บริบทพื้นที่และการเปลี่ยนแปลง
อุตรดิตถ์[1] เป็นจังหวัดหนึ่งในภาคเหนือตอนล่าง อดีตเป็นประตูเชื่อมดินแดนล้านนาตะวันออก ตัวเมืองเดิมชื่อ บางโพท่าอิฐ ต่อมาได้รับการยกฐานะเป็นจังหวัดเมื่อ พ.ศ.2476 คำว่าอุตรดิตถ์ หมายถึงเมืองท่าแห่งทิศเหนือ เป็นเมืองตํานานลับแลและเมืองถิ่นกําเนิดของวีรบุรุษ “พระยาพิชัยดาบหัก” ทหารเอกสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช มีอาณาเขตติดต่อกับจังหวัดใกล้เคียง คือ ทิศเหนือ ติดกับจังหวัดแพร่และจังหวัดน่าน ทิศใต้ติดกับจังหวัดพิษณุโลก ทิศตะวันออก ติดกับจังหวัดพิษณุโลกและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (มีเขตชายแดนระยะยาวประมาณ 145 กิโลเมตร) และทิศตะวันตก ติดกับ จังหวัดสุโขทัย
ประชากรท้องถิ่นดั้งเดิมของจังหวัด คือชนพื้นถิ่นไทยสยามและไทยวน ผู้เป็นเจ้าของซากโครงกระดูกและเครื่องมือหินและสําริดสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่ค้นพบในจังหวัด ต่อมาพื้นที่ตั้งเมืองอุตรดิตถ์ เป็นทางผ่านสําคัญมาตั้งแต่สมัยอารยะธรรมดองซอน ทําให้มีการเคลื่อนย้ายผู้คนมาจากที่ต่างๆ มากขึ้น เรื่อยมาในสมัยทวารวดีและอาณาจักรขอมดังปรากฏหลักฐานเมืองโบราณที่เวียงเจ้าเงาะ จนมาในสมัยสมัยสุโขทัยได้มีเมืองเกิดขึ้นมากมาย เช่น เมืองฝาง เมืองทุ่งยั้ง เมืองตาชูชกและเมืองพิชัย ด้วยการเป็นเส้นทางการค้าทางน้ำ ทําให้ชาวเมืองอุตรดิตถ์ในสมัยโบราณมีที่มาจากหลายเผ่าพันธุ์ เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีวัฒนธรรมสืบเนื่องมาจนปัจจุบันคือไทยสยามจากอาณาจักรสุโขทัยที่อาศัยอยู่ในแถบอําเภอพิชัยและไทยวนจากอาณาจักรล้านนาที่อพยพจากเชียงแสนมาอาศัยอยู่ในแถบอําเภอลับแล ชนสองกลุ่มนี้ ตั้งถิ่นฐานขึ้นเป็นเมืองอย่างมั่นคงมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยจนสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ได้มีการกวาดต้อนผู้คนและการอพยพย้ายถิ่นฐานของกลุ่มชาติพันธุ์ล้านช้าง (ลาว) จากเมืองเวียงจันทน์และเมืองหลวงพระบาง ลงมาตั้งถิ่นฐานในเขตอําเภอต่างๆ ของจังหวัดมากขึ้น ได้แก่บริเวณอําเภอน้ำปาก อําเภอฟากท่าและอําเภอบ้านโคกในปัจจุบันและได้มีชาวจีนโพ้นทะเลอพยพย้ายถิ่นฐานมาตั้งหลักแหล่งทํามาค้าขายในแถบเมืองท่ามากเป็นลําดับ จึงทําให้เมืองอุตรดิตถ์ในปัจจุบันกลายเป็นเมืองที่มีกลุ่มชนมากถึง 3 วัฒนธรรมใหญ่อยู่ร่วมกัน
จัวหวัดอุตรดิตถ์มีพื้นที่ทั้งหมด 7,838 ตารางกิโลเมตร หรือ 4,899,120 ไร่ มีลักษณะภูมิประเทศ แบ่งได้เป็น 3 ลักษณะ คือ 1) ที่ราบลุ่มแม่นํ้าน่าน[2] บริเวณสองฝั่งของแม่น้ำน่านและลําน้ำสาขาที่ไหลมาบรรจบกับแม่น้ำน่าน สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ราบลุ่ม อยู่ในเขตอําเภอตรอน พิชัยและบางส่วนของ อําเภอเมืองอุตรดิตถ์ ลับแลและอําเภอทองแสนขัน (ประมาณ 20% ของพื้นที่ทั้งหมด) 2) ที่ราบระหว่างหุบเขาและเชิงเขาบริเวณที่อยู่ต่อเนื่องจากบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำทางด่านเหนือและด่านตะวันออกของจังหวัด ประกอบด้วยที่ราบแคบระหว่างหุบเขาตามแนวคลองตรอน แม่น้ำปาด คลองแม่พร่อง ห้วยน้ำไคร่และลําธารสายต่างๆ สลับกับภูมิประเทศเป็นเขาอยู่ในเขตอําเภอเมืองอุตรดิตถ์ ลับแล น้ำปาด ฟากท่า ท่าปลาและอําเภอบ้านโคก (ประมาณ 20% ของพื้นที่ทั้งหมด) และ 3) เขตภูเขาและที่สูง อยู่ในบริเวณทางด้านเหนือและทางตะวันออกของจังหวัด โดยเฉพาะเขตอําเภอเมืองอุตรดิตถ์ อําเภอลับแล น้ำปาด ฟากท่า ท่าปลาและอําเภอบ้านโคก (ประมาณ 60% ของพื้นที่ทั้งหมด) มีลักษณะภูมิอากาศแบบร้อนชื้นสลับร้อนแห้งแล้งหรือฝนเมืองร้อนเฉพาะฤดูเพราะได้รับอิทธิพลจากกระแสลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือและตะวันตกเฉียงใต้ มีความชื้นและความร้อนสูงในฤดูร้อนอากาศจะร้อนจัด อุณหภูมิเฉล่ยี 35 องศาเซลเซียส อากาศเย็นสบายในฤดูหนาวและมีฝนตกชุกในฤดูฝน
การใช้ประโยชน์ที่ดิน มีพื้นที่การเกษตร 1,248,198 ไร่ (25.48 % ของพื้นที่ทั้งหมด) จำแนกเป็นพื้นที่ทํานา 680,842 ไร่ (54.55% ของพื้นที่การเกษตร) พื้นที่ทําพืชไร่ 314,762 ไร่ คิดเป็น (25.22% ของพื้นที่การเกษตร) พื้นที่ทําสวนไม้ผลและไม้ยืนต้น 153,599 ไร่ (12.31% ของพื้นที่การเกษตร) พื้นที่สวนผักและไม้ดอกไม้ประดับ 12,663 ไร่ (1% ของพื้นที่การเกษตร) พื้นที่การเกษตรอื่นๆ 86,332 ไร่(6.92% ของพื้นที่การเกษตร) มีเนื้อที่ใช้ประโยชน์นอกการเกษตร 887,6731 ไร่ (18.12% ของพื้นที่ทั้งหมด) และเป็นพื้นที่ป่าไม้ จำนวน 2,763,248 ไร่ (56.40% ของพื้นที่ทั้งหมด)
ด้านการปกครอง แบ่งพื้นที่เพื่อการบริหารราชการส่วนภูมิภาคเป็น 9 อําเภอ 67 ตําบล 613
หมู่บ้าน โดยมีอําเภอดังนี้ อําเภอเมืองอุตรดิตถ์ พิชัย ตรอน ลับแล ท่าปลา น้ำปาด ฟากท่า บ้านโคกและอําเภอทองแสนขัน แบ่งเขตการบริหารราชการ 3 ระดับ คือ
- ส่วนราชการบริหารส่วนกลาง ที่มีสํานักงานตั้งอยู่ในส่วนภูมิภาค จํานวน 60 หน่วยงาน
- ส่วนราชการบริหารส่วนภูมิภาค จํานวน 33 หน่วยงาน
- ส่วนราชการบริหารส่วนท้องถิ่น 80 แห่ง
จํานวนประชากรจังหวัดอุตรดิตถ์ (ปี 2560) ข้อมูลตามทะเบียนราษฎร์ มีจํานวนทั้งสิ้น
458,197 คน เป็นชาย 224,945 คน (49.09%) เป็นหญิง 233,252 คน (50.91%)[3]
ลักษณะทางเศรษฐกิจของจังหวัด ประกอบด้วยภาคเกษตรเป็นหลัก สัดส่วน 33%[4] รองลงมาคือ ภาคอุตสาหกรรม 15% ภาคการค้า 10% ภาคการศึกษา 9% ภาคการบริหารราชการ 8% ภาคการเงิน 6% และภาคบริการอื่นๆ 19%
การเปลี่ยนแปลงสำคัญสืบเนื่องจากการสร้างเขื่อนสิริกิติ์ช่วง พ.ศ.2514 ที่ส่งผลให้มีการอพยพชุมชน มาอยู่ในบริเวณพื้นที่จัดสรรของนิคมสร้างตนเองลําน้ำน่าน[5] และได้จัดสรรแบ่งแปลงให้กับผู้อพยพ เข้ามาทํากินในพื้นที่ตําบลร่วมจิต ตําบลน้ำหมัน ตําบลจริมและตําบลท่าปลา อําเภอท่าปลา ซึ่งนิคมสร้างตนเอง ลําน้ำน่านจัดสรรแบ่งแปลงให้กแก่ผู้อพยพเพื่อเข้าอยู่อาศัย ทํากินจํานวน 160,540 ไร่ แต่มีพื้นที่บางส่วนของนิคมฯที่จัดสรรทับซ้อนอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติลําน้ำน่านฝั่งขวาจํานวน 1,013 ราย เนื้อที่ 7,215 ไร่ ต่อมา ใน พ.ศ.2546 คณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินของรัฐ (กบร.) ได้มีมติว่าพื้นที่ดังกล่าวราษฎรมิได้เข้าทําประโยชน์โดยพลการ แต่เกิดจากหน่วยงานของรัฐเป็นผู้จัดสรรให้ก่อนมีการประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติลําน้ำน่านฝั่ง ขวาและได้มีการจัดประชุมคณะกรรมการฯกันอย่างต่อเนื่อง โดยให้กรมป่าไม้และกรมประชาสงเคราะห์ (เดิม) ร่วมกันสํารวจรังวัดแล้วเสนอต่อกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมดําเนินการเพิกถอนต่อไป
จังหวัดอุตรดิตถ์ได้ดําเนินการจัดตั้งศูนย์ประสานงานและติดตามการแก้ไขปัญหาที่ดินทํากินและปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐจังหวัดอุตรดิตถ์ เพื่อเร่งรัดติดตามและประสานการช่วยเหลือกรณีดังกล่าว รวมถึงการติดตามร่างกฎกระทรวงเพิกถอนป่าสงวนแห่งชาติป่าลําน้ำน่านฝั่งขวาบางส่วน ในท้องที่ตําบลจริม ตําบลท่าปลา ตําบลร่วมจิต อําเภอท่าปลาและตําบลขุนฝาง อําเภอเมืองอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ โดยมี หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพยายามทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่และมอบแนวทางการอยู่ร่วมกันระหว่างประชาชน พื้นที่ป่าและเจ้าหน้าที่ เพื่อป้องกันการเกิดข้อพิพาทในพื้นที่และอยู่ร่วมกันตามแนวทางที่ได้ตกลงร่วมกัน อำเภอท่าปลา ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของจังหวัดอุตรดิตถ์ อยู่ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 40 กิโลเมตร มีพื้นที่ 1,681.445 ตารางกิโลเมตร (ประมาณ 1,050,625 ไร่) ลักษณะส่วนใหญ่เป็นที่ราบที่อยู่ระหว่างเนินเขาและภูเขา มีอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิริกิติ์อยู่ตอนกลางเป็นพื้นที่แหล่งน้ำ 284.8 ตารางกิโลเมตร พื้นที่ส่วนใหญ่ของอำเภออยู่ในการดูแลของนิคมสร้างตนเองลำน้ำน่าน เขตอุทยานแห่งชาติลำน้ำน่านเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าและเขตป่าสงวนแห่งชาติ โดยมีพื้นที่ที่เป็นกรรมสิทธิ์ของประชาชนน้อยมาก การใช้ประโยชน์ในที่ดิน[6] เป็นพื้นที่ทำนาประมาณ 16,393 ไร่ พื้นที่สวน 8,389 ไร่ พื้นที่ไร่ 23,825 ไร่ และพื้นที่ทำการประมง 173,125 ไร่ อาณาเขตติดต่อกับอำเภอข้างเคียง ได้แก่ ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอสูงเม่น อำเภอเมืองแพร่ (จังหวัดแพร่) และอำเภอนาหมื่น (จังหวัดน่าน) ทิศตะวันออก ติดต่อกับอำเภอน้ำปาด ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอน้ำปาด อำเภอทองแสนขันและอำเภอเมืองอุตรดิตถ์ ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอเมืองอุตรดิตถ์และอำเภอเด่นชัย (จังหวัดแพร่)
แผนที่อาณาเขตอำเภอท่าปลา
ด้านการปกครอง แบ่งการปกครองตาม พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ.2457 เป็น 8 ตำบล และ 82 หมู่บ้าน และมีองค์การบริหารส่วนตำบล 8 แห่ง มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 49,274 คน แยกเป็นชาย 25,156 คน เป็นหญิง 24,118 คน มีความหนาแน่นเฉลี่ยต่อพื้นที่ประมาณ 29 คน/ตารางกิโลเมตร มีจำนวนบ้าน 11,509 หลังคาเรือน คนส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ มีสถานที่ทางศาสนาทั้งวัด มัสยิดและศาลเจ้า คนอำเภอท่าปลาส่วนใหญ่มีเชื้อสายไทยวนที่มีศิลปะ ประเพณี วัฒนธรรม ภาษาพูด อาหารการกินที่ได้รับอิทธิพลจากวิถีท้องถิ่น โดยอดีตในแถบนี้เป็นแหล่งอารยธรรมและอดีตดินแดนล้านนาตะวันออก ชื่อเดิมเรียกว่า “ทับป่า” ขึ้นอยู่กับเมืองน่านในสมัยที่เมืองน่านยังมีเจ้าเมืองเป็นผู้ครองนครน่านเมื่อประมาณร้อยปีเศษ โดยรวมแขวงศีรษะเกษกับแขวงท่าปลาเข้าด้วยกันเป็นเขตน่าน ต่อมาในปี พ.ศ.2466 จึงแยกมาขึ้นกับจังหวัดอุตรดิตถ์ ตามตำนานเชื่อว่าเคยมีสถานที่ริมแม่น้ำน่าน มีหินใสสีขาวเหมือนตาปลาอยู่ในน้ำลึก เชื่อว่าหินนี้ศักดิ์สิทธิ์มาก ในวันสงกรานต์จะทำพิธีบวงสรวงแล้วจึงจะนำหินไปสกัดและ เรียกบริเวณนี้ว่า “บ่อแก้วตาปลา” ต่อมาเรียกเพี้ยนเป็น “แก้วท่าปลา” และหมู่บ้านนี้เรียกต่อมาว่า “บ้านท่าปลา” ซึ่งเป็นคำเมืองท้องถิ่น (กำเมือง) หมายถึงรอปลาขึ้นและจับปลา แถบอำเภอท่าปลามีความอุดมสมบูรณ์ มีแม่น้ำน่านไหลผ่าน เป็นแหล่งสัตว์น้ำและแหล่งไม้เศรษฐกิจ เช่น ไม้สัก พ.ศ.2513 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมชลประทานได้เปิดโครงการพัฒนาลุ่มน้ำน่านและก่อสร้างเขื่อนสิริกิติ์ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ พื้นที่อำเภอบางส่วนกลายเป็นอ่างเก็บน้ำ ราษฎรต้องอพยพออกมาตั้งรกรากถิ่นฐานใหม่บนพื้นที่จัดสรรของนิคมสร้างตนเองลำน้ำน่าน พื้นที่เดิมถูกผลกระทบจากการก่อสร้างตามโครงการฯ จึงได้ปรับย้ายมาตั้งที่ทำการแห่งใหม่อยู่ในเขตหมู่ที่ 1 ซึ่งเป็นพื้นที่จัดสรรของนิคมสร้างตนเองลำน้ำน่านในปัจจุบัน พ.ศ.2558 ได้มีพระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนแปลงเขตการปกครองระหว่างอำเภอท่าปลากับอำเภอน้ำปาด โดยโอนตำบลท่าแฝกไปขึ้นกับอำเภอน้ำปาด เนื่องจากราษฎรตำบลท่าแฝก (ซึ่งถูกอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิริกิติ์ตัดขาดจากพื้นที่อื่นของอำเภอ) ได้รับความลำบากในการเดินทางไปติดต่อราชการและขอรับบริการต่างๆ ที่ตัวอำเภอท่าปลาซึ่งอยู่ห่างออกไป 116 กิโลเมตร ถ้าย้ายไปขึ้นกับอำเภอน้ำปาดซึ่งตัวอำเภอตั้งอยู่ระหว่างทางและมีระยะทางห่างเพียง 59 กิโลเมตร ราษฎรจะได้รับความสะดวกมากกว่า พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ ปีเดียวกัน[7]
บ้านท่าเรือ หมู่บ้านประมงที่มีชื่อเสียงของอำเภอท่าปลา (welovetogo.com)
ลักษณะทางเศรษฐกิจ มีอาชีพด้านการเกษตรเป็นหลัก ในอำเภอมีพื้นที่การเกษตร 48,607 ไร่ มีมีพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ ข้าวนาปี (นาดำ) ข้าวนาปี (ข้าวไร่) ลำไย มะม่วงหิมพานต์ มะม่วง มะขามหวาน ส้มโอ อ้อย ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ถั่วเขียว ถั่วเหลืองและละหุ่ง
ด้านปศุสัตว์นิยมเลี้ยงโค กระบือ สุกร เป็ด ไก่ ห่าน การประมง เช่น ปลาดุก ปลานิล ปลาแรด และในบริเวณเขื่อนสิริกิติ์[8] เช่น ปลาตะโกก ปลาซิว ปลาแรด ปลาบึก
ด้านการท่องเที่ยว มีสถานที่สำคัญ ได้แก่ เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนดิน ช่องเขาขาด แพอาหารบ้านท่าเรือและที่อยู่ระหว่างการส่งเสริม ได้แก่ น้ำตกวังชมพู แก่งทรายงาม ถ้ำแสนหาญ น้ำตกตาดดาว
เขื่อนสิริกิติ์ อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ เขื่อนดินที่ใหญ่ที่สุดของไทย (www.thairath.co.th)
ตำบลร่วมจิต ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของอำเภอท่าปลา มีระยะห่างจากอำเภอท่าปลาประมาณ 10 กิโลเมตร และตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของจังหวัดอุตรดิตถ์ มีพื้นที่ 39.05 ตารางกิโลเมตรหรือ 24,406.25 ไร่ ตั้งอยู่ห่างจากจังหวัดอุตรดิตถ์ประมาณ 30 กิโลเมตร[9] ในยุคก่อตั้งพื้นที่ตำบลอยู่ในเขตการดูแลของตำบลหาดงิ้ว ภายหลังจึงได้ตั้งเป็นตำบลใหม่ โดยใช้ชื่อว่า “ร่วมจิต” ปัจจุบันแบ่งการปกครองเป็น 11 หมู่บ้าน
อาณาเขตติดต่อกับพื้นที่ข้างเคียง ได้แก่
ทิศเหนือ ติดต่อกับตำบลหาดล้าและตำบลท่าปลา อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์
ทิศใต้ ติดต่อกับตำบลหาดงิ้ว อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์
ทิศตะวันออก ติดต่อกับตำบลผาเลือด อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์
ทิศตะวันตก ติดต่อกับตำบลน้ำหมัน อำเภอท่าปลา ตำบลวังดิน อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์
สภาพภูมิประเทศของตำบลร่วมจิตส่วนใหญ่เป็นที่ราบสลับเนินเขา ที่ดินส่วนใหญ่เป็นดินลูกรังมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ ดินมีความชุ่มชื่นน้อย ลำน้ำที่สำคัญได้แก่ ห้วยน้ำสิงห์ บริเวณหมู่ที่ 9 บ้านเนินสิงห์ หมู่ที่ 5 บ้านหนองโป้และหมู่ที่ 11 บ้านใหม่พัฒนา มีทิศทางการไหลจากทิศเหนือลงทิศใต้ การใช้ประโยชน์ที่ดินในตำบลร่วมจิต ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เกษตรกรรม โดยมีการปลูกไม้ยืนต้นกระจายอยู่ทั่วไปตามพื้นที่ส่วนต่างๆ ของตำบลและมีการใช้ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยและนาข้าวแทรกสลับตามพื้นที่ส่วนต่างๆ ของตำบล[10]
แผนที่วาดมือของผู้เข้าร่วมเวทีถอดบทเรียนโครงการเพื่ออธิบายลักษณะพื้นที่การปกครองที่มีทั้ง อบต. และเทศบาลฯ
ในพื้นที่ตำบลร่วมจิต
ตำบลร่วมจิตมีพื้นที่โดยประมาณจำนวน 8,548 ไร่ หรือประมาณ 29.68 ตารางกิโลเมตร โดยแบ่งเป็นพื้นที่อยู่อาศัย 454 ไร่ พื้นที่การเกษตร 3,291 ไร่ พื้นที่ป่า 4,603 ไร่ และพื้นที่อื่นๆ 200 ไร่
สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เนินสูงสลับที่ราบต่ำ ประชนมีการตั้งบ้านเรือนที่อยู่อาศัยอยู่สองข้างทางตามแนวถนน พื้นที่ทั่วไปเหมาะสำหรับปรับพื้นที่ให้เป็นพื้นที่สำหรับทำสวนผลไม้และทำการเกษตรแบบไร่นาสวนผสม เลี้ยงสัตว์ เช่น โค กระบือ สุกร ไก่ ฯลฯ การทำนาจะทำในเฉพาะฤดูกาลปีละ 1 ครั้ง นอกฤดูกาลทำนาประชาชนจะทำไร่ถั่วเขียว ไร่ข้าวโพด เพาะเห็ดนางฟ้า ปลูกพืชผักสวนครัวเพื่อบริโภคในครัวเรือนบางส่วนก็นำไปจำหน่ายมีผลผลิตออกสู่ตลาดทั้งปีและยังมีเกษตรกรบางส่วนที่ทำสวนผลไม้ ได้แก่ สวนส้มโอ มังคุด เงาะ ลองกอง ลำไย มะม่วงหิมพานต์ ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของตำบล
ประชากรของตำบลร่วมจิตโดยเฉลี่ยมีการศึกษาไม่สูงมากนัก มีรายได้คงเหลือน้อย มีการอพยพเคลื่อนย้ายประชากรวัยแรงงานไปทำงานในเมืองและต่างจังหวัด ส่วนใหญ่จะเหลือแต่เด็กกับผู้สูงอายุ ด้านทรัพยากรธรรมชาติยังไม่มีการค้นพบแร่ธาตุในพื้นที่ มีเพียงไม้ยืนต้นและต้นไม้ที่ขึ้นปะปนอยู่ในบริเวณพื้นที่เกษตรกรรม[11] มีจำนวนประชากร ทั้งหมด 2,073 คน (ข้อมูล ณ เดือนกันยายน 2556 จากทะเบียนราษฎร์อำเภอท่าปลา) โดยประชาชนส่วนใหญ่ของตำบลอพยพมาจากแถบบ้านท่าแฝกในช่วง พ.ศ.2513 โดยมีหน่วยงานรับผิดชอบ คือ นิคมสร้างตนเองลำน้ำน่านแบ่งเป็นที่ดินทำกิน ปัจจุบันตำบลร่วมจิต แบ่งการปกครองออกเป็น 11 หมู่บ้าน ดังนี้ แต่หมู่ที่ 1และหมู่ที่ 4 เป็นเขตเทศบาล หมู่ที่ 2 บ้านสระแก้ว หมู่ที่ 3 บ้านร่วมใจ หมู่ที่ 5 บ้านหนองโป้ หมู่ที่ 6 บ้านหยองย่ารำ หมู่ที่ 7 บ้านหนองโบสถ์ หมู่ที่ 8 บ้านแดนทอง หมู่ที่ 9 บ้านเนินสิงห์ หมู่ที่ 10 บ้านราษฎร์บำรุงและหมู่ที่ 11 บ้านใหม่พัฒนา โดย ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของตำบลร่วมจิตและองค์การบริหารส่วนตำบล ครอบคลุมพื้นที่ตำบลร่วมจิต (เฉพาะนอกเขตเทศบาลตำบลร่วมจิต)
การเปลี่ยนแปลงในตำบล เริ่มต้นในยุคที่ถูกอพยพโยกย้ายจากการสร้างเขื่อน ประมาณ พ.ศ.2512-2515 เป็นช่วงที่ผู้คนจากหลายพื้นที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานใหม่กว่า 400 ครอบครัว โดยภาครัฐได้จัดสรรที่ดินให้อยู่อาศัยทำกิน โดยเฉลี่ยครอยครัวละ 15 ไร่ แบ่งเป็นที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน แต่บางครอบครัวพบปัญหาว่าพื้นที่ทับซ้อนกับพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ
ในช่วงดังกล่าวถือเป็นยุคบุกเบิกทำกินที่ค่อนข้างมีความยากลำบากเนื่องจากสภาพพื้นที่ไม่เหมาะสมกับการเพาะปลูกหรือทำการเกษตร สภาพผืนดินมีความแห้งแล้ง ไม่มีแหล่งน้ำ ต่อมาในช่วง พ.ศ.2523 เริ่มตั้งเป็นชุมชนชัดเจนมากขึ้น อยู่ในระบบการปกครองของราชการมากขึ้น มีการตั้งผู้นำชุมชนเป็นทางการ วิถีชีวิตของคนส่วนใหญ่พยายามเพาะปลูกพืชไร่ เช่น ข้างโพดและเดินทางออกไปเป็นแรงงานรับจ้างต่างถิ่น
ในช่วง พ.ศ.2526-2540 ถือว่าเป็นยุคที่เริ่มปรับตัวได้ดีขึ้น ได้รับการส่งเสริมด้านการพัฒนาจากภาครัฐมากขึ้น มีกาส่งเสริมให้ปลูกพืชเศรษฐกิจ เช่น สัปปะรด มะม่วงหิมพานต์ อ้อย เกิดตลาดสดในตำบล ธุรกิจการค้าในตำบลขยายตัว คนหนุ่มสาวได้รับการศึกษามากขึ้นและแต่ละครอบครัวเริ่มมีการลงทุนด้านการเกษตรมากขึ้น พร้อมกับการเข้าสู่วิถีการกู้ยืมเงินลงทุนจากสถาบันการเงินต่างๆ เช่น ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จนถึงช่วงวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศ (ฟองสบู่แตก) คนเริ่มว่างงานมากขึ้น หนี้สินทางการเกษตรสะสม เริ่มพึ่งพิงเงินกู้นอกระบบ ด้านการถือครองที่ดินมีการเปลี่ยนมือ หลายครอบครัวต้องย้ายออกไปดิ้นรนหางานต่างถิ่น
ภายหลังช่วงทศวรรษ 2550 ถือเป็นยุคการฟื้นฟูและตั้งหลักของของในตำบลอีกระลอก เริ่มเกิดการรวมกลุ่ม เกิดวิสาหกิจชุมชน กลุ่มอาชีพ เช่น กลุ่มเย็บผ้า เลี้ยงสัตว์ กลุ่มทำไม้กวาด กลุ่มเมล็ดมะม่วงหิมพานต์ที่กลายเป็นสินค้าสร้างรายได้สำคัญของตำบล ที่ปัจจุบันเป็นสินค้าส่งออกไปยังต่างประเทศ และได้รับการสนับสนุนเงินกองทุนหมู่บ้านของรัฐบาล คนหนุ่มสาวเริ่มกลับเข้ามามีบทบาทในการพัฒนาชุมชนของตัวเอง ด้านโครงสร้างพื้นที่ฐานโดยรวมภายในตำบลได้รับการพัฒนาต่อเนื่อง ทั้งระบบไฟฟ้า ประปา อ่างเก็บน้ำ ถนน โรงพยาบาล ธนาคาร ธุรกิจการค้าภายในตำบลขยายตัวมากขึ้น เริ่มมีการทำงานในประเด็นสวัสดิการชุมชน กองทุนออมทรัพย์ รวมถึงงานด้านวัฒนธรรมชุมชน หลายครอบครัวสามารถลดหนี้สินได้บ้างจากการฟื้นฟูของเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ
“ในชุมชนถูกอพยพจากการสร้างเขื่อนสิริกิติ์ ต้องเผชิญกับปัญหาด้านที่ดินทำกิน เนื่องจาก ลักษณะที่ดินที่ปัจจุบันเป็นดินลูกรัง ดินป่าแพะ ต่างจากที่ดินเดิมที่มีความอุดมสมบูรณ์ ในช่วงแรกถูกอพยพมาอยู่บริเวณตำบลหาดงิ้ว เรีกได้ว่าหนีน้ำ มาอดน้ำ หนีน้ำจากเขื่อนแต่ มาเจอพื้นที่แล้ง ไม่มีน้ำเพื่อเพาะปลูก ต่อมาจึงเริ่มมีแนวคิดในการสร้างตำบลใหม่
ในระยะแรกมีไม่กี่หมู่บ้าน การทำมาหากินในช่วงแรกพยายามปลูกถั่วและข้าวโพดและ ต่อมารัฐบาลส่งเสริมปลูกมะม่วงหิมพานต์และต่อมากลายเป็นพืชเศรษฐกิจของตำบล”
…..ผู้นำท่านหนึ่งเล่าถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในตำบล
กระบวนการดำเนินงาน
การทำงานในโครงการบ้านพอเพียงของตำบลร่วมจิต เริ่มจากการทำความใจร่วมกันผ่านประเด็นสำคัญเรื่องความร่วมมือและความเป็นจิตอาสา สร้างความเข้าใจต่อการทำงานภายใต้การสนับสนุนของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) และร่วมกันกำหนดบทบาทของสภาองค์กรชุมชน ซึ่งต่างเข้าใจร่วมกันว่าเป็นกลไกการทำงานที่คนในระดับชุมชนจะเข้าไปมีส่วนร่วมอย่างเต็มตัว
องค์ประกอบหลักในการทำงาน จะเน้นการขับเคลื่อนในลักษณะ “งานขบวน” ที่หมายรวมถึงทั้งสภาพัฒนาองค์กรชุมชน หน่วยงานท้องถิ่นและสมาชิกในตำบล
ภายหลังการทำความเข้าใจในระดับแนวคิดหรือกรอบการทำงานร่วมกันแล้ว กระบวนสำคัญต่อไปคือ การสำรวจผู้เดือดร้อนในแต่ระดับหมู่บ้าน โดยใช้ข้อมูลพื้นฐานแต่ละหมู่บ้านประกอบการพิจารณา เครื่องมมือที่สำคัญคือการประชาคมหมู่บ้านและตำบล เพื่อคัดเลือกกลุ่มเป้าหมาย ร่วมกันอภิปรายคัดเลือกให้ได้กลุ่มเป้าหมายตามกรอบของโครงการ เนื่องจากมีทั้งกลุ่มคนที่ทั้งเป็นคน “ยากจน” และ “อยากจน” ส่วนงานอีกด้านที่จำเป็นต้องทำควบคู่กันไป คือการประสานงานกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องในฐานะงานระดมทุนด้านต่างๆ
ในปีงบประมาณ 2560 ได้รับงบประมาณสนับสนุนจำนวน 10 หลัง แต่ได้มีการดำเนินจริงเพิ่มเติมอีก 1 หลัง โดยการระดมทุนและจัดการกันภายในของเครือข่ายตำบล (นอกเหนือจากงยประมาณโครงการ) และในปีงบประมาณ 2561 ได้รับการสนับสนุนโงบประมาณจากโครงการบ้านพอเพียงชนบทจำนวน 11 หลัง แต่ได้ดำเนินการจริงเพิ่มเติมจากงบประมาณโครงการอีกจำนวน 2 หลัง
การดำเนินงานในปี 2560 มีกลุ่มเป้าหมายในการแก้ไขปัญหาด้านที่อยู่อาศัยจำนวน 11 หลัง แต่ได้รับการสนับสนุนจากโครงการบ้านพอเพียงชนบทของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน จำนวน 10 หลัง จึงได้มีการร่วมกันพิจารณาหาทางที่จะดำเนินการให้ได้ครบถ้วนทั้ง 11 หลังตามแผนงาน
เช่นเดียวกับในปีงบประมาณ 2561 ตำบลร่วมจิตมีกลุ่มเป้าหมายจำนวน 13 หลัง แต่ได้รับงบสนับสนุนจากโครงการบ้านพอเพียงชนบทจำนวน 10 หลัง ส่งผลให้การระดมทรัพยากรจากหลายฝ่ายจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ขบวนการทำงานต้องพยายามช่วยกันหรือที่มักเรียกกันว่า “ทุนร่วม”
“หลักคิดสำคัญของการดำเนินโครงการบ้านพอเพียงชนบท คือ การยกระดับคุณภาพชีวิต ความปลอดภัยของผู้ที่ประสบปัญหาด้านที่อยู่อาศัย ต้องทำให้พวกเขาเหล่านั้นมีบ้านที่ดีขึ้น เพราะเป็นปัจจัยพื้นฐานของคนเรา”
…..ผู้นำท่านหนึ่งอธิบายเรื่องแนวคิดบ้านพอเพียง
กลไกความร่วมมือและการบูรณาการเครือข่ายการทำงาน
หน่วยงานสำคัญที่ร่วมสนับสนุน ได้แก่ กลุ่มผู้นำชุมชนและหน่วยงานฝ่ายปกครอง ที่ให้การสนับสนุนด้านแรงงานและอาหารในช่วงระยะการก่อสร้างปรับปรุงบ้านกลุ่มเป้าหมาย สมาชิกแต่ละชุมชน กลุ่มอาสาได้ช่วยลงแรงในการก่อสร้าง กลุ่มแม่บ้านดูแลเรื่องอาหาร น้ำดื่ม เจ้าหน้าที่ตำรวจในท้องที่ให้การสนับสนุนการดูแลความสงบเรียบร้อย เจ้าหน้าที่ทหาราจาก มทบ.ที่ 35 ที่สนับสนุนกำลังพลในการช่วยงานก่อสร้าง ร่วมลงแรงในการก่อสร้าง ด้านร้านค้าวัสดุก่อสร้างในตำบลช่วยลดราคาวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างเป็นกรณีพิเศษในฐานะกิจกรรมช่วยเหลือผู้ยากไร้ในชุมชน พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) มอบเงินให้กับครอบครัวกลุ่มเป้าหมาย ครอบครัวละ 2,000 บาท และนิคมสร้างตนเองลำน้ำน่านสนับสนุนเพิ่มเติมจำนวน 2,000 บาทต่อครอบครัว รวมถึงหน่วยงานต่างๆ ที่สนับสนุนถุงยังชีพ ฯลฯ
ในการก่อสร้างรับปรุงบ้านกลุ่มเป้าหมายนั้น พยายามจะให้แล้วเสร็จภายในระยะ 1 วัน จึงต้องอาศัยการร่วมมือสูง เป็นการระดมกำลังแรงงานของสมาชิกชุมชนจำนวนมาก ในบางหลังใช้กำลังคนถึง 50-80 คน ในการตั้งเป้าระยะงานให้แล้วเสร็จใน 1 วันนั้น เนื่องจากเป็นวิธีในการประหยัดงบประมาณการบริหารจัดการและประหยัดเวลาในการดำเนินงาน เพราะหากใช้เวลาหลายวันสมาชิกชุมชนจะไม่สามารถเข้าร่วมได้ทั้งหมด
การเปลี่ยนแปลงหลังการดำเนินโครงการ
การเปลี่ยนแปลงโดยตรงต่อกลุ่มเป้าหมายในโครงการคือการมีคุณภาพชีวิตในภาพรวมที่ดีขึ้นกว่าในอดีต มีสุขภาพจิตดีขึ้น (ความเครียดลดน้อยลง) ตัวบ้านได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้น สมาชิกในครอบครัวมีกำลังในการต่อสู้ชีวิตและให้ความร่วมมือกับกิจกรรมส่วนรวมอย่างเต็มที่ ตัวอย่างการเปลี่ยนไม้ฝาที่จากเดิมเป็นไม้ไผ่เก่าผุพังมาเป็นไม้ฝาเทียมหรือไม้ฝาเฌอร่า ทำให้แก้ปัญหาเรื่องฝนสาดหรือน้ำรั่วเข้าตัวบ้านหรือคงทนต่อการกันลมกันฝน
ภายหลังการดำเนินโครงการมาในระยะ 2 ปีงบประมาณ พบว่าหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนในพื้นที่ตำบลได้รู้จักกับการทำงานของสภาองค์กรชุมชนมากขึ้น มีความเข้าใจลักษณะการทำงานที่แตกต่างจากการทำงานในเชิงสงเคราะห์ อย่างที่เคยเข้าใจผ่านโครงการซ่อมแซมบ้านของหน่วยงานอื่นในอดีต ทำให้แนวคิดเรื่องการมีส่วนร่วมของคนในท้องถิ่นที่เข้มข้นและพยายามให้เกิดขึ้นในทุกขั้นตอนได้ปรากฎรูปธรมมมากขึ้น (มากกว่าการแค่รับฟังหรือการร่วมประชุม)
โครงการเป็นส่วนสำคัญในการสร้างพื้นที่ความร่วมมือระหว่างสององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในตำบล ทั้งเทศบาลตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล ทำให้คนในชุมชนและหน่วยงานในตำบลให้ความสำคัญกับการประสานงานกับเครือข่ายนอกพื้นที่ของตนมากขึ้น มองเห็นโอกาสจากการแสวงหาความร่วมมือกับองค์กรอื่นมากขึ้น
ปัจจัยแห่งความสำเร็จ
ผู้มีส่วนร่วมในการดำเนินโครงการ สะท้อนความเห็นว่าปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้สามารถดำเนินโครงการบรรลุผลได้ มาจากพื้นที่ฐานของกลุ่มผู้นำมีการเรียนรู้ประสบการณ์จากตำบลอื่นที่ได้เริ่มดำเนินโครงการมาก่อเพื่อนำมาปรับใช้และกลุ่มผู้นำยังมีความสัมพันธ์อันดีกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เช่น สามารถขอความร่วมมือจากร้านค้าวัสดุก่อสร้างในตำบล เพื่อใช้เครดิตขอเบิกวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างมาใช้งานก่อนได้และชำระเงินในภายหลัง
ในด้านขบวนการทำงาน การทำงานของสภาองค์กรชุมชนและเครือข่ายขบวนจังหวัดซึ่งเป็นเหมือนองค์กรนำในโครงการมีความยืดหยุ่น เอื้อต่อการทำงานของกลุ่มผู้นำและการเป็นองค์กรที่ได้รับการสนับสนุนจากองค์กรภาครัฐอย่างสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (ภายใต้กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์) ทำให้หน่วยงานราชการในพื้นที่ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีหรือกล่าวได้ว่ามีความชอบธรรมสูงในการเป็นกลไกขับเคลื่อนงานพัฒนาในท้องถิ่น
การทำงานทุกขั้นตอนของโครงการ จะมีการประชาสัมพันธ์และเชิญหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่ตำบล ทั้งที่เกี่ยวข้องโดยตรงและหน่วยงานที่ไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงเข้าร่วมรับฟังการชี้แจงเสมอ เพื่อสร้างความรับรู้ ความเข้าใจในวงกว้าง (มากที่สุดที่จะเป็นไปได้)
ปัจจัยสนับสนุนด้านอื่น คือ การให้ความร่วมมือของคนในชุมชนที่ส่วนใหญ่เห็นความสำคัญของกิจกรรมส่วนรวม เนื่องจากต่างมีพื้นฐานในการร่วมกันต่อสู้พัฒนาชุมชนมาตั้งแต่ยุคการถูกอพยพ ร้านค้าวัสดุก่อสร้างภายในตำบลที่ช่วยลดราคาวัสดุก่อสร้างเป็นพิเศษ รวมถึงโรงเรียนที่สนับสนุนวัสดุเครื่องเขียน อุปกรณ์สำนักงานที่จำเป็นต่อการทำงาน
ปัญหาและอุปสรรคการดำเนินการ
- การทำงานเอกสารและงานธุรการของหน่วยงานราชการมีความซับซ้อน ในบางครั้งไม่สามารถจัดการได้ถูกต้องทั้งหมดร้อยเปอร์เซ็น จึงต้องเสียเวลาในการปรับแก้ภายหลัง
- ราคาวัสดุก่อสร้างมักมีการปรับขึ้น จึงทำให้การจัดการงบประมาณคลาดเคลื่อนไปจากแผนเดิม
- เมื่อถึงช่วงที่ต้องลงมือก่อสร้างปรับปรุงบ้านกลุ่มเป้าหมาย มักเกิดค่าใช้จ่ายอื่นที่จำเป็นต้องจ่าย เช่น ค่าวัสดุอุปกรณ์เพิ่มเติม
- งบประมาณมีจำนวนน้อยเกินไปหากเทียบกับจำนวนผู้เดือดร้อนด้านที่อยู่อาศัยของตำบล
แผนพัฒนาและข้อเสนอต่อทิศทางในอนาคต
- ควรมีการกำหนดยุทธศาสตร์ของตำบลในด้านที่อยู่อาศัย โดยอาศัยประสบการณ์จากโครงการบ้านพอเพียงออกแบบการทำงานให้สอดคล้องกับสภาพปัญหา
- การเตรียมแผนระดมทุนสำรองของแต่ละชุมชน อาทิ กองทุนสาธารณะชุมชน
- โครงการควรมีการพิจารณาเพิ่มเติมงบประมาณด้านการบริหารจัดการให้แก่ชุมชน เนื่องจากมักมีค่าใช้จ่ายนอกเหนือจากงบประมาณการปรับปรุงบ้าน
- แสวงหาภาคีนอกตำบลในการทำงานด้านที่อยู่อาศัยให้มากขึ้น เช่น หน่วยงานเอกชนหรือหน่วยงานต่างประเทศ
- สำรวจข้อมูลและจัดทำระบบฐานข้อมูลด้านปัญหาที่อยู่อาศัยให้ครบถ้วนและพร้อมต่อการทำงานในอนาคต
[1] ข้อมูลจากเอกสารแผนพัฒนาจังหวัดอุตรดิตถ์ พ.ศ.2561-2564
[2] ลุ่มน้ำในจังหวัดอุตรดิตถ์มี 2 ลุ่มน้ำคือ ลุ่มน้ำน่านและลุ่มน้ำยม ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่ของจังหวัดจะอยู่ในเขตลุ่มน้ำน่าน มีเพียงบางส่วนของพื้นที่อําเภอลับแลและอําเภอพิชัยอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำยม
[3] ประชากรสํารวจน้อยกว่าประชากรทะเบียนราษฎร์เนื่องจากประชากรสํารวจเป็นประชากรที่มีชื่ออยู่ตามทะเบียนบ้านในเขตรับผิดชอบและอยู่จริงและเป็นประชากรที่มาอาศัยอยู่ในเขตรับผิดชอบแต่ทะเบียนบ้านอยู่นอกเขตรับผิดชอบ ส่วนประชากรทะเบียนราษฎร์เป็นประชากร
(ต่อ) ที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตรับผิดชอบทั้งตัวอยู่จริงและตัวไม่อยู่จึงทําให้ข้อมูลมีจํานวนแตกต่างกัน
[4] ด้านการเพาะปลูกเป็นโครงสร้างหลัก 79% ได้แก่ ข้าวเป็นผลผลิตหลัก 39% รองลงมา คือ ทุเรียน 10% ลองกอง 5% ข้าวโพด 4% อ้อย 4% มะขามหวาน 4% มะม่วง 3% มะม่วงหิมพานต์ 3% สับปะรด 3% หอมแดง 1% มันสําปะหลัง 1% และอื่นๆ 2% ด้านปศุสัตว์ 14% ได้แก่ สุกร 5% ไข่ไก่ 3% ไก่ 2% ไข่เป็ด 1% กระบือ 1% โค 1% อื่นๆ1% ในด้านอื่นๆ 7% ได้แก่ ด้านบริการทางการเกษตร 5% และป่าไม้ 2%
[5] ตามมติรัฐมนตรีวันที่ 12 พฤษภาคม 2507 ให้จัดตั้งนิตมสร้างตนเองลำน้ำน่าน โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อจัดสรรที่ดินให้ราษฏรที่อพยพจากเขตน้ำท่วมตามโครงการเขื่อนสิริกิติ์ ครอบคลุมพื้นที่เขตอำเภอเมืองและอำเภอท่าปลาในเคหะสถานและประกอบอาชีพเป็นหลักแหล่งในที่ดินนั้น โดยเป็นการจัดระบบผู้ครอบครองที่ดินและเอกสารสิทธิ์ให้ถูกต้องชัดเจนและดำเนินการพัฒนาคุณภาพชีวิตสมาชิกสมาคมทางรัฐบาลจึงมีนโยบายการจัดการปัญหาที่ดินทำกินเพื่อประชาชนและเกษตรกรผู้ยากไร้ได้รับการจัดสรรที่ดินที่อยู่อาศัยให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 ให้มีการค้ดเลือกผู้ที่มีคุณสมบัติตามมาตรา 22 เข้าเป็นสมาชิกนิคมและอนุญาตให้สมาชิกนิคมเข้าทำประโยชน์ในที่ดินและเอกสารสิทธิ์ให้ถูกต้องและชัดเจน ชึ่งในท้องที่อำเภอเมืองและอำเภอท่าปลาจังหวัดอุตรดิตถ์อยู่ในเขตรับผิดชอบของนิคมสร้างตนเองลำน้ำน่านจังหวัดอุตรดิตถ์มีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 166,530 ไร่
[6] http://www.utdid.com/utdid1/html/0000022.html
[7]https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%AD%E0%B8%B3%E0%B9%80%E0%B8%A0%E0%B8%AD%E0%B8%97%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%9B%E0%B8%A5%E0%B8%B2
[8] เขื่อนสิริกิติ์ หรือที่เรียกกันในชื่อท้องถิ่นว่า เขื่อนท่าปลา จัดเป็นเขื่อนดินที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย อยู่ในอำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ กั้นแม่น้ำน่านที่ไหลลงมาจากอำเภอนาหมื่น จังหวัดน่าน เดิมอยู่ในความดูแลของกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ภายหลังได้ติดตั้งโรงไฟฟ้าพลังงาน และมอบให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเป็นผู้รับผิดชอบดูแลต่อไป ทั้งนี้พื้นที่เหนือเขื่อนเป็นแอ่งเก็บน้ำขนาดใหญ่ และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดอุตรดิตถ์ด้วย
เดิมเขื่อนนี้มีชื่อว่า เขื่อนผาซ่อม โดยก่อสร้างปิดกั้นแม่น้ำน่าน ริเวณเขาผาซ่อม ตำบลผาเลือด อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ ภายหลังได้รับพระบรมราชานุญาตให้อัญเชิญพระนามาภิไธยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ มาขนานนามเขื่อนว่า เขื่อนสิริกิติ์ เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2511
ทั้งนี้พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงวางศิลาฤกษ์เขื่อนสิริกิติ์ เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2514 งานก่อสร้างตัวเขื่อนและองค์ประกอบได้แล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2515
[9] เส้นทางสายอุตรดิตถ์-อำเภอท่าปลา ระยะทางจากจังหวัดถึง ตำบลร่วมจิต ประมาณ 30 กิโลเมตรและห่างจากอำเภอท่าปลา 10 กิโลเมตร
[10] เอกสารโครงการจัดทำข้อมูลพื้นที่เสี่ยงภัยดินถล่มระดับชุมชน ตำบลร่วมจิต อำเภอท่าปลา ของกรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (2556)
[11] http://www.ruamchit.go.th/