บริบทพื้นที่และสถานการณ์ปัญหา
จังหวัดน่าน ตั้งอยู่ติดกับชายแดนทางด้านทิศตะวันออกของภาคเหนือตอนบน ติดกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ( สปป.ลาว ) มีระดับความสูงของพื้นที่อยู่สูง 2,112 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง มีพื้นที่ 11,472.076 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 7,170,045 ไร่ ลักษณะภูมิประเทศมีทิวเขาหลวงพระบางและทิวเขาผีปันน้ำ ซึ่งเป็นทิวเขาหินแกรนิตความสูง 600-1,200 เมตร เหนือระดับน้ำทะเลทอดผ่านพื้นที่จังหวัด (ประมาณร้อยละ 40 ของจังหวัด) ลักษณะพื้นที่โดยทั่วไปมีสภาพคล้ายลูกคลื่นที่มีความลาดชันเกิน 30 องศา สัดส่วนประมาณร้อยละ 85 ของพื้นที่จังหวัด มีที่ราบระหว่างหุบเขาตามแนวยาวของลุ่มน้ำ น่าน, สา, ว้า, ปัวและกอน ลักษณะภูมิอากาศของจังหวัดน่าน มีความแตกต่างกันของฤดูกาล โดยอากาศจะร้อนอบอ้าวในฤดูร้อนและหนาวเย็นในฤดูหนาว จังหวัดน่านมีพื้นที่รวมทั้งสิ้น 7,170,045 ไร่ หรือ 11,472.07 ตารางกิโลเมตร จำแนกเป็นพื้นที่ป่าไม้และภูเขาร้อยละ 47.94 พื้นที่ป่าเสื่อมโทรมร้อยละ 39.24 พื้นที่ทำการเกษตรร้อยละ 12.22 พื้นที่อยู่อาศัยและอื่นๆ ร้อยละ 0.60
ด้วยการเป็นจังหวัดที่มีทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะพื้นที่ป่าจำนวนมาก จึงมีหน่วยงานด้านการจัดการทรัพยากรจำนวนมาก มีจำนวนอุทยานแห่งชาติ 7 แห่ง, วนอุทยาน 1 แห่ง, เขตห้ามล่าสัตว์ป่า 1 แห่ง และสวนรุกขชาติ 2 แห่ง ได้แก่ อุทยานแห่งชาติดอยภูคา อุทยานแห่งชาติศรีน่าน อุทยานแห่งชาติแม่จริม อุทยานแห่งชาติถ้ำสะเกิน อุทยานแห่งชาตินันทบุรี อุทยานแห่งชาติขุนสถาน อุทยานแห่งชาติขุนน่าน วนอุทยานถ้ำผาตูบ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าภูฟ้า สวนรุกขชาติแช่แห้ง สวนรุกขชาติห้วยน้ำอุ่น
ด้านลักษณะทางเศรษฐกิจ พิจารณาจากสัดส่วนผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด ณ ราคาประจําปีประกอบด้วยภาคการเกษตร มีสัดส่วนร้อยละ 31.24 และนอกภาคเกษตรมีสัดส่วนร้อยละ 68.76 มีพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ (ข้อมูลปี 2558 จากสำนักงานเกษตรจังหวัดน่าน) ได้แก่ 1) ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งมีเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จำนวน 36,504 ครัวเรือน พื้นที่ปลูก จำนวน795,482.25 ไร่ ผลผลิตรวม 95,629,490 กิโลกรัม โดยมีผลผลิตต่อไร่ 514.35 กิโลกรัมต่อไร่ 2) ข้าวนาปี มีเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปี 2557-2558 จังหวัดน่าน พบว่ามีเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปีจ้านวน 35,149 ครัวเรือน พื้นที่ปลูก 206,879.25 ไร่ ผลผลิตรวม 106,187,005.5 กิโลกรัม โดยมีผลผลิตต่อไร่ 508.77 กิโลกรัมต่อไร่ 3) ยางพารา พบว่ามีเกษตรกรผู้ปลูกยางพารา จำนวน 17,018 ครัวเรือน พื้นที่ปลูก 178,248.73 ไร่ ผลผลิตรวม 16,257,050.25 กิโลกรัม โดยมีผลผลิตต่อไร่ 385.98 กิโลกรัมต่อไร่ อำเภอภูเพียง[1] ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของจังหวัดน่าน โดยแยกออกจากอำเภอเมืองน่านตามประกาศกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ 1 มิถุนายน 2540 มีผลตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2540 และได้รับยกฐานะเป็นอำเภอตามพระราชกฤษฎีกา ประกาศในพระราชกิจจานุเบกษาฉบับกฤษฎีกา เล่ม 124 ตอนที่ 46 ก. ลงวันที่ 24 สิงหาคม 2550 โดยมีผลบังคับเมื่อพ้นสิบห้าวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งส่งผลมีฐานะเป็นอำเภอตั้งแต่วันที่ 8 กันยายน 2550 มีจำนวนประชากรรวมจำนวน 35,477 คน มีเนื้อที่ 508.236 ตารางกิโลเมตร คนส่วนใหญ่ในอำเภอประกอบอาชีพด้านการเกษตรกรรม (ลิ้นจี่ มะไฟจีน ข้าวโพด ถั่วเหลือง ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ยางพารา) รับจ้าง ค้าขาย มีอาชีพเสริม อาทิ แปรรูปผลิตผลทางการเกษตร จักสาน ทอผ้า การค้าขาย มีแหล่งน้ำสำคัญ ได้แก่ แม่น้ำน่าน แม่น้ำยาว ห้วยน้ำเกี๋ยน ห้วยน้ำแก่น ห้วยน้ำแหด มีสถานที่สำคัญได้แก่ วัดพระธาตุแช่แห้ง (ตำบลม่วงตึ๊ด) พิพิธภัณฑ์วัดนาปัง (ตำบลนาปัง) หอไตรโบราณวัดนาปัง (ตำบลนาปัง) พระธาตุวัดท่าล้อ (ตำบลฝายแก้ว) พระพุทธรูปปางมารวิชัยวัดกอก (ตำบลท่าน้าว) พระพุทธรูปทองทิพย์น้อย วัดบุปผาราม (ตำบลฝายแก้ว) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนาและวิทยาลัยสงฆ์นครน่าน มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย ประวัติศาสตร์ของอำเภอ มีการบันทึกถึงช่วง พ.ศ.1896 เกี่ยวกับพญาการเมือง เจ้าผู้ครองนครน่าน (องค์ที่ 5) ได้รับพระราชทานพระบรมสารีริกธาตุรวม 7 องค์ พร้อมด้วยพระพิมพ์ทองคำ 20 องค์ พระพิมพ์เงิน 20 องค์ จากพระเจ้าไสลือไท กษัตริย์แห่งกรุงสุโขทัย เถระชั้นผู้ใหญ่ พิจารณาเห็นว่า ดอยภูเพียงแช่แห้ง เป็นชัยภูมิดี จึงอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ พร้อมด้วยพระพิมพ์ทอง พระพิมพ์เงิน ไปยังดอยภูเพียงแช่แห้ง ประจุลงในเต้าปูน ทองสำริด แล้วพอกด้วยสะตาย (ปูนขาวผสมยางไม้) แล้วขุดหลุมลึก 1 วา อาราธนาพระบรมสารีริกธาตุ ประจุไว้ในหลุมกลบดินแล้วก่อเจดีย์สูง 1 วา ทับไว้อีกชั้น ในกาลต่อมาจึงย้ายเมืองวรนคร (นครน่าน) จากท้องที่อำเภอปัว (ในปัจจุบัน) มาสร้างเมืองใหม่ขึ้นที่เชิงดอยภูเพียงแช่แห้ง ทรงขนานนามตามชื่อดอยว่า “เมืองภูเพียงแช่แห้ง” สืบมา ต่อมาพญาการเมือง ปกครองเมืองใหม่นี้ได้เพียง 5 ปี ก็ถึงแก่พิราลัย พญาผากองผู้เป็นโอรส ได้ขึ้นครองเมืองสืบมาอีก 6 ปี เห็นว่าที่ตัวเมืองภูเพียงแช่แห้งเป็นที่กันดารน้ำในฤดูแล้ง ชัยภูมิริมฝั่งแม่น้ำน่านฝั่งตรงข้ามคือบริเวณห้วยไคร้ ห่างจากเดิมไปทางทิศตะวันตก ประมาณ 60 เส้น เป็นที่เหมาะสมกว่า ปี พ.ศ.1911 พญาผากองจึงอพยพไพร่พล ประชาชน ข้ามลำน้ำน่าน มาตั้งเมือง คือที่ตั้งตัวเมืองน่านหรือจังหวัดน่านในปัจจุบัน ตำบลฝายแก้ว เป็นตำบลหนึ่งในอำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของอําเภอภูเพียง และอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของจังหวัดน่าน มีพื้นที่ 217 ตารางกิโลเมตรหรือ 135,625 ไร่ จํานวนประชากรทั้งหมด 11,400 คน แยกเป็นชาย 5,829 คน หญิง 5,571 คน จํานวนครัวเรือน 3,978 หลังคาเรือน แบ่งการปกครองออกเป็น 17 หมู่บ้าน ได้แก่ หมู่ที่ 1 บ้านท่าล้อ, หมู่ที่ 2 บ้านแสงดาว, หมู่ที่ 3 บ้านฝายแก้ว, หมู่ที่ 4 บ้านทุ่งน้อย, หมู่ที่ 5 บ้านน้ำใส, หมู่ที่ 6 บ้านหัวเวียงเหนือ, หมู่ที่ 7 บ้านปัวชัย, หมู่ที่ 8 บ้านน้ำต่วน, หมู่ที่ 9 บ้านบุผาราม, หมู่ที่ 10 บ้านดงป่าสัก, หมู่ที่ 11 บ้านห้วยคํา, หมู่ที่ 12 บ้านแหด, หมู่ที่ 13 บ้านคั้งถี่, หมู่ที่ 14 บ้านห้วยไฮ, หมู่ที่ 15 บ้านนิคม, หมู่ที่ 16 บ้านหนองเจริญและหมู่ที่ 17 บ้านแสงดาวพัฒนา
อาณาเขตติดต่อกับพื้นที่ข้างเคียง ได้แก่ ทิศเหนือ ติดต่อกับตําบลเมืองจังอําเภอภูเพียงตําบลดู่พงษ์และตําบลพงษ์อําเภอสันติสุขทิศใต้ ติดต่อกับตําบลม่วงตึ๊ดและตําบลน้ำเกี๋ยน อําเภอภูเพียง ทิศตะวันออก ติดต่อกับตําบลแม่จริมและตําบลหนองแดง อําเภอแม่จริม ทิศตะวันตก ติดต่อกับตําบลในเวียงและตําบลผาสิงห์อําเภอเมืองน่าน
ลักษณะทั่วไป: พื้นที่ทางการเกษตรบนที่สูง
ลักษณะภูมิประเทศของตําบลฝายแก้ว ในด้านตะวันออกเป็นพื้นที่เทือกเขาสูง ส่วนทางด้านตะวันตกเป็นพื้นที่เนินลอนราบและพื้นที่ราบลุ่มน้ำท่วมถึงริมแม่น้ำาน่าน เทือกเขาสูงส่วนใหญ่วางตัวอยู่ในแนวเหนือ-ใต้ทางน้ำสายหลักในพื้นที่ ได้แก่ แม่น้ำน่านที่ไหลผ่านขนานขอบพื้นที่ตําบลด้านทิศตะวันตก ทางน้ำสาขาที่สําคัญ ได้แก่ ห้วยน้ำใสและห้วยแหด ที่ไหลในทิศทางจากตะวันออกมาตะวันตกลงสู่แม่น้ำน่านแบ่งการปกครองเป็น 1 องค์การบริหารส่วนตำบล คือ องค์การบริหารส่วนตำบลฝายแก้ว มีพื้นที่ครอบคลุมตำบลฝายแก้วทั้งหมด มีสถานที่สำคัญ ได้แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา (น่าน), โรงพยาบาลค่ายสุริยพงษ์, กรมทหารพรานที่ 32, สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดน่าน, สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดน่าน, สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดน่าน, สำนักงานสรรพกรเขตพื้นที่น่าน
การใช้ประโยชน์ที่ดินในตำบลฝายแก้ว พื้นที่เทือกเขาสูงด้านตะวันออกยังเป็นพื้นที่ป่าที่อุดมสมบูรณ์ แต่มีการทําไร่ข้าวโพดตามพื้นที่เชิงเขาอยู่ทั่วไป พื้นที่เนินลอนราบก็มีการทําไร่ข้าวโพดจนเกือบเต็มพื้นที่ ส่วนที่ราบด้านตะวันตกเป็นพื้นที่ทํานาปลูกข้าวที่สําคัญ หมู่บ้านส่วนใหญ่ตั้งเรียงรายอยู่ริมแม่น้ำน่านตั้งอยู่ในหุบเขาและสันเขาในพื้นที่เทือกเขาสูงด้านตะวันออก เช่น บ้านน้ำใส บ้านดงป่าสัก บ้านห้วยคําและบ้านห้วยไฮ[2]
แผนที่สังเขปตำบลฝายแก้ว อำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน[3]
บริบทการเปลี่ยนแปลงของตำบลในช่วง พ.ศ.2529-2539 ขณะนั้นมีหมู่บ้าน 15 หมู่บ้าน มีวัดเป็นสถานที่สำคัญ จำนวน 8 วัด กลไกทำงานเน้นบทบาทของผู้ใหญ่บ้าน ร่วมกับสภาตำบล ด้านการทำอาชีพเกษตรกรรมขณะนั้นเกือบทั้งตำบลยังไม่ได้ใช้สารเคมีทางการเกษตร มีน้ำห้วยเป็นแหล่งน้ำสำคัญในการทำนาผสมผสานกับการปลูกข้าวไร่บนพื้นที่ลาดชัน บางพื้นที่ยังมีระบบการหมุนเวียนพักแปลงปลูก วิถีการลงแขกลงแรงช่วยกันยังเป็นที่นิยม ช่วงต่อมาได้มีการส่งเสริมปลูกข้าวโพดและเป็นที่นิยม จึงทำให้วิถีทางการเกษตรเริ่มถูกปรับเปลี่ยน เช่น ใช้เครื่องมือการเกษตรสมัยใหม่ขึ้น รถรถไถแทนแรงงานควาย โดยลักษณะที่ดินทำกินนั้นอยู่ในระบบสิทธิ์หลายประเภท ลักษณะด้านสังคม ยังมีวิถีการแบ่งแลกอาหารการกินยังคงพบเห็นได้ตามเป็นเรื่องปกติ หน่วยงานราชการได้สนับสนุนการจัดตั้งกลุ่มต่างๆ อาทิ กลุ่มฌาปนกิจศพ กลุ่มอาชีพจักสาน กลุ่มแม่บ้าน กลุ่มหนุ่มสาว กลุ่มพ่อบ้าน กลุ่มลูกเสือชาวบ้านและเริ่มมีการตั้งโรงสีภายในตำบล ด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเริ่มมีการขยายไฟฟ้ามากขึ้น คนในตำบลจึงเริ่มมีเครื่องใช้ไฟฟ้าตามลำดับ เช่น โทรทัศน์ขาวดำ
“เมื่อก่อนปลูกข้าวกัน ไม่ใช้สาร ไม่มีข้าวโพด เมื่อก่อนทำนา 1 ไร่ ใช้เวลาหลายวัน เดี๋ยวนี้วันนึงทำได้หลานไร่ กลายเป็นว่าต้องเอาเร็วเข้าว่า เริ่มใช้ยาฆ่าแมลง ยาฆ่าหญ้าลและเมื่อใช้ไปนานๆ พวกหญ้าเองก็ปรับตัวกลายเป็นพันธุ์ใหม่ มันสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตัวเอง ยาตัวเดิมจึงไม่ค่อยได้ผล ส่วนชุมชนก็ต้องเผชิญกับสารพิษและหนี้สินตามมา”
…สมาชิกชุมชนอธิบายการเปลี่ยนแปลงในตำบล
พ.ศ.2540-2550 เป็นยุคที่เผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศหรือยุคฟองสบู่แตก คนในชุมชนสามารถจดจำเรื่องการกู้ยืมเงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือ IMF ได้เป็นอย่างดีและเริ่มมีการสนับสนุนแนวทางการเกษตรแบบเศรษฐกิจพอเพียง ภาครัฐได้สนับสนุนโครงการแก้ไขปัญหาความยากจน (กข.คจ.) กองทุนหมู่บ้าน กองทุนออมทรัพย์เพื่อการผลิต โดยต่อมามีนโยบายการกระจายอำนาจมายังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมากขึ้นและมีการจัดตั้งหมู่บ้านเพิ่มเติมอย่างเป็นทางการจำนวน 2 หมู่บ้าน นอกจากนั้นยังเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ตำบลช่วงเดือนสิงหาคม (ประมาณ 3-5 วัน) เริ่มเผชิญกับปัญหาไฟป่าหมอกควัน การเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดเจน คือ ต้นทุนการผลิตทางการเกษตรเริ่มสูงขึ้นจากการพึ่งพาเครื่องมือทางการเกษตรสมัยใหม่และการใช้เคมีทางการเกษตร โดยมีนายหน้าหรือนายทุนทางการเกษตรเข้ามาสัมพันธ์ด้วยมากขึ้น การจ้างแรงงานทางการเกษตรขยายตัว พร้อมกับการขยายพื้นที่ทำกินมากขึ้น ปัญหาเรื่องหนี้สินเริ่มปรากฏชัดขึ้นเช่นกัน
ในช่วงนี้ถือว่าคนในตำบลมีส่วนร่วมกับหน่วยงานระดับท้องถิ่นและเครือข่ายภาคประชาชนจากภายนอกที่เข้ามามีบทบาทในงานพัฒนาชุมชนและงานภาคประชาสังคม อาทิ การร่วมผลักดันขบวนการเคลื่อนไหวด้าน “ป่าชุมชน” นับได้ว่าเป็นช่วงที่การเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ เกิดขึ้นอย่างเข้มข้น
พ.ศ.2551-จนถึงปัจุบัน หน่วยงานภาครัฐเริ่มสนับสนุนงานด้านทรัพยากรมากขึ้น อาทิ การทำแนวกันไฟ สร้างฝายชะลอน้ำ ธนาคารต้นไม้ พลังงานทดแทนจากแสงอาทิตย์ โดยในช่วงนี้การพัฒนาข้อมูลที่ดินและการใช้ประโยชน์ในทรัพยากรธรรมชาติถูกขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง มีการสำรวจและจัดทำระบบข้อมูลอย่างขัดเจน โดยเฉพาะข้อมูลทางภูมิศาสตร์สารสนเทศ (GIS) ในด้านเศรษฐกิจถือเป็นช่วงที่คนในตำบลได้รับบทเรียนด้านการทำเกษตรเชิงเดี่ยวมากว่าทศวรรษ ต่างเผชิญกับภาวะผันผวนของราคาผลผลิต ต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้นในขณะที่กำไรดูเหมือนจะไม่ได้เพิ่มตามและกำลังเผชิญปะญหาด้านที่อยู่ที่ทำกินอีกละลอกใหญ่จากกระแสนโยบายและกระแสสังคม
ปัจจุบันคนในชุมชนยังมีความกังวลเกี่ยวกับประเด็นที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติเช่นเดียวกับตำบลอื่นในจังหวัดน่าน เนื่องจากส่งผลโดยตรงถึงวิถีการทำมาหากินเลี้ยงปากท้องของคนและเกี่ยวข้องกับการทำงานแทบทุกประเด็น แม้กระทั่งโครงการที่เกี่ยวกับบ้านและที่อยู่อาศัยอย่างโครงการบ้านพอเพียงชนบท ซึ่งปัจจุบันที่ดินทำกินยังถือเป็นประเด็นพิพาทกับแนวเขตป่าไม้ตามกฎหมาย
สถานการณ์ด้านทรัพยากรธรรมชาติของจังหวัด โดยเฉพาะข้อพิพาทเรื่องที่ทำกินกับพื้นที่เขตป่าตามกฎหมาย หากพิจารณาพื้นที่ของจังหวัดน่าน ย้อนไปในปี พ.ศ.2519 จังหวัดน่านมีพื้นที่ป่าทั้งในและนอกเขตป่าสงวนแห่งชาติทั้งหมด 5,280,625 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 73.65 ของพื้นที่ทั้งจังหวัดพอถึง ปี พ.ศ.2525 จังหวัดน่านมีพื้นที่ป่า 3,509,375 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 48.95 ของพื้นที่ ทั้งจังหวัด ใน พ.ศ.2532 พื้นที่ป่าลดลงเหลือ 3,193,125 ไร่ หรือร้อยละ 44.53 จนเมื่อพ.ศ.2541 พื้นที่ป่าลดลงเหลือประมาณ 2,995,000 ไร่ หรือร้อยละ 41.77 ของพื้นที่ทั้งหมดและตั้งแต่ พ.ศ.2548 เป็นต้นมา ได้มีการนําเทคโนโลยีระบบสารสนเทศ (GIS) มาใช้ในการสํารวจพื้นที่ป่าไม้ในจังหวัดน่าน โดยภาพรวมของลุ่มน้ำน่านมีพื้นที่ป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์มาก ส่วนใหญ่อยู่ในลุ่มน้ำสาขาที่มีโครงการฟื้นฟูสภาพป่าของกรมป่าไม้ อย่างไรก็ตาม ป่าสงวนแห่งชาติเหล่านี้มิได้เป็นสภาพป่าทั้งหมด ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เกษตรและพื้นที่อยู่อาศัยไปแล้ว แต่ก็ยังมิได้ทำการเพิกถอน ดังนั้นพื้นที่เหล่านี้จึงยังคงสภาพเป็นป่าไม้อยู่ตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 แม้บางบริเวณไม่ได้มีสภาพป่าไม้แต่อย่างใด ณ ปัจจุบัน
ข้อมูลจำแนกลักษณะพื้นที่อำเภอภูเพียง (เครือข่ายเรียนรู้รักษ์ป่าน่าน)
กรณีของบ้านที่ได้รับการปรับปรุงภายใต้โครงการบ้านพอเพียงชนบทมีการสำรวจพบกลุ่มเป้าหมาย จำนวน 15 ครัวเรือน โดยได้มีการพิจารณาคัดเลือกเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์จากโครงการบ้านพอเพียงชนบท จำนวน 5 ครัวเรือน ซึ่งเป็นชุมชนที่ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในเขตป่าหรือที่คนชุมชนตำบลเรียกว่า “โซนบน” กลุ่มผู้นำอธิบายว่าชุมชนในโซนดังกล่าวถือว่ามีความเสี่ยงในที่ดินหรือเรียกได้ว่าเผชิญกับความไม่มั่นคงในที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน จึงเป็นเหตุผลหนึ่งในการได้รับการคัดเลือกเป็นกลุ่มเป้าหมายโครงการ
สภาพบ้านเดิมของหนึ่งในกลุ่มเป้าหมายโครงการบ้านพอเพียงชนบทตำบลฝายแก้ว (หมู่ 15)
กระบวนการดำเนินงาน
“ในขั้นเตรียมข้อมูล ได้มีการประกาศข้อมูลโครงการใน Line Group ของกลุ่มคณะกรรมการสภาองค์กรชุมชน เพื่อให้สำรวจและส่งข้อมูลผู้เดือดร้อน ต่อมาในแต่ละหมู่บ้านจะมีการนำเสนอข้อมูลของแต่ละรายกรณี คณะกรรมการต้องลงพื้นที่สำรวจและประเมินสภาพปัญหาจริง จากนั้นต้องประชุมลงความเห็นและคัดเลือกให้เหลือจำนวนตามกรอบโครงการ ส่วนในรายที่ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือจะถูกนำไปนำเสนอในรอบต่อไปของโครงการ หลักการสำคัญคือเอาความเดือดร้อนเป็นตัวตั้ง”
…ผู้นำท่านหนึ่งอธิบายกระบวนการทำงาน
ขั้นตอนการเรียนรู้และสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับโครงการระหว่างกลุ่มผู้นำชุมชนและอธิบายให้กับสมาชิกชุมชน โดยกลุ่มผู้นำชุมชนและกลไกการทำงานระดับตำบลจะรับหน้าที่หลักในขั้นตอนนี้ โดยในช่วงนี้จะต้องพยายามประชาสัมพันธ์โครงการ
เครืองมือสำคัญคือการจัดประชุมร่วมกันทั้งในระดับชุมชนและระดับตำบล โดยเป็นลักษณะการประชาคมร่วมกัน เปิดโอกาสให้สมาชิกชุมชนเสนอความคิดเห็นและแลกเปลี่ยนถกเถียงกันอย่างเต็มที่เพื่อป้องกันการเข้าใจผิดในภายหลัง จากนั้นจะมีการสำรวจข้อมูลกลุ่มเป้าหมายแต่ละชุมชนและจะจัดเวทีเพื่อนำเสนอข้อมูลร่วมกันเพื่อให้แต่ละชุมชนได้รับทราบและพิจารณาร่วมกัน
“ต้องเลือกคนที่จำเป็นที่สุดหรือคนที่จนที่สุดก่อน” ในการพิจารณาคัดเลือกผู้ได้รับประโยชน์จากโครงการนั้นมีข้อจำกัดด้านงบประมาณและจำนวนกลุ่มผู้รับประโยชน์ จึงต้องร่วมกันพิจารณัดลำดับความรุนแรงของสภาพปัญหาในแต่ละราย โดยในรายที่ไม่ได้รับการช่วยเหลือจากโครงการบ้านพอเพียงชนบทในปีงบประมาณ 2561 จะถูกจัดลำกับไว้เป็นกลุ่มถัดไป
เมื่อมีมติร่วมกันเป็นที่สิ้นสุดแล้ว จะเป็นขั้นตอนของการจัดทำแผนงานโครงการเพื่อนำเสนอ โดยเป็นขั้นตอนด้านงานเอกสาร งานธุรการและการประสานงานระหว่างชุมชน กลไกตำบลและสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) ภายหลังเสร็จสิ้นการดำเนินโครงการ องค์การบริหารส่วนตำบลจะรับบทบาทหลักในการติดตามประเมินผลร่วมกับกลไกสภาองค์กรชุมชน
กลุ่มช่างชุมชน (สล่า) หมู่ 15 ขณะเตรียมปรับปรุงบ้านให้กลุ่มเป้าหมายในโครงการบ้านพอเพียงชนบท
ในการเตรียมพร้อมในการปรับปรุงบ้านของกลุ่มเป้าหมาย ในบางกรณีผู้นำชุมชนจึงต้องขอความร่วมมือกับเพื่อนบ้าน ให้ครอบครัวกลุ่มเป้าหมายโครงการได้อาศัยอยู่ที่บ้านเป็นการชั่วคราวในช่วงที่กำลังปรับปรุงบ้านหลังใหม่ ประกอบกับเพื่อบ้านเดินทางออกไปทำงานต่างจังหวัด กลุ่มผู้นำช่วยพูดคุยกับเพื่อนบ้าน (บ้านเยื้องกัน) ขอให้พ่อกองกับแม่ผันอาศัยอยู่ชั่วคราว
กรณีตัวอย่างของชุมชนนิคมได้ส่งรายชื่อกลุ่มเป้าหมายทั้งหมด 4 หลัง และคัดเลือกเหลือ 1 หลังตามกรอบของโครงการ โดยได้รับงบประมาณเป็นปีแรก คือ นายกอง คำแสง หรือ “พ่อกอง” วัยย่างเข้าเจ็ดสิบปี (เป็นเขยของชุมชน) ภรรยาชื่อนางผัน ต๊ะฤทธิ์ (เป็นคนที่อาศัยในชุมชนมาก่อน) เป็นผู้ป่วยโรคพิการทางสมอง พ่อกองมีรายได้จากเงินเดือนผู้สูงอายุจากรัฐบาลจำนวน 600 บาท ส่วนแม่ผันมีรายได้จากเงินเดือนผู้พิการจากรัฐบาลจำนวน 800 บาท ในอดีตพ่อกองมีอาชีพรับจ้างทั่วไป สุขภาพปัจจุบันมีปัญหาเด้านสายตาฟ่าฟาง (ไม่ได้กินยาโรคประจำตัวใดๆ) ที่ตั้งของบ้านตั้งอยู่ในที่ดินราชพัสดุ (เกือบทั้งพื้นที่ชุมชน) ขณะนี้กำลังขอรับเลขที่บ้านจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สภาพบ้านหลังเดิม (กระท่อม) ไม่สามารถซ่อมแซมหรือปรับปรุงได้ เนื่องจากผุพังแทบทั้งหลัง จึงต้องก่อสร้างใหม่ทั้งหลัง จึงต้องช่วยกันระดมทุนเพิ่มเติมนอกเหนือกว่างบประมาณของบ้านพอเพียงชนบท
นายกอง คำแสงหรือ “พ่อกอง” หนึ่งในผู้ได้รับผลประโยชน์จากโครงการบ้านพอเพียงชทบท ปี 2561
กลไกความร่วมมือและการบูรณาการเครือข่ายการทำงาน
องค์การบริหารส่วนตำบลฝายแก้ว เป็นองค์กรที่รับบทบาทหลักในหลายด้าน อาทิ การเขียนแบบแปลนในการก่อสร้างปรับปรุงบ้านแต่ละหลัง รวมไปถึงเป็นองค์กรประสานงานระหว่างชุมชนกับหน่วยงานภาครัฐ เอกชนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องและในวันที่กำหนดลงมือปรับปรุงก่อสร้างจริง ทางองค์การบริหารส่วนตำบลฝายแก้ว จะคอยอำนวยความสะดวกในทุกด้านร่วมกับสมาชิกแต่ละชุมชน ซึ่งส่วนใหญ่จะรับผิดชอบด้านอาหาร น้ำดื่ม โดยมีกลุ่มแม่บ้านรับหน้าที่หลักและจะมีการขอรับการอนุเคราะห์อาหารเพิ่มเติมจากวัดตำบลเพื่อนำมา “ฮอม” ร่วมกัน มีหน่วยงาน พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดน่าน และ กาชาดจังหวัดน่าน เป็นองค์กรสำคัญที่ร่วมสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติม
สภาองค์กรชุมชน จะเป็นกลไกในการประสานงานกับแต่ละหน่วยงานทั้งในตำบลและภายนอกชุมชน โดยจำแนกกลุ่มที่ต้องประสานงานออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ กลุ่มท้องที่ อาทิ กลุ่มแม่บ้าน กลุ่มช่าง สล่าชุมชน กลุ่มเยาวชน กลุ่มท้องถิ่น อาทิ ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่องค์การบริหารส่วนตำบล เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และ กลุ่มองค์กร/เครือข่ายอื่น อาทิ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พอจ.) กรมป่าไม้ ตำรวจตะเวนชายแดนและทหารในพื้นที่
ตัวอย่างกรณีของชุมบนนิคม[4] (หมู่ 15) กลุ่มผู้นำจัดทำข้อมูลเบื้องต้นและนำเสนอปัญหาต่อกาชาดจังหวัด สนับสนุนงบประมาณจำนวน 25,000 บาทโดยจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ตามแบบการก่อสร้างและนำมาจัดส่งให้สามารถระดมทุนจากภาคเอกชน จำนวน 7,000 บาท คนในชุมชนช่วยบริจาคข้าวสาร อาหาร ผัก ผลไม้ เพื่อใช้ในช่วงปรับปรุงก่อสร้างบ้าน หน่วยงานทหารจาก มทบ.38 นำกำลังทหารมาช่วยก่อสร้างปรับปรุงบ้าน จำนวน 8-10 คน รวมกับช่างของชุมชน (สล่าเก๊า) ซึ่งนับว่าเป็นกำลังแรงงานหลักตลอดระยะการก่อสร้างบ้าน
ด้านองค์การบริหารส่วนตำบลฝายแก้ว โดยนายกองค์การบริหารส่วนตำบล ช่วยสนับสนุนก้อนอิฐในการก่อสร้างจำนวน 150 ก้อน นายช่างขององค์การบริหารส่วนตำบล ช่วยการเขียนแบบแปลนบ้านและสนับสนุนวัสดุก่อสร้างบางส่วน
หน่วยงานทหารจาก มทบ.38 เป็นกำลังแรงงานหลักในการก่อสร้างปรับปรุงบ้าน ร่วมกับกลุ่มช่างในชุมชน
ความเปลี่ยนแปลงหลังการดำเนินโครงการ
“กว่าจะได้บ้านหนึ่งหลัง มันต้องผ่านการถกเถียงกันในชุมชนอย่างเข้มข้น ส่วนคนที่ได้บ้าน จะได้รับการแบ่งปันอาหาร ของใช้ที่จำเป็นจากสมาชิกชุมชนแต่สิ่งที่เขาได้จริงๆ คือ ความรู้สึกในการยังเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน ไม่ถูกลืม มันคือเรื่องศักดิ์ศรีของเขาเอง”
…ผู้นำท่านหนึ่งอธิบายถึงบทเรียนภายหลังการดำเนินโครงการ
กลุ่มเป้าหมายได้รับการช่วยเหลือให้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น มีบ้านที่มั่นคงแข็งแรงมากขึ้น ครอบครัวของกลุ่มเป้าหมายต่างสะท้อนความรู้สึกว่าตัวเองได้รับการยอมรับจากชุมชนและสังคม หลายคนรู้สึกว่าลดความรู้สึกที่ตัวเองเคยโดนดูถูกได้อย่างมาก สุขภาพจิตของสมาชิกครอบครัวผู้ได้รับประโยชน์จากโครงการโดยรวมดีขึ้น
การทำงานในโครงการบ้านพอเพียงชนบท ต้องอาศัยความร่วมมือกับหลายภาคส่วนทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน จึงทำให้เกิดพื้นที่ความร่วมมือในลักษณะใหม่ ที่ดึงทรัพยากรมาร่วมกันช่วยเหลือกลุ่มผู้ด้อยโอกาสในชุมชนหรือในลักษณะที่เป็น “Platform” ของการทำงานที่กลุ่มต่างๆ ในพื้นที่ได้เรียนรู้ประสบการณ์ใหม่
กลุ่มผู้นำหลายท่านเห็นว่ากลุ่มผู้ด้อยโอกาสได้ถูกเชื่อมโยงเข้าเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนมากขึ้น ไม่ได้ถูกแยกขาดออกจากชุมชน ตัวโครงการบ้านพอเพียงชนบทเป็นตัวกระตุ้นความใส่ใจต่อประเด็นผู้ด้อยโอกาสในชุมชน กระตุ้นความใส่ใจและความร่วมมือกันเป็นอย่างดี
“ต่างฝ่ายได้เรียนรู้ทักษะใหม่ในการทำงานกับหน่วยงานระดับอำเภอและจังหวัด ซึ่งที่ผ่านมาไม่ได้มีโอกาสร่วมงานโดยตรง ทำให้รู้ว่าแต่ละหน่วยงานมีข้อเด่นนหรือข้อด้อยแบบไหน”
…ผู้นำท่านหนึ่งอธิบายถึงบทเรียน
ปัจจัยแห่งความสำเร็จ
“ทุนทางสังคม” (Social capital) เป็นสิ่งที่คนในตำบลรับรู้และเห็นถึงความสำคัญที่มีผลต่อการอยู่อาศัยและขับเคลื่อนงานพัฒนาท้องถิ่นร่วมกัน โดยกลุ่มผู้นำอธิบายจำแนกออกเป็น 2 มิติใหญ่ ได้แก่
1) มิติของประเพณีท้องถิ่นวิถีการผลิต มีต้นทุนสำคัญที่ยึดโยงระหว่างกัน อาทิ ความรู้ของกลุ่มปราชญ์ชุมชน งานประเพณี “หกเป็ง” วัดพระธาตุแช่แห้ง ประเพณี “ตานสลากภัตร” (ทำบุญสลากภัทร) ประเพณีรดน้ำดำหัวผู้สูงอายุ รวมถึงกิจกรรมการประชุมระดับตำบลและการพัฒนาข้อมูลการจัดการทรัพยากร ด้านวิถีการผลิต มีความพยายามรวมกลุ่มที่หลากหลายเพื่อพัฒนาการสร้างรายได้ อาทิ กลุ่มทางการเกษตร (ข้าวอินทรีย์ ปุ๋ยหมัก ไม้เศรษฐกิจ ข้าวโพด ยางพารา ) กลุ่มงานปศุสัตว์ (ไก่ วัว หมู) กลุ่มแปรรูปผลผลิต (ถั่วงอกและไข่เค็ม) และกลุ่มอาชีพเสริม (จัดสาน)
2) มิติความสัมพันธ์ทางสังคม ที่มีสภาองค์กรชุมชนเป็นกลไกสำคัญที่ทำงานใกล้ชิดกับกลุ่มต่างๆ ในระดับชุมชน เชื่อมประสานกับหน่วยงานของท้องถิ่นและหน่วยงานระกับอำเภอกลุ่มแม่บ้าน กลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ชมรรมผู้สูงอายุ กองทุนหมู่บ้าน กองทุนสวัสดิการชุมชน อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) โดยจะประสานงานเชื่อมกับหน่วยงานระดับท้องถิ่นและระดับอำเภอเป็นหลัก อาทิ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ฝ่ายปกครองอำเภอ สำนัก
กรณีตัวอย่างการสนับสนุนจากหน่วยงานทหาร เนื่องจากผู้บัญชาการหน่วยที่เกี่ยวข้อง (ผู้กอง) สามารถพูดคุยประสานงานขอสนับสนุนด้านกำลังพลได้เป็นอย่างดี เนื่องจากเป็นหน่วยที่เกี่ยวข้องกับงานมวลชนสัมพันธ์โดยตรง จึงมีความใกล้ชิดกับชุมชนเป็นพิเศษ
ต้นทุนทางสังคมของตำบลที่เข้มแข็งและหลากหลาย ยังถูกเสริมสร้างและปรับตัวตามยุคสมัย ปรับตัวตามสถานการณ์ทางนโยบาย โดยเฉพาะกลุ่มผู้นำส่วนใหญ่ในแต่ละชุมชนถือว่าเป็นผู้มีประสบการณ์สูง เนื่องจากผ่านการทำงานพัฒนามายาวนานกว่าสองทศวรรษและมีความพยายามเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้พัฒนาตัวเอง เข้ามามีส่วนร่วมในการทำงานมาอย่างต่อเนื่อง สมาชิกชมุชนเห็นว่ากิจกรรมในการซ๋อมแซมปรับปรุงบ้านช่วยรวมพลังจิตอาสาของสมาชิกชุมชนให้คึกคัก
บ้านของพ่อกอง (หมู่ 15) หลังจากได้รับการปรับปรุง (กำลังอยู่ระหว่างจัดเก็บวัสดุอุปกรณ์บริเวณบ้าน)
ปัญหาและอุปสรรคการดำเนินการ
- ขั้นตอนของการจัดทำเอกสารของโครงการมีความละเอียดซับซ้อน มีความเฉพาะเจาะจงตามลักษณะโครงการ ซึ่งชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่คุ้นชิน
- งบประมาณในการซ่อมสร้างหรือปรับปรุงมีจำนวนน้อยเกินไปเมื่อเปรียบเทียบกับสภาพความเป็นจริงส่วนใหญ่ของบ้านกลุ่มเป้าหมาย ในบางกรณีตัวบ้านไม่สามารถปรับปรุงเฉพาะจุดได้ เนื่องจากโครงสร้างหลักผุพัง จึงต้องสร้างใหม่แทบทั้งหลัง
- กฎระเบียบและอำนาจหน้าที่ของแต่ละหน่วยงาน (ระบบราชการ)
- ช่วงเวลาในการดำเนินโครงการ ที่อาจจะคาบเกี่ยวกับปฏิทินการผลิตทางการเกษตร
- ในบางช่วงมีการสื่อสารระหว่างกลุ่มผู้นำที่รับผิดชอบกับกลุ่มเป้าหมายน้อยจนเกินไปหรือไม่ได้สื่อสารอย่างสม่ำเสมอ (ส่วนหนึ่งเกิดจากรอยต่อของขั้นตอนโครงการ)
- ควรเพิ่มจำนวนงบประมาณโครงการ
แผนพัฒนาและข้อเสนอต่อทิศทางในอนาคต
- ควรมีกิจกรรมหรือเทคนิคการดำเนินโครงการที่สร้างการสำนึกต่อการ
- โครงการควรมีการสนับสนุนแผนงานในการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ด้อยโอกาสให้ขยายประเด็นมากกว่าเรื่องที่อยู่อาศัย อาทิ การสนับสนุนทุนการประกอบอาชีพ
- ในระดับชุมชนและตำยลควรมีการระดมาทุนเพื่อสร้างกองทุนด้านที่อยู่อาศัยเพื่อเตรียมรับกับสถานการณ์ในอนาคต หากไม่ได้รับสนับสนุนงบประมาณเฉพาะจากโครงการบ้านพอเพียงชนบท
- ภายในตำบลควรมีการพัฒนากองทุนสวัสดิการชุมชนหรือกองทุนออมทรัพย์
- สนับสนุนให้มีการขยายการจัดตั้งสภาพัฒนางองค์กรชุมชนเพิ่มครอบคลุม
- ชุมชนเองควรวางแนวทางการช่วยเหลือกลุ่มผู้ด้อยโอกาสของตัวเอง นอกเหนือจากโครงการจากภายนอก
[1] ศูนย์บริการข้อมูลอำเภอ เข้าถึงได้จาก http://www.amphoe.com/menu.php?mid=1&am=849&pv=25
[2] กรมทรัพยากรธรณี (2556)
[3] ภาพจากศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยตำบลฝายแก้ว (2558)
[4] ชุมชนตั้งมานานกว่า 60 ปี ตั้งอยู่ในที่ดินราชพัสดุ (ประมาณ 2494) ได้รับพระราชทานช่วงในหลวงรัชกาลที่ 9พื้นที่บางส่วนของชุมชนเป็นี่ดิน นสล ชุมชนแห่งนี้ถูกจัดตั้งในช่วงที่เกิดโรคระบาดหนัก หน่วยงานราชการจึงต้องแยกชาวบ้านออกมาอาศัยอยู่ในบริเวณเดียวกันและมีการแยกรักษาโรคและป้องกันการแพร่ระบาด จนสามารถควบคุมสถานการณ์ระบาดของโรคได้ เรียกได้ว่าการเกิดขึ้นของชุมชนนิคมนั้น เกิดมาจากการรักษาและควบคุมโรคระบาดในอดีตจนก่อรูปเป็นชุมชนที่ตั้งอยู่มาจนถึงปัจจุบัน (ลักษณะคล้ายกับชุมชนกักกันโรคติดต่อ) ในอดีตมีการแบ่งพื้นที่ของชุมชนเพื่อสร้างโรงเรียนแห่งหนึ่งกว่าร้อยไร่ ซึ่งเป็นที่ดินทำกินเดิมของชุมชน จนถึงปัจจุบันสมาชิกชุมชนที่เสียสละที่ดินทำกินยังไม่ได้รับค่าชดเชยตามโครงการดังกล่าว ประวัติดั้งเดิมในแถบนี้ เคยถูกเรียกกันว่า “บ้านภูเขง” ซึ่งเป็นชื่อของเจ้าหลวงภูเขง (ปัจจุบันยังมีศาลที่คนในชุมชนเคารพนับถือ) สันนิษฐานว่าเรียกตามชื่อของเจ้าหลวในอดีต