บริบทพื้นที่และสถานการณ์ปัญหา
จังหวัดน่าน ตั้งอยู่ติดกับชายแดนทางด้านทิศตะวันออกของภาคเหนือตอนบน ติดกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ( สปป.ลาว ) มีระดับความสูงของพื้นที่อยู่สูง 2,112 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง มีพื้นที่ 11,472.076 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 7,170,045 ไร่ ลักษณะภูมิประเทศมีทิวเขาหลวงพระบางและทิวเขาผีปันน้ำ ซึ่งเป็นทิวเขาหินแกรนิตความสูง 600-1,200 เมตร เหนือระดับน้ำทะเลทอดผ่านพื้นที่จังหวัด (ประมาณร้อยละ 40 ของจังหวัด) ลักษณะพื้นที่โดยทั่วไปมีสภาพคล้ายลูกคลื่นที่มีความลาดชันเกิน 30 องศา สัดส่วนประมาณร้อยละ 85 ของพื้นที่จังหวัด มีที่ราบระหว่างหุบเขาตามแนวยาวของลุ่มน้ำ น่าน, สา, ว้า, ปัวและกอน ลักษณะภูมิอากาศของจังหวัดน่าน มีความแตกต่างกันของฤดูกาล โดยอากาศ จะร้อนอบอ้าวในฤดูร้อนและหนาวเย็นในฤดูหนาว จังหวัดน่านมีพื้นที่รวมทั้งสิ้น 7,170,045 ไร่ หรือ 11,472.07 ตารางกิโลเมตร จำแนกเป็นพื้นที่ป่าไม้และภูเขาร้อยละ 47.94 พื้นที่ป่าเสื่อมโทรมร้อยละ 39.24 พื้นที่ทำการเกษตรร้อยละ 12.22 พื้นที่อยู่อาศัยและอื่นๆ ร้อยละ 0.60
ด้วยการเป็นจังหวัดที่มีทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะพื้นที่ป่าจำนวนมาก จึงมีหน่วยงานด้านการจัดการทรัพยากรจำนวนมาก มีจำนวนอุทยานแห่งชาติ 7 แห่ง, วนอุทยาน 1 แห่ง, เขตห้ามล่าสัตว์ป่า 1 แห่ง และสวนรุกขชาติ 2 แห่ง ได้แก่ อุทยานแห่งชาติดอยภูคา อุทยานแห่งชาติศรีน่าน อุทยานแห่งชาติแม่จริม อุทยานแห่งชาติถ้ำสะเกิน อุทยานแห่งชาตินันทบุรี อุทยานแห่งชาติขุนสถาน อุทยานแห่งชาติขุนน่าน วนอุทยานถ้ำผาตูบ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าภูฟ้า สวนรุกขชาติแช่แห้ง สวนรุกขชาติห้วยน้ำอุ่น
ด้านลักษณะทางเศรษฐกิจ พิจารณาจากสัดส่วนผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด ณ ราคาประจําปีประกอบด้วยภาคการเกษตร มีสัดส่วนร้อยละ 31.24 และนอกภาคเกษตรมีสัดส่วนร้อยละ 68.76 มีพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ (ข้อมูลปี 2558 จากสำนักงานเกษตรจังหวัดน่าน) ได้แก่ 1) ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งมีเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จำนวน 36,504 ครัวเรือน พื้นที่ปลูก จำนวน795,482.25 ไร่ ผลผลิตรวม 95,629,490 กิโลกรัม โดยมีผลผลิตต่อไร่ 514.35 กิโลกรัมต่อไร่ 2) ข้าวนาปี มีเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปี 2557-2558 จังหวัดน่าน พบว่ามีเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปีจ้านวน 35,149 ครัวเรือน พื้นที่ปลูก 206,879.25 ไร่ ผลผลิตรวม 106,187,005.5 กิโลกรัม โดยมีผลผลิตต่อไร่ 508.77 กิโลกรัมต่อไร่ 3) ยางพารา พบว่ามีเกษตรกรผู้ปลูกยางพารา จำนวน 17,018 ครัวเรือน พื้นที่ปลูก 178,248.73 ไร่ ผลผลิตรวม 16,257,050.25 กิโลกรัม โดยมีผลผลิตต่อไร่ 385.98 กิโลกรัมต่อไร่
อำเภอสองแคว เป็นอำเภอชายแดน ตั้งอยู่ถนนทางหลวงหมายเลข 1148 เส้นทางสายท่าวังผา-เชียงคำเดิมอำเภอสองแคว ท้องที่อำเภอสองแควเดิมนั้นเป็นส่วนหนึ่งของอำเภอเชียงกลาง ต่อมาเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2535 จึงมีการแยกพื้นที่ 3 ตำบล คือ ตำบลนาไร่หลวง ตำบลชนแดนและตำบลยอด ออกจากอำเภอเชียงกลางและรวมจัดตั้งเป็นกิ่งอำเภอสองแคว ต่อมาเมื่อถึงวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ.2540 จึงได้มีพระราชกฤษฎีกายกฐานะขึ้นให้เป็นอำเภอสองแควมาจนถึงปัจจุบัน มีพื้นที่จำนวน 350,633.67 ไร่ เป็นพื้นที่เขตป่าสงวนแห่งชาติ จำนวน 274,422.88 ไร่ โดยใช้ประโยชน์เป็นพื้นที่ไร่ จำนวน 68,859.99 ไร่
ข้อมูลจำแนกลักษณะพื้นที่อำเภอสองแคว (เครือข่ายเรียนรู้รักษ์ป่าน่าน)
ในส่วนของ ตำบลนาไร่หลวง เป็นหนึ่งในอำเภอสองแคว มีลักษณะพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูง มีอาณาเขตติดต่อด้านทิศเหนือ ติดต่อตำบลชนแดน อำเภอสองแคว, ทิศตะวันออก ติดต่อตำบลพระพุทธบาท อำเภอเชียงกลาง, ทิศใต้ ติดต่อตำบลผาตอ อำเภอท่าวังผา, ทิศตะวันตก ติดต่อตำบลยอด อำเภอสองแคว มีสภาพภูมิอากาศมีทั้งฤดูร้อน ฤดูฝนและฤดูหนาว ประชากรส่วนใหญ่ประกอบด้วยชนเผ่าไทลื้อ เผ่าม้งและเมียน นับถือศาสนาพุทธและนับถือผี ประกอบอาชีพหลักด้านการเกษตร ทำสวน ทำไร่ มีอาชีพเสริม อาทิ การทอผ้า ปักผ้าด้วยมือ หาของป่า รับจ้างทั่วไปและเลี้ยงสัตว์
ด้านลักษณะการปกครองมี 1 องค์การบริหารส่วนตำบล คือ องค์การบริหารส่วนตำบลนาไร่หลวง[1]ดูแลพื้นที่ครอบคลุมตำบลนาไร่หลวงทั้งหมด ประกอบด้วย 10 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านถ้ำเวียงแก บ้านปางไฮ บ้านวังไผ่ บ้านปางปุก บ้านหางทุ่ง บ้านใหม่ บ้านสองแคว บ้านขุนน้ำพริก บ้านน้ำพัน บ้านผาหมี ประชากรส่วนใหญ่ประกอบด้วยกลุ่มชาติพันธุ์ไทลื้อ เผ่าม้งและเมี่ยน โดยส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธและนับถือผี
“สมัยก่อนนายทุนตัดไม้ทำไมไม่ห้าม ตัดแล้วหมดสัมปทานก็ออกไป ทิ้งแต่ตอไว้ พอชาวบ้านฟื้นป่าจนเต็มพื้นที่ สุดท้ายก็ถูกประกาศเขตป่าทับที่อยู่ที่ทำกินจนหมด คิดจะลงทุนทำกินระยะยาวก็ทำไม่ได้”
…ชาวบ้านคนหนึ่งกล่าวถึงประวัติศาสตร์ในพื้นที่
ปัญหาสำคัญของตำบลนาไร่หลวงเกี่ยวข้องกับประเด็นที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ เนื่องจากส่งผลโดยตรงถึงวิถีการทำมาหากินเลี้ยงปากท้องของคนและเกี่ยวข้องกับการทำงานแทบทุกประเด็น แม้กระทั่งโครงการที่เกี่ยวกับบ้านและที่อยู่อาศัยอย่างโครงการบ้านพอเพียงชนบท ซึ่งปัจจุบันที่ดินทำกินยังถือเป็นประเด็นพิพาทกับแนวเขตป่าไม้ตามกฎหมาย
กรณีของบ้านที่ได้รับการปรับปรุงภายใต้โครงการบ้านพอเพียงชนบท จำนวน 3 หลัง ตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าน้ำยาวและป่าน้ำสวดและอีกจำนวน 2 หลัง อยู่ในพื้นที่กันออกจากเขตป่าสงวนแห่งชาติ โดยป่าสงวนแห่งชาติป่าน้ำยาวและป่าน้ำสวด[2] มีพื้นที่ครอบคลุมตำบลปอน ตำบลงอน ตำบลทุ่งช้าง ตำบลชนแดน ตำบลยอด ตำบลนาไร่หลวง ตำบลพระพุทธบาท ในเขตอำเภอทุ่งช้าง อำเภอท่าวังผา อำเภอบัว อำเภอเมืองและกิ่งอำเภอบ้านหลวง จังหวัดน่าน ครอบคลุมพื้นที่ 1,477,500 ไร่ (2,364 ตารางกิโลเมตร)
ปัญหาที่ดินและด้านทรัพยากรธรรมชาติของคนตำบลนาไร่หลวงนั้น สัมพันธ์กับบริบทและสถานการณ์ด้านทรัพยากรธรรมชาติของจังหวัด โดยเฉพาะข้อพิพาทเรื่องที่ทำกินกับพื้นที่เขตป่าตามกฎหมาย หากพิจารณาพื้นที่ของจังหวัดน่าน ย้อนไปในปี พ.ศ.2519 จังหวัดน่านมีพื้นที่ป่าทั้งในและนอกเขตป่าสงวนแห่งชาติทั้งหมด 5,280,625 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 73.65 ของพื้นที่ทั้งจังหวัดพอถึง ปี พ.ศ.2525 จังหวัดน่านมีพื้นที่ป่า 3,509,375 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 48.95 ของพื้นที่ ทั้งจังหวัด ใน พ.ศ.2532 พื้นที่ป่าลดลงเหลือ 3,193,125 ไร่ หรือร้อยละ 44.53 จนเมื่อพ.ศ.2541 พื้นที่ป่าลดลงเหลือประมาณ 2,995,000 ไร่ หรือร้อยละ 41.77 ของพื้นที่ทั้งหมดและตั้งแต่ พ.ศ.2548 เป็นต้นมา ได้มีการนําเทคโนโลยีระบบสารสนเทศ (GIS) มาใช้ในการสํารวจพื้นที่ป่าไม้ในจังหวัดน่าน โดยภาพรวมของลุ่มน้ำน่านมีพื้นที่ป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์มาก ส่วนใหญ่อยู่ในลุ่มน้ำสาขาที่มีโครงการฟื้นฟูสภาพป่าของกรมป่าไม้ อย่างไรก็ตาม ป่าสงวนแห่งชาติเหล่านี้มิได้เป็นสภาพป่าทั้งหมด ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เกษตรและพื้นที่อยู่อาศัยไปแล้ว แต่ก็ยังมิได้ทำการเพิกถอน ดังนั้นพื้นที่เหล่านี้จึงยังคงสภาพเป็นป่าไม้อยู่ตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 แม้บางบริเวณไม่ได้มีสภาพป่าไม้แต่อย่างใด ณ ปัจจุบัน ในภาพรวมของปัญหาด้านบ้านและที่อยู่อาศัยในตำบลนาไร่หลวง ถือว่ายังมีกลุ่มผู้ยากไร้ที่ประสบปัญหาดังกล่าวกระจายอยู่ในหลายหมู่บ้านในตำบล เมื่อมีการสำรวจข้อมูลในแต่ละหมู่บ้านและถูกนำเสนอให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในหลายกรณีพบว่าสภาพปัญหาอยู่ในระดับที่หนักมาก เป็นสภาพที่บุคคลภายนอกได้พบเห็นแล้วต้องกล่าวว่า “สภาพอย่างนี้ยังมีอยู่หรอ ?” (ยังไม่ต้องพูดถึงเรื่องรายได้หรือการใช้ชีวิตด้านอื่นๆ ในการสำรวจข้อมูลช่วงเตรียมข้อมูลโครงการบ้านพอเพียงชนบทในครั้งนี้ พบกลุ่มเป้าหมายที่ประสบปัญหาด้านบ้านและที่อยู่อาศัยจำนวนกว่า 30 รายในตำบล
ลักษณะทั่วไปของตำบลนาไร่หลวง: พื้นที่ทางการเกษตร อาทิ ข้าวไร่ ยางพารา ข้าวโพด
นายบุญช่วย วังไผ่สมาน หนึ่งในผู้รับประโยชน์จากโครงการบ้านพอเพียงชนบทของตำบลนาไร่หลวง
กระบวนการดำเนินงาน
เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนได้รับการสนับสนุนจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์กรมหาชน) ตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาที่อยู่อาศัยเพื่อแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย ภายใต้โครงการบ้านพอเพียงชนบทปี 2561 โดยทางสภาองค์กรชุมชนตำบลนาไร่หลวงได้รับงบประมาณสนับสนุนจำนวน 95,000 บาท ดำเนินการให้กับกลุ่มเป้าหมายในโครงการจำนวน 5 ราย (งบประมาณครัวเรือนละ 19,000 บาท) ซึ่งกระบวนการสร้างความเข้าใจให้กับสมาชิกชุมชนต่อการดำเนินโครงการถือว่าเป็นสิ่งสำคัญที่กลุ่มผู้นำต้องอธิบายให้กับทุกฝ่ายให้เข้าใจ โดยเฉพาะสมาชิกในชุมชน เนื่องจากเป็นเรื่องผลประโยชน์โดยตรงที่มองเห็นอย่างเป็นรูปธรรม
การสำรวจและประชาคมคัดเลือกกลุ่มเป้าหมาย อำเภอสองแควได้แต่งตั้งคณะทำงานดำเนินโครงการบ้านพอเพียงในชนบท เพื่อให้การขับเคลื่อนโครงการบ้านพอเพียงชนบท ตามนโยบายการพัฒนาที่อยู่อาศัยแก่ผู้มีรายได้น้อย ของรัฐบาล บรรลุวัตถุประสงค์ และเพื่อให้เกิดการบูรณาการร่วมกันในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนกลุ่มเป้าหมายอำเภอสองแคว ตามคำสั่งอำเภอสองแควที่ 149/2561เรื่อง “แต่งตั้งคณะทำงานดำเนินโครงการบ้านพอเพียงในชนบท” ได้แก่
- นายอำเภอสองแคว ประธานคณะทำงาน
- ปลัดอำเภอหัวหน้ากลุ่มงานบริหารงานปกครองอำเภอ รองประธานคณะทำงาน
- ผู้กำกับสถานีตำรวจภูธรสองแคว คณะทำงาน
- ผู้บังคับกองร้อยทหารพรานที่ 3202 คณะทำงาน
- ผู้บังคับกองร้อยทหารพรานที่ 3201 คณะทำงาน
- หัวหน้าชุดพัฒนาสัมพันธ์มวลชนที่ 3217 คณะทำงาน
- ผู้บังคับกองร้อยตำรวจตระเวนชายแดนที่ 325 คณะทำงาน
- พัฒนาการอำเภอสองแคว คณะทำงาน
- ผอ.กศน.อำเภอสองแคว คณะทำงาน
- หัวหน้าหน่วยป้องกันรักษาป่า ที่ นน 27 อำเภอสองแคว คณะทำงาน
- ผู้จัดการธนาคารออมสิน สาขาสองแคว คณะทำงาน
12.ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สาขาสองแคว คณะทำงาน
- ปลัดอำเภอประจำตำบล คณะทำงาน
- ผู้อำนวยการกองช่าง องค์การบริหารส่วนตำบลนาไร่หลวง คณะทำงาน
- กำนันตำบลนาไร่หลวง คณะทำงาน
- ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 1, 4, 7, 8, 10 คณะทำงาน
- ส.อบต.นาไร่หลวง หมู่ที่ 2, 4, 5, 8, 9, 10 คณะทำงาน
- สมาชิกกองอาสารักษาดินแดนอำเภอที่รับมอบหมาย คณะทำงาน
- นายกองค์การบริหารส่วนตำบลนาไร่หลวง คณะทำงาน/เลขานุการฯ
- ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลนาไร่หลวง คณะทำงาน/ผู้ช่วยเลขานุการฯ
ตำบลนาไร่หลวงเสนอให้นายณรงค์ฤทธิ์ สิริวงศ์วรพัฒน์ นายประภัสร์ โนราชและนายนิรันดร์ ปุกคาม เป็นผู้แทนตำบลในการลงนามความร่วมมือและ/หรืองานเบิกจ่ายโครงการบ้านพอเพียงชนบท ร่วมกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.)
การแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจรับการจัดซื้อจัดจ้างวัสดุในการก่อสร้างโครงการบ้านพอเพียงชนบทมีประธานคณะทำงาน สำหรับการจัดซื้อวัสดุก่อสร้างจะดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจรับเป็นรายหมู่บ้าน โดยที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์กำหนดให้ผู้ให้บ้าน เป็นประธานกรรมการและ ส.อบต. เป็นกรรมการในการตรวจรับวัสดุก่อสร้างบ้านพอเพียงชนบท จำนวน 5 หลังคาเรือน โดยในการคัดเลือกมาแล้วจากผู้ใหญ่บ้านแต่ละหมู่บ้านและการดำเนินงานในครั้งนี้จะมีภาคีเครือข่ายแต่ละองค์กรให้ความร่วมมือกันเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการ
“เฮาดูแล้วว่า สภาพความเป๋นจริงถือว่าลำบากขนาดและคนอื่นในชุมชนก็จะบะสามารถ ทักท้วงอะหยังได้ เพราะต่างคนต่างหันสภาพความเป๋นจริง”
…ผู้นำชุมชนท่านหนึ่งอธิบายถึงการประเมินกลุ่มเป้าหมายโครงการ
ด้านหลักเกณฑ์ในการพิจารณากลุ่มเป้าหมายจะใช้ข้อมูลข้อเท็จจริงของสภาพชีวิตความเป็นอยู่จริงเป็นหลักสำคัญ ส่วนด้านข้อมูลความจำเป็นพื้นฐานหรือ จปฐ. กลุ่มผู้นำเห็นว่าไม่สามารถสะท้อนสภาพความเป็นจริงของสภาพปัญหาได้ทั้งหมด เนื่องจากคนในชุมชนส่วนใหญ่มักจะผ่านหลักเกณฑ์ของ จปฐ. ซึ่งจะไม่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มผู้ที่ยากไร้หรือด้อยโอกาสของชุมชน โดยแต่ละชุมชนและคณะกรรมการโครงการจะร่วมประเมินกันประเมินตามสภาพความเป็นอยู่จริง
เมื่อโครงการสามารถสนับสนุนได้เพียง 1 หลังใน 1 ชุมชน จึงทำให้ต้องมีการคัดเลือก โดยใช้ประชาคมหมู่บ้านพิจารณาคุณสมบัติคนที่ลำบากที่สุด “เป็นคนดีของสังคม” “ให้ความร่วมมือกับกิจกรมชุมชน” “อายุ” “โรคประจำตัว” “ความสามารถในการทำมาหากิน” หากในกรณีของคนยากจนแต่ดูแล้วเป็นคนขี้เกียจจะถูกพิจารณาอีกแบบ โดยเปรียบเทียบกับคนจนแต่ให้ความร่วมมือกับชุมชน ร่วมกับกิจกรรมชุมชน
การตัดสินใจผ่านการประชาคมทั้งในระดับตำบล เป็นเครื่องมือที่สำคัญอย่างมากในการพิจารณาคัดเลือกกลุ่มเป้าหมายที่อยู่ในเกณฑ์ของการดำเนินโครงการและเป็นกลไกในการร่วมตัดสินใจคัดเลือกกลุ่มเป้าหมายจนได้ตามจำนวนตามกรอบการดำเนินโครงการ ในการตัดสินใจเลือกผู้ที่ควรจะเป็นกลุ่มผู้ได้รับประโยชน์จากโครงการของปีนี้ (คนที่เดือดร้อนที่สุด คนที่ควรได้รับการช่วยเหลือมากที่สุด) ซึ่งบางกรณีไม่ได้ชี้ขาดกันที่ประเด็นความเดือดร้อนของสภาพที่อยู่อาศัยแต่เพียงอย่างเดียว ยังมีตัวชี้วัดที่ถูกนำมาพิจารณาร่วมด้วย อาทิ สภาพเศรษฐกิจโดยรวมของครอบครัว ภาระการดูแลสมาชิกในครอบครัว ภาวะสุขภาพของสมาชิกครอบครัวและหลายกรณีที่กลุ่มเป้าหมายมีระดับความเดือดร้อนใกล้เคียงกัน สิ่งสำคัญที่จะถูกนำมาประกอบการพิจารณา คือ การมีส่วนร่วมของชุมชน (การให้ความร่วมไม้ร่วมมือกับกิจกรรมของชุมชน)
กลุ่มผู้นำอธิบายต่อการใช้ประเด็นการมีส่วนร่วมกับชุมชนในกิจกรรมต่างๆ จะยกเว้นบางกรณีที่เป็นกลุ่มคนเป็นคนเฒ่าคนแก่ที่มีปัญหาสุขภาพหรือลูกกลานที่เป็นผู้ดูแลต้องอยู่ติดบ้าน ลักษณะนี้เป็นข้อยกเว้นเนื่องจากเป็นเหตุจำเป็น
ผู้ที่ได้รับการคัดเลือกช่วยเหลือในโครงการในปี 2561 มีจำนวน 5 ครัวเรือน ได้แก่
- นายเตน ใจปิง (เลขที่ 179 หมู่ที่ 1 บ้านถ้ำเวียงแก)
- นายแปลง ธงหิมะ (เลขที่ 43 หมู่ที่ 4 บ้านใหม่)
- นายจันทร์ ทองสุข (เลขที่ 16 หมู่ที่ 7 บ้านปางไฮ)
- นายบุญช่วย วังไผ่สมาน (เลขที่ 27 หมู่ที่ 8 บ้านวังไผ่)
- นายยา แซ่ย่าง (เลขที่ 20 หมู่ที่ 10 บ้านผาหมี)
หลังจากนั้น เมื่อวัสดุมาถูกขนส่งมาครบถ้วนแล้ว ทางหมู่นำจะประกาศประชาสัมพันธ์เพื่อระดมความร่วมมือ กลุ่มผู้ชายจะรับหน้าที่หลักในการเป็นแรงงานหลักในการก่อสร้างบ้าน กลุ่มแม่บ้านจะรับหน้าที่ด้านการเตรียมเรื่องอาหาร น้ำดื่ม ฯลฯ
ตัวอย่างใบการประเมินราคาวัสดุ
กลไกความร่วมมือและการบูรณาการเครือข่ายการทำงาน
ก่อนการดำเนินงานภายใต้โครงการบ้านพอเพียงชนบท องค์การบริหารส่วนตำบลนาไร่หลวง มีการตั้งงบประมาณดำเนินโครงการปรับปรุง ซ่อมแซมบ้านผู้ยากไร้ ปีละ 1 หลัง ซึ่งได้ดำเนินงานการมากว่า 10 ปี (งบประมาณปีละประมาณ 12,000 บาท)
ในปีงบประมาณ 2561 ตำบลนาไร่หลวงได้ปรับปรุงซ่อมแซมบ้านผู้ด้อยโอกาสทั้งหมด 7 หลัง โดยใช้งบประมาณจากโครงการบ้านพอเพียงชนบทร่วมกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) จำนวน 5 หลัง
สภาองค์กรชุมชนเป็นกลไกหลักในการประสานงานระหว่างโครงการกับกลุ่มผู้นำชุมชนและหน่วยงานในระดับท้องถิ่น ที่ได้ริเริ่มการทำงานตั้งแต่ปี 2549 ซึ่งถือว่าเป็นระยะเริ่มเรียนรู้ (ตั้งไข่) ต่อมาในช่วงปี 2553 เริ่มมีการขับเคลื่อนการทำงานอย่างจริงจังและชัดเจนมากขึ้นตามลำดับ
สภาองค์กรชุมชนเป็นพื้นที่การทำงานที่เชื่อมระหว่างหน่วยงานระดับท้องถิ่นกับหน่วยงานระดับอำเภอ ทั้งในประเด็นเฉพาะและประเด็นภาพรวมของชุมชนท้องถิ่น อีกด้านหนึ่งนับว่าเป็นตัวเชื่อมระหว่างนโยบายระดับกระทรวงมาสู่ท้องถิ่นโดยตรง
ด้านบทบาทหลักด้านการจัดการงานก่อสร้างปรับปรุงบ้านของกลุ่มเป้าหมาย คือ คณะกรรมการหมู่บ้าน ร่วมกับผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลและกลุ่มชาวบ้าน ส่วนด้านแรงงานในการก่อสร้างกลุ่มที่มีบทบาทสำคัญ ได้แก่ ทหารพราน หน่วยงานระดับอำเภอ ฝ่ายช่างขององค์การบริหารส่วนตำบล กลุ่มจิตอาสา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเพื่อนบ้านหรือกลุ่มช่างอาชีพของชุมชนหรือสล่าชุมชน
ในกรณีของตำบลนาไร่หลวง ได้มีการปรับปรุงก่อสร้างบ้านผู้ยากไร้เพิ่มเติม นอกเหนือจากงบประมาณที่ได้รับ โดยได้มีการพยายามระดมงบประมาณทั้งภายในครอบครัวและทั้งจากหน่วยงานที่เข้ามาร่วมสนับสนุน โดยเฉพาะแรงงานจากกองร้อยทหารพรานที่ 3201
ตัวอย่างในปี 2556-2557 องค์การบริหารส่วนตำบลนาไร่หลวงเป็นหน่วยงานที่เริ่มพยายามระดมทุนขอรับการสนับสนุนจากภาคเอกชนในพื้นที่เพื่อนำมาช่วยสมทบในแผนปรับปรุงซ่อมแซมที่อยู่อาศัยของผู้ยากไร้ (ในพื้นที่ตำบลหรือแม้กระทั่งอำเภอไม่มีภาคธุรกิจเอกชนขนาดใหญ่หรือจำนวนมากเหมือนกับพื้นที่เขตเมืองใหญ่)
ความเปลี่ยนแปลงหลังการดำเนินโครงการ
การเสริมสร้างวิถี “ฮอมแฮง” หรือการร่วมมือร่วมแรงในกิจกรรมส่วนรวมของชุมชน ถูกหล่อหลอมจากกิจกรรมบ้านพอเพียงชนบท ที่มีงบประมาณการดำเนินงานที่มีอย่างจำกัด กรณีของตำบลนาไร่หลวงมีทั้งการร่วมระดมเงินเพื่อปรับปรุงบ้านของกลุ่มเป้าหมายในโครงการ รวมถึงการแบ่งปันงบประมาณบางส่วนร่วมกันเพื่อช่วยสมทบให้กับผู้ที่ไม่ได้รับงบประมาณาจากโครงการบ้านพอเพียงชนบทของบางตำบล โดยตำบลที่ได้รับงบประมาณจะระดมทุนบางส่วนร่วมกันเพื่อสมทบเป็นงบประมาณในการซ่อมแซมบ้านให้ผู้เดือดร้อนของหมู่บ้านอื่นฟรือตำบลอื่น เนื่องจากการคัดเลือกให้ได้ตามจำนวนตามกรอบของโครงการ มักจะมีผู้ที่ถูกเลือกและไม่ถูกเลือก ไม่สามารถให้ทุกตำบลได้
“จาวหมู่เปิ้นได้หมด แต่เฮาบะได้ เพื่อนจึงต้องพยายามช่วยกันสมทบทุน”
…เสียงสะท้อนหนึ่งของกลุ่มผู้นำในตำบล
การช่วยสมทบทุนยังเหมือนเป็นการรักษาน้ำใจระหว่างเพื่อนแต่ละตำบล พยายามไม่ให้เกิดความรู้สึกแข่งขันแย่งชิงงบประมาณระหว่างตำบลหรือระหว่างแต่ละหมู่บ้าน แม้จะไม่ได้เป็นจำนวนเงินที่ มากนัก เช่น ในชุมชนได้ร่วมกันบริจาคเงินสมทบให้กับโครงการเป็นจำนวนกว่า 6,000 บาท หรือการตกลงร่วมกันของทุกชุมชนในการร่วมสมทบให้กับแต่ละกรณีชุมชนละ 200-300 บาท
ทำงานบนฐานความคิดการพัฒนา กลุ่มผู้นำอธิบายถึงแนวคิดการร่วมกันทำงานในโครงการบ้านพอเพียง ที่มุ่งไปในทิศทางในเชิงงานพัฒนามากกว่าในเชิงสงเคราะห์ (ตามความเห็นของกลุ่มผู้นำ) โดยเฉพาะกลุ่มคณะกรรมการมองว่าการปรับปรุงซ่อมแซมบ้านเป็นส่วนหนึ่งของงานพัฒนาคุณภาพชีวิตของคน โดยเฉพาะสำหรับกลุ่มผู้ยากไร้ด้อยโอกาสในชุมชน การที่บ้านหรือที่อยู่อาศัยถูกปรับปรุงให้ดีขึ้นโดยความร่วมมือของชุมชน นอกจากจะช่วยสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นแล้ว ยังเป็นการเสริมพลังใจให้กับคนและยังเสริมความสัมพันธ์ของคนในชุมชน อย่างน้อยคนในชุมชนได้มีส่วนร่วมในการช่วยเหลือซึ่งกันและกันผ่านกิจกรรมของโครงการแม้จะไม่ใช่โครงการที่มีงบประมาณสนับสนุนมากมาย แต่อีกด้านหนึ่งถือว่าเป็นความท้าทายของชุมชนที่จะดำเนินการให้ได้ตามวัตถุประสงค์ ซึ่งถือว่าที่ผ่านมาประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี
ข้อสังเกตอันน่าสนใจต่อคนในชุมชนหลังจากการดำเนินโครงการ พบว่า เมื่อคนในชุมชนเห็นรูปธรรมของการดำเนินโครงการที่ผ่านมา โดยเฉพาะเห็นบ้านของกลุ่มเป้าหมายถูกปรับปรุงให้ดีขึ้นจริง บางหลังแทบจะเรียกได้ว่าเหมือนได้บ้านหลังใหม่ จึงอาจทำให้ชาวบ้านบางคนมีความหวังในการจะเป็นผู้รับประโยชน์จากโครงการในระยะต่อไป บ้างก็อาจจะมีการตั้งใจรอการช่วยเหลือแต่เพียงด้านเดียว
จะเห็นได้ว่าวิธีคิดในการการทำงาน มีความยืดหยุ่นมากขึ้น โดยยึดมั่นในประโยชน์ของผู้ยากไร้ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของโครงการเป็นหลัก ดังในกรณีการพิจารณาคุณสมบัติของกลุ่มเป้าหมายที่ไม่ได้ยึดตามหลักเกณฑ์หนึ่งใดตามปกติของภาครัฐ เช่น เกณฑ์ จปฐ. ซึ่งทำให้การทำงานเป็นไปอย่างสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงแม้ว่ากลุ่มคนเหล่านั้นจะไม่อยู่ในเกณฑ์ จปฐ. ก็ตาม
นากจากนั้นยังเป็นกิจกรรมที่เสริมสร้างความรู้สึกช่วยเหลือซึ่งกันและกันระหว่างคนในชุมชน ระหว่างหน่วยงานรัฐดับชุมชน ระหว่างหน่วยงานรัฐกับหน่วยงานรัฐทั้งในพื้นที่ตำบล อำเภอและหน่วยงานภาคเอกชน
“ถึงแม้จะแก่ แต่ก็ยังมีคนมาช่วยซ่อมบ้านให้ ถ้าจะเป๋นเพราะตะก่อนเฮาก็เคยไปช่วยคนอื่นมาตลอด”
…ผู้สูงอายุในโครงการท่านหนึ่งกล่าวความรู้สึก
ตัวอย่าง: ผนังห้องครัวของบ้านนายบุญช่วย ที่ทุกด้านได้รับการเปลี่ยนใหม่ด้วยแผ่นผนังยิปซัม (Gypsum)
ตัวอย่าง: บริเวณภายในตัวบ้านของนายบุญช่วยที่ได้รับการปรับปรุงด้วยการเทพื้นปูนซีเมนต์ (แต่เดิมเป็นพื้นดิน)
ปัจจัยแห่งความสำเร็จ
จุดแข็งของตำบลในการดำเนินโครงการปีที่ผ่านมา คือ กลไกสภาองค์กรชุมชนทำให้เป็นตัวเชื่อมประสานโครงการกับกลุ่มผู้นำ บุคลากรขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้อย่างใกล้ชิดและค่อนข้างเข้าถึงพื้นที่ชุมชน การพยายามอธิบายและสร้างความเข้าใจในด้านหลักการของโครงการที่มุ่งช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสในชุมชนโดยเน้นกระบวนการพัฒนาที่จะส่งผลถึงการพัฒนาศักยภาพของชุมชนท้องถิ่นในระยะยาวต่อไป ทำให้เกิดความร่วมมือระหว่างกัน จะเห็นได้ว่าเมื่อกลุ่มผู้นำและหน่วยงานระดับท้องถิ่นมีพื้นฐานความเข้าใจที่ดีจะส่งผลต่อการประสานงานกับหน่วยงานระดับอำเภอให้ไปอย่างราบรื่น สามารถสร้างความร่วมมือกับอำเภอจนเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม ในรอบปีงบประมาณที่ผ่านมาถือว่านายอำเภอเป็นผู้นำที่มีส่วนสนับสนุนโครงการเป็นอย่างมาก ความสัมพันธ์ที่ดีกับหน่วยงานอำเภอที่เกิดจากการร่วมโครงการที่นอกเหนือจากแผนงานปกติของหน่วยงานนับเป็นจุดแข็งสำคัญในช่วงที่ผ่านมา โดยมีหน่วยงานสำคัญที่ช่วยสนับสนุน ได้แก่ อำเภอสองแคว ที่ช่วยสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ในการก่อสร้างเพิ่มเติมและกาชาด
การคัดเลือกกลุ่มเป้าหมายและกรอบการอนุมัติของโครงการต่อสมาชิกชุมชน เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมาก เพราะเรื่องผลประโยชน์จะเสี่ยงต่อความขัดแย้งของคนในชุมชน รวมถึงความน่าเชื่อถือของกลุ่มผู้นำ ประกอบกับการประชาคมหมู่บ้านที่เป็นเครื่องมือสำคัญในการแก้ปัญหาระหว่างเรื่องกลุ่มคน “ยากจน” กับ “อยากจน” การใช้การยึดถือมัติในที่ประชุมจึงเป็นเรื่องสำคัญเป็นไปตามหลักประชาธิปไตย
กลุ่มผู้นำเห็นว่า ความร่วมไม้ร่วมมือในลักษณะจิตอาสาของคนในชุมชนยังเกิดขึ้นและสามารถเห็นรูปธรรมจากการดำเนินโครงการบ้านพอเพียงชนบท โดยมีปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลต่อการระดมแรงงานคนในชุมชนในช่วงของการก่อสร้างบ้านนั้น หากไม่ตรงกับช่วงของกิจกรรมทางการเกษตรตามฤดูกาลของคนใน ชุมชมจะส่งผลเอื้อต่อการเข้าร่วมกิจกรรมสร้างบ้านเป็นอย่างดี แต่หากตรงกับช่วงของการเพาะปลูกหรือการเก็บเกี่ยวผลผลิตก็จะไม่สามารถระดมความร่วมมือได้เต็มที่
ด้านบทบาทของกลุ่มผู้นำ มักต้องเสียสละ (เป็นเรื่องธรรมดา) ในกรณกิจกรรมการปรับปรุงซ่อมบ้านของกลุ่มเป้าหมายที่แต่ละกรณีจะใช้ระยะเวลามากน้อยไม่เท่ากัน ซึ่งมีค่าใช้จ่ายที่นอกเหนือจากงบประมาณของโครงการ โดยเฉพาะในกิจกรรมที่ต้องระดมจิตอาสาในชุมชน จึงทำให้ส่วนใหญ่ต้องออกค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม อาทิ อาหาร น้ำดื่ม วัสดุเพิ่มเติมบางส่วน ผู้นำส่วนใหญ่มีความเข้าใจดีว่าตนต้องเสียสละมากกว่าสมาชิกชุมชนหรือลูกบ้าน เพราะนอกจากจะทำให้งานบรรลุผลตามเป้าประสงค์แล้ว ยังเป็นการแสดงถึงลักษณะผู้นำที่ต้องพึ่งพาและเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน
“เราให้ความร่วมมือซึ่งกันและกันมาตลอด โดยเฉพาะคนตำบลนี้บริจาคเลือดอย่างเป็นประจำเพาะเชื่อเรื่องบุญ”…ผู้นำท่านหนึ่งกล่าว
เช่นในกรณีของสภากาชาด เกิดจากความร่วมมือและสนับสนุนซึ่งกันละกัน ปัจจัยที่ช่วยส่งเสริมที่ทำให้ตำบลได้รับการสนับสนุนจากกาชาดเป็นอย่างดีนั้น ส่วนหนึ่งมาจากที่สมาชิกในตำบลมีสถิติการเข้าร่วมกิจกรรมของกาชาดเป็นประจำ โดยเฉพาะการบริจาคโลหิตอย่างสม่ำเสมอ หากดูจากสถิติการบริจาคโลหิตของคนในตำบลก็จะเห็นได้อย่างขัดเจน
ปัญหาและอุปสรรคการดำเนินการ
ขั้นตอนการเตรียมเอกสารเสนอโครงการ กลุ่มคณะกรรมการเห็นว่าในการเตรียมเอกสารเสนอโครงการนั้นเป็นเรื่องที่ละเอียดและต้องใช้เวลาอย่างมาก ปัญหาที่พบคือ เมื่อต้องส่งเอกสารเพิ่มเติมในภายหลัง กลุ่มคณะกรรมการโครงการมักจะติดภาระกิจในงานอื่นๆ ทำให้เกิดอุปสรรคต่อการทำเอกสาร จึงมีข้อเสนอแนะว่า ควรมีการทำความเข้าใจในรายการเอกสารที่ต้องจัดเตรียมส่งให้ชัดเจนก่อนในระยะหนึ่ง เช่น หากมี list เอกสารชัดเจนและเราเข้าใจชัดก่อนหน้าต้องส่งเอกสาร ก็จะทำให้ขั้นตอนเอกสารเร็วขึ้น เหมือนกับว่าเมื่อจัดส่งครบถูกต้องตาม list แล้วก็จะได้รู้ว่าแล้วเสร็จ หากว่าไม่มีรายการเอกสารที่เพิ่มเติมภายหลังนอกเหนือจาก list จะช่วยทำให้ไม่เกิดอุปสรรคดังกล่าว
ด้านการประเมินราคาวัสดุก่อสร้างเป็นเป็นประเด็นที่ต้องบริหารจัดการพอสมควร โดยเฉพาะทางฝ่ายช่างขององค์การบริหารส่วนตำบล เนื่องจากราคาวัสดุก่อสร้างในพื้นที่ตำบลหรืออำเภอจะมีราคาสูงกว่าปกติหากเปรียบเทียบกับร้านค้าทั่วไปในเขตเมือง เนื่องจากมีต้นทุนในการขนส่งสินค้าสูงกว่าโดยทั่วไป
“เหมือนกับว่าหากงบประมาณเท่ากัน คนนาไร่หลวงจะได้ของน้อยกว่าที่อื่น
สมมุติว่าที่อื่นทำได้เกือบทั้งหลัง ที่นี่อาจทำได้ครึ่งหลัง”
…ผู้แทนจากฝ่ายช่างของ อบต.
ทางคณะกรรมโครงการฯ ของตำบล ใช้วิธีการต่อรองราคากับร้านค้าวัสดุก่อสร้าง ให้ได้ราคาถูกที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ โดยอธิบายถึงการดำเนินโครงการที่นำไปช่วยเหลือผู้ยากไร้ด้านที่อยู่อาศัยในพื้นที่ตำบล แต่คนบางครั้งที่ไปพูดคุยก็รู้สึกเกรงใจบ้างเพราะต่างก็รู้ว่าต้นทุนของร้านค้าก็สูงกว่าปกติจากการขนส่ง “ค่าขนส่งมาบนดอย โดนบวกแหมหลายเปอร์เซ็นต์”
แผนพัฒนาและข้อเสนอต่อทิศทางในอนาคต
- ควรมีการขยายแนวคิดการทำงานในลักษณะที่ใช้ในโครงการบ้านพอเพียงชนบทไปสู่โครงการแก้ไขปัญหาอื่นๆ พัฒนาการทำงานไปสู่โครงการแก้ไขปัญหาด้านที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยให้ครอบคลุมสภาพปัญหาของชุมชนมากขึ้น
- ความเห็นต่อวิธีการเฉลี่ยกลุ่มเป้าหมายในจำนวนเท่าๆ กันในแต่ละตำบลยังถือว่ายังมีประเด็นที่ต้องพิจารณา ด้านหนึ่งพบว่าที่ผ่านมาในบางชุมชนไม่ได้มีความกระตืนรือร้นในการให้ความร่วมมือกับโครงการ หลายครั้งจะเป็นในลักษณะ “ไขว่ขว้าไม่เท่ากันแต่ได้เท่ากัน” ซึ่งอาจจะสร้างความรู้สึกด้านลบกับชุมชนอื่น เนื่องจากว่าต้องมีการขับเคลื่อนร่วมกันในระดับตำบล
การสัมภาษณ์กลุ่มผู้นำตำบล ณ สำนักงานองค์การบริหารส่วนตำบลนาไร่หลวง
[1] องค์การบริหารส่วนตำบลนาไร่หลวง อำเภอสองแคว จังหวัดน่าน ได้ยกฐานะจากสภาตำบลนาไร่หลวง เมื่อวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ.2540 ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เนื่องจากสภาตำบลนาไร่หลวง มีรายได้ไม่รวมเงินอุดหนุน ในปีงบประมาณที่ล่วงมาติดต่อกัน 3 ปี เฉลี่ยไม่ต่ำกว่า ปีละ 150,000 บาท (หนึ่งแสนห้าหมื่นบาท) หรือตามเกณฑ์รายได้เฉลี่ยที่มีการเปลี่ยนแปลงซึ่งต้องทำเป็นประกาศกระทรวงมหาดไทยและประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา โดยมีพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2537 และฉบับปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหาร จนถึงปัจจุบัน ฉบับที่ 5 พ.ศ.2546 เป็นระเบียบและแนวทางปฏิบัติสำหรับองค์การบริหารส่วนตำบล
[2] ประกาศในราชกิจจานุเบกษา (เล่ม 105 ตอนที่ 37 วันที่ 9 มีนาคม 2531) กฎกระทรวง ฉบับที่ 1,220 (พ.ศ.2531) ออกตามความในพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2531