บริบทพื้นที่และสถานการณ์ปัญห
จังหวัดน่าน ตั้งอยู่ติดกับชายแดนทางด้านทิศตะวันออกของภาคเหนือตอนบน ติดกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ( สปป.ลาว ) มีระดับความสูงของพื้นที่อยู่สูง 2,112 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง มีพื้นที่ 11,472.076 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 7,170,045 ไร่ ลักษณะภูมิประเทศมีทิวเขาหลวงพระบางและทิวเขาผีปันน้ำ ซึ่งเป็นทิวเขาหินแกรนิตความสูง 600-1,200 เมตร เหนือระดับน้ำทะเลทอดผ่านพื้นที่จังหวัด (ประมาณร้อยละ 40 ของจังหวัด) ลักษณะพื้นที่โดยทั่วไปมีสภาพคล้ายลูกคลื่นที่มีความลาดชันเกิน 30 องศา สัดส่วนประมาณร้อยละ 85 ของพื้นที่จังหวัด มีที่ราบระหว่างหุบเขาตามแนวยาวของลุ่มน้ำ น่าน, สา, ว้า, ปัวและกอน ลักษณะภูมิอากาศของจังหวัดน่าน มีความแตกต่างกันของฤดูกาล โดยอากาศ จะร้อนอบอ้าวในฤดูร้อนและหนาวเย็นในฤดูหนาว จังหวัดน่านมีพื้นที่รวมทั้งสิ้น 7,170,045 ไร่ หรือ 11,472.07 ตารางกิโลเมตร จำแนกเป็นพื้นที่ป่าไม้และภูเขาร้อยละ 47.94 พื้นที่ป่าเสื่อมโทรมร้อยละ 39.24 พื้นที่ทำการเกษตรร้อยละ 12.22 พื้นที่อยู่อาศัยและอื่นๆ ร้อยละ 0.60
ด้วยการเป็นจังหวัดที่มีทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะพื้นที่ป่าจำนวนมาก จึงมีหน่วยงานด้านการจัดการทรัพยากรจำนวนมาก มีจำนวนอุทยานแห่งชาติ 7 แห่ง, วนอุทยาน 1 แห่ง, เขตห้ามล่าสัตว์ป่า 1 แห่ง และสวนรุกขชาติ 2 แห่ง ได้แก่ อุทยานแห่งชาติดอยภูคา อุทยานแห่งชาติศรีน่าน อุทยานแห่งชาติแม่จริม อุทยานแห่งชาติถ้ำสะเกิน อุทยานแห่งชาตินันทบุรี อุทยานแห่งชาติขุนสถาน อุทยานแห่งชาติขุนน่าน วนอุทยานถ้ำผาตูบ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าภูฟ้า สวนรุกขชาติแช่แห้ง สวนรุกขชาติห้วยน้ำอุ่น
ด้านลักษณะทางเศรษฐกิจ ในภาคการเกษตร มีสัดส่วนร้อยละ 31.24 และนอกภาคเกษตรมีสัดส่วนร้อยละ 68.76 มีพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ (ข้อมูลปี 2558 จากสำนักงานเกษตรจังหวัดน่าน) ได้แก่ 1) ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งมีเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จำนวน 36,504 ครัวเรือน พื้นที่ปลูก จำนวน795,482.25 ไร่ ผลผลิตรวม 95,629,490 กิโลกรัม โดยมีผลผลิตต่อไร่ 514.35 กิโลกรัมต่อไร่ 2) ข้าวนาปี มีเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปี 2557-2558 จังหวัดน่าน พบว่ามีเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปีจ้านวน 35,149 ครัวเรือน พื้นที่ปลูก 206,879.25 ไร่ ผลผลิตรวม 106,187,005.5 กิโลกรัม โดยมีผลผลิตต่อไร่ 508.77 กิโลกรัมต่อไร่ 3) ยางพารา พบว่ามีเกษตรกรผู้ปลูกยางพารา จำนวน 17,018 ครัวเรือน พื้นที่ปลูก 178,248.73 ไร่ ผลผลิตรวม 16,257,050.25 กิโลกรัม โดยมีผลผลิตต่อไร่ 385.98 กิโลกรัมต่อไร่
อำเภอสันติสุข แต่เดิมนั้นเป็นส่วนหนึ่งของอำเภอเมืองน่านและอำเภอแม่จริม ต่อมาเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ.2524 จึงมีประกาศกระทรวงมหาดไทยให้แยกตำบลดู่พงษ์และตำบลป่าแลวหลวงออกจากการปกครองของอำเภอเมืองน่าน รวมตั้งเป็นกิ่งอำเภอสันติสุขต่อมาในวันที่ 21 เมษายน พ.ศ.2526 มีพระราชกฤษฎีกาฯ เปลี่ยนแปลงเขตอำเภอแม่จริม กับกิ่งอำเภอสันติสุข จังหวัดน่าน โดยให้โอนตำบลพงษ์ อำเภอแม่จริม ไปขึ้นกับกิ่งอำเภอสันติสุข และเมื่อถึงวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ.2537 จึงยกฐานะขึ้นเป็น อำเภอสันติสุข จนถึงปัจจุบัน
ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอท่าวังผาและอำเภอปัว
ทิศตะวันออก ติดต่อกับอำเภอบ่อเกลือและอำเภอแม่จริม
ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอแม่จริมและอำเภอภูเพียง
ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอภูเพียงและอำเภอเมืองน่าน
อำเภอสันติสุขแบ่งเขตการปกครองย่อยออกเป็น 3 ตำบล ได้แก่ ตำบลดู่พงษ์ ตำบลป่าแลวหลวงและตำบลพงษ์ (จำนวน 31 หมู่บ้าน) มีเนื้อที่ 416.838 ตางรางกิโลเมตร ประกอบด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 3 แห่ง ได้แก่ 1) องค์การบริหารส่วนตำบลดู่พงษ์ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลดู่พงษ์ทั้งตำบล 2) องค์การบริหารส่วนตำบลป่าแลวหลวง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลป่าแลวหลวงทั้งตำบล 3) องค์การบริหารส่วนตำบลพงษ์ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลพงษ์ทั้งตำบล อำเภอสันติสุขตั้งอยู่ทางตอนกลางของจังหวัด
แผนที่แสดงที่ตั้งและอาณาเขตติดต่อของอำเภอสันติสุข
จำนวนประชากรในอำเภอ รวม 15,968 คน คนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม การปศุสัตว์ ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ผักกาดเขียวปลี มีแหล่งน้ำสำคัญ คือ ลำน้ำมวบ ลำน้ำว้า อ่างเก็บน้ำห้วยขอนแก่น อ่างเก็บน้ำพงษ์ น้ำตกแม่สะนาน
ข้อมูลจำแนกลักษณะพื้นที่อำเภอสันติสุข (จากเครือข่ายเรียนรู้รักษ์ป่าน่าน)
ตำบลป่าแลวหลวง เป็นตำบลหนึ่งในอำเภอสันติสุข จังหวัดน่าน ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของอำเภอ
สภาพภูมิประเทศเป็นที่ราบ ส่วนใหญ่ประกอบด้วยภูเขามีความสูงประมาณ 600-1200 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลและมีความลาดชันเกินกว่า 30 องศา มีที่ดินทำกินบางส่วนอยู่ในเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่น้ำน่านตะวันออกตอนใต้
อาณาเขตติดต่อ ได้แก่
ทิศเหนือ ติดต่อตำบลตาลชุม อำเภอท่าวังผา และตำบลอวน อำเภอปัว
ทิศตะวันออก ติดต่อตำบลพงษ์ อำเภอสันติสุข
ทิศใต้ ติดต่อตำบลดู่พงษ์ อำเภอสันติสุข และตำบลเมืองจัง อำเภอภูเพียง
ทิศตะวันตก ติดต่อตำบลบ่อ อำเภอเมืองน่าน
ลักษณะการปกครองออกเป็น 10 หมู่บ้าน ได้แก่ หมู่ 1 บ้านป่าแลว, หมู่ 2 บ้านอภัยคีรี, หมู่ 3 บ้านดอนอภัย, หมู่ 4 บ้านป่าอ้อย, หมู่ 5 บ้านสบยาง, หมู่ 6 บ้านดอนไชย, หมู่ 7 บ้านน่านมั่นคง, หมู่ 8 บ้านแก่งโสภา, หมู่ 9 บ้านหลวงเจริญราษฎร์และหมู่ 10 บ้านพนาไพร
โดยทั้ง 10 หมู่บ้านอยู่ในการดูแลขององค์การบริหารส่วนตำบลป่าแลวหลวง[1] ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 100.03 ตารางกิโลเมตร หรือราว 62,518 ไร่ มีจำนวนประชากรในพื้นที่ทั้งสิ้น 4,485 คน (แยกเป็น ชาย 2,216 คน หญิง 2,269) หมู่บ้านที่มีประชากรมากที่สุด ได้แก่ หมู่ที่ 3 บ้านดอนอภัย หมู่ที่ 4 บ้านป่าอ้อย หมู่ที่ 1 บ้านป่าแลว หมู่ที่ 2 บ้านอภัยคีรี ตามลำดับ หมู่บ้านที่มีประชากรน้อยที่สุดคือ หมู่ที่ 8 บ้านแก่งโสภา
คนส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 80 ประกอบอาชีพทำการเกษตรกรรม ได้แก่ ทำนา ปลูกข้าว ข้าวโพด การเลี้ยงสัตว์เป็นอาชีพเสริมและเพื่อการบริโภคในครัวเรือน เช่น การเลี้ยงไก่ เป็ด สุกร โค กระบือ เลี้ยงสัตว์น้ำจืด เช่น ปลานิล ปลาตะเพียน ปลายี่สกเทศ ประกอบกับรอาชีพส่วนตัวและรับจ้างทั่วไป มีแหล่งน้ำไหลผ่านจำนวน 2 สาย คือ ลำน้ำมวบและลำน้ำยาง ซึ่งในช่วงฤดูฝนจะมีปริมาณน้ำค่อนข้างมากและเกิดปัญหาอุทกภัยบ่อยครั้ง ส่วนในฤดูแล้งจะประสบปัญหาแหล่งน้ำแห้งและไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้การอุปโภคและภาคเกษตรกรรม
ลักษณะทางสังคม ประชากรส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ลื้อ โดยมีประเพณีเลี้ยงผีบรรพบุรุษ เป็นกิจกรรมสำคัญในการเชื่อมความสัมพันธ์ของเครือญาติให้ได้มาพบปะพูดคุยกัน (จัดขึ้นปีละ1ครั้ง) คนส่วนใหญ่พูดภาษาพื้นเมืองล้านนา ภาษาไทยลื้อ ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ มีศาสนาสถานทางพุทธศาสนา ประกอบด้วยวัด สำนักสงฆ์และสถานที่ปฏิบัติธรรมเพื่อใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาจำนวน 8 แห่ง ได้แก่ วัดป่าแลว วัดอภัยคีรี วัดป่าอ้อย วัดสบยาง วัดดอนไชย วัดน่านมั่นคง ที่พักสงฆ์บ้านแก่งโสภาและสถานปฏิบัติธรรมวังเหิบหลวง
การรวมกลุ่มภายในตำบลมีทั้งด้านสังคม สวัสดิการ การเงิน กลุ่มอาชีพ อาทิ กองทุนหมู่บ้าน กลุ่มออมทรัพย์ กลุ่มอาสาสมัครสาธารณะสุข (อสม.) ชมรมอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) ชมรมกองพันชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.หมู่บ้าน) กลุ่มแม่บ้าน/กองทุนพัฒนาสตรี กองทุนแม่ของแผ่นดิน กลุ่มฌาปนกิจศพ หมู่บ้านอาสาพัฒนาและป้องกันตนเอง (อพป.) กลุ่มเยาวชน
วัดอภัยคีรี (หมู่ 2) หนึ่งในสถานที่สำคัญของตำบลป่าแลวหลวง
จากคำบอกเล่าของคนในชุมชนสันนิษฐานว่าชื่อตำบลแต่เดิมมาจาก “ต้นแลว” ที่ในอดีตมีอยู่จำนวนในพื้นที่ โดยส่วนใหญ่นำมาใช้จักสานวัสดุเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ ส่วนถนนภายในหมู่บ้านทั้งสองข้างทางนั้น ตั้งแต่อดีตนั้นได้ถูกหน่วยงานราชการห้ามให้มีการปลูกต้นไม้ใดๆ (ในยุคการเคลื่อนไหวของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย) [2] เป็นระยะกว่า 1,500 เมตรจากขอบทาง โดยภายหลังในยุคต่อมาชาวบ้านในพื้นที่จึงเริ่มเข้าไปจับจองทำกินเรื่อยมา จนเข้าสู่ยุคของการส่งเสริมให้ปลูกข้าวโพดและด้วยการที่ภูมิประเทศอยู่ติดกับแนวเขตชายแดน จึงทำให้ชุมชนต้องคอยเฝ้าระวังกับปัญหาการขนส่งยาเสพติดอย่างต่อเนื่อง
“ช่วงต้นทศวรรษ 2530 การทำเกษตรลักษณะพืชเศรษฐกิจอย่างข้าวโพดเริ่มเป็นที่นิยม ในบางพื้นที่ยังทำเกษตรแบบไร่หมุนเวียนเป็นหลัก มีพื้นที่ป่าหรือทรัพยากรธรรมชาติยังอุดมสมบูรณ์ ต่อมาจึงเริ่มทำข้าวโพดจากพันธุ์สุวรรณ 1-3 (ที่ขยายต่อได้) การนิยมปลูกข้าวโพดเริ่มส่งผลต่อ การเปลี่ยนแปลงสภาพการใช้ประโยชน์ในที่ดิน คนในพื้นที่เริ่มขยายพื้นที่ปลูกมากขึ้น ประกอบกับหน่วยงานภาครัฐไม่ได้เข้ามาควบคุมดูแลอย่างจริงจังแลเมื่อเจ้าหน้าที่รัฐก็ไม่ได้ว่าอะไร ชาวบ้านก็อยากปลูกขายเยอะๆ”
…ผู้นำท่านหนึ่งเล่าถึงการเปลี่ยนแปลงในอดีต
ต่อมาบริษัทเอกชนเข้ามามีบทบาทในเชิงส่งเสริมการปลูกอย่างจริงจิง ประกอบกับการเข้ามามีบทบาทของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ในฐานะแหล่งเงินกู้หลักเพื่อการลงทุนทางการเกษตร ภายหลังจากยุคเข้าโพดเข้ามาเป็นพืชกระแสหลัก ผลการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นชัดเจน คือ คนในพื้นที่ต้องเผชิญกับภาวะหนี้สินหมุนเวียน เสี่ยงกับสารเคมีตกค้างและการลดหายไปของพื้นที่ป่าเดิม แม้ในทางเศรษฐกิจจะมีรายได้หมุนเวียนรายปีหรือรายงวดปลูก ในช่วงที่ราคาข้าวโพดตกต่ำ หลายครอบครัวต้องเดินทางออกนอกชุมชนเพื่อไปรับจ้างต่างอำเภอ ต่างจังหวัด
ช่วง พ.ศ.2540-2545 ถือว่าเป็นช่วงที่ข้างโพดมีราคาสูง (ราคาดี) และเริ่มมีการส่งเสริมปลูกยางพารามากขึ้น กลุ่มชาวบ้านที่เดินทางไปรับจ้างนอกชุมชนเริ่มทยอยกลับมาลงทุนปลูกพืชเศรษฐกิจอีกระลอก ในกระแสของเครือข่ายภาคประชาชนด้านที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติขณะนั้นมีการผลักดันนโยบายป่าชุมชน ในช่วงนี้ถือว่าในระดับท้องถิ่นยังไม่มีงบประมาณจากภายนอกเข้ามามากนัก ยังอาศัยความร่วมมือกันภายในท้องถิ่นเป็นส่วนใหญ่
ช่วงต้นทศวรรษ 2550 สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) เข้ามามีบทบาทในหารหนุบเสริมกระบวนการพัฒนาในพื้นที่ เริ่มมีการรวมตัวกันเป็นเครือข่ายคนทำงานด้านพัฒนามากขึ้น ต่อมาได้มีการจัดตั้ง “สภาองค์กรชุมชน” โดยในตำบลป่าแลวหลวงได้จัดอย่างเป็นทางการเมื่อ พ.ศ.2552 ซึ่งถือว่าเป็นการยกระดับที่สำคัญของขบวนการทำงานของภาคประชาชนในระดับพื้นที่เนื่องจากได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการขับเคลื่อนงานอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะในการขับเคลื่อนนโยบาย “โฉนดชุมชน” เพื่อแก้ไขปัญหาสิทธิในที่ดินทำกินของชุมชน ขณะนั้นได้มีการพัฒนาระบบข้อมูลภูมิศาสตร์สารสนเทศแบบสมัยใหม่ (GIS) แต่ละชุมชนเริ่มมีแผนที่แสดงพิกัดขอบเขตที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัยอย่างชัดเจน ได้เรียนรู้การจับพิกัดดาวเทียมหรือที่เรียกกันคุ้นชินว่า “จับจีพีเอส”
นโยบายรัฐที่สำคัญในช่วงดังกล่าว คือ การส่งเสริมปลูกยางพารา โดยมีการแจกกล้ายางให้กับเกษตรกร ประกอบกับเป็นช่วงที่ราคาข้าวโพดตกต่ำ จนมีการรวมตัวเรียกร้องราคาข้าวโพด (ม็อบข้าวโพด) ณ บริเวณศาลากลางจังหวัด ช่วง พ.ศ.2552-2553
ภายหลัง พ.ศ.2554 ได้รับงบสนับสนุนต่อเนื่องจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) กว่าล้านบาทในการทำงาน ทำให้กลุ่มผู้นำและท้องถิ่นได้ทำงานร่วมกันมากขึ้น ด้านชีวิตความเป็นอยู่โดยรวมของคนในตำบลยังพึ่งพาการทำไร่ข้าวโพดเป็นหลักมาต่อเนื่อง ปัญหาหนี้สินเริ่มขยายความรุนแรงจนคนรู้สึกคุ้นชิน (เป็นธรรมดา) จากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นจากเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ยเคมี รถไถ โดยหากช่วงที่ข้าวโพดมีราคาสูง จะกลายเป็นกระแสให้คนขยายพื้นที่ปลูกมากขึ้น ในขณะที่กลุ่มผู้นำส่วนใหญ่ยังคงร่วมสนับสนุนนโยบายโฉนดชุมชนต่อเนื่อง ในช่วงดังกล่าวได้เกิดภัยธรรมชาติทั้งน้ำท่วมและภัยแล้ง ได้มีการสำรวจข้อมูลผู้ประสบภัย (ผู้ยากไร้ ด้อยโอกาส ผู้พิการ) พบว่ามีจำนวนกว่า 50 ครัวเรือนในตำบล ต่อมามีความเคลื่อนไหวด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ คือ การจัดเวทีการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยภาคเหนือ (มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เดินทางมาเป็นประธาน) การจัดทำข้อบัญญัติว่าด้วยการจัดการทรัพยากรธรรมชาติฯ การจัดตั้งศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีชุมชน สืบเนื่องมาถึง พ.ศ.2560 ที่ตำบลป่าแลวหลวงได้เริ่มดำเนินโครงการบ้านพอเพียงชนบทกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนทั้งสิ้นจำนวน 10 หลังคาเรือน (ตำบลป่าแลวหลวงเป็นพื้นที่จัดพิธีส่งมอบบ้านพอเพียงชนบท จังหวัดน่าน) และต่อเนื่องมาถึง พ.ศ.2561 ได้รับการสนับสนุนจำนวน 5 หลังคาเรือน
ต่อมาภายหลัง พ.ศ.2557 นโยบายรัฐด้านที่ดินและทรัพยากรมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก ส่งผลให้คนในตำบลต้องเผชิญกับสถานการณ์โดยตรง โดยเฉพาะนโยบายทวงคืนผืนป่า โครงการของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) นโยบายการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติถ้ำสะเกินเพิ่มเติมและต้องเผชิญกับกระสังคมเกี่ยวกับภูเขาหัวโล้น ซึ่งทำให้ตำบลป่าแลวหลวงเป็นหนึ่งในพื้นที่เป้าหมายของโครงการต่างๆ ทั้งของหน่วยงานรัฐและเอกชน เช่น โครงการสวมหมวกให้ภูเขา สวมรองเท้าให้ตีนดอย โครงการปลูกป่าของศิลปินดารา (โจ้อี้บอย) โครงการปลูกไม้ยืนต้นของ คทช. ด้านคนในชุมชนเองก็มีความพยายามในการยกระดับขบวนการทำงานด้านทรัพยากรในพื้นที่ตำบลไปสู่ “ป่าแลวโมเดล”
ปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในตำบลมีแนวโน้มสูงขึ้น ประกอบกับลักษณะภูมิประเทศเป็นพื้นที่ป่าเขาลาดชัน ไม่เหมาะสมการปลูกพืชเศรษฐกิจ การขยายพื้นที่ทำกินยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ในขณะที่สภาพดินเสื่อมโทรมจากการใช้สารเคมี การปลูกพืชเชิงเดี่ยวส่งผลให้มีการชะล้างพังทลายของหน้าดินและการทำให้ดินเสื่อมสภาพ ปัญหาหนี้สินยังเป็นประเด็นสำคัญมายาวนาน ปัญหาเร่งด่วนในปัจจุบัน คือ การประกาศแนวเขตอุทยานแห่งชาติถ้ำสะเกิน ที่อาจจะส่งผมกระทบกับที่อยู่อาศัยและที่ทำกินของคนในพื้นที่ ในขณะที่คนในตำบลยังต้องเผชิญกับปัญหาเรื่องกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ได้แก่ ปัญหาการไม่มีเอกสารสิทธิ์ในที่ดิน พื้นที่ที่ใช่ประโยชน์ทางการเกษตรมีหลายพื้นที่ถูกถือครองโดยไม่มีเอกสารสิทธิ์ที่ถูกต้องตามกฎหมาย อยู่ในเขตพื้นที่ควบคุมของเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่น้ำน่านฝั่งตะวันออกตอนใต้ โดยมีการจำแนกเขตการใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าอนุรักษ์และพื้นที่ป่าเศรษฐกิจ เดิมเกษตรกรบุกรุกแผ้วถางเพื่อปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปัจจุบันประชาชนในตำบลทุกหมู่บ้านยังมีการอนุรักษ์และดูแลรักษาป่าไม้ร่วมกันเพื่อเป็นป่าชุมชนของแต่ละหมู่บ้าน จำนวน 10 หมู่บ้าน ประกอบกับมีนโยบายส่งเสริมการปลูกไม้เศรษฐกิจ ประชาชนจึงได้ปลูกไผ่ ทดแทนไร่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์
พื้นที่ทางการเกษตร(บนที่สูง) ในตำบล
กระบวนการดำเนินงาน
ในการดำเนินงานโครงการบ้านพอเพียงชนบท ขั้นตอนที่กลุ่มผู้นำให้ความสำคัญอย่างมาก คือ การทำความเข้าใจร่วมกันต่อแนวคิดการทำงานระหว่างกลุ่มผู้นำด้วยกัน (ก่อนที่จะนำไปพูดคุยกับสมาชิกชุมชน) โดยมีเวทีการประชุมประจำเดือนเพื่อนำประเด็นต่างไปพูดคุยกันเป็นประจำ ถือว่าเป็นกิจกรรมหลักที่สำคัญ
ในช่วงแรกของการดำเนินงาน จะได้เริ่มทำความเข้าใจระหว่างกลุ่มผู้นำชุมชนเป็นกลุ่มแรก เพราะต้องนำข้อมูลการดำเนินงานโครงการไปชี้แจงกับสมาชิกชุมชนต่อไป กระบวนการสำคัญที่ใช้ คือ เริ่มจากการร่วมวิเคราะห์ศักยภาพชุมชน ร่างแผนงานระดับชุมชน/ตำบล จากนั้นจะจัดเวทีประชาคมร่วมกันในระดับชุมชนเพื่อทำความเข้าใจและเริ่มกระบวนสำรวจข้อมูลเพื่อคัดเลือกผู้เดือดร้อนในทุกชุมชน ถือว่าเป็นการคัดเลือกในรอบแรกเข้าสู่การคัดกรองกลุ่มเป้าหมายระดับตำบล โดยเรียงลำดับจากผู้ที่เดือดร้อนที่สุด โดยมีหลักการพิจารณากลุ่มเป้าหมาย คือ เป็นผู้ยากไร้ ด้อยโอกาสหรือพิการ เป็นผู้ที่ให้ความร่วมมือกับกิจกรรมชุมชนเป็นอย่างดีและเป็นผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องกับปัญหายาเสพติด เมื่อได้กลุ่มเป้าหมายตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของโครงการแล้ว จะมีการจัดประชุมเพื่อสรุปผลการคัดเลือกผู้รับประโยชน์จากโครงการของแต่ละชุมชน เป็นการทำความเข้าใจร่วมกันของชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อนที่สภาองค์การชุมชนและท้องถิ่นจะมีการจัดทำข้อเสนอโครงการและเอกสารที่เกี่ยวข้องส่งไปยังสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนเพื่ออนุมัติต่อไป
กลไกความร่วมมือและการบูรณาการเครือข่ายการทำงาน
“อำเภอไหนที่นายอำเภอมีความเข้าใจในการทำงานของภาคประชาชนและสนับสนุนการประสานงาน จะทำให้การดำเนินโครงการเป็นไปได้อย่างราบลื่นและยิ่งหากผู้ราชการจังหวัดให้การสนับสนุนยิ่งจะทำให้การดำเนินโครงการสำเร็จลุล่วงได้ง่าย”
…ผู้นำท่านหนึ่งกล่าวถึงปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญ
สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) เป็นผู้สนับสนุนงบประมาณหลักในการซ่อมแซมปรับปรุงบ้านเป็นผู้สนับสนุนงานพัฒนาศักยภาพชุมชน โดยเฉพาะช่วงก่อนดำเนินโครงการ เช่น กิจกรรมพัฒนาศักยภาพผู้นำ การจัดการความรู้ งานกระบวนการทำงาน งานสื่อสาร
ด้านกลุ่มผู้นำชุมชน เช่น ผู้ใหญ่บ้าน เป็นกรรมการของสภาองค์กรชุมชน มีบทบาทในการร่วมประสานงานในระดับชุมชน การประชาสัมพันธ์ ช่วยระดมแรงงานในชุมชน โดยมีแรงงานช่วยก่อสร้างหลัก คือ กลุ่มช่างชุมชน (สล่าบ้าน) กำลังทหาร (ค่าย ม.พัน10) และกองอาสารักษาดินแดน (อส.) กลุ่มอาสาสมัครสาธารณะหมู่บ้าน (อสม.) ที่ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มแม่บ้าน จะรับหน้าที่ด้านอาหาร น้ำดื่ม ดูแลงานปฐมพยาบาลเบื้องต้น
สภาองค์กรชุมชน รับหน้าที่หลักในการประสานงานระหว่างหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องร่วมพิจารณาราคา วัสดุก่อสร้าง ร่วมดูแลงานจัดซื้อจัดจ้างและจัดทำเอกสารรายงานกิจกรรม การสนับสนุนเพิ่มเติมทั้งด้านงบประมาณเสริมและสิ่งของเครื่องใช้ทั่วไป ได้รับจากองค์การบริหารส่วนตำบลป่าแลวหลวง หน่วยงานกาชาดจังหวัดที่สมทบทุนจัดซ้อแผ่นหลังคา พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พมจ.) ได้มอบเงินสงเคราะห์ผู้ยากไร้ให้กับกลุ่มเป้าหมาย รายละ 2,000 บาท พัฒนาชุมชนอำเภอ ช่วยสนับสนุนอุปกรณ์ยังชีพในชีวิตประจำวัน (ถุงยังชีพ) รวมถึงจากหน่วยงานระดับอำเภอ
นอกจากนั้นในบางหมู่บ้านได้นำบางส่วนของกำไรหรือดอกเบี้ยที่ได้จากการดำเนินงานกองทุนหมู่บ้านมาช่วยสมทบทุนในการปรับปรุงบ้านผู้ด้อยโอกาส
ความเปลี่ยนแปลงหลังการดำเนินโครงการ
ช่วง พ.ศ.2550-2553 สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชมเริ่มเข้ามาสนับสนุนอย่างเข้มข้น กลไกการทำงานแบบ “สภาองค์กรชุมชน” เกิดขึ้นละถือว่าเป็นเครื่องมือแบบใหม่ที่พยายามผสานความเป็นระเบียบทางราชการกับลักษณะการทำงานของภาคประชาชน
เมื่อคนในชุมชนเริ่มรู้จักสภาองค์กรชุมชนและเข้ามามีบทบาทในการทำกิจกรรมร่วมกันมากขึ้นภายหลังการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชน ส่งผลให้กลุ่มผู้นำได้มีโอกาสขับเคลื่อนงานและสั่งสมประสบการณ์อย่างต่อเนื่อง หลายคนปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานที่เน้นกลไกการมีส่วนร่วมระหว่างภาคส่วนต่างๆ มากขึ้น (ในอดีตมักเป็นในลักษณะกลุ่มใครกลุ่มมัน) จนพัฒนาศักยภาพตัวเองเข้ามาสู่กลไกการทำงานระดับจังหวัดมากขึ้น รวมถึงเป็นที่รู้จักและเป็นที่ยอมรับของบุคลากรในหน่วยงานภาครัฐมากขึ้น
ภายหลังการเกิดขึ้นของเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนได้สร้างพื้นที่การประสานงานและความร่วมมือระหว่างหน่วยงานราชการและภาคประชาชนอย่างใกล้ชิดมากขึ้น เมื่อได้ทำงานต่อเนื่องในระยะ 3-4 ปี จึงเริ่มเป็นที่ยอมรับของหน่วยงานราชการในพื้นที่ตำบล อำเภอและระดับจังหวัดมากขึ้น ตัวอย่างในช่วง 2557 กลุ่มผู้นำหลายคนในสภาฯ ได้เข้าไปมีบทบาทในกลไกการทำงานระดับจังหวัดมากขึ้น
เครือข่ายสภาองค์กรชุมชน ถือว่าเป็นกลไกที่ลดช่องว่างของความสัมพันธ์ที่เคยมีระยะห่างอย่างมากระหว่างหน่วยงานรัฐ คนในชุมชน กลุ่มประเด็นปัญหาต่างๆ รวมถึงเครือข่ายภาคประชาชนได้มีโอกาสพูดคุยกันและได้หาทางแก้ไขปัญหาร่วมกันมากขึ้นกว่าในอดีต เช่น การเรียกร้องให้หยุดการใช้หลุมทิ้งขยะของหลุ่มนายทุนนอกชุมชน
นอกจากนั้นขบวนการทำงานของกลไสภาองค์กรชุมชน ยังมีส่วนร่วมกับการผลักดันนโยบายที่สำคัญ ได้แก่ นโยบายป่าชุมชน โฉนดชุมชน การสร้างข้อบัญญัติท้องถิ่นว่าด้วยการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ การจัดทำแผนชุมชนด้านการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัย/ที่ทำกิน (ระดับหมู่บ้านและตำบล)
“ตะก่อนเฮามักจะทำงานตามหน้างานของโครงการเป๋นหลัก ขอฮื้อเสร็จตามโครงการก็เป๋นอันแล้วละ แต่ในยุคหลังๆมานี่ กลุ่มผู้นำเริ่มคิดมากขึ้นเกี่ยวกับแผนระยะยาว บะเดี่ยวนี้เปิ้นว่า ความยั่งยืน โครงการไหนที่เข้ามาหวังผลระยะสั้น ก็จะฮื้อความสำคัญแหมอย่าง อย่างบ้านพอเพียงนี่ แม้ว่าจะเป็นเรื่องซ่อมสร้างแต่เฮาหวังเรื่องความร่วมมือของหลายส่วน หลายส่วนบะเคยได้ร่วมกันทำงาน ก็ต้องลองจวนดู พยายามประสานแผนร่วมกันในอนาคต แหมหน่อยเรื่องนี้จะต้องอยู่ในแผนใหญ่ของท้องถิ่นจนถึงแผนจังหวัด เพราะว่าเฮามีเครือข่ายทั้งจังหวัดอย่างสภาองค์กรชุมชนและเครือข่ายน่านจัดการตนเอง”
…ผู้นำท่านหนึ่งอธิบายการเปลี่ยนแปลงวิธีคิดเกี่ยวกับการทำงาน
ปัจจัยแห่งความสำเร็จ
ด้านการบริหารจัดการพื้นที่การปกครองในเขตองค์การบริหารส่วนตำบลป่าแลวหลวง มีเขตการรับผิดชอบไม่มากทำให้ง่ายแก่การบริหาร จำนวนคนในชุมชนไม่หนาแน่น ส่วนมากเป็นคนในพื้นที่สะดวกในการติดต่อประสานงานในการทำโครงการและกิจกรรม
ลักษณะทางสังคมในพื้นที่ตำบลป่าแลวหลวง มีความใกล้ชิด ยังให้ความสำคัญกับเครือญาติ ส่งผลเอื้อต่อการยึดโยงความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน กลุ่มผู้นำประเมินในภาพรวมโดยถือว่าชุมชนมีความเข้มแข็งในระดับหนึ่ง หน่วยงานภาครัฐและภาคประชาสังคมให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาชุมชนประกอบกับมีฐานทรัพยากรธรรมชาติที่หลากหลายและมีกลุ่มปราชญ์ชาวบ้านหลากหลายสาขา
ด้านกลไกการทำงานหรือการบริหารจัดการโครงการ ผู้นำส่วนใหญ่เห็นว่าต้นทุนการทำงานพัฒนาชุมชนหรือการทำงานในลักษณะเครือข่ายการทำงานของตำบลนั้น ผ่านประสบการณ์มายาวนานในหลากหลายประเด็น ตั้งตแต่ประเด็นด้านที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติจนมาถึงด้านสวัสดิการต่างๆ ของชุมชน ส่งผลให้มีทักษาที่นำมาปรับใช้ได้ดี ประกอบกับกลุ่มผู้นำมีวิสัยทัศน์หรือคิดถึงผลประโยชน์ในระยะยาวของชุมชนท้องถิ่น (มากกว่าในอดีต) ตัวอย่างของการทำงานในโครงการบ้านพอเพียงชนบทจึงไม่ได้คิดแค่เพียงผลประโยชน์ด้านบ้านของกลุ่มผู้ด้อยโอกาส แต่ยังคำนึงถึงการมีส่วนร่วมในการทำงานของแต่ละหน่วยงาน องค์กรทั้งภายในภายนอกชุมชนเพื่อสร้างโอกาสในการดึงทรัพยากรจากแหล่งต่างๆ หรือที่มักเรียกกันว่าการประสานทรัพยากรเข้ามาสร้างประโยชน์ในอนาคต
กลุ่มผู้นำเสนอข้อมูลการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ตำบลป่าแลวหลวง (เวทีถอดบทเรียนโครงการพอเพียงชนบท)
ปัญหาและอุปสรรคการดำเนินการ
- เมื่อมีการโยกย้ายนายอำเภอหรือผู้ว่าราชการจังหวัด จะต้องมีการเรียนรู้ทำความเข้าใจซึ่งกันและกันใหม่ทั้งหมด ในบางสมัยจะให้ความสำคัญสนับสนุนงานของเครือข่ายภาคประชาชนมากน้อยหรือเข้มข้นแตกต่างกันไปบ้าง การประสานงานในส่วนดังกล่าวจะเป็นหน้าที่หนึ่งของกลุ่มผู้นำที่ต้องปรับตัวอยู่ตลอด ซึ่งบางช่วงเวลาจะเกิดอุปสรรคอยู่บ้าง
- การประเมินวัสดุ อุปกรณ์หรือแบบแปลนก่อสร้าง ปรับปรุงบ้านกลุ่มเป้าหมายบางกรณีมีการเคลื่อนเคลื่อนไปบ้างเมื่อถึงช่วงเวลาที่ลงมือก่อสร้าง เช่น จำเป็นต้องเพิ่มเติมหรือเสริมวัสดุบางอย่าง
- การอธิบายหรือทำความเข้าใจกับสมาชิกเกี่ยวกับการดำเนินโครงการในระยะต่อไปหรือในรอบปีงบประมาณต่อไปจำเป็นอย่างยิ่งต้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงเป็นคนชี้แจงอย่างระเอียด เนื่องจากสมาชิกชุมชนมักมีความหวังและตั้งตารอการสนับสนุนในระยะต่อไป โดยเฉพาะกรณีกลุ่มผู้ยากไร้ที่ยังไม่ได้รับการสนับสนุนโครงการ
- ในขั้นตอนการจัดทำเอกสารหรืองานธุรการอาจล่าช้าไปบ้าง เนื่องจากฝ่ายที่รับผิดชอบมีภาระงานหลายด้าน ส่วนกลุ่มผู้นำมีภาระงานประจำในหลายโครงการจากทุกหน่วยงานราชการในพื้นที่ (สวมหมวกหลายใบ) จึงส่งให้บางช่วงอาจไม่ได้ประสานงานอย่างใกล้ชิดต่อเนื่อง
แผนพัฒนาและข้อเสนอต่อทิศทางในอนาคต
- พัฒนาบทบาทของศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีประจำตำบลและเชื่อมโยงกับการทำงานในแต่ละประเด็น
- มีส่วนร่วมกับการผลักดันโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาคุณภาพชีวิตองค์รวมของคนในตำบล อาทิ นโยบายโฉนดชุมชน ข้อบัญญัติท้องถิ่นด้านทรัพยากรธรรมชาติและพัฒนาความร่วมมือกับเครือข่ายภาคประชาชนในจังหวัดและภายนอกจังหวัด อาทิ เครือข่ายจังหวัดน่านจัดการตนเอง
- พัฒนาพื้นที่ต้นแบบ (ป่าแลวโมเดล) ที่แก้ไขปัญหาของคนท้องถิ่นครอบคลุมทุกมิติ เช่น ที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัย เศรษฐกิจชุมชน
- การพัฒนาระบบข้อมูลในระดับจังหวัด โดยนำข้อมูลระดับหมู่บ้านและตำบลไปรวมกันให้เป็นระบบสามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อการทำงานได้
- การยกระดับการทำงานของเครือข่ายจังหวัด โดยเชื่อมโยงภาคีที่เป็นประโยชน์ต่อกัน ร่วมกันทำแผนงาน (แต่ละตำบล) เพื่อพัฒนาเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายระดับจังหวัดน่านและระดับประเทศ
- เข้าร่วมหรือพยายามดึงทรัพยากรจากโครงการหรือนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อท้องถิ่น
[1] องค์การบริหารส่วนตำบลป่าแลวหลวง อำเภอสันติสุข จังหวัดน่าน ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 5 ตำบลป่าแลวหลวง อำเภอสันติสุข จังหวัดน่าน อยู่ห่างจากที่ทำการอำเภอสันติสุขไปทางทิศเหนือประมาณ 4 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 15 นาทีและห่างจากตัวเมืองจังหวัดน่าน ประมาณ 32 กิโลเมตรใช้เวลาเดินทางประมาณ 45 นาที โดยมีพื้นที่ติดต่อกับอาณาเขตพื้นที่ของตำบลในเขตจังหวัดน่าน
[2] เป็นพื้นที่ในประวัติศาสตร์ยุคการเคลื่อนไหวของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.)