการค้าทางน้ำ ทําให้ชาวเมืองอุตรดิตถ์ในสมัยโบราณมีที่มาจากหลายเผ่าพันธุ์ เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีวัฒนธรรมสืบเนื่องมาจนปัจจุบันคือไทยสยามจากอาณาจักรสุโขทัยที่อาศัยอยู่ในแถบอําเภอพิชัยและไทยวนจากอาณาจักรล้านนาที่อพยพจากเชียงแสนมาอาศัยอยู่ในแถบอําเภอลับแล ชนสองกลุ่มนี้ ตั้งถิ่นฐานขึ้นเป็น เมืองอย่างมั่นคงมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยจนสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ได้มีการกวาดต้อนผู้คนและการอพยพย้ายถิ่นฐานของกลุ่มชาติพันธุ์ล้านช้าง (ลาว) จากเมืองเวียงจันทน์และเมืองหลวงพระบาง ลงมาตั้งถิ่นฐานในเขตอําเภอต่างๆ ของจังหวัดมากขึ้น ได้แก่บริเวณอําเภอน้ำปาก อําเภอฟากท่าและอําเภอบ้านโคกในปัจจุบันและได้มีชาวจีนโพ้นทะเลอพยพย้ายถิ่นฐานมาตั้งหลักแหล่งทํามาค้าขายในแถบเมืองท่ามากเป็นลําดับ จึงทําให้เมืองอุตรดิตถ์ในปัจจุบันกลายเป็นเมืองที่มีกลุ่มชนมากถึง 3 วัฒนธรรมใหญ่อยู่ร่วมกัน
จังหวัดอุตรดิตถ์มีพื้นที่ทั้งหมด 7,838 ตารางกิโลเมตร หรือ 4,899,120 ไร่ มีลักษณะภูมิประเทศ แบ่งได้เป็น 3 ลักษณะ คือ 1) ที่ราบลุ่มแม่นํ้าน่าน[2] บริเวณสองฝั่งของแม่น้ำน่านและลําน้ำสาขาที่ไหลมาบรรจบกับแม่น้ำน่าน สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ราบลุ่ม อยู่ในเขตอําเภอตรอน พิชัยและบางส่วนของ อําเภอเมืองอุตรดิตถ์ ลับแลและอําเภอทองแสนขัน (ประมาณ 20% ของพื้นที่ทั้งหมด) 2) ที่ราบระหว่างหุบเขาและเชิงเขาบริเวณที่อยู่ต่อเนื่องจากบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำทางด่านเหนือและด่านตะวันออกของจังหวัด ประกอบด้วยที่ราบแคบระหว่างหุบเขาตามแนวคลองตรอน แม่น้ำปาด คลองแม่พร่อง ห้วยน้ำไคร่และลําธารสายต่างๆ สลับกับภูมิประเทศเป็นเขาอยู่ในเขตอําเภอเมืองอุตรดิตถ์ ลับแล น้ำปาด ฟากท่า ท่าปลาและอําเภอบ้านโคก (ประมาณ 20% ของพื้นที่ทั้งหมด) และ 3) เขตภูเขาและที่สูง อยู่ในบริเวณทางด้านเหนือและทางตะวันออกของจังหวัด โดยเฉพาะเขตอําเภอเมืองอุตรดิตถ์ อําเภอลับแล น้ำปาด ฟากท่า ท่าปลาและอําเภอบ้านโคก (ประมาณ 60% ของพื้นที่ทั้งหมด) มีลักษณะภูมิอากาศแบบร้อนชื้นสลับร้อนแห้งแล้งหรือฝนเมืองร้อนเฉพาะฤดูเพราะได้รับอิทธิพลจากกระแสลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือและตะวันตกเฉียงใต้ มีความชื้นและความร้อนสูงในฤดูร้อนอากาศจะร้อนจัด อุณหภูมิเฉล่ยี 35 องศาเซลเซียส อากาศเย็นสบายในฤดูหนาวและมีฝนตกชุกในฤดูฝน
การใช้ประโยชน์ที่ดิน มีพื้นที่การเกษตร 1,248,198 ไร่ (25.48 % ของพื้นที่ทั้งหมด) จำแนกเป็นพื้นที่ทํานา 680,842 ไร่ (54.55% ของพื้นที่การเกษตร) พื้นที่ทําพืชไร่ 314,762 ไร่ คิดเป็น (25.22% ของพื้นที่การเกษตร) พื้นที่ทําสวนไม้ผลและไม้ยืนต้น 153,599 ไร่ (12.31% ของพื้นที่การเกษตร) พื้นที่สวนผักและไม้ดอกไม้ประดับ 12,663 ไร่ (1% ของพื้นที่การเกษตร) พื้นที่การเกษตรอื่นๆ 86,332 ไร่(6.92% ของพื้นที่การเกษตร) มีเนื้อที่ใช้ประโยชน์นอกการเกษตร 887,6731 ไร่ (18.12% ของพื้นที่ทั้งหมด) และเป็นพื้นที่ป่าไม้ จำนวน 2,763,248 ไร่ (56.40% ของพื้นที่ทั้งหมด)
ด้านการปกครอง แบ่งพื้นที่เพื่อการบริหารราชการส่วนภูมิภาคเป็น 9 อําเภอ 67 ตําบล 613
หมู่บ้าน โดยมีอําเภอดังนี้ อําเภอเมืองอุตรดิตถ์ พิชัย ตรอน ลับแล ท่าปลา น้ำปาด ฟากท่า บ้านโคกและอําเภอทองแสนขัน แบ่งเขตการบริหารราชการ 3 ระดับ คือ
- ส่วนราชการบริหารส่วนกลาง ที่มีสํานักงานตั้งอยู่ในส่วนภูมิภาค จํานวน 60 หน่วยงาน
- ส่วนราชการบริหารส่วนภูมิภาค จํานวน 33 หน่วยงาน
- ส่วนราชการบริหารส่วนท้องถิ่น 80 แห่ง
จํานวนประชากรจังหวัดอุตรดิตถ์ (ปี 2560) ข้อมูลตามทะเบียนราษฎร์ มีจํานวนทั้งสิ้น
458,197 คน เป็นชาย 224,945 คน (49.09%) เป็นหญิง 233,252 คน (50.91%)[3]
ลักษณะทางเศรษฐกิจของจังหวัด ประกอบด้วยภาคเกษตรเป็นหลัก สัดส่วน 33%[4] รองลงมาคือ ภาคอุตสาหกรรม 15% ภาคการค้า 10% ภาคการศึกษา 9% ภาคการบริหารราชการ 8% ภาคการเงิน 6% และภาคบริการอื่นๆ 19%
การเปลี่ยนแปลงสำคัญสืบเนื่องจากการสร้างเขื่อนสิริกิติ์ช่วง พ.ศ.2514 ที่ส่งผลให้มีการอพยพชุมชน มาอยู่ในบริเวณพื้นที่จัดสรรของนิคมสร้างตนเองลําน้ำน่าน[5] และได้จัดสรรแบ่งแปลงให้กับผู้อพยพ เข้ามาทํากินในพื้นที่ตําบลร่วมจิต ตําบลน้ำหมัน ตําบลจริมและตําบลท่าปลา อําเภอท่าปลา ซึ่งนิคมสร้างตนเอง ลําน้ำน่านจัดสรรแบ่งแปลงให้กแก่ผู้อพยพเพื่อเข้าอยู่อาศัย ทํากินจํานวน 160,540 ไร่ แต่มีพื้นที่บางส่วนของนิคมฯที่จัดสรรทับซ้อนอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติลําน้ำน่านฝั่งขวาจํานวน 1,013 ราย เนื้อที่ 7,215 ไร่ ต่อมา ใน พ.ศ.2546 คณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินของรัฐ (กบร.) ได้มีมติว่าพื้นที่ดังกล่าวราษฎรมิได้เข้าทําประโยชน์โดยพลการ แต่เกิดจากหน่วยงานของรัฐเป็นผู้จัดสรรให้ก่อนมีการประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติลําน้ำน่านฝั่ง ขวาและได้มีการจัดประชุมคณะกรรมการฯกันอย่างต่อเนื่อง โดยให้กรมป่าไม้และกรมประชาสงเคราะห์ (เดิม) ร่วมกันสํารวจรังวัดแล้วเสนอต่อกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมดําเนินการเพิกถอนต่อไป
จังหวัดอุตรดิตถ์ได้ดําเนินการจัดตั้งศูนย์ประสานงานและติดตามการแก้ไขปัญหาที่ดินทํากินและปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐจังหวัดอุตรดิตถ์ เพื่อเร่งรัดติดตามและประสานการช่วยเหลือกรณีดังกล่าว รวมถึงการติดตามร่างกฎกระทรวงเพิกถอนป่าสงวนแห่งชาติป่าลําน้ำน่านฝั่งขวาบางส่วน ในท้องที่ตําบลจริม ตําบลท่าปลา ตําบลร่วมจิต อําเภอท่าปลาและตําบลขุนฝาง อําเภอเมืองอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ โดยมี หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพยายามทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่และมอบแนวทางการอยู่ร่วมกันระหว่างประชาชน พื้นที่ป่าและเจ้าหน้าที่ เพื่อป้องกันการเกิดข้อพิพาทในพื้นที่และอยู่ร่วมกันตามแนวทางที่ได้ตกลงร่วมกัน อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ เดิมคืออำเภอบางโพ[6] ประวัติความเป็นมาต้นกำเนิดของจังหวัดอุตรดิตถ์ มีแหล่งกำเนิดมาจากท่าที่สำคัญ 3 ท่า คือ ท่าเซา ท่าอิดและท่าโพธิ์ ซึ่งมีความสำคัญและเจริญรุ่งเรืองมาแต่สมัยขอมปกครองท่าอิด ตั้งแต่ พ.ศ.1400 คำว่าอุตรดิตถ์ เดิมเขียนเป็น อุตรดิษฐ์ (อุตร-เหนือ, ดิตถ์-ท่าน้ำ) เป็นคำที่ตั้งขึ้นในภายหลัง[7] ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 ท่าอิดยังคงมีฐานะย่านการค้าขึ้นต่อเมืองพิชัย สถานที่ราชการต่างๆ ตั้งอยู่ที่เมืองพิชัย แต่ย่านการค้าอยู่ที่ท่าอิด ดังนั้นคดีต่างๆ ที่เกิดขั้น รวมทั้งการเก็บภาษีอากรส่วนใหญ่จึงอยู่ที่ท่าอิด ราษฎรต้องลงไปเมืองพิชัยติดต่อกับส่วนราชการเป็นการไม่สะดวก ต่อมาในปี พ.ศ.2544 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสเมืองพิชัย ท่าอิด เมืองทุ่งยั้ง และเมืองลับแล ทรงเห็นว่าท่าอิด มีความเจริญเป็นศูนย์ทางการค้าประกอบกับมีเมืองลับแลอยู่ใกล้ๆ เป็นเมืองรองลงไป การชำระคดีและการเรียกเก็บภาษีอากรสะดวกกว่าที่เมืองพิชัย จึงให้ย้ายเมืองพิชัยมาตั้งที่บริเวณท่าอิด ส่วนเมืองพิชัยเดิมว่าเรียกว่าเมืองพิชัยเก่า ต่อมาในช่วงพ.ศ.2448-2451 ทางรถไฟได้เริ่มสร้างทางผ่านท่าโพธิ์และท่าเซา ซึ่งขณะนั้นส่วนใหญ่บริเวณนี้ยังเป็นป่าไผ่อยู่ไม่เจริญเหมือนท่าอิด กรมรถไฟสมัยนั้นจึงได้สร้างทางรถไฟแยกไปที่หาดท่าอิดล่าง ต่อมาในปี พ.ศ.2454 กรมรถไฟได้สร้างสถานีรถไฟที่บางโพธิ์และท่าเซา ทำให้ท่าโพธิ์และท่าเซาเจริญทางการค้าขึ้นอย่างรวดเร็ว ประกอบกับที่ท่าอิดน้ำท่วมบ่อย การคมนาคมทางน้ำเริ่มลดความสำคัญลง การค้าที่ท่าอิดเริ่มซบเซา พ่อค้าเริ่มอพยพมาตั่งที่ท่าโพธิ์และท่าเซาเพิ่มมากขึ้น ต่อมาใน พ.ศ.2458 สมัยรัชกาลที่ 6 จึงประกาศเปลี่ยนชื่อเมืองพิชัย เป็นเมืองอุตรดิตถ์และ พ.ศ.2495 จึงเปลี่ยนจากเมืองอุตรดิตถ์มาเป็นจังหวัดอุตรดิตถ์
ภาพถ่ายตัวเมืองอุตรดิตถ์ (https://th.wikipedia.org)
อำเภอเมืองอุตรดิตถ์มีพื้นที่ 765.476 ตร.กม. มีอาณาเขตติดต่อกับเขตการปกครองข้างเคียง ได้แก่
ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอเด่นชัย (จังหวัดแพร่) และอำเภอท่าปลา, ทิศตะวันออก ติดต่อกับอำเภอท่าปลาและอำเภอทองแสนขัน, ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอทองแสนขันและอำเภอตรอน, ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอลับแล
ด้านการปกครอง แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 17 ตำบล 158 หมู่บ้าน[8] ประกอบด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 18 แห่ง
ประชากรท้องถิ่นดั้งเดิมของอำเภอเมืองอุตรดิตถ์ คือชนพื้นถิ่นไทยสยามและไทยวน ผู้เป็นเจ้าของซากโครงกระดูกและเครื่องมือหินและสำริดสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่ค้นพบในอำเภอเมืองอุตรดิตถ์ ต่อมาพื้นที่ตั้งเมืองอุตรดิตถ์เป็นทางผ่านสำคัญมาตั้งแต่สมัยอารยธรรมดองซอน ทำให้มีการเคลื่อนย้ายผู้คนมาจากที่ต่าง ๆ มากขึ้น เรื่อยมาในสมัยทวารวดีและอาณาจักรขอมดังปรากฏหลักฐานเมืองโบราณที่เวียงเจ้าเงาะ ตำบลทุ่งยั้ง อำเภอลับแล จนมาในสมัยสมัยสุโขทัยได้มีเมืองเกิดขึ้นมากมาย เช่น เมืองฝาง เมืองทุ่งยั้ง เมืองตาชูชก และเมืองพิชัย และด้วยการเป็นเส้นทางการค้าทางน้ำ ทำให้ชาวเมืองอุตรดิตถ์ในสมัยโบราณมีที่มาจากหลายเผ่าพันธุ์ แต่กลุ่มชาติพันธุ์ที่มีวัฒนธรรมสืบเนื่องมาจนปัจจุบัน จนสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ได้มีการกวาดต้อนผู้คนและการอพยพย้ายถิ่นฐานของกลุ่มชาติพันธุ์ล้านช้าง (ลาว) จากทั้งเมืองเวียงจันทร์และเมืองหลวงพระบาง ลงมาตั้งถิ่นฐานในเขตอำเภอต่าง ๆ ของจังหวัดมากขึ้น และได้มีชาวจีนโพ้นทะเลอพยพย้ายถิ่นฐานมาตั้งหลักแหล่งทำมาค้าขายในแถบเมืองท่ามากเป็นลำดับ จึงทำให้เมืองอุตรดิตถ์ในปัจจุบันกลายเป็นเมืองที่มีกลุ่มชนมากถึง 3 วัฒนธรรมที่อยู่ร่วมกัน คนส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ (นิกายเถรวาทลังกาวงศ์) ผสมกับความเชื่อเรื่องผีของท้องถิ่นเดิม มีจำนวนวัดในพระพุทธศาสนามากกว่า 100 วัด พระสงฆ์สามเณรกว่าพันรูป นอกจากนั้นยังมีศาสนาอิสลามและศาสนาคริสต์ซึ่งเข้ามาเผยแพร่ในภายหลัง
ประกอบอาชีพการทํานา ทําสวนผลไม้และมีรายได้หลักจากการประกอบอาชีพการเกษตรและการค้าขายในแหล่งชุมชนเมือง พืชเศรษฐกิจของอำเภอเมืองฯ ที่สำคัญคือ ลางสาด มีการปลูกมากบ้านด่านนาขาม ตำบลน้ำริด ตำบลขุนฝางและทุเรียน เงาะ มังคุด ส่วนพืชไร่ที่เป็นพืชเศรษฐกิจคือ ข้าว อ้อย ข้าวโพด ถั่วต่างๆ และยาสูบ เป็นต้น
มีพื้นที่ปลูกอ้อยและมีโรงงานน้ำตาลถึง 1 แห่ง มีโรงงานผลิตภัณฑ์อาหารกระป๋อง โรงงานผลิตเส้นหมี่ โรงงานผลิตดินขาว โรงงานถลุงแร่ขนาดเล็ก เป็นต้น มีการทำอุตสาหกรรมในครัวเรือนหลายอย่างเช่น การทำไม้กวาดตองกง การทอผ้า การจักสานเครื่องใช้ไม้ไผ่ การทำเครื่องปั้นดินเผา การตีเหล็กทำเครื่องใช้เกษตรกรรมและทำมีด เป็นต้น
ตำบลบ้านด่าน แต่เดิมตำบลบ้านด่านได้ตั้งเป็นชุมชนเล็กๆ ในยุคอดีตที่มีการสู้รบกับพม่า โดยชาวบ้านได้ร่วมกลุ่มเพื่อต่อต้านข้าศึกและมีท่าน้ำ คือ แม่น้ำน่าน ที่มีด่านสำคัญทางประวัติศาสตร์ ต่อมาชาวบ้าน จึงเรียกว่าตำบลบ้านด่านปัจจุบัน สภาพทั่วไปของตำบล ตั้งอยู่ที่ราบลุ่มแม่น้ำน่าน มีพื้นที่ตำบลอยู่ทั้งสองฝั่งของแม่น้ำน่าน ซึ่งตำบลบ้านด่าน จะมีแม่น้ำไหลผ่านตรงกลางตำบลและมีบ้านเรือนติดกับแม่น้ำน่านทั้งสองฝั่งและมีพื้นที่ภูเขาลาดชันพื้นที่ดินดอนและพื้นที่ลาด
อาณาเขตตำบล
ทิศเหนือ ติดต่อกับตำบลวังดิน อำเภอเมืองอุตรดิตถ์
ทิศใต้ ติดต่อกับตำบลน้ำพี้ อำเภอทองแสนขัน
ทิศตะวันออก ติดต่อกับตำบลแสนตอ อำเภอเมืองอุตรดิตถ์
ทิศตะวันตก ติดต่อตำบลผาจุก อำเภอเมืองอุตรดิตถ์
มีจำนวนประชากรทั้งสิ้นจำนวน 5,331 คน (ชาย2,565 คนและหญิง 2,766 คน) มีจำนวนครัวเรือน 1,434 ครัวเรือน[9] ด้านการปกครอง แบ่งเป็น 12 หมู่บ้าน ได้แก่ หมู่ที่ 1 บ้านคลองสรวง, หมู่ที่ 2 บ้านคลองดินหม้อ, หมู่ที่ 3 บ้านด่าน, หมู่ที่ 4 บ้านหาดสารส้ม, หมู่ที่ 5 บ้านไร่, หมู่ที่ 6 บ้านคุ้งยาง, หมู่ที่ 7 บ้านคุ้งยาง, หมู่ที่ 8 บ้านคุ้งยาง, หมู่ที่ 9 บ้านเนินตาตุ้ม, หมู่ที่ 10 บ้านน้ำวังหลวง, หมู่ที่ 11 บ้านเด่นด่านเหนือและหมู่ที่ 12 บ้านเด่นด่าน ภายใต้อำนาจหน้าที่ขององคารบริหารส่วนตำบลบ้านเด่น[10] โดยจัดตั้งเมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ.2539
การเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ตำบล ในช่วงประมาณ พ.ศ.2500-2520 มีจำนวนหมู่บ้านยังไม่มากนัก (ไม่ถึง 10 หมู่บ้าน) คนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนา ทำไร่ รับจ้างในภาคการเกษตรทั้งในและนอกพื้นที่ตำบล การค้าขายสำคัญใช้ทางน้ำน่าน โดยมีเรือบรรทุกสินค้าเข้ามาหนาแน่นตั้งแต่ในสมัยสัมปทานค้าไม้ ส่วนทางรถนั้นยังไม่สะดวกมากนัก หากต้องการจะเดินทางเข้าไปยังตัวเมืองอุตรดิตถ์ จะมีรถโดยสารเพียงหนึ่งเที่ยวต่อวัน สาธารณูปโภค เช่น ไฟฟ้า น้ำประปา ยังไม่ทั่วถึง ส่วนใหญ่ใช้ไฟจากตะเกียงเป็นหลัก ด้านเศรษฐกิจมีการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง เริ่มมีกลุ่มนายฮ้อยเลี้ยงช้าง กลุ่มนักธุรกิจค้าไม้ซุง ค้าไม้สัก เกิดร้านค้าชุมชน เช่น ร้านเจ็กหม่อง ที่ใหญ่ที่สุดในเขตตำบลขณะนั้น
หลังจากนั้นจนถึงช่วงทศวรรษ 2530 กลุ่มตระกูลพ่อค้านักธุรกิจ เช่น ตระกูลจันทราหรือตระกูลคำเหม็ง เติบโตต่อเนื่อง การพัฒนาโดยรวมในตำบลเกิดขึ้นตามลำดับ มีโรงเรียนวัดหลายแห่งเป็นสถานศึกษาสำคัญ เกิดถนนลูกรังเชื่อมแต่ละหมู่บ้าน บางพื้นที่เริ่มมีไฟฟ้าใช้ พืชไร่ เช่น อ้อย เริ่มเป็นที่นิยมปลูกส่งขายเพื่อผลิตเป็นน้ำตาล ในช่วงนี้ถือว่าภายในตำบลเริ่มเปลี่ยนแปลงอย่างเข้มข้น โครงการต่างๆ ของรัฐบาลเข้ามาอย่างต่อเนื่อง เช่น โครงการปลูกป่า การสนับสนุนอาชีพ เงินกู้ยืมของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารออมสิน หน่วยงานสหกรณ์การเกษตร สาธารณูปโภคถูกพัฒนาให้สอดคล้องกับการเติบโตของภาคธุรกิจ กรคมนาคมขนส่งเริ่มดีขึ้นตามลำดับ กลุ่มพ่อค้าคนกลางจากภายนอกเข้ามาติดต่อซื้อขายสินค้ามากขึ้น การปกครองในท้องถิ่นมีองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านเด่นเป็นกลไกหลักและมีจำนวนหมู่บ้านเพิ่มขึ้นเป็น 12 หมู่บ้าน
ภายหลังวิกฤตเศรษฐกิจตกต่ำของประเทศ พ.ศ.2540-2545 คนในชุมชนโดยเฉพาะคนหนุ่มสาวนิยมออกไปรับจ้างต่างจังหวัด ปัญหาหนี้สินจากการกู้ยืมเงินนอกระบบเริ่มเกิดขึ้น กระแสการรวมตัวทำงานด้านพัฒนาชุมชนเริ่มเข้ามาในตำบล คนในชุมชนเริ่มเรียนรู้การประชาคมเพื่อแสดงความคิดเห็นและเริ่มมีส่วนร่วมกับการแก้ไขปัญหาต่างๆ ของตัวเองมากขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากกระแสเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญปี 2540 โครงการสำคัญที่เข้ามามีอิทธิพล คือ “โครงการซิป” หรือกองทุนเพื่อการลงทุนทางสังคม (Social Investment Fund-SIF)
“ปัญหาหนี้สินในตำบลมีจำนวนมาก จากการลงทุนด้านการเกษตรที่มีการใช้สารเคมีเยอะกว่าในอดีต ต้องใช้ต้นทุนสูงขึ้นและต้องการผลิตให้ได้ปริมาณเยอะๆ พอขาดทุนก็จะกลายเป็นหนี้ก็สูงตามไปด้วย”
…..ผู้ให้สัมภาษณ์ท่านหนึ่งเล่าถึงการทำมาหากินของคนบ้านด่าน
ภายหลัง พ.ศ.2550 วิถีชีวิตส่วนใหญ่ของคนในตำบลยังเกี่ยวข้องกับภาคการเกษตรที่ปรับเปลี่ยนสู่การค้าและการใช้เครื่องจักรทางการเกษตรอย่างเต็มตัวตามยุคสมัย การรวมกลุ่มเพื่อพัฒนาอาชีพเสริมมีมากขึ้น เช่น กลุ่มทำขนม กลุ่มเลี้ยงสัตว์ ซึ่งโดยมากเกิดจากการปัจจัยการสนับสนุนทางนโยบายรัฐ โครงการเกี่ยวกับแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง โครงการพัฒนาศักยภาพของหมู่บ้านและชุมชนหรือที่คนในชุมชนเรียกว่า “กองทุน SML” และโครงการออมทรัพย์เพื่อสวัสดิการวันละ 1 บาท เป็นโครงการสำคัญที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ การรวมตัวของคนในชุมชนท้องถิ่นจากการเรียนรู้ประสบการณ์ในช่วงที่ผ่านมาทำให้เกิดกลุ่มผู้นำหรือคนทำงานพัฒนาชุมชนที่มีศักยภาพมากขึ้น มีการพัฒนางานเครือข่ายมากขึ้นและได้ร่วมทำงานกับโครงการต่างๆ ของหน่วยงานรัฐมากขึ้น มีการทำงานสำรวจข้อมูลสภาพปัญหาจนเกิดเป็นฐานข้อมูลที่สำคัญสั่งสมมาจนถึงการดำเนินโครงการบ้านพอเพียงชนบทในยุคปัจจุบัน (เริ่ม พ.ศ.2559)
สถานการณ์สำคัญด้านที่ดินของตำบลในปัจจุบัน คือ กำลังเผชิญกับการถูกผนวกพื้นที่เป็นเขตอุทยานแห่งชาติ ซึ่งชุมชนกำลังมีการเจรจาต่อรองกับภาครัฐ โดยเฉพาะในส่วนของพื้นที่ป่าชุมชน
กระบวนการดำเนินงาน
ตำบลบ้านด่านเริ่มได้รับการสนับสนุนโครงการตั้งแต่ปี 2560 โดยในระยะแรกพยายามใช้ข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.) ซึ่งหากพิจาณาตามเกณฑ์พบว่ามีกลุ่มเป้าหมายกว่า 50 ครอบครับในตำบลที่เข้าข่ายผู้ประสบปัญหาด้านที่อยู่อาศัยและใช้ข้อมูลบัญชีครัวเรือนประกอบการพิจารณาเพื่อคัดกรองและคัดเลือกกลุ่มเป้าหมาย
ขั้นตอนสำคัญเริ่มจากการสำรวจข้อมูลกลุ่มเป้าหมายของโครงการในแต่ละหมู่บ้าน เครื่องมือสำคัญคือ การประชุมและการประชาคมหมู่บ้านและตำบลเพื่อสร้างความเข้าใจให้กับสมาชิกตำบลให้เข้าใจตรงกันเกี่ยวกับการดำเนินโครงการและพยายามสร้างการมีส่วนร่วมตั้งแต่กระบวนการเริ่มกิจกรรมภายใต้โครงการ การประชุมหรือการประชาคม (อย่างเป็นประจำ) ถือเป็นกิจกรรมสำคัญของทุกหมู่บ้านที่ทุกคนคุ้นชิน หลักเกณฑ์เบื้องต้นที่จะนำมาพิจารณาคัดเลือกกลุ่มเป้าหมาย นอกจากสภาพบ้านเรือน คือ จะต้องเป็นผู้ที่เดือดร้อน ยากจน เป็นผู้ด้อยโอกาสในชุมชน ไม่มีญาติดูแลหรือไร้ที่พึ่งและพิจารณากับการมีส่วนร่วมต่อกิจกรรมต่างๆ ของชุมชน
“กระบวนการหลักๆ จะเริ่มตั้งแต่การประชุมของกลุ่มผู้นำและจัดเวทีประชุมระดับหมู่บ้าน เพื่อให้ผู้นำได้สำรวจข้อมูลและกลับมานำเสนอให้กับขบวนจังหวัด จัดตั้งคณะกรรมการจัดซื้จัดจ้างและตรวจสอบ ต่อมาจะได้ประชุมร่วมกับภาคีหน่วยงานต่างๆ เพื่อชี้แจง ปรึกษาเกี่ยวกับแผนงาน ข้อสำคัญคือต้องให้ทุกฝ่ายต้องเข้าใจตรงกันและหาทางให้เข้ามาร่วมกันให้ได้”
…..ผู้นำชุมชนท่านหนึ่งอธิบายกระบวนการทำงานในโครงการ
เมื่อมีการตัดสินใจร่วมกันและสามารถสรุปข้อมูลของกลุ่มเป้าหมายได้ กลุ่มคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องจะได้จัดทำโครงการเสนอขอรับงบประมาณ เป็นขั้นตอนด้านงานเอกสาร งานธุรการ เมื่อเอกสารต่างๆ ผ่านการตรวจสอบในทุกขั้นตอน จะมีการประชุมคณะกรรมการพิจารณาเพื่อจัดซื้อวัสดุซ่อมแซมบ้านตามแผนงาน ภาพรวมของการประสานงานและการอำนวยงานแต่ละขั้นตอน จะเน้นกลไกประสานงานระดับจังหวัดหรือที่เรียกว่า “ขบวนจังหวัด” และเครือข่ายสภาองค์กรชุมชน ที่นอกจากบทบาทหลักในการประสานงานแล้ว ยังมีบทบาทในการช่วยในด้านการจัดซื้อจัดจ้างวัสดุอุปกรณ์ร่วมกับท้องที่ท้องถิ่นและการเป็นเพื่อนปรึกษาที่มีความใกล้ชิด
ยายมาลี สำลี หนึ่งในผู้ได้รับการปรับปรุงบ้านจากโครงการในตำบลบ้านด่าน (หมู่ 2)
กลไกความร่วมมือและการบูรณาการเครือข่ายการทำงาน
ประสบการณ์หลังจากยุคที่เริ่มมีการจัดแผนพัฒนาหมู่บ้านโดยมีกลไกท้องถิ่นเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญ ชุมชนได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากภาครัฐอย่างต่อเนื่อง การจัดเก็บข้อมูลความจำเป็นพื้นฐานของแต่หมู่บ้านหรือ “จปฐ.” การจัดทำบัญชีครัวเรือน
ในการดำเนินการซ่อมแซมบ้านจะมีกลุ่ม“ช่างชุมชน” รับบทบาทหลักในการก่อสร้าง ปรับปรุงบ้านของกลุ่มเป้าหมาย ร่วมกับ “กลุ่มลงแรง” อื่นๆ ได้แก่ คณะกรรมการหมู่บ้าน ผู้นำชุมชนและทหารจาก มทบ.35 ชาวบ้านในชุมชนและกลุ่มจิตอาสาในชุมชน กลุ่มผู้นำ สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล กลุ่มผู้นำชุมชนทั้งท้องที่ท้องถิ่น นอกจากจะช่วยเป็นเรี่ยวแรงสร้างบ้านยังคอนสนับสนุน อาหาร น้ำดื่ม
โดยมีหน่วยงานสำคัญที่ร่วมสนับสนุน ได้แก่ สำนักงานส่งเสริมและสนับสนุนวิชาการ 9 จังหวัดอุตรดิตถ์ (สสว.9) พัฒนาสังคทและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด ช่วยมีส่วนช่วยสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติมให้แก่ครอบครัวผู้ยากไร้ วัดในท้องถิ่นที่ช่วยบริจาควัสดุบางส่วน เช่น ไม้ รวมถึงนิคมสร้างตนเองลำน้ำน่านให้การสนับสนันเพิ่มเติม
เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนขณะพูดคุยกลุ่มเป้าหมายในตำบลบ้านด่านในช่วงการดำเนินโครงการ
การเปลี่ยนแปลงหลังการดำเนินโครงการ
ผลประโยชน์โดยตรงต่อกลุ่มเป้าหมาย คือ การมีที่อยู่อาศัยมั่นคงแข็งแรงขึ้น มีความปลอดภัยในการอยู่กินมากขึ้น มีคุณภาพชีวิตโดยรวมดีขึ้น
ในด้านของคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องกับโครงการ พบว่า ได้รับความรู้เพิ่มเติมด้านงานก่อสร้างมากขึ้น ก่อนการเข้าร่วมโครงการบ้านพอเพียงชนบท กลุ่มผู้นำและคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องส่วนใหญ่ ไม่มีความรู้ด้านงานก่อสร้าง ในระยะแรกพบว่าเกิดความผิดพลาดในการคำนวณจำนวนวัสดุอยู่บ้าง เช่น จำนวนไม้ ที่เมื่อได้ลงมือก่อสร้างจริงกลับต้องใช้ไม้ในปริมาณมากกว่าที่วางแผนไว้และบางครั้งเกิดความเสียหายได้ในระหว่างการก่อสร้าง ภายหลังการทำงานในโครงการบ้านพอเพียงชนบทในระยะสองปีที่ผ่านมาทำให้หลายคนมีโอกาสเรียนรู้ ศึกษาเรื่องวัสดุก่อสร้างจนสามารถเปรียบเทียบราคาและคุณภาพวัสดุได้ในเบื้องต้น รวมถึงมีการสำรองปริมาณวัสดุที่อาจเสี่ยงต่อการเสียหายขณะทำการก่อสร้าง เช่น ไม้หรือกระเบื้อง
เครือข่ายสภาองค์องค์กรชุมชนและขบวนการทำงานระดับจังหวัดเป็นกลไกการำงานอีกรูปแบบหนึ่งที่มีส่วนช่วยสนับสนุนการทำงานของหน่วยงานภาครัฐที่มีข้อจำกัดตามระบบราชการ เช่นกรณีได้รับการสนับสนุนงบประมาณก่อสร้างจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุตรดิตถ์แต่เกิดอุปสรรคความล่าช้าในการดำเนินการ ทางสภาองค์กรชุมชนจึงเข้ามามีส่วนร่วมโดยใช้ประสบการณ์จากการดำเนินงานบ้านพอเพียงชนบทและทำให้กิจกรรมแล้วเสร็จลุล่วง ปัญหาที่เคยพบเช่นมีการจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์แต่ไม่มีฝ่ายนำไปดำเนินการจึงถูกแก้ไขจากกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนมากขึ้นผ่านกลไกสภาองค์ชุมชน
ในงานดำเนินโครงการใดๆ แต่ละชุมชนจะเห็นความสำคัญของกระบวนการสำรวจและจัดทำข้อมูลสภาพปัญหาและกลุ่มเป้าหมายในการดำเนินโครงการมากขึ้น ถือว่าเป็นพื้นฐานสำคัญในการเตรียมพร้อมกับโครงการต่างๆ ที่จะเข้ามาในพื้นที่ ตัวอย่างจากโครงการบ้านพอเพียงชนบททำให้ตระหนักได้ว่างานข้อมูลมีความสำคัญอย่างมากดังที่คณะกรรมการสภาองค์กรชุมชนท่านหนึ่ได้อธิบายว่า
นอกจากนั้น กลุ่มผู้นำมองว่าการบรรลุผลในการก่อสร้างปรับปรุงบ้านให้กลุ่มเป้าหมายที่เป็นกลุ่มยากไร้ด้อยโอกาสในตำบลกลายเป็นความสำเร็จในระดับต้นเท่านั้น แต่ความสำเร็จที่มากกว่านั้นคือการเกิดความร่วมมือของชุมชนกับหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง เกิดการเรียนรู้ประสบการณ์ในการทำงานและเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการวางแนวทางการดูแลคุณภาพชีวิตของเพื่อนร่วมชุมชน กลายเป็นประเด็นสำคัญที่ท้องถิ่นต้องหันมาสนใจในระยะยาวมากขึ้น โดยเฉพาะการเชื่อมผสานแผนโครงการในด้านอื่น อาทิ การพัฒนาอาชีพ สวัสดิการชุมชน การพัฒนาศักยภาพโดยรวมขององค์กรชุมชนอย่างสภาองค์กรชุมชน
บรรยากาศการปรับปรุงบ้านกลุ่มเป้าหมายของโครงการ (หมู่ 2)
“หากมีข้อมูลของกลุ่มที่ประสบปัญหาด้านที่อยู่อาศัยอย่างชัดเจน จะสามารถวางแผนได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือคือการทำงานได้ตรงจุด ไม่ปล่อยให้เป็นความรับผิดชอบหลักของหน่วยงานรัฐ ฝ่ายเดียว ถ้าเรามีส่วนร่วมตั้งแต่ขั้นตอนการนำเสนอข้อมูลปัญหา ในขั้นตอนการรับผิดชอบ ทั้งหมดเราก็ต้องร่วมด้วยเช่นกัน”
..…ตัวแทนจากสภาองค์ชุมชนตำบลบ้านด่านอธิบายถึงความสำคัญของงานข้อมูล
ปัจจัยแห่งความสำเร็จ
กลุ่มผู้นำต่างเห็นพ้องกันว่าลักษณะการทำงานของโครงการบ้านพอเพียงชนบทหรือกระบวนการทำงานที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนส่งเสริมนั้น จะเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องซึ่งถือว่าเป็นหัวใจสำคัญในการทำงานร่วมกัน จะเห็นได้ว่าด้วยงบประมาณการดำเนินโครงการมีอยู่อย่างจำกัด โดยไม่ได้มีค่าบริหารจัดการเป็นการเฉพาะ มันจึงเป็นเรื่องท้าทายอย่างมาก ที่จะทำอย่างไรจะสามารถช่วยเหลือกลุ่มผู้เดือดร้อนเรื่องบ้านได้ ฉะนั้นการเสาะหาความร่วมมือและการระดมทรัพยากรจึงเป็นสิ่งที่ชุมชนต้องพยายามทำให้สำเร็จจงได้ ซึ่งที่ผ่านมาถือว่าสอบผ่านในระดับหนึ่ง
“ชาวบ้านในชุมชนส่วนใหญ่มีปัญหาที่อยู่อาศัยไม่แข็งแรง ไม่มั่นคง ทรุดโทรม มีฐานะยากจนและส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุและผู้พิการไม่มีอาชีพมั่นคง ดังนั้นเพื่อต้องการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยให้กลุ่มเป้าหมายเหล่านี้ได้มีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง แข็งแรง มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น”
…กลุ่มผู้นำอธิบายแนวคิดการทำงาน
สภาพบ้านที่ถูกปรับปรุงใหม่เกือบทั้งหลังของกลุ่มเป้าหมายในตำบล (หมู่ 5)
การทำความเข้าใจร่วมกันเกี่ยวกับหลักคิดการทำงาน โดยเฉพาะเกี่ยวกับกลุ่มเป้าหมาย ทำให้เกิดความร่วมมือไปตามทิศทางที่ตรงตามเป้าหมายโครงการ ประกอบกับกลุ่มผู้นำมีศักยภาพเข้มแข็ง มีประสบการณ์ สมาชิกชุมชนให้ความร่วมมือ มีงบประมาณของชุมชนเพิ่มเติม เป็นงบกองกลางเพื่อใช้ในงานสาธารณะและได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างดี
ปัญหาและอุปสรรคการดำเนินการ
- งบประมาณการดำเนินโครงการไม่เพียงพอต่อการดำเนินโครงการ (เท่าที่ควรจะเป็น) และหากการเบิกจ่ายตรงกับช่วงฤดูฝนจะส่งผลทำให้งานก่อสร้างอาจล่าช้า
- ราคาวัสดุมีการเปลี่ยนแปลง (ราคาสูงขึ้น) จากช่วงที่เริ่มมีการประมาณงบการดำเนินโครงการ จึงส่งผลให้ไม่สามารถจัดซื้อได้ตามที่ประมาณไว้
- แรงงานจิตอาสาในชุมชนบางช่วงไม่สามารถร่วมกิจกรรมได้ทุกครั้ง เนื่องจากภาระการทำมาหากินในครอบครัว ทางกลุ่มผู้นำจึงได้พยายามจัดสรรเงินกองทุนหมู่บ้านมาช่วยเหลือและขอรับบริจาค
- การสร้างความเข้าใจต่อการดำเนินโครงการต้องอาศัยระยะเวลามากพอสมควรและต้องเป็นไปอย่างเข้มข้น เนื่องจากแต่ละหน่วยงานและแต่ละชุมชนมีพื้นที่ฐานความเข้าใจเรื่องการทำงานต่างกัน
แผนพัฒนาและข้อเสนอต่อทิศทางในอนาคต
- นำเสนอแผนการทำงานให้หน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องสนับสนุนโครงการซ่อมแซม ปรับปรุงที่อยู่อาศัย
- ผลักดันแผนพัฒนาท้องถิ่น เช่น แผนพัฒนา 4 ปี ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้มีการบรรจุโครงการบ้านพอเพียงชนบทของตำบลอย่างต่อเนื่อง
- เสาะหาแหล่งทุนสนับสนุนโครงการและพยายามระดมทุนกันภายในตำบล
- สำรวจข้อมูลกลุ่มเป้าหมายด้านที่อยู่อาศัยให้ครอบคลุม ครบถ้วนในพื้นที่ตำบลเพื่อเตรียมพร้อมในการทำงานในระยะต่อไป
- ผลักดันงานด้านสวัสดิการชุมชนในระดับนโยบายประเทศ
[1] ข้อมูลจากเอกสารแผนพัฒนาจังหวัดอุตรดิตถ์ พ.ศ.2561-2564
[2] ลุ่มน้ำในจังหวัดอุตรดิตถ์มี 2 ลุ่มน้ำคือ ลุ่มน้ำน่านและลุ่มน้ำยม ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่ของจังหวัดจะอยู่ในเขตลุ่มน้ำน่าน มีเพียงบางส่วนของพื้นที่อําเภอลับแลและอําเภอพิชัยอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำยม
[3] ประชากรสํารวจน้อยกว่าประชากรทะเบียนราษฎร์เนื่องจากประชากรสํารวจเป็นประชากรที่มีชื่ออยู่ตามทะเบียนบ้านในเขตรับผิดชอบและอยู่จริงและเป็นประชากรที่มาอาศัยอยู่ในเขตรับผิดชอบแต่ทะเบียนบ้านอยู่นอกเขตรับผิดชอบ ส่วนประชากรทะเบียนราษฎร์เป็นประชากร
(ต่อ) ที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตรับผิดชอบทั้งตัวอยู่จริงและตัวไม่อยู่จึงทําให้ข้อมูลมีจํานวนแตกต่างกัน
[4] ด้านการเพาะปลูกเป็นโครงสร้างหลัก 79% ได้แก่ ข้าวเป็นผลผลิตหลัก 39% รองลงมา คือ ทุเรียน 10% ลองกอง 5% ข้าวโพด 4% อ้อย 4% มะขามหวาน 4% มะม่วง 3% มะม่วงหิมพานต์ 3% สับปะรด 3% หอมแดง 1% มันสําปะหลัง 1% และอื่นๆ 2% ด้านปศุสัตว์ 14% ได้แก่ สุกร 5% ไข่ไก่ 3% ไก่ 2% ไข่เป็ด 1% กระบือ 1% โค 1% อื่นๆ1% ในด้านอื่นๆ 7% ได้แก่ ด้านบริการทางการเกษตร 5% และป่าไม้ 2%
[5] ตามมติรัฐมนตรีวันที่ 12 พฤษภาคม 2507 ให้จัดตั้งนิตมสร้างตนเองลำน้ำน่าน โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อจัดสรรที่ดินให้ราษฏรที่อพยพจากเขตน้ำท่วมตามโครงการเขื่อนสิริกิติ์ ครอบคลุมพื้นที่เขตอำเภอเมืองและอำเภอท่าปลาในเคหะสถานและประกอบอาชีพเป็นหลักแหล่งในที่ดินนั้น โดยเป็นการจัดระบบผู้ครอบครองที่ดินและเอกสารสิทธิ์ให้ถูกต้องชัดเจนและดำเนินการพัฒนาคุณภาพชีวิตสมาชิกสมาคมทางรัฐบาลจึงมีนโยบายการจัดการปัญหาที่ดินทำกินเพื่อประชาชนและเกษตรกรผู้ยากไร้ได้รับการจัดสรรที่ดินที่อยู่อาศัยให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 ให้มีการค้ดเลือกผู้ที่มีคุณสมบัติตามมาตรา 22 เข้าเป็นสมาชิกนิคมและอนุญาตให้สมาชิกนิคมเข้าทำประโยชน์ในที่ดินและเอกสารสิทธิ์ให้ถูกต้องและชัดเจน ชึ่งในท้องที่อำเภอเมืองและอำเภอท่าปลาจังหวัดอุตรดิตถ์อยู่ในเขตรับผิดชอบของนิคมสร้างตนเองลำน้ำน่านจังหวัดอุตรดิตถ์มีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 166,530 ไร่
[6]นอกจากนี้ยังมีข้อสันนิษฐานอื่นๆเกี่ยวกับคำว่า อุตรดิตถ์ดังนี้ ท่าเหนือ (อุตร = เหนือ, ดิตถ์ = ท่า) มาจากเมื่อสมัยก่อนพ่อค้าจะนำสินค้าจากหลวงพระบาง น่าน หรือเมืองเหนืออื่นๆ ไปค้าขายทางใต้เช่น พิษณุโลก นครสวรรค์ อยุธยา กรุงเทพฯ ต้องแวะพักกันตามท่าน้ำจอดเรือที่อุตรดิตถ์ ทำให้มีการแลกเปลี่ยนสินค้า และแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกัน , อุตรดิตถ์ มาจากคำภาษาบาลี ๒ คำรวมกัน คือคำว่า อุตฺตร (อ่านว่า อุด-ตะ -ระ) กับ ติตฺถ (อ่านว่า ติด-ถะ). คำว่าอุตฺตร ภาษาไทยใช้ว่า อุดร แปลว่า ทิศเหนือ. ส่วน ติตฺถ ภาษาไทยใช้ว่า ดิตถ์ แปลว่า ท่าน้ำ ดังนั้น อุตรดิตถ์ จึงแปลตามตัวว่า ท่าน้ำทางทิศเหนือ
[7] http://www.amphoe.com/menu.php?am=791&pv=73&mid=1
[8] ดูเพิ่มเติมที่ https://www.mutt.go.th
[9] ดูเพิ่มเติมในเอกสารแผนยุทธศาสตร์การพัฒนา พ.ศ.2551-2555 ตำบลบ้านด่าน
[10] ที่ตั้งเลขที่ 200 หมูที่ 3 ตำบล บ้านด่าน อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์