บริบทพื้นที่และการเปลี่ยนแปลง
อุตรดิตถ์[1] เป็นจังหวัดหนึ่งในภาคเหนือตอนล่าง อดีตเป็นประตูเชื่อมดินแดนล้านนาตะวันออก ตัวเมืองเดิมชื่อ บางโพท่าอิฐ ต่อมาได้รับการยกฐานะเป็นจังหวัดเมื่อ พ.ศ.2476 คำว่าอุตรดิตถ์ หมายถึงเมืองท่าแห่งทิศเหนือ เป็นเมืองตํานานลับแลและเมืองถิ่นกําเนิดของวีรบุรุษ “พระยาพิชัยดาบหัก” ทหารเอกสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช มีอาณาเขตติดต่อกับจังหวัดใกล้เคียง คือ ทิศเหนือ ติดกับจังหวัดแพร่และจังหวัดน่าน ทิศใต้ติดกับจังหวัดพิษณุโลก ทิศตะวันออก ติดกับจังหวัดพิษณุโลกและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (มีเขตชายแดนระยะยาวประมาณ 145 กิโลเมตร) และทิศตะวันตก ติดกับ จังหวัดสุโขทัย
ประชากรท้องถิ่นดั้งเดิมของจังหวัด คือชนพื้นถิ่นไทยสยามและไทยวน ผู้เป็นเจ้าของซากโครงกระดูกและเครื่องมือหินและสําริดสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่ค้นพบในจังหวัด ต่อมาพื้นที่ตั้งเมืองอุตรดิตถ์ เป็นทางผ่านสําคัญมาตั้งแต่สมัยอารยธรรมดองซอน ทําให้มีการเคลื่อนย้ายผู้คนมาจากที่ต่างๆ มากขึ้น เรื่อยมาในสมัยทวารวดีและอาณาจักรขอมดังปรากฏหลักฐานเมืองโบราณที่เวียงเจ้าเงาะ จนมาในสมัยสมัยสุโขทัยได้มีเมืองเกิดขึ้นมากมาย เช่น เมืองฝาง เมืองทุ่งยั้ง เมืองตาชูชกและเมืองพิชัย ด้วยการเป็นเส้นทางการค้าทางน้ำ ทําให้ชาวเมืองอุตรดิตถ์ในสมัยโบราณมีที่มาจากหลายเผ่าพันธุ์ เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีวัฒนธรรมสืบเนื่องมาจนปัจจุบันคือไทยสยามจากอาณาจักรสุโขทัยที่อาศัยอยู่ในแถบอําเภอพิชัยและไทยวนจากอาณาจักรล้านนาที่อพยพจากเชียงแสนมาอาศัยอยู่ในแถบอําเภอลับแล ชนสองกลุ่มนี้ ตั้งถิ่นฐานขึ้นเป็น เมืองอย่างมั่นคงมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยจนสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ได้มีการกวาดต้อนผู้คนและการอพยพย้ายถิ่นฐานของกลุ่มชาติพันธุ์ล้านช้าง (ลาว) จากเมืองเวียงจันทน์และเมืองหลวงพระบาง ลงมาตั้งถิ่นฐานในเขตอําเภอต่างๆ ของจังหวัดมากขึ้น ได้แก่บริเวณอําเภอน้ำปาก อําเภอฟากท่าและอําเภอบ้านโคกในปัจจุบันและได้มีชาวจีนโพ้นทะเลอพยพย้ายถิ่นฐานมาตั้งหลักแหล่งทํามาค้าขายในแถบเมืองท่ามากเป็นลําดับ จึงทําให้เมืองอุตรดิตถ์ในปัจจุบันกลายเป็นเมืองที่มีกลุ่มชนมากถึง 3 วัฒนธรรมใหญ่อยู่ร่วมกัน
จัวหวัดอุตรดิตถ์มีพื้นที่ทั้งหมด 7,838 ตารางกิโลเมตร หรือ 4,899,120 ไร่ มีลักษณะภูมิประเทศ แบ่งได้เป็น 3 ลักษณะ คือ 1) ที่ราบลุ่มแม่นํ้าน่าน[2] บริเวณสองฝั่งของแม่น้ำน่านและลําน้ำสาขาที่ไหลมาบรรจบกับแม่น้ำน่าน สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ราบลุ่ม อยู่ในเขตอําเภอตรอน พิชัยและบางส่วนของ อําเภอเมืองอุตรดิตถ์ ลับแลและอําเภอทองแสนขัน (ประมาณ 20% ของพื้นที่ทั้งหมด) 2) ที่ราบระหว่างหุบเขาและเชิงเขาบริเวณที่อยู่ต่อเนื่องจากบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำทางด่านเหนือและด่านตะวันออกของจังหวัด ประกอบด้วยที่ราบแคบระหว่างหุบเขาตามแนวคลองตรอน แม่น้ำปาด คลองแม่พร่อง ห้วยน้ำไคร่และลําธารสายต่างๆ สลับกับภูมิประเทศเป็นเขาอยู่ในเขตอําเภอเมืองอุตรดิตถ์ ลับแล น้ำปาด ฟากท่า ท่าปลาและอําเภอบ้านโคก (ประมาณ 20% ของพื้นที่ทั้งหมด) และ 3) เขตภูเขาและที่สูง อยู่ในบริเวณทางด้านเหนือและทางตะวันออกของจังหวัด โดยเฉพาะเขตอําเภอเมืองอุตรดิตถ์ อําเภอลับแล น้ำปาด ฟากท่า ท่าปลาและอําเภอบ้านโคก (ประมาณ 60% ของพื้นที่ทั้งหมด) มีลักษณะภูมิอากาศแบบร้อนชื้นสลับร้อนแห้งแล้งหรือฝนเมืองร้อนเฉพาะฤดูเพราะได้รับอิทธิพลจากกระแสลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือและตะวันตกเฉียงใต้ มีความชื้นและความร้อนสูงในฤดูร้อนอากาศจะร้อนจัด อุณหภูมิเฉล่ยี 35 องศาเซลเซียส อากาศเย็นสบายในฤดูหนาวและมีฝนตกชุกในฤดูฝน
การใช้ประโยชน์ที่ดิน มีพื้นที่การเกษตร 1,248,198 ไร่ (25.48 % ของพื้นที่ทั้งหมด) จำแนกเป็นพื้นที่ทํานา 680,842 ไร่ (54.55% ของพื้นที่การเกษตร) พื้นที่ทําพืชไร่ 314,762 ไร่ คิดเป็น (25.22% ของพื้นที่การเกษตร) พื้นที่ทําสวนไม้ผลและไม้ยืนต้น 153,599 ไร่ (12.31% ของพื้นที่การเกษตร) พื้นที่สวนผักและไม้ดอกไม้ประดับ 12,663 ไร่ (1% ของพื้นที่การเกษตร) พื้นที่การเกษตรอื่นๆ 86,332 ไร่(6.92% ของพื้นที่การเกษตร) มีเนื้อที่ใช้ประโยชน์นอกการเกษตร 887,6731 ไร่ (18.12% ของพื้นที่ทั้งหมด) และเป็นพื้นที่ป่าไม้ จำนวน 2,763,248 ไร่ (56.40% ของพื้นที่ทั้งหมด)
ด้านการปกครอง แบ่งพื้นที่เพื่อการบริหารราชการส่วนภูมิภาคเป็น 9 อําเภอ 67 ตําบล 613
หมู่บ้าน โดยมีอําเภอดังนี้ อําเภอเมืองอุตรดิตถ์ พิชัย ตรอน ลับแล ท่าปลา น้ำปาด ฟากท่า บ้านโคกและอําเภอทองแสนขัน แบ่งเขตการบริหารราชการ 3 ระดับ คือ
- ส่วนราชการบริหารส่วนกลาง ที่มีสํานักงานตั้งอยู่ในส่วนภูมิภาค จํานวน 60 หน่วยงาน
- ส่วนราชการบริหารส่วนภูมิภาค จํานวน 33 หน่วยงาน
- ส่วนราชการบริหารส่วนท้องถิ่น 80 แห่ง
จํานวนประชากรจังหวัดอุตรดิตถ์ (ปี 2560) ข้อมูลตามทะเบียนราษฎร์ มีจํานวนทั้งสิ้น
458,197 คน เป็นชาย 224,945 คน (49.09%) เป็นหญิง 233,252 คน (50.91%)[3]
ลักษณะทางเศรษฐกิจของจังหวัด ประกอบด้วยภาคเกษตรเป็นหลัก สัดส่วน 33%[4] รองลงมาคือ ภาคอุตสาหกรรม 15% ภาคการค้า 10% ภาคการศึกษา 9% ภาคการบริหารราชการ 8% ภาคการเงิน 6% และภาคบริการอื่นๆ 19%
การเปลี่ยนแปลงสำคัญสืบเนื่องจากการสร้างเขื่อนสิริกิติ์ช่วง พ.ศ.2514 ที่ส่งผลให้มีการอพยพชุมชน มาอยู่ในบริเวณพื้นที่จัดสรรของนิคมสร้างตนเองลําน้ำน่าน[5] และได้จัดสรรแบ่งแปลงให้กับผู้อพยพ เข้ามาทํากินในพื้นที่ตําบลร่วมจิต ตําบลน้ำหมัน ตําบลจริมและตําบลท่าปลา อําเภอท่าปลา ซึ่งนิคมสร้างตนเอง ลําน้ำน่านจัดสรรแบ่งแปลงให้กแก่ผู้อพยพเพื่อเข้าอยู่อาศัย ทํากินจํานวน 160,540 ไร่ แต่มีพื้นที่บางส่วนของนิคมฯที่จัดสรรทับซ้อนอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติลําน้ำน่านฝั่งขวาจํานวน 1,013 ราย เนื้อที่ 7,215 ไร่ ต่อมา ใน พ.ศ.2546 คณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินของรัฐ (กบร.) ได้มีมติว่าพื้นที่ดังกล่าวราษฎรมิได้เข้าทําประโยชน์โดยพลการ แต่เกิดจากหน่วยงานของรัฐเป็นผู้จัดสรรให้ก่อนมีการประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติลําน้ำน่านฝั่ง ขวาและได้มีการจัดประชุมคณะกรรมการฯกันอย่างต่อเนื่อง โดยให้กรมป่าไม้และกรมประชาสงเคราะห์ (เดิม) ร่วมกันสํารวจรังวัดแล้วเสนอต่อกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมดําเนินการเพิกถอนต่อไป
จังหวัดอุตรดิตถ์ได้ดําเนินการจัดตั้งศูนย์ประสานงานและติดตามการแก้ไขปัญหาที่ดินทํากินและปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐจังหวัดอุตรดิตถ์ เพื่อเร่งรัดติดตามและประสานการช่วยเหลือกรณีดังกล่าว รวมถึงการติดตามร่างกฎกระทรวงเพิกถอนป่าสงวนแห่งชาติป่าลําน้ำน่านฝั่งขวาบางส่วน ในท้องที่ตําบลจริม ตําบลท่าปลา ตําบลร่วมจิต อําเภอท่าปลาและตําบลขุนฝาง อําเภอเมืองอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ โดยมี หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพยายามทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่และมอบแนวทางการอยู่ร่วมกันระหว่างประชาชน พื้นที่ป่าและเจ้าหน้าที่ เพื่อป้องกันการเกิดข้อพิพาทในพื้นที่และอยู่ร่วมกันตามแนวทางที่ได้ตกลงร่วมกัน
อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ เดิมคืออำเภอบางโพ[6] ประวัติความเป็นมาต้นกำเนิดของจังหวัดอุตรดิตถ์ มีแหล่งกำเนิดมาจากท่าที่สำคัญ 3 ท่า คือ ท่าเซา ท่าอิดและท่าโพธิ์ ซึ่งมีความสำคัญและเจริญรุ่งเรืองมาแต่สมัยขอมปกครองท่าอิด ตั้งแต่ พ.ศ.1400 คำว่าอุตรดิตถ์ เดิมเขียนเป็น อุตรดิษฐ์ (อุตร-เหนือ, ดิตถ์-ท่าน้ำ) เป็นคำที่ตั้งขึ้นในภายหลัง[7] ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 ท่าอิดยังคงมีฐานะย่านการค้าขึ้นต่อเมืองพิชัย สถานที่ราชการต่างๆ ตั้งอยู่ที่เมืองพิชัย แต่ย่านการค้าอยู่ที่ท่าอิด ดังนั้นคดีต่างๆ ที่เกิดขั้น รวมทั้งการเก็บภาษีอากรส่วนใหญ่จึงอยู่ที่ท่าอิด ราษฎรต้องลงไปเมืองพิชัยติดต่อกับส่วนราชการเป็นการไม่สะดวก ต่อมาในปี พ.ศ.2544 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสเมืองพิชัย ท่าอิด เมืองทุ่งยั้ง และเมืองลับแล ทรงเห็นว่าท่าอิด มีความเจริญเป็นศูนย์ทางการค้าประกอบกับมีเมืองลับแลอยู่ใกล้ๆ เป็นเมืองรองลงไป การชำระคดีและการเรียกเก็บภาษีอากรสะดวกกว่าที่เมืองพิชัย จึงให้ย้ายเมืองพิชัยมาตั้งที่บริเวณท่าอิด ส่วนเมืองพิชัยเดิมว่าเรียกว่าเมืองพิชัยเก่า ต่อมาในช่วงพ.ศ.2448-2451 ทางรถไฟได้เริ่มสร้างทางผ่านท่าโพธิ์และท่าเซา ซึ่งขณะนั้นส่วนใหญ่บริเวณนี้ยังเป็นป่าไผ่อยู่ไม่เจริญเหมือนท่าอิด กรมรถไฟสมัยนั้นจึงได้สร้างทางรถไฟแยกไปที่หาดท่าอิดล่าง ต่อมาในปี พ.ศ.2454 กรมรถไฟได้สร้างสถานีรถไฟที่บางโพธิ์และท่าเซา ทำให้ท่าโพธิ์และท่าเซาเจริญทางการค้าขึ้นอย่างรวดเร็ว ประกอบกับที่ท่าอิดน้ำท่วมบ่อย การคมนาคมทางน้ำเริ่มลดความสำคัญลง การค้าที่ท่าอิดเริ่มซบเซา พ่อค้าเริ่มอพยพมาตั่งที่ท่าโพธิ์และท่าเซาเพิ่มมากขึ้น ต่อมาใน พ.ศ.2458 สมัยรัชกาลที่ 6 จึงประกาศเปลี่ยนชื่อเมืองพิชัย เป็นเมืองอุตรดิตถ์และ พ.ศ.2495 จึงเปลี่ยนจากเมืองอุตรดิตถ์มาเป็นจังหวัดอุตรดิตถ์
อำเภอเมืองอุตรดิถ์มีพื้นที่ 765.476 ตร.กม. มีอาณาเขตติดต่อกับเขตการปกครองข้างเคียง ได้แก่ ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอเด่นชัย (จังหวัดแพร่) และอำเภอท่าปลา, ทิศตะวันออก ติดต่อกับอำเภอท่าปลาและอำเภอทองแสนขัน, ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอทองแสนขันและอำเภอตรอน, ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอลับแล
ด้านการปกครอง แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 17 ตำบล 158 หมู่บ้าน[8] ประกอบด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 18 แห่ง
ประชากรท้องถิ่นดั้งเดิมของอำเภอเมืองอุตรดิตถ์ คือชนพื้นถิ่นไทยสยามและไทยวน ผู้เป็นเจ้าของซากโครงกระดูกและเครื่องมือหินและสำริดสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่ค้นพบในอำเภอเมืองอุตรดิตถ์ ต่อมาพื้นที่ตั้งเมืองอุตรดิตถ์เป็นทางผ่านสำคัญมาตั้งแต่สมัยอารยะธรรมดองซอน ทำให้มีการเคลื่อนย้ายผู้คนมาจากที่ต่าง ๆ มากขึ้น เรื่อยมาในสมัยทวารวดีและอาณาจักรขอมดังปรากฏหลักฐานเมืองโบราณที่เวียงเจ้าเงาะ ตำบลทุ่งยั้ง อำเภอลับแล จนมาในสมัยสมัยสุโขทัยได้มีเมืองเกิดขึ้นมากมาย เช่น เมืองฝาง เมืองทุ่งยั้ง เมืองตาชูชก และเมืองพิชัย และด้วยการเป็นเส้นทางการค้าทางน้ำ ทำให้ชาวเมืองอุตรดิตถ์ในสมัยโบราณมีที่มาจากหลายเผ่าพันธุ์ แต่กลุ่มชาติพันธุ์ที่มีวัฒนธรรมสืบเนื่องมาจนปัจจุบัน จนสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ได้มีการกวาดต้อนผู้คนและการอพยพย้ายถิ่นฐานของกลุ่มชาติพันธุ์ล้านช้าง (ลาว) จากทั้งเมืองเวียงจันทร์และเมืองหลวงพระบาง ลงมาตั้งถิ่นฐานในเขตอำเภอต่าง ๆ ของจังหวัดมากขึ้น และได้มีชาวจีนโพ้นทะเลอพยพย้ายถิ่นฐานมาตั้งหลักแหล่งทำมาค้าขายในแถบเมืองท่ามากเป็นลำดับ จึงทำให้เมืองอุตรดิตถ์ในปัจจุบันกลายเป็นเมืองที่มีกลุ่มชนมากถึง 3 วัฒนธรรมที่อยู่ร่วมกัน คนส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ (นิกายเถรวาทลังกาวงศ์) ผสมกับความเชื่อเรื่องผีของท้องถิ่นเดิม มีจำนวนวัดในพระพุทธศาสนามากกว่า 100 วัด พระสงฆ์สามเณรกว่าพันรูป นอกจากนั้นยังมีศาสนาอิสลามและศาสนาคริสต์ซึ่งเข้ามาเผยแพร่ในภายหลัง
ประกอบอาชีพการทํานา ทําสวนผลไม้และมีรายได้หลักจากการประกอบอาชีพการเกษตรและการค้าขายในแหล่งชุมชนเมือง พืชเศรษฐกิจของอำเภอเมืองฯ ที่สำคัญคือ ลางสาด มีการปลูกมากบ้านด่านนาขาม ตำบลน้ำริด ตำบลขุนฝางและทุเรียน เงาะ มังคุด ส่วนพืชไร่ที่เป็นพืชเศรษฐกิจคือ ข้าว อ้อย ข้าวโพด ถั่วต่างๆ และยาสูบ เป็นต้น
ตำบลวังกะพี้ เป็นตำบลในเขตอำเภอเมืองอุตรดิตถ์ ประวัติการก่อเกิดขึ้นในแถบตำบล มีผู้เล่าต่อกันมาว่า[9] ได้มีครอบครัวซึ่งเดิมเคยตั้งรกรากอยู่ที่บ้านวังหมู (ตำบลหาดกรวดปัจจุบัน) อพยพครอบครัวข้ามแม่น้ำน่านมาหักร้างถางพงทำไร่จับจองเป็นที่อยู่อาศัย ต่อมามีผู้อพยพอยู่ในพื้นที่มากขึ้น (หมู่ 4) เดิมเรียกชื่อว่าบ้านเนินชะอม และบ้านปากดง (หมู่ 6) ร่วมกันสร้างวัดขึ้น 1 หลัง ชื่อว่าวัดร่วมศรัทธา เป็นวัดเล็กๆ มีสมภารวัดชื่ออาจารย์ฟัก หน้าวัดมีแม่น้ำน่านไหลผ่านใช้อุโบสถเก่าทำสังฆทาน เมื่อมีการบวชพระไปบวชที่วัดวังหมู ส่วนที่เป็นตำบลวังกะพี้ในปัจจุบันนั้นตรงบ้านชะอมมีแม่น้ำไหลผ่าน เวลาน้ำขึ้นก็กัดเซาะตลิ่งพังลงจนถึงต้นไม้ใหญ่ต้นหนึ่ง คือ ต้นกะพี้พังลงไปในวังน้ำลึกต่อมาชาวบ้านในแถบนั้นจึงเปลี่ยนชื่อ บ้านเนินชะอม เป็นบ้านกะพี้ในปัจจุบัน
สภาพทั่วไปของตำบล[10] มีอาณาเขต ดังนี้
ทิศเหนือ ติดต่อกับตำบลบ้านเกาะ อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์
ทิศใต้ ติดต่อกับตำบลวังแดง อำเภอตรอน จังหวัดอุตรดิตถ์
ทิศตะวันออก ติดต่อกับตำบลหาดกรวด อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์
ทิศตะวันตก ติดต่อกับตำบลไผ่ล้อม อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์
พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่มมีพื้นที่ทั้งหมด 34,125 ไร่ หรือประมาณ 54.6 ตารางกิโลเมตร แถบที่ราบลุ่มตั้งอยู่ทางภาคเหนือเป็นพื้นที่สำหรับที่อยู่อาศัยประมาณ 30 % เป็นพื้นที่สำหรับการเกษตร 70 % ลักษณะอากาศปกติมีลักษณะร้อนชื้นและสลับร้อนแห้งแล้ง อากาศเปลี่ยนแปลงไปตาม 3 ฤดูโดยทั่วไป
ลักษณะดินโดยทั่วไปเป็นดินร่วนปนทรายประมาณ 85 % ดินเหนียวปนทราย 15 %
ตำบลวังกะพี้มีแม่น้ำน่านไหลผ่าน จึงถือว่าเป็นแม่น้ำสายสำคัญในการดำรงชีวิตของคนตำบล วังกะพี้ในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม การเลี้ยงสัตว์ รวมถึงการจับสัตว์น้ำ นอกจากแม่น้ำน่านที่เป็นทรัพยากรหลักแล้ว ยังมีแหล่งน้ำธรรมชาติ ที่ชาวตำบลวังกะพี้สามารถนำน้ำมาใช้ประโยชน์ในการประกอบอาชีพ เช่น เลี้ยงปลาในกระชัง
แผนที่อาณาเขตที่ตั้งตำบลวังกะพี้
ลักษณะเส้นทางสัญจรในตำบล ได้แก่ ถนนดินลูกรัง ถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก ถนนลาดยางทางหลวงแผ่นดิน ถนนลาดยางทางหลวงชนบทและสะพานคอนกรีตเสริมเหล็ก โดยมีเส้นทางในการคมนาคมที่ใช้ติดต่อในเขตตำบลวังกะพี้และพื้นที่ใกล้เคียง
ด้านการปกครองได้รับการเปลี่ยนแปลงฐานะจากสุขาภิบาลวังกะพี้เป็นเทศบาลตำบลตามพระราชบัญญัติเปลี่ยนแปลงฐานะสุขาภิบาลเป็นเทศบาล พ.ศ.2542 มีชื่อ “เทศบาลตำบลวังกะพี้” เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม ต่อมามีพระราชกฤษฏีกายุบรวมองค์การบริหารส่วนตำบลวังกะพี้กับเทศบาลตำบลวังกะพี้ ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2546 เป็นต้นไป เทศบาลตำบลวังกะพี้ มีจำนวนหมู่บ้านที่อยู่ในความรับผิดชอบทั้งหมด 9 หมู่บ้าน
มีจำนวนประชากรตามทะเบียนราษฎร์ รวมทั้งสิ้น 9,936 คน แบ่งเป็น ชาย 4,665 คน หญิง 5,271 คน มีจำนวนครัวเรือน 3,292 ครัวเรือน (ข้อมูล ณ เดือนตุลาคม 2559) ภาษาพูดใช้สำเนียงภาษาถิ่นและภาษาไทยสำเนียงแถบภาคกลาง
ด้านการประกอบอาชีพ คนส่วนใหญ่ทำการเกษตร ทำนาเป็นหลักและในลำดับรองลงมาจะปลูกพืชไร่ เช่น ข้าวโพด ปลูกอ้อย ทำสวนไม้ผล เช่น มะม่วง มะนาว ปลูกผักสวนครัวและดอกไม้ สัดส่วนด้านอาชีพ ได้แก่ อาชีพเกษตรกรรม ร้อยละ 70 ของจำนวนประชากรทั้งหมด รองลงมา ได้แก่ อาชีพเลี้ยงสัตว์ ร้อยละ 13 อาชีพค้าขายร้อยล 9 และอาชีพรับจ้างร้อยละ 8
การประมง มีการเลี้ยงปลาในกระชัง บริเวณริมแม่น้ำน่าน ตั้งแต่หมู่ที่ 3-7 ของตำบลวังกะพี้ และบางครัวเรือนก็จะทำการประมงโดยการดักปลาในแม่น้ำเพื่อมาจำหน่ายในช่วงฤดูน้ำหลาก (ฤดูฝน) เป็นอาชีพเสริมเพื่อสร้างรายได้เพิ่มให้แก่ครอบครัว ด้านการปศุสัตว์ในเขตพื้นที่ของเทศบาลตำบลวังกะพี้ เป็นในลักษณะเลี้ยงในครัวเรือนและเลี้ยงเป็นอาชีพหลักและอาชีพเสริม ได้แก่ โค กระบือ หมู ปลา ไก่ เป็ด (ในพื้นที่ยังมีฟาร์มเลี้ยงไก่ จำนวน 2 แห่ง และฟาร์มหมู จำนวน 3 แห่ง)
สถานีรถไฟวังกะพี้ หนึ่งในเส้นทางคมนาคมขนส่งที่สำคัญ
“การทำมาหากินทั่วไปของคนในตำบล มีทั้งการเลี้ยงปลาในกระชัง การทำไร่ ทำนา ทำสวน ค้าขาย ผลิตภัณฑ์ยอดฮิตก็มีอย่างปลาส้ม ปลาเค็ม ขนมผิง ข้าวแต๋น ข้าวแช่ ขนม เทียนชาววัง บางคนก็ทำธุรกิจเพาะพันธุ์ต้นไม้ ประเพณีสำคัญที่สืบต่อมานานก็มีอยู่ในปัจจุบัน อย่างการ รดน้ำดำหัวผู้สูงอายุ ทำขวัญข้าว รับขวัญข้าว การตักบาตรในวันสำคัญทางพุทธศาสนา”
…..ผู้สูงอายุท่านหนึ่งเล่าถึงลักษณะทั่วไปของตำบล
กระบวนการดำเนินงาน
กลุ่มผู้นำเห็นว่าในการดำเนินโครงการบ้านพอเพียงชนบท มีความจำเป็นต้องจัดการกับงานข้อมูลของกลุ่มเป้าหมายอย่างเข้มข้น เนื่องจากเกี่ยวข้องกับกลุ่มผู้ยากไร้ด้อยโอกาสของแต่ละชุมชม ซึ่งมีจำนวนมากกว่างบประมาณสนับสนุนจากโครงการ ทุกฝ่ายต่างเข้าใจร่วมกันว่าด้วยงบประมาณอันจำกัดของโครงการจึงจำเป็นต้องคัดกรอง คัดเลือกผู้เดือดร้อนให้ตรงกับเป้าหมายโครงการจาก ในตำบลวังกะพี้ได้ประสานขอข้อมูลกลุ่มผู้ด้อยโอกาสจากแต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อนำมาประกอบกับข้อมูลจากกลุ่มผู้นำในเบื้องต้น ถือว่าเป็นการสำรวจข้อมูลมือสองในเบื้องต้น
ในกระบวนการช่วงนี้ ทุกฝ่ายต้องพยายามพูดคุย อภิปรายแสดงความคิดเห็นร่วมกันอย่างเต็มที่เพื่อให้เกิดความเข้าใจร่วมกันให้มากที่สุด เพราะถือว่าแนวคิดของโครงการมีความแตกต่างจากโครงการซ่อมแซมบ้านโดยปกติ (ของหน่วยงานอื่น) จึงมีความยากและความท้าทายการทำงานของทุกฝ่าย
การชี้แจงต่อคนในชุมชนและครอบครัวของกลุ่มเป้าหมาย ต้องอาศัยกลุ่มผู้นำและคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง โดยมีประเด็นสำคัญ คือ การทำความเข้าใจต่อกระบวนการสำรวจข้อมูลและกระบวนการคัดเลือกผู้ที่จะได้รับการสนับสนุนงบประมาณเพื่อไม้ให้เกิดการตั้งความหวังและความเข้าใจผิดว่าตนจะได้รับงบประมาณช่วยเหลืออย่างแน่นอน กระบวนการลงพื้นที่สำรวจข้อมูลและพูดคุยกับคนในชุมชน จึงเป็นสิ่งสำคัญหลังจากที่ได้ศึกษาข้อมูลมือสอง
เครื่องมือสำคัญในการทำงานและถือว่าเป็นกิจกรรมที่จำเป็นต่อกระบวนการทำความเข้าใจและคัดเลือกกลุ่มเป้าหมาย คือ “การประชาคมหมู่บ้าน” โดยจะทำให้คนในชุมชนได้รับรู้ข้อมูลร่วมกัน เป็นการเปิดเผยความโปร่งใสของการทำงานร่วมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการคัดเลือกกลุ่มเป้าหมาย ทุกคนจะได้ลงความเห็นร่วมกันว่าใครสมควรเป็นผู้ที่ได้รับการช่วยเหลือก่อนหลังตามลำดับ รวมถึงตัวของกลุ่มเป้าหมายเองจะเข้าใจการดำเนินโครงการร่วมกับกลุ่มผู้นำ ในช่วงนี้เป็นกระบวนการ “คัดเลือกและเรียงลำดับปัญหา”
หลังจากนั้นจะจัดทำข้อเสนอโครงการเพื่อขอรับงบประมาณ โดยในช่วงนี้จะต้องอาศัยทักษะด้านงานเอกสาร งานธุรการ ซึ่งบุคลากรจากองค์การบริหารส่วนตำบลมีส่วนช่วยสนับสนุนอย่างมาก ขั้นตอนสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการนำเสนอเอกสาร คือ เอกสารประเมินราคาวัสดุ อุปกรณ์ในการก่อสร้างบ้านแต่ละหลัง ซึ่งมีรายละเอียดอย่างมาก ประกอบกับมีเวลาจำกัดตามกรอบงบประมาณ จึงเกิดปัญหาการคลาดเคลื่อนอยู่บ้าง เมื่องานเอกสารเสร็จสิ้นคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องจะต้องจัดประชุมชี้แจงผลการดำเนินงานในช่วงที่ผ่านและเตรียมแผนกิจกรรมในการเบิกจ่ายงบประมาณและแผนการลงมือปฏิบัติในแต่ละหลัง แต่ละชุมชน
ในขั้นตอนการดำเนินการซ่อมแซมบ้าน เป็นวันที่คนชุมชนแต่ละแห่งมีบทบาทในการร่วมกิจกรรมอย่างเต็มที่ในฐานะ “เจ้าภาพ” ตั้งแต่การเตรียมสถานที่ในบริเวณบ้านกลุ่มเป้าหมาย การเตรียมอาหารกลางวัน น้ำดื่มและการอำนวยความสะดวกในทุกด้าน โดยกลุ่มผู้นำและคณะกรรมการชุมชนจะเป็นเรี่ยวแรงหลัก ร่วมกับกลุ่มแม่บ้าน อาสาสมัครและกลุ่มช่างก่อสร้างที่มีอยู่ในแต่ละชุมชน หากบ้านหลังไหนใช้เวลาก่อสร้างปรับปรุงหลายวัน จะมีการผลัดเปลี่ยนแวะเวียนกันมาร่วมกิจกรรม แต่กลุ่มคณะกรรมการโครงการจะคอนดูแลในภาพรวมของทุกหลังที่มีการซ่อมแซม ในการติดตามประเมินผลกิจกรรมจะมีการประชุมสรุปผลร่วมกันในส่วนของคณะกรรมการโครงการ
ตัวแทนจากตำบลวังกะพี้ขณะเข้าร่วมเวทีถอดบทเรียนโครงการบ้านพอเพียงชนบท ปี 2561
กลไกความร่วมมือและการบูรณาการเครือข่ายการทำงาน
กลไกประสานงานและอำนวยงานตามแผนจะมีสภาองค์กรชุมชน กลุ่มผู้นำ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีหน้าที่หลัก เห็นได้ชัดว่าในกิจกรรมโครงการจะใกล้ชิดกับคนท้องถิ่นมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เริ่มรวมตัวจัดตั้งอย่างเป็นทางการ โดยมีต้นทุนทางสังคมเป็นฐานในการทำงานที่สำคัญที่สั่งสมมาก่อนที่จะขับเคลื่อนโครงการบ้านพอเพียงชนทบ ถือว่าได้มีบทบาทในการปกป้องผลประโยชน์ของคนท้องถิ่นมาต่อเนื่อง โดยเฉพาะด้านแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ เช่น กรณีการตรวจสอบ การคัดค้านโครงการที่ส่งผลกระทบต่อคนท้องถิ่น
บทบาทของสภาองค์กรชุมชนจะเป็นผู้ประสานงานที่สัมพันธ์กับกลุ่มผู้นำ หน่วยงานระดับท้องถิ่น หน่วยงานระดับอำเภอ จังหวัดและมีความใกล้ชิดกับคนในชุมชน โดยจะมีการกำหนดบทบาทหน้าที่ร่วมกันตั้งแต่เริ่มโครงการจนถึงเสร็จสิ้นโครงการ
ในระยะเริ่มโครงการ สภาองค์กรชุมชน กลุ่มผู้นำ องค์การบริหารส่วนตำบล จะรับบทบาทหลักในการเตรียมแผนงาน ประชาสัมพันธ์งานและประสานความร่วมมือกับแต่ละหน่วยงานหรือเรียกได้ว่าเป็นผู้ที่ระดมทุนเพิ่มเติมจากหน่วยงานต่างๆ ในระยะต่อมาในช่วงที่เริ่มดำเนินการก่อสร้าง ปรับปรุงบ้านกลุ่มเป้าหมาย คนในชุมชนจะรับหน้าที่หลักในการลงแรงในแต่ละวัน ร่วมกับกลุ่มแม่บ้าน กลุ่มสตรีที่จะคอยจัดการเรื่องอาหาร น้ำดื่ม กลุ่มพ่อบ้านจะเน้นในเรื่องการเป็นแรงงานก่อสร้าง คนในชุมชนจะร่วมนำวัตถุดิบในการทำอาหาร เครื่องปรุง ภาชนะเครื่องครัวที่จำเป็นต้องใช้มาร่วมสมทบ เป็นไปในลักษณะที่ว่า “ใครมีอะไรก็นำมาช่วยกัน ดูแลกันเอง” ด้านหน่วยงานภาครัฐ เอกชนในตำบลจะสนับสนุนเงิน วัสดุ อุปกรณ์เพิ่มเติมบางส่วน
การให้ความร่วมมือต่อโครงการของแต่ละภาคส่วนเป็นไปด้วยความเข้าใจ เนื่องจากมีการเข้าร่วมรับฟังการชี้แจงและติดตามการดำเนินงานมาตั้งแต่ระยะแรก ไม่ได้เป็นเพียงการขอรับบริจาคแบบทั่วไป แต่พยายามให้เกิดบรรยากาศการร่วมระดมทุน ระดมทรัพยากรที่แต่ละฝ่ายสามารถสนับสนุนได้อย่างสมัครใจ
คนชุมชนขณะร่วมทำอาหารในวันซ่อมแซมบ้านกลุ่มเป้าหมายในตำบล
การเปลี่ยนแปลงหลังการดำเนินโครงการ
ตำบลวังกะพี้ดำเนินโครงการบ้านพอเพียงชนบทในระยะ 2 ปีงบประมาณ (ติดต่อกัน) ในปีงบประมาณปัจจุบันเริ่มมีประสงการณ์มากขึ้น มีความมั่นใจมากขึ้นในการดำเนินการซ่อมแซมบ้านผู้ยากไร้ที่มากกว่ากรอบงบประมาณโครงการ เป็นการขยายจำนวนผู้รับผลประโยชน์จากการระดมทุน ระดมทรัพยากรเพิ่มเติมจากงบประมาณโครงการ ถือว่าแนวคิดการนำสภาพปัญหาจริงในพื้นที่เป็นหลักในการทำงานนั้น มีความชัดเจนขึ้น
“ตอนนี้เราเริ่มทำได้มากกว่างบประมาณที่ได้จากโครงการ หลายภาคส่วนพยายามเอาเรื่องบ้านของผู้เดือดร้อนเป็นฐานในการทำงานมากขึ้น ถ้าเป็นเมื่อก่อนกับโครงการทั่วไป เราจะเอางบประมาณเป็นตัวตั้ง แต่โครงการนี้ทำให้ทุกคนได้เห็นปัญหาของคนยากไร้ในท้องถิ่นชัดเจน เหมือนกับมีภาพปัญหาอยู่ในหัวเรา”
…..ผู้นำท่านหนึ่งอธิบายถึงแนวคิดการทำงานที่เริ่มปรับเปลี่ยน
เริ่มเกิดวัฒนธรรมการทำงานที่ใช้ศักยภาพของชุมชนให้เต็มที่ในการแก้ไขปัญหาของตัวเอง ก่อนที่จะไปขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานภายต่างๆ มีแนวโน้มที่จะนำไปสู่การจัดการตัวเองของคนตำบลมากขึ้น
การทำงานของสภาองค์กรชุมชนในปัจจุบันเริ่มมีบทบาทในการตรวจสอบและประเมินสถานกาณ์ภาพรวมโครงการต่างๆ ของหน่วยงานภาครัฐที่ดำเนินการในพื้นที่มากขึ้น ไม่เฉพาะแต่ที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนเท่านั้น จะเห็นได้ว่าการดำเนินงานภายใต้โครงการบ้านพิเพียงชนบทในระยะสองปีที่ผ่านมา มีส่วนในการสร้างบรรทัดฐานหรือรูปแบบการทำงานเครือข่ายที่เน้นการมีส่วนร่วม (แท้จริง) หรือกล่าวได้ว่าเป็นโมเดลการทำงานรูปแบบใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นในท้องถิ่นที่จะกลายเป็นตัวอย่างของขบวนการทำงานพัฒนาที่สำคัญต่อไป
ด้านกลุ่มเป้าหมาย สามารถเห็นได้ชัดเจนว่ามีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น การที่ปัญหาเรื่องบ้าน อยู่อาศัยของครอบครัวตัวเองลงนั้นและมีโอกาสในการพัฒนาตัวเองในด้านอื่นต่อไป เช่น ด้านอาชีพ การมีส่วนร่วมต่อกิจกรรมชุมชน
ปัจจัยแห่งความสำเร็จ
ปัจจัยสำคัญ คือศักยภาพของกลุ่มผู้นำและเครือข่ายคนทำงานพัฒนาในชุมชนบท ตัวอย่างด้านการทำงานข้อมูลกลุ่มผู้ยากไร้ด้อยโอกาสของชุมชนตัวเอง สามารถรู้สภาพปัญหาของแต่ละครอบครัวเป็นอย่างดี ทำให้ขั้นตอนในการสำรวจและประเมินสภาพปัญหาเป็นไปอย่างรวดเร็วกว่าปกติและส่งผลให้การดำเนินการซ่อมแซมบ้านแต่ละหลังตรงกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมายที่มีความจำเป็นต้องซ่อมแซมในแต่ละส่วนแตกต่างกัน
ด้านตัวโครงการมีการออกแบบที่เปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายสามารถเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นและร่วมลงมือได้เต็มที่ หากเปรียบเทียบกับโครงการโดยทั่วไปมักจะถูกกำหนดรายละเอียดมาจากแต่ละหน่วยงานและมักไม่ตรงกับสภาพปัญหาจริงเท่าใดนัก ประกอบกับการให้ความร่วมมือของคนในชุมชนเป็นไปอย่างจริงจัง ส่วนหนึ่งอาจมีพื้นฐานมาจากสังคมเครือญาติที่ยังพอหลงเหลืออยู่และวิถีจิตอาสา (ตามธรรมชาติ) ที่เป็นตัวสนับสนุนให้ทุกคนให้ความร่วมมือ
จะเห็นได้ว่า การที่ได้สร้างความเข้าใจร่วมกันตั้งแต่เริ่มโครงการ ทำให้ทุกคนมีความรู้สึกว่าต้องร่วมกันรับผิดชอบต่อปัญหาของชุมชนตัวเอง และมองเห็นโอกาสว่าหากให้ความร่วมมือดีและช่วยกันจนบรรลุเป้าหมาย จะทำให้ชุมชนมีความน่าเชื่อถือ (มีเครดิตดี) จะเป็นผลดีต่อการทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ต่อไปในอนาคต หลายชุมชนมุ่งหวังว่าจะได้รับการสนับสนุนต่อเนื่องไปในระยะยาว โครงการครั้งนี้จึงเป็นพื้นที่ให้แสดงศักยภาพอย่างเต็มที่
ปัญหาและอุปสรรคการดำเนินการ
ในระยะแรกมีอุปสรรคเกี่ยวกับวัสดุ อุปกรณ์ที่ต้องประเมินราคาและปริมาณให้แม่นยำที่สุด แต่มักมีการเปลี่ยนแปลงตามราคาตลาดอยู่เสมอและบางกรณีจำเป็นต้องเพิ่มเติมวัสดุบางชนิดเมื่อได้ลงมมือซ่อมแซมจริง จึงเกิดลักษณะ “ถูกบ้าง ผิดบ้าง” อย่างไรก็ตาม หลังจากมีประสบการณ์ลองผิดลองถูกทำให้กลุ่มผู้นำและคณะกรรมดำเนินโครงการเริ่มสามารถ “จับจุดได้” มากขึ้นในปัจจุบัน
แผนพัฒนาและข้อเสนอต่อทิศทางในอนาคต
- ดำเนินการสำรวจความเดือดร้อนที่ยังคงเหลือในตำบลให้ทั่งถึงครบถ้วน
- ร่วมกันนำเสนอนโยบายด้านการพัฒนาอาชีพ สร้างอาชีพเสริม เช่น การแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหาร (ไข่เค็ม, ปลาส้ม) และติดตามการส่งเสริมอาชีพให้กับผู้ด้อยโอกาส
- ให้ความรู้และพัฒนาทักษะที่จำเป็นต่อการทำงานหรือการบริหารจัดการกับกลุ่มต่างๆ เพิ่มเติม
- รวมตัวจัดตั้งกลุ่มต่างๆ ในตำบลให้เป็นปึกแผ่นเพื่อความเข้มแข็งของตัวเองให้มากขึ้น
- การทำงานเพื่อกลุ่มผู้ยากไร้ด้อยโอกาสในชุมชน ควรถูกออกแบบให้เป็นองค์รวมครอบคลุมปัญหาทุกด้าน เป็นส่วนหนึ่งของการทำงานขบวนองค์กรชุมชน (ไม่คิดแบบแยกส่วน)
- ผลักดันแผนงานด้านพัฒนาที่อยู่อาศัยของกลุ่มผู้ด้อยโอกาส ผู้ยากไร้ให้บรรจุในแผนงานขององค์การบริหารส่วนท้องถิ่นและนำเสนอต่อหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง
[1] ข้อมูลจากเอกสารแผนพัฒนาจังหวัดอุตรดิตถ์ พ.ศ.2561-2564
[2] ลุ่มน้ำในจังหวัดอุตรดิตถ์มี 2 ลุ่มน้ำคือ ลุ่มน้ำน่านและลุ่มน้ำยม ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่ของจังหวัดจะอยู่ในเขตลุ่มน้ำน่าน มีเพียงบางส่วนของพื้นที่อําเภอลับแลและอําเภอพิชัยอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำยม
[3] ประชากรสํารวจน้อยกว่าประชากรทะเบียนราษฎร์เนื่องจากประชากรสํารวจเป็นประชากรที่มีชื่ออยู่ตามทะเบียนบ้านในเขตรับผิดชอบและอยู่จริงและเป็นประชากรที่มาอาศัยอยู่ในเขตรับผิดชอบแต่ทะเบียนบ้านอยู่นอกเขตรับผิดชอบ ส่วนประชากรทะเบียนราษฎร์เป็นประชากร
(ต่อ) ที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตรับผิดชอบทั้งตัวอยู่จริงและตัวไม่อยู่จึงทําให้ข้อมูลมีจํานวนแตกต่างกัน
[4] ด้านการเพาะปลูกเป็นโครงสร้างหลัก 79% ได้แก่ ข้าวเป็นผลผลิตหลัก 39% รองลงมา คือ ทุเรียน 10% ลองกอง 5% ข้าวโพด 4% อ้อย 4% มะขามหวาน 4% มะม่วง 3% มะม่วงหิมพานต์ 3% สับปะรด 3% หอมแดง 1% มันสําปะหลัง 1% และอื่นๆ 2% ด้านปศุสัตว์ 14% ได้แก่ สุกร 5% ไข่ไก่ 3% ไก่ 2% ไข่เป็ด 1% กระบือ 1% โค 1% อื่นๆ1% ในด้านอื่นๆ 7% ได้แก่ ด้านบริการทางการเกษตร 5% และป่าไม้ 2%
[5] ตามมติรัฐมนตรีวันที่ 12 พฤษภาคม 2507 ให้จัดตั้งนิตมสร้างตนเองลำน้ำน่าน โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อจัดสรรที่ดินให้ราษฏรที่อพยพจากเขตน้ำท่วมตามโครงการเขื่อนสิริกิติ์ ครอบคลุมพื้นที่เขตอำเภอเมืองและอำเภอท่าปลาในเคหะสถานและประกอบอาชีพเป็นหลักแหล่งในที่ดินนั้น โดยเป็นการจัดระบบผู้ครอบครองที่ดินและเอกสารสิทธิ์ให้ถูกต้องชัดเจนและดำเนินการพัฒนาคุณภาพชีวิตสมาชิกสมาคมทางรัฐบาลจึงมีนโยบายการจัดการปัญหาที่ดินทำกินเพื่อประชาชนและเกษตรกรผู้ยากไร้ได้รับการจัดสรรที่ดินที่อยู่อาศัยให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 ให้มีการค้ดเลือกผู้ที่มีคุณสมบัติตามมาตรา 22 เข้าเป็นสมาชิกนิคมและอนุญาตให้สมาชิกนิคมเข้าทำประโยชน์ในที่ดินและเอกสารสิทธิ์ให้ถูกต้องและชัดเจน ชึ่งในท้องที่อำเภอเมืองและอำเภอท่าปลาจังหวัดอุตรดิตถ์อยู่ในเขตรับผิดชอบของนิคมสร้างตนเองลำน้ำน่านจังหวัดอุตรดิตถ์มีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 166,530 ไร่
[6]นอกจากนี้ยังมีข้อสันนิษฐานอื่นๆเกี่ยวกับคำว่า อุตรดิตถ์ดังนี้ ท่าเหนือ (อุตร=เหนือ, ดิตถ์=ท่า) มาจากเมื่อสมัยก่อนพ่อค้าจะนำสินค้าจากหลวงพระบาง น่าน หรือเมืองเหนืออื่นๆ ไปค้าขายทางใต้เช่น พิษณุโลก นครสวรรค์ อยุธยา กรุงเทพฯ ต้องแวะพักกันตามท่าน้ำจอดเรือที่อุตรดิตถ์ ทำให้มีการแลกเปลี่ยนสินค้า และแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกัน , อุตรดิตถ์ มาจากคำภาษาบาลี ๒ คำรวมกัน คือคำว่า อุตฺตร (อ่านว่า อุด-ตะ -ระ) กับ ติตฺถ (อ่านว่า ติด-ถะ). คำว่าอุตฺตร ภาษาไทยใช้ว่า อุดร แปลว่า ทิศเหนือ. ส่วน ติตฺถ ภาษาไทยใช้ว่า ดิตถ์ แปลว่า ท่าน้ำ ดังนั้น อุตรดิตถ์ จึงแปลตามตัวว่า ท่าน้ำทางทิศเหนือ
[7] http://www.amphoe.com/menu.php?am=791&pv=73&mid=1
[8] ดูเพิ่มเติมที่ https://www.mutt.go.th
[9] เข้าถึงจาก http://www.thaitambon.com/tambon/530106
[10] จากเอกสารแผนพัฒนาท้องถิ่นสี่ปี (พ.ศ.2561–2564) เทศบาลตำบลวังกะพี้ อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์