ปัจจุบันแนวโน้มสังคมผู้สูงอายุได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะพื้นที่ตำบลวังกะพี้ที่มีผู้สูงอายุมากขึ้นทำให้ปัจจัยการผลิตทางด้านแรงงานลดลง การออมลดลง ดังนั้นสภาองค์กรชุมชนตำบลวังกะพี้จึงได้รวมกลุ่มกันดำเนินงานสร้างความเข็มแข็งในตำบล คือ ชมรมผู้สูงอายุของตำบลวังกะพี้ เพื่อให้ผู้สูงอายุมีกิจกรรม มีการพบปะแลกเปลี่ยน นำศักยภาพของตนเองที่มีอยู่มาสู่ลูกหลานต่อไป โดยขอความร่วมมือจากเทศบาลตำบลวังกะพี้ เป็นแกนหลัก
ตำบลวังกะพี้ได้มีการจดแจ้งจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนตำบลวังกะพี้ขึ้นเมื่อปีพ.ศ. 2552 และมีการรื้อฟื้นกลุ่มขึ้นมาจดทะเบียน มีการประชุมสมาชิกกลุ่มเดิมและหารือในการวางแผนริเริ่มการรื้อฟื้นกลุ่มขึ้นมาใหม่ เนื่องจากเห็นความสำคัญของการรวมกลุ่ม เนื่องด้วยตำบลวังกะพี้ทั้ง 9 หมู่บ้านมีประชากรอายุราว 50 กว่าๆ ประมาณ 40% ของตำบล มีการค้าขาย มีการรวมกลุ่มใหม่ๆ เกิดขึ้น แล้วเริ่มมีธนาคาร แหล่งเงินทุนเข้ามาในพื้นที่ของตำบลวังกะพี้
นายอนิรุธ ครุฑเมือง นายกเทศมนตรีตำบลวังกะพี้ มีแนวคิดที่ว่า ผู้สูงอายุเป็นบุคคลที่เพียบพร้อมไปด้วยความรู้และประสบการณ์ เป็นผู้ถึงพร้อมทั้งคุณวุฒิและวัยวุฒิ เป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณค่า แม้ผู้สูงอายุจะเข้าสู่วันที่ร่างกายอ่อนแอเสื่อมถอยแล้ว แต่ก็ยังพร้อม และสามารถที่จะช่วยเหลือครอบครัวและสังคมได้ โดยที่ผ่านมา ผู้สูงอายุในชุมชนจะใช้ชีวิตแบบต่างคนต่างอยู่ ขาดการรวมกลุ่มและขาดการดูแลคุณภาพชีวิตให้เหมาะสม หรือบางคนขาดการเหลียวแลจากสังคม ประกอบกับจำนวนผู้สูงอายุมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งอาจนำไปสู่การเป็นภาระของสังคมในระยะยาว
ดังนั้น เทศบาลตำบลวังกะพี้ และสภาองค์กรชุมชนตำบลวังกะพี้ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของผู้สูงอายุในชุมชน จึงได้มีการสนับสนุนให้มีการจัดโครงการสังสรรค์สูงวัย “สูงวัยอย่างมีคุณค่า ชราอย่างมีคุณภาพ”มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้สูงอายุวัยเดียวกันได้พบปะสังสรรค์ แลกเปลี่ยนประสบการณ์และเป็นศูนย์กลางในการจัดกิจกรรมของผู้สูงอายุ มีการดูแลสวัสดิการทางสังคมแก่สมาชิก รวมทั้งเป็นการส่งเสริมการรวมกลุ่มของผู้สูงอายุให้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ มีงานอดิเรก ส่งเสริมด้านอาชีพและมีกิจกรรมสันทนาการที่เหมาะสมตามความสนใจ สามารถดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุข โดยผู้สูงอายุของตำบลวังกะพี้ มี 2,035 ราย หรือประมาณ 30% ของจำนวนประชากรในตำบลวังกะพี้ทั้งหมด จึงได้มีการจัดตั้งชมรมผู้สูงอายุขึ้น และมีการให้ผู้สูงอายุในแต่ละตำบลรวมกลุ่ม ปรึกษาหารือว่าในกลุ่มชุมชนนั้นต้องการทำอะไร และทำการประชาคมหมู่บ้านส่งแผนมายังเทศบาลตำบลวังกะพี้ เพื่อบรรจุแผนพัฒนา 4 ปี ของเทศบาลต่อไป อาทิเช่น นางประมวล สลีวงศ์ ผู้แทนชมรมผู้สูงอายุหมู่ที่ 8 เล่าให้ฟังว่า ทางกลุ่มต้องการเรียนรู้ เรื่องการทำไข่เค็มจากดินปลวก ทางกลุ่มได้ประชุมเสนอต่อ เทศบาลตำบลวังกะพี้ให้ทำการบรรจุแผนพัฒนาท้องถิ่นต่อไป
กระบวนการดำเนินงานของชมรมผู้สูงอายุ
ขั้นเตรียมการ
- ประชุมคณะกรรมการชมรมผู้สูงอายุทั้ง 9 หมู่บ้าน เพื่อเสนอประเด็นงาน ทำความเข้าใจ ความต้องการของผู้สูงอายุทั้งตำบล รวมถึงแบ่งบทบาทหน้าที่และวางแผนการดำเนินงานร่วมกัน เช่น ปี 2561 ทางชมรมผู้สูงอายุตำบลวังกะพี้ ได้เสนอ โครงการส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุ ไข่เค็มจากดินปลวก
- จัดเวทีสร้างการรับรู้ชมรมผู้สูงอายุตำบลวังกะพี้ ทำข้อตกลง โดย เทศบาลตำบลวังกะพี้เป็นต้นทุนให้ 100% แล้วกลุ่มมีการจัดตั้งคณะกกรมการบริหารโดย ถ้ากลุ่มทำไข่เค็ม จากดินปลวก จากรายได้ 80% เข้ากองทุนฯ 20% ให้กับผู้สูงอายุที่ทำ
ขั้นดำเนินการ
- ประชุมคณะกรรมการชมรมผู้สูงอายุทั้ง 9 หมู่บ้าน เดือนละ 1 ครั้ง จำนวน 6 ครั้ง โดยคณะกรรมการชมรมผู้สูงอายุระดับหมู่บ้านจำนวน 15 คน โดยแบ่งการขับเคลื่อนชมรมผู้สูงอายุคือแบ่งเป็นกรรมการพัฒนาชมรมด้านการบริหารจัดการ แบ่งเป็นกรรมการพัฒนาชมรมด้านกิจกรรม และติดตามประเมินผล ร่วมกับสภาองค์กรชุมชน และ เทศบาลตำบลวังกะพี้ เพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และติดตามความก้าวหน้าในการดำเนินกิจกรรม รวมถึงการร่วมกันให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะในการดำเนินงาน การแก้ไขปัญหาอุปสรรคและการปรับปรุงการดำเนินงานที่ผ่านมาในตำบลวังกะพี้ โดยมีการทำข้อตกลง จากชมรมผู้สูงอายุ โดยรายได้จากการขาย 80% เข้าชมรมเป็นกองกลาง 20% เป็นส่วนแบ่งให้กับสมาชิกที่ร่วมดำเนินการทำกิจกรรม ในครั้งนั้น
- จัดเวทีประชุมสามชิกชมรม ผู้สูงอายุเพื่อออกแบบกิจกรรมร่วมกับทางเทศบาลในระดับหมู่บ้านทั้ง 9 หมู่บ้าน จำนวน 1 ครั้ง สมาชิกชมรมผู้สูงอายุเห็นชอบร่วมกันในการจัดกิจกรรมออกกำลังกาย ส่งเสริมสุขภาพจิต การประกอบอาชีพเสริม และการให้ความรู้การดูแลสุขภาพด้วยตนเอง รวมทั้งการเยี่ยมบ้านผู้สูงอายุในระดับหมู่บ้าน
- เทศบาลตำบลวังกะพี้ ให้การสนับสนุนงบประมาณจัดกิจกรรม ในระดับหมู่บ้าน ตามที่ชมรมผู้สูงอายุได้เสนอขอมา เช่น การทำอาชีพ การออกกำลังการ กิจกรรมผู้สูงอายุ
- มีการสรุปผลการดำเนินงาน วิเคราะห์ปัญหา และ ค้นหาบุคคลต้นแบบในระดับละแวกบ้าน ระดับหมู่บ้าน และระดับชุมชนในการจัดกิจกรรมออกกำลังกาย ส่งเสริมสุขภาพจิต และการให้ความรู้การดูแลสุขภาพด้วยตนเอง รวมทั้งการเยี่ยมบ้านผู้สูงอายุที่ยากไร้ ด้อยโอกาสในระดับหมู่บ้านต่อไป
จากเมื่อก่อนผู้สูงอายุ ต่างคน ต่างอยู่ ต่างคนต่างทำ เมื่อเกิดชมรมผู้สูงอายุขึ้น ก็มีการพูดคุยนำความรู้ในด้านต่างๆ ของแต่ละคนนำมาประยุกต์ มาใช้ในการทำกิจกรรม มีการถ่ายทอดให้ลูกหลานที่มาเข้าร่วมให้ทำเป็น เช่น การทำปลาส้ม การทำขนมไทยชาววัง การทำเห็ด การเพาะปลูกต้นไม้ ที่ผู้สูงอายุ 60 ปี ขึ้นไปได้รวมกลุ่มแล้วเลือกสาขาอาชีพที่ตนเองมีความสามารถ แล้วนำมาขายในตำบล งานส่วนราชการต่างๆ
อีกทั้งชมรมผู้สูงอายุยังได้มีการวางแผนด้านการจัดจำหน่าย โดยร่วมกับทางภาครัฐ เทศบาล อำเภอ หน่วยงานต่างๆ ในการจำหน่ายสินค้าที่กลุ่มทำ เช่น ขนมผิง ปลาส้ม ดอกไม้จันทน์ เช่น กลุ่มผู้สูงอายุ หมู่ที่ 7 ทำดอกไม้จันทน์จาก ล็อตตารี่ เก่า มีการขอให้ พมจ เทศบาล หน่วยงานร่วมบริจาคมายังชมรมผู้สูงอายุหมู่ที่ 7 แล้วท้องถิ่นรับซื้อ สำหรับมอบช่วยเหลืองานศพในตำบล ประมาณเดือนละ 40 ชุด รายได้ราว 6,000 บาท มีการเข้าชมรม 80% แล้วปันส่วนให้ผู้เข้าร่วม 20% ทำมาแล้ว 2 ปี เห็นได้ว่าชมรมผู้สูงอายุมีการคิดริเริ่ม ประสานงาน ต่อยอด สร้างรายได้ไม่พึ่งพาภาครัฐช่วยเหลือเพียงอย่างเดียว
ด้วยประชากรวัยผู้สูงอายุ ราว 2,042 คน ของตำบลวังกะพี้ มีการรวมกลุ่มขึ้นคุณภาพชีวิต จากเดิมผู้สูงอายุอยู่บ้าน ถูกทอดทิ้งไว้ลำพัง ไม่มีรายได้ ไม่มีการพบปะพูดคุยกัน เมื่อมารวมตัวกัน ผู้สูงอายุมีอาชีพ มีรายได้ มีสุขภาพทางอารมณ์ที่สมบูรณ์ แข็งแรง สามารถลดปัญหา สุขภาพจิตเสื่อมโทรมของตำบลจากเดิม พบว่า ปี 2559 มีผู้สูงอายุเป็นโรคความดัน ถึง 1,930 ราย เมื่อมีการจัดกิจกรรมเข้าร่วมแล้วพบได้ว่า มีผู้สูงอายุเป็นโรคความดันลดลงเหลือ 1,748 ราย เพราะผู้สูงอายุไม่เครียด มีสุขภาพจิตที่ดี จากการได้พบปะพูดคุย ร่วมกิจกรรมกัน
ปัจจัยที่ทำให้การดำเนินงานของชมรมผู้สูงอายุได้ประสบผลสำเร็จเป็นที่น่าพึงพอใจนั้นล้วนเกิดจากความมุ่งมั่น มีความรู้ ความสามารถในเรื่องการออกกำลังกายที่ดี มีอาชีพ ทั้งการทำขนม การส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น มีความเสียสละ มีความเป็นผู้นำ มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ทุ่มเทแรงกายและแรงใจในการจัดกิจกรรมต่างๆ ของชมรมฯ และให้ความร่วมมือในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ของชมรม สมาชิกชมรมมีความตั้งใจ ใส่ใจสุขภาพ มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ต่อสมาชิกด้วยกัน และมีใจศรัทธาใน ตนเอง รวมถึงการได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานในพื้นที่ เช่น เทศบาลตำบลวังกะพี้ ที่สนับสนุนงบประมาณทุกปี ใช้กระบวนการบริหารจัดการที่เป็นกันเอง ใช้วิธีขอความร่วมมือให้ช่วยเหลือลงขันกันมีการพูดคุยปรึกษาหารือแบบไม่เป็นทางการ มีการจัดกิจกรรมให้ความรู้เรื่องสุขภาพแก่สมาชิกเป็นระยะ ๆ และแจ้งการตรวจสุขภาพ รวมถึงมีตัวชี้วัดด้านสุขภาพสะท้อนให้สมาชิกได้ทราบผลการดูแลสุขภาพและมีแรงจูงใจต่อเนื่องโดยโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลวังกะพี้เป็นผู้ดูแลผู้สูงอายุ
อย่างไรก็ตามทางกลุ่มชมรมฯ ได้มีการวางแผนจะขยายกิจกรรมให้หลากหลาย เพิ่มสถานที่ อุปกรณ์ และเพิ่มสมาชิกในเด็ก เยาวชนเข้าร่วมกิจกรรมมากขึ้น พัฒนากลุ่มให้เรียนรู้กิจกกรมที่หลากหลายมากขึ้นเช่น การทำข้าวแต๋นชาววัง และขนมไทยสูตรชาววัง รวมถึงการหาแหล่งสนับสนุนทุนเพิ่มขึ้นอีก นอกจากงบของเทศบาลตำบลวังกะพี้ เช่น จาก สสส.จากกองทุนหมู่บ้าน กองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลวังกะพี้ ฯลฯ ซึ่งจะได้ดำเนินการตามแผนต่อไป