ตำบลนครชุม แต่เดิมเรียกว่า นครซุ่ม หรือ เมืองบัวซุ่ม เป็นเมืองหน้าด้านของพ่อขุนบางกลางท่าว มีภูเขาล้อมรอบทั้ง 4 ทิศ ชาวบ้านเชื่อว่าท่านเคยเสด็จมาประทับที่นครชุม ก่อนที่จะเสด็จมาครองเมืองบางยาง และได้ใช้พื้นที่ตำบลนครชุมเป็นพื้นที่ในการซ่องสุมไพร่พล ฝึกทหาร เนื่องจากมีชัยภูมิที่เหมาะสมทางการทหาร สามารถมองเห็นภูมิทัศน์และการศึกได้อย่างชัดเจน จึงเรียกว่า“นครซุม”และกลายมาเป็น“นครชุม”ในปัจจุบัน
ในการดำเนินการท่องเที่ยวตำบลนครชุมมีแนวคิดสำคัญ คือ การให้คนภายนอกได้สัมผัสธรรมชาติในพื้นที่โดยรอบตำบลนครชุม ยึดหลักคนอยู่กับป่า อยู่กับธรรมชาติ สร้างรายได้ให้คนในชุมชน ซึ่งเริ่มต้นจากการคัดเลือกจุดชมวิวที่ปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยวและอาศัยความร่วมมือจากผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น ชาวบ้าน
มีการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเพื่อให้นักท่องเที่ยวไปเที่ยวชม เช่น ขึ้นเขาโปกโล้น ชมทะเลหมอก ชมบ่อเกลือพันปี ชมต้นตะเคียนยักษ์ ไหว้ศาลปู่หลวงนครชุม จากนั้นจึงมีการประชาสัมพันธ์สถานที่ท่องเที่ยวผ่านสื่อต่างๆ มีการทำเพจโฮมสเตย์ร่องเขานครชุม และมีการพัฒนาทักษะของผู้สนใจทำโฮมสเตย์ผ่านการศึกษาดูงานแหล่งท่องเที่ยวที่ประสบความสำเร็จ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการทำงาน
ชาวตำบลนครชุมมีการใช้เทคนิคในการส่งเสริมการท่องเที่ยวให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายโดยการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยว เช่น จัดมินิคอนเสิร์ต งานปั่นจักรยานพิชิตร่องเขานครชุม งานวิ่งทะลุหมอก จัดตลาดนัดชุมชน ติดต่อรายการทีวีเข้ามาถ่ายทอดความเป็นตัวตนของวิถีชุมชน เป็นต้น
เสน่ห์อย่างหนึ่งของการจัดการท่องเที่ยว คือ คนในพื้นที่มีการใช้ทักษะในการประกอบอาหารพื้นถิ่น และการทำงานหัตกรรมในชุมชนมาเป็นแรงจูงใจให้นักท่องเที่ยวลองทำ เช่น การหลามไก่ในกระบอกไม้ไผ่ ไข่ปาม ทำไม้กวาดดอกหญ้า ผ้าทอมือ สานหมวกจากไม้ไผ่ ซึ่งเป็นการสร้างจุดสนใจให้กับนักท่องเที่ยว
ในการดำเนินการท่องเที่ยวตำบลนครชุม มีการสนับสนุนจากภาคส่วนต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกพื้นที่ ทั้งจากผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่นช่วยในการติดต่อประสานให้หน่วยงานภาครัฐเข้ามาส่งเสริมการดำเนินกิจกรรม เช่น การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. อาจารย์จากมหาวิทยาลัยราชภัฎพิบูลสงคราม อาจารย์จากมหาวิทยาลัยนเรศวร อีกทั้งสภาองค์กรชุมชนตำบลนครชุมได้นำกลุ่มผ้าทอมือ กลุ่มถักไม้กวาด กลุ่มสานหมวกไม้ไผ่แช่น้ำซาวข้าว เข้ามามีส่วนร่วมในการส่งเสริมการท่องเที่ยว และได้นำสินค้ามาขายให้กับนักท่องเที่ยวและการบอกต่อๆ ในงานฝีมือ
ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากเดิมชาวบ้านมีรายได้มาจากการเกษตรปีละ 1-2 ครั้ง ปัจจุบันคนในชุมชนเริ่มตื่นตัวกับการมีนักท่องเที่ยวเข้ามาในพื้น บางคนปลูกผักใช้น้ำน้อยปลอดสารพิษไว้ขายให้นักท่องเที่ยว เช่น เสาวรส กล้วย ผักต่างๆ ทำให้มีรายได้เพิ่มในการขายของที่ตลาดนัดชุมชนในวันเสาร์ รายได้อาทิตย์ละประมาณ 200 – 500 บาท
องค์การบริหารส่วนตำบลนครชุมได้รับสมัครมัคคุเทศก์ท้องถิ่นนำเที่ยวขึ้นเขาโปกโล้น และรับสมัครรถไถนาขับพานักท่องเที่ยวไปทางขึ้นเขา ซึ่งมีการอำนวยการจัดสรรคิวจากทางองค์การบริหารส่วนตำบลนครชุม เพื่อความเสมอภาคและเป็นระเบียบพร้อมกับการเข้าพักโฮมเตย์ ทำให้คนในชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างเท่าเทียมกัน
โดยจากการดำเนินการท่องเที่ยวตำบลนครชุมทำให้ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และมีการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวตำบลนครชุมทำให้นักท่องเที่ยวเริ่มรู้จักตำบลนครชุมและมีผู้มาพักมาเที่ยวโฮมสเตย์มากขึ้น การจัดงานต่างๆในชุมชน จะมีเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่างๆเข้าร่วมประชุมหารือเพื่อให้งานสำเร็จ เช่น นายอำเภอนครไทย เจ้าหน้าที่องค์การบริหารส่วนตำบลนครชุม ผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล ตำรวจ ครู อาจารย์ อีกทั้งการท่องเที่ยวเป็นการทำงานที่สอดรับกับแนวทางการดำเนินงานของ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ทำให้ตำบลนครชุมได้รับการสนับสนุนการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องจากหน่วยงานดังกล่าว ซึ่งเป็นปัจจัยภายนอกที่สำคัญที่ทำให้การท่องเที่ยวตำบลนครชุมประสบความสำเร็จ
กิจกรรมที่ได้ดำเนินการไปยังคงต้องมีการพัฒนาทั้งรูปแบบและการบริหารจัดการอยู่อย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับการดำเนินงานในอนาคตไม่ว่าจะเป็นการหาแหล่งเรียนรู้ แหล่งท่องเที่ยวในชุมชนเพิ่มให้กับนักท่องเที่ยว หาแหล่งน้ำให้เพียงพอกับการรับนักท่องเที่ยว การทำท่องเที่ยวเชิงเกษตรครบวงจร รวมถึงวางแผนการจัดงานวิ่ง งานปั่นจักยาน เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในทุกๆ ปีด้วย